เมื่อความยับยั้งชั่งใจ พร่องไปกับความไวของเทคโนโลยี

เมื่อความยับยั้งชั่งใจ พร่องไปกับความไวของเทคโนโลยี

Author : เสดพีร์ ภูษิต

นักการเมืองก็เพื่อนมนุษย์คนหนึ่ง

เมื่อนักการเมืองบริหารประเทศไม่ได้ดังใจ มีการวิพากษ์วิจารณ์กันดุเด็ดเผ็ดร้อน แต่หากมองด้วยสายตาเพื่อนมนุษย์คนหนึ่งและในฐานะสมาชิกของสังคมคนหนึ่ง ก็เกิดความเข้าใจได้ (ขอออกตัวไว้แต่ต้นว่าบทความนี้ไม่ได้มีเจตนาจะแก้ตัวให้นักการเมืองแต่อย่างใด) บ่อยครั้งที่ตัวเราเองก็ยังทำตามที่เราคิดไม่ได้ นับประสาอะไรกับคนหมู่มากนับแสนนับสิบล้าน ถ้าไม่บริหารด้วยจิตคิดทุจริต กระทำด้วยความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง หรือกระทำผิดพลาดอย่างร้ายแรง (ที่ต้องรับผิดชอบทางการเมืองและทางกฎหมาย) ก็ถือเป็นเรื่องธรรมดาในการบริหารคนหมู่มากที่ไม่เป็นไปได้ดังใจคิดของผู้บริหารและของประชาชนทุกคน ยิ่งในระบบราชการแล้วมีระเบียบกฎเกณฑ์นานัปการ มีคนร้อยพ่อพันแม่ ต่างความคิดเห็นกัน บางครั้งต้องไขลานกัน ยิ่งรัฐบาลที่เข้ามาระยะสั้นๆ แล้วเกิดอาการใส่เกียร์ว่างกันประจำ แต่ถ้าเป็นรัฐบาลที่อยู่ได้นานๆ ถึงจะไขลานได้ดี เรื่องเช่นนี้เป็นปัญหาของสังคมนี้ทั้งสังคมและเกือบทุกระบบ จนปัจจุบันส่งผลออกมาแสดงให้เห็นหัวฝีบนยอดเท่านั้นเอง

ลองคิดถึงถนนในกรุงเทพฯ (เป็นต้นว่า ท่าพระจันทร์ หรือถนนพรานนกหน้าโรงพยาบาลศิริราช) พื้นที่บนฟุตบาธเป็นที่สาธารณะโดยแท้แต่มีคนขายของบ้าง มอเตอร์ไซค์วิ่งบ้าง พื้นผิวจราจรริมถนนเป็นที่จอดรถ ขณะที่คนต้องลงไปเดินเกือบกลางถนน เมื่อเกิดอุบัติเหตุขึ้นมา มักจะมองเพียงแค่รถที่ชนคน แต่ถ้าจะให้เป็นธรรมต้องมองให้ทะลุไปตลอดสาย พิจารณาไปถึงเหตุที่คนลงไปเดินบนถนน ที่คนลงไปเดินบนถนนเพราะบนทางเท้าแทบไม่เหลือพื้นที่สำหรับคนเดิน สาเหตุที่ทางเท้ากลายเป็นที่ขายของเพราะคนละเลยกฎเกณฑ์และเจ้าหน้าที่ของรัฐที่มีหน้าที่กวดขันก็ละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ เหตุเพราะไม่มีใครไปกวดขันเจ้าหน้าที่ที่ปล่อยให้รถจอดในที่ห้ามจอด สาเหตุที่เจ้าหน้าที่ตำรวจละเว้นเพราะมีคนไปเสนอผลประโยชน์ให้เอาหูไปนาเอาตาไปไร่เสีย ฯลฯ เหตุและปัจจัยเป็นลูกโซ่ที่มีความสัมพันธ์เกี่ยวเนื่องกันแบบไล่ลำดับไปได้เรื่อยๆ เช่นนี้ และถ้าจะใคร่ครวญกันจริงๆ ปัจจุบันสังคมนี้เป็นอย่างนี้ ใช่หรือไม่ แต่คนที่มุ่งทำความดีจะคิดหดหู่หรือท้อแท้ไม่ได้ ในเมื่อสังคมเป็นอย่างนี้คนก็ต้องอยู่ท่ามกลางสภาพแวดล้อมอย่างนี้ แต่ต้องนึกเสมอว่าถ้ามีโอกาสเราจะไม่ทำอย่างที่มีส่วนให้สังคมเสื่อม (แต่จะมีแรงทวนกระแสไปได้นานสักเพียงไร?)

ส่วนในแง่กฎหมาย ฝ่ายปกครองต้องยึดหลักกฎหมายว่าจะทำได้เมื่อมีกฎหมายอนุญาตไว้เท่านั้นและการกระทำต้องชอบด้วยกฎหมายด้วย (แถมปัจจุบันมีองค์อิสระตามรัฐธรรมนูญคอยตรวจสอบการใช้อำนาจบริหารอีกหลายองค์กร) ในขณะที่เอกชนจะทำอะไรก็ได้ตราบใดที่กฎหมายไม่ห้ามไว้ ซึ่งการใช้และการจำกัดอำนาจของฝ่ายปกครองกับเอกชนคนละมิติกัน

อย่างไรก็ตาม ไม่ว่าใครจะมาเป็นรัฐบาลก็ไม่ใช่เรื่องง่ายในการบริหารประเทศให้ถูกใจคนหมู่มาก (แต่ก็ยังอยากเป็นกัน!) และล้วนแล้วแต่เปลืองตัว ถ้าเข้ามาโดยมุ่งบริหารบ้านเมืองก็ดีหรือเสมอตัวไป อาจจะแค่ใช้อำนาจไม่ได้ดังใจ (คนประเภทนี้สมควรส่งเสริมให้เข้ามา) แต่ถ้าเข้ามาโดยมีเรื่องบริหารบ้านเมืองบังหน้าแล้วมีผลประโยชน์อื่นแฝงอยู่เบื้องหลังแล้ว คนประเภทหลังนี้จะเจ็บทั้งตัวและใจ (คนประเภทนี้สมควรกีดกันไม่ให้เข้ามาใช้อำนาจอธิปไตย)

นอกจากนี้ สังคมเรายังชอบมองแบบเหมารวม ขาดการแยกแยะ และไม่มองให้รอบด้าน เช่น คำพูดที่ได้ยินบ่อยๆ ว่านักการเมืองเลวเหมือนกันหมดนั้นก็ย่อมไม่ถูกอย่างแน่นอน ด้วยเหตุผลง่ายๆ ว่าถ้านักการเมืองเลวหมด คนที่เลือกนักการเมืองเข้าไปก็เลวเหมือนนักการเมือง ใช่หรือไม่? เพราะนักการเมืองก็ไปจากคนเลือกเข้าไปนั่นเอง ส่วนหนึ่งอาจจะด้วยคำพูดนี้มีคนไม่น้อยที่หลีกหนีการอาสาตัวไปเป็นนักการเมือง ซึ่งก็อาจจะมีส่วนให้การเมืองตกต่ำลงไปอีก?

นอกจากนี้แล้วสังคมเราไม่น้อยยังมีนิสัยชอบประชดประชัน เช่น พอเกิดเรื่องพระทำผิดวินัยลงในหนังสือพิมพ์ หลายคนก็เลยพูดกระแทกแดกดันว่าต่อไปนี้จะเลิกทำบุญกับพระแล้ว ขอให้อาหารหมาดีกว่า! แทนที่จะใช้สติปัญญาแยกแยะว่าคนที่ประพฤตินอกรีตก็ไม่ส่งเสริม แต่ต้องหาพระที่ประพฤติชอบแล้วสนับสนุนส่งเสริมท่าน ช่วยเหลือท่าน เราเองก็จะได้ธรรมะจากท่านด้วย

ข่าวสาร ท่าทีและมนุษย์ 4 จำพวก
จากเรื่องการเมืองและสังคม ก็ขอโยงถึงปรากฏการณ์ของสังคมยุคที่ท่วมด้วยข้อมูลข่าวสาร จากการสังเกตปรากฏการณ์ของสื่อในยุคโลกาภิวัตน์ทั้งในไทยและต่างประเทศในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ความไว ความสะดวกและความง่ายของเทคโนโลยียุคโลกาภิวัตน์ได้แสดงให้เห็นถึงอิทธิพลในหลายๆ ด้านของเทคโนโลยีแห่งยุคสมัย ดังเช่น David Cameron นายกรัฐมนตรีอังกฤษกล่าวว่าการจลาจลในอังกฤษเมื่อเดือนสิงหาคม ปี 2554 เกิดจากการกระจายข่าวของสื่อยุคใหม่ ที่เรียกว่า Social media ซึ่งรวมถึง Facebook, Twitter และโทรศัพท์มือถือ Blackberry (BBC 11 สิงหาคม 2554)

ในทำนองเดียวกันสื่อเหล่านี้ก็ถูกใช้เป็นเครื่องมือในการกระจายข่าวสาร ชักชวนโน้มน้าวให้เข้าร่วมและรายงานสถานการณ์การจราจลเผาเมืองที่เกิดขึ้นในประเทศไทยเมื่อเดือนเมษายน 2552 และพฤษภาคม 2553 รวมถึงสถานการณ์น้ำท่วมใหญ่ในช่วงปลายปี 2554 ซึ่งบางคนอาจจะเห็นบางสิ่งบางอย่างก็พิมพ์รายงาน 2-3 บรรทัด พร้อมด้วยความคิดเห็น แล้วก็มีคนอื่นๆ นำไปเผยแพร่ต่อบ้าง ร่วมแสดงความคิดเห็นต่อๆ กันไปบ้าง อย่างขาดการหาข้อมูลความรู้หรือข้อเท็จจริง สังคมข่าวสารเช่นว่านี้จึงเป็นสังคมที่อันตรายเพราะเป็นสังคมที่แสดงความคิดเห็นที่ไม่อยู่บนพื้นฐานของความรู้ สิ่งที่ตามติดมาพร้อมกับความไวของเทคโนโลยีอย่างเลี่ยงไม่ได้คือ การพร่องไปกับความรวดเร็วความหนักแน่นและความยับยั้งชั่งใจ

พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ. ปยุตฺโต) จัดมนุษย์ยุคปัจจุบันในด้านความสัมพันธ์กับข่าวสารข้อมูลออกเป็น 4 ประเภทไว้ในหนังสือ “คนไทย สู่ยุคไอที”คือ
1. พวกตื่นเต้น คิดว่าตนทันสมัยได้เสพข่าวสารที่ใหม่ๆ แปลกๆ แต่สัมผัสกับข่าวสารและเรื่องราวต่างๆ อย่างผิวเผิน เพียงแค่เอามาลือหรือวิจารณ์ให้สนุกปากกัน ขาดการสืบค้นความจริง จึงไม่รู้ความเป็นไปที่แท้จริงและไม่ได้อะไรขึ้นมาเลย นอกจากถูกชักจูงไป จึงตกอยู่ในกระแส ถูกกระแสพัดพาไหลไปเรื่อยๆ ไม่เป็นตัวของตัวเอง
2. พวกตามทัน กลุ่มนี้ดีกว่ากลุ่มแรก คือมีข่าวสารข้อมูลอะไรเกิดขึ้นก็ตามทันหมด เอาใจใส่ติดตาม พวกนี้ก็ภูมิใจว่าตัวเองเก่ง ตามทันข่าว แต่ไม่รู้ทัน และไม่เข้าถึงความจริงของมัน เช่น รู้ไม่ทันว่ามันมีคุณมีโทษอย่างไร มีเหตุปัจจัยอย่างไร เบื้องหลังมันเป็นอย่างไร
3. พวกรู้ทัน นอกจากตามทันแล้ว ยังรู้เข้าใจเท่าทันมันด้วยว่าเป็นมาอย่างไร มีคุณมีโทษมีข้อดีข้อเสียอย่างไร จะมีท่าทีอย่างไร ให้ได้ประโยชน์โดยไม่ถูกครอบงำ
4. พวกอยู่เหนือมัน กลุ่มนี้ยิ่งกว่ากลุ่มที่ 3 อีก คือขึ้นไปอยู่เหนือกระแส เป็นผู้ที่สามารถจัดการกับกระแสได้ เป็นผู้สามารถใช้การเปลี่ยนแปลงให้เป็นประโยชน์ และเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลง มีความสัมพันธ์กับข้อมูลแบบเป็นนาย เป็นผู้จัดการ เป็นผู้ใช้มันอย่างแท้จริง

ท่านทิ้งคำถามไว้ว่าเวลานี้คนในสังคมไทยเราอยู่ในประเภทไหนมาก ขอให้วิเคราะห์สังคมไทยดูว่า เป็นพวกตื่นเต้นแค่ไหน เป็นพวกที่ตามทันแค่ไหน รู้ทันแค่ไหน อยู่เหนือมันแค่ไหน

Source : http://www.oknation.net/blog/print.php?id=766477