คนทุกคนจะถูกลืม
อาจารย์สุลักษณ์ ศิวรักษ์ ในเสื้อสีขาว ผ้านุ่งสีครีม พร้อมไม้เท้าข้างตัว ยืนรอรับเราอยู่ที่กลางซอยโดยไม่สนใจรถยนต์ที่กำลังขับตรงเข้ามาหา
บุคคลผู้ได้รับสมญานามว่าเป็น ‘ปัญญาชนสยาม’ ความคิดอันลุ่มลึกของท่านถูกถ่ายทอดออกมาในหนังสือมากกว่าสองร้อยเล่ม บทบาทของการเป็นนักคิด นักเขียน นักพูด และนักวิชาการ ล้วนเป็นงานเชิงวิพากษ์วิจารณ์สังคมไทยมที่ถึงแก่นและเฉียบคม การที่ ส.ศิวรักษ์ ในวัยย่าง 82 ปี ออกจากบ้านมายืนรอรับคนทำหนังสือตัวเล็กๆ อย่างเราด้วยตัวเองเป็นเรื่องเกินความคาดหมาย
“ถ้าคุณถามคนแถวนี้คุณก็ไม่หลงแล้ว คนในซอยนี้เป็นเพื่อนกับผมหมด” อาจารย์เดินนำเราลัดเลาะบ้านไม้สีน้ำตาลไปยังโต๊ะกลางโถงบ้าน ไม่มีรอยยิ้มต้อนรับ แต่ก็รับรู้ได้ถึงความไม่ถืออาวุโส
หลังจากได้ลงนั่งดื่มชาที่อาจารย์รินให้เรากับมือ เราเหลือบมองเห็นกรอบรูปของท่านในบางช่วงชีวิตวางประดับอยู่หลายแห่ง งานเชิงวิพากษ์สังคมของท่านมีบทบาทต่อวัยรุ่นยุคแสวงหาอย่างมาก และเป็นส่วนหนึ่งที่นำไปสู่ขบวนการนักศึกษา 14 ตุลาฯ งานเขียนที่เกิดจากความรอบรู้ในเรื่องศิลปวัฒนธรรมไทย เรื่องเจ้าขุนมูลนาย และเรื่องศาสนา ล้วนสร้างคำถามที่เป็นประโยชน์ต่อสังคมไทย เทียบดูแล้ว บทบาทสมัยหนุ่มของท่านดูจะมีคุณค่ากว่าวัยรุ่นสมัยนี้อยู่มาก
กรอบรูปในวัยหนุ่มของท่านมีอะไรที่ต่างจากกรอบรูปวัยรุ่นยุคนี้บ้าง นั่นคือสิ่งแรกที่เราอยากรู้
“ยุคสมัยต่าง มันก็แตกต่างกัน คุณบอกว่าวัยรุ่นสมัยก่อนดีกว่าสมัยนี้ไม่ได้ บางอย่างดีกว่า บางอย่างก็เลวกว่า เด็กคนหนึ่งประกาศตัวไม่นับถือศาสนา ไม่ไหว้พระ ครูโกรธมาก ลากไปตีที่หน้าเสาธง นี่ผิดสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานนะ บางคนบอกว่าตัวเองนับถือศาสนา แต่ความจริงนับถือทุนนิยม บริโภคนิยมกันทั้งนั้น ถือพุทธนี่คุณต้องตื่นจากความโลภ โกรธ หลง คนไทยทำได้กี่คน เห็นไหมปัญหาไม่ได้อยู่ที่เด็ก คนแก่เนี่ย ถ้าเราไม่ฟังคนรุ่นใหม่เราก็นึกว่าเราเก่ง ใครนึกว่าตัวเองเก่งอันตรายทั้งนั้น”
อาจารย์เล่าเรื่องความขบถสมัยหนุ่มหลายต่อหลายเรื่องให้เราฟัง ไม่ว่าจะเป็นความหลงใหลในละครชาตรี ความเกลียดที่โรงเรียนบังคับให้ท่องจำ การตกหลุมรักหนังสือของสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ เหล่านี้หลอมรวมให้อาจารย์เริ่มสั่งสมความรู้และมีความคิดที่เป็นของตัวเอง
“ถ้าได้คิดเป็นตัวเองแล้วคุณจะเติบโต เราลืมไปว่ามนุษย์เราต้องเป็นตัวเองก่อน เพราะระบบสอนให้เราคิดเหมือนกันหมด ต้องเรียนแพทย์ วิศวะฯ ต่อ MBA เหมือนเป็นปศุสัตว์ กฎเกณฑ์บางอย่างมีไว้เพื่อประโยชน์ของเรา เช่น เดินรถซ้ายมือ ไม่งั้นรถชนกัน แต่ไม่จำเป็นต้องเดินตามทุกอย่าง ปัญหาคือเราไปอยู่ใต้กฎเกณฑ์ของสังคมจนหมดความเป็นตัวเอง กล้าคิด กล้าวิจารณ์เป็นสิ่งที่ดี ไม้ซีกทั้งนั้นที่งัดไม้ซุงได้
“ผมโชคดีที่รู้จักเด็กวัยรุ่นพวกนี้เยอะ เขามาหาผม หลายคนเขามาสอนผมนะ เนติวิทย์ (เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล) สอนผมว่า หนึ่ง เราต้องฟังคนที่ต่างจากเรา สอง อย่านึกว่าเขามาหาเราแล้วเขาจะเห็นเราเป็นเทวดา เขามาเพราะเห็นว่าเราฟังเขา เราคุยกันเป็นเพื่อน มนุษย์เราต้องเคารพคนที่คิดต่างจากเรา เท่านั้นเอง นี่คือพื้นฐานที่ทุกคนควรมี ถ้าคุณมี แก่แล้วคุณก็เป็นวัยรุ่นได้”
อาจารย์สุลักษณ์ใช้ชีวิตโดยยึดหลักสัจจะ ความเป็นวัยรุ่นของท่านแสดงออกมาทุกครั้งที่วิพากษ์สิ่งต่างๆ เราเอ่ยปากขอให้ท่านสอนคนรุ่นใหม่ว่า ท่ามกลางโลกแห่งข้อมูลข่าวสารที่ไม่สามารถรู้ได้ว่าอะไรคือความจริง หากคนรุ่นใหม่อยากเติบโตไปเป็นปัญญาชนต้องทำตัวอย่างไร
“ปัญญาเกิดขึ้นจากการฝึก ถ้าฝึกปัญญา มนุษย์ทุกคนเป็นผู้ประเสริฐได้หมด เริ่มจากควรจะฟังให้มาก อย่าด่วนโจมตีคนที่เห็นไม่เหมือนกับเรา ศาสนามีสอนอคติ 4 คือ รัก-ฉัทนาคติ เกลียด-โทสาคติ กลัว-ภยาคติ หลง-โมหะคติ เราต้องถามตัวเองว่าเรารักหรือเกลียดใครสักคนมากๆ นี่เราฉันทาคติหรือเปล่า โมหะคติหรือเปล่า หรือกลัวว่าไม่รักไม่ได้หรือเปล่า พิจารณาดู ทุกคนมีความน่ารักและน่าเกลียด จะตัดสินอะไรต้องใช้ความคิดให้รอบคอบ เรายืนหลายจุดก็ได้ ไม่จำเป็นต้องยืนจุดเดียว”
การไม่มีจุดยืนก็เท่ากับเราไม่สามารถมีบทบาทในสังคมสิคะ-เราเถียง
“ก็มีบทบาทเล็กๆ สิ ผมก็มีบทบาทเล็กๆ ถ้าเรายอมรับว่าเราเป็นคนเล็กๆ เราก็ยอมรับบทบาทเล็กๆ ได้วันก่อนผมนั่งเครื่องบินไปเชียงรายกับคุณพิภพ ธงไชย แอร์โฮสเตสขอลายเซ็นคุณพิภพ ผมก็ถามไปว่า พวกคุณไม่มีใครรู้จักผมเลยหรอ เขาบอก เอ๊ะ ลุงนี่เป็นลูกครึ่งรึเปล่าคะ เห็นไหม ผมยังไม่ทันตายคนก็ลืมไปแล้ว ถ้าคุณยอมรับความจริงข้อนี้ได้คุณอยู่ได้สบายเลย วัยรุ่นต้องเรียนอันนี้ไว้ เพราะสมัยนี้เขาคิดว่าทุกคนต้องเป็นดารา อย่าไปนึกว่าเราเป็นคนสำคัญ จงจำไว้ว่า คนทุกคนจะถูกลืม”
ก่อนลากลับ เราคุยกันเรื่องต้นมะม่วงพันธุ์อกร่องอายุราวหกสิบปีที่ยืนตระหง่านอยู่ในรั้วบ้าน อาจารย์บอกว่าแทบไม่ได้กินผลมะม่วงเลยปล่อยให้กระรอกกินไปเสียหมด เล่าแล้วท่านก็ยิ้ม ก่อนจะชี้ให้ดูรูปโปสเตอร์ปิดผนังใบหนึ่ง เป็นรูปผู้หญิงใส่แว่นผู้มีแววตามุ่งมั่น
“ความสำเร็จทุกอย่างคือความล้มเหลวยังไม่ปรากฏ” อาจารย์พูดชัดถ้อยชัดคำ
“ที่ผมนับถือมด-วนิดา ตันติวิทยาพิทักษ์ เพราะเขาต่อสู้เพื่อสมัชชาคนจน เขาไม่เคยต่อสู้เพื่อความสำเร็จ แต่เขาต่อสู้เพื่อความถูกต้อง และหลายต่อหลายครั้งเขาก็แพ้ ผมนี่ต่อสู้มาตลอดชีวิตยังไม่ได้เจอความสำเร็จสักอย่าง แพ้มาตลอด จะทำอะไรอย่าไปนึกถึงความสำเร็จ สำเร็จไม่สำเร็จคนละเรื่อง”
“ศาสนาพุทธสอนว่าท้ายที่สุดแล้วอนัตตา ไม่มีอะไรเลย ผมแปดสิบกว่า อีกไม่เท่าไหร่ผมก็จากชีวิตนี้ไป ความตายคือความล้มเหลวครั้งสุดท้ายของมนุษย์ที่ไม่สามารถเป็นอมตะได้ คนเรานี่อยากเป็นอมตะ ตายแล้วยังทำหนังสืองานศพแจก พิมพ์ทีเป็นแสนๆ ถามจริงๆ ใครอ่านบ้าง หลอกตัวทั้งนั้น ตายแล้วก็ตายไป หมดไปแล้ว” อาจารย์พูดทิ้งท้ายไม่วายจิกกัดได้เฉียบคมเช่นเคย
ขากลับอาจารย์สุลักษณ์ไม่ได้เดินออกมาส่งด้วยตัวเอง แต่คำถามที่ติดตัวเราออกมาหลังเข้าพบปัญญาชนแห่งสยามท่านนี้คือ หากตัวเราตายไป อะไรจะคงอยู่บ้าง