สันติสุขในมือเรา
Author : พระไพศาล วิสาโล
สถานการณ์บ้านเมืองที่ขัดแย้งยืดเยื้อนานหลายเดือนทำให้ผู้คนเป็นอันมากรู้สึกคับข้องใจเป็นอย่างยิ่ง สาเหตุไม่ได้เป็นเพราะว่ามองไม่เห็นทางออกของบ้านเมืองเท่านั้น หากยังเป็นเพราะไม่รู้ว่าตัวเองจะทำอะไรได้บ้างในสถานการณ์อย่างนี้ นอกเหนือจากการนิ่งเฉยหรือเข้าร่วมกับฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง
ที่จริงมีมากมายหลายอย่างที่เราแต่ละคนสามารถทำได้ ไม่ว่าจะอยู่กับฝ่ายใด หรือไม่สังกัดฝ่ายใดเลยก็ตาม อย่างแรกที่สุดและน่าจะง่ายที่สุดก็คือ รักษาใจให้เป็นปกติ ถ้าเรายังทำอะไรกับใจของเราไม่ได้ จะไปเรียกร้องคาดหวังให้บ้านเมืองเป็นไปดั่งใจของเราได้อย่างไร
ความทุกข์ของผู้คนทุกวันนี้เกิดจากการปล่อยให้ความเครียด ความกังวล ความกลัว-เกลียด-โกรธ ครอบงำใจ เริ่มตั้งแต่เช้า พอตื่นขึ้นมาก็เครียดแล้วเมื่อได้ดูข่าวโทรทัศน์หรืออ่านหนังสือพิมพ์ แต่ขอให้สังเกตว่าเราจะเครียดและขุ่นเคืองใจก็ต่อเมื่อได้ฟังคำพูดของคนที่คิดต่างจากเรา หรือรับรู้การกระทำของคนที่อยู่คนละฝ่ายกับเรา ที่จริงถ้าเราเดาล่วงหน้าได้ว่าเขาจะพูดหรือทำอะไร เราก็คงไม่ทุกข์ แต่เป็นเพราะเราคาดหวังบางสิ่งบางอย่างจากเขา ครั้นเขาไม่พูดหรือทำตามความคาดหวังของเรา เราจึงไม่พอใจ ปัญหาจึงอยู่ที่ใจของเราเองที่ตั้งความคาดหวังเกินเลยจากความเป็นจริง หรือหวังในสิ่งที่มิใช่วิสัยของเขา วางความคาดหวังเสีย ยอมรับเขาตามที่เป็นจริง เราจะฟังเขาด้วยความรู้สึกธรรมดามากขึ้น
ถ้าคุณห้ามใจไม่ได้ ยังเครียดหรือโกรธคนเหล่านั้นอยู่ ก็ไม่ควรแบกความเครียดติดตัวไปด้วย เครียดตรงไหน วางตรงนั้น อย่าเอาไปที่ทำงาน หรือถ้าเครียดตอนอยู่ที่ทำงาน ก็วางไว้ในที่ทำงาน อย่าแบกกลับบ้านไป เวลากิน ก็อย่าไปคิดถึงคนเหล่านั้น กินให้มีความสุข เวลาทำงานก็อยู่กับงานของตนอย่างมีสติและสมาธิ อย่าเอาคนเหล่านั้นมาคิดนึกให้เสียอารมณ์ เวลานอนก็นอนให้สบาย จะคิดถึงคนเหล่านั้นไปทำไม แต่ถ้ายังคิดอยู่จนนอนไม่หลับ จะโทษใครดี
หลายคนบอกว่าอย่าว่าแต่ฟังเสียงเลย แค่เห็นหน้าคนบางคนทางโทรทัศน์ก็โมโหแล้ว นั่นเพราะเรามีความโกรธเกลียดเขาเต็มที่ และที่โกรธเกลียดก็เพราะเขาอยู่คนละฝ่ายกับเรา เป็นศัตรูของเรา แต่คุณเคยคิดบ้างไหมว่าวันข้างหน้าคนเหล่านั้นอาจกลับมาอยู่ฝ่ายเดียวกับคุณ
“ศัตรู”ที่เคยอยู่คนละข้างก่อนและหลังเหตุการณ์ ๖ ตุลา ๑๙ วันนี้ได้กลับมาเป็นเพื่อนร่วมพรรคร่วมอุดมการณ์กันอย่างเหนียวแน่น ขณะที่เพื่อนร่วมรบเคียงบ่าเคียงไหล่ต่อสู้รัฐบาลเมื่อ ๓๐ ปีก่อน วันนี้กลับมาอยู่คนละฝ่าย ดังนั้นคุณแน่ใจอย่างไรว่า “ศัตรู”ของคุณวันนี้จะไม่กลายมาเป็นเพื่อนของคุณในวันหน้า และคุณแน่ใจได้อย่างไรว่าผู้นำของคุณวันนี้ จะไม่กลายเป็นปรปักษ์หรืออยู่คนละฝ่ายกับคุณใน ๕ หรือ ๑๐ ปีข้างหน้า
ลองหยุดคิด แล้วจินตนาการถึงความเปลี่ยนแปลงในวันข้างหน้า แล้วคุณอาจพบว่าการต่อสู้ด้วยความเกลียดชังและมุ่งโค่นล้มทำลายอีกฝ่ายให้พินาศนั้น เป็นสิ่งที่คุณควรทุ่มเทอย่างเอาเป็นเอาตายหรือไม่
ลองมองไกล ใจคุณอาจจะเปิดกว้างยอมรับความเห็นต่างได้มากขึ้น อย่างน้อยก็คงได้ตระหนักว่าความเป็นมิตรและความเป็นศัตรูนั้นหาความเที่ยงแท้แน่นอนไม่ได้ ความเป็นฝักฝ่ายก็เช่นกัน จะเอาจริงเอาจังกับมันไม่ได้เลย
ปฏิเสธไม่ได้ว่าความกลัว-เกลียด-โกรธ กับความเป็นฝักฝ่ายนั้นแยกจากกันไม่ออก ยิ่งประจันหน้ากับคนที่อยู่คนละฝ่ายกับตัว ความกลัว-เกลียด-โกรธก็ถูกกระตุ้นให้พลุ่งพล่านใจ และยิ่งกลัว-เกลียด-โกรธมากเท่าไร ก็ยิ่งแบ่งฝักฝ่ายกันอย่างโจ่งแจ้งชัดเจนและผลักกันให้อยู่ไกลขึ้น จนไม่สามารถคุยกันได้ เพราะหวาดระแวงกันและเห็นซึ่งกันและกันเป็นศัตรูที่เลวร้าย
เมื่อใดก็ตามที่ความกลัว-เกลียด-โกรธ ลุกลามจนเกิดการแบ่งฝ่ายอย่างชัดเจน ถึงขั้นเป็นศัตรูกัน เมื่อนั้นชัยชนะหรือความพ่ายแพ้กลายเป็นสิ่งสำคัญเหนืออื่นใด ขณะที่ความถูกต้องหรือเหตุผลมีความหมายน้อยลง ทำอะไรก็ได้ขอให้ชนะเป็นพอ เสียอะไรก็เสียได้แต่อย่าให้แพ้ก็แล้วกัน
เริ่มแรกการต่อสู้อาจมีจุดมุ่งหมายเพื่อประเทศชาติ หรือเพื่อความถูกต้อง แต่เมื่อกลัว-เกลียด-โกรธกันอย่างที่สุดแล้ว การทำลายอีกฝ่ายให้พินาศกลายมาเป็นจุดหมายสำคัญที่สุด ถึงตรงนี้การพยายามทำทุกอย่างเพื่อให้อีกฝ่ายพ่ายแพ้ ก็อาจลงเอยด้วยความวิบัติของบ้านเมือง
เมื่อรู้ว่าหนูเข้ามาทำรังในบ้านและกัดแทะข้าวของเครื่องใช้ เจ้าของผู้รักบ้านย่อมไม่อยู่นิ่งเฉย ต้องหาทางจับหนูตัวนั้นมาให้ได้ แต่หนูตัวนั้นก็ฉลาดมาก ไม่เคยหลงติดกับดัก แม้ใช้กาวดักหนู ก็ไม่เป็นผล พยายามเท่าไรก็ไม่เคยสำเร็จ ขณะที่ข้าวของเสียหายจากฝีมือหนูมากขึ้น เพราะหนูออกลูกออกหลานมากขึ้น จึงอาละวาดเป็นการใหญ่ วันหนึ่งเจ้าของบ้านพบว่าหนูกัดสายไฟ จนทำให้ระบบควบคุมไฟถึงกับล่ม อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์หลายชิ้นใช้การไม่ได้ เสียเงินซ่อมมากมาย เจ้าของบ้านโกรธมาก ทีนี้เขาคิดแต่จะเข่นฆ่าหนูตัวนี้สถานเดียว จะยอมให้มันอาละวาดต่อไปอีกไม่ได้ เมื่อใช้ทุกวิถีแล้วไม่ได้ผล วันหนึ่งเขาก็เอาน้ำมันก๊าดฉีดพ่นเข้าไปในรังและจุดไฟ หวังจะฆ่ามันให้สิ้นซาก ผลก็คือหนูตายแต่บ้านเขาก็เสียหายจนเกือบวายวอดไปด้วย
ทีแรกเขาต้องการกำจัดหนูเพื่อรักษาบ้าน แต่เมื่อการกำจัดหนูลุกลามกลายเป็นสงครามระหว่างเขากับหนู ความต้องการเอาชนะหนูกลายเรื่องสำคัญที่สุดของเขาจนลืมนึกถึงบ้าน สุดท้ายกลายเป็นว่าเขาทำลายบ้านเพื่อกำจัดหนู มิใช่กำจัดหนูเพื่อรักษาบ้านอีกต่อไป
เมื่อใดก็ตามที่เรามีความกลัว-เกลียด-โกรธอย่างขีดสุด ทุกอย่างก็กลับตาลปัตร จากการทำลายอีกฝ่ายหนึ่งเพื่อรักษาบ้านเมืองไว้ ก็อาจกลายเป็นการทำลายบ้านเมืองเพื่อกำจัดอีกฝ่ายหนึ่งให้ได้ ทั้งหมดนี้ก็เพราะการอยากเอาชนะให้ได้เป็นสำคัญ
ด้วยเหตุนี้การรักษาใจมิให้ความกลัว-เกลียด-โกรธ ครอบงำจึงเป็นสิ่งสำคัญ แม้จะเป็นการเริ่มต้นในระดับบุคคลก็ตาม จริงอยู่การทำเช่นนั้นไม่ใช่เรื่องง่าย แต่ก็สามารถทำได้หากเริ่มต้นจากการตระหนักเห็นโทษของความกลัว-เกลียด-โกรธ มันไม่เพียงทำให้เราทุกข์เท่านั้น แต่ยังสามารถทำให้เรากลายเป็นตัวปัญหา หรือก่อความเดือดร้อนแก่ผู้อื่นได้ ใช่หรือไม่ว่าขณะนี้แต่ละคนเสมือนมีไม้ขีดไฟอยู่ในมือ ที่พร้อมจะเผาตัวเองและคนรอบข้าง ตลอดจนบ้านเมืองให้พินาศได้ เพราะทุกหนแห่งราวกับอบอวลด้วยไอน้ำมัน พร้อมจะลุกเป็นไฟได้ทุกเวลา
ในยามนี้เพียงแค่ทำตัวเองไม่ให้รุ่มร้อน วุ่นวาย ก็เป็นการช่วยเหลือบ้านเมืองแล้ว อย่างน้อยก็ช่วยไม่ให้มันเลวร้ายไปกว่านี้ เมื่อเรือเล็กเกิดรั่วขึ้นมา การอยู่นิ่งเฉย อาจก่อผลดีกว่าการแตกตื่นวุ่นวายหรือพากันกรูไปอุดรูด้วยความตื่นตระหนก เพราะนั่นอาจทำให้เรือโคลงถึงกับล่มได้
แต่จะดียิ่งกว่านี้ หากเราไม่เพียงรักษาใจตัวเองให้ปกติเท่านั้น แต่ยังช่วยให้ผู้อื่นหายรุ่มร้อนวุ่นวายไปด้วย ที่จริงเพียงแค่เรามีความสงบเย็น ก็สามารถช่วยให้ผู้ที่อยู่รอบข้างสงบเย็นตามไปด้วย เขาจะบ่นอย่างไร ก็นั่งฟังด้วยความสงบ และเตือนสติเขาบ้างตามโอกาส กับช่วยให้เขามองในแง่มุมอื่นบ้าง
เมื่อช่วยรักษาใจผู้อื่นให้สงบเย็นได้แล้ว หากมีกำลังก็ควรรวมกันชักชวนผู้คนให้ลดละความกลัว-เกลียด-โกรธลงบ้าง ยับยั้งชั่งใจให้มากขึ้นในการใช้ความรุนแรงทางวาจาและการกระทำ ทุกวันนี้เสียงแห่งความกลัว-เกลียด-โกรธดังมากเกินไปแล้ว เราควรช่วยกันเปล่งเสียงแห่งขันติธรรม คือความอดกลั้นต่ออารมณ์และความใจกว้างต่อผู้ที่เห็นต่าง ให้ดังกว่านี้ รวมทั้งช่วยกันป้องกันและยับยั้งความรุนแรงจากทุกฝ่าย
แม้ทุกฝ่ายจะไม่ยอมถอยคนละก้าว แต่อย่างน้อยก็ควรช่วยกันจำกัดขอบเขตแห่งความขัดแย้งไม่ให้ลุกลามจนกลายเป็นการใช้กำลังต่อกัน ไม่ว่าจะอยู่ฝ่ายใด หรือไม่อยู่ฝ่ายใดเลย ก็ควรช่วยกันผลักดันให้ความขัดแย้งหรือการทะเลาะกันเป็นไปอย่างอารยะ คือใช้เหตุผล หรือถึงจะมีอารมณ์ ก็อย่าระเบิดเป็นความรุนแรง ตราบใดที่ไม่มีการสูญเสียชีวิตและเลือดเนื้อ โอกาสที่ความขัดแย้งจะคลี่คลายไปในทางสันติก็มีมากขึ้น
อย่างไรก็ตามพึงตระหนักไว้เสมอว่า ความขัดแย้งที่เกิดขึ้นนี้จะไม่หายไปในเร็ววัน เพราะนี่ไม่ใช่ความขัดแย้งระหว่างกลุ่มบุคคลที่ปรากฏเป็นข่าว แต่เป็นความขัดแย้งที่ลึกและกว้างขวางกว่านั้นมาก ดังที่มีผู้รู้บางท่านชี้ว่าความขัดแย้งระหว่างพันธมิตร ฯ กับพลังประชาชน เป็นตัวแทนของความขัดแย้งระหว่างคนชั้นกลางในเขตเมืองกับคนชั้นกลางระดับล่างในชนบท หรือระหว่างคนชั้นกลางในเมืองกับนายทุนที่เชื่อมต่อกับพลังโลกาภิวัตน์ร่วมกับคนชั้นล่างทั้งในเมืองและชนบท ซึ่งแต่ละฝ่ายมีคนนับสิบล้าน มองในแง่หนึ่งนี้คือความขัดแย้งระหว่างอุดมการณ์สองแบบ หรือการเมืองสองระบอบ ซึ่งสะท้อนจากการเรียกร้องต้องการรัฐบาลคนละแบบ
ความขัดแย้งแบบนี้จะคลี่คลายไปได้ก็ต่อเมื่อมีการปรับเปลี่ยนโครงสร้างหรือความสัมพันธ์ทางอำนาจ จนเป็นที่พอใจของทั้งสองฝ่าย การปฏิวัติ ๒๔๗๕ เหตุการณ์ ๑๔ ตุลา ๑๖ และพฤษภาทมิฬ ๓๕ ล้วนเป็นผลจากความขัดแย้งระหว่างกลุ่มชนในสังคมไทย ซึ่งกว่าจะคลี่คลายได้ต้องใช้เวลานับสิบปี และต้องผ่านความขัดแย้งถึงขั้นใช้กำลังและความรุนแรง
แต่ความขัดแย้งเชิงโครงสร้างไม่จำต้องจบลงด้วยการนองเลือด หากผู้คนในสังคมใช้สติและปัญญา มองเห็นรากเหง้าของปัญหาที่ใหญ่กว่าตัวบุคคล และไม่ใจเร็วด่วนได้ โดยคิดว่าถ้ามีความรุนแรงเกิดขึ้นแล้ว ทุกอย่างจะยุติ ในยามนี้ธรรมาธิปไตยเป็นสิ่งสำคัญมาก นั่นคือการถือธรรมเป็นใหญ่ คำนึงถึงความถูกต้องยิ่งกว่าความถูกใจ และเห็นอกเห็นใจผู้อื่น โดยไม่คิดแต่จะเอาใจตน หรือมุ่งชัยชนะอย่างเดียว นี้คือสิ่งที่เราควรบ่มเพาะขึ้นในจิตใจและช่วยกันปลูกฝังให้เจริญงอกงามในสังคมไทย พร้อมกับสร้างกลไกเพื่อให้ความขัดแย้งคลี่คลายอย่างสันติ ด้วยวิธีดังกล่าวเท่านั้นสังคมไทยจึงจะผ่านพ้นวิกฤตไปได้โดยไม่มีการสูญเสียเลือดเนื้อ
Source : มติชนรายวัน วันที่ 21 กันยายน พ.ศ. 2551 ปีที่ 31 ฉบับที่ 11152