คำประกาศเกียรติคุณ ศาสตราจารย์พิเศษเรืองอุไร กุศลาสัย ศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์
Author : พัชริดา พงษปภัสร์ เจ้าหน้าที่สื่อสารองค์กร มูลนิธิสืบนาคะเสถียร
“ฉันไม่ได้โฆษณาชวนเชื่อเรียกร้องให้คุณมาเข้าใจ แต่คุณจำเป็นต้องรู้สึก ต่อคุณค่าความงามที่แท้จริงของทวายด้วยตัวของคุณเอง”.
…ก่อนเราจะเป็นหนึ่งในประเทศที่แปรสภาพเมืองทวายให้เป็นเมืองท่าและนิคมอุตสาหกรรมขนาดใหญ่.
ราวกับวันนี้ยังคงเป็นวันแรกที่เราต้องมนต์สเน่ห์แห่งทวาย จากการร่ายมนต์ของผู้ร่วมมือทุกๆ ฝ่ายด้วยกัน ทั้งที่ฉันละประสาทสัมผัสจากพื้นที่ตรงนั้นมาได้สองสามวันเศษแล้ว แปรเปลี่ยนความประสงค์เป็นการเอื้อมมือไปสัมผัสทวายอย่างแท้จริง ผ่านกลิ่นหอมแป้งทานาคา ผสมผสานกลิ่นปลาในตลาด รึไม่ก็นึกเล่นซนขอป้าลองปั้นหม้อดินเผาที่ศูนย์ใหญ่ใจกลางเมือง และสัมผัส texture ร่องรอยอารยธรรมเก่าแก่ เมืองพี่เมืองน้องครั้นบรรพกาลของไทย ด้วยดวงตา จมูก สองมือ และกล้องคู่ใจของตัวเอง.
ตลาดบ้านตะบอเส็กแสดงให้เห็นความอุดมสมบูรณ์ของทะเล – ถ่ายภาพโดย Sayan Chuenudomsavad
ทำนองโฟล์คซองคลอเสียงร้องภาษาถิ่น ยังคงก้องติดหูแม้จะผ่านไปครึ่งวันแล้วก็ตาม รอยยิ้ม เสียงหัวเราะปรากฏร่องรอยแห่งกาลเวลาบนสองข้างแก้มที่ประพรมแป้งทานาคา หนุ่มสาวนุ่งซิ่นอัตลักษณ์ท้องถิ่นเชื้อเชิญทั้งชาวไทย ชาวต่างชาติ และชาวทวายด้วยกันเข้ามาร่วมงาน.
บรรยากาศในงานนิทรรศการ “หลงรักทวาย”
เมื่อ 24 มกราคม 2560 ที่ผ่านมา โครงการศิลปะชุมชน, สมาคมพัฒนาทวาย, สมาคมวิจัยทวาย, ชุมชนบ้านกาโลนท่า เมืองทวาย ประเทศพม่า, มูลนิธิเสถียรโกเศศ-นาคะประทีป และเสมสิกขาลัย ร่วมจัดงานนิทรรศการ “หลงรักทวาย” ขึ้น เพื่อหยิบยกสเน่ห์อันเรียบง่ายของทวายมาถ่ายทอดสู่สาธารณชนใจกลางกรุงเทพฯ ผ่านการแสดง ภาษา ดนตรี โดยเฉพาะภาพถ่าย และภาพจิตรกรรมบอกเล่าความเป็นทวายได้อย่างลงตัว และชวนให้หลงไหลมนต์สเน่ห์ที่เต็มเปี่ยมไปด้วยความหมาย
สาวน้อยกำลังเทินปลาที่ได้มาจากเรือประมงใหญ่ – ถ่ายภาพโดย Amnat Ketchuen.
ชาวทวายผู้มาร่วมงานประสานเป็นเสียงเดียวกันเพื่อตอบพิธีกร(ล่าม)ที่ถามถึงความรู้สึกต่อเมืองทวาย แปลความได้ว่า ‘คิดถึงบ้าน’
แม้ฟังภาษาทวายไม่เข้าใจ แต่รู้สึกได้ถึงความน่ารักของสำเนียงภาษาที่น่าฟัง.
ทวายไม่ได้เป็นแค่เมืองเล็กๆ ในแผนที่ที่รอให้นักลงทุนข้ามชาติรุมทึ้งแล้วดัดแปลงโฉมใหม่กลายเป็นประตูเศรษฐกิจแห่งใหม่ที่เชื่อมต่อการค้าจากโลกตะวันตกเท่านั้น แต่ยังเป็นเมืองแห่งชีวิตและสีสัน วิถีชีวิตชาวทวายดำเนินไปตามครรลองธรรมชาติ หาเช้ากินค่ำ เพาะปลูกพืชผล หาปลา นำมาวางขายบนแผงตลาด และมีหมากเป็นพืชเศรษฐกิจ.
หมาก พืชเศรษฐกิจของทวาย – ถ่ายภาพโดย Thanawat Insuwan.
อีกทั้งยังเป็นเมืองแห่งความงดงามของธรรมชาติโอบกอดด้วยภูเขาและท้องทะเล ซึ่งผสมผสานทั้งชุมชนพุทธ คริสต์ มุสลิม ฮินดู พึ่งมีวัฒนธรรมและประเพณีดั้งเดิมที่สืบทอดต่อกันมาอย่างช้านาน กลายเป็นส่วนหนึ่งของวิถีชีวิตที่เรียบง่าย และยั่งยืน.
เด็กนักเรียนขี่จักรยานผ่านถนนตาลคู่ไปโรงเรียนทุกเช้า – ถ่ายภาพโดย Thanawat Insuwan.
ความงามอันพิสุทธิ์นี้หวนให้ฉันระลึกถึงทวายโปรเจคที่จะนำมาสู่ความเปลี่ยนแปลง… ดัดแปลงหรือโละทิ้งมนต์สเน่ห์ดั้งเดิมของทวาย ซึ่ง “ทวายโปรเจค” มักปรากฏข้อมูลมิติด้านเศรษฐกิจเป็นสำคัญ แต่มิติด้านสิ่งแวดล้อม ทรัพยากรธรรมชาติ ศิลปะ วัฒนธรรม ประเพณี วิถีชีวิตของประชาชนในพื้นที่ยังไม่ถูกนำเสนอมากมายนัก
เด็กๆ ณ ชายหาดมองมะกัน ชายหาดยอดนิยมของคนทวาย – ถ่ายภาพโดย Rapeepat Mantanarat.
ความสัมพันธ์ระหว่างชุมชนและความเจริญก้าวหน้าทางเศรษฐกิจจะเป็นไปในทิศทางเดียวกันได้กระนั้นหรือ เมื่อ ‘มาบตาพุด’ ยังหลงเหลือบทเรียนให้เราได้หวาดผวา ชวนหวั่นกลัวว่าทวายจะกลายเป็น ‘เหยื่อรายที่สอง’ ถัดจากนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด.
ยามเย็นที่หาดมะยินจีซึ่งตั้งอยู่ติดกับเขตเศรษฐกิจพิเศษทวาย – ถ่ายภาพโดย Jamon Sonpednarin.
การพัฒนาจะเกิดผลดีจำเป็นต้องมาพร้อมสติปัญญา – นั่นคือสิ่งที่ฉันสรุปกับตัวเองหลังได้ฟัง อ.สุลักษณ์ ศิวรักษ์ กล่าว แต่ฉันไม่แน่ใจนักว่า โครงการเพื่อการพัฒนาครั้งนี้จะเข้าข่ายหรือไม่.
ความเป็นจริงนั้น ทวายโปรเจค หรือ โครงการท่าเรือน้ำลึกและนิคมอุตสาหกรรมทวาย และเส้นทางคมนาคมเชื่อมระหว่างประเทศไทยกับสหภาพพม่า (Dawei Deep Sea Port & Industrial Estate Project and Transborder Corridor Link) ประกอบไปอะไรหลายอย่างที่จะส่งผลกระทบต่อทวายทั้งสิ้น อาทิ โครงการท่าเรือน้ำลึก นิคมอุตสากรรม ทั้งโรงหล็กต้นน้ำ โรงปุ๋ยไฟฟ้า โรงไฟฟ้าถ่านหิน โรงแยกก๊าซ โรงกลั่นน้ำมัน อุตสาหกรรมยานยนต์ เส้นทางการคมนาคม ทั้งถนน ทางรถไฟ และท่อส่งน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ และที่พักอาศัย ศูนย์การค้า ศูนย์การท่องเที่ยว รีสอร์ท และศูนย์พักผ่อนบริษัทฯ ซึ่งมีพื้นที่โครงการต้ังอยู่ห่างจากเมืองทวายประมาณ 30 กิโลเมตร.
แม่น้ำตะลายยาร์ระหว่างทางไปหมู่บ้านกะโลนท่า – ถ่ายภาพโดย Wichai Juntavaro.
ทั้งหมดที่ได้กล่าวไปข้างต้นจะเข้ามารุกรานจนสิ่งมีค่าเหล่านี้อาจต้องมลายหายไป มันคงเป็นเรื่องน่าเสียดายหากทวายจะเหลือเพียงปกรณัมเล่าขาน ก่อนถูกทุนข้ามชาติกลืนกินจนทวายกลายสภาพเป็นอดีต เชิญชวนให้ท่านทั้งหลายมาทำความรู้จัก ลุ่มหลง และตกหลุมรักทวายอย่างมิอาจถอนตัวกันเถอะ.
พวกเขารอคอยความหวังให้เพื่อนบ้านอย่างเราช่วยกันเข้าใจและเป็นอีกแรงที่จะธำรงรักษาคุณค่าอันหลากหลายและสร้างกระแสการพัฒนาที่ยั่งยืน จึงขอถือเสียว่านิทรรศการหลงรักทวาย ครั้งนี้เป็นสาส์นเชิญถึงโลกกว้าง ให้เราเดินทางอย่างยากลำบากไปค้นหาความหมายและคำตอบในแบบของคุณเองว่า “ทำไมเราจึงตกหลุมรักทวาย”
‘ทวาย’ ในความงามของ สุลักษณ์ ศิวรักษ์
เพลานี้ อ.สุลักษณ์ ศิวรักษ์ มูลนิธิเสฐียรโกเศศ-นาคะประทีปชวนทุกคนมาหลงรักทวาย ผ่านการเรียนรู้อดีต เข้าใจปัจจุบัน และเดินหน้าไปสู่อนาคต… “ทวาย” เคยเป็นเมืองหนึ่งในราชอาณาจักรไทยเมื่อครั้นก่อนการสิ้นสถานภาพราชธานีกรุงศรีอยุธยา คราวกรุงแตกวันที่ 7 เมษายน พ.ศ. 2310 หรือ 2.5 ศตวรรษที่ผ่านมา ซึ่งเหตุการณ์เสียกรุงครั้งนั้น เมืองทวาย ตะนาวศรี และมะริด ได้ตกเป็นของพม่า
รู้หรือไม่?… ‘บ้านทวาย’ หรือชุมชนทวายจำนวนหนึ่งพักพิงอยู่ในเมืองไทยมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 1 ยาวนานมากระทั่งยุคปัจจุบัน ที่ระแวกวัดยานนาวา จังหวัดกรุงเทพฯ
การเดินทางไปยังเมืองทวายประเทศพม่า นั้นไม่สะดวก ต้องต่อรถหลายต่อ ความเจริญยังเข้าไม่ถึงนัก ซึ่งเป็นคุณสมบัติบางประการในการช่วยรักษาทวายไว้ได้ เพราะหากการเดินทางเต็มไปด้วยความสะดวกความเจริญ สิ่งเหล่านี้จะอำนวยประโยชน์ต่อทุนข้ามชาติ แต่ส่งผลตรงข้ามกับคนเล็กคนน้อยและชาวทวายเอง
ความเจริญไม่ใช่สิ่งดีงามตลอดไป ความเจริญเป็นสิ่งที่นำความหายนะมาให้ไม่ใช่น้อย
.
.
.
.
อ.สุลักษณ์ กล่าวว่า ผมเป็นคนโชคดีที่มีโอกาสไปเยี่ยมทวาย ได้เห็นว่าวัดยังเป็นศูนย์กลางของชุมชนทวาย ชุมชนทวายยังรักษาเอกลักษณ์ วัฒนธรรม ภาษาดั้งเดิมไว้ได้อย่างน่าภูมิใจ และชาวบ้านพร้อมร่วมใจกันต่อสู้กับสิ่งทันสมัย ความเจริญ ที่ทุนข้ามพรมแดนได้เข้ามายัดเยียดให้แสดงถึงศักดิ์ศรี ความภาคภูมิใจในวัฒนธรรม และภาษาของตนเอง ผมหวังว่าชาวทวายจะสามารถรักษาเอกลักษณ์เหล่านี้ไว้ได้ ให้สมศักดิ์ศรีบรรพบุรุษที่สืบทอดกันเรื่อยมาสู่ยุคปัจจุบัน
ผมไม่จำเป็นต้องบอกชาวทวายว่า ท่าเรือน้ำลึก ถนนอันทันสมัยต่างๆ จะนำความเลวร้ายอะไรมาให้ทวายบ้าง เพียงท่านทั้งหลายไปดูมาบตาพุด ก็จะเห็นได้เลยว่านิคมอุตสาหกรรมนั่นได้ทำลายชาวบ้าน ทำลายปลา ทำลายทะเล สร้างมลพิษเป็นอันมาก ผมหวังว่าสิ่งเลวร้ายเหล่านี้จะไม่เกิดขึ้นที่ทวาย แต่ผมเกรงว่าถ้าเราไม่ต่อสู้ให้ทันท่วงที สิ่งที่จะเกิดกับทวาย จะเลวร้ายยิ่งกว่ามาบตาพุด
การต่อสู้กับการพัฒนาผิดๆ นั้นเป็นมิจฉาทิฏฐิของคนปัจจุบัน
อ.สุลักษณ์ ท้าวความถึงโครงการการพัฒนาต่างๆ ของนายทุนผู้หวังช่วงชิงทวายมาจากชาวทวายเอง ว่า โครงการทวายเริ่มขึ้นตั้งแต่สมัยทักษิณ ชินวัตร มาจนถึงยุคสมัยคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) การปกครองตอนนี้ก็เลวร้ายพอๆ กัน ที่เห็นเงิน เห็นอำนาจ เห็นทรัพยากรเป็นประโยชน์เพื่อเทคโนโลยีแบบใหม่ เพราะฉะนั้นการต่อสู้พวกนี้จะยาก แต่เราจำเป็นต้องไม่ก้มหัวให้ และการไม่ก้มหัวให้นั้นต้องหวนกลับมาหาวัฒนธรรมดั้งเดิม ภูมิใจในศิลปะ วัฒนธรรม ศาสนธรรม ศาสนสถาน ซึ่งชาวทวายช่วยกันรักษาเอกลักษณ์ได้อย่างกลมเกลียวกัน.
.
หวังว่าคนไทยจะหลงรักทวาย ด้วยการเห็นมองเห็นคุณค่า ความงามสิ่งประเสริฐการรักษาศักดิ์ศรี และรักวัฒนธรรมของทวายให้คงความสวยและความพริ้งไพเราะ ตลอดไปชั่วกาลนาน