ความเท่าเทียมไม่ใช่ความเสมอภาคในสังคม

ความเท่าเทียมไม่ใช่ความเสมอภาคในสังคม

Author : กาแฟดำ

‘มือใครยาวสาวได้สาวเอา’

ภาพนี้เคยเห็นมาก่อน แต่ที่เห็นมีเพียงสองภาพทางซ้าย ภาพด้านขวาสุดเพิ่งเห็น ทำให้เห็น สัจธรรม แห่งสังคมเพิ่มอีกมิติหนึ่ง

วิเคราะห์ภาพนี้ให้ดีจะเห็นว่าความขัดแย้งในสังคม และปัญหาของประเทศเกิดจากการที่เราไม่ซาบซึ้ง ถึงความแตกต่างระหว่างคำว่า equality กับ equity

ภาษาไทยมีคนแปลคำว่า equality คือความเท่าเทียม

และคำว่า equity แปลว่าเสมอภาค

คำว่า reality ไม่ต้องแปลให้ยาก มันคือสภาพความเป็นจริงที่เกิดขึ้นอย่างที่เห็นและเป็นอยู่

ภาพแรกคือคำอธิบายคำว่า เท่าเทียม นั่นคือการให้ทุกคนได้ทุกอย่างเหมือนกัน แต่ ความเท่าเทียม จะกลายเป็นความเป็นธรรมและความยุติธรรมได้ก็ต่อเมื่อทุกคนเริ่มจากจุดเดียวกัน

ในภาพแรกจะเห็นว่าความยุติธรรมจะเกิดจากความเท่าเทียม ก็ต่อเมื่อทุกคนเกิดมาสูงเท่ากัน หรือในสังคมที่ทุกคนมีอะไรเหมือนกันแล้ว ความยุติธรรมและความเป็นธรรมก็เกิดขึ้นได้

ภาพที่สองเน้น ความเสมอภาค หรือ equity ซึ่งไม่ใช่ “ความเท่าเทียม” เท่านั้น หากแต่หมายความว่าทุกคนจะได้ การเข้าถึงโอกาสเหมือนกัน

เพราะสถานภาพในสังคมของคนไม่เหมือนกัน โอกาสไม่เท่าเทียมกัน ทำให้เกิดอุปสรรคในการเข้าถึงโอกาส เกิดความไม่เสมอภาคกัน ดังนั้นการจะทำให้เกิดความเท่าเทียมนั้นจะต้องให้มีความเสมอภาคกันก่อน

คำว่า “เท่าเทียม” คือการให้อะไรเหมือน ๆ กัน

คำว่า “เสมอภาค” คือความยุติธรรม

ในทางปฏิบัติการจะทำให้เกิดความเสมอภาค เพื่อให้เกิดความเท่าเทียม ก็คือคนที่มีโอกาสน้อยที่สุด ต้องได้รับการช่วยเหลือส่งเสริมมากที่สุด ส่วนคนที่ได้เปรียบอยู่แล้วก็ไม่ต้องได้รับอะไรมาเสริมหรือหนุนเนื่อง ตรงกันข้ามอาจจะต้องเสียสละให้คนอื่นที่ไม่มีโอกาสได้มากกว่าตัวเอง

หากเปรียบเทียบโอกาสคือการสามารถดูฟุตบอลได้เหมือนกัน คนที่สูงอยู่แล้วไม่ต้องมีกล่องช่วยหนุน ขณะที่คนสูงปานกลางอาจได้กล่องช่วยบ้าง แต่คนเตี้ยที่สุดจะต้องได้กล่องหนุนสองชั้นด้วยซ้ำ…. เพื่อให้ทั้งสามคนสามารถดูและเชียร์เกมฟุตบอลได้เหมือนกัน

อย่างนี้จึงจะทำให้ ความเสมอภาค” นำไปสู่ ความเท่าเทียม” และ ความยุติธรรม” อันแท้จริง

สภาพที่เกิดขึ้นในสังคมไทยวันนี้ ส่วนใหญ่จะคิดแต่เพียงว่า “ความเท่าเทียม” ก็คือ “ความเสมอภาค” หรือ equality ก็คือ equity ซึ่งไม่จริง ตรงกันข้ามเมื่อเราตีความเช่นนี้ผิด คิดว่าการให้อะไรเหมือน ๆ กันก็คือความเป็นธรรมและความยุติธรรม, ลงท้ายช่องว่างระหว่างคนรวยคนจนกับคุณภาพชีวิตของคนระดับบนกับระดับล่างก็ยังห่างกันอยู่… และจะห่างต่อไปเรื่อย ๆ จนกลายเป็นวิกฤตของสังคมที่มาในรูปความขัดแย้ง, การแก่งแย่งทรัพยากรและการใช้ไม้วัดเดียวกันประเมินคนในสังคมทุกชนชั้น

จนกลายเป็น ความเป็นจริง หรือ reality อย่างที่เห็นในรูปที่สาม

สะท้อนว่ายิ่งวันคนด้อยโอกาสก็ยิ่งถูกเหยียบย่ำ ขณะที่คนรวยคนได้เปรียบก็อยู่ในสภาพ “มือใครยาวสาวได้สาวเอา”

หากไม่แก้ไขสัจธรรมข้อนี้ หากยังตีความ ความเท่าเทียม” คือ ความเสมอภาค” ก็อย่าได้หวังว่าจะเกิดสังคมเป็นธรรม ที่ยึดหลักความยุติธรรม เป็นเป้าหมายของการสร้างสังคมอันพึงปรารถนาสำหรับทุกคนเลย