กฎแห่งความ “ไร้ระเบียบ”
ในท่ามกลางบรรยากาศความสับสนวุ่นวายของเศรษฐกิจ สังคมและการเมืองในปัจจุบันที่ดูเหมือนยากแก่การควบคุมและคาดเดาทิศทางของการขับเคลื่อนตัวไปในอนาคต แท้จริงแล้วในความสับสนมีความสงบนิ่งภายใต้กระแสคลื่นลมกรรโชกแรงที่พื้นผิว พอได้พิจารณาลงลึก ๆ ความรู้สึกที่ว่ากังวลก็ค่อยคลายกังวล ความรู้สึกที่สับสนก็ค่อยคลายความสับสน อีกทั้งยังเห็นความชัดเจนของการแปรเปลี่ยนไปกับการเคลื่อนตัวไปอย่าง “ไร้ระเบียบ” ของสังคมไทย หากพิจารณากันอย่างช้า ๆ ชัด ๆ
ในเหตุปัจจัยที่เกิดขึ้น ทำให้เห็นสัจแห่งธรรม(ชาติ)พื้นฐาน สมดังคำกล่าวที่ว่า “การเมืองเป็นเรื่องของการรักษาผลประโยชน์ของตนและพวกพ้อง อีกทั้งยังเป็นเรื่องของการประสานผลประโยชน์กับฝ่ายตรงข้าม” รวมไปถึงได้เรียนรู้ว่า “อุดมการณ์ทางการเมืองเป็นเรื่องที่ล้าสมัย” จึงทำให้ผมกล้าฟันธงว่าในสังคมไทยโดยเนื้อแท้แล้วไม่มีทั้ง “ไพร่” แบบถาวรไม่มีทั้ง “อำมาตย์” แบบถาวรหรอกครับเพราะ “ไพร่” ก็สามารถกลายพันธ์เป็นมหา “อำมาตย์” มหาอำมาตย์ก็สามารถกลายพันธ์เป็น “ไพร่” สลับขั้วกันไปมา (ใครจะไปเชื่อครับว่าควานช้างจะกลายเป็นประธานรัฐสภา)
ผมกลับคิดว่าในยุคนี้เป็นยุคทองของประชาธิปไตยแบบไทยอย่างแท้จริง ที่สิทธิและเสรีภาพเบ่งบานถึงขีดสุดยิ่งกว่ายุคสมัยใด ๆ แม้แต่ในยุคสุโขทัยที่มีการบันทึกในหลักศิลาจารึก ถึงสิทธิและเสรีภาพในการดำรงชีวิตว่า “ใครใคร่ค้าช้างค้า ม้าค้า” ภายใต้การปกครองของ “พ่อขุน” ที่ปกครองพสกนิกรแบบพ่อปกครองลูก มีอะไรก็ว่ากล่าวตักเตือนกันไป จะทำผิดมหันต์แค่ไหนก็ทรงพระเมตตา ในบางกรณีทรงพระราชทานอภัยโทษให้เสียด้วยซ้ำ ดังนั้นอย่าแปลกใจนะครับว่าพสกนิกรชาวไทยในปัจจุบันมักจะกล่าวถึงพระเจ้าอยู่หัวว่า “พ่อหลวง” เมื่อหลักชัยอันเป็น “แกน” ของสังคมเป็นเช่นนี้ สังคมไทยถึงแม้จะเป็นสังคมแห่งความ “ไร้ระเบียบ” จึงกลายสภาพเป็นสังคมที่มีลักษณะสานประโยชน์ อะลุ่มอล่วยกัน เอื้ออาทรต่อกัน ถึงแม้จะเป็นศัตรูคู่อาฆาตกันก็ไม่ถึงขนาดเข่นฆ่าจองล้างจองผลาญกัน (อาจจะมีความรุนแรงอยู่บ้างบางอารมณ์มาเป็นสีสัน แต่ลึก ๆ แล้วเราก็ให้อภัยกันครับ)
จากกฎแห่งความ “ไร้ระเบียบ” ก็เลยเป็นผลให้มีเพื่อนสนิทมิตรสหายหลายคนกลายพันธ์จาก “เหลือง” เป็น “แดง” และอีกหลายคนก็กลายพันธ์จาก “แดง” เป็น “เหลือง” จะว่าไปแล้วก็เป็นเสน่ห์ครับของสังคม “ไร้ระเบียบ” ที่ไร้ซึ่งอุดมการณ์และจุดยืนที่แปรเปลี่ยนไปตามอารมณ์ ความรู้สึกของกระแสสังคมที่เกิดขึ้นในช่วงนั้น ๆ เป็นผลให้สังคมไทยเป็นสังคมที่มีลักษณะเชื่อง่าย ชี้นำง่าย เกลียดง่าย รักง่าย (หน่ายเร็ว) อะไรต่ออะไรก็สามารถเกิดขึ้นได้ง่ายมากถึงง่ายที่สุด จึงเป็นสังคมที่มีทั้งจุดอ่อนและจุดแข็งในตัวเอง ภายใต้กฎแห่ง “ความไร้ระเบียบ” ที่ยากจะหาสังคมใดเสมอเหมือน เป็นสังคมที่ยอมรับอะไรได้ง่าย มีไม่กี่ประเทศในโลกหรอกครับที่พูดคำว่า “ไม่เป็นไร” กับทุก ๆ สถานการณ์ไม่ว่าจะคับขันมากแค่ไหน
วัฒนธรรมทางความคิดที่มีลักษณะเฉพาะตนเช่นนี้แหละครับเป็นสิ่งที่มีความหมายมากนะครับ เพราะเมื่อตั้งต้นที่ “ไม่เป็นไร” แล้วจะสุขหรือทุกข์หนักหนาแสนสาหัสสักเพียงใดก็ “ไม่เป็นไร” ทำให้สังคมไทยสามารถผ่านอะไรต่อมิอะไรไปได้ ก็เพราะความ “ไม่เป็นไร” นี้แหละครับ เป็นทั้งจุดอ่อนจุดแข็งของสังคมไทย เป็นทั้งเสน่ห์และไร้เสน่ห์ ก็เพราะเราอยู่กันมาอย่างนี้ ก็เลยทำให้สังคมไทย “ไม่เป็นไร” จะหนักหนาสาหัสแค่ไหนก็ “ไม่เป็นไร” เพราะที่สุดแล้วอย่างไรเราก็จะก้าวข้ามปัญหาอุปสรรคได้เสมอ (แต่ห้ามถามนะครับว่าบอบช้ำมากน้อยแค่ไหน)
ในมุมมองของผมความขัดแย้งทางด้านการเมืองที่ “ไร้ระเบียบ“ในครั้งนี้เป็นปรากฎการณ์ที่ “สานประโยชน์” และ “สร้างประโยชน์” ให้กับทุกฝ่าย ทั้งฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายตรงข้ามรัฐบาล เป็นเกมส์การเมืองที่ส่งผลให้ทุกฝ่ายเบิกบานด้วยความสุขและสมหวัง ไม่ว่าจะเป็นการประท้วงที่ก่อให้เกิดเงินสะพัดไปทั่วประเทศ ในช่วงที่ชาวไร่ชาวนาต่างจังหวัดว่างจากงาน อยู่บ้านไปก็ไม่มีรายได้อะไร มีโอกาสเดินทางมาเที่ยวกรุงเทพฯ อีกทั้งบรรดา ส.ส. อดีต ส.ส.และว่าที่ส.ส.ก็ต่างเบิกบาน เป็นการทดสอบหัวคะแนนและเครือข่ายในการกะเกณฑ์ผู้คน เป็นมวลชนจัดตั้ง อีกทั้งยังเป็นการเตรียมความพร้อมการเลือกตั้งครั้งใหม่
ที่ผมคาดว่าอย่างเร็วที่สุดน่าจะเป็นปลายปีนี้หรืออาจจะลากยาวไปปีหน้า ไม่มีการยุบสภาเลือกตั้งเป็นอันขาด เพราะยังมีอีกหลายโครงการที่มีมูลค่ารวมกันนับแสนล้านยังไม่มีการเซ็นต์สัญญาว่าจ้าง จัดจ้าง ท่านนายกฯ ก็เบิกบาน ได้รับความชื่นชมในความอดทนอดกลั้น ขนาดถูกล้อมบ้านก็แล้ว ถูกปาอึใส่บ้านก็แล้วก็ยังยิ้มได้ ท่านอดีตนายกฯ ที่อยู่ต่างประเทศก็เบิกบาน เพราะว่ามีกองเชียร์หนาแน่น รวมทั้งหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ กลับพุ่งขึ้นอย่างสวนกระแสแบบยิ่งประท้วงหุ้นก็ยิ่งขึ้น รับอานิสงส์เต็ม ๆ จากการประท้วงในครั้งนี้
ฝ่ายพรรคร่วมรัฐบาลก็ต่างมีความสุข เบิกบานอยู่ร่วมกันอย่างแน่นแฟ้น ประกาศสนับสนุนและยืนหยัดอยู่ร่วมกัน คงอีกสักพักใหญ่แหละครับ (อย่างน้อยก็ยังอยู่ร่วมกันจนกว่า “งบไทยเข้มแข็ง” ได้ถูกใช้จ่ายจัดสรรกันไปเรียบร้อย) อีกทั้งผู้นำการประท้วงก็เบิกบานเพราะต้องบริหารจัดการกับเงินที่ถูกบริจาคโดยผู้สนับสนุน นอกจากเงินบริจาคแล้วก็ยังมีการบริจาคโลหิตร่วมกันและนำมาละเลงปฐพีร่วมกัน นอกจากนั้นก็ยังประกาศแนวทางการประท้วงอย่าง “สันติวิธี” ภายใต้หลัก “อหิงสา” แบบไทยที่ไม่เหมือนใครในโลก ดูไปดูมาทุกฝ่ายก็ต่างเบิกบาน “สานประโยชน์” กันภายใต้กฎแห่งความ “ไร้ระเบียบ” อันเป็นเอกลักษณ์ของสังคมไทย ดังนั้นหากจะพยายามทำความเข้าใจการเคลื่อนตัวไปข้างหน้าของเศรษฐกิจ,สังคม และการเมืองไทย ห้ามคิดวิเคราะห์แบบสมการชั้นเดียวเป็นอันขาดครับ
Source : http://www.homeloverthai.com/index.php?option=com_content&task=view&id=1353&Itemid=104