ความไม่เป็นสมัยใหม่ของความคิดชนชั้นนำไทย
Author : สุรพศ ทวีศักดิ์ นักวิชาการด้านปรัชญาและศาสนา
“ รัฐธรรมนูญมีไว้แก้ปัญหาประเทศ ปัญหาของประเทศคือทุกข์ ต้องรู้เหตุแห่งทุกข์ ต้นตอปัญหามาจากไหน จะดับทุกข์คือแก้ปัญหาอย่างไร และใช้วิธีอะไร ยุทธศาสตร์ 20 ปี เป็นการเดาทุกข์ล่วงหน้าและเตรียมแนวทางแก้ไขไว้ ”
นายวิษณุ เครืองาม ที่มา http://www.tnamcot.com/content/499424
น่าสังเกตว่า เมื่อชนชั้นนำไทยไม่สามารถอ้างหลักการประชาธิปไตยให้ความชอบธรรมกับการกำหนดนโยบายสาธารณะได้ พวกเขามักอ้างหลักการพุทธศาสนาเป็น “สูตรสำเร็จ” สนับสนุนแนวทางของตน เช่นในกรณีนี้นายวิษณุอ้างหลักอริยสัจสนับสนุนการกำหนดยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี
เมื่อพิจารณาเนื้อหาอริยสัจจะเห็นว่า เป็นเรื่องที่พุทธะสอนเกี่ยวกับ “ความจริง” ของทุกข์และการดับทุกข์ในชีวิตของปัจเจกบุคคล แต่นักคิดทางพุทธศาสนาในบ้านเรา (เช่น ส. ศิวรักษ์) หรือนักปรัชญาชาวอเมริกัน (เช่นเดวิด อาร์ ลอย) ก็มองว่าหลักอริยสัจสามารถประยุกต์ใช้กับปัญหาทางสังคมได้
แต่ก็ต้องประยุกต์ใช้ในความหมายที่เน้นการทำความเข้าใจ “ความจริง” ของทุกข์ทางสังคม ไม่ใช่นำมาสนับสนุน “การเดาทุกข์ล่วงหน้า” เพราะเมื่อเราศึกษาหลักอริยสัจอย่างสัมพันธ์กับ “กาลามสูตร” จะเข้าใจอย่างชัดแจ้งว่า พุทธศาสนาไม่ยอมรับ “การเดา” แต่ยืนยันการใช้ปัญญาประจักษ์แจ้งความจริงจนสิ้นสงสัย ซึ่งการจะเกิดปัญญาเช่นนั้นได้ ไม่เพียงแต่ต้องมีเสรีภาพจากอิทธิพลครอบงำภายนอกทั้งปวงเท่านั้น แม้แต่อิทธิพลครอบงำจากโมหะภายในก็ต้องทะลุทะลวงให้ได้
การอ้างหลักอริยสัจสนับสนุนยุทธศาสตร์ชาติ 20 เพื่อแก้ปัญหาหรือดับทุกข์ของประเทศ จึงมีคำถามสำคัญ 2 ประการคือ อะไรคือ “ความจริง” ของปัญหาหรือทุกข์ของประเทศ และการอ้างดังกล่าวมี “ความเป็นเหตุผล” หรือไม่
เมื่อพูดถึงความจริงและความเป็นเหตุผลในกรอบความคิดสมัยใหม่ หรือ “ความเป็นสมัยใหม่” (modernity) จะมีลักษณะร่วมอย่างหนึ่งคือ ความจริง (truth) และความเป็นเหตุเป็นผล (rationality) ต้องมี “เสรีภาพ” เป็นแกน ปราศจากเสรีภาพการรู้และพูดถึงความจริงอย่างเป็นสาธารณะก็เกิดขึ้นไม่ได้ ความเป็นเหตุผลก็เป็นไปไม่ได้
ในทัศนะของพุทธศาสนา การรู้ความจริงของทุกข์ในชีวิตและเข้าถึงความจริงของความพ้นทุกข์ ก็จำเป็นต้องมีเสรีภาพจากการครอบงำจากอิทธิพลภายนอกต่างๆ ดังที่สิทธัตถะหลุดพ้นจากอิทธิพลของพ่อ อิทธิพลของครูอาจารย์ การเดินตามทางของคนอื่นๆและความเชื่อทางศาสนาอื่นๆในสมัยนั้น จึงค้นพบเส้นทางของตัวเองและตรัสรู้อริยสัจเป็นพุทธะได้ในที่สุด
แต่นั่นคือการรู้ความจริงของทุกข์และการดับทุกข์ทางใจของปัจเจกบุคคล เสรีภาพจึงหมายถึงการที่ปัจเจกบุคคลสามารถปลดปล่อยตัวเองจากอิทธิพลครอบงำภายนอกและอิทธิพลด้านในคือกิเลสของตน จึงไม่เกี่ยวโดยตรงกับเสรีภาพทางสังคมการเมือง
ทว่าเมื่อนำหลักอริยสัจมาใช้กับปัญหาหรือ “ทุกข์ทางสังคม” การจะรู้ความจริงของทุกข์ทางสังคมและความมีเหตุผลของยุทธศาสตร์แก้ทุกข์ทางสังคม จึงสัมพันธ์กับ “เสรีภาพทางสังคมการเมือง” ในความหมายสมัยใหม่อย่างไม่อาจแยกจากกันได้
นั่นคือ การรู้และเข้าใจความจริงของปัญหาหรือทุกข์ทางสังคมไม่ใช่รู้จากชนชั้นนำบอกให้เชื่อ แต่ต้องรู้และเข้าใจได้จากการที่ประชาชนมีเสรีภาพในการอภิปรายความจริงของปัญหาทุกแง่ทุกมุมและอย่างถึงที่สุด จึงจะสามารถกำหนดยุทธศาสตร์แก้ปัญหาที่มีความเป็นเหตุเป็นผลได้
พูดอีกอย่างว่า ความจริงและความเป็นเหตุผลในความหมายสมัยใหม่ต้องมีความเป็นวิทยาศาสตร์ และอะไรที่มีความเป็นเหตุผล เป็นวิทยาศาสตร์ต้องสามารถเสนอข้อมูลด้านตรงข้ามเพื่อพิสูจน์หักล้างได้ ซึ่งจะเป็นเช่นนั้นได้ก็ต่อเมื่อมีเสรีภาพตามกรอบคิดสมัยใหม่ คือกรอบประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชน แต่ภายใต้รัฐบาลทหารเราไม่มีเสรีภาพเช่นนั้น ความจริงของปัญหาหรือทุกข์ทางสังคมตามที่กล่าวอ้างจึงไม่ใช่ความจริงที่มีความเป็นเหตุผลและเป็นวิทยาศาสตร์ตามความหมายสมัยใหม่
เพราะชนชั้นนำไทยติดอยู่กับความคิดที่ไม่มีความเป็นสมัยใหม่ พวกเขาจึงมักแสดงความเห็นหรือเสนออะไรที่ “ขัดแย้งในตัวเอง” ตลอดเวลา เช่นกล่าวชื่นชมการลงประชามติในอังกฤษ (ซึ่งเป็นการลงประชามติตามกรอบคิดสมัยใหม่) และอยากให้การลงประชามติในไทย (ซึ่งขัดกับกรอบคิดสมัยใหม่) มีความราบรื่นแบบเขา แต่ก็ไม่ยอมให้มีการลงประชามติภายใต้กติกาที่เสรีและเป็นธรรมแบบเขา และไม่กล้าหาญแสดงภาวะผู้นำรับผิดชอบด้วยการลาออกหากเสียงข้างมากไม่เอาด้วยกับรัฐบาลเหมือนผู้นำอังกฤษ
พูดอย่างถึงที่สุด รากฐานปัญหาของประเทศคือ “ความไม่เป็นประชาธิปไตย” จึงไม่มีเสรีภาพทางความคิดเห็นและเสรีภาพในการแสดงออกทางการเมือง ฉะนั้น จึงไม่มีเสรีภาพในการอภิปรายความจริงของปัญหาด้านต่างๆของสังคมการเมืองไทยได้อย่างถึงที่สุดหรืออย่าง “สะเด็ดน้ำ” เมื่อเป็นเช่นนี้ความจริงและความเป็นเหตุเป็นผลเกี่ยวกับการสร้างการรับรู้และความเข้าใจร่วมกันเกี่ยวกับปัญหาและแนวทางแก้ปัญหาทางสังคมการเมืองจึงเป็นไปไม่ได้
ปัญหาหรือทุกข์ของประเทศที่เรากำลังเผชิญอยู่ จึงไม่ได้เกิดจากคนสวน ชาวนา คนขับแท็กซี่ หรือคนระดับชาวบ้านธรรมดาที่เป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศไม่รู้ประชาธิปไตย แต่อยู่ที่กลุ่มชนชั้นนำไทยยังไม่มีความคิดที่มีความเป็นสมัยใหม่ หรือไม่สามารถจะปรับตัวอยู่กับความจริง ความมีเหตุผล ความเป็นวิทยาศาสตร์ภายใต้หลักเสรีภาพตามระบบประชาธิปไตยได้