เมื่อสังคมไทยมีคนเก่ง แต่ขาดคนดี

เมื่อสังคมไทยมีคนเก่ง แต่ขาดคนดี

Author : สุทธิชัย หยุ่น

หลายคนเอาข้อความสัมภาษณ์ของอดีต นายกฯ อานันท์ ปันยารชุน เรื่องความห่วงใยที่สุดในวัยอาวุโส คือ การโกงกินบ้านเมือง

และประเทศชาติมีคนเก่งแต่ขาดคนดีอย่างห่วงใยเพียงใดไปขึ้นเฟซบุ๊ค เพื่อแบ่งปันความรู้สึกเห็นพ้องกัน

ผมอ่านแล้ว ก็ต้องส่งสารต่อให้ท่านผู้อ่าน ได้ช่วยกันคิดช่วยกันอ่าน เพราะว่าลำพังเราเอง เพียงแค่แสดงความกังวลห่วงใยในบ้านเมืองเฉยๆ ไม่น่าจะพอ แต่จะต้องรวมพลังในรูปแบบต่างๆ เพื่อหาทางแก้ไขปัญหาบ้านเมืองกันอย่างแข็งขันอีกด้วย

คุณอานันท์ บอกว่า “ปีนี้ผมมีอายุครบ 80 ปี และเป็นปีแรกที่ต้องขอสารภาพด้วยความจริงใจ บริสุทธิ์ใจ และไม่มีอคติ ว่า ปีนี้ผมมีความห่วงใยเรื่องคอร์รัปชันในเมืองไทยมากที่สุด ตั้งแต่เกิดมา”

คุณอานันท์ บอกว่า ในอดีตคอร์รัปชันเป็นเรื่องการให้ค่าน้ำชา ค่าสินบน การให้ของชำร่วย 
ช่วยเหลือในด้านต่างๆ ระหว่างบุคคลกับบุคคล หรือกลุ่มกับกลุ่มเท่านั้น

แต่ปัจจุบัน “ความฉ้อฉล” และ “กลโกง” มีความลึกลับสลับซับซ้อนมากขึ้นมาก ไม่ใช่แค่ค่าน้ำชา สินบน แต่มีการวางยุทธศาสตร์ มีการวางแผนการอย่างแยบยล

และที่สำคัญที่สุด คือ มีการบูรณาการกันอย่างพร้อมเพรียง ไม่ใช่เรื่องของคนต่อคน หรือกลุ่มต่อกลุ่มอีกต่อไป ขณะนี้เป็นเครือข่ายกันหมด ครอบคลุมถึงนักการเมือง ข้าราชการ พ่อค้า นักธุรกิจ สื่อ องค์กรต่างๆ ทั้ง รัฐวิสาหกิจ หรือแม้แต่องค์กรอิสระที่รัฐธรรมนูญสร้างขึ้น

อดีต นายกฯ อานันท์ บอกว่า หากเป็นเช่นนี้ต่อไป สุดท้ายสิ่งเหล่านี้ก็จะนำไปสู่การยึดครองพื้นที่ของประเทศทั้งหมด ทุกพื้นที่ ทุกกิจกรรม ทุกส่วน

ท่านบอกว่า สมัยนี้จึงไม่ใช่เรื่องการ “โกงกิน” “ทุจริต” “ฉ้อราษฎร์บังหลวง” แต่เป็นการ ‘กินเมือง’ อะไรขวางซื้อหมด อำนาจเงินกลายเป็นอำนาจสูงสุด คนไม่มีค่า

คุณอานันท์ บอกด้วยว่า “นโยบายปัจจุบัน จะนำความหายนะมาสู่ประเทศ” 
และท่านก็มีความเศร้า ที่คนดีๆ ที่มีความรู้ ก็ตกหลุม ติดกับอยู่กับนโยบายเหล่านี้ไปด้วย

คุณอานันท์ ย้ำว่า คอร์รัปชันมีความหมายมากกว่าทุจริตฉ้อราษฎร์บังหลวง

และคอร์รัปชันไม่ใช่ความหมายเฉพาะเรื่องเงิน แต่การโกหกประชาชน ก็เป็นหนึ่งของการคอร์รัปชัน

ตราบใดที่เรายังเห็นคนที่มีอำนาจ มีความรับผิดชอบออกมาหลอกประชาชนทุกวัน วันละ 3 มื้อ 
อย่าหวังว่าจะแก้ปัญหาคอร์รัปชันในประเทศไทยได้

อดีต นายกฯ อานันท์ บอกว่า การที่จะแก้ปัญหาดังกล่าวในประเทศไทยได้นั้น จะต้องทำให้คนไทยรู้สึกว่าเงินที่โกงกินเป็นเงินของเรา เรามีส่วนเป็นเจ้าของ อีกทั้งกลุ่มที่ทำงานเรื่องการต่อต้านคอร์รัปชัน ต้องบูรณาการในการกระทำของคนทุกกลุ่มร่วมกัน จึงจะมีประสิทธิภาพมากขึ้น

ผมเชื่อว่า คนไทยจำนวนไม่น้อยก็เข้าใจตรงกับคุณอานันท์ แต่ยังขาดการระดมพลังคนรอบข้างต่อต้านคนโกงอย่างเป็นกิจจะลักษณะ และบ่อยครั้งยังเห็นว่าเป็นเรื่องที่เพียงแต่ตัวเองก็ทำอะไรมากไม่ได้ จึงกลายเป็น “เสียงเงียบงันของคนส่วนใหญ่” หรือ Silent Majority ซึ่งเป็นทัศนคติที่เป็นอันตราย เพราะว่าทำให้คนไทยเห็นการคอร์รัปชันเป็นเรื่องที่ “จำเป็นต้องทนกับมัน” เพราะว่าไม่มีใครปราบมันให้สิ้นแผ่นดินไทยไปได้

เราอาจจะ “เสียกรุง” ครั้งใหม่…ก็เพราะคิดแบบนี้นี่แหละ