โควิด-19 : ทำไมเราจึง ด้านชา ต่อตัวเลขคนตายจากการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ ภัยธรรมชาติ หรือโรคระบาด

โควิด-19 : ทำไมเราจึง "ด้านชา" ต่อตัวเลขคนตายจากการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ ภัยธรรมชาติ หรือโรคระบาด

Author : BBC Thai

“หากฉันมองไปที่คนหมู่มาก ฉันจะไม่มีวันทำอะไรเลย หากฉันมองไปที่คนคนเดียว ฉันจะลงมือทำ”

คำพูดของแม่ชีเทเรซาข้างต้นสะท้อนการตอบสนองของมนุษย์เราได้ดีเวลาเห็นคนอื่นกำลังตกทุกข์ได้ยาก

คนส่วนใหญ่เห็นการตายของคนหนึ่งคนเป็นโศกนาฏกรรม แต่บ่อยครั้ง พอตัวเลขผู้เสียชีวิตเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ มันกลับกลายเป็นแค่เลขสถิติ อย่างที่เราเคยเห็นมาแล้วเวลาเกิดเหตุภัยพิบัติ ภาวะอดอยาก และล่าสุด วิกฤตโควิด-19

การระบาดของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ทำให้มีผู้เสียชีวิตทั่วโลกกว่า 5 แสนราย และมีผู้ติดเชื้อมากกว่า 11 ล้านคนแล้ว เมื่อเดือน มิ.ย. มีผู้เสียชีวิตในสหรัฐฯ กว่า 100,000 ราย นับว่ามีชาวอเมริกันเสียชีวิตมากกว่าตอนสงครามเวียดนามถึง 2 เท่าด้วยกัน

การเสียชีวิตแต่ละกรณีเป็นโศกนาฏกรรมครั้งใหญ่ของแต่ละครอบครัว แต่ยากที่เราจะมีความรู้สึกร่วมได้หากเราถอยออกมามองจำนวนผู้เสียชีวิตโดยรวมเป็นภาพใหญ่

An African child standing among adults and looking into the camera
Getty Images
“ความด้านชาทางจิตใจ” หรือ “psychic numbing” คือยิ่งคนเสียชีวิตมากขึ้น เราก็จะยิ่งให้ความสนใจน้อยลง

 

ผู้เชี่ยวชาญเรียกปรากฏการณ์นี้ว่า “ความด้านชาทางจิตใจ” หรือ “psychic numbing” คือยิ่งคนเสียชีวิตมากขึ้น เราก็จะยิ่งให้ความสนใจน้อยลง

ตอนนี้ มีหลักฐานให้เห็นแล้วว่าคนเริ่มเบื่อหน่ายที่จะเสพข่าวเกี่ยวกับไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่

พอล สโลวิค นักจิตวิทยาจากมหาวิทยาลัยออริกอนในสหรัฐฯ ผู้ศึกษาเรื่อง “ความด้านชาทางจิตใจ” มาหลายทศวรรษ บอกว่า ความรู้สึกที่เกิดขึ้นรวดเร็วและมาจากสัญชาตญาณมนุษย์มีความวิเศษในหลายด้าน แต่ก็มีจุดบกพร่อง

“จุดบกพร่องหนึ่งคือ มันไม่สามารถจัดการกับตัวเลขจำนวนมาก ๆ ได้ดีนัก”

Man looking at pictures of some of the victims of the 1994 Rwandan genocide
Getty Images
ในปี 1994 ภายในช่วงเวลาแค่ 100 วัน กลุ่มหัวรุนแรงเชื้อสายฮูตูได้สังหารผู้คนไปราว 8 แสนคน มุ่งเป้าไปที่ชาวทุตซี ซึ่งเป็นชนกลุ่มน้อยในรวันดา

 

“หากเราพูดถึงชีวิต ชีวิตหนึ่งชีวิตสำคัญมากและมีค่า เราจะทำทุกอย่างเพื่อรักษาชีวิตนั้น แต่เมื่อตัวเลขสูงขึ้น ความรู้สึกเราไม่ได้เพิ่มขึ้นเท่า ๆ กัน”

งานวิจัยของสโลวิคชี้ว่า เมื่อตัวเลขการสูญเสียจากโศกนาฏกรรมสูงขึ้น มนุษย์เราจะมีการตอบสนองทางอารมณ์น้อยลง

เฉยชาต่อการระบาดใหญ่

นี่เป็นผลทำให้เรามีแนวโน้มที่จะเคลื่อนไหวน้อยลง ในการเรียกร้องให้หยุดการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ ให้ส่งความช่วยเหลือไปยังพื้นที่ประสบภัยธรรมชาติ หรือให้ผ่านกฎหมายเพื่อรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

หรือในกรณีของโควิด-19 คนก็อาจจะเลิกใส่ใจเรื่องการรักษาความสะอาด ล้างมือและใส่หน้ากากอนามัยกันน้อยลง

Three people hug at a cemetery
Getty Images
งานวิจัยของสโลวิคชี้ว่า เมื่อตัวเลขการสูญเสียจากโศกนาฏกรรมสูงขึ้น มนุษย์เราจะมีการตอบสนองทางอารมณ์น้อยลง

 

“หากมองเรื่องนี้จากมุมมองด้านวิวัฒนาการ คนเรามุ่งความสนใจไปยังสิ่งที่คุกคามจะฆ่าเราตรงหน้า” เมลิซา ฟินูเคน กล่าว เธอเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านพฤติกรรมและสังคมมนุษย์จากองค์กรวิจัยแรนด์คอร์ปอเรชัน และเธอก็ศึกษาด้านการตัดสินใจและการประเมินความเสี่ยงด้วย

เธอบอกว่าคนทั่วไปที่ไม่ได้เป็นนักวิเคราะห์ด้านสถิติหรือนักระบาดวิทยาไม่มี “เครื่องมือ” ที่จะตัดสินเรื่องที่ใหญ่และซับซ้อนอย่างการระบาดใหญ่ได้

ในงานวิจัยจากปี 2014 สโลวิค และเพื่อนร่วมวิจัย ให้ผู้เข้าร่วมการทดลองมองดูภาพเด็กยากจนหนึ่งคน เทียบกับภาพเด็กยากจนสองคน

แทนที่จะรู้สึกสงสารเพิ่มเป็นสองเท่า ผู้เข้าร่วมการทดลองกลับบริจาคเงินให้น้อยกว่าเมื่อเห็นภาพเด็กยากจนสองคน

สโลวิคบอกว่า นี่เป็นเพราะมนุษย์รู้สึกเห็นอกเห็นใจคนคนเดียวได้ง่ายที่สุด

“คุณสามารถคิดว่าคนคนนั้นเป็นใคร คิดว่าเขาเป็นเหมือนลูก พอเพิ่มมาเป็นสองคน ความสนใจและความรู้สึกคุณกลับเริ่มลดน้อยลง… ความรู้สึกเป็นตัวขับเคลื่อนพฤติกรรมของคนเรา”

การทดลองของสโลวิคยังค้นพบอีกด้วยว่าความรู้สึกดีที่ได้บริจาคเงินให้เด็กยากจนคนหนึ่ง ถูกบั่นทอนลงเมื่อเราบอกกับผู้เข้าร่วมการทดลองว่ายังมีเด็กคนอื่น ๆ ที่พวกเขาไม่สามารถช่วยได้

หลังจากให้ผู้เข้าร่วมการทดลองดูรูปเด็กยากจนหนึ่งคน นักวิจัยให้ผู้เข้าร่วมการทดลองครึ่งหนึ่งดูข้อมูลสถิติด้วยว่ามีเด็กคนอื่น ๆ ในภูมิภาคเดียวกันที่กำลังหิวโหยอีกมากแค่ไหน

อย่างไรก็ดี คนกลุ่มนี้กลับให้เงินบริจาคน้อยลงแม้ว่าจะเห็นปัญหาเป็นภาพใหญ่กว่า

เหตุผลหนึ่งคือมนุษย์มีความเห็นแก่ตัว

“เราบริจาคเพราะเราอยากจะช่วย และก็เพราะเราอยากจะรู้สึกดีกับตัวเองด้วย” สโลวิคกล่าว

“มันรู้สึกไม่ดีเท่าเมื่อคุณตระหนักว่าคนที่ให้การช่วยเหลือเป็นแค่หนึ่งในล้าน คุณรู้สึกไม่ดีที่ไม่สามารถช่วยทุกคนได้ และก็รู้สึกแย่”

ในการทดลองอีกชิ้นหนึ่ง สโลวิคและเพื่อนนักวิจัยให้กลุ่มอาสาสมัครจินตนาการว่าพวกเขาเป็นผู้ดูแลค่ายผู้ลี้ภัย และให้ตัดสินใจว่าจะช่วยให้ผู้ลี้ภัย 4,500 คนเข้าถึงน้ำสะอาดได้หรือไม่

นักวิจัยบอกผู้เข้าร่วมการทดลองครึ่งหนึ่งว่าค่ายผู้ลี้ภัยมีคนทั้งหมด 250,000 คน และบอกอีกครึ่งหนึ่งว่ามีผู้ลี้ภัยอยู่ 11,000 คน

“[ผลคือ]คนอยากจะช่วยเหลือคน 4,500 คนจากค่ายที่มีคน 11,000 คน มากกว่าในค่ายที่มีคนทั้งหมด 250,000 คน เพราะว่าพวกเขาตอบสนองกับสัดส่วนมากกว่าตัวเลขจริง ๆ”

ทำอย่างไรให้ไม่รู้สึกเฉยชา

A protest against the death of George Floyd in the US
Getty Images
การเสียชีวิตของนายจอร์จ ฟลอยด์ ชายอเมริกันเชื้อสายแอฟริกัน ที่ทำให้เกิดกระแสประท้วงไปทั่วโลก

 

ตัวเลขกลม ๆ อย่างเช่น 100 1,000 หรือ 100,000 มักจะทำให้คนทั่วไปฉุกคิดขึ้นได้

เช่นเดียวกับที่นักข่าวพยายามบอกเล่าเรื่องโศกนาฏกรรมครั้งใหญ่ ๆ ผ่านตัวละครเพียงคนเดียว และหนังสือพิมพ์มักเลือกเล่าข้อมูลที่ดูเหมือนไม่สำคัญของเหยื่อ ไม่ว่าจะเป็นอายุ อาชีพ หรือว่าคน ๆ นั้นมีลูกหรือไม่ เพื่อให้เรื่องราวเหล่านั้น “มีความเป็นมนุษย์” มากขึ้น

เราจะเห็นว่าโศกนาฏกรรมของคนหนึ่งคนทรงพลังแค่ไหนจากกรณีการเสียชีวิตของนายจอร์จ ฟลอยด์ ชายอเมริกันเชื้อสายแอฟริกัน ที่ทำให้เกิดกระแสประท้วงไปทั่วโลก

ในทางเดียวกัน ในปี 2015 ภาพของอลัน เคอร์ดี เด็กผู้ลี้ภัยชาวซีเรียวัย 3 ขวบ ที่จมน้ำตายในทะเลเมดิเตอร์เรเนียน ขณะครอบครัวเขาพยายามอพยพหนีสงครามในซีเรียไปยังยุโรป ก็ทำให้เกิดกระแสไปทั่วโลก

แต่สงครามซีเรีย เริ่มขึ้นตั้งแต่ปี 2011 และถึงปี 2015 มีคนเสียชีวิตไปแล้วถึง 250,000 ราย

Drawing of Aylan Kurdi painted on a wall in Germany
Getty Images
สภากาชาดสวีเดน (Swedish Red Cross) ได้รับเงินบริจาคเพิ่มขึ้น 100 เท่าหลัง เคอร์ดี เด็กผู้ลี้ภัยชาวซีเรียวัย 3 ขวบ เสียชีวิต

 

สโลวิคบอกว่านั่นเป็นแค่ตัวเลขสถิติสำหรับคนส่วนใหญ่จนกระทั่งคนทั่วโลกได้เห็นรูปของอลัน เคอร์ดี

สโลวิคบอกว่า สภากาชาดสวีเดน (Swedish Red Cross) ได้รับเงินบริจาคเพิ่มขึ้น 100 เท่าหลังจากรูปดังกล่าวถูกเผยแพร่ และเมื่อผ่านไป 6 สัปดาห์ ยอดบริจาคจึงได้ลดลงมาอยู่ในระดับปกติ

นี่ทำให้เกิดคำถามว่า เราจะสามารถคงความสนใจต่อโศกนาฏกรรมต่าง ๆ ได้อย่างไร หากไม่มีรูปหรือเรื่องราวที่ทำให้คนสะเทือนใจเหมือนการตายของจอร์จ ฟลอยด์ หรือเด็กผู้ลี้ภัยชาวซีเรีย

เรายอมรับได้หรือหากยอดผู้เสียชีวิตจากโควิด-19 เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ จนเราเฉยชา และกลายเป็นเลิกระมัดระวังตัวเอง

การสื่อสาร

ฟินูเคน จากองค์กรวิจัยแรนด์คอร์ปอเรชัน บอกว่ารัฐบาลและหน่วยงานสาธารณสุขต้องฉลาดเรื่องการสื่อสาร เพราะการรายงานจำนวนผู้ติดเชื้อว่าเพิ่มจาก 2 ล้าน เป็น 2.1 ล้าน คงไม่สามารถกระตุ้นให้คนเลี่ยงพื้นที่แออัดหรือใส่หน้ากากได้

เธอบอกว่าทางการควรสื่อสารถึงคนในระดับรายบุคคลมากกว่าเดิม และพยายามกระตุ้นอารมณ์คน นอกจากนี้การเลือกเวลาสื่อสารอย่างเหมาะสมก็สำคัญเช่นกัน

ด้านสโลวิค ยกคำพูดดังของอาเบล เฮอร์ซเบิร์ก ชาวยิวผู้รอดชีวิตจากการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ที่พูดว่า “ไม่ใช่มีคนยิว 6 ล้านคนถูกฆ่า [แต่]มีเหตุการณ์การฆาตกรรมเกิดขึ้น 6 ล้านครั้ง”

“คุณต้องใช้วิธีครุ่นคิดช้า ๆ เพื่อให้เห็นบุคคลต่าง ๆ ที่อยู่ภายใต้ตัวเลขสถิติ” สโลวิคกล่าว และบอกว่าแม้ว่านั่นอาจทำให้เรารู้สึกไม่สบายใจ แต่ก็ไม่ควรปิดตาไม่ใส่ใจต่อสิ่งที่เกิดขึ้น