แด่นิโคลัส เบนเน็ต
Author : ส.ศิวรักษ์
นิโคลัส เบนเน็ต เพิ่งตายจากไปเมื่อวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2010 ณ ประเทศโปรตุเกส คือเขามีบ้านเพื่ออยู่กับมอนตาเน็ต ภรรยาชาวฝรั่งเศสของเขาที่นั่นหลังหนึ่ง สำหรับฤดูร้อน และมีที่ภูเก็ตอีกหลังหนึ่ง เพื่ออยู่เมืองไทยในฤดูหนาว โดยเขาใช้เงินที่ขายบ้านพ่อแม่ ณ ตำบล แฮมสเตด ในกรุงลอนดอน ที่เขาได้รับส่วนแบ่งจากมรดกมาใช้ เพื่อหาความสุขในบั้นปลายชีวิต เมื่อเกษียณอายุออกมาจากธนาคารโลกแล้ว โดยเขามีเวลาภาวนาและทำโยคะแทบทุกวัน
นิโคลัสเป็นคนแปลก ที่แหวกแนวออกจากกระแสหลัก แต่ก็แนบสนิทกับสถาบันกระแสหลักมาเกือบจะตลอดชีวิต แม้เมื่อก่อนเข้ามหาวิทยาลัย เขาก็เดินทางด้วยตัวคนเดียวไปจนติมบักตู ในอาฟริกา อย่างน่าตื่นเต้น ดังเขาเขียนเล่าไว้และได้ตีพิมพ์แล้วด้วย ในหนังสือชื่อ Zigzag to Timbuktu (1963)
เมื่อไปเรียน PPE ที่ออกซฟอร์ด เขาร่วมเดินขบวนคัดค้านการมีอาวุธนิวเคลียร์ของอังกฤษ และถูกจับพร้อมกับเบอทรัน รัสเซล ซึ่งเวลานั้นอายุกว่า 90 แล้ว ในขณะที่นิโคลัสอายุเพิ่งจะย่างเข้า 20
เขาแรกทำงานให้ UNESCO ซึ่งส่งเขามาเป็นผู้เชี่ยวชาญ ณ กระทรวงศึกษาธิการ ในกรุงเทพฯ โดยที่ผู้เชี่ยวชาญมีผมยาว ใส่กางเกงยีนส์ และเกือกแตะฟองน้ำ แต่คุณหญิงอัมพร มีศุข ซึ่งเป็นผู้อำนวยการกองวิเทศสัมพันธ์ของกระทรวง ก็โปรดปรานเขา โดยเขามีส่วนร่วมร่างโครงการต่างๆ ให้กระทรวงได้เงินตราจากต่างประเทศมาพัฒนาหลักสูตรและกิจกรรมนอกหลักสูตรมิใช่น้อย
นิโคลัสกับมอนตาเน็ตมาอยู่เมืองไทยในปลายทศกะที่ 1960 จนถึงต้นทศกะที่ 1980 ซึ่งเป็นช่วงเปลี่ยนแปลงที่สำคัญ เขาคบกับเยาวชนหัวก้าวหน้า ที่เริ่มคิดอย่างแหวกกระแสหลักออกไป โดยเขามีส่วนเกื้อกูลกับเยาวชนเหล่านี้เป็นอย่างมาก ด้วยมิตรภาพของเขา และความคิดความอ่านของเขา พร้อมทั้งการแนะนำหนังสือใหม่ๆ ให้เยาวมิตรไทยได้อ่าน จนบ้านเขาเป็นที่พักพิงของเยาวมิตรบางคนอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะก็เสกสรรค์ ประเสริฐกุล วิศิษฐ์ วังวิญญู ประชา หุตานุวัตร สันติสุข โสภณศิริ และไพศาล วงศ์วรวิสิทธิ์
เมื่อก่อนเกิดเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 1976 ขึ้นนั้น พวกเราทั้งที่เป็นชาวพุทธ คริสต์ และมุสลิม ได้ตั้งกลุ่มประสานงานศาสนาเพื่อสังคมขึ้น (Coordinating Group for Religion and Society) โดยหวังว่าจะใช้ศาสนธรรมมาเป็นพลังในการลดความรุนแรง ซึ่งกำลังเผยทีท่าออกมายิ่งๆ ขึ้นอย่างน่าสะพรึงกลัวนัก สังฆราชบุญเลื่อน หมั้นทรัพย์ และโกศล ศรีสังข์ แห่งสภาคริสตจักร เป็นตัวตั้งตัวตีที่สำคัญของฝ่ายคริสต์ ข้าพเจ้าอยู่ฝ่ายพุทธ แต่แล้ววิกฤตการณ์ 6 ตุลาคม ก็เป็นเหตุ ให้ข้าพเจ้าต้องอยู่นอกประเทศถึงสองปี เฉกเช่น โกศล ศรีสังข์ด้วยเหมือนกัน
ในช่วงเวลาดังกล่าว นิโคลัส ได้เข้ามาร่วมพยุง CGRS อย่างแข็งขัน ด้วยความร่วมมือของโคทม อาริยา และศรีสว่าง พั่ววงศ์แพทย์ สองคนหลังนี้เข้ามาสู่ CGRS ด้วยคำแนะนำของป๋วย อึ๊งภากรณ์ ซึ่งก็ต้องลี้ภัยไปอังกฤษเช่นเดียวกับข้าพเจ้า โดยเราได้ร่วมกันตั้งมูลนิธิมิตรไทยขึ้นที่นั่น เพื่อช่วยเมืองไทยด้านข้อมูลข่าวสาร และงานด้านนสิทธิมนุษยชน โดยประสานกับ CGRS อย่างไม่เปิดเผยอีกด้วย
ในช่วงที่นิโคลัสไปอังกฤษ ก็ได้ไปประชุมก่อตั้งมิตรไทยกับเรา ที่บ้านบิดามารดาเขาด้วย โดยที่นิโคลัสสมารถโยงใยเยาวมิตรชาวไทยของเขาให้เข้ามามีบทบาทใน CGRS ยิ่งๆ ขึ้น โดยเฉพาะก็สันติสุข โสภณสิริ และไพศาล วรวิสิทธ์ ซึ่งแม้จะอุปสมบทออกเป็นพระไพศาล วิสาโลแล้ว ก็ยังอุทิศตนเพื่อ CGRS อย่างเต็มที่ จนหน่วยงานนี้ปลาสนาการไปตามพระอนิจลักษณะ
งานเขียนของนิโคลัส ในช่วงที่อยู่เมืองไทย ตีพิมพ์เป็นภาษาอังกฤษ โดยโครงการตำรามนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ ในชื่อว่า Bridge and Barrier on Development ซึ่งมีแปลเป็นไทยด้วย นับว่านิโคลัสให้ข้อคิดและตั้งคำถามในเรื่องการพัฒนาอย่างน่าสนใจ และเขาแนะนำนักการศึกษานอกกระแสหลักให้พวกเราได้รู้จักด้วย โดยเฉพาะก็ Paulo Faeiri และ Ivan Illich ดังงานของคนทั้งสองนี้ก็มีแปลเป็นภาษาไทยด้วยแล้ว ยิ่งกับ Ivan Illich ด้วยแล้ว เราสนิทสนมกันเป็นพิเศษ จนพวกเราบางคนได้ไปเยี่ยมเขาถึง Cana vaca ซึ่งเขาตั้งเป็นศูนย์การศึกษานอกกระแสหลักอยู่ในประเทศแมกซิโก โดยที่ข้าพเจ้าได้สนิทสนมกับเขา ต่อมาจนเขาตายจากไปเมื่อเร็วๆ นี้เอง
เมื่ออกจากเมืองไทยไปแล้ว นิโคลัสไปทำงานที่ธนาคารโลก โดยการเป็นผู้แทนหน่วยงานนั้นในประเทศที่ยากจน เริ่มแต่เนปาล โดยเขาเดินไปเยี่ยมหมู่บ้านต่างๆ อย่างเอาจริงเอาจัง บางทีเดินเป็นวันๆ ตัวเขาเองไม่ใช้รถยนต์ส่วนตัว มีแต่มอเตอร์ไซด์ ซึ่งใช้ในเมือง (เพราะจักรยานสองล้อสู้กับการขึ้นภูเขาไม่ไหว) หากใช้ขาทั้งสองกับม้าเป็นพาหนะเวลาออกนอกเมือง
นิโคลัสมีความสุขมากกับชาวพื้นเมืองที่ห่างไกลตัวเมืองออกไป เขาให้การศึกษาและให้แนวคิดใหม่ๆ และเรียนรู้จากคนเหล่านั้น แม้จะต้องผ่านล่าม ผู้คนเหล่านั้นก็รับเขาเป็นเพื่อนได้อย่างสนิทใจ โดยที่ไม่มีใครในสถาบันการเงินเป็นอันยิ่งใหญ่ในระดับโลก ได้ลงไปคลุกคลีกับพวกเขาเช่นนี้มาก่อนเลย ต่อมานิโคลัสได้ย้ายไปประจำอยู่ในอาฟริกาด้วย
เวลาเขาไปเยี่ยมสำนักงานใหญ่ของธนาคารโลก ที่กรุงวอชิงตัน หากเป็นช่วงที่ข้าพเจ้าลี้ภัยไปประเทศนั้น เราก็ได้พบกัน แม้เมื่อข้าพเจ้าหนีสุจินดา คราประยูรไปอยู่ที่ญี่ปุ่น นิโคลัสก็ตามไปเยี่ยมถึงที่นั่น
มิตรภาพของเรากระชับมั่นตลอดมา ยิ่งเมื่อเขามามีบ้านอยู่ที่ภูเก็ตด้วยแล้ว เขาเชิญลูกเมียข้าพเจ้าให้ไปพักกับเขา ดังเพื่อนคนอื่นๆ ก็เช่นกัน และเมื่อข้าพเจ้าอายุครบ 70 ปี นิโคลัสก็กรุณาช่วยเขียนคำนิยมให้อย่างน่าจับใจ ในหนังสือชื่อ Socially Engaged Spirituality: Essays in Honor of Sulak Sivaraksa on His 70th Birthday ดังต่อมาเขาได้รวบรวมบทความต่างๆ ให้ข้าพเจ้าและเขียนคำนำให้ด้วย ในหนังสือเล่มล่าสุดที่ตีพิมพ์ในสหรัฐชื่อ The Wisdom of Sustainability: Buddhist Economics for the 21stCentury ข้าพเจ้ารู้สึกสำนึกถึงบุญคุณของเขาอยู่อย่างไม่รู้ลืม
อัตชีวประวัติของเขาชื่อ All in the case of Duty นั้น มีสำนักพิมพ์ในประเทศสวิสรับแปลและจะตีพิมพ์เป็นภาษาฝรั่งเศส โดยที่ประชา หุตานุวัตร ก็รับแปลเป็นไทย
พวกเราในเมืองไทย กำหนดจัดงานบุญอุทิศให้นิโคลัส เบนเน็ต ณ เรือนร้อยฉนำ มูลนิธิเสฐียรโกเศศ-นาคะประทีป เลขที่ 666 ถนนเจริญนคร คลองสาน กรุงเทพฯ วันอาทิตย์ที่ 28 กุมภาพันธ์ แต่เวลา 10.00 น. เป็นต้นไป โดยพระไพศาล วิสาโล จะแสดงธรรมานุสรณ์ถึงกัลยาณมิตรของเราคนนี้ด้วย ณ ที่นี้เองเมื่อตอนเราเปิดเรือนร้อยฉนำในปี พ.ศ. 2546 นิโคลัสก็ได้ไปร่วมด้วย และได้แสดงปาฐกถาเสม พริ้งพวงแก้วในโอกาสนั้นด้วย
นิโคลัสพูดถึงตัวเองด้วยสามวลี ว่าเขาเป็น authoritarian, anarchist and activist แต่ถ้าเราจะเอ่ยถึงเขาเป็นภาษาอังกฤษ คงสรุปได้สั้นๆ ว่า Nicholas was unique, unforgettable, full of energy and creativity, having no place for fear, or mediocrity,. He loved life, his family, the underprivileged,. His courage was incredible, he never stopped writing, thinking, reading and giving in whatever help was needed around him. We miss him, but his formidable nature remains an example for all of us.
โพสต์โดย Sulak Sivaraksa เมื่อ วันพฤหัสบดีที่ 4 มีนาคม 2010