ย้อนรอยรัฐประหารในประวัติศาสตร์ไทย
Author : pornphanh
ตอนนี้บ้านเมืองกำลังอยู่ในความวุ่นวาย ต่างฝ่ายต่างออกมาประท้วง จนกระทั่งทหารต้องออกมาแถลงเกี่ยวกับการอัยการศึก และมีแถลงการล่าสุดคือ รัฐประหาร วันนี้ทีนเอ็มไทยมีข้อมูล ย้อนรอยรัฐประหารในประวัติศาสตร์ไทย ไปดูกันคะว่าในครั้งอดีตนั้นมีเหตุการณ์อะไรบ้าง
การรัฐประหาร คืออะไร?
หมายถึง การล้มล้างรัฐบาลผู้บริหารปกครองรัฐในขณะนั้น แต่มิใช่การล้มล้างระบอบการปกครองหรือทั้งรัฐ และไม่จำเป็นต้องใช้ความรุนแรง หรือเกิดเหตุนองเลือดเสมอไป
เช่นหากกลุ่มทหารอ้างว่า รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง บริหารประเทศชาติผิดพลาด และจำเป็นต้องบังคับให้รัฐบาลพ้นจากอำนาจ จึงใช้กำลังบังคับให้ออกจากตำแหน่ง โดยประกาศยกเลิกรัฐธรรมนูญ หรือประกาศให้มีการเลือกตั้งใหม่ ภายในเวลาที่กำหนด ลักษณะนี้ก็เรียกได้ว่า เป็นการก่อรัฐประหาร โดยในวิชาการพัฒนาการเมือง ซึ่งเป็นสาขาวิชาทางรัฐศาสตร์ จะถือว่าการรัฐประหาร มิใช่วิธีทางของวัฒนธรรมทางการเมืองแบบประชาธิปไตย และถือเป็นความเสื่อมทางการเมือง (political decay) แบบหนึ่ง ทั้งนี้ หากความพยายามในการก่อรัฐประหาร ไม่ประสบความสำเร็จ ผู้ก่อการมักถูกดำเนินคดีในข้อหากบฏ
ย้อนรอยรัฐประหารในประวัติศาสตร์ไทย : รวมปัจจุบันมีถึง 13 เหตุการณ์ด้วยกัน ดังนี้
1. รัฐประหาร 1 เมษายน พ.ศ. 2476 พระยามโนปกรณ์นิติธาดา ได้ประกาศพระราชกฤษฎีกาปิดสภาผู้แทนราษฎร พร้อมงดใช้รัฐธรรมนูญบางมาตรา
เกิดจากการนำเสนอเค้าโครงเศรษฐกิจของนายปรีดี พนมยงค์ ฉบับที่เรียกว่า “สมุดปกเหลือง” ที่ถูกหลายฝ่ายมองว่าเป็นคล้ายกับเค้าโครงเศรษฐกิจของคอมมิวนิสต์ ก่อให้เกิดความเห็นขัดแย้งกันอย่างรุนแรงในหมู่คณะราษฎรด้วยกันเองและบรรดาข้าราชการ จึงเกิดการ รัฐประหารเงียบ บีบบังคับให้นายปรีดีเดินทางออกนอกประเทศ พร้อมทั้งกวาดล้างจับกุมพวกที่คิดว่าเป็นคอมมิวนิสต์, พรรคคอมมิวนิสต์ ทั้งนี้มีบันทึกที่ไม่เป็นทางการว่า พระยามโนปกรณ์นิติธาดา และ พระยาทรงสุรเดช ร่วมมือกันในการขจัดบทบาททางการเมืองของคนสำคัญในคณะราษฏรเอง เช่น นายปรีดี พนมยงค์ และหลวงพิบูลสงคราม เป็นต้น
อ่านต่อ รัฐประหารเงียบ (ครั้งที่ 1)
2. รัฐประหาร 20 มิถุนายน พ.ศ. 2476 นำโดยพลเอกพระยาพหลพลพยุหเสนา ยึดอำนาจรัฐบาล พระยามโนปกรณ์นิติธาดา
เป็นรัฐประหารครั้งแรกในประเทศไทย รัฐประหารครั้งนี้มีขึ้นหลังพระยามโนปกรณ์นิติธาดาประกาศพระราชกฤษฎีกาปิดสภาฯ และงดใช้รัฐธรรมนูญบางมาตรา หลังจากมีความขัดแย้ง“สมุดปกเหลือง” จนกระทั่งเกิดวิกฤตเมื่อ “4 ทหารเสือ” พระยาพหลพลพยุหเสนา, พระยาทรงสุรเดช, พระยาฤทธิอัคเนย์ และพระประศาสน์พิทยายุทธ ลาออกจากตำแหน่งเมื่อวันที่ 18 มิถุนายน ปีเดียวกัน โดยอ้างเหตุผลว่าเพื่อพักผ่อนหลังจากตรากตรำทำงานราชการจนสุขภาพเสื่อมโทรม
จากนั้น ในเวลาหัวค่ำของคืนวันที่ 20 มิถุนายน พ.ศ. 2476 คณะทหารบก, ทหารเรือ และพลเรือน นำโดยพระยาพหลพลพยุหเสนา, หลวงพิบูลสงคราม และหลวงศุภชลาศัย ได้ทำรัฐประหารยึดอำนาจจากพระยามโนปกรณ์นิติธาดา
อ่านต่อ รัฐประหารครั้งที่ 2
3. รัฐประหาร 8 พฤศจิกายน พ.ศ. 2490 นำโดย พล.ท.ผิน ชุณหะวัณ ยึดอำนาจรัฐบาล พล.ร.ต.ถวัลย์ ธำรงนาวาสวัสดิ์
สาเหตุของการรัฐประหารก็คือ รัฐบาล พล.ร.ต.ถวัลย์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ ซึ่งสืบอำนาจต่อจากรัฐบาล นายปรีดี พนมยงค์ ไม่สามารถจัดการกับปัญหาความขัดแย้งกันในชาติได้ อันมีสาเหตุหลักจากเหตุการณ์สวรรคตของรัชกาลที่ 8 ประกอบกับมีการทุจริตคอร์รัปชั่นในวงราชการ
อ่านต่อ รัฐประหารครั้งที่ 3
4. รัฐประหาร 6 เมษายน พ.ศ. 2491 คณะนายทหารกลุ่มที่ทำการรัฐประหาร 8 พฤศจิกายน พ.ศ. 2490 จี้บังคับให้ นายควง อภัยวงศ์ ลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี และมอบตำแหน่งต่อให้ จอมพล ป. พิบูลสงคราม
เป็นการทำรัฐประหารโดยบุคคลกลุ่มเดียวกันกับที่ทำรัฐประหารรัฐบาล พล.ร.ต.ถวัลย์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ ซึ่งเป็นกลุ่มที่สนับสนุน จอมพล ป. อดีตนายกรัฐมนตรี โดยที่ภายหลังจากกลุ่มนายทหารนำโดย พล.ท.ผิน ชุณหะวัณ (ยศขณะนั้น) ได้ทำการรัฐประหารรัฐบาล พล.ร.ต.ถวัลย์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ เมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน พ.ศ. 2490 แล้วได้แต่งตั้งให้ นายควง อภัยวงศ์ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ พรรคฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร รักษาการในตำแหน่งนายกรัฐมนตรี เพื่อจัดการเลือกตั้งทั่วไปสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.)
ต่อมาในการเลือกตั้งวันที่ 29 มกราคม พ.ศ. 2491 พรรคประชาธิปัตย์ สามารถชนะการเลือกตั้งได้รับเสียงสูงสุดในสภาฯ นายควง อภัยวงศ์ ในฐานะ หัวหน้าพรรคได้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีสืบต่อ ท่ามกลางสภาพแวดล้อมที่บ่งชี้ว่า ผู้มีอำนาจที่แท้จริงก็คือ จอมพล ป. พิบูลสงคราม ทำให้เกิดการขัดแย้ง ..
อ่านต่อ รัฐประหารครั้งที่ 4
5. รัฐประหาร 29 พฤศจิกายน พ.ศ. 2494 นำโดยจอมพล ป. พิบูลสงคราม ยึดอำนาจรัฐบาลตนเอง
เป็นการรัฐประหารอีกครั้งที่เกิดในประเทศไทย แต่เป็นรัฐประหารครั้งแรกที่เรียกได้ว่า เป็นการ รัฐประหารตัวเอง (ยึดอำนาจตัวเอง) เหตุเนื่องจากจอมพล ป. พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรี อ้างว่าไม่ได้รับความสะดวกในการบริหารราชการแผ่นดิน เหตุสืบเนื่องจากรัฐธรรมนูญฉบับปี พ.ศ. 2492 อันเป็นรัฐธรรมนูญที่ใช้อยู่ขณะนั้น ไม่เอื้อให้เกิดอำนาจ คือให้ผู้ที่เป็น สมาชิกวุฒิสภาจะเป็นข้าราชการประจำไม่ได้ การยึดอำนาจกระทำโดยไม่ใช้การเคลื่อนกำลังใด ๆ
ซึ่งการรัฐประหารครั้งนี้ได้ถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวางว่าเป็นการกระทำที่ประหลาดที่สุดในโลก และเป็นเหตุให้พรรคฝ่ายค้าน คือ พรรคประชาธิปัตย์ ได้ประกาศคว่ำบาตรรัฐบาลทุกประการ
อ่านต่อ รัฐประหารครั้งที่ 5
6. รัฐประหาร 16 กันยายน พ.ศ. 2500 นำโดยจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ยึดอำนาจรัฐบาล จอมพล ป.พิบูลสงคราม
ป็นการรัฐประหารที่ถือได้ว่าพลิกโฉมหน้าการเมืองไทยไปอีกรูปแบบหนึ่งเช่นเดียวกับการรัฐประหารในปี พ.ศ. 2490 สืบเนื่องจากความแตกแยกกันระหว่างกลุ่มทหาร ที่นำโดย จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ผู้บัญชาการทหารบก กับ พล.ต.อ.เผ่า ศรียานนท์ อธิบดีกรมตำรวจ ที่ค้ำอำนาจของรัฐบาล จอมพล ป. พิบูลสงคราม
มีการเลือกตั้งที่นับได้ว่ามีการโกงกันมากที่สุดในประวัติศาสตร์ นิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยและประชาชนร่วมกันเดินขบวนประท้วงการเลือกตั้ง จอมพล ป. นายกรัฐมนตรี สั่งประกาศภาวะฉุกเฉิน และแต่งตั้งให้ จอมพลสฤษดิ์ เป็นผู้ปราบปรามการชุมนุม แต่เมื่อฝูงชนเดินทางมาถึงสะพานมัฆวานรังสรรค์แล้ว จอมพลสฤษดิ์กลับเป็นผู้นำเดินขบวน พาฝูงชนข้ามสะพานมัฆวานรังสรรค์
อ่านต่อ รัฐประหารครั้งที่ 6
7. รัฐประหาร 20 ตุลาคม พ.ศ. 2501 นำโดยจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ยึดอำนาจรัฐบาล จอมพลถนอม กิตติขจร (ตามที่ตกลงกันไว้)
เกิดขึ้นหลังจากที่ จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ได้ทำการรัฐประหารในปี พ.ศ. 2500 ล้มอำนาจเดิมของ จอมพล ป. พิบูลสงคราม แล้วได้มอบหมายให้ นายพจน์ สารสิน เอกอัครราชทูตไทยประจำสหรัฐอเมริกาดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเพื่อจัดการเลือกตั้ง มีการเลือกตั้งขึ้นในวันที่ 15 ธันวาคม พ.ศ. 2500 วันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2501พลโทถนอม กิตติขจร จึงขึ้นดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีต่อมา
แต่ว่าการเมืองในรัฐสภาไม่สงบ เนื่องจากบรรดา ส.ส. เรียกร้องเอาผลประโยชน์และมีการขู่ว่าหากไม่ได้ตามที่ร้องขอจะถอนตัวจากการสนับสนุนรัฐบาล เป็นต้น พล.ท.ถนอม กิตติขจรก็ไม่อาจควบคุมสถานการณ์ได้ พล.ท.ถนอม กิตติขจร จึงประกาศลาออกในเวลาเที่ยงของวันเดียวกัน แต่ทว่ายังไม่ได้ประกาศให้แก่ประชาชนทราบโดยทั่วกัน จากนั้นจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ประกาศยึดอำนาจอีกครั้ง โดยอ้างถึงเหตุความมั่นคงของประเทศ ซึ่งมีลัทธิคอมมิวนิสต์กำลังคุกคาม โดยมีคำสั่งคณะปฏิวัติให้ยกเลิกรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2475 แก้ไขเพิ่มเติม พุทธศักราช 2495 ที่ใช้อยู่ขณะนั้น ยุบสภา ยกเลิกสถาบันทางการเมือง
อ่านต่อ รัฐประหารครั้งที่ 7
8. รัฐประหาร 17 พฤศจิกายน พ.ศ. 2514 นำโดย จอมพลถนอม กิตติขจร ยึดอำนาจรัฐบาลตนเอง
เป็นการรัฐประหารอีกครั้งในประเทศไทย ที่เป็นการ ยึดอำนาจตัวเอง สาเหตุสืบเนื่องจากการที่สมาชิกพรรคสหประชาไทยของจอมพลถนอม กิตติขจร นายกรัฐมนตรีที่มาจากการเลือกตั้งในปี พ.ศ. 2512 นำโดย นายญวง เอี่ยมศิลา ส.ส.จังหวัดอุดรธานี ได้เรียกร้องผลประโยชน์ตอบแทนต่าง ๆ ตามที่จอมพลถนอมได้เคยสัญญาไว้ในช่วงเลือกตั้ง เมื่อไม่ได้รับการตอบแทนดังที่สัญญาไว้ ส.ส.เหล่านี้ได้ต่างพากันเรียกร้องต่าง ๆ นานา บ้างก็ขู่ว่าจะลาออก เป็นต้น ซึ่งเหล่านี้เป็นเหตุให้ จอมพลถนอม หัวหน้าพรรคและนายกรัฐมนตรีซึ่งได้รับฉายาสมัยนั้นว่า “นายกฯคนซื่อ” ไม่อาจควบคุมสถานการณ์ในสภาฯ ได้ จึงทำการยึดอำนาจตนเองขึ้น โดยไม่มีชื่อเรียกคณะรัฐประหารในครั้งนี้โดยเฉพาะเหมือนการรัฐประหารที่เคยมีมาในอดีต แต่เรียกตัวเองเพียงแค่ว่า คณะปฏิวัติ
อ่านต่อ รัฐประหารครั้งที่ 8
9. รัฐประหาร 6 ตุลาคม พ.ศ. 2519 นำโดย พล.ร.อ.สงัด ชลออยู่ ยึดอำนาจรัฐบาล ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช
เนื่องจากเหตุการณ์การสังหารหมู่ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ ที่เกิดขึ้นมาตลอดช่วงวันนั้นที่เรียกว่า เหตุการณ์ 6 ตุลา รัฐบาลพลเรือนโดย หม่อมราชวงศ์เสนีย์ ปราโมช นายกรัฐมนตรี, รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ไม่อาจควบคุมสถานการณ์ให้อยู่ในความสงบเรียบร้อยได้ คณะนายทหาร 3 เหล่าทัพและอธิบดีกรมตำรวจ นำโดย พลเรือเอกสงัด ชลออยู่ ผู้บัญชาการทหารสูงสุด จึงจำเป็นต้องยึดอำนาจการปกครองไว้ โดยใช้ชื่อว่า คณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน
อ่านต่อ รัฐประหารครั้งที่ 9
10.รัฐประหาร 20 ตุลาคม พ.ศ. 2520 นำโดย พล.ร.อ.สงัด ชลออยู่ ยึดอำนาจรัฐบาล นายธานินทร์ กรัยวิเชียร
เหตุเนื่องจากการที่คณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดินที่นำโดย พล.ร.อ.สงัด ได้ทำการรัฐประหารเมื่อปี พ.ศ. 2519 เนื่องจากในเหตุการณ์ 6 ตุลา และแต่งตั้ง นายธานินทร์ กรัยวิเชียร เป็นนายกรัฐมนตรี โดยรัฐบาลนายธานินทร์มีภารกิจสำคัญที่จะต้องกระทำคือ การปฏิรูปการเมืองภายในระยะเวลา 12 ปี ซึ่งทางคณะปฏิรูปฯเห็นว่าล่าช้าเกินไป ประกอบกับสถานการณ์ต่าง ๆ ในประเทศยังไม่สงบดีด้วย ดังนั้นจึงกระทำการรัฐประหารซ้ำอีกครั้ง ซึ่งอาจเรียกว่าเป็นการ รัฐประหารตัวเอง เพื่อกระชับอำนาจก็ว่าได้
อ่านต่อ รัฐประหารครั้งที่ 10
11. รัฐประหาร 23 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2534 นำโดย พล.อ.สุนทร คงสมพงษ์ ยึดอำนาจรัฐบาล พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ
บางครั้งเรียกว่า เหตุการณ์ รสช. โดย คณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ หรือ รสช.(National Peace Keeping Council – NPKC) ยึดอำนาจจากรัฐบาล พลเอกชาติชาย ชุณหะวัณ โดยมีเหตุผลหลายประการ เช่น พฤติการณ์ฉ้อราษฎร์บังหลวง, ข้าราชการการเมือง ใช้อำนาจกดขี่ข่มเหงราชการประจำผู้ซื่อสัตย์สุจริต, รัฐบาลเป็นเผด็จการทางรัฐสภา
อ่านต่อ รัฐประหารครั้งที่ 11
12. รัฐประหาร 19 กันยายน พ.ศ. 2549 นำโดย พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน ยึดอำนาจรัฐบาลรักษาการ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร
นำโดย คณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ซึ่งมีพลเอก สนธิ บุญยรัตกลินเป็นหัวหน้าคณะ โดยโค่นล้มรักษาการนายกรัฐมนตรีพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ซึ่งนับเป็นการก่อรัฐประหารเป็นครั้งแรกในรอบ 15 ปี รัฐประหารครั้งนี้เกิดขึ้นก่อนการเลือกตั้งทั่วไปในเดือนต่อมา หลังจากที่การเลือกตั้งเดือนเมษายนถูกตัดสินให้เป็นโมฆะ นับเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญในวิกฤตการณ์ทางการเมืองที่ดำเนินมายาวนานนับตั้งแต่เดือนกันยายน พ.ศ. 2548 คณะรัฐประหารได้ยกเลิกการเลือกตั้งในเดือนตุลาคม ยกเลิกรัฐธรรมนูญ สั่งยุบสภา สั่งห้ามการประท้วงและกิจกรรมทางการเมือง ยับยั้งและเซ็นเซอร์สื่อ ประกาศใช้กฎอัยการศึก และจับกุมสมาชิกคณะรัฐมนตรีหลายคน
อ่านต่อ รัฐประหารครั้งที่ 12
13. รัฐประหาร 22 พฤษภาคม พ.ศ. 2557 นำโดย พล.อ.ประยุทธ จันทร์โอชา เป็นการประกาศรัฐประหารเพื่อให้รัฐมนตรีรักษาการทั้งหมดหมดอำนาจ และเปลี่ยนผ่านสู่การจัดตั้งคณะรัฐมนตรีชุดใหม่
เป็นเหตุการณ์รัฐประหารในประเทศไทยที่มีผลทั่วราชอาณาจักร เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 เวลา 16.30 น. โดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติ หรือ คสช. (National Peace and Order Maintaining Council) ที่นำโดย พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้บัญชาการทหารบก เป็นหัวหน้าคณะ นับเป็นการรัฐประหารครั้งที่ 13 ในประวัติศาสตร์ไทย
สองวันก่อนหน้านั้น พลเอก ประยุทธ์ ในนามของกองทัพบก ได้ประกาศใช้พระราชบัญญัติกฎอัยการศึก ตั้งแต่เวลา 03:00 นาฬิกา ด้วยการอาศัยอำนาจตามกฎอัยการศึก พ.ศ. 2457 ต่อมากองทัพบกได้ออกประกาศยุติการดำเนินการของศูนย์อำนายการรักษาความสงบเรียบร้อย (ศอ.รส.) และจัดตั้ง กองอำนวยการรักษาความสงบเรียบร้อย (กอ.รส.) ขึ้นแทนโดยมีพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นผู้อำนวยการรักษาความสงบเรียบร้อย (ผอ.รส.) และออกประกาศคำสั่ง และขอความร่วมมือในหลายเรื่องอย่างต่อเนื่องในวันที่ 20 พฤษภาคม พ.ศ. 2557 เช่น ขอให้ระงับการแพร่ภาพออกอากาศโทรทัศน์ดาวเทียมและวิทยุชุมชนที่ไม่ได้รับใบอนุญาต ขอความร่วมมือในการเผยแพร่เนื้อหาทางอินเทอร์เน็ต และเชิญประชุมข้าราชการระดับสูง ผู้นำกลุ่มการเมือง ตัวแทนพรรคการเมืองต่าง ๆ เป็นต้น
อ่านต่อ รัฐประหารครั้งล่าสุด
ทั้งนี้ บางตำราระบุว่า การปิดสภาผู้แทนราษฎร และงดใช้รัฐธรรมนูญบางมาตรา เมื่อวันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2476 เป็นรัฐประหารครั้งแรกของไทย และมิได้แยกเหตุการณ์วันที่ 6 เมษายน พ.ศ. 2491 เป็นรัฐประหารอีกครั้ง
ขอบคุณข้อมูล วิกิพีเดีย
Source : http://teen.mthai.com/variety/72869.html