“ภาวนากับประชา” น้อมส่งครูผู้ปลูกเมล็ดพันธุ์แห่งโพธิในชีวิตผู้คน

“ภาวนากับประชา” น้อมส่งครูผู้ปลูกเมล็ดพันธุ์แห่งโพธิในชีวิตผู้คน

บทสัมภาษณ์โดย THANYA วัชรสิทธา


ในวันที่ครูคนหนึ่งจากไป เราจึงได้ตระหนักว่า เมล็ดพันธุ์ที่เขาถูกปลูกทิ้งไว้กระจายไปงอกงามมากมายและกว้างไกลแค่ไหน

หากคุณทำงานในแวดวงศาสนา จิตวิญญาณ การศึกษาทางเลือก พุทธศาสนาเพื่อการเปลี่ยนแปลงสังคม กระบวนกร กระบวนทัศน์ใหม่  ถึงแม้คุณจะไม่เคยเจอเขาตัวเป็นๆ แต่อย่างน้อยที่สุดคุณจะต้องเคยได้ยินชื่อ “ประชา หุตานุวัตร” และมีความเชื่อมโยงกับเขาไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง 

วันนี้ที่อาจารย์ประชาจากไปมีความสำคัญไม่แพ้วันที่เขายังมีชีวิตอยู่ มันเป็นดั่งหมุดหมายต่อชีวิตของผู้คนที่เกี่ยวข้อง ช่วงเวลาแห่งการอาลัยและรำลึกถึงประสบการณ์ที่ผ่านมา แรงบันดาลใจที่มีร่วมกัน และการสานต่องานที่ยังไม่สิ้นสุด

จุดสิ้นสุดการเดินทางของอ.ประชา เป็นจุดเปลี่ยนแปลงที่มีนัยยะสำคัญ
คุยกับ พระอั๋น เอกวีร์ มหาญาโณ

“ยุคสมัยของเราเป็นยุคสมัยที่คนที่มองหาสิ่งใหม่มีความสัมพันธ์เชื่อมโยงกันบางอย่าง มีคนบางคนที่มีน้ำหนักต่อคนจำนวนมาก เวลาที่เกิดจุดเปลี่ยนขนาดใหญ่ในชีวิตของเขา ก็จะส่งผลสะเทือนต่อผู้คนเป็นวงกว้าง”

“การที่ อ.ประชา จากไปในช่วงเวลานี้มีนัยสำคัญ เช่น กลุ่มเพื่อนประชา เพิ่งจัดงานรำลึก มีการรวมรวม ทบทวนทุกอย่างที่คนคนหนึ่งได้บุกเบิกวงการจิตวิญญาณในสังคมไทย งานนี้จัดในบ่ายวันที่ 12 พฤษภาคม วันสุดท้ายก่อนที่อ.ประชาจะจากไป เหมือนเรื่องบังเอิญที่ อ.ประชาก็ป่วยมานาน แต่ ณ วันที่เพื่อนๆ ตัดสินใจจัดงานรำลึกผลงานและส่งกำลังใจให้ ซึ่งในวันนั้น อ.ประชา ก็ได้ฟังด้วย เป็นจังหวะเวลาที่จู่ๆ ก็แข็งแรงขึ้นมาฟังได้ รับรู้ได้ เมื่อจบการย้อนระลึกคุณความดีที่ได้ทำมาตลอดทั้งชีวิต อ.ประชาก็จากไปอย่างสงบ”

“เป็นวันเดียวกับที่มีอีกกลุ่มตั้งใจทำเรื่องการมองความตายอย่างไม่ปฏิเสธ กลุ่ม peaceful death เขาทำเรื่องชุมชนกรุณา ก็เป็นวันเดียวกับที่อ.ประชาจากไป เหมือนเป็น blessing ให้งานดำเนินต่อไปข้ามภพภูมิ เหมือนอาจจะมีรุ่นพี่เราไปรอช่วยอยู่อีกฝั่งหนึ่งก็ได้นะ”

“การเปลี่ยนผ่านพลังงานก้อนใหญ่ของสังคมในทางการเมืองก็เป็นช่วงเดียวกัน อ.ประชาเสียชีวิตหนึ่งวันก่อนการเลือกตั้ง”


เมล็ดพันธุ์ที่พร้อมจะงอกงาม สู่การเดินทางต่อไปข้างหน้า

มีนิมิตหมายของการเปลี่ยนแปลงบางอย่างที่เรารู้สึกว่ามันสัมพันธ์กัน วันแรกที่เรามานั่งอยู่ในงาน มีคำพูดคำนึงผุดขึ้นมาในใจ นั่นคือคำว่า “รับไม้ต่อ” ซึ่งไม่ใช่คนคนเดียวที่จะรับไม้ต่อได้ เหมือนมีคนที่กรุยทางมา ได้เปิดทางมา และถึงช่วงเวลาที่เราจะรับไม้ต่อ”

“ในความรู้สึกของเรา ราวกับว่าบทตอนของยุคสมัยนึงกำลังเริ่มปิดตัวไป อาจไม่ทั้งหมด แต่บทต่อไปแห่งการงอกเงยของยุคสมัยถัดไปกำลังก่อตัวขึ้น เรารู้สึกว่ามันเป็นนิมิตหมายที่ร้อยเรียงไปในทุกๆ มิติ ทั้งสังคม การเมือง ทั้งเทคโนโลยี ทั้งชุมชน ทั้งกลุ่มคนที่สนใจเรื่องจิตวิญญาณ”

“คุณค่าของชีวิตกำลังจะถูกนิยามขึ้นใหม่ มันเกิดขึ้นไปแล้วล่ะ แต่ยังไม่ถูกนิยามใหม่อย่างชัดเจนว่าคุณค่าของชีวิตจริงๆ คืออะไร เรารู้สึกว่ายุคนี้ คนที่สนใจมิติทางจิตใจได้เดินบนเส้นทางมาพอสมควร และก็พร้อมที่จะเปลี่ยนจากผู้ลองเดินมาเป็นผู้รู้ทาง แม้จะยังไม่เป็นผู้สุดทาง แต่เหมือนเราเริ่มมีรุ่นพี่ที่รู้ทางมาประมาณนึงกรุยทางไว้ให้บ้างแล้ว เราจะมาค้นหาคุณค่าการดำรงอยู่ร่วมกันของพวกเราในยุคนี้ จากการแบ่งปันกัน มันจะไม่ได้เป็นคุณค่าเดียว หรือคนเดียว ไม่ว่าใครจะมีคุณค่าแบบไหน เรามาหาวิธีในการอยู่ร่วมกัน เป็นยุคแห่งการหลอมรวมเข้าด้วยกัน เป็นการสานต่อเส้นทางจากผู้ที่เดินมาก่อน”

ครูจะยังดำรงอยู่และให้พร

“การจากไปของอ.ประชาคล้ายๆ กับเหตุการณ์ครอบครัวใหญ่ที่พ่อเสีย แล้วลูกหลานก็กลับมานั่งคุยกันว่าพ่อทิ้งมรดกอะไรไว้ให้บ้าง เราไม่ได้บอกว่าพี่ประชาเป็นพ่อของแผ่นดินอะไรอย่างนั้นนะ แต่ในความหมายว่าครูที่เราเคารพนับถือ เขาทิ้งอะไรไว้ให้พวกเราบ้าง ผู้คนที่เคยเรียนรู้กับอ.ประชา ได้มาใคร่ครวญ ทบทวน และแบ่งปันกันว่า บทเรียนชีวิตที่เราได้รับจากชีวิตคนคนนี้มีอะไรบ้าง เขาทิ้งอะไรไว้ให้พวกเราได้สานต่อบ้าง อะไรที่เวิร์ค อะไรที่ไม่เวิร์ค เห็นพี่ประชาดื้อทำแล้วไม่สำเร็จก็ไม่ต้องเอามา ให้มันเป็นบทเรียน เป็นโอกาสที่เหล่าลูกศิษย์หรือเพื่อนทางจิตวิญญาณจะได้มาแลกเปลี่ยนกัน แล้วก็เติบโตจากการตายของเขา”

“เราว่าพี่ประชาไม่ได้หายไปไหน อยู่ในทุกอณูการเติบโตทางจิตวิญญาณของทุกคน และคงไปทำหน้าที่ปกปักรักษาอยู่ข้างบน และเป็นกำลังใจให้พวกเราเดินทางกันต่อ”

ในงานศพของอ.ประชา โอกาสที่ผู้คนจะได้มาส่งครูเป็นครั้งสุดท้าย วันที่สามของงานศพที่วัดทองนพคุณ คลองสาน มีการจัดงาน “ภาวนากับประชา” ที่ชวนทุกคนมาร่วมภาวนา นำโดย อัญชลี คุรุธัช และ ณฐ ด่านนนทธรรม และสวดมนตร์บทสุขาวดี นำโดยอ.กฤษดาวรรณ อ.เยินเต้น และสมาชิกสังฆะพันดารา ที่ให้ทุกคนได้เป็นส่วนหนึ่งของการส่งครูด้วยความรัก


“แล้วเรามาภาวนากันอีก”
สนทนากับ วิจักขณ์ พานิช

“ก่อนที่พี่ประชาจะเสีย เรามีโอกาสได้ไปเยี่ยมและนำภาวนาให้พี่ประชาสองสามครั้ง วันสุดท้ายก่อนที่พี่ประชาจะไป เราได้ไปนำภาวนาให้แกอีกรอบ วันนั้นแกดูดีมาก หน้าตาสดใส แก้มเป็นสีชมพูเลย เป็นวันเดียวกับที่มีการจัดงานให้พี่ประชาที่สวนโมกข์กรุงเทพฯ มีการส่งความรักความปรารถนาดีถึงแก ก่อนจะจากกันวันนั้นเราบอกพี่ประชาว่า “เดี๋ยวผมจะมาภาวนากับพี่อีก” เลยรู้สึกว่าการได้จัด “ภาวนากับประชา” วันนี้ เหมือนได้มาทำตามสัญญา ได้มาภาวนากับแกอีกครั้งนึง”


การภาวนา หนทางในการสื่อสารกับผู้ตายด้วยจิตอาลัย

“เมื่อผู้ที่ล่วงลับจากร่างนี้ไป จะเกิดกระบวนการที่ดวงจิตคลี่คลายตัวเองไปสู่ธรรมชาติเดิม และไปสู่การเกิดใหม่ ซึ่งในธิเบตเขาเรียกว่าช่วง “บาร์โด” หรือช่วงเปลี่ยนผ่าน เป็นช่วงที่จิตจะเปิดกว้างและอ่อนไหวต่อการรับรู้ที่สุด ช่วงนี้แหละเป็นโอกาสของการอาลัย คำว่า “อาลัย” ในพุทธศาสนา เป็นวิญญาณหรือจิตรับรู้ที่อยู่ลึกที่สุด เดิมอยู่ในร่างกายในระดับจิตใต้สำนึก แต่เมื่อร่างกายไม่มีแล้ว อาลัยวิญญาณก็จะทำงานพ้นไปจากร่างกาย ช่วงเวลาเปลี่ยนผ่านนี้เป็นช่วงสำคัญที่ดวงจิตเองจะได้ทบทวนประสบการณ์ที่ผ่านมา และญาติมิตรที่สัมพันธ์กับผู้ตายก็มีโอกาส “อาลัย” ด้วยเช่นกัน เราสามารถเชื่อมโยงกับดวงจิต ส่งกำลังหนุนนำจิตให้เดินทางต่อไปยังภพภูมิที่ดีด้วย gratitude ด้วยความรัก และด้วยการให้อภัยต่อเขา ช่วงเวลาแห่งการอาลัยคือ โอกาสในการระลึกถึงคุณงามความดี การขออโหสิกรรม การภาวนา และอุทิศบุญกุศลให้ผู้ตาย ซึ่งช่วงนี้ จิตอาลัยจะสามารถเปิดรับรู้กันได้อย่างเต็มที่ทั้งสองทาง”

“ฉะนั้นในงานศพ หากมีช่วงเวลาให้ได้อยู่กับความนิ่งสงบ ได้ภาวนา หรือระลึกนึกถึงผู้ตายด้วยจิตที่เป็นกุศล จิตที่ภาวนา จะมีพลังมาก ส่งผลดีต่อทั้งผู้ตายและต่อตัวเราเองด้วย แทนที่เราจะไปงานศพไปนั่งคุยกัน พูดอะไรกันก็ไม่รู้ หรือนั่งฟังพระเทศน์เบลอๆ การที่เราหยุดนิ่งและอยู่กับผู้ตาย อยู่กับพื้นที่ของงานราวกับผู้ตายอยู่ตรงนั้น เราว่าแบบนี้จะเป็นการสื่อสารที่ดีที่สุดและได้ประโยชน์สูงสุดจากการมางานศพ”


ประชา หุตานุวัตร ชีวิตอันเป็นภาพใหญ่ที่เบิกทางให้ยุคสมัยต่อไป

“โอเค พี่ประชาก็มีสองด้าน ด้านที่เป็นผู้ชายมุทะลุ เลือดร้อน เป็นมาร์กซิส เป็นคนที่อาจจะเรียกได้ว่าดื้อมากๆ หลายคนอาจจะไม่ชอบด้านนี้ของเขา บางคนอาจเคยมีปัญหากับนิสัย วิธีคิด พฤติกรรมอะไรบางอย่างของพี่ประชา ซึ่งการกระทบกระทั่งในระดับตัวตนมันก็เกิดขึ้นได้กับทุกคน แต่เราคิดว่า ประชา หุตานุวัตร ในส่วนลึกที่สุด ในระดับที่เป็นเจตจำนง แรงบันดาลใจ หรือสิ่งที่เป็นสมาธิในดวงจิตของเขา คือแสงสว่างและความดีงามแน่นอน ไม่ว่าพี่ประชาในฐานะศิษย์ใกล้ชิดของอาจารย์พุทธทาส เคยบวชอยู่หลายปี ทำบทสัมภาษณ์ชิ้นเลิศที่ชื่อว่า “เล่าไว้เมื่อวัยสนธยา” งานแปล งานกระบวนกร งานภาวนาเพื่อสังคม การนำครูบาอาจารย์ที่น่าสนใจในสายปฏิบัติต่างๆ เข้ามาในประเทศไทย การเชื่อมโยงกับกลุ่มต่างๆ ที่ทำงานเพื่อความเป็นธรรม การรับใช้อาจารย์สุลักษณ์ การตั้งสถาบันการเรียนรู้ หลักสูตรต่างๆ เพื่อฝึกฝนผู้คน ฯลฯ ถ้าเรามองชีวิตของ ประชา หุตานุวัตร ในภาพใหญ่ทั้งหมด เราจะเห็นสิ่งที่งดงามและทรงพลังมากๆ เป็นสิ่งที่พิเศษมากๆ ที่คนคนหนึ่งจะมีความมุ่งมั่นในการทำสิ่งที่ดีแก่ผู้คนและโลกใบนี้ได้ขนาดนี้”

“พี่ประชาเป็นบุคคลที่มีคุณูปการมากต่อพุทธศาสนาแบบฆราวาส การนำเสนอกระบวนทัศน์ใหม่ หรือการเคลื่อนไหวทางจิตวิญญาณที่มีผลต่อการสร้างความตื่นรู้ทางสังคม พี่ประชาทิ้งอะไรไว้เยอะมาก และมันส่งผลต่อคนรุ่นเราและรุ่นใหม่ๆ ที่ตามมา ต่อเนื่องมาจนถึงทุกวันนี้”

“อยากให้ตระหนักว่า เวลาคนเรามีปณิธานในการทำอะไรเพื่อผู้อื่น มันเป็นภาพที่ใหญ่มาก ให้มองภาพใหญ่ๆ เข้าไว้ ไม่ได้จบในชีวิตเดียวด้วย มันอาจจะเหมือนตำน้ำพริกละลายแม่น้ำ เด็ดดอกไม้สะเทือนถึงดวงดาว แต่มันสะเทือนจริงๆ นะ มันสร้างแรงกระเพื่อมจริงๆ จากอาจารย์พุทธทาส จากอาจารย์สุลักษณ์ ถึงพี่ประชา ถึงคนรุ่นเรา ถึงคนรุ่นถัดไป มองภาพใหญ่นี้ไว้ มันเป็นข้อเตือนใจว่าทุกสิ่งเอื้ออิงอาศัยกัน ชีวิตของคนคนหนึ่งสามารถทำอะไรที่เป็นแรงกระเพื่อม สร้างความเปลี่ยนแปลง ออกดอกออกผลได้มากมาย และบ่อยครั้งอาจต้องตายก่อนถึงจะได้เห็น ดังนั้นอย่าทดท้อ ทำเต็มที่ที่สุดที่จะทำได้” 

“มันยังทำให้เห็นว่าการเกิดมาเป็นมนุษย์ชีวิตนึงนั้นมีค่ามากๆ แต่ละวินาทีที่มีชีวิตอยู่ก็ใช้มันให้เต็มที่ พี่ประชาเป็นคนที่เห็นคุณค่าของการภาวนา เป็นภาวนาที่ไม่แยกขาดจากการทำงานเพื่อสังคม ภาวนาเพื่อเป็นพลังในการยังประโยชน์ให้แก่เพื่อนมนุษย์และสรรพสัตว์ เราไม่รู้หรอกว่าอริยบุคคลหน้าตาเป็นยังไง แต่พี่ประชาเป็นคนนึงที่สร้างแรงบันดาลใจให้เรา เป็นตัวอย่างของคนที่เดินบนเส้นทางนี้ที่มีคุณค่า มีความงาม และเป็นผู้ประเสริฐ”


ขอขอบคุณภาพถ่ายโดย CHIRO