การฆ่าตัวตาย พูดได้

การฆ่าตัวตาย พูดได้

เมื่อมีการพูดถึง “การฆ่าตัวตาย” ในบทสนทนา ผมเชื่อหว่าหลายคนก็อาจจะเคยรู้สึกว่าหัวข้อนี้ เป็นเรื่องที่อ่อนไหว และน่าอึดอัด

“เคยมีความคิดอยากจะแบบ… แบบว่า จบมั้ย พอแล้ว ไรงี้ ว่าไงดี…”
“แล้วเคยแบบว่าไงดี ไม่ค่อยอยากจะพูดเลย แบบไม่อยู่มั้ยอ่ะ?”
“ถ้าเราพูดออกไป จะกลายเป็นชี้นำเขามั้ยนะ?”
“อยากช่วยเหมือนกัน แต่จะพูดคุยยังไงดีนะ?”

สำหรับคนที่มีความคิดฆ่าตัวตาย ก็ไม่แน่ใจเหมือนกันว่าจะเล่ายังไง? คนที่ฟังจะหนักใจไหม จะลำบากใจรึเปล่า? และสำหรับคนที่รับฟัง ก็ไม่มั่นใจเหมือนกันว่าจะพูดอะไรได้บ้าง? คนที่เครียด มีปัญหา เขาจะฆ่าตัวตายหรือเปล่า? แต่ก็ไม่รู้เหมือนกันว่าจะถาม หรือจะพูดคุยยังไงดี?

เนื่องในวันที่ 10 กันยายน คือวันป้องกันการฆ่าตัวตายโลก (World Suicide Prevention Day) ผมจึงใช้โอกาสนี้ ได้นำบทความเกี่ยวกับ บทสนทนาการฆ่าตัวตายมาพูดถึงกันครับ

บทสนทนาหัวข้อ การฆ่าตัวตาย ไม่ค่อยได้มีการพูดถึงกันมากเท่าไหร่นัก ในบทสนทนานี้ อาจจะมีหลากหลายความคิด ความรู้สึกที่ตามมา ทั้งตัวของผู้ที่กำลังประสบปัญหาอยู่ หรือรวมถึงผู้ที่กำลังรับฟังอยู่ด้วย

“ควรพูดยังไงดีล่ะ”
“ถามตรงๆเลยได้มั้ยนะ”
“ถ้าเล่ามากไป เขาจะเป็นห่วงเรามากเกินไปป้ะนะ”
“ถ้าเราเผลอพูดไม่ดีไป จะทำให้มันแย่กว่าเดิมทำไง”
และอีกมากมาย

ทำไมผู้คนถึงหลีกเลี่ยงการพูดคุยเรื่องการฆ่าตัวตายกันล่ะ

จากการศึกษา ผมขอสรุปได้ว่าผู้คนหลีกเลี่ยงการพูดคุยเรื่องการฆ่าตัวตายกัน เพราะมีความเกรงกลัวและอายที่ตนเองมีความคิดฆ่าตัวตายเกิดขึ้น กลัวไม่ได้รับการสนับสนุน และการช่วยเหลือ กลัวว่าจะได้รับการปฏิเสธ รวมถึงกลัวการเป็นภาระให้แก่ผู้อื่นอีกด้วย และยังมีความรู้สึกเครียดกังวลกับปัญหาที่ตนเองกำลังพบเจออยู่อีกด้วย

ซึ่งแน่นอนว่าความรู้สึกเหล่านี้ก็สามารถส่งมาถึงผู้ที่รับฟังด้วย ในบางครั้งผู้ที่รับฟัง รับรู้ได้ถึงความเครียด และความหนักหน่วงของอีกฝ่าย จนมีความกังวลว่าอีกฝ่ายจะ ทำอันตรายกับตนเอง หรือจะฆ่าตัวตายไหม

แต่บางครั้งก็จะหลีกเลี่ยงการพูดคุยเรื่องการฆ่าตัวตายที่ชัดเจน เนื่องจากมีความเกรงกลัวว่าตนเองจะทำให้อีกฝ่ายเกิดความเครียดมากกว่าเดิมหรือเปล่า
รวมถึงการมีบทสนทนาที่ชัดเจนเกี่ยวกับการฆ่าตัวตายนั้น จะยิ่งทำให้เหมือนเป็นการชี้นำอีกฝ่ายให้ลงมือทำไหม

จากข้อความข้างต้นนี้ อาจเห็นได้ว่าทำไมบทสนทนาเกี่ยวกับ การฆ่าตัวตาย จึงไม่ค่อยได้มีความชัดเจน และเกิดขึ้นได้บ่อยนัก เนื่องจากมันเป็นหัวข้อที่อ่อนไหวมากๆ และแน่นอนว่านอกจากข้อความข้างต้นนี้ยังมีอีกหลายเหตุผลที่ทำให้ บทสนทนาเกี่ยวกับการฆ่าตัวตาย จะไม่ค่อยพูดถึงกัน และชัดเจนมากเท่าไหร่

แต่ทุกคนทราบไหมครับ เรื่องการฆ่าตัวตาย ถึงจะเป็นหัวข้อในบทสนทนาที่คนไม่ค่อยอยากพูดถึง ซึ่งจริงๆแล้วเป็นอีกหนึ่งในหัวข้อที่ควรได้รับการพูดถึงอย่างมาก หัวข้อที่คนไม่อยากพูดถึง แต่ควรได้รับการใส่ใจ

จากการศึกษาค้นพบว่า การหลีกเลี่ยงบทสนทนาของการฆ่าตัวตาย จะยิ่งทำให้เกิดความกังวล และความเครียดที่เพิ่มขึ้นได้ เนื่องจากจะยิ่งทำให้รู้สึกว่า
ความคิดฆ่าตัวตายที่เกิดขึ้นนั้นเป็นเรื่องที่ผิดแปลก และจะยิ่งทำให้เกิดความรู้สึกผิด ความสับสน และความเครียดเพิ่มขึ้นไปอีก

ดังนั้นการพูดคุย การมีบทสนทนาเกี่ยวกับฆ่าตัวตาย เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นได้ปกติ ทำให้ ความคิดการฆ่าตัวตาย เป็นเรื่องที่ไม่ได้ผิดแปลกสามารถเกิดขึ้น และได้รับการช่วยเหลืออย่างถูกวิธีได้ ถ้าหากได้มีการแบ่งปัน และได้มีการพูดถึง

อีกทั้งยังมีการศึกษาเพิ่มเติมพบว่า ยิ่งมีการสนทนาเกี่ยวกับความเครียด ปัญหา รวมถึงการฆ่าตัวตายนั้น จะสามารถบรรเทาความคิดเหล่านั้นได้ด้วย ทั้งยังทำให้บทสนทนานั้นได้ทบทวนขอความช่วยเหลืออีกด้วย

รวมถึงมีการศึกษาด้วยว่า การกล่าวถึง การฆ่าตัวตายอย่างชัดเจนในบทสนทนาไม่ได้เป็นการ ชี้นำ หรือแนะนำ ให้คู่บทสนทนานึกถึงการฆ่าตัวตายเป็นทางออก แต่ในทางกลับกัน การกล่าวถึง หรือการถามว่า มีความคิดฆ่าตัวตายบ้างไหม เป็นการช่วยเหลือมากกว่า การชี้นำอีกด้วย

อาจกล่าวได้ว่า บทสนทนาเรื่องการฆ่าตัวตายนั้น แน่นอนว่า เป็นหัวข้อที่อ่อนไหว และบทสนทนาอาจจะไม่ราบรื่นเท่าไรนัก แต่อยากจะเชิญชวนให้เป็นอีกหนึ่งในหัวข้อที่ให้มองว่าเป็น “เรื่องปกติ” ที่สามารถพูดคุยได้ในบทสนทนา เพื่อให้ได้มีการช่วยเหลือ สนับสนุน รวมถึงได้แบ่งปันแนวทางช่วยเหลือให้คู่สนทนาอีกด้วย

ความกังวล ความกลัว ที่เกิดขึ้นในบทสนทนา ในหัวข้อ “การฆ่าตัวตาย” อาจทำให้รู้สึกอึดอัด ไม่กล้าพูดถึง หรือแบ่งปันได้ แต่อยากให้เชิญชวน ให้มองว่าเป็นหนึ่งในเรื่องที่เกิดขึ้นได้ เป็นเรื่องปกติ ให้มองว่า “การฆ่าตัวตายพูดได้” เพื่อให้ได้รู้ว่า ถึงจะเป็นเรื่องที่หนักหนา แต่ให้ได้รู้ว่ามีคนพร้อมรับฟัง ช่วยเหลือ พร้อมสนับสนุน รวมถึงผู้ที่รับฟัง ให้ได้รับรู้ว่าอย่ากังวลว่าจะทำให้คู่สนทนานั้นเครียดมากขึ้น แค่มีเจตนาที่จะช่วยเหลือ สนับสนุน แค่นี้ก็เป็นการช่วยเหลือที่สุดยอดมากแล้วครับ

หากมีการพูดคุย แล้วไม่แน่ใจว่าจะช่วยเหลือได้อย่างไร เบื้องต้นสามารถรับฟัง และส่งเสริมให้ได้รับการช่วยเหลืออย่างถูกต้อง ไม่ว่าจะพบเจอกับ จิตแพทย์ นักจิตวิทยาการปรึกษา และอีกมากมาย เพื่อให้ได้รับการช่วยเหลือได้อย่างถูกต้อง