เรื่องเล่า “อาจารย์ป๋วยที่ข้าพเจ้ารู้จัก”

เรื่องเล่า “อาจารย์ป๋วยที่ข้าพเจ้ารู้จัก”

Author : ThaiPublica
9 มีนาคม 2559 ที่ผ่านมา ธนาคารแห่งประเทศไทย สถาบันป๋วย อึ๊งภากรณ์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มูลนิธิเสฐียรโกเศศ-นาคะประทีป มูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ และคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จัดงานฉลอง 100 ปี ชาตกาล ให้ศาสตราจารย์ “ดร.ป๋วย อึ๊งภากรณ์” บุคคลสำคัญของโลก ณ หอประชุมศรีบูรพา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ อย่างสมเกียรติและเรียบง่าย พร้อมกับกิจกรรมเสวนารำลึกถึงแนวคิด ปณิธาน และอุดมการณ์ของอาจารย์ป๋วย ให้คนรุ่นหลังได้ขบคิด
 

จากศิษย์ถึงครู

“ดร.อรัญ ธรรมโน” อดีตปลัดกระทรวงการคลัง ศิษย์อาจารย์ป๋วย เล่าผ่านการเสวนาเรื่อง “อาจารย์ป๋วยที่ข้าพเจ้ารู้จัก” ว่า ผมเป็นลูกศิษย์รุ่นแรก ท่านเข้ามาสอนคณะเศรษฐศาสตร์เมื่อปลายเดือนพฤษภาคม ปี 2496 นั่นทำให้ผมเจอท่านครั้งแรก

ต่อจากนั้นผมมีโอกาสไปเป็นผู้ใต้บังคับบัญชาท่านโดยตรงอยู่ 2 ครั้งสั้นๆ ครั้งแรกเมื่อต้นปี 2497 ถึงต้นปี 2498 และครั้งที่สองเมื่อกลางปี 2504 จนถึงปลายปี 2510 ผมเป็นคนที่มีโอกาสรับใช้ท่านเสมอมา และมีโอกาสเจอท่านครั้งสุดท้ายที่ลอนดอนเมื่อวันที่ 12 ตุลาคม 2541 เป็นครั้งสุดท้ายที่ได้เจอท่านมีชีวิตอยู่จริงๆ หลังจากนั้นประมาณ 8-9 เดือน ท่านก็เสียชีวิต

เมื่อตอนผมอายุ 80 ผมเขียนหนังสือเล่มหนึ่งสั้นๆ แจกเพื่อนฝูง ชื่อเรื่อง “ความทรงจำดีๆ 80 ปีที่ผ่านมา” ในหนังสือเล่มนี้ผมเล่าถึงปาฏิหาริย์เล็กๆ ที่เกิดขึ้นในชีวิต ผมคิดว่าการพบอาจารย์ป๋วยเป็นปาฏิหาริย์เล็กๆ อันหนึ่งในชีวิตที่ทำให้ผมเป็นผม

ในบทหนึ่งผมเขียนว่า “อาจารย์ป๋วย เทพของผม” ผมไม่ได้หมายความว่าอาจารย์ป๋วยเป็นเทวดา ไม่เชื่อว่าท่านเป็นเทวดาด้วย แต่ได้เห็นว่าสิ่งต่างๆ ที่ท่านทำ มนุษย์ทำไม่ได้ เพราะท่านทำดีกว่าที่มนุษย์ทำได้อยู่เสมอ

ดร.อรัญกล่าวว่า ท่านเป็นอาจารย์ที่ดี ตอนที่คณะเศรษฐศาสตร์ ธรรมศาสตร์ ยังเป็นคณะใหม่ อาจารย์ป๋วยเพิ่งเป็นนักเศรษฐศาสตร์ที่จบปริญญาเอกทางเศรษฐศาสตร์คนแรกที่มาสอนที่คณะเศรษฐศาสตร์

ผมจำได้ว่า ตอนอาจารย์มาสอน จะมีนักศึกษามาเรียนมากมายเป็นพิเศษ มากมายเป็นพิเศษขณะนั้นประมาณ 20 คน เพราะปกติแล้วชั้นที่ผมมาเรียนส่วนใหญ่มีนักศึกษามาเรียนอย่างเก่งก็ไม่เกิน 10 คน แต่เพราะเป็นอาจารย์ป๋วย ใครก็ได้ยินชื่อว่าอาจารย์ป๋วยเป็นผู้เชี่ยวชาญการคลังคนแรกของประเทศไทย จบปริญญาเอกเศรษฐศาสตร์จากอังกฤษคนแรกอีกด้วย

จำภาพได้ดีว่า อาจารย์ขับรถเก่าๆ มาจอดใต้ต้นมะขาม แต่งตัวเรียบร้อย ผูกเนคไท และมีเสื้อนอกอยู่ตัวหนึ่ง แต่ผมยังไม่เคยเห็นท่านใส่เสื้อนอกเลย เพราะห้องเรียนสมัยก่อนไม่มีแอร์ ที่สำคัญไม่เคยเห็นท่านนั่งเก้าอี้ ท่านจะยืนสอนตลอด

แต่ขณะที่ท่านสอน เรารู้สึกผิดหวังท่านอยู่เรื่องหนึ่ง เพราะคิดว่าจบปริญญาเอกจากอังกฤษ คงได้ยินภาษาอังกฤษปนภาษาไทย ปรากฏว่าอาจารย์แทบไม่ใช้ภาษาอังกฤษเลยครับ แม้กระทั่งคำศัพท์เทคนิคทางเศรษฐศาสตร์ ท่านพยายามหาคำแปลเป็นภาษาไทยมาสอนเสมอ จึงอยากเรียนว่า อาจารย์เป็นคนที่ให้ตลอดเวลา เพราะนอกจากการสอนแล้ว ท่านยังให้เวลาหลังการสอนเพื่อให้เราซักถาม

อีกประการหนึ่งที่ผมจำได้ก็คือ อาจารย์ยังให้คำแนะนำเรื่องการทำงานด้วย เมื่อต้นปี 2497 ผมสอบเศรษฐศาสตร์ปีที่ 3 ได้ สมัยก่อนปีที่ 3 ถือเป็นอนุปริญญา มีสิทธิไปสอบเป็นข้าราชการพลเรือนสามัญชั้นตรีได้ ผมก็ไปหาท่านที่กระทรวงการคลัง เพราะท่านเปิดโอกาสให้ไปหาที่กระทรวงได้

ท่านบอกว่า ตอนนี้ที่กระทรวงการคลังว่างอยู่ ฉะนั้นลองมาสอบดู มีตำแหน่งเปิดรับ ผมก็ไปสมัครสอบ แต่พอจะเขียนใบสมัคร เจ้าหน้าที่บอกว่า ตอนนี้คนในกระทรวงเต็มแล้ว มีคนครบทุกตำแหน่งแล้ว

ผมก็บอกอาจารย์ว่า สงสัยจะเสียค่าสมัครฟรี อาจารย์ก็ให้คำแนะนำซึ่งผมคิดว่าเป็นคำแนะนำที่ดีที่สุดในชีวิตที่ผมเคยได้ ท่านบอกว่า “แล้วทำไมคุณไม่สอบให้ได้ที่ 1” เป็นคำแนะนำที่เมื่อเราออกจากท่านมาแล้ว เรามีหน้าที่ทำหลังจากนั้นคือ ต้องไปสอบให้ได้ที่ 1

ในฐานะผู้ใต้บังคับบัญชา ท่านเป็นผู้บังคับบัญชาที่ดี ผมเป็นข้าราชการชั้นตรีระดับต้น ท่านสอนวิธีทำงาน สอนการจดประชุม ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีให้ผมได้ และหลังจากผมเรียนจบต่างประเทศกลับมาทำงานกับท่านเป็นครั้งที่ 2 ขณะนั้นมีธนาคารแห่งหนึ่งที่อยู่ในฐานะย่ำแย่ คือ ธนาคารมณฑล ต้องรับการช่วยเหลือจากรัฐบาล ตอนนั้นมีลูกหนี้รายใหญ่ที่ต้องรับการปรับหนี้

ท่านอาจารย์ป๋วยตั้งให้ผมไปดูแลเรื่องการปรับหนี้ของลูกหนี้รายนี้อยู่ 2-3 ปี จนกระทั่งสำเร็จ โดยที่ผมไม่รู้เรื่องการเงินการธนาคารเลย แต่ด้วยความไว้วางใจอยากให้เราได้ทำ ท่านก็ให้ทำ และทำจนสำเร็จ

หรือครั้งเมื่อปี 2506 ประเทศไทยมีแผนพัฒนาเศรษฐกิจแล้ว เราต้องการเงินมาพัฒนาประเทศค่อนข้างมาก ต้องกู้เงินจากธนาคารระหว่างประเทศ แต่การกู้ค่อนข้างลำบากเพราะเรายังไม่มีความพร้อม

 

จนมีข้อเสนอแนะจากบางฝ่ายว่า ให้นำทุนสำรองทองคำไปขาย อาจารย์ป๋วยตกใจมาก จึงบอกผมว่าช่วยเขียนเหตุผลที่ท่านจะพูดกับนายกฯ ให้หน่อย แต่บอกว่าไม่ต้องเขียนอ้างวิชาการมากมายนะ อ้างอะไรก็ตามแต่ ขอให้ท่านนายกฯ เห็นด้วยว่าไม่ให้ขายทองคำ สุดท้ายก็พยายามเขียนจนได้ และไม่มีการขายทองคำ

อีกเรื่องคือ ในการประชุมทั้งหลาย ท่านไม่มีเวลาเตรียมการประชุมมากมายนัก ก็มักมอบหมายให้เราเตรียมให้ ใครเตรียมให้ก็ตามท่านก็จะไปอ้างในที่ประชุมเสมอว่าใครเตรียมให้ท่าน แล้วไม่ใช่แค่อ้างอย่างเดียว ท่านแบ่งเงินให้ด้วยอีกครึ่งหนึ่ง

การประชุมครั้งหนึ่งเบี้ยประชุมมากเหลือเกิน สมัยนั้นปี 2506-2507 เบี้ยประชุมกรรมการตรวจสอบภาษีอากร ครั้งละ 1,500 บาท ได้มาท่านก็แบ่งให้ผม ผมก็ตกใจเพราะท่านแบ่งให้ผม 800 บาท ท่านรับไว้ 700 บาท ผมก็ถามว่าทำไมอาจารย์ถึงให้ขนาดนี้ ท่านบอกว่าคุณมีหน้าที่ค้นหา เขียนให้ ซึ่งยากกว่าผม เพราะผมพูดอย่างเดียว คือท่านมีวิธีแยบยลในการให้เงิน

“ชีวิตอาจารย์ป๋วยเกิดมาเป็นผู้ให้จริงๆ ท่านไม่สนใจเรื่องทรัพย์สิน รวมทั้งผมยังมีความเชื่อว่า ถึงแม้ท่านได้รับเคราะห์กรรมค่อนข้างมาก แต่ท่านไม่เคยแสดงออก ในชีวิตผม นี่คือการได้เจอผู้ยิ่งใหญ่ที่แท้จริง” ดร.อรัญกล่าวสรุป

หลักประชาธรรม “ธรรมคืออำนาจ ไม่ใช่อำนาจเป็นธรรม”

“ดร.ณรงค์ชัย อัครเศรณี” อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เผยความรู้สึกว่า ท่านเป็นผู้ใหญ่ที่เราไปหาแล้วรู้สึกไม่เกร็ง ที่สำคัญ ท่านเป็นคนคอยขวางสิ่งที่ผิด แต่รัฐบาลทหารก็เชิญท่านมาทำงาน

ปี 1967 ผมกำลังจะเรียนจบ ได้รับทราบว่าท่านสอนอยู่ที่เศรษศาสตร์ ธรรมศาสตร์ ก็เลยสมัครงานเขียนจดหมายมาโดยไม่ได้คิดอะไร แต่ปรากฏว่าท่านตอบจดหมาย ตะลึงเลยครับ ก็อวดเพื่อนว่าอาจารย์ป๋วยตอบจดหมาย นั่นจึงเป็นที่มาให้ผมมาอยู่ที่คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ในช่วงต่อมา

ต่อมาได้ร่วมทำงานกับท่านเป็นเวลาก็ราว 10 ปี เห็นความมุ่งมั่นในการทำงาน เห็นความมีเมตตากรุณาและความรักในเสรีภาพ ขณะที่การตอบจดหมายของท่านเป็นวิธีการซื้อใจคน

จดหมายสำคัญที่สุดที่โต้ตอบกับท่านคือ เมื่อวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 1972 ซึ่งเล่าเรื่องการออกจดหมายนายเข้ม เย็นยิ่ง ซึ่งความมุ่งมั่นของอาจารย์ป๋วยในการที่จะต่อสู้เพื่อเสรีภาพเกิดขึ้นในตอนนั้น

ข้อความหนึ่งในจดหมายระบุว่า “อยากให้พวกเรายึดมั่นในเพลิงแห่งเสรีภาพตลอดไป อาจจะป้องกันการปฏิวัติคราวหน้าได้กระมัง” ซึ่งท่านทายผิดอย่างแรง (หัวเราะ) แต่อย่างน้อยก็มีความมุ่งมั่นเรื่องเสรีภาพ

ในจดหมายนายเข้ม ยังมีสิ่งที่สำคัญคือ “หลักประชาธรรม” ท่านเขียนว่า “ธรรมคืออำนาจ ไม่ใช่อำนาจเป็นธรรม ธรรมนั้นเกิดจากประชาชน” ท่านยังเขียนถึงจอมพล ถนอม (กิตติขจร) ว่า “แต่ผมว่าอะไรก็ไม่ร้ายเท่าพิษของความเกรงกลัว ซึ่งเกิดจากการใช้อำนาจขู่เข็ญ และการใช้อำนาจโดยพลการ

เพราะความเกรงกลัวย่อมมีผลสะท้อนเป็นพิษแก่ปัญญา เมื่อปัญญาเป็นพิษแล้ว ในบางกรณีก็กลายเป็นอัมพาต ใช้อะไรไม่ได้ บางกรณียิ่งร้ายกว่านั้น ปัญญาเกิดผิดสำแดง อัดอั้นหนักๆ เข้า ก็เกิดระเบิดขึ้นอย่างที่มีมาแล้วในหมู่บ้านอื่นๆ หลายแห่ง”

 

หรือตอนท่านเขียนจดหมายลาออกถึงคณาจารย์ที่คณะเศรษฐศาสตร์ ลงวันที่ 1 สิงหาคม 1972 ระบุว่า “งานมหาวิทยาลัย เริ่มต้นด้วยนักศึกษา และจุดหมายก็อยู่ที่นักศึกษา อะไรที่จะเป็นประโยชน์แก่นักศึกษา ขอให้ใส่ใจให้มาก อย่าทอดทิ้ง และขอให้ถือเป็นเป้าหมายที่สำคัญที่สุดเสมอ”

ดังนั้น สำหรับผมแล้ว อาจารย์ป๋วยเป็นแรงบันดาลใจในหลายเรื่อง ทั้งการทำความดี มุ่งมั่น ขยันหมั่นเพียร คิดถึงประโยชน์ส่วนรวมมากกว่าส่วนตัว ทำงานให้สำเร็จท่านบอกว่าต้องมีหลักการที่ถูกต้อง วิธีการที่เหมาะสม สุดท้ายคือเรื่อง “เสรีภาพ” ท่านบอกว่า เป็นเรื่องที่สำคัญมากที่สุดของมนุษยชาติ

สำหรับผมแล้ว หากท่านเป็นคนขยัน มีระเบียบ และไม่เครียด อย่างที่อาจารย์ป๋วยเป็น ผมคิดว่าบนโลกนี้อะไรเราก็รับได้ทั้งนั้น

นักอ่าน นักเขียน

“รศ.วิทยากร เชียงกูล” คณบดีวิทยาลัยนวัตกรรมสังคม มหาวิทยาลัยรังสิต เล่าว่า ผมรู้จักท่านอาจารย์ป๋วยมากขึ้นจากการอ่านงานเขียนของท่าน เพราะงานอาจารย์ป๋วยกับตัวตนของท่านไม่ต่างกัน ท่านเป็นคนตรงไปตรงมา คิดอย่างไรเขียนออกมาอย่างนั้น

งานเขียนของท่านน่าสนใจมาก เป็นนักเขียนที่เก่ง นอกจากเป็นนักเศรษฐศาสตร์แล้ว ท่านยังเป็นนักบริหาร แม้ไม่มีเวลาเขียนหนังสือมากนัก แต่ท่านเป็นนักอ่านหนังสือแล้วเขียน ท่านเขียนภาษาดีมากและจริงใจ

ผมเคยเขียนจดหมายถึงท่าน วิจารณ์ระบบการศึกษาในมหาวิทยาลัย ท่านนำมาอ่านในที่ประชุม แล้วท่านก็พูดว่ามันมีข้อจำกัดอย่างไร เราต้องช่วยกันอย่างไร คืออยากจะบอกว่าท่านเป็นคนเปิดใจกว้าง

เมื่อผมอ่านงานท่านมากขึ้น ยิ่งเห็นคุณค่าของท่านมากขึ้น เช่น ในช่วง 14 ตุลา จะเกิดกระแสขวากับซ้ายสูง ฉะนั้นคนที่เป็นกลางๆ เสนอแนวทางปฏิรูปแบบสันติวิธีก็ลำบาก พวกขวาก็หาว่าอาจารย์ป๋วยเป็นซ้าย พวกซ้ายบอกว่าอาจารย์ป๋วยประนีประนอม ประนีประนอมไม่ได้ต้องปฏิวัติ

เมื่อมองยุคปัจจุบัน ผมคิดว่าถ้าเรากลับไปศึกษาบทเรียนแนวคิดของอาจารย์ป๋วย ดูความเป็นคนของท่าน มันสำคัญมาก เรากำลังพูดเรื่องการปฏิรูปประเทศ โดยที่มีความไม่จริงใจและไม่เข้าใจ แต่คนที่เป็นนักปฏิรูปตัวจริงคืออาจารย์ป๋วย

ท่านอาจไม่ได้พูดคำว่าปฏิรูปบ่อย แต่สิ่งที่ท่านเสนอเรื่องสังคมที่เป็นธรรม สังคมที่มีความเป็นมนุษย์ สังคมที่มีรัฐสวัสดิการ สังคมที่กระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น สังคมที่สนใจสิ่งแวดล้อมคุณภาพชีวิต อาจารย์ป๋วยเสนอเรื่องเหล่านี้มาตลอด

ผมยังคิดว่าท่านเป็นปัญญาชนของภาคประชาชน รวมทั้งเป็นนักวิชาการที่ภูมิใจในวิชาชีพ มีการมองที่เป็นเหตุผล เป็นวิทยาศาสตร์ เป็นคนใจกว้าง ซึ่งผมคิดว่าเป็นสิ่งสำคัญซึ่งสังคมไทยไม่ได้พัฒนามาสู่จุดนี้

อาจารย์ป๋วยกล้าวิจารณ์ตัวเองว่า การที่ท่านประสบความสำเร็จในการพัฒนาเศรษฐกิจนั้น ท่านกลับรู้สึกเสียใจที่ไม่สามารถกระจายรายได้สู่ประชาชนอย่างยุติธรรม หลังจากนั้นท่านจึงหันมาสนใจการพัฒนาชนบท พัฒนาการศึกษา

 

อาจารย์ป๋วยทำตัวให้เป็นตัวอย่างว่า งานศึกษาเป็นเรื่องสำคัญ ต้องปฏิรูปการศึกษา ผมคิดว่านี่เป็นจุดเปลี่ยนและบทบาทที่สำคัญ ขณะเดียวกันมีคนมักจะนึกถึงอาจารย์ป๋วยในฐานะผู้ว่าแบงก์ชาติที่ซื่อสัตย์สุจริตซึ่งเป็นเรื่องที่ดี แต่ผมยังคิดว่า ในฐานะปัญญาชนที่วิพากษ์วิจารณ์สังคม จดหมายนายเข้ม เย็นยิ่ง เป็นพลังสำคัญอันหนึ่งและมีนัยยะที่สำคัญว่า ขอให้หมู่บ้านมีกติกาประชาธิปไตย ก็คือเรียกร้องประชาธิปไตย ส่งผลให้นักศึกษาและประชาชนตื่นตัว ผมคิดว่าเป็คุณูปการ น่าเสียดายว่าหลัง 14 ตุลา เราก็ไม่ได้ส่งเสริมให้แนวคิดท่านเป็นที่ยอมรับ ปล่อยให้เป็นเรื่องขวาซ้ายมากเกินไป สังคมก็สวิงไปสวิงมา จนบัดนี้ก็ยังล้าหลังอยู่ ถอยหลังเข้าคลอง

ผมคิดว่าคนแบบอาจารย์ป๋วย ถ้าคนไม่รู้จัก เด็กรุ่นใหม่คงยากจะเชื่อว่า คนแบบอาจารย์ป๋วยมีอยู่จริง คนที่เป็นผู้ว่าแบงก์ชาติแต่ไม่มีหุ้น ไม่ไปลงทุนทั้งที่เป็นนักเศรษฐศาสตร์คนแรกๆ ไม่มีหุ้น ไม่มีทรัพย์สินส่วนตัว กินเงินเดือนอย่างเดียว แถมยังแบ่งให้ลูกน้องอีก

ผมคิดว่าคนที่บ้าเห่อทุนนิยม คงจะเหลือเชื่อว่าคนแบบนี้มีอยู่จริง แต่ก็มีอยู่จริง และท่านก็ไม่ได้เรียกร้องอะไรด้วย ทำไปโดยธรรมชาติที่มนุษย์ควรทำ ความงาม ความดี ความเป็นธรรม ท่านทำแบบเสมอต้นเสมอปลาย

อีกอย่างหนึ่งคือท่านไม่ค่อยมีอัตตา ไม่ตีโพยตีพายว่าเป็นผู้ว่าแบงก์ชาติ เคยทำประโยชน์ให้ประเทศมากมาย ทำไมมาขับไล่ฉันแบบนี้ ท่านไม่พูดถึงสิ่งเหล่านี้เลย แต่เล่าง่ายๆ เรียบๆ เหมือนเป็นเรื่องธรรมดา ท่านเล่าให้รู้ข้อเท็จจริง แต่ไม่ใช้อารมณ์ส่วนตัว

ดังนั้น ท่านเป็นคนธรรมดาที่พิเศษมาก แต่ก็เป็นคนพิเศษที่เป็นคนธรรมดามาก นี่เป็นเรื่องที่เราต้องตระหนักว่าคนแบบนี้มีอยู่จริง และทำให้เรารู้สึกภูมิใจที่เกิดมาในประเทศนี้ร่วมกับท่าน

“ป๋วยกับสังคมเศรษฐกิจไทยในวิกฤติเปลี่ยนผ่าน”

“ดร.อัมมาร สยามวาลา” นักวิชาการเกียรติคุณ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) เล่าผ่านการอภิปรายเรื่อง “ป๋วยกับสังคมเศรษฐกิจไทยในวิกฤติเปลี่ยนผ่าน” ตอนหนึ่งว่า โศกนาฏกรรมของท่านอาจารย์ป๋วย คือ ท่านประสบความสำเร็จอย่างงามในการปรับปรุงและจรรโลงเศรษฐกิจของประเทศไทย ผมคิดว่าประเทศไทยได้ก้าวหน้าไปค่อนข้างมากในช่วงที่ท่านกลับมาทำงาน

ท่านปรับปรุงเศรษฐกิจประเทศไทยให้มีเสถียรภาพและเจริญเติบโตในอัตราที่สูง เป็นความสำเร็จอย่างหนึ่ง แม้ท่านเองก็รู้สึกว่ามันทำให้ความสมดุลของเศรษฐกิจไทยอาจจะเบ้ไป และงานของท่านทั้งงานพัฒนาชนบทกับงานด้านการศึกษาก็เป็นการพยายามแก้ความขาดสมดุล ซึ่งผมรู้สึกว่าจริงๆ แล้วทำยาก

ต้องเข้าใจว่างานปรับปรุงเศรษฐกิจของประเทศไทยเกิดขึ้นในช่วงแรกของชีวิตท่านไปจนกระทั่ง ค.ศ.1970 ก็ก้าวหน้าไปไกล จุดสูงสุดของการทำงานดังกล่าวนั้นคือ ในช่วงที่จอมพลสฤษดิ์ (ธนะรัชต์) ปฏิวัติ แล้วเข้ามาปกครองประเทศ การเปลี่ยนแปลงหลายๆ อย่างในด้านการคลังซึ่งเกิดขึ้นในช่วงปี 2501-2503 หรือ 2504 เป็นช่วงที่อาจารย์ป๋วยทำอะไรหลายอย่างมาก แล้วเศรษฐกิจไทยก็รุดหน้าไปอย่างมาก

แต่ปัญหาที่ตามมาและรู้สึกว่า ท่านอาจารย์ป๋วยเริ่มมีความกังขาต่อกระบวนการดำเนินนโยบายเศรษฐกิจของรัฐบาลจอมพลพลสฤษดิ์ ท่านก็จำเป็นต้องรู้สึกถอยห่างออกมาจากการช่วยงานจอมพลพลสฤษดิ์

ท่านเริ่มเห็นว่าจอมพลพลสฤษดิ์มีบทบาท เพราะการเมืองพรรคทหารในประเทศไทยขณะนั้นเริ่มมีปัญหา และเมื่อท่านเริ่มถอยห่างออกมา วิธีการที่ท่านถอยห่างก็คือไปทำงานในธนาคารแห่งประเทศไทย

 

ต่อมาเมื่อจอมพลถนอมเข้ามา ท่านก็ออกมาอยู่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และได้เริ่มทำงานหลายอย่าง ดังนั้น ท่านมีเวลาในการทำงานด้านการพัฒนาชนบทค่อนข้างน้อยและประสบความสำเร็จค่อนข้างน้อย เพราะว่าการพัฒนาชนบทไม่ง่ายเหมือนกับการพัฒนาเศรษฐกิจ เพราะเป็นโจทย์ที่ใหญ่มาก แต่ท่านพยายามแก้ไขอย่างต่อเนื่อง

จริงๆ แล้วการพัฒนาเศรษฐกิจจนกระทั่งท่านเข้ามาเป็นอธิการบดีธรรมศาสตร์ พูดกันจริงๆ เป็นงานไม่ยาก วิธีการที่ท่านใช้เรียกได้ว่าเป็น Washington concensus จัดการเรื่องเสถียรภาพ จัดการเรื่องการคลังให้ดี นี่คือมรดกที่ท่านทิ้งไว้ให้กับเทคโนแครต แล้วเทคโนแครตทั้งหลายก็ดำเนินรอยตาม

แต่ท่านพยายามอยู่ตลอดเวลาเรื่องการพัฒนาชนบท แต่เป็นเรื่องที่ยาก แม้กระทั่งอาจารย์ป๋วยก็ประสบปัญหา ปัญหานั้นเกิดขึ้นจากหลายๆ อย่าง ความสำเร็จในการพัฒนาเศรษฐกิจนั้น ทำให้กลไกตลาดเคลื่อนไปข้างหน้าอย่างมากและรุนแรงในประเทศไทย

ความพยายามของชุมชนพัฒนาชนบท ที่พยายามรั้งการก้าวหน้า การรุดหน้าไปของการพัฒนาชนบท จึงเป็นความพยายามที่ค่อนข้างประสบความล้มเหลว สิ่งที่ท่านอาจารย์ป๋วยได้พยายามทำอยู่ตลอดเวลาก็คือ การอบรมสั่งสอนลูกศิษย์ท่านให้เข้าใจปัญหาของชนบท ซึ่งอันนี้อาจจะเป็นสาเหตุหนึ่งที่ท่านไม่ได้รับความนิยมชมชอบจากผู้มีอำนาจทั้งหลายในขณะนั้น เพราะการพัฒนาชนบทเป็นการเน้นถึงความเหลื่อมล้ำ เป็นการเน้นถึงปัจจัยที่ไม่ดีหลายอย่างในสังคมไทย ท่านจึงมีปัญหามาตลอด

และไม่ว่าหลายๆ เรื่องก็ดี เช่น เรื่องการเจริญเติบโตของพรรคคอมมิวนิสต์ในประเทศไทย เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นจากส่วนหนึ่งจากงานของอาจารย์ป๋วยและอีกส่วนหนึ่งจากงานของพรรคคอมมิวนิสต์ ก็นำเอาบทเรียนหลายอย่างนี้ไปเผยแพร่และกล่าวถึง จึงเป็นปัญหาที่หาข้อยุติยาก และนี่เป็นเรื่องที่ทำให้เกิดโศกนาฏกรรมต่ออาจารย์ป๋วย

ปัจฉิมกถา สาระชีวิตของนายป๋วย

 

“อาจารย์สุลักษณ์ ศิวรักษ์” กล่าวปัจฉิมกถาถึงอาจารย์ป๋วยว่า สาระชีวิตของนายป๋วยคือ ท่านเป็นคนมีอุดมคติคือ ต้องการดำเนินชีวิตไปในทางที่ดีงามเพื่อประโยชน์สุขของพหุชนยิ่งกว่าเพื่อตัวเองหรือครอบครัว อุทิศตนเพื่อผู้ยากไร้ให้เขาเหล่านั้นมีความกินดีอยู่ดียิ่งๆ ขึ้น โดยท่านต้องการขจัดโครงสร้างที่อยุติธรรมในสังคม

พร้อมกันนั้น นายป๋วยก็รับราชการซึ่งเป็นโครงสร้างทางสังคมอันอยุติธรรมเสียเอง แต่ขอให้ สังเกตว่านายป๋วยซึ่งเป็นข้าราชการใช้สถานภาพนั้นเพื่อทำประโยชน์ให้กับราษฎรส่วนใหญ่ แม้จะอยู่ใต้ระบบเผด็จการ ก็ไม่ไกล่เกลี่ยหลักการ ไม่ยอมทำตามคำสั่งอันมิชอบ แม้จะลาออกก็ยอม

ที่สำคัญยิ่งไปกว่านั้นคือ นายป๋วยเป็นคนแสวงหาและพยายามเข้าถึงความเป็นเลิศทั้งทางด้านความงาม ความดี และความจริง ท่านไม่เคยประกาศตนว่าเป็นพุทธมามกะตามรูปแบบ แต่ท่านแม่นยำในพระพุทธวจนะและปฏิบัติตามนั้น จนพระเถระบางรูปยอมรับความข้อนี้ พร้อมกันนั้นท่านก็ยกย่องลัทธิศาสนาอื่น และแนวคิดทางปรัชญาที่มีสาระทางศีลวัตร คือให้เกิดความเป็นปกติในสังคม

การแสวงหาความงามของท่านนั้น ท่านอุดหนุนศิลปะอย่างเต็มกำลัง หาทางสร้างสรรค์ให้ศิลปปินได้รับการยกย่องเชิดชู และเป็นแบบอย่างในการทำนุบำรุงศิลปิน โดยใช้ธนาคารแห่งประเทศไทยเป็นพาหะ จนธนาคารพาณิชย์จำนวนมากเอาเยี่ยงอย่างไปประพฤติปฏิบัติ

ยิ่งในทางคีตศิลป์ด้วยแล้ว ท่านเข้าร่วมวงได้อย่างเป็นงานอดิเรกเอาเลย ในขณะที่งานหลักในทุกๆ ทาง ท่านจะเน้นที่สันติประชาธรรม ไม่เพียงแต่ประชาธิปไตยในรูปแบบ หากมหาชนต้องมีส่วนร่วม มีเสียงในการเมืองการปกครองอย่างแท้จริง ช่องว่างระหว่างคนรวยกับคนจนต้องลดลง ทุกๆ คนต้องมีศักดิ์ศรี โดยเฉพาะชาวไร่ชาวนา และทุกอาชีพต้องเป็นไปในทางสัมมาอาชีวะ เพื่อความสมดุลทางธรรมชาติ

พร้อมกันนั้น เราก็ต้องมองให้เห็นความบกพร่องของท่านด้วย เช่น ท่านรักศิษย์ที่ใกล้ชิดจนเกินไปหรือเปล่า ท่านเชิดชูมิตรสหายบางคนจนเกินเลยสมรรถภาพของเขาไปบ้างหรือไม่ ท่านตระหนักหรือไม่ว่าคนรอบๆ ข้างท่านนั้น หลายคนเข้ามาหาประโยชน์จากท่าน ยิ่งกว่าจะมารับใช้ท่านเพื่อความชอบธรรม

จะอย่างไรก็ตาม ความกล้าหาญทางจริยธรรมของท่านนั้น แม้จะแสดงออกอ่อนน้อม แต่เป็นการอ่อนนอกแข็งใน ถ้าเห็นว่าการออกไปพบอาจารย์ปรีดี พนมยงค์ ที่ลี้ภัยอยู่ในประเทศฝรั่งเศส เป็นการแสดงความกตัญญูกตเวทีและเป็นการบูชาบุคคลที่ควรบูชา ท่านก็กล้าไปพบ

ทั้งๆ ที่ท่านทำงานใกล้ชิดกับถนอม กิตติขจร ซึ่งถึงจะเป็นเผด็จการ แต่ก็อุดหนุนให้นายป๋วยได้รับราชการอย่างเป็นประโยชน์ อย่างกว้างขวางออกไปหลายกรณี นายป๋วยร่วมอดทนกับนายกรัฐมนตรีผู้นี้อย่างแลเห็นคุณงามความดีของเขา และหวังว่าเขาจะเปิดทางให้ไปสู่ความเป็นประชาธิปไตย

และแล้วความหวังดังกล่าวก็ปรากฏขึ้นในปี 2511 แต่หลังจากนั้นไม่นานจอมพลผู้นั้นก็เขียนด้วยมือ ลบด้วยเท้า โดยรัฐประหารตนเองกลับไปเป็นเผด็จการอีก นี้แลคือที่มาของจดหมายจากนายเข้ม เย็นยิ่ง ถึงผู้ใหญ่ทำนุ เกียรติก้อง แห่งหมู่บ้านไทยเจริญ อย่างมีพลังในทางธรรม โดยผู้เขียนจดหมายฉบับนี้ถูกตัดขาดออกจากราชการในทางอนาคตอย่างสิ้นเชิง

คุณวิเศษของนายป๋วยอีกประการหนึ่งนั้นคือ ท่านมองอะไรๆ ได้แยบคาย ไม่ว่าจะเป็นสถานการณ์ใด ท่านปรับสภาพนั้นๆ ให้เป็นคุณประโยชน์กับส่วนรวมจนได้ แม้ในยุคเผด็จการที่ไม่เปิดกว้างให้หน่วยงานเอกชนประกอบกรณียะเพื่อสังคมได้

ครั้งท่านไปได้รับรางวัลแมกไซไซในประเทศฟิลิปปินส์ ไปเห็นชาวจีนบูรณะชนบทในไต้หวัน ด้วยการดึงผู้นำในวงธุรกิจการค้ามาร่วมพลัง อุทิศเงินและเวลา พากันปรับปรุงให้ไต้หวันขึ้นได้นอกแวดวงรัฐบาลก๊กมินตั๋ง ซึ่งเวลานั้นเป็นเผด็จการอย่างเต็มที่ และกระบวนการนี้เกิดขึ้นได้ในฟิลิปปินส์

นายป๋วยจึงนำมาประยุกต์ใช้ เกิดมูลนิธิบูรณะชนบทขึ้นในประเทศไทย ซึ่งเป็นหน่วยงานเอกชนด้านการพัฒนาประเทศที่เปิดโอกาสให้เยาวชนได้มีส่วนร่วม ช่วยให้เขาเป็นพลังสำคัญของบ้านเมือง

ทางอังกฤษ นาย Alec Dickson เป็นผู้ตั้งหน่วยงาน Voluntary service อย่างได้ผล จนประธานาธิบดีเคนเนดี้เอาอย่าง ไปตั้งหน่วยงานสันติภาพขึ้นที่สหรัฐฯ เมื่อบุคคลผู้นี้มาเมืองไทย ท่านขอให้ข้าพเจ้าพาไปพบ และท่านได้แรงบันดาลใจจากบุคคลผู้นั้นให้ก่อตั้งบัณฑิตอาสาพัฒนาขึ้น แม้จะมีคนเตือนท่านว่างานชิ้นนี้น่าจะยากกว่างานชิ้นแรก เพราะเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับเยาวชน ซึ่งรัฐบาลเผด็จการกลัวนักว่าท่านจะใช้คนรุ่นใหม่เป็นฐานทางการ แต่ท่านก็ดื้อรั้นจนทำได้สำเร็จ โดยท่านไม่ปรารถนาผลได้ทางการเมืองด้วยประการใดๆ

สำหรับโครงการพัฒนาลุ่มแม่น้ำแม่กลองของท่านนั้น ท่านถือว่าตราบใดที่คนชนบทและจังหวัดสมุทรสาครซึ่งร่ำรวยกว่าถิ่นอื่นเป็นไหนๆ ผู้คนยังอพยพเข้าเมืองกรุง ถ้าปรับปรุงให้แม่น้ำละแวกนั้น ประสานความสำเร็จทั้งทางเศรษฐกิจ การงาน และการสาธารณสุข น่าจะใช้แม่แบบนี้กระจายไปยังทุกลำน้ำ แม้ในแถบที่ยากจน นั่นก็ให้เพื่อคนทั่วราชอาณาจักรมีศักดิ์ศรี กินดี อยู่ดี ในบ้านเกิดเมืองนอนของตน โดยมีพื้นฐานทางประชาธิปไตยอย่างแท้จริง

แต่แล้วโครงการนี้ กลับกลายเป็นหอกข้างแคร่ที่ทิ่มตำท่าน จากอำนาจอธรรมที่ปกครองบ้านเมือง ทั้งทางฝ่ายมหาดไทยและทหาร นอกเหนือไปจากนักการเมืองและเผด็จการตัวโตๆ

มรดกจากความริเริ่มทั้งสามประการนี้ ในบัดนี้น่าจะได้รับการพินิจพิจารณาใหม่ แล้วดูว่าจะนำมาปรับใช้ให้สมสมัยได้หรือไม่ ถ้าได้ นี่จะเป็นอนุสาวรีย์อันประเสริฐสำหรับท่านแท้ทีเดียว

Source : http://thaipublica.org/2016/03/puey-ungphakorn-the-centenary-of-his-birth-in-2016/