ไว้อาลัยอาจารย์เบน แอนเดอร์สัน
Author : ส.ศิวรักษ์
(๒๖ สิงหาคม ๒๔๗๙ – ๑๓ ธันวาคม ๒๕๕๘)
การจากไปอย่างกะทันหันของอาจารย์เบน แอนเดอร์สัน ทำให้พวกเราต้องตั้งสติและเจริญมรณานุสติว่าความตายนั้นเกิดขึ้นได้ง่าย ๆ โดยที่การตายของอาจารย์เบนนับเป็นการสูญเสียอย่างสำคัญสำหรับชาวไทยและชาวเทศแทบทั่วทั้งโลก
มหาวิทยาลัยคอร์แนลเคยเป็นสถาบันอุดมศึกษาที่สำคัญ โดยเฉพาะทางด้านเอเชียอาคเนย์ คณาจารย์ทางด้านเอเชียอาคเนย์นั้นมีคนสำคัญ ๆ หลายท่าน และในหลายแขนงวิชาการ เช่นทางด้านประวัติศาสตร์ มานุษยวิทยา และรัฐศาสตร์ เป็นต้น โดยที่ในบรรดาอาจารย์เหล่านั้น อาจารย์เบนเป็นคนที่มีหัวก้าวหน้ามากที่สุด และเป็นบุคคลซึ่งศิษยานุศิษย์เคารพมากที่สุด แม้ศิษย์นั้น ๆ จะไม่ไปเรียนวิชาสาขารัฐศาสตร์ของอาจารย์เบน ก็ไปมั่วสุมอยู่กับอาจารย์เบนซึ่งเป็นพลังให้ศิษย์นั้น ๆ แสวงหาความเป็นเลิศ โดยมุ่งทางวิชาการอย่างน่าสนใจนัก
อาจารย์เบนเคยเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านอินโดนิเซียศึกษามาก่อน และเขาศึกษาหาความรู้อย่างเจาะลึกด้วยความกล้าหาญทางจริยธรรม จนรัฐบาลอินโดนิเซียไม่ยอมให้เขาเข้าประเทศ เขาจึงหันมาเอาดีทางไทยคดีศึกษา โดยที่ภาษาอินโดนิเซียของเขานั้นนับว่าเป็นเลิศ ส่วนภาษาไทยซึ่งเขามาเรียนภายหลังจึงไม่ช่วยให้เขาพูดไทยได้ชัด แต่เขาก็แตกฉานในทางภาษาและวัฒนธรรมไทยอย่างหาใครเปรียบได้ยาก โดยเขาเจาะลึกทางการเมืองไทยโดยอาศัยวรรณคดีไทยร่วมสมัยอย่างน่าสังเกต
งานเขียนของเขาเกี่ยวกับไทยคดีศึกษานั้นน่าทึ่งมาก โดยที่ต่อมาเขายังศึกษาภาษาตากาล็อก และสนใจประเทศฟิลิปปินส์อีกด้วย พร้อมกันนั้น บทบาทของอาจารย์เบนก็เป็นสากลไปพ้นเอเชียอาคเนย์ โดยเฉพาะก็เรื่อง Imagined Communities [“ชุมชนจินตกรรม”, มูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ จัดพิมพ์เป็นภาษาไทย**] นั้นถือว่าเป็นอมตะในระดับสากลเอาเลย มีแปลเป็นภาษาต่าง ๆ แทบทั่วทั้งโลก แต่แล้วเจ้าตัวก็เป็นคนอ่อนน้อมถ่อมตน คบกับผู้คนทุกชนชั้นอย่างเปิดกว้าง
ศิษยานุศิษย์ของเขา กล่าวจำเพาะในเมืองไทยนี้เองต่างก็เทิดทูนบูชาเขาเป็นอย่างยิ่ง แม้ตัวผมเองจะไม่ได้เป็นศิษย์ของเขา แต่เราก็เป็นกัลยาณมิตรซึ่งกันและกัน ให้กำลังใจแก่กันและกัน เพราะฉะนั้น การจากไปของเขา ผมจึงถือเป็นการสูญเสียส่วนตัวด้วย และเป็นการสูญเสียสำหรับนักวิชาการที่รักสัจจะ รักสันติประชาธรรม
หวังว่าพวกเราจะร่วมใจกันทำอะไรบางอย่าง เพื่อเป็นอนุสรณ์ถึงอาจารย์เบนอย่างที่ไปพ้นอนุสาวรีย์ที่เป็นวัตถุ ควรจะเป็นอนุสรณีย์ที่กระตุ้นเตือนให้คนรักวิชาการ ให้มีความกล้าหาญทางจริยธรรม ยืนหยัดอยู่เพื่อสัจจะและความยุติธรรมในสังคม ถ้าอนุสรณีย์ที่ว่านี้จะช่วยให้คนรุ่นใหม่ดำเนินรอยตามวิถีทางของอาจารย์เบน ได้ นั่นจะเป็นคุณูปการที่สำคัญ แม้ผลงานของเขาจะเป็นอมตะอยู่แล้ว แต่ถ้าเราช่วยกันสร้างให้คนรุ่นใหม่ได้เข้าสู่กระแสแห่งอมตธรรมของอาจารย์ เบนได้ นี่จะเป็นการแสดงกตัญญูกตเวทีต่ออาจารย์เบนอย่างสมควรยิ่ง