ภาวะ “ล้มละลาย ความเป็นมนุษย์” ในสังคมไทย

ภาวะ "ล้มละลาย ความเป็นมนุษย์" ในสังคมไทย

Author : จดหมายข่าวมูลนิธิเล็ก-ประไพ วิริยะพันธุ์

ข้าพเจ้าเป็นนักมานุษยวิทยารุ่นเก่า การมองโลกแนวคิดทฤษฎีและ วิธีการก็เป็นแบบรุ่นเก่า

ต่างไปจากรุ่นใหม่ที่เรียกว่ารุ่นหลังสมัยใหม่ [PostModern]

ความมุ่งหมายของนักมานุษยวิทยาคือ การศึกษาให้เข้าใจถึงความเป็นมนุษย์ในฐานะที่เป็นสัตว์โลกชนิดหนึ่ง

ที่มีวิวัฒนาการ [Evolution] แตกต่างไปจากสัตว์โลกอื่นที่เป็นเดรัจฉานอย่างไร

 

การต่อสู้เพื่อเรียกร้องสิทธิในที่อยู่อาศัยแต่เดิมของชาวชุมชนป้อมมหากาฬ เมื่อวันอาทิตย์ที่ ๒๗ มีนาคม ๒๕๕๙

 

โดยอาศัยวิชาที่เป็นสาขาคือ มานุษยวิทยากายภาพ [Physical Anthropology] และวิชาโบราณคดีก่อนประวัติศาสตร์ [Prehistoric Archaeology] เป็นเครื่องมือศึกษาให้เห็นขั้นตอนของวิวัฒนาการมานุษยวิทยากายภาพศึกษาให้เห็นวิวัฒนาการทางร่างกาย   และชีววิทยาที่ทำให้เห็นว่ามนุษย์คือสัตว์คล้ายลิงที่มีวิวัฒนาการเลยเส้นแบ่งของสัตว์เดรัจฉานมาเป็นสัตว์มนุษย์ [Homosapien Sapiens] ที่มีความสามารถในการเรียนรู้สื่อสารกันได้ด้านภาษาเชิงสัญลักษณ์ และเป็นสัตว์สังคม [Social Animal] ชนิดหนึ่ง

 

ในขณะที่วิชาโบราณคดีก่อนประวัติศาสตร์ ศึกษามนุษย์ ในฐานะเป็นสัตว์วัฒนธรรมที่เรียกว่า Tool Maker คือสามารถคิดเครื่องมือเครื่องใช้ เช่น เครื่องมือหินเพื่อการดำรงชีวิตรอด

 

สิ่งที่มนุษย์ในฐานะสัตว์สังคมที่ต้องอยู่ร่วมกันเป็น กลุ่ม เหล่าคิดขึ้นเพื่อการมีชีวิตรอดร่วมกัน นั่นคือ วัฒนธรรม [Culture]

 

วิชาโบราณคดีก่อนประวัติศาสตร์นับเนื่องเป็นสาขาหนึ่งของวิชามานุษยวิทยาวัฒนธรรม   [Cultural Anthropology]   ที่เน้นการศึกษาด้านวัฒนธรรมเป็นหลัก แต่วิชาที่ข้าพเจ้าได้รับการอบรมมาเป็นวิชามานุษยวิทยาสังคม [Social Anthropology] เพราะฉะนั้นเวลาที่พูดถึงวัฒนธรรมในหนทางของข้าพเจ้าจึงต้องมองทั้งวัฒนธรรมและสังคมอย่างแยกกันออกไป เปรียบเสมือนเหรียญที่มีสองด้านในเหรียญเดียวกัน

 

ถ้าหากวัฒนธรรมคือเนื้อหา สังคมก็คือบริบท [Social Context]

 

ยกตัวอย่างเช่นเรื่องประชาธิปไตยในประเทศไทยในขณะนี้ คนส่วนใหญ่สับสนระหว่างประชาธิปไตยลอยๆ แบบอุดมคติ ว่าต้องเป็นเช่นนั้นเช่นนี้แล้วอ้างและเลียนแบบประชาธิปไตยแบบอเมริกามาเป็นสากล ในขณะที่ประชาธิปไตยในสังคมไทยที่อยู่ในบริบททางสังคมคือ ประชาธิปไตยที่มีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข หาใช่ประธานาธิบดีแบบอเมริกันเป็นประมุขไม่ เพราะมีรูปแบบและระบบทางสังคมเศรษฐกิจแตกต่างกัน ไม่ควรที่จะคิดค้นเองแบบลอยๆ หรือที่เรียกว่า “มโน” แล้วมาวิวาทกันอย่างในปัจจุบัน

 

วิชามานุษยวิทยาสังคมแบบเก่าๆ ที่ข้าพเจ้าเล่าเรียนมานั้น เรียกได้อีกอย่างหนึ่งว่า สังคมวิทยาเปรียบเทียบ [Comparative Sociology] คือศึกษาเปรียบเทียบสังคมหนึ่งแตกต่างจากสังคมอื่นๆ ในลักษณะเหมือนกัน คล้ายคลึงกัน หรือแตกต่างกันอย่างไร และมักเป็นการศึกษาสังคมขนาดเล็ก เช่น สังคมตามท้องถิ่นที่เป็นเผ่าพันธุ์หรือสังคมแบบประเพณี และปล่อยให้เป็นเรื่องของนักสังคมวิทยาศึกษาสังคมเมืองหรือสังคมใหญ่ๆ ที่มีความซับซ้อนแทน ในลักษณะที่เป็นอีกวิชาหนึ่งที่เป็นเอกเทศ

 

สิ่งที่ข้าพเจ้าสนใจมากในเชิงวิวัฒนาการก็คือ ความเป็นมนุษย์และความล่มสลายทางสังคม วัฒนธรรม และความเป็นมนุษย์ ข้าพเจ้าได้รับการอบรมให้เห็นว่า   มนุษย์นอกจากเป็นสัตว์สังคมที่ต้องอยู่รวมกันในครอบครัวและชุมชนแล้ว   มนุษย์ยังเป็นสัตว์เศรษฐกิจ   สัตว์การเมือง และสัตว์ศีลธรรม [Moral Being] โดยเฉพาะความเป็นสัตว์ศีลธรรมนั้น ถ้าหมดไป ความล่มสลายของความเป็นมนุษย์ก็จะสิ้นสุดลง [Dehumanization]  แต่การล่มสลายของความเป็นมนุษย์นั้นก็หาได้หมายถึงการล่มสลายของสังคมมนุษย์ไม่ เป็นแต่เพียงปรากฏการณ์ของการเปลี่ยนแปลงทางสังคมและวัฒนธรรมในเวลาและพื้นที่หนึ่งๆ เช่นนั้น

 

เช่น สังคมบุพกาลในสมัยแรกๆ เป็นสังคมแบบเผ่าพันธุ์ [Tribal Society] ที่คนมารวมกลุ่มกันด้วยความสัมพันธ์ทางเครือญาติจากสายเลือดและการแต่งงานของคนที่เป็นชาติพันธุ์เดียวกัน  มาเป็นสังคมชาวนา [Peasant Society] ที่ผู้คนหลายชาติพันธุ์  หลายภาษา และเครือญาติเข้ามาอยู่รวมกันในพื้นที่เดียวกัน ทำให้เกิดความใกล้ชิดและความรู้สึกนึกคิดเป็นคนที่เกิดในพื้นที่หรือบ้านเกิดเดียวกัน

 

ผังโครงสร้างทางสังคม

 

“สังคมชาวนา” [Peasant Society]  แตกต่างไปจาก “สังคมเผ่าพันธุ์” [Tribal Society]  ในแง่ที่เป็น “ส่วนหนึ่งของสังคมใหญ่” [Part Society] คือเป็นส่วนหนึ่งของสังคมเมือง รัฐ  และในที่สุดก็ประเทศชาติ  ที่มีวัฒนธรรมสองระดับ คือ “ประเพณีหลวง”  ของสังคมเมืองหรือรัฐอันเป็นส่วนรวมกับ “ประเพณีราษฎร์” ในระดับท้องถิ่น “ประเพณีหลวง” เป็นวัฒนธรรมของคนในสังคมเมื่อทำหน้าที่บูรณาการให้ “ประเพณีราษฎร์” ที่มีความแตกต่างและหลากหลายในท้องถิ่นเกิดสำนึกเป็นผู้คนในสังคมของแผ่นดินหรือชาติเดียวกัน

 

การเกิดขึ้นของการศึกษาวิชามานุษยวิทยาของนักมานุษยวิทยารุ่นเก่าส่วนหนึ่งนั้น ต้องการศึกษาการเปลี่ยนแปลงทางสังคมและวัฒนธรรมของความเป็นมนุษย์ที่รวมกันเป็นกลุ่มเป็นพวกเดียวกัน ว่าเปลี่ยนแปลงไปในทางราบรื่นในครรลองของความเป็นมนุษย์ หรือเปลี่ยนแปลงไปในทางขัดแย้งรุนแรงจนเกิดภาวะล่มสลายในความเป็นมนุษย์หรือไม่

 

เพราะสังคมมนุษย์เป็นสังคมที่ไม่หยุดนิ่ง มีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลาในมิติทางพื้นที่และเวลา เหตุของการเปลี่ยนแปลงทางสังคมและวัฒนธรรมนั้นเกิดขึ้น ๒ ทาง

 

ทางแรกจากภายในสังคมหรือชุมชนนั้น อันเนื่องมาจากนวัตกรรมใหม่ๆ ที่คนใน [Insider] สังคมนั้นคิดขึ้นมา กับทางที่สอง คือจากการติดต่อเกี่ยวข้องจากภายนอกแล้วรับเอาสิ่งใหม่ๆ แปลกๆ เข้ามา [Culture Contact]

 

ในประวัติศาสตร์การล่มสลายของความเป็นมนุษย์ในสังคมแบบเผ่าพันธุ์และสังคมชาวนาในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และในอีกหลายภูมิภาคของโลกนั้น เกิดขึ้นในสมัยล่าอาณานิคมของประเทศทางตะวันตก ที่ทำให้คนในสังคมคิดอะไรที่เหมาะสมไม่เป็นแล้วไปรับเอาสิ่งที่เห็นว่าดีงามจากภายนอกเข้ามา ทำให้เกิดความขัดแย้งขึ้นภายในประการหนึ่ง และอีกประการหนึ่งก็คือการถูกบังคับจากอำนาจทางการเมืองเศรษฐกิจของผู้มีอำนาจจากภายนอก เช่น จากรัฐหรือจากต่างชาติ ที่เอากฎเกณฑ์ใหม่ๆ สิ่งใหม่ๆ เข้ามาแทนที่ของเก่าที่มีอยู่แล้วในสังคม

 

ในดินแดนประเทศไทย สังคมเผ่าพันธุ์ [Tribal Society] เปลี่ยนแปลงและสูญหายไปเกือบหมดแล้ว อันเนื่องจากการเติบโตของสังคมชาวนาและรัฐที่ทำให้ความเป็นสังคมเผ่าพันธุ์ล่มสลายและคงเหลืออยู่ในพื้นที่ชายขอบของรัฐบางแห่งเท่านั้น ความต่างกันของสังคมเผ่าพันธุ์กับสังคมชาวนานั้นอยู่ที่ สังคมเผ่าพันธุ์ของคนแต่ละกลุ่มเป็นสังคมอิสระมีอำนาจดูแลกันเองภายใน โดยอาศัยความสัมพันธ์กันทางระบบเครือญาติ โคตรเหง้า ตระกูล และครอบครัว ในขณะที่สังคมชาวนาหาเป็นอิสระไม่ แต่เป็นส่วนหนึ่งของสังคมใหญ่ [Part Society] คือต้องพึ่งพิงเมืองและรัฐทางการเมืองและเศรษฐกิจ

 

ความเป็นปึกแผ่นและความมั่นคงทางสังคมไม่ได้เกิดจากโครงสร้างสังคมในระบบเครือญาติ [Kinship] ของเผ่าพันธุ์ หากอยู่ที่พื้นที่ซึ่งผู้คนในชุมชนตั้งถิ่นฐานเป็นชุมชนบ้านและเมืองอยู่ร่วมกัน ในลักษณะแผ่นดินเกิด ซึ่งสะท้อนให้เห็นจากความรู้สึกร่วมของคนว่าเป็นคนบ้านไหนและเมืองไหน เป็นต้น หาได้เอาความเป็นชาติพันธุ์มาเป็นศูนย์รวม

 

การล่มสลายของสังคมเผ่าพันธุ์และสังคมชาวนาในดินแดนประเทศไทยนั้นมีเหตุใหญ่ๆ มาจากการเปลี่ยนแปลงที่มาจากภายนอก คือ เมื่อมีอิทธิพลทั้งทางเศรษฐกิจ การเมือง และวัฒนธรรมเข้ามานั้น คนในสังคมไม่สามารถเลือกเฟ้นและจัดการให้เข้ากันจนเกิดดุลยภาพระหว่างสิ่งใหม่ๆ และของเก่าได้ ก็จะเกิดการขัดแย้ง [Conflict] ขึ้น โดยเฉพาะความขัดแย้งทางศีลธรรมที่ทำให้ศีลธรรมและจริยธรรมในสังคมเสื่อมสลาย [Demoralization] ซึ่งถ้าหากไม่มีการฟื้นฟูให้อยู่ในทำนองคลองธรรมแล้ว จะทำให้ภาวะความเป็นมนุษย์ในสังคมนั้นๆ เกิดความล่มสลายในความเป็นมนุษย์[Dehumanization] จนถึงการใช้ความรุนแรงฆ่าฟันกัน หรือแย่งชิงกันอย่างชั่วร้ายยิ่งกว่าเดรัจฉาน

 

ในกรณีการล่มสลายของเผ่าพันธุ์ [Detribalization] เท่าที่ข้าพเจ้ารับรู้มา แลไม่เห็นความเสื่อมทางศีลธรรมและจริยธรรมที่นำไปสู่การล่มสลายของความเป็นมนุษย์ จนถึงฆ่าฟันกันอย่างล้างเผ่าพันธุ์ แต่แลเห็นการเปลี่ยนแปลงทางสังคม เศรษฐกิจ จากการเคยอยู่รวมกันเป็นเผ่าพันธุ์ในท้องถิ่นที่ทำมาหากินแบบพึ่งพิงธรรมชาติตามฤดูกาลทั้งการล่าสัตว์ การเพาะปลูกที่ทำให้ต้องเปลี่ยนที่อยู่อาศัย และพื้นที่ทำกิน [Semi-nomadic] มาเป็นการตั้งถิ่นฐานอยู่ติดที่และทำการเพาะปลูกแบบทดน้ำในที่ราบลุ่มแทน โดยอยู่รวมกันกับคนในชาติพันธุ์อื่น ในรูปแบบของสังคมชาวนาที่ประกอบด้วยชุมชนบ้านและเมืองในพื้นที่ซึ่งเรียกว่า “ท้องถิ่น” [Locality] ทำให้ต้องเปลี่ยนระบบความสัมพันธ์ทางสังคมจากระบบเครือญาติ [Kinship]มาเป็นระบบพี่น้องร่วมบ้านร่วมท้องถิ่นเดียวกัน โดยอาศัยความสัมพันธ์ในเรื่องการกินดองหรือการแต่งงานระหว่างกันกับการเป็นเพื่อนบ้าน เช่น ที่มีการผูกเสี่ยวของคนอีสานหรือผูกเกลอของคนใต้ รวมทั้งการเข้าสู่ระบบอุปถัมภ์กับคนที่เป็นชนชั้นในเมืองที่เป็นผู้มีคุณธรรม

 

การล่มสลายของเผ่าพันธุ์ [Detribalization] ดังกล่าวนี้มีที่มาจากการเสื่อมทางศีลธรรมและจริยธรรม [Demoralization] มาก่อน ดังเห็นได้จากการเกี่ยวข้องกับภายนอก ทำให้ความสัมพันธ์ทางสังคมที่เคยพึ่งพิงกันในทางเศรษฐกิจเพื่อมีชีวิตรอดร่วมกัน ความสัมพันธ์เป็นอันหนึ่งอันเดียวกันในระบบความเชื่อทางศาสนาและจริยธรรม ค่านิยมโลกทัศน์ และศักดิ์ศรีของความเป็นเผ่าพันธุ์ที่อยู่รวมกันเป็นกลุ่มอย่างเสมอภาค มาเป็นความรู้สึกแปลกแยกเห็นแก่ตัวในลักษณะที่เป็นปัจเจก ที่รับเอาความเหลื่อมล้ำเข้ามาสร้างปมด้อยให้แก่ตนเอง

 

ดังเช่นคนหลายชาติพันธุ์ไม่ว่าคนชอง คนลัวะ ละว้า คนส่วยแลเห็นชาติพันธุ์ตนเองต่ำต้อยกว่าคนไทยจากภายนอก แล้วพยายามกลบเกลื่อนในความเป็นชาติพันธุ์ของตนไว้ รวมทั้งการแตกแยกไม่อยู่รวมกันเป็นกลุ่มเป็นชุมชนดังเดิม โยกย้ายถิ่นฐานไปอยู่ในที่อื่นๆ ไปเป็นแรงงานในเมือง ไปอยู่ในชุมชนท้องถิ่นของคนที่เป็นชาวนาชาวบ้าน เป็นต้น

 

แต่การล่มสลายทางศีลธรรมและการล่มสลายของเผ่าพันธุ์ดังกล่าวนี้ ก็หาได้ทำลายความเป็นมนุษย์ไม่ หากถูกเปลี่ยนแปลงไปสู่ความเป็นคนในสังคมชาวนา [Peasant Society] ในชุมชนท้องถิ่น [Localization] แทน

 

อย่างย่อๆ ก็คือ กลายเป็น “คนถิ่น” แทน “คนเผ่า” ไป

 

สังคมชาวนาเป็นสังคมของคนที่อยู่ในชุมชนถิ่นหรือท้องถิ่น [Local Communities] ที่ประกอบด้วยบ้านและเมือง มีมาช้านานแต่สมัยกว่าพันปีที่แล้วมา เริ่มเปลี่ยนแปลงแต่สมัยรัชกาลที่ ๕ อันเป็นเมืองไทยภายใต้อิทธิพลวัฒนธรรมตะวันตก [Westernization] ที่มีมาแต่สมัยรัชกาลที่ ๔

 

การปฏิรูปการบริหารราชการแผ่นดินและการปกครองสมัยรัชกาลที่ ๕   เพื่อให้เป็นรัฐรวมศูนย์แบบสมบูรณาญาสิทธิราชแบบทางประเทศมหาอำนาจทางตะวันตก   คือจุดเริ่มต้นของกระบวนการทำลายความเป็นอิสระของชุมชนท้องถิ่นและชีวิตวัฒนธรรม [Delocalization]

 

ดังเห็นได้จากการนำเอาพื้นที่ทางการบริหาร [Administrative Space] มาแทนที่พื้นที่วัฒนธรรม [Cultural Space] ในรูปแบบของหมู่บ้าน ตำบลและอำเภอมาแทนที่ความเป็นชุมชนบ้านและเมือง แต่เดิม การให้กรรมสิทธิ์ที่ดินแก่ประชาชนโดยทั่วไปและการส่งเสริมการปลูกข้าวเป็นพืชเศรษฐกิจเพื่อการส่งออกได้ทำให้ภูมิวัฒนธรรมของชุมชนบ้านเมืองที่มีวัดเป็นศูนย์กลาง ที่มีธรรมชาติป่าเขา ผสมกับพื้นที่ทำการเพาะปลูก อย่างได้สัดส่วนมาเป็นพื้นที่ทุ่งกว้างเพื่อการทำนา มีโรงสีและตลาดเป็นศูนย์กลางทางเศรษฐกิจสังคมที่มีคนชั้นกลาง ซึ่งได้แก่พวกพ่อค้าคนจีน เจ้าของนา เจ้าของโรงสี และตลาดเกิดขึ้น

 

การขยายกิจการทางสาธารณูปโภค เช่น ทางรถยนต์ ทางรถไฟ และการชลประทาน ตลอดจนการตั้งสถานที่ทำการของทางราชการ ทำให้ผู้คนแต่เดิมที่ตั้งถิ่นฐานชุมชนอยู่ตามริมน้ำลำคลองย้ายเข้ามาตั้งถิ่นฐานใหม่ตามสองฝั่งถนนและทางรถไฟ ทั้งหมดนี้ทำให้ชุมชนชาวนาแต่เดิมต้องปรับตัวมาอยู่ในพื้นที่ใหม่และสภาพแวดล้อมใหม่

ซึ่งกระนั้นก็ดี รากเหง้าของความเป็นสังคมชาวนาในมิติทางวัฒนธรรมก็ยังไม่หมดสิ้นไป เพราะพื้นฐานเดิมเป็นสังคมเกษตรกรรมเป็นแต่เปลี่ยนจากเกษตรกรรมแบบชาวนามาสู่เกษตรกรรมแบบกสิกร [Farmer] กสิกรเป็นผู้ประกอบการด้วยตนเอง มีที่ดินมีเครื่องมือเครื่องใช้ของตัวเอง ต่างจากชาวนาเดิมที่ต้องอยู่กันเป็นกลุ่ม ช่วยเหลือเกื้อกูล

กันในการดำรงอยู่และการทำมาหากินที่มีลักษณะเป็นปัจเจก ชุมชนเกษตรกรเห็นได้จากการตั้งบ้านเรือนอยู่ในลักษณะกระจายเป็นกลุ่มครอบครัว [Homestead] ติดกับที่ทำกินและที่ดินของตนเอง แต่ก็มีวัด โรงเรียน ป่าช้าและตลาดเป็นศูนย์กลางอย่างสังคมชาวนาและการรับรู้ชีวิตความเป็นอยู่ในสังคมท้องถิ่น [Local Communities] ร่วมกัน

 

โดยย่อสังคมท้องถิ่นยังคงดำรงอยู่แม้ว่าจะเปลี่ยนจากชาวนามาเป็นเกษตรกรหรือกสิกรแล้วก็ตาม

 

เขตเทือกเขาและที่สูงในจังหวัดน่านที่ปลูกพืชแบบเกษตรอุตสาหกรรม เช่น ข้าวโพด

 

การพัฒนาประเทศให้เป็นสังคมอุตสาหกรรม แต่สมัยรัฐบาลจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ เป็นต้นมา ทำให้สังคมท้องถิ่นเริ่มสลายอัน เนื่องมาจากการเคลื่อนย้ายของผู้คนจากที่ต่างๆ ทั้งภายในภายนอกเข้ามาอยู่และตั้งถิ่นฐาน ทำสถานที่ประกอบการธุรกิจ อุตสาหกรรมและการสร้างถนน สร้างเขื่อนพลังงานไฟฟ้าเกินขีดความสามารถของสังคมท้องถิ่น

 

แต่เดิมจะบูรณาการทางสังคมและวัฒนธรรมให้คนที่เคลื่อนย้ายเข้ามามีสำนึกร่วมในการเป็นคนในท้องถิ่นเดียวกันได้ นับแต่รัฐบาลคึกฤทธิ์ ปราโมช รัฐบาลชาติชาย ชุณหะวัณ ที่เอาเศรษฐกิจ การเมืองมาเป็นตัวนำในการพัฒนาประเทศให้เป็นสังคมอุตสาหกรรม เช่น ระบบเงินผันและการปั่นที่ดิน รวมทั้งการขยายตัวของเศรษฐกิจทุนนิยม ได้ทำให้สังคมท้องถิ่นเริ่มแตกสลาย [Delocalization] ดังเช่น การขยายตัวของบรรดาบ้านจัดสรร คอนโดมิเนียม นิคมอุตสาหกรรม เป็นต้น ทำให้คนอยู่ในพื้นที่ใหม่อย่างไม่มีหัวนอนปลายตีน ต่างคนต่างอยู่ไม่อาทรแก่กัน และการตั้งถิ่นฐานใหม่เมืองใหม่ที่ทำลายลำน้ำ ลำคลอง หนองบึง และพื้นที่ที่ศักดิ์สิทธิ์ได้ทำให้เกิดภาวะล่มสลายทางศีลธรรมและจริยธรรม ความเป็นมนุษย์ในฐานะสัตว์สังคมเริ่มเสื่อมและรับเอาค่านิยมและประเพณีทางโลกที่เป็นวัตถุนิยมบริโภคนิยมและความเป็นปัจเจกเยี่ยงเดรัจฉานเข้ามาแทนที่

 

นับแต่ยุครัฐบาลทักษิณ ชินวัตร เป็นต้นมา เศรษฐกิจโลกเปลี่ยนแปลงเข้าสู่ยุคโลกาภิวัตน์ที่มีพรมแดนเกิดทุนเหนือรัฐและเหนือตลาด เป็นโครงสร้างไม่มีหัวนอนปลายเท้าแบบทุนนิยมเสรีเข้าครอบงำเศรษฐกิจและการเมืองของประเทศทั้งในเมืองและชนบท

 

ภายใต้โครงสร้างของทุนข้ามชาติที่มีอำนาจเหนือรัฐและตลาด ได้ทำให้สังคมท้องถิ่นทั้งในเมืองและตามชนบทถูกบดขยี้ทั้งการถูกไล่ที่ หลอกลวงให้ขายที่อยู่อาศัยและทำกิน และการแย่งชิงทรัพยากรน้ำและเปลี่ยนแปลงสภาพแวดล้อมธรรมชาติที่ควรแก่การอยู่อาศัยของมนุษย์แทบทุกหนแห่ง

 

กิจกรรมการอุตสาหกรรมทั้งหนักและเบาและการเกษตร อุตสาหกรรมได้รุกล้ำเปลี่ยนที่ทางการเกษตรแต่เดิมให้หมดไป โดยคนที่เคยเป็นเกษตรกรที่อยู่ติดที่บ้านเกิดเมืองนอน ต้องโยกย้ายไปเป็นแรงงานข้ามถิ่นข้ามบ้านข้ามเมือง จนเกิดภาวะ “สังคมบ้านแตก” ขึ้นแก่บรรดาลูกหลานที่เป็นเยาวชน

 

ความคิดที่ชั่วร้ายของลัทธิทุนนิยมแบบไม่มีหัวนอนปลายเท้าที่ให้คำนิยามความเป็นมนุษย์ใหม่ว่า “ทรัพยากรมนุษย์” นั้น มีผลกระทบไปถึงการศึกษาอบรมตั้งแต่ระดับครอบครัว ชุมชนท้องถิ่น และบรรดาโรงเรียนและมหาวิทยาลัยทั่วทั้งประเทศ

 

การแพร่หลายทางเทคนิคของบรรดาเครื่องมือในการศึกษา   การสอน   และการสื่อสารแทบทุกชนิดขอคอมพิวเตอร์ที่น่าเอาแนวคิดปรัชญาและความรู้ทางวัตถุ ได้ทำลายระบบทางศีลธรรม จริยธรรมและความเป็นมนุษย์ให้แก่ผู้คนในสังคมทุกระดับชั้น รวมทั้งระบบและกระบวนการทางยุติธรรมการออกกฎหมายก็กลับกลายเป็นเหยื่อและเครื่องมือของบรรดาผู้มีอำนาจทางการเมืองและเศรษฐกิจในการสร้างความถูกต้องที่ปราศจากมโนธรรมให้แก่พวกตน

 

สังคมท้องถิ่นแทบทุกภูมิภาคกำลังถูกทำลายในกระบวนการสลายพื้นที่ทางสังคมและวัฒนธรรม [De-localization] โดยอำนาจรัฐและอำนาจทุนนิยมมีปรากฏการณ์ให้เห็นแทบทุกเมื่อชั่วยามในขณะนี้ ดังตัวอย่างไกลตัวในภาคเหนือในเขตจังหวัดแพร่และน่าน ที่รัฐยินยอมให้กลุ่มชาติพันธุ์ผสมนายทุนข้ามชาติ ทำการเพาะปลูก ทำไร่ข้าวโพดในพื้นที่ต้นน้ำยมและน้ำน่านที่อยู่บนภูเขาและที่สูง จนเกิดอาการเขาหัวโล้นไปทั่ว

 

การปลูกข้าวโพดอันเป็นเกษตรอุตสาหกรรมเชิงเดี่ยวได้ทำลายความหลากหลายของชีวภาพของนิเวศวัฒนธรรมบนเขาและที่สูงของกลุ่มชาติพันธุ์ที่อยู่ในพื้นถิ่นที่ทำการเพาะปลูกในระบบไร่หมุนเวียนที่เปลี่ยนแปลงสภาพแวดล้อมในพื้นที่ทำมาหากิน  ในลักษณะพอเพียง และไม่ทำลายความหลากหลายทางชีวภาพ   และเป็นการเกษตรที่ยั่งยืน   เพราะการหมุนเวียนไปตามที่ต่างๆที่กำหนดไว้ ทางราชการขาดความเข้าใจ ความหมายและระบบการทำไร่หมุนเวียนของกลุ่มชาติพันธุ์ที่อยู่ในท้องถิ่นมาแต่เดิมไม่ต่ำกว่า ๑๐๐ ปีขึ้นไป และสร้างวาทกรรมโดยนักวิชาการโง่ว่าเป็นการทำไร่เลื่อนลอยที่ทำให้พื้นที่ป่าเขาทั้งหมดเตียนโล่ง เลยอ้างกฎหมายและใช้อำนาจยึดครองที่ดินที่อยู่อาศัยให้มาเป็นของรัฐ ขับไล่ชุมชนท้องถิ่นให้ดำรงอยู่ไม่ได้

 

แต่ในขณะเดียวกันก็เปิดหนทางให้กับบรรดานายทุนข้ามชาติที่นำเอาผลิตผลข้าวโพดเข้าสู่อุตสาหกรรมแปรรูปและส่งออกในการสนับสนุนกลุ่มชาติพันธุ์อื่น   และคนจากพื้นราบเข้าทำไร่เลื่อนลอยด้วยการใช้เครื่องจักรเครื่องยนต์แทนการเพาะปลูกตามวิธีการธรรมชาติของคนในท้องถิ่นแต่เดิม ปัจจุบันการครอบงำของการทำไร่เลื่อนลอยของกลุ่มชนบนที่สูงนั้นก้าวไกลเกินสภาพความเป็นไร่เลื่อนลอยสู่ภาวการณ์เป็นไร่ถาวรในระบบเกษตรอุตสาหกรรมที่มีนายทุนข้ามชาติผู้มีอิทธิพลเหนือรัฐและตลาดอยู่เบื้องหลัง

 

ผลที่ตามมาของการทำไร่ข้าวโพดถาวรดังกล่าวนี้ ได้ทำให้เกิดความวิบัติอย่างใหญ่หลวงแก่ชีวิตของผู้คนทั้งอยู่ในที่สูงและที่ลุ่มต่ำในขณะนี้ คือ เมื่อฝนตกเกิดดินถล่ม [Land Slide] น้ำท่วมทำให้บ้านเรือนพังและที่ทำกินเสียหายไร้ที่อยู่เป็นประจำเกือบแทบทุกปีเท่านั้นยังไม่เพียงพอ เพราะในฤดูแล้งกลุ่มคนที่ปลูกข้าวโพดบนเขาและที่สูงเผาซังข้าวโพดเพื่อปรับที่ดินเพาะปลูกใหม่ ทำให้เกิดควันไฟและเขม่าไฟปกคลุมไปทั้งภูมิภาค เกิดมลภาวะทางอากาศที่เป็นภัยต่อระบบการหายใจของมนุษย์

 

ความชั่วร้ายและบาปของนายทุนก็ยังคงดำรงอยู่ ในพื้นที่เขตเมือง เช่น กรุงเทพมหานคร ทั้งนายทุนและรัฐเริ่มสุมหัวกันทำลายชุมชนท้องถิ่นที่มีรากเหง้ามาแต่สมัยการสร้างกรุงเทพฯ ครั้งรัชกาลที่ ๑ และรัชกาลที่ ๓ โดยการอ้างการปรับปรุงผังเมืองและสร้างสถานที่ทางราชการและพื้นที่อยู่อาศัยและการพาณิชย์ใหม่ ให้ดูสวยงามเป็นเมืองประวัติศาสตร์เพื่อการท่องเที่ยวผลที่ตามมาคือ ชุมชนมนุษย์ที่ยังฝังตัวอยู่ในบริเวณเมืองกรุงเทพมหานคร กำลังถูกคุกคาม รื้อถอน และขับไล่โดยไม่มีความชอบธรรมในแทบทุกย่านที่อยู่อาศัยและทำกิน

 

การดำเนินการชั่วร้ายของการสลายท้องถิ่นทางสังคมและวัฒนธรรมที่กำลังจะเป็นการทุบตีทำร้ายผู้คนดั้งเดิมของเมืองกรุงเทพฯ ในขณะนี้ กำลังอยู่ที่ “ชุมชนชานกำแพงเมืองหลังป้อมมหากาฬ” เพราะกรุงเทพมหานครต้องการไล่ชุมชนมนุษย์ออกไป เพื่อเอาพื้นที่ไปทำสวนสาธารณะเพื่อคนรุ่นใหม่และนักท่องเที่ยวที่ไม่มีหัวนอนปลายเท้าแทนที่ชุมชนซึ่งเคยอยู่อาศัยในกรุงเทพมหานครมาแต่เดิม

Source : คอลัมน์ “เปิดประเด็น” จดหมายข่าวมูลนิธิเล็ก-ประไพ วิริยะพันธุ์ ฉบับที่ 109 (ม.ค.-มี.ค.2559)
http://lek-prapai.org/home/view.php?id=5155