มีคือไม่มี ไม่มีคือมี

มีคือไม่มี ไม่มีคือมี

Author : สุวัฒน์ อัศวไชยชาญ

เปิดเรื่องแบบนี้ คุณผู้อ่านคงคิดว่าผมเพี้ยนไปแล้ว แต่ลองมาคิดก่อนดีไหมครับ

อะไรเอ่ย  สิ่งที่เรามี แต่กลับไม่รู้สึกว่ามี

…หนึ่ง…สอง…สาม…สี่…คิดออกแล้วยัง

ผมขออนุญาตยกมือตอบก่อนว่า “ร่างกายครับ”

คุณครู : ไหนเด็กชายสุวัฒน์อธิบายให้เพื่อนๆ ฟังซิ

ผม : ครับคุณครู ตัวอย่างคือถ้าร่างกายส่วนไหนของเราปกติดี เราจะไม่เคยคิดถึงมันครับ เช่น นิ้วหัวแม่โป้งที่ช่วยให้เรายืนเดินวิ่งได้มั่นคง ปกติเราจะไม่เคยคิดถึงมันเลย แต่ถ้าเกิดรองเท้าคับจนเล็บขบ เราจะเจ็บจนรู้สึกตลอดเวลาที่นิ้วหัวแม่โป้ง

ลองคิดถึงส่วนอื่นๆ เวลาเราสบายดี มีส่วนไหนในตัวเราที่เราเคยคิดถึงมันบ้าง “แทบจะไม่มีเลยใช่ป่ะ

แต่พอเจ็บตรงไหนสิ ปวดหัว ปวดหลัง เคล็ด ขัด ยอก ท้องเฟ้อ ท้องผูก

คราวนี้แม้จะพยายามไม่คิดถึงมัน ก็ทำไม่ได้เสียอีกต่างหาก

“มีคือไม่มี” ก็กลายเป็น “ไม่มีคือมี” ไปทันที

“ท่านชายเล็ก” ในวรรณกรรมอมตะเรื่อง หลายชีวิต ของ ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ ปราโมช เป็นตัวอย่างอีกด้านหนึ่งของ “มีคือไม่มี” (หลายชีวิต สนุกมั่ก ถ้าใครยังไม่เคยอ่าน ต้องรีบเลยครับ)

ท่านชายเล็กเป็นหม่อมเจ้าที่ชีวิตตกอับเพราะเสด็จพ่อสิ้นพระชนม์ไปตั้งแต่ท่านยังเล็ก แถมยังทิ้งหนี้สิ้นไว้จนวังถูกยึด ท่านชายเล็กจึงมีแต่ฐานันดรศักดิ์ ทว่าไร้ทรัพย์สมบัติมาช่วยค้ำชูสถานะอันสูงส่ง  ตั้งแต่เล็ก ท่านไม่มีเพื่อน ไม่อาจเล่นสนุกหรือทำอะไรเยี่ยงเด็กๆ โตขึ้นแม้พบรักกับสาวสามัญชนก็ต้องผิดหวัง เข้ารับราชการแต่ก็ไม่เจริญก้าวหน้า ทั้งหมดนี้เพราะจารีตประเพณีที่สังคมสร้างขึ้นได้ขังท่านไว้จากโลกและอิสรภาพ  จนเมื่อท่านชายเล็กหนีจากเมืองกรุงไปเริ่มชีวิตใหม่ที่บ้านนอก จากท่านชายเล็กกลายเป็นนายเล็ก คนธรรมดาผู้มีจิตใจโอบอ้อมอารีชอบช่วยเหลือผู้อื่น จนชาวบ้านรักใคร่และเลือกให้เป็นผู้ใหญ่บ้าน มีชีวิตสงบสุขอยู่กว่าสิบปี  แต่ในท้ายสุดชะตากรรมก็เล่นตลกให้ความจริงถูกเปิดเผย ท่านชายเล็กจึงหนีลงเรือมาบ้านแพนเพื่อต่อเรือเมล์เข้ากรุงเทพฯ และจบชีวิตในคืนนั้นพร้อมกับอีกหลายชีวิต

กรณีนี้อาจสรุปได้ว่า การ “มี” สถานะสูงส่งกว่าคนทั่วไป กลับเป็นกรงขังท่านให้ “ไม่มี” เสียทุกสิ่ง  แต่เมื่อท่าน “ไม่มี” สถานะนั้น กลับทำให้ท่าน “มี” อิสรภาพและมี “ชีวิต”

ชีวิตท่านชายเล็กจึงคล้ายดั่งนกในกรงทอง  ส่วนชีวิตนายเล็กหรือผู้ใหญ่เล็กกลับมีความสุขเช่นนิ้วหัวแม่โป้ง

คำถามคือเราแต่ละคนมี “กรงทอง” ขังเราไว้อยู่หรือไม่ ไม่ว่าเราจะยินยอมอยู่ในกรงนั้นเอง หรือมีคนจับเราใส่ไว้

ตำแหน่ง หน้าที่ ฐานะ ชนชั้น เพศ รสนิยม อุดมคติ ฯลฯ นึกดูแล้วกรงที่พันธนาการเราทุกคนไว้นั้นมีมากเสียจริง

ระหว่าง “นิ้วหัวแม่โป้ง” กับ “กรงทอง” จึงเป็นความ “มี” ที่แตกต่าง

“นิ้วหัวแม่โป้ง” มีอยู่และทำหน้าที่เป็นประโยชน์แก่ส่วนรวม แถมมีเพื่อนนิ้วอยู่ใกล้ๆ แม้ยามปกติจะต่ำต้อยไม่มีใครสนใจ แต่ก็มีความปกติสุขตามธรรมชาติ

“กรงทอง” ดูสวยงาม มีค่า น่าชื่นชม น่ายกย่อง แต่อาจเป็นสิ่งครอบงำกักขังให้ไร้เสียซึ่งมิตรภาพ ชีวิต และอิสรภาพ

บางคนอาจอยากมี “นิ้วหัวแม่โป้ง” บางคนอาจเลือก “กรงทอง” ทั้งสอง “มี” และทำให้ “ไม่มี” ในวิถีของตนเอง

ความจริงหัวข้อ “มีคือไม่มี ไม่มีคือมี” ผมนำมาจากหลักปรัชญาของเต๋า ซึ่งเน้นให้เราใช้วิถีชีวิตอย่างกลมกลืนเป็นหนึ่งเดียวกับธรรมชาติ  แต่จิตใจของมนุษย์นั้นชอบแบ่งแยก ไม่เห็นความเคลื่อนไหวเชื่อมโยงสัมพันธ์กันของสรรพสิ่ง

ถ้วยน้ำมีประโยชน์ ก็เพราะมีที่ว่างให้ใส่น้ำ หรือในอีกแง่หนึ่ง คือความไม่เต็ม

แต่เมื่อถ้วยมีน้ำเต็มล้น ก็ย่อมไม่อาจใส่อะไรลงไปได้อีก

เต๋าจึงกล่าวว่า

“ไม่มีหายนะใดยิ่งใหญ่กว่าความไม่รู้จักพอ ไม่มีภัยพิบัติใดยิ่งใหญ่กว่าความโลภ ดังนั้นสำหรับผู้ที่รู้จักพอ ความพอนั้นจะทำให้มีพอไปตลอดชีวิต”

แผ่นดินไหวและสึนามิครั้งใหญ่ถล่มเมืองญี่ปุ่น ทำให้คนทั่วโลกเห็นถึงจิตวิญญาณของชนชาติที่ต้องอาศัยอยู่ร่วมกันบนเกาะอันคับแคบและเต็มไปด้วยภัยธรรมชาติ

การ “ไม่มี” พื้นที่และความมั่นคงในชีวิต ทำให้คนญี่ปุ่น “มี” ในสิ่งที่คนทั่วโลกไม่มี

ขณะที่เมืองไทย “มี” แผ่นดินอันสงบสุขและปลอดภัย จึงทำให้คนไทย “ไม่มี” ในสิ่งที่คนญี่ปุ่นมี

ยิ่งกว่านั้นความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรธรรมชาติในเมืองไทยกลับเป็น “นิ้วหัวแม่โป้ง” ที่คนไทยไม่ค่อยตระหนักถึง

ผมเชื่อว่าทุกสังคมมี “นิ้วหัวแม่โป้ง” อยู่ทุกที่  อันที่จริงมันอาจอยู่ในตัวเราทุกคน เพียงแต่เราไม่เคยคิดถึงเขามาก่อน

ยกมือตอบคุณครูมาถึงตรงนี้ ก็น่าคิดว่านิตยสารสารคดี กำลังเป็น “นิ้วหัวแม่โป้ง”  ของสังคม หรือมี “กรงทอง” ครอบไว้หรือไม่

ถ้ามีกรงทองแล้วทำให้ประสบชะตากรรมน่าสลดใจเป็นนกในกรงทองเช่นเดียวกับท่านชายเล็ก

ขอทำหน้าที่เป็น “นิ้วหัวแม่โป้ง” น่าจะสนุกกว่าครับ

อะไรเอ่ย มีคือไม่มี ไม่มีคือมี

ผมลองตอบแล้ว ต่อไปใครจะยกมือตอบคุณครูบ้าง

บรรณาธิการบริหาร

สุวัฒน์ อัศวไชยชาญ

suwatasa@gmail.com

หมายเหตุ : บทบรรณาธิการฉบับนี้ได้แรงบันดาลใจจากหนังสือหลายชีวิต ประพันธ์โดยคึกฤทธิ์ ปราโมช  วิถีแห่งเต๋า แปลและเรียบเรียงโดย พจนา จันทรสันติ

Source : นิตยสารสารคดี ฉบับ 314 เมษายน 2554