รากเหง้าของความขัดแย้งในโลกปัจจุบัน
Author : อรรถจักร์ สัตยานุรักษ์
เราจะเข้าใจภาพน่าสะพรึงกลัวของความรุนแรงและสงครามที่กระจายไปทุกพื้นที่ของโลกในวันนี้ได้อย่างไร
เมื่อหลายเดือนก่อน ผมได้รับเกียรติไปคุยในการประชุมสัมมนาเรื่อง “ มองไปข้างหน้า …บทเรียนจากอดีต ” จัดโดยศูนย์นโยบายโลกมุสลิม คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ประเด็นที่ไปแลกเปลี่ยนยังคงอยู่ในสมอง จึงขออนุญาตินำมาขยายความนะครับ
ความเข้าใจ “อดีต ” ช่วยให้มอง/เข้าใจปัจจุบันได้ชัดเจนขึ้น แต่ความรู้ความเข้าใจที่ดีขึ้นนี้จะ “สร้างทาง”ไปสู่อนาคตได้หรือไม่ ขึ้นอยู่กับเงื่อนไขพลังทางสังคมอื่นๆอีกมากมาย ซึ่งบางปัจจัยก็เป็นเรื่องที่คาดเดาไม่ได้หรือผูกพันความซับซ้อนไว้มากเกินกว่าคนกลุ่มหนึ่งกลุ่มใดจะแก้ไขได้
อย่างไรก็ตาม ไม่ว่าเราจะ “ สร้างทาง” ไปสู่อนาคตได้หรือไม่ได้ก็ตาม เราก็จำเป็นที่จะต้องเข้าใจความเปลี่ยนแปลงและความขัดแย้งทั้งหลายที่เกิดขึ้นนี้ให้ชัดเจนขึ้น
ความขัดแย้งในปัจจุบันเป็นผลผลิตที่สำคัญของเงื่อนไขพลวัตรทางประวัติศาสตร์อย่างน้อยห้าประการด้วยกัน ได้แก่ 1.การเกิด “รัฐชาติ” ในสภาวะที่ยังไม่มี”ชาติ” (อาณานิคม) 2.การเกิดรัฐชาติกับการแตกตัวทางชนชั้นหลังสงครามโลกครั้งที่สอง 3.สงครามเย็นกับ “ปัญหาความขัดแย้ง”ใต้พื้นผิว 4.การสิ้นสุดสงครามเย็น/ เสรีนิยมใหม่ /จักรวรรดิ์นิยมใหม่ 5.” เศรษฐกิจสงคราม” ต่อต้านจักรวรรดิ
การเกิด “รัฐชาติ” ในสภาวะที่ยังไม่มี”ชาติ” (อาณานิคม) เป็นรากเหง้าพื้นฐานที่สำคัญที่ทำให้เกิดความขัดแย้งในปัจจุบัน กล่าวคือ การขีดเส้นแบ่งอำนาจการปกครองของบรรดาเจ้าอาณานิคมที่ไม่ได้แยแสความแตกต่างของชาติพันธ์ภายใต้อำนาจปกครองของตนเอง ได้ส่งผลให้ “รัฐ” ที่เกิดใหม่หลังสงครามโลกจึงเป็น“รัฐ” ที่ยังไม่มีความสำนึกความเป็น “ ชาติ” ร่วมกัน เจ้าอาณานิคมจะเลือกเอากลุ่มชาติพันธ์บางกลุ่มขึ้นมามีอำนาจเหนือกลุ่มชาติพันธ์อื่นๆใน “รัฐ” ใหม่ที่สถาปนาขึ้น เพื่อที่จะให้เจ้าผู้ปกครองรัฐใหม่เอื้อประโยชน์ให้แก่ตนในลักษณะเดียวกับที่เป็นมาก่อนได้เอกราช ซึ่งทำให้ปัญหาความขัดแย้งอันเกิดจากความแตกต่างทางชาติพันธ์ดำรงอยู่
เมื่อเกิดรัฐชาติใหม่ขึ้นมา เจ้าผู้ปกครองรัฐใหม่ก็จะดำเนินนโยบายที่ยังประโยชน์ให้เฉพาะกลุ่มชาติพันธ์ของตน ส่งผลทำให้เกิดการแตกตัวทางชนชั้นที่ขึ้นอยู่กับชาติพันธ์ชัดเจนมากขึ้นตามลำดับ ซึ่งยิ่งซ้ำเติมให้ปัญหาความขัดแย้งทางชาติพันธ์เดิมคุกรุ่นมากขึ้น ตัวอย่างของโลกอาหรับชัดเจนมากว่าภายใต้เงื่อนไขน้ำมันเป็นสินค้าจำเป็นและมีราคาสูงทำให้เกิดการแตกตัวทางชนชั้นชัดเจนขึ้น ขณะเดียวกับรัฐได้แปรรูปรัฐมาสู่การเป็นรัฐแสวงหาค่าเช้าทางเศรษฐกิจ (rentier-state)ซึ่งเกิดขึ้นพร้อมกับอิทธิพลของบริษัทน้ำมันใหญ่ ๗ บริษัท (Seven Sisters) ซึ่งย่ิงทำให้ช่องว่างทางชนชั้นและชาติพันธ์ถ่างมากขึ้น
ในช่วงเวลาของสงครามเย็นจนถึง ค.ศ.1990 ความขัดแย้งระหว่างชาติพันธ์ได้ปะทุขึ้นแต่อยู่ภายใต้กรอบการคิดและปฏิบัติการณ์ของโลกสองฝ่าย ซึ่งทำให้ปัญหาทางชาติพันธ์ถูกซ่อนเอาไว้ใต้พรมของการต่อสู้ทางอุดมการณ์ แต่ขณะเดียวกัน ก็ได้ทำให้กลุ่มชาติพันธ์ย่อยต่างๆได้มีโอกาสสะสมความชำนาญในการต่อสู้หลายรูปแบบและสามารถที่จะสะสมอาวุธ/ทรัพยากรไว้ได้ไม่น้อยทีเดียว ขณะเดียวกัน ภายใต้เงื่อนไขการต่อสู้ของสงครามเย็น การช่วงชิงพลเมืองด้วยการขยายตัวของการบริการของรัฐขยายตัวมากขึ้น แต่การโอบอุ้มพลเมืองก็เป็นไปตามการแบ่งกลุ่มเชื้อชาติ/ศาสนา/วัฒนธรรม ซึ่งยิ่งซ้ำเติมปัญหาชนชั้นและชาติพันธ์ให้ความเกลียดชังระหว่างกันทวีมากขึ้น
การสิ้นสุดสงครามเย็นจากทศวรรษ 1990 เป็นต้นมาได้ทำให้เกิดการจัดระบบความสัมพันธ์ทางอำนาจภายในรัฐและระหว่างรัฐในรูปแบบใหม่ ความสัมพันธ์ทางอำนาจระหว่างพลเมืองกับรัฐได้แปรรูปไปตามลัทธิเสรีนิยมใหม่ที่ลดภาคการบริการของรัฐลง โดยปลดปล่อยปัจเจกชนในดำรงอยู่ในระบบตลาดด้วยตัวเอง ก็ยิ่งทำให้ปัญหาความยากจนทวีสูงขึ้นมาก
พร้อมกันนั้น การจัดระบบความสัมพันธ์ทางอำนาจใหม่ที่ทุนเบื้องหลังรัฐทุกรัฐได้สานสายใยสัมพันธ์ข้ามรัฐเพื่อแสวงหาผลประโยชน์สูงสุดได้ทำให้การขูดรีดทำได้โดยตรงไม่จำเป็นต้องพะวงต่อการปกป้องพลเมืองจากอำนาจรัฐแบบเดิม ซึ่งทำให้การขยายอำนาจข้ามรัฐโดยมหาอำนาจเกิดขึ้นทั่วไปและเกิดขึ้นไม่ยากนัก ซึ่งย่ิงทำให้ความคับแค้นของผู้ยากไร้เกิดขึ้นในอีกมิติหนึ่งที่ไม่ใช่เพียงแค่ผู้ปกครองรัฐตนเองเท่านั้น หากแต่มองข้ามไปถึงจักรวรรดิ์ใหม่ที่ขยายตัวเข้ามาขูดรีดตนเองด้วย
“ประวัติศาสตร์” ที่ดำเนินมาดังกล่าวนี้ จึงทำให้รอยปะทุของความคับแค้นของผู้คนเกิดขึ้นได้ง่ายมากขึ้น เมื่อกลุ่มคนผู้ยากไร้และเป็นคนละชาติพันธ์กับผู้ปกครองมีโอกาสในการสร้างหรือสัมพันธ์กับสภาพการเป็น “กองทหาร” ภายใต้เงื่อนไขสงครามเย็นที่ผ่านมา จึงพร้อมที่จะใช้ประสพการณ์และความสามารถต่างๆเพื่อปลดเปลื้องความคับแค้น พร้อมกันนั้น การแสวงหาผลประโยชน์จากการทำสงครามจากกลุ่มทุนอีกมากมายหลายกลุ่มจึงทำให้ “ สงคราม” เป็นที่มาของโภคทรัพย์ การเลี้ยงไข้ “สงคราม” ให้ดำเนินต่อไปเรื่อยๆจึงเป็นเรื่องที่กลุ่มทุนอาวุธให้การสนับสนุนอย่างกึ่งลับกึ่งเปิดเผย
รากเหง้าที่ก่อให้เกิดความขัดแย้งและสงครามในโลกวันนี้จึงไม่ได้เกิดขึ้นในสุญญากาศ หากแต่เป็นผลต่อเนื่องที่ดำเนินมาจาก “ อดีต” ที่ถักสานกันมาอย่างต่อเนื่อง เรา : คนตัวเล็กตัวน้อยในโลกนี้จึงต้องรับกรรมร่วมไปด้วยกันอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้