เทศกาลทิเบต "หิมาลัย" ถึง "เจ้าพระยา"
Author : Admin
“ทิเบต” เป็นดินแดนแห่งพุทธศาสนาที่ประดุจดังหลังคาโลก โอบล้อมด้วยเทือกเขาหิมาลัยอันยิ่งใหญ่ พุทธศาสนาทิเบต ทำให้คนทั่วโลกที่แสวงหาความสงบสุขทางจิตวิญญาณ พากันหลั่งไหลสู่เส้นทางสายศรัทธา มรรคาแห่งการน้อมนำจิตใจ ให้แก่โลกและธรรมชาติ ในการเข้าถึงความดี ความงาม ความจริง ของโลกและชีวิต
ทิเบตยังเป็นดินแดนแห่งศิลปวัฒนธรรม ผสานพุทธปรัชญาอันลึกซึ้ง ความสุขทางจิตวิญญาณ เข้ากับโลกของสุนทรียะ ผ่านบทสวด เสียงดนตรี การร่ายรำ ศิลปะภาพวาด และศิลปะแขนงต่างๆ อีกมากมาย
ไม่ว่าจะเป็น “ทังก้า” (Thangka) ศิลปะภาพวาดชั้นสูงอันงดงามบนผืนผ้า เพื่อใช้ในพิธีกรรมทางศาสนา และบูชาแทนพระพุทธเจ้า
พระทิเบตกับมณฑลแห่งการตระหนักรู้ที่สร้างจากทรายสี (Sand Mandala) ลวดลายอันสวยงาม ที่ใช้เวลานานนับเดือนในการสร้างสรรค์ แต่สุดท้ายจะถูกลบละลายหายไปกับสายลม อันเป็นปริศนาธรรมอันล้ำลึก
TIPA – Tibetan Institute of Performing Arts หรือ “สถาบันศิลปะการแสดงทิเบต” จัดตั้งตามดำริขององค์ทะไลลามะที่ 14 ที่จะสืบสานศิลปวัฒนธรรมทิเบต เพื่อรักษาคุณค่าแห่งจิตวิญญาณของชนชาติทิเบต และของโลกไว้
TIPA เป็นทั้งสถานศึกษา แหล่งรวมศิลปิน และคณะนักแสดงมืออาชีพ ตั้งอยู่ที่เมืองธรรมศาลา ตอนเหนือของอินเดีย โดยเปิดการแสดงให้แก่ผู้เดินทางไปแสวงบุญ และเข้าเฝ้าองค์ทะไลลามะ รวมทั้งไปแสดงตามเมืองต่างๆ ทั้งในอินเดีย เอเชีย อเมริกา และยุโรป
ในวาระครบรอบ 50 ปี แห่งการก่อตั้ง คณะนักแสดงจาก TIPA เดินทางมาเยือนประเทศไทยเป็นครั้งแรก โดยนำการแสดงศิลปวัฒนธรรมชุดพิเศษ ที่ตระเวนแสดงมาแล้วกว่า 50 รอบ ในฮอลแลนด์ จัดแสดงใน “เทศกาลศิลปวัฒนธรรมทิเบต จากหิมาลัยถึงเจ้าพระยา” วันที่ 5-10 มีนาคม 2553 ที่หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร
ด้วยความร่วมมือของมูลนิธิเสฐียรโกเศศ-นาคะประทีป หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร หอศิลป์ตาดู และกลุ่มดินสอสี ร่วมสนับสนุนโดยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)
“การแสดงศิลปวัฒนธรรมของ TIPA เป็นการสื่อสารให้ผู้คนได้รู้จัก ได้เข้าใจความเป็นทิเบตว่าคืออะไร เป็นใคร สำหรับที่กรุงเทพฯ เช่นกัน เราหวังว่าจะได้นำสารแห่งความสุขทางจิตวิญญาณ ผ่านการแสดงศิลปวัฒนธรรมจากทิเบตสู่คนไทย ภายหลังการแสดงจบลง ถ้ามีคนไทยหันมาสนใจเรื่องราวความเป็นไปของทิเบตมากขึ้น นั่นถือเป็นผลสำเร็จที่ได้รับจากการแสดงของเรา” นาวาง เท็นซิน หัวหน้านักดนตรี และนาฏศิลป์ TIPA กล่าวถึงความตั้งใจของคณะในงานนี้
นาวาง เกิดที่เมืองลาซา ทิเบต อายุได้ 13 ปี เดินทางไปเรียนต่อที่ Tibetan Children Village school ในอินเดีย ก่อนจะเข้าศึกษากับสถาบัน TIPA ในด้านการเต้นรำ ร้องเพลง เล่นดนตรี ละคร โอเปร่า นานกว่า 15 ปี จากนักแสดงรุ่นเยาว์จนปัจจุบันเป็นพี่ใหญ่ของคณะ
พร้อมทั้งให้รายละเอียดถึงการแสดงที่จะมีขึ้นครั้งแรกในประเทศไทยว่า ทิเบตประกอบไปด้วย 3 ภูมิภาคใหญ่ๆ แต่ละภาคมีภาษา ดนตรี บทเพลงพื้นเมือง และระบำชนเผ่า แตกต่างกันไปมากมายเป็นร้อยๆ อย่าง โดยในครั้งนี้คัดสรรการแสดงมาให้ชมครบทุกภาค
ไม่ว่าจะเป็น Domey Therik ระบำแห่งความเบิกบานต้อนรับปีใหม่ หรือเฉลิมฉลองฤดูเก็บเกี่ยวที่มีลีลาสนุกสนาน ตอบโต้กันไปมาระหว่างชายหญิง
บทเพลง kongpoi Dha lu จากจังหวัดกงโป ซึ่งอยู่ทางตะวันออกเฉียงใต้ เป็นพื้นที่ป่าเขียวชอุ่มชุ่มชื้นด้วยพืชพรรณไม้นานาชนิด นอกจากวิถีชีวิตที่แนบแน่นกับธรรมชาติแล้ว ชายชาวพื้นเมืองในแถบนี้ ยังมีชื่อเสียงด้านความสามารถในการยิงธนู ส่วนผู้หญิงมีชื่อในด้านความงาม
Bod shar chok kyi Ralpa หรือการเต้นรำของนักเดินทางพเนจร ในเขตแคว้นคาม ภาคตะวันออกของทิเบต กลุ่มนักดนตรีพเนจรผมหยิกยาวเดินทางจากหมู่บ้านหนึ่งไปหมู่บ้านหนึ่ง เพื่อร้องเล่นเต้นรำ พวกเขามักจะร้องเพลงสรรเสริญ “มารปะ” ซึ่งเป็นคุรุทางจิตวิญญาณผู้ยิ่งใหญ่ กับเหล่าโยคีตันตระของทิเบต ผู้มีชื่อเสียงและบรรลุธรรม เชื่อกันว่า เมื่อพวกเขาไปร้องเพลงและเต้นรำที่หมู่บ้านใด หมู่บ้านนั้นจะโชคดี
นอกจากนี้ ยังมีนาฏลีลาที่สะท้อนศรัทธา ความเชื่อทางศาสนา และพิธีกรรมอันศักดิ์สิทธิ์ เช่น “ระบำหน้ากาก” Shanak หรือ “ระบำหมวกดำ” มีจุดมุ่งหมายเพื่อขจัดอุปสรรคกีดขวางความสุข หมายถึงความเศร้าหมอง และความไม่รู้ถึงสาเหตุแห่งทุกข์ที่อยู่ในตัวของแต่ละบุคคล
เมื่อเริ่มการแสดง ผู้เต้นระบำหมวกดำจะหลั่งน้ำพระพุทธมนต์ถวายต่อลามะเทพเจ้า และ “ธรรมะปาละ” ผู้รักษาสัจธรรม ในศาสนาแบบทิเบตนั้น ธรรมะปาละกับมิตรสหาย มักปรากฏกายด้วยท่าทางโกรธเกรี้ยว เพื่อกำราบจิตใจของปุถุชนที่อ่อนแอ เพราะโทสะ โลภะ โมหะ
“ระบำเทพเจ้ากวาง” Stag Dance แสดงถึงเทพเจ้าที่สามารถเคลื่อนไหว จนทำให้เกิดพลังรุนแรง เพื่อให้กิเลสอ่อนแรงลง จนเกิดการพัฒนาทางจิตวิญญาณ ระบำชนิดนี้มี 4 ขั้นตอน ได้แก่การอัญเชิญพระพุทธเจ้า และพระโพธิสัตว์ การถวายบูชา การแสดงการเคลื่อนไหวอย่างรุนแรงเพื่อเอาชนะอุปสรรค และการภาวนาให้พระพุทธเจ้าและพระโพธิสัตว์เสด็จกลับสู่ที่ประทับ
ระบำเทพเจ้ากวางได้รับความนิยมในทิเบตมาก เพราะเชื่อกันว่าเทพผู้มีเศียรเป็นกวาง คือผู้ปกปักรักษาที่ยิ่งใหญ่
ไม่เท่านั้นยังมีการแสดงที่พิเศษมากอีก 2 ชุด เกี่ยวเนื่องกับ Traditional Tibet Opera เป็นเอกลักษณ์ของทิเบต โดยในช่วงเดือนมีนาคมของทุกปี จะมีเทศกาลทิเบตโอเปร่า ที่แต่ละกลุ่มจะมาร่วมกันแสดงที่เมืองธรรมศาลา องค์ทะไลลามะจะเสด็จมาชมด้วย
การแสดงชุดแรก คือ “ระบำจามรี” Yak Dance ตัดมาจากโอเปร่าเก่าแก่เรื่องหนึ่งของทิเบต ระบำชุดนี้ทำให้เห็นภาพวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของชนเร่ร่อนที่ต้องต้อนจามรี ไปในที่ต่างๆ
ส่วนการแสดงอีกชุด ได้แก่ Ngonpa – Rigna เป็นการแสดงประเพณี ที่ใช้แสดงก่อนการแสดงโอเปร่าของทุกคณะ ทุกครั้งที่แสดงทิเบตโอเปร่า จะต้องขับร้องบทเพลงพร้อมระบำชุดนี้เสมอ
Ngonpa – Rigna เสมือนการแสดงเปิดม่าน เพื่อปัดเป่ามลทินออกจากเวที ตัวละครสวมหน้ากาก คือกลุ่มคนที่เป็นสัญลักษณ์ของพระวัชราปาณีโพธิสัตว์ กลุ่มเด็กสาว สวมมุงกุฎปักดิ้น พร้อมทั้งมีกุหลาบดอกโตทัดหู คือสัญลักษณ์ของเทพบุตรเทพธิดา
ตอนสุดท้ายของการแสดง ทุกคนบนเวทีจะขว้าง tsampa หรือ ก้อนแป้งทำจากข้าวบาร์เลย์ ที่อยู่ในมือขึ้นไปในอากาศ เพื่อสักการะแด่พระโพธิสัตว์และเทพเจ้า เพื่อสันติสุขและความเจริญของสัตว์โลก
อีกทั้งบริเวณจัดงานยังมีนิทรรศการศิลปะ สุนทรียะอันลึกซึ้งด้วยพุทธปรัชญาทิเบต เช่น Sand Mandala มณฑลแห่งการตรัสรู้จากทรายหลากสี และ Butter Sculptures เครื่องสักการะจากเนยแกะสลัก โดยฝีมือพระทิเบต ศิลปะภาพเขียนทังก้า อันวิจิตรพิสดาร ถวายบูชาพระพุทธเจ้า นิทรรศการภาพถ่าย หนังสือ และของที่ระลึกทิเบตอีกมากมาย
“จากหิมาลัยถึงเจ้าพระยา” ครั้งแรกในประเทศไทย เปิดแสดงวันที่ 5-10 มีนาคม 2553 รอบปกติ 19.00 น. เสาร์-อาทิตย์ เพิ่มรอบ 14.30 น. (เว้นวันจันทร์) สมทบทุนการแสดง 1,000 บาทต่อที่นั่ง (ที่นั่งมีจำนวนจำกัด) สอบถามรายละเอียดและสำรองที่นั่งได้ที่ กลุ่มดินสอสี โทร.0-2623-2838-9 และเสมสิกขาลัย โทร.0-2438-9331-2
Source : หนังสือพิมพ์ข่าวสดรายวัน วันที่ 14 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2553 ปีที่ 19 ฉบับที่ 7017 หน้า 5