การแพทย์แผนธิเบต : รักษากาย ดูแลใจ
Author : Admin
ในแง่ของการเยียวยา เราตระหนักกันว่าการแพทย์สมัยใหม่นั้นมุ่งการเยียวยารักษาไปที่เรื่องทางกาย แม้มีเรื่องทางใจด้วยเขาก็แยกออกไปเป็นอีกสาขาหนึ่งต่างหาก ในแง่ของการรักษาทางกายนั้นก็มุ่งการรักษาเฉพาะอย่าง เฉพาะทาง การรักษาอย่างแยกส่วนของกายออกจากใจ และการแยกร่างกายออกเป็นส่วนๆ เช่นนี้ ยิ่งทำไปก็อาจยิ่งก่อให้เกิดปัญหาทางใจแก่ผู้ป่วย เพราะการรักษาได้บ่มเพาะความหวาดกลัวในใจของผู้ป่วย คือ หวาดกลัวต่อความตายมากขึ้นเรื่อยๆ
วิธีการรักษาในการแพทย์สมัยใหม่ไม่ว่าจะเป็นการผ่าตัด การรับประทานยา การต้องพบแพทย์เป็นประจำ ทำให้ผู้ป่วยเกิดความรู้สึกพึ่งพิงมากขึ้นเรื่อยๆ เพราะทักษะความรู้เหล่านั้นผูกขาดอยู่ที่หมอเพียงผู้เดียว เมื่อบวกกับความสัมพันธ์ระหว่างหมอกับคนไข้ที่มักเป็นไปในเชิงอำนาจยิ่งไปกันใหญ่ คือ ใช้วิธีการสั่ง ดุว่า เมื่อคนป่วยไม่ทำตาม เช่น “คุณต้องทำอย่างนั้น ทำไมคุณไม่กินยาที่หมอสั่ง หมอบอกคุณแล้วคุณก็ไม่เชื่อ”
ญาติมิตรโดยรอบก็ล้วนปฏิบัติต่อคนป่วยแบบเดียวกับหมอ ดุว่าให้ทำทุกอย่างที่หมอบอก กระทั่งท้ายที่สุดทั้งหมอ คนป่วย และญาติคนป่วยต่างก็บ่มเพาะความรู้สึกหวาดกลัวต่อความตายแก่กันและกันอย่างไม่รู้ตัว
แน่นอนว่าการหวาดกลัวต่อความตายเป็นสัญชาตญาณของมนุษย์และสัตว์ทั้งหลาย แต่ความหวาดกลัวที่เกิดจากอำนาจและการพึ่งพิงที่ทำให้จิตใจอ่อนแอลงเรื่อยๆ นั้น น่าสงสัยอยู่ว่าเราจะถือเป็นความสำเร็จในการรักษาได้หรือไม่ เมื่อความหวาดกลัวเติบโตเป็นมะเร็งในทางจิตใจ หมอก็รักษาไม่ได้อีกต่อไป ต้องไปให้พระที่วัดช่วย ผู้ป่วยอาการหนักจำนวนมากต้องการพบพระ เข้าวัดทำบุญ เพื่อช่วยลดความหวาดกลัวต่อความตาย ซึ่งเป็นความเจ็บปวดลึกซึ้งในทางจิตวิญญาณ แต่มันอาจไม่ทันการเสียแล้ว
ฉะนั้น เราทั้งหลายจึงพึงใช้สัญชาตญาณความกลัวตายกันเสียแต่เนิ่นๆ ในการแสวงหาการแพทย์ที่รักษากายโดยไม่ก่อให้เกิดปัญหาทางใจ การแพทย์ที่มีโลกทัศน์องค์รวมระหว่างกายกับใจ การแพทย์ที่แพทย์ไม่ใช้อำนาจแต่ใช้ความรักความเมตตาต่อเรา เป็นได้ทั้งหมอ พระ และเพื่อนให้เราในเวลาเดียวกัน
ที่ว่ามานั้น เราพบได้ใน…การแพทย์แผนธิเบต
การแพทย์แผนธิเบต เป็นศาสตร์การแพทย์ที่มีรากฐานมาจากพระพุทธศาสนา โดยอธิบายว่าชีวิตนั้นประกอบด้วยตรีธาตุ ได้แก่วาตะ(ลม) ปิตะ(ไฟ) และกผะ(ดิน/น้ำ) อันเป็นธาตุพื้นฐานที่ประกอบกันเข้าและทำหน้าที่ต่างๆ ให้ชีวิตดำรงอยู่ได้ โรคภัยไข้เจ็บเกิดขึ้นจากการที่ธาตุทั้งสามนั้นแปรปรวนไม่อยู่ในภาวะสมดุล ขาดพร่องหรือกำเริบ สาเหตุของการที่ธาตุทั้งสามแปรปรวนไปไม่สมดุลเกิดจากลักษณะการใช้ชีวิต การกินอยู่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งสาเหตุสำคัญคือ อวิชชา คือ โลภ โกรธ หลง นั่นเอง โดยธาตุวาตะจะถูกกระตุ้นโดยความโลภ ธาตุปิตะถูกกระตุ้นโดยความโกรธ และธาตุกผะถูกกระตุ้นโดยความหลง
นอกจากนี้แล้ว การแพทย์แผนธิเบตยังกล่าวถึงสาเหตุของโรคภัยบางชนิดที่ไม่ได้เกิดจากการใช้ชีวิตในปัจจุบันแต่เกิดจากกรรมเก่า ลักษณะของโรคภัยเช่นนี้คือ ยากแก่การรักษา การเยียวยารักษาทางการแพทย์อย่างเดียวไม่เพียงพอสำหรับการเจ็บป่วยอันเกิดจากกรรมเก่านี้
ในแง่ของการตรวจรักษาแพทย์ใช้วิธีการสังเกตดูลักษณะทางกายภาพโดยทั่วไปของคนไข้ เช่นเลือด เล็บ ลิ้น เสมหะ ปัสสาวะ อุจาระ ตา สีผิว เป็นต้น และตรวจชีพจรด้วยปลายนิ้วมือซึ่งลักษณะที่พบจะบ่งบอกถึงความแปรปรวนของธาตุพื้นฐาน ที่ชี้ไปยังความเจ็บป่วย ณ จุดใดๆ ของร่างกาย รวมทั้งการซักถามเรื่องการกินอยู่และการใช้ชีวิตก็จะได้ข้อมูลการวินิจฉัยที่ชัดเจนขึ้น
หลังจากการตรวจจนพบความแปรปรวนของธาตุแล้วแพทย์จะแนะนำผู้รับการรักษาให้ปรับเรื่องการกินอาหารเพื่อปรับธาตุให้เข้าสู่สภาวะสมดุลมากขึ้น คือ ถ้าธาตุชนิดใดพร่องก็ควรทานอาหารที่มีธาตุชนิดนั้นประกอบอยู่เป็นหลักเพื่อเสริมธาตุให้มากขึ้น หากธาตุชนิดใดมีมากเกินไป ก็ให้ทานอาหารที่มีธาตุตรงข้ามเพื่อคุณสมบัติในการต้านและปรับสมดุล หมอในการแพทย์แผนธิเบตจึงเป็นผู้มีความรู้ในเรื่องธาตุที่มีอยู่ในอาหารชนิดต่างๆ เพื่อการแนะนำคนรับการรักษาด้วย
นอกจากการรักษาโดยการกินอาหารบางชนิดเพื่อเพิ่มหรือปรับลดธาตุให้สมดุลแล้ว การรักษาในการแพทย์แผนธิเบตยังรวมถึงการปรับวิถีชีวิตเช่นการพักผ่อน การผ่อนคลาย การทานยาพิเศษบางชนิดสำหรับบางกรณี ซึ่งเป็นยาสมุนไพร โดยยาบางชนิดจะต้องมีวิธีการรับประทานเป็นพิเศษจึงจะได้ผล เช่น รับประทานในวันพระจันทร์เต็มดวง และมีการสวดมนต์ทำสมาธิร่วมด้วย นอกจากนั้นยังมีการฝังเข็ม การอาบน้ำพุธรรมชาติเป็นต้น และแน่นอนว่าหมอชาวธิเบตจะแนะนำคนไข้ให้ลดตัวโลภ โกรธ หลงในชีวิตลงด้วย หากต้องการมีชีวิตยาวนานก็ต้องฝึกลดละสิ่งเหล่านี้ลงไป
สำหรับโรคภัยบางชนิดที่อาจเป็นผลมาจากกรรมเก่านั้น วิธีการเยียวยารักษาคือการสวดมนต์ ปฏิบัติธรรม ทำบุญแผ่ส่วนกุศล เป็นต้น
ด้วยวิถีการแพทย์แผนธิเบตที่มีพื้นฐานจากจิตวิญญาณพุทธศาสนา แพทย์ผู้จะทำการรักษาจึงไม่เพียงต้องศึกษาด้านทักษะการรักษาเท่านั้นหากยังถูกบ่มเพาะฝึกฝนในทางจิตวิญาณด้วย คือให้เห็นคนไข้เป็นเพื่อนร่วมทุกข์ หมอพึงรักษาด้วยความรักความเมตตา ความปรารถนาให้เพื่อนร่วมทุกข์ได้พ้นจากทุกข์ ความสัมพันธ์ระหว่างแพทย์ผู้รักษากับผู้รับการรักษาจึงมีความอ่อนโยนเข้าอกเข้าใจ และแพทย์ผู้ให้การรักษายังไม่ได้มุ่งเพียงการรักษาทางกายเท่านั้น แต่ยังอาจใช้การรักษาเยียวยาร่างกายนี้เป็นฐานสะท้อนลึกลงไปถึงชีวิตส่วนลึกของผู้รับการรักษา อาจารย์แพทย์ชาวธิเบตบางคนจึงมักตั้งคำถามผู้รับการรักษาไปด้วยว่า “ทำไมเราถึงต้องการมีสุขภาพแข็งแรงและชีวิตยืนยาว” อันเป็นคำถามที่ทำให้ผู้ป่วยได้นึกย้อนลึกลงไปถึงโลกทัศน์ ชีวทัศน์ของตนว่า เป้าหมายของชีวิตคืออะไร
ในการแพทย์แผนธิเบต ทั้งแพทย์และผู้รับการรักษาจึงเปรียบเหมือนกัลยาณมิตรที่เดินจูงมือกันในเส้นทางของสุขภาวะทั้งทางกายและทางจิตวิญญาณ การรักษาสุขภาพกายเป็นไปพร้อมๆ กับการบ่มเพาะความเข้าใจในชีวิต คือปัญญา อันเป็นตัวยาที่กำจัด อวิชชา ที่เป็นสาเหตุของโรคทั้งหลายกายและใจนั้นเอง