เจาะปัญหา “ความเหลื่อมล้ำ”
Author : ณภัทร จาตุศรีพิทักษ์
นับตั้งแต่ Thomas Piketty นักเศรษฐศาสตร์อัจฉริยะชาวฝรั่งเศสได้เขียนหนังสือเรื่อง Capital in the Twenty-First Century ขึ้นมาเมื่อสองปีก่อน คนทั่วโลกก็ได้ตาสว่างเห็นภาพที่แท้จริงของสังคมตนเองและเกิดความกังวลมากมายว่าสังคมกำลังกลับไปสู่ยุคทุนนิยมจากมรดก (patrimonial capitalism) ที่คนรวยรวยเพราะทรัพย์สินของบิดามารดา ไม่ได้รวยเพราะความสามารถ กังวลว่ามีอะไรผิดปกติที่ผู้บริหารระดับสูงมีรายได้มากกว่าลูกจ้างทั่วไปเกินกว่า 300 เท่า กังวลว่าระดับความเหลื่อมล้ำที่สูงขึ้นนับวันนับคืนจะนำมาซึ่งความหายนะต่อระบบเศรษฐกิจและระบอบประชาธิปไตย ไปจนถึงความกังวลว่านโยบายอะไรก็ตามที่พยายามจะกระจายรายได้จากผู้ที่ร่ำรวยไปสู่ผู้ที่ยากจนจะเป็นการทำลายแรงจูงใจในการทำงานและพัฒนาตนเองของประชากร
ในช่วงหนึ่งปีที่ผ่านมานี้ ผู้เขียนได้มีโอกาสทบทวนความคิดเกี่ยวกับปัญหา “ความเหลื่อมล้ำ” จากการถกเถียงและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับคนรู้จักหลากหลายเชื้อชาติ หลากหลายระดับฐานะ หลากหลายอาชีพ ผู้เขียนคิดว่าความเหลื่อมล้ำนั้นเป็นประเด็นที่ซับซ้อน ลึกซึ้ง และซึมแทรกลงไปในสังคมเกินกว่าที่จะสามารถแก้ไขได้ด้วยเครื่องมือทางเศรษฐกิจเพียงไม่กี่ชิ้น เราจะโทษระบบทุนนิยมก็ไม่ถูกเพราะว่ามันไม่ใช่ผู้ร้ายตัวจริงเสียทีเดียว ทุนเป็นเพียง “พาหนะ” ของความเหลื่อมล้ำในระบบเศรษฐกิจสมัยใหม่เท่านั้น และที่สำคัญที่สุด ถึงแม้ประเด็นความเหลื่อมล้ำนี้จะซับซ้อนแต่มันก็เป็นประเด็นสำคัญที่พวกเราจะลืมมันไปไม่ได้
บทความนี้จะนำเสนอแนวคิดและสถิติเกี่ยวกับปัญหาความเหลื่อมล้ำที่น่าสนใจทั้งจากผลงานของนักเศรษฐศาสตร์สมัยปัจจุบันอย่าง Joseph Stiglitz หรือ Thomas Piketty ไปจนถึงแนวคิดเชิงปรัชญาจากนักเศรษฐศาสตร์รุ่นบุกเบิก อย่าง Vilfred Pareto เพื่อเป็นการจุดประกายการถกเถียงเกี่ยวกับปัญหาความเหลื่อมล้ำในสังคม โดยจะเจาะปัญหานี้จาก 4 มุมมองคำถามต่อไปนี้
1. อะไรคือ “ความเหลื่อมล้ำ”
2. เหลื่อมล้ำแล้วยังไง
3. อะไรคือต้นตอของความเหลื่อมล้ำ
4. อะไรคือจุดหมายของการแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำ
1. อะไรคือ “ความเหลื่อมล้ำ”
อุปสรรคด่านแรกของการแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำคือการที่เรายังไม่สามารถ “วัด” ความเหลื่อมล้ำได้อย่างแม่นยำและยังตกลงกันไม่ได้ว่ามาตราวัดไหนดีที่สุด
หนังสือเรื่อง Capital in the Twenty-First Century ของ Piketty นั้นกล่าวเตือนถึงความน่าหวาดกลัวของระดับความเหลื่อมล้ำทางรายได้และทรัพย์สินที่กำลังพุ่งสูงขึ้นอย่างรวดเร็วในหลายๆ สังคม แต่หากใครที่ไม่ได้อ่านหนังสือเล่มนี้แล้วไปลองค้นดูสถิติ Gini Coefficientด้านบน (ซึ่งเป็นสถิติวัดความเหลื่อมล้ำที่นิยมใช้กันมาก) จะเห็นได้ว่าหลังจากสงครามโลกครั้งที่สองนั้นระดับความเหลื่อมล้ำที่วัดด้วย Gini ในปัจจุบันไม่ได้น่าตกใจอย่างที่เขาฮือฮากัน แม้ว่าระดับความเหลื่อมล้ำจะเพิ่มมากขึ้นในบางประเทศ (ตัวเลข Gini สูงขึ้น) แต่ก็ไม่ได้มากขึ้นถึงขั้นน่าตกใจและยังมีอีกหลายประเทศที่ระดับความเหลื่อมล้ำน้อยลงเสียอีก จะมีที่น่าสะดุดตาเป็นพิเศษก็คือในกรณีของประเทศจีนที่เริ่มต้นไว้ที่ราวๆ 30 ในช่วงปี ค.ศ. 1980 แต่ไต่ไปถึงระดับเดียวกันกับสหรัฐฯ ได้ภายในไม่กี่สิบปีหลังเปิดประเทศ แต่ในมุมมองผู้เขียนเองเมื่อลองเทียบความเหลื่อมล้ำที่เพิ่มขึ้นในประเทศจีนกับการที่คนจีนหลายร้อยล้านชีวิตสามารถหลุดพ้นจากบ่วงความยากจนได้ใน 30 ปีที่ผ่านมา ภาพมันก็ไม่ได้แย่มากนัก
สิ่งที่ Piketty กล่าวถึงและเตือนให้เราระวังในหนังสือ Capital นั้นไม่ใช่สิ่งที่เราเห็นได้ง่ายๆ จาก Gini แต่เป็นปรากฏการณ์ที่กลุ่มคนที่ร่ำรวยที่สุด (ต่อไปนี้ขอเรียกว่า ทอป 10% ทอป 1% หรือ ทอป 0.1%) จากหลายสังคมทั่วโลกกำลังร่ำรวยขึ้นอย่างมหาศาลและกำลัง “แยกวง” ออกไปรวยขึ้นเรื่อยๆ ฉีกตัวออกห่างจากประชาชนที่เหลืออย่างรวดเร็ว
นี่ต่างหากคือความเหลื่อมล้ำที่ทุกคนกำลังพูดถึงในขณะนี้
กราฟด้านบนจากงานวิจัยของ Emmanuel Saez และ Gabriel Zucman ที่ใช้ข้อมูลชุดเดียวกับที่ Piketty ใช้ในหนังสือเรื่อง Capital นั้นแสดงให้เห็นถึงความมั่งคั่งอันน่าตกใจของคนกลุ่มเล็กๆ กลุ่มนี้ในสหรัฐฯ จากการใช้ข้อมูลภาษีเงินได้และข้อมูลสวัสดิการสังคมรายครัวเรือนในสหรัฐฯ ทีมวิจัยนี้พบว่าในปี ค.ศ. 2012 กลุ่มคนที่อยู่ในทอป 10% มีรายได้ก่อนหักภาษีรวมกันมากกว่าครึ่งหนึ่งของรายได้ก่อนหักภาษีของประชาชนทั่วประเทศ ซึ่งถือว่าเป็นการถือครองส่วนแบ่งรายได้ของประเทศมากที่สุดเป็นประวัติศาสตร์โดยคนกลุ่มนี้ตั้งแต่เคยมีการเก็บข้อมูลมา
ที่น่าตกใจขึ้นไปอีกคือหากเราไต่ระดับจากทอป 10% เลยหมอกเมฆขึ้นไปแตะถึงระดับทอป 0.1% (ราวๆ 160,000 ครอบครัว) จะเห็นได้ว่าจากกราฟด้านบนกลุ่มคนที่อยู่ในทอป 0.1% มีรายได้ที่มาจากทุน เช่น เงินปันผลจากหุ้น ค่าเช่า ดอกเบี้ย รวมกันแล้วมากเกือบเท่าครึ่งหนึ่งของรายได้จากทุนของคนทั้งสหรัฐฯ รวมกัน
เทรนด์รูปตัว U นี้ไม่ได้ปรากฏแต่แค่ในสหรัฐฯ แต่ยังเป็นที่พบเห็นกันในกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาด้วย ทั้งๆ ที่ข้อมูลแบบสอบถามในประเทศเหล่านี้ชี้ไปคนละภาพเลยว่าความเหลื่อมล้ำกำลังลดลง
เพราะฉะนั้น การเลือกมาตราวัดความเหลื่อมล้ำนั้นมีความสำคัญมาก บางมาตราวัดอย่าง Gini นั้น แม้จะเป็นที่นิยมใช้งานกันทั่วโลก แต่มันกลับปิดบังความรุนแรงของปรากฏการณ์ “รวยกระจุกแล้วแยกวง” แบบที่ Piketty กับทีมนักวิจัยพบ อีกทั้งตัวเลข Gini นั้นหลายครั้งมีที่มาจากแบบสอบถามซึ่งเป็นไปได้ยากที่จะมีคนกลุ่มทอป 0.1% หรือ ทอป .00025% (พวก Forbes 400) อยู่ในนั้น เนื่องจากโอกาสที่จะสุ่มไปพบคนกลุ่มเล็กๆ กลุ่มนี้เป็นไปได้ยากและแม้จะสุ่มเจอคนกลุ่มนี้มักไม่เสียเวลามาตอบแบบสอบถาม หากการสุ่มแบบสอบถามในระดับท้องที่เกิดพลาดพวกเขาไปสักสามสี่คนแค่นี้ตัวเลขที่ออกมาก็จะบิดเบี้ยวจากความจริงไปมาก
จุดที่สำคัญกว่าเห็นจะเป็นการผลักดันให้เก็บและเปิดข้อมูลทรัพย์สินรายครัวเรือนให้กับนักวิจัยเพื่อช่วยให้เราเข้าใจปัญหานี้ได้อย่างลึกซึ้งขึ้น ถือเป็นเรื่องน่ายินดีที่ขณะนี้ทีมวิจัยที่นำโดย Piketty นั้นได้ร่วมแรงร่วมใจกันสร้างฐานข้อมูลรายได้ (World Top Incomes Database) ที่เปิดให้ทุกคนใช้งานได้ฟรีและกำลังรณรงค์ให้มีการเปิดข้อมูลระดับชาติเพื่อให้กรอบของการวิจัยเรื่องความเหลื่อมล้ำนั้นครอบคลุมหลายประเทศมากขึ้น
หนังสือ Capital นั้นเป็นบทเรียนให้กับเราว่าหากเราไม่มีข้อมูลรายได้และทรัพย์สินที่มีคุณภาพตั้งแต่แรก Piketty จะไม่สามารถเขียนหนังสือเล่มนี้ได้ เราก็จะไม่มีวันเข้าถึงเนื้อในของปัญหาที่มีความท้าทายอย่างปัญหาความเหลื่อมล้ำ ยิ่งไปกว่านั้น เราเองอาจจะไม่รู้สึกตัวเลยก็ได้ว่าทั้งหมดที่ Piketty กล่าวถึงในหนังสือเล่มนี้มันกำลังเกิดขึ้นจริงๆ
…เพราะเทรนด์รูปตัว U นี้มันเกิดขึ้นมา 20 กว่าปีแล้ว เราเพิ่งจะมาถกเถียงกันก็ไม่กี่ปีมานี้
2. เหลื่อมล้ำแล้วยังไง
ขณะนี้หลายฝ่ายกำลังให้ความสนใจกับภัยจากระดับความเหลื่อมล้ำสูงใน 2 ด้านหลักๆ นั่นก็คือ
1) ภัยต่อเศรษฐกิจ
2) ภัยต่อสังคม
มุมมองของผู้เขียนเองคือผู้เขียนคิดว่าการเจริญเติบโตของเศรษฐกิจเป็นเรื่องสำคัญ แต่ในขณะเดียวกันเราไม่ควรคิดจะแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำเพียงแค่เพราะว่ามันจะทำให้เศรษฐกิจโตเร็วขึ้นหรือต่อเนื่องขึ้น
หนึ่ง คือ ผู้เขียนไม่คิดว่าเศรษฐกิจที่โตวันโตคืนคือจุดหมายที่แท้จริงของการแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำ
สอง คือ หากวันดีคืนดีเราเกิดไปเจอวิธีเพิ่มอัตราเติบโตของเศรษฐกิจที่ทำได้ง่ายกว่าการแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำ คำถามที่น่าคิดคือ จะยังมีใครยอมเหน็ดเหนื่อยเพื่อแก้ปัญหานี้อีกหรือไม่
สาม คือ ผู้เขียนเป็นห่วงว่าเรายังไม่เข้าใจความเหลื่อมล้ำดีพอที่จะตอบคำถามว่า แล้วเมื่อเศรษฐกิจเติบโตขึ้นแล้วจะเกิดอะไรขึ้นกับความเหลื่อมล้ำในอนาคต งานวิจัยทางเศรษฐศาสตร์ด้านความเหลื่อมล้ำที่ใช้ข้อมูลคุณภาพอย่างที่ทีมวิจัยของ Piketty ใช้นั้นยังมีไม่มาก แม้ว่าพักหลังนี้เริ่มมีงานวิจัยที่นำเสนอหลักฐานจากการหาความสัมพันธ์ทางสถิติระหว่างมาตรการเพื่อลดความเหลื่อมล้ำกับความต่อเนื่องในอัตราเติบโตของเศรษฐกิจ เราคงยังต้องรอดูกันต่อไปเพราะว่าการหาความสัมพันธ์กับการเป็นเหตุเป็นผลกันมันไม่ใช่อย่างเดียวกัน
อย่างไรก็ตาม ผู้เขียนก็เข้าใจว่า ทำไมหลายองกรค์ที่ต้องการลดระดับความเหลื่อมล้ำถึงมักตีกรอบ (frame) ปัญหาความเหลื่อมล้ำให้เป็นปัญหาเศรษฐกิจ
การ frame ปัญหาความเหลื่อมล้ำในมุมมองของการเติบโตของเศรษฐกิจทำให้หลายคนเลิกกังวลว่าการที่ภาครัฐดำเนินนโยบายเพื่อลดความเหลื่อมล้ำที่เข้มข้นขึ้นนั้น ถึงแม้อาจเป็นการลดแรงจูงใจในการทำงานแต่บวกลบออกมาแล้วมีผลเป็นบวกต่ออัตราการเติบโตของเศรษฐกิจ และมันคงจะเป็นวิธี frame ที่เป็นไปในทางปฏิบัติ (pragmatic) ที่สุดแล้วในการมัดใจผู้คน (และผู้มีอิทธิพล) ให้หันมาเหลียวแลปัญหานี้ได้
ตัวอย่างการ frame แบบนี้คือสิ่งที่ OECD พยามจะผลักดัน รายงานจาก OECD ชิ้นนี้ชี้ว่า เราควรลดความเหลื่อมล้ำเพราะว่าความเหลื่อมล้ำทำให้เศรษฐกิจโตด้วยอัตราที่ต่ำลง (ถึงแม้ว่านักวิจัยจะยังไม่สามารถตกลงกันด้วยหลักฐานได้ว่าเป็นเพราะเหตุใด…) โดยผ่านแนวทางที่นักเศรษฐศาสตร์ตั้งสมมติฐานไว้เช่น 1) ความเหลื่อมล้ำที่มากขึ้นทำให้ประชาชนเรียกร้องให้ขึ้นภาษีธุรกิจ ขอให้ทำการกำกับดูแลที่รัดกุมขึ้น หรือประท้วงไม่เอานโยบายที่เป็นการช่วยเหลือกลุ่มธุรกิจ 2) ความเหลื่อมล้ำที่มากขึ้นในสังคมที่มี financial market imperfections อยู่แต่เดิมแล้วจะทำให้คนที่ฐานะไม่ดีไม่สามารถลงทุนในสิ่งที่ควรลงทุนเพื่อก่อให้เกิดผลตอบแทนอันมหาศาลต่อทั้งผู้ลงทุนและผลผลิตของชาติ (เช่น การลงทุนในการศึกษาที่มีคุณภาพ)
แต่ที่ผู้เขียนคิดว่าน่าวิตกยิ่งกว่าภัยต่อเศรษฐกิจคือ ภัยต่อการอยู่ร่วมกันในสังคมอย่างสงบสุข
ที่จริงแล้วการที่ใครบางคนร่ำรวยกว่าคนส่วนมากมันก็ไม่ได้เป็นปัญหาในตัวมันเองมากนักตราบใดที่คนส่วนมากยังมีรายได้พอกินพอใช้ แต่สิ่งนี้จะเป็นปัญหาได้ก็เพราะว่ามันมีความเป็นไปได้สูงที่คนกลุ่มอภิมหารวยกลุ่มนี้จะสามารถยึดครองสิ่งอื่นๆ ในสังคมนอกจากแค่เม็ดเงินได้ด้วย
มุมมองนี้เป็นมุมมองที่ Joseph E. Stiglitz เขียนเอาไว้ได้ดีมากในหนังสือ 2 เล่มของเขาเรื่อง “The Price of Inequality: How Today’s Divided Society Endangers Our Future” และเรื่อง “The Great Divide: Unequal Societies and What We Can Do About Them” Stiglitz มองว่า การที่ความมั่งคั่งเกินครึ่งไปกระจุกอยู่บนยอดปลายแหลมของพีระมิดสังคมจะมีผลทำให้ระบอบประชาธิปไตยขัดข้องและถดถอยจากระบอบ one person one vote ไปเป็นระบอบ one dollar one vote ที่กลุ่มธุรกิจหรือกลุ่มที่มั่งคั่งกว่าสามารถล็อบบี้หรือแม้กระทั่งกดดันรัฐบาลเพื่อให้ออกกฎหมายที่สามารถโยกย้ายทรัพยากรเพื่อผลประโยชน์ของตัวเองแทนที่ว่าการกระทำของรัฐบาลจะสะท้อนความต้องการของประชากรหมู่มาก และสุดท้ายความเหลื่อมล้ำนี้จะทำให้ความแค้นสั่งสมในหมู่ประชาชนจนกลายเป็นชนวนก่อให้เกิดวิกฤติความขัดแย้งทางการเมืองได้ในที่สุด
ในสังคมอเมริกันทุกวันนี้ Stiglitz ยกตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือแม้ว่าประชาชนจะเห็นว่าระบบการเก็บภาษีเงินได้นั้นไม่แฟร์ แต่ไปๆ มาๆ บุคคลที่ร่ำรวยที่สุด 400 คนกลับจ่ายภาษีเงินได้ น้อยกว่า 20%ของรายได้ทั้งๆ ที่จริงๆ แล้วควรจะจ่ายเป็นเปอร์เซ็นต์ที่สูงกว่านั้นตามระบบภาษีแบบ progressive ที่สหรัฐฯ เป็นประเทศแรกๆ ที่ริเริ่มมัน อีกทั้งบริษัทยักษ์ใหญ่มากมาย เช่น บริษัท General Electric นั้นลงทุนไปกับการหาช่วงโหว่ของกฎหมายภาษีถึงขั้นที่ว่าในสิบปีระหว่างปี ค.ศ. 2002 ถึง ค.ศ. 2011 General Electric จ่ายภาษีไปแค่เฉลี่ยแล้วปีละ 1.8% ผู้เขียนไม่แน่ใจจริงๆ ว่าควรจะชมว่าเก่งหรือโกงดี เพราะว่าเขาไม่ได้ทำผิดกฎหมาย (คงทั้งคู่)
ในสายตาของ Stiglitz (ซึ่งผู้เขียนเองก็เห็นด้วย) สังคมในอุดมคติที่ชาวอเมริกันเคยภาคภูมิใจนั้นกลับกลายเป็นสังคมที่คนรวยมีโอกาสได้เข้าถึงการศึกษาคุณภาพที่ดีกว่าคนจน เป็นสังคมที่คนจนมีอุปสรรคเมื่อต้องการเข้ารักษาสุขภาพ (อ่านเพิ่มเติมเรื่องประกันสุขภาพทั่วโลกได้ในบทความนี้) เป็นสังคมที่ถึงแม้คนรวยจะฉีกตัวห่างจากคนจนไปจนไม่เห็นฝุ่นแต่ค่าแรงขั้นต่ำขณะนี้ดันน้อยกว่าสมัยเมื่อ 50 ปีที่แล้วเสียอีกทั้งๆ ที่เศรษฐกิจปัจจุบันก็โตช้ากว่าและคนก็ไม่ได้ว่างงานน้อยกว่าด้วย เท่านี้ยังไม่พอคนส่วนมากยังจ่ายภาษี (effective tax rate) เป็นเปอร์เซ็นต์มากกว่าคนที่ฐานะดีอีกด้วย
ทั้งหมดนี้บ่งบอกว่าอุดมการณ์ของชาติอเมริกันกำลังเพี้ยนไปอย่างรุนแรง จริงอยู่ที่สหรัฐฯ เป็นชาติที่ให้ความสำคัญกับการแข่งขัน แต่ทุกวันนี้ American Dream กลับกลายเป็นฝันร้ายแห่งความเหลื่อมล้ำที่ผิดเพี้ยนไปเป็นว่าชาวอเมริกันไม่มีทางเลือก ไม่มีความเป็นธรรมในโอกาสทางสังคม แต่ยังจำเป็นต้องชิงดีชิงเด่นไต่บันไดฝันอย่างเอาเป็นเอาตายเพื่อขึ้นไปตัดพายชิ้นใหญ่ให้กับตัวเอง กลายเป็นสังคมที่เอาตัวรอดแบบสุดขั้วเพราะว่าหากปล่อยให้คนอื่นไต่บันไดฝันแซงเราไปหรือเราพลั้งพลาดหล่นลงมาหน่อยก็จะอดตายหรือป่วยตายได้
สิ่งที่หนังสือ Capital กำลังเตือนเราก็คือ หลายสังคมบนโลกโดยเฉพาะอย่างยิ่งสังคมอเมริกัน หรือสังคมที่พยายามทำตัวให้คล้ายสังคมอเมริกัน คล้ายกับว่าระดับความเหลื่อมล้ำที่สูงนั้นทำให้ยิ่งคนเราอยู่ใกล้เชิงบันได American Dream เท่าไร แต่ละขั้นบันไดมันยิ่งห่างกันมากขึ้น นั่นก็คือ หากเราเกิดร่วงลงไป หรือโชคไม่ดีเกิดมาแถวๆ เชิงบันไดขึ้นมา มันจะทำให้เราปีนกลับขึ้นมาได้ยากมาก ส่วนเด็กๆ ที่โชคดีนั้นเกิดมาอยู่บนปลายบันไดเลย ต่อให้ไม่ปีนป่ายเลยสักขั้นเดียวก็คงจะไม่เป็นไรนัก
บางคนอาจมองว่าแบบนี้ก็ดีแล้ว สังคมจะได้รีดเค้นเอาหัวกะทิออกมาจากกองมนุษย์ธรรมดาๆ ทั้งหลาย ไม่ต่างจากการคัดเลือกโดยธรรมชาติ (natural selection) ที่จะทำให้มนุษย์ที่เหลืออยู่มีแต่พวกที่ “สมควรอยู่กว่า” (จะจริงหรือไม่ที่กลุ่มคนที่ปลายบันไดข้างบนคือคนที่สมควรอยู่กว่านั้นเป็นคำถามเชิงปรัชญาที่ผู้เขียนคงตอบให้ไม่ได้)
แต่ผู้เขียนอดสงสัยไม่ได้ว่าการที่ใครบางคนยินดีที่จะอยู่อาศัยในสังคมแบบที่ว่านี้ เรายังจะสามารถใช้คำว่า “สังคม” เรียกสังคมแบบนี้ได้อยู่อีกหรือ
3. ต้นตอของความเหลื่อมล้ำ
ตั้งแต่หนังสือ Capital วางแผงไปก็ได้ มีการถกเถียงและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันอย่างมากว่า “เรามาถึงจุดนี้ได้อย่างไร”
ปัจจัยที่หลายคนคิดว่าเป็นต้นตอของความเหลื่อมล้ำนั้นมีตั้งแต่ความล้มเหลวของสมาคมแรงงานในยุคหลังๆ การเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีซึ่งทำให้เกิดความต้องการแรงงานที่มีทักษะสูงและเกิดการ “โละ” แรงงานทักษะต่ำ ไปจนถึงความเหลื่อมล้ำทางโอกาสการศึกษา ซึ่งทั้งหมดนี้นักเศรษฐศาสตร์หลายคนเห็นว่าเป็นปัจจัยสำคัญ แต่ไม่สามารถอธิบายระดับความเหลื่อมล้ำที่เราเห็นอย่างในกรณี “รวยกระจุกแล้วแยกวง” ที่ Piketty นำเสนอใน Capital ได้ ยกตัวอย่างง่ายๆ เช่น ความเหลื่อมล้ำในโอกาสการศึกษา ไม่น่าจะสามารถอธิบายว่าทำไมคนกลุ่มอภิมหารวยทอป 0.00025% ถึงรวยขึ้นไปยิ่งกว่าคนอื่นๆ ในกลุ่มทอป 1%
เนื่องจากท่านผู้อ่านมีเวลาจำกัด ผู้เขียนจะนำเสนอแค่ 2 แนวคิดที่เกี่ยวเนื่องกับต้นตอของปัญหานี้
1) แนวคิดของ Stiglitz ที่มองว่าโครงสร้างของสังคม การเมือง และธุรกิจเปิดโอกาสให้คนส่วนน้อยที่ร่ำรวยและมีอำนาจรีดไถเอาเปรียบคนส่วนมาก
2) แนวคิดของ Piketty ที่กล่าวถึงบทบาทของความสัมพันธ์ระหว่างอัตราผลตอบแทนจากทุนกับอัตราการเติบโตของเศรษฐกิจในการทำให้เกิดปัญหาความเหลื่อมล้ำ
แนวคิดของ Stiglitz
ในบทความนี้ผู้เขียนใช้คำว่า “ปัญหา” คู่กับ “ความเหลื่อมล้ำ” แต่จากการสนทนากับผู้คนที่หลากหลายแล้วผู้เขียนพบว่ามีคนจำนวนไม่น้อยที่ไม่คิดว่าความเหลื่อมล้ำเป็นปัญหาและคิดว่าสังคมควรเลิกเสียเวลาช่วย “พวกขี้แพ้” เสียด้วยซ้ำ
งานวิจัย จาก Economic Policy Institute เมื่อปีที่แล้วพบว่าผู้บริหารระดับสูงในสหรัฐฯ มีรายได้มากกว่าลูกจ้างทั่วไปประมาณ 303 เท่าในปี ค.ศ. 2014 (เทียบกับราวๆ แค่ 20 เท่าในปี ค.ศ. 1965) หากแปลงสัดส่วนนี้เป็นเงินดอลลาร์แล้วผู้บริหารระดับสูงเหล่านี้มีรายได้โดยเฉลี่ยราว 16 ล้านดอลลาร์ต่อปีเทียบกับแค่ 5 หมื่นดอลลาร์ที่ลูกจ้างทั่วไปได้รับ
บางคนคิดว่า การที่ผู้บริหารระดับสูงเหล่านี้มีรายได้มากกว่าหลายเท่านั้นเป็นเรื่องธรรมชาติที่เป็นไปตามหลักเศรษฐศาสตร์ที่ตลาดแรงงานจะให้ค่าตอบแทนที่สูงกว่ากับแรงงานที่มีความสามารถสูงกว่าและมีผลิตภาพมากกว่าแรงงานทั่วไป และอาจมองได้อีกว่ารายได้และโบนัสเหล่านี้เป็น “รางวัล” ที่ผู้ประกอบการสมควรได้รับ หากเป็นเช่นนี้จริงการไปลงโทษพวกเขาด้วยการไล่เก็บภาษีมากขึ้นนั้นเท่ากับเป็นการลดแรงจูงใจให้พวกเขาทำให้ทั้งบริษัทและเศรษฐกิจมีการพัฒนาเติบโตขึ้น
แต่ทว่าตัวเลข 300 เท่านี้มันเหมาะสมกับสิ่งที่ผู้บริหารระดับสูงทำให้กับบริษัทและเศรษฐกิจจริงๆ หรือไม่
เนื่องจากเศรษฐกิจปัจจุบันมีความซับซ้อนสูง ผู้เขียนชวนให้ท่านผู้อ่านลองย้อนยุคกลับไปนึกถึงเศรษฐกิจชาวป่าแบบง่ายๆ ก่อนนะครับ
สมมติว่าเศรษฐกิจนี้มีคนอยู่แค่ 3 คน นาย ก. นาย ข. และ นาย ค. ทุกวันทุกคนมีหน้าที่ออกไปล่าไก่ป่าซึ่งเป็นสินค้าชนิดเดียวในเศรษฐกิจนี้เพื่อเอามาเป็นอาหารประทังชีวิต ตอนเริ่มแรกไม่มีใครมีเครื่องมือใดๆ ต้องล่าไก่ด้วยมือเปล่า ทั้งวันได้ไก่ป่าแค่คนละตัวเดียวเท่านั้น จากเช้าจรดเย็น 3 คนนี้จึงไม่ได้ทำอะไรเลยนอกจากล่าไก่ป่ามาเป็นอาหารเพียงเพื่อที่จะได้อยู่รอดไปถึงวันถัดไป สรุปคือเศรษฐกิจนี้ผลิตไก่ป่าได้ 3 ตัวต่อวันด้วยคน 3 คน
วันดีคืนดี นาย ก. เกิดมีไอเดียประเจิดขึ้นมาว่าจะทำกับดักหลุมพรางด้วยกิ่งไม้และการขุดดิน ปรากฏว่า “นวัตกรรม” หรือ “เทคโนโลยี” ที่นาย ก. คิดค้นขึ้นมานั้นสามารถทำให้นาย ก. จับไก่ได้วันละ 3 ตัว แทนที่จะเป็นแค่วันละตัวเดียว เทียบกับเมื่อวานกลายเป็นว่าเศรษฐกิจนี้สามารถผลิตไก่ป่าได้วันละ 5 ตัวด้วยคน 3 คนแล้ว (นาย ก. จับได้ 3 นาย ข. และ นาย ค. จับได้คนละ 1) วันถัดๆ ไปนาย ก. ก็จะเริ่มมีเวลาว่างเอาไปทำอย่างอื่นได้โดยที่ไม่อดตายเพราะมีไก่เหลือจากเมื่อวานและบางทีไก่ป่าก็เดินมาตกหลุมพรางเอง นาย ก. ซึ่งแต่เดิมเป็นผู้ชื่นชอบความงดงามของบทกวีอยู่แล้วจึงสามารถใช้เวลาบางส่วนของวันไปเพื่อการแต่งกวี ทำให้เศรษฐกิจชาวป่านี้นอกจากจะมีไก่เพิ่มขึ้นทวีคูณแล้วยังมีบทกวีเพิ่มขึ้นวันละบทอีกด้วย ไปเรื่อยๆ นาย ก. อาจเสนอให้ นาย ข. และ นาย ค. เลิกจับไก่แล้วไปผลิตอย่างอื่น เช่น ไปหากล้วยมาแลกกับไก่ เป็นต้น พอเวลาผ่านไปหลายพันปี เศรษฐกิจก็จะซับซ้อนขึ้นเป็นแบบที่เห็นกันอยู่ทุกวันนี้
นี่คือคำอธิบายแบบสั้นๆ ว่าเศรษฐกิจเติบโตได้อย่างไร
หากเหล่าผู้บริหารระดับสูงที่มีรายได้มากกว่าลูกจ้างธรรมดา 300 เท่าสามารถทำให้ “พายเศรษฐกิจ” ก้อนนี้ขยายใหญ่ขึ้นหลายต่อหลายเท่าด้วยความสามารถของตนอย่างที่ นาย ก. นำมาสู่เศรษฐกิจชาวป่า ทำไมสังคมถึงจะมาประณามเหล่าผู้บริหารระดับสูงทั้งๆ ที่หลายคนในกลุ่มนี้ไม่เคยทำตัวให้เป็นภาระสังคม แต่สังคมกลับไปแบกอุ้มคนที่ฐานะไม่ดีบางคนที่มีพฤติกรรมเสี่ยง เช่น สูบบุหรี่ ติดเหล้า หรือไม่ออกกำลังกาย อย่างนี้ถูกต้องแล้วหรือ (ประเด็นนี้มีการถกเถียงกันอย่างมาก หากท่านสนใจอ่านต่อได้ที่นี่)
แต่ในทางกลับกันหากเราพิสูจน์ได้ว่าเหล่าผู้บริหารระดับสูงไม่ได้มีผลิตภาพมากกว่าแรงงานปกติทั่วไป เป็นเพียงแรงงานธรรมดาๆ อย่างเช่น นาย ข. และ นาย ค. แล้วเงินตอบแทนที่มากกว่า 300 เท่ามันมาได้อย่างไรกัน
จุดสำคัญจึงอยู่ตรงที่ว่ามันเป็นกรณี (1) ผู้บริหารระดับสูงเหล่านี้ได้รับรายได้สูงเพราะว่าตลาดแรงงานยอมจ่ายเพื่อแลกกับความสามารถของพวกเขาหรือว่าเป็นกรณี (2) ผู้บริหารระดับสูงเหล่านี้ใช้อำนาจของตำแหน่งของตนในการนำมาซึ่งรายได้อันมหาศาลเกินกว่าที่เป็นมูลค่าของความสามารถของเขา
กรณีที่ (2) นั้น Stiglitz เรียกมันว่าพฤติกรรม “rent-seeking” ซึ่ง “rent” ในที่นี้ไม่ได้จำกัดความไว้แค่ค่าเช่าอพาร์ตเมนต์หรือค่าเช่าที่ แต่ “rent” เป็นคำที่นักเศรษฐศาสตร์ใช้แบบกว้างๆ เพื่อเรียกถึงเงินส่วนเกินที่บริษัทหรือบุคคลได้รับเพียงเพราะว่าตลาดขาดความแข่งขันอย่างในตลาดที่มีผู้ผลิตอยู่ไม่กี่ราย เช่น ตลาดการเงิน ตลาดยา ตลาดประกันสุขภาพ และตลาดโทรคมนาคม เป็นต้น Stiglitz มองว่าในสังคมสมัยใหม่แทนที่คนเราจะเอาเวลาและทรัพยากรไปพัฒนาเศรษฐกิจทำพายทั้งก้อนให้โตขึ้นแบบที่ นาย ก. ทำให้เศรษฐกิจชาวป่าเติบโต กลับกลายเป็นว่าคนสมัยใหม่กำลังหมกมุ่นกับการแย่งชิงไต่เต้าขึ้นไปเป็นผู้บริหารระดับสูงเพื่อขูดรีดแบ่งพายชิ้นใหญ่ขึ้นให้ตัวเองจากก้อนพายขนาดเท่าเดิม
บิล เกตส์ เองเคยออกมาปกป้องเหล่าผู้บริหารระดับสูงที่ติด ranking Forbes 400 และเตือนว่าอย่าลืมไปว่าครึ่งหนึ่งในนั้นเป็นผู้ประกอบการที่ประสบความสำเร็จอย่างสูงด้วยตัวเองและได้นำมาซึ่งสินค้าและบริการที่โลกก็ต้องการ แต่จากกราฟด้านบนเราจะเห็นว่ามันก็พอมีหลักฐานที่น่าเชื่อถือได้พอประมาณที่บ่งบอกว่าสถานการณ์ในกรณีที่ 2 นั้นโดยเฉลี่ยแล้วอาจเป็นคำอธิบายที่น่าเชื่อถือกว่ากรณีที่ 1 ในสหรัฐฯ เหตุผลก็คือ รายได้ของผู้ประกอบการของบริษัททอป 350 เหล่านี้สูงกว่ารายได้ของกลุ่มคนทอป 0.1% เกือบ 6 เท่าในปี ค.ศ. 2013 ถ้าเราคิดว่าคนที่มีรายได้สูงที่อยู่ในกลุ่มทอป 0.1% นี้ได้มันมาเพราะความสามารถและผลิตภาพที่สูงกว่าคนปกติ แล้วอีก 6 เท่าที่เกินมาสำหรับพวกผู้บริหารระดับสูงล่ะ มันจะมาจากไหนได้อีก นักวิเคราะห์ของ Economic Policy Institute มองว่าคนเหล่านี้ได้มาเพียงเพราะได้ครองตำแหน่งที่สามารถทำให้พวกเขาสูบ rent ออกมาได้สะดวกขึ้น
แนวคิดของ Piketty
Piketty คิดว่าบทบาทของอัตราผลตอบแทนของทุนและอัตราเติบโตของเศรษฐกิจมีส่วนสำคัญในการก่อให้เกิดความเหลื่อมล้ำ เขาเขียน 3 fundamental laws ไว้ในหนังสือ Capital ว่าดังนี้
1. a = r x β —– ซึ่งแปลเป็นภาษาคนว่าส่วนแบ่งของรายได้ประชาชาติในเศรษฐกิจที่ตกเป็นของผู้ถือครองทุน (a) นั้นจะเท่ากับอัตราผลตอบแทนจากทุน (r) คูณกับอัตราส่วนระหว่างปริมาณทุนต่อปริมาณรายได้ (β)
2. ในระยะยาว β = s/g —– นั่นก็คืออัตราส่วนระหว่างปริมาณทุนต่อปริมาณรายได้ (β) จะต้องเท่ากับอัตราการออม (s) หารด้วยอัตราเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ (g) ในระยะยาว
3. หาก r > g เมื่อไหร่ ผู้ที่ถือครองทุนจะค่อยๆ ได้รับสัดส่วนรายได้ทั้งหมดของเศรษฐกิจที่เพิ่มขึ้นโดยไม่รู้จบและจะก่อให้เกิดความเหลื่อมล้ำมากขึ้นเรื่อยๆ
Piketty เริ่มต้นด้วยการใช้ข้อมูลที่ชี้ให้เห็นว่า อัตราส่วนระหว่างปริมาณทุนต่อปริมาณรายได้ (β) ในหลายประเทศ เช่น สหรัฐฯ และฝรั่งเศสนั้นเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ตั้งแต่ปี ค.ศ. 1950 จนเกือบเท่ากับในสมัยศตวรรษที่ 19 และคาดว่าจะขึ้นจาก 4.5 ในปี ค.ศ. 2010 ไปถึง 6.5 เมื่อสิ้นศตวรรษนี้
ลองสมมติว่ามีเศรษฐกิจที่โตปีละ 5% (g) และมีการออม (s) 10% ของรายได้ทั้งหมดของประเทศ หากเศรษฐกิจปีนี้มีรายได้ประชาชาติ 100 บาท แสดงว่าเราจะออมไว้ 10 บาท (10 บาทนี้เป็นสิ่งที่ Piketty เรียกแบบหลวมๆ ว่า “capital” หรือทุน) การที่อัตราส่วนระหว่างปริมาณทุนต่อปริมาณรายได้ (β) จะคงที่ไปตลอดกาลตามกฎข้อสองได้นั้นทุนที่ออมไว้จะต้องมีปริมาณเท่ากับ 200 บาท ปีนี้ β จึงจะเท่ากับ 2 (เอามาหารกันเป็น 200/100) เมื่อเราให้เข็มนาฬิกาเดิน ปีหน้ารายได้ประชาชาติจะเป็น 105 (โต 5%) และทุนจะเป็น 210 (เพิ่มขึ้นมาด้วยเงินที่ออมมาจากรายได้ประชาชาติ 100 บาท) β จึงจะคงที่ที่ 2 ไปเรื่อยๆ ตลอดกาล ทั้งนี้ Piketty มองว่าโลกข้างหน้าน่าจะมีอัตราออมเฉลี่ยประมาณ 10% และอัตราเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจน่าจะลดลงไปเหลือราวๆ 1 ถึง 2% จนทำให้ β ขึ้นไปเกือบถึง 7
ขั้นถัดไปคือ ตามกฎข้อแรกหากคุณเอาอัตราผลตอบแทนจากทุน (r) ในเศรษฐกิจมาคูณกับ β ที่เราคำนวณไว้เมื่อครู่ก็จะได้สิ่งที่เรียกว่า “ส่วนแบ่งของทุนจากรายได้ประชาชาติ (a)” จากตัวอย่างที่ β = 2 จะเห็นว่าหากคุณคาดว่า r จะมีค่าประมาณ 4% ต่อปี ส่วนแบ่งของทุนจะเป็น 8% (2*4%) ของรายได้ประชาชาติ แต่ในตัวอย่างที่ Piketty คาดไว้ว่า β จะสูงขึ้นไปเฉียด 7 ในอนาคต ส่วนแบ่งของทุนจะพุ่งขึ้นไปถึง 28% (7*4%) ของรายได้ประชาชาติ และจะขึ้นไปมากกว่านี้อีกหาก r สูงกว่า 4% ถ้าคิดเล่นๆ ว่า r จะขึ้นไปถึง 6% ขึ้นมา ส่วนแบ่งของทุนจะขึ้นไปถึง 42% (7*6%) ของรายได้ประชาชาติเลยทีเดียว ส่วนที่เหลือ 58% คือส่วนแบ่งของรายได้ที่มาจากการทำงาน (ที่มนุษย์เงินเดือนและแรงงานปกติเป็นผู้ถือครอง)
นี่คือกรณีที่ชี้ให้เห็นถึงสิ่งที่จะเกิดขึ้นเมื่ออัตราผลตอบแทนจากทุนมากกว่าอัตราเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ (r>g) ในกรณีที่ β = 7 และ r = 6% > g หากมีคนแค่ไม่กี่คนถือครองทุนส่วนมาก ก็จะแปลว่าคนกลุ่มเล็กๆ นี้จะได้รับส่วนแบ่งจากการที่เศรษฐกิจเติบโตทุกปีไปเต็มๆ 42% ของรายได้ประชาชาติ คนกลุ่มนี้อาจรวยมากถึงขั้นไม่ต้องทำงานเลยก็จะยังเห็นรายได้จากทุนโตขึ้นราว r = 6% ต่อปี ซึ่งสูงกว่าอัตราที่รายได้จากหยาดเหงื่อในการทำมาหากินโดยคนส่วนใหญ่ที่จะโตได้แค่อย่างมากเท่ากับอัตราเติบโตของเศรษฐกิจ ซึ่งหลายคนคาดว่าจะต่ำลงเรื่อยๆ
หนังสือ Capital ไม่ได้เน้นเรื่องพฤติกรรมการออมมากนัก มันเป็นไปได้ที่ความเหลื่อมล้ำที่กฎข้อสามทำนายไว้จะไม่เกิดขึ้นหากชนชั้นกลางออมเก่งเพื่อไปเอาประโยชน์จาก r > g และพวกทอป 1% กลับไม่ยอมออมเลย (เอาไปซื้อเรือยอตช์หมด!) อย่างไรก็ตาม สิ่งนี้คงเกิดขึ้นยากมาก ในชีวิตจริงคนที่ร่ำรวยมากๆ มักจะมีอัตราการออมที่สูงกว่าคนส่วนมาก เพราะว่า 1) พวกเขามีรายได้สูงเกินพอให้เหลือใช้และ 2) พวกเขาเลือกที่จะออม จากงานวิจัยของ Saez กับ Zucman กลุ่มทอป 1% กลุ่ม 9% ถัดมา และ กลุ่ม 90% ที่เหลือในสหรัฐฯ นั้นมีอัตราการออมคือ 38% 15% และ 0% ตามลำดับ ดังนั้น ภาพที่ Piketty เห็นจึงเหมือนเป็นการกลับมาของทุนนิยมมรดกที่จะเข้ามามีบทบาทแทนที่การขยันทำงาน ขยันประดิษฐ์อะไรใหม่ๆ เพื่อหาเงินจากรายได้ที่มีอัตราเติบโตน้อยกว่าอัตราผลตอบแทนจากทุน
Piketty พบว่า r>g เป็นจริงในอดีตยกเว้นในช่วงสงครามโลก แต่จะเป็นจริงไปเรื่อยๆ หรือไม่คงไม่มีใครทราบได้ แม้ว่ามุมมองของ Piketty ฟังดูเหมือนว่าต้นตอของปัญหาอยู่ที่ระบบทุนนิยม แต่ผู้เขียนไม่คิดว่าทุนนิยมคือผู้ร้ายตัวจริง ทุนในที่นี้เป็นเพียงพาหนะของความเหลื่อมล้ำในระบบเศรษฐกิจที่พัฒนาไปในทางที่สามารถรองรับปริมาณทุนที่มากขึ้นพร้อมๆ กับทำให้อัตราตอบแทนของทุนไม่ตกลง
4. อะไรคือจุดหมายของการแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำ
Piketty เสนอว่าให้ทุกสังคมบนโลกร่วมมือกันเก็บภาษีคนรวยทั่วโลก (80% ของผู้ที่มีรายได้ระหว่าง 1 ล้านถึง 5 แสนดอลลาร์ต่อปี และราวๆ 50-60% ของผู้ที่มีรายได้ระหว่าง 5 แสนถึง 2 แสนดอลลาร์ต่อปี) เพื่อไม่ให้เกิดการ “รวยกระจุกแล้วแยกวง” ตั้งแต่แรก ข้อเสนอนี้เป็นเรื่องที่ถูกหยิบยกมาถกเถียงเป็นอย่างมาก บ้างก็ว่าเป็นนโยบายประชานิยมเกินไป บ้างก็ว่าเป็นนโยบายที่ยังไงก็ไม่มีวันเกิดขึ้นได้
แต่ก่อนที่เราจะลงมือทำอะไรก็ตาม ผู้เขียนคิดว่าเรามาลองคิดดูดีๆ กันก่อนดีกว่าว่า จุดหมายของการแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำคืออะไร
ตอนเด็กๆ ผู้เขียนเคยคิดว่า “ความเท่าเทียมกันอย่างสมบูรณ์” คือจุดมุ่งหมายของสังคมในฝันที่มีนโยบายและกฎหมายคอยปรับให้ทุกคนมีทุกสิ่งทุกอย่างเท่าเทียมกันหมด ไม่ว่าจะเป็นทรัพย์สินหรือคะแนนสอบเข้ามหาวิทยาลัย
แต่เมื่อเวลาผ่านไปก็คิดได้ว่า แม้สังคมนั้นจะเกิดขึ้นมาได้จริงๆ มันไม่มีเหตุผลที่ฟังขึ้นเลยว่าทำไมโลกที่เท่าเทียมกันหมดทุกมิติถึงจะต้องเป็นโลกที่ดีที่สุด
สังคมที่ไม่มีความเหลื่อมล้ำแต่ก็ไม่มีอันจะกินมันฟังดูไม่เข้าท่านัก หรือแม้กระทั่งสังคมที่มั่งคั่งและไม่มีความเหลื่อมล้ำเลยก็ตาม ผู้คนอาจจะไม่มีความสุขกับชีวิตก็เป็นได้โดยเฉพาะถ้าคนส่วนใหญ่ในสังคมนั้นชื่นชอบการอยู่เหนือกว่าผู้อื่น
ประเด็นนี้คือจุดหักเหสำคัญที่ทำให้ปัญหาความเหลื่อมล้ำกลายเป็นปัญหาทางปรัชญามากกว่าปัญหาทางเศรษฐศาสตร์
แนวคิดทางเศรษฐศาสตร์ตั้งเป้าหมายสังคมไว้ว่าเราจะพยายาม maximize สวัสดิการสังคม (social welfare) โจทย์ก็คือ เราจะแบ่งทรัพยากรอันจำกัดและจะสร้างกฎเกณฑ์กับนโยบายสังคมอย่างไรเพื่อให้เวลารวมอรรถประโยชน์ของทุกๆ ชีวิตมนุษย์ในสังคมแล้วออกมาเป็นตัวเลขที่มีค่ามากที่สุด และเราจะให้น้ำหนักความสำคัญกับอรรถประโยชน์ของมนุษย์แต่ละคนในสังคมอย่างไร เราอาจจะให้น้ำหนักทุกคนเท่ากันหมดเพื่อเป็นเสริมสร้างสังคมที่ยึดหลักความเสมอภาคของมนุษย์ทุกคนหรือเราจะให้ความสำคัญกับคนบางกลุ่มมากกว่าอย่างที่เรามักพบเห็นได้ในสังคมที่แบ่งชนชั้น
แต่ความท้าทายอยู่ตรงที่ว่า 1) คนเราแตกต่างกันมาก 2) เรายังไม่มีเครื่องวัดอรรถประโยชน์ของแต่ละคน 3) สังคมอาจเลือกให้ความสำคัญกับชีวิตคนแต่ละคนไม่เท่ากัน
ในชีวิตจริงนั้น คนเราไม่น่าจะมีพฤติกรรมที่เหมือนหุ่นยนต์แบบในเศรษฐกิจชาวป่าที่ทุกคนเป็นโคลนของกันและกัน และจะประพฤติเหมือนกับคนในชนชั้นเดียวกันแม้เราจะสุ่มให้เขาไปเกิดในชนชั้นที่ต่างออกไป แม้ว่า DNA มนุษย์จากทั่วทุกมุมโลกจะไม่ต่างกันเกิน 0.1% แต่ 0.1% ที่แตกต่างนี้มีผลอย่างยิ่งต่อทั้งโอกาสเป็นโรคภัยต่างๆ นานา ความถนัดของมือ (ที่มีความเกี่ยวเนื่องกับ cognitive skills) ความสามารถบางอย่างโดยเฉพาะความสามารถด้านกายภาพ เช่น การเล่นกีฬาที่การฝึกซ้อมและสภาพสิ่งแวดล้อมก็ทดแทนไม่ได้ไม่หมด (อ่านเพิ่มเติมได้ในหนังสือเล่มนี้) หรือแม้กระทั่งระดับความสุขที่คนเราสามารถได้รับก็ตาม 50% นั้นถูกกำหนดไว้แต่แรกเกิดแล้วด้วยพันธุกรรม
เมื่อเป็นเช่นนี้แล้ว มันก็ไม่สมเหตุสมผลเลยที่จะสรุปว่าสินค้าหรือบริการ 1 ชิ้น ไม่ว่าจะเป็น เงิน 1 บาท หรือ ที่ดิน 1 ไร่ จะต้องให้อรรถประโยชน์กับผู้คนที่แตกต่างกันเหล่านี้ในระดับที่เท่ากัน
Vilfredo Paretoนักเศรษฐศาสตร์ชาวอิตาลี เคยยกตัวอย่างน่าคิดเอาไว้ว่า การเก็บภาษีคนรวยเพื่อเอาเงินไปให้คนจนตามทฤษฎีแล้วอาจทำให้สวัสดิการสังคมโดยรวมลดลง คือ ลองสมมติว่าสังคมมีคนสองคน นายรวยกับนายจน เราเป็นพระเจ้าที่กำลังจะโยกเงิน 1 บาทจากนายรวยมาให้นายจน ถ้าบังเอิญว่าอรรถประโยชน์ที่นายจนได้จากเงิน 1 บาทที่เราโยกมาให้มันกลับน้อยกว่าอรรถประโยชน์ที่นายรวยเสียไปจากการถูกเราเก็บภาษีไป 1 บาท ก็เท่ากับว่าสวัสดิภาพสังคมแย่ลงกว่าก่อนที่เราจะลงมือเก็บภาษีจากนายรวย ตัวอย่างนี้ค่อนข้างพิเรนทร์แต่ก็ใช่ว่าจะเป็นไปไม่ได้
นอกจากนั้น ทุกวันนี้เรายังไม่มีเครื่องวัดอรรถประโยชน์ของมนุษย์ และดูเหมือนว่าสิ่งที่เกิดขึ้นเมื่อไม่กี่เดือนที่ผ่านมา เช่น วิกฤติผู้ลี้ภัยและความแค้นต่อชาวมุสลิม รู้สึกได้เลยว่า หลายสังคมยังตกลงกันไม่ได้ด้วยซ้ำว่ามนุษย์แต่ละคน แต่ละเชื้อชาติ แต่ละศาสนา ควรมีค่าเท่ากันหรือไม่
แต่ก็ยังพอจะมีตัวอย่างที่ทำให้เรามองโลกในแง่ดีขึ้นได้เหมือนกันจากการที่คนกลุ่มทอป 0.00025% อย่าง บิล เกตส์ หรือ มาร์ก ซักเคอร์เบิร์ก หรือ มาโนช ภควา (Manoj Bhargava เจ้าของเครื่องดื่มชูกำลัง 5-hour energy) ได้แบ่งทรัพย์สินและเวลาส่วนตัวมูลค่าไม่น้อยมาให้ความสนใจกับการ “ทำดีเพื่อโลก”
ผู้เขียนหวังว่าท่านผู้อ่านจะได้เห็นถึงความซับซ้อนของปัญหาความเหลื่อมล้ำจากบทความนี้ ว่าความเหลื่อมล้ำมีหลายนิยาม มีหลายต้นตอ และมีจุดหมายของการแก้ไขที่ค่อนข้างออกไปในเชิงปรัชญา เพราะฉะนั้น ผู้เขียนไม่คิดว่านโยบายเศรษฐกิจไม่กี่นโยบายจะช่วยแก้ปัญหาอันซับซ้อนที่ยังไม่มีใครเข้าใจได้ 100% นี้ได้หมด แต่ก็ไม่ใช่ว่าเราควรจะนิ่งเฉย
ในระหว่างที่เรากำลังรอความก้าวหน้าของความรู้เกี่ยวกับความเหลื่อมล้ำและการเปิดเผยข้อมูลทรัพย์สินทั่วโลก ผู้เขียนคิดว่าสังคมที่น่าอยู่อย่างน้อยๆ จะต้องมีอะไรรองรับคนที่กำลังลำบากบ้าง เพราะไม่ใช่ทุกคนที่ลำบาก ลำบากเพราะการกระทำของตัวเองทั้งหมด ใช่ บางครั้งคนที่ลำบากเขาทำตัวเอง แต่บางครั้งโชคชะตามันก็กำหนดหนทางของคนเราไว้มากกว่าครึ่งเข้าไปแล้วเหมือนกัน มันเป็นเรื่องประหลาดจริงๆ เวลาเราลองนึกดูว่าเศรษฐกิจของบางประเทศมาไกลแค่ไหนแล้ว แต่ทุกวันนี้กลับมีคนจำนวนมากที่ต้องเสียชีวิตเพียงเพราะโชคร้ายเกิดมาพ่อแม่ไม่เลี้ยงดู เกิดมาไม่ได้เรียนหนังสือ หรือเกิดมามีโรคที่ทำให้บริษัทประกันไม่รับเป็นลูกค้า ทำงานไม่ได้และต้องเสียชีวิตไปในที่สุด
แล้วนโยบายแบบไหนถึงจะทำให้เกิดความสมดุลที่ไม่ “ใจดี” หรือ “ใจร้าย” ต่อผู้ที่ลำบากเกินไป คงไม่มีใครตอบได้หากสังคมไม่ให้ความสำคัญกับการแก้ปัญหานี้อย่างจริงจังตั้งแต่แรก ตัวอย่างที่น่าสนใจในขณะนี้คือ รัฐบาลฟินแลนด์กำลังจะทำการทดลองสุ่มให้รายได้พื้นฐาน (Basic Income) กับประชากรของเขาเป็นเวลา 2 ปี หากการทดลองผ่านไปได้ด้วยดี ผลลัพธ์จากการทดลองนี้จะทำให้เรามีความเข้าใจเกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างรายได้ ความเหลื่อมล้ำ และความยากจนมากขึ้น
สุดท้ายนี้ ผู้เขียนหวังว่าแนวคิดและสถิติต่างๆ ในบทความนี้จะช่วยจุดประกายการถกเถียงเรื่องความเหลื่อมล้ำในสังคมไทยนะครับ
Source : ตีพิมพ์ครั้งแรกที่ “เศรษฐ” ความคิด – settaKid.com ณ วันที่ 12 ธันวาคม พ.ศ. 2558