ชุมชนป้อมมหากาฬ ใครจะเป็นเหยื่อรายต่อไป

ชุมชนป้อมมหากาฬ ใครจะเป็นเหยื่อรายต่อไป

Author : กาแฟดำ

แม้ชาวชุมชนจะต่อสู้มายาวนานกว่า 26 ปี แต่สุดท้ายก็ต้องพ่ายแพ้ต่อกรุงเทพมหานคร ที่เข้ามารื้อไล่บ้านเรือน โดยอ้างว่าจะปรับปรุงภูมิทัศน์เพื่อทำเป็นสวนสาธารณะ

ถามว่าทำไมต้องทำเป็นสวนสาธารณะ มีเสียงคัดค้านจากนักวิชาการมากมายว่า ทำไมไม่ทำเป็นแหล่งเรียนรู้ด้านศิลปะวัฒนธรรม พิพิธภัณฑ์มีชีวิต เพื่อให้คนรุ่นปัจจุบันได้เข้าใจอดีต รากเหง้าของตัวเอง และอาจจะเป็นแหล่งท่องเที่ยวสำคัญแห่งใหม่ เหมือนดั่งที่ประเทศเจริญแล้วเห็นคุณค่าการอนุรักษ์บ้านเก่าๆ ให้อยู่ร่วมกับเมืองอันทันสมัยได้

 

เพราะเบื้องหลังของกรุงเทพมหานคร คือแผนแม่บทการพัฒนากรุงรัตนโกสินทร์

ในปี 2535 กรุงเทพมหานครได้ออกพระราชกฤษฎีกาเวนคืนที่ดิน ส่งผลให้ชุมชนป้อมมหากาฬจะต้องถูกไล่รื้อเพื่อนำพื้นที่ไปสร้างเป็นสวนสาธารณะ ตามแผนแม่บทเพื่อการอนุรักษ์และพัฒนากรุงรัตนโกสินทร์

แผนแม่บทนี้ต้องการพัฒนาให้บริเวณกรุงรัตนโกสินทร์เป็นแหล่งอนุรักษ์โบราณสถานสำคัญของไทย ได้แก่ วัด วัง โบราณสถาน โดยจะไม่ให้มีสิ่งก่อสร้างใหม่ๆ บ้านเรือน หรือชุมชนมารบกวนหรือบดบัง

โบราณสถานที่สมควรได้รับการอนุรักษ์และเป็นต้นแบบของการพัฒนา คือ พระบรมมหาราชวัง วัดวาอาราม สิ่งก่อสร้างตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 1 จนมาถึงปลายสมัยรัชกาลที่ 5 ส่วนสิ่งก่อสร้างอันเกิดมาทีหลัง ไม่ว่าบ้านเรือนหรือตึกรามบ้านช่องจะทำให้เกิดความแออัด หรือเกิดทัศนียภาพไม่งดงาม เป้าหมายก็คือพยายามรื้อและให้ย้ายออก เพื่อเปิดพื้นที่โล่งมากขึ้น

ที่สำคัญคือ แนวคิดของผู้อยู่เบื้องหลังแนวคิดคือคณะกรรมการกรุงรัตนโกสินทร์ซึ่งคณะรัฐมนตรีได้แต่งตั้งเมื่อวันที่ 4 กรกฎาคม 2521 ว่า ภายในกรุงรัตนโกสินทร์ ไม่อยากให้มีผู้คน ชุมชน สร้างบ้านเรือนอาศัยอยู่ เพราะเชื่อว่าเป็นต้นเหตุแห่งความแออัด เสื่อมโทรม ทำให้โบราณสถานภายในกรุงรัตนโกสินทร์ดูไม่งดงามตา

“วิธีการจัดการก็คือกระจายความแออัดออกไป และสกัดกั้นไม่ให้เกิดขึ้นอีก พยายามเปิดที่โล่งให้มาก กิจกรรมต่างๆ ที่สวนทางกับบรรยากาศสมัยรัชกาลที่ 5 ก็พยายามขจัดไม่ให้มี อย่างเช่น ปากคลองตลาดซึ่งเป็นตลาดค้าส่ง มีรถส่งของวุ่นวายมาก ขยะก็เยอะ ก็จะย้ายออกไปอยู่ที่อื่น บริเวณท่าเตียนก็จะปรับรื้ออาคารที่ไม่เหมาะสม หรือก่อให้เกิดความรกรุงรัง เหลือไว้แต่อาคารที่มีเอกลักษณ์หรืออาคารที่สร้างในสมัยรัชกาลที่ 5 กิจกรรมที่เป็นการค้าส่งก็จะให้เลิก บริเวณแพร่งนรา แพร่งสรรพศาสตร์ เราจะเคลียร์พื้นที่แล้วสร้างอาคารขึ้นใหม่ เพื่อให้มีกิจกรรมที่ส่งเสริมการท่องเที่ยว” หนึ่งในคณะกรรมการกรุงรัตนโกสินทร์เคยกล่าวไว้

ความงามทางด้านสถาปัตยกรรมในสายตาของคนเหล่านี้ คือ การเข้ามาท่องเที่ยวชมวัด วัง โบราณสถานอันงดงามภายในกรุงรัตนโกสินทร์ แบบเช้าเย็นกลับ โดยไม่มีชุมชนหรือบ้านเรือนปลูกอาศัยแบบแออัดให้เกะกะ รกสายตา

กรุงรัตนโกสินทร์จะกลายเป็นเมืองที่สวยงาม มีพื้นที่เปิดโล่งให้คนมาเที่ยวพักผ่อน และบางจุดเป็นศูนย์รวมทางวัฒนธรรม มีการแสดง การละเล่นตามประเพณีวัฒนธรรมไทย

การมีผู้คนอาศัย มีหาบเร่ มีร้านค้าขายของ มีสถาบันการศึกษาภายในบริเวณนี้ เป็นสิ่งไม่สมควร หรือมีให้น้อยที่สุด

ผลงานล่าสุดที่ผ่านมา คือ การจัดระเบียบตลาดขายส่งดอกไม้ปากคลองตลาดชื่อดัง ที่คึกคักไปด้วยผู้คนมาจับจ่ายใช้สอยซื้อดอกไม้ เป็นตลาดมีชีวิตชีวาตลอดทั้งวันทั้งคืน จนดังไปทั่วโลก โดยให้ย้ายออกไปอยู่ที่อื่น

ชุมชนป้อมมหากาฬ ที่ตั้งอยู่บริเวณเชิงสะพานผ่านฟ้าลีลาศ ติดกับถนนมหาไชย ด้านหลังติดคลอง ก็อยู่ในเป้าหมายนี้เช่นกัน

ป้อมมหากาฬสร้างขึ้นในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ในปี 2326 ต่อมาประมาณรัชกาลที่ 3 ได้มีชาวบ้านค่อยๆ มาอาศัยตั้งบ้านเรือนอยู่หลังกำแพงป้อมมหากาฬ กินพื้นที่ตั้งแต่หัวถนนมหาไชยไปจรดชายคลองหลอด วัดราชนัดดา มีเนื้อที่ 4 ไร่ 300 ตารางวา จนกลายเป็นชุมชนมีชื่อเสียงเรื่องลิเกโบราณ มีบ้านเรือนประมาณ 50 กว่าหลังคาเรือน ก่อนจะเกิดปัญหาไล่รื้อชุมชนเพื่อทำเป็นสวนสาธารณะ ภายใต้แผนแม่บทฯ ดังกล่าว

แผนพัฒนากรุงรัตนโกสินทร์ จึงอยู่ภายใต้แนวคิดของคนรุ่นเก่า ที่เชื่อว่าเมืองเก่าที่ดีคือไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลงจากอดีต นิ่งสนิท ไม่ต้องมีชีวิตจากผู้คนจากชุมชน

 

ขณะที่เมื่ออาทิตย์ก่อน ผู้เขียนเพิ่งกลับมาจากเมือง Chania บนเกาะครีต ประเทศกรีซ แหล่งกำเนิดอารยธรรมกรีกเก่าแก่ที่สุดแห่งหนึ่งของโลก

Chania เป็นเมืองโบราณอายุเก่าแก่หลายพันปี เป็นเมืองท่าติดทะเล มีผู้คนอาศัยมาหลายพันปี มีประวัติศาสตร์ทับซ้อนกันมายาวนาน ตั้งแต่สมัยกรีก มาจนถึงชาวเวนิสเข้ามาตั้งถิ่นฐาน ก่อนที่ชาวออตโตมันหรือเติร์กจะเข้าครอบครอง

ทุกวันนี้ Chania เป็นเมืองท่องเที่ยวอันดับต้นๆ ของกรีซ เพราะเสน่ห์ของเมืองคือการผสมผสานความเก่ากับความใหม่ได้อย่างลงตัว บ้านเรือนแทบทุกซอกซอย เป็นอาคารเก่าแก่หลายร้อยปีที่สร้างทับซ้อนกันขึ้นมา แต่ยังใช้งานได้จนถึงปัจจุบัน

เราจึงเห็นความหลากหลายด้านสถาปัตยกรรม การใช้วัสดุ ไม้ ปูน เหล็ก คอนกรีต หิน อิฐเปลือย เห็นการทาสีบ้านเรือนอย่างอิสระ ตามความเชื่อ ความนิยมของคนหลายสมัย

ร้านอาหาร พิพิธภัณฑ์ แกลเลอรี โรงแรม ร้านขายของ เกือบทั้งหมดมีความงดงามของอาคารต่างกันออกไปตามยุคสมัยอันยาวนาน อาคารบางแห่งยังเห็นร่องรอยสถาปัตยกรรมแบบเวนิส เห็นบ้านเรือนแบบเติร์ก และซากอิฐที่หลงเหลือจากสมัยกรีก ผสมผสานกันอย่างลงตัว

เบื้องหลังความสำเร็จครั้งนี้ คือ ความร่วมมือกันทำงานและแลกเปลี่ยนความคิดระหว่างรัฐบาลกรีซกับชาวบ้านในท้องที่ ค่อยๆ พัฒนาเป็นแผนแม่บทในการอนุรักษ์เมืองเก่า จนกลายเป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่มีชื่อเสียงก้องโลก

Win Win กันทุกฝ่าย

พวกเขามีแนวคิดคล้ายกันคือ การสร้างเมืองเก่าให้มีชีวิตชีวา มีผู้คนทั้งมาเยี่ยมชมและผู้คนที่เป็นชาวเมืองจริงๆ

ขณะที่แนวคิดของกรุงรัตนโกสินทร์ คิดจากนักวิชาการรุ่นเก่าหยิบมือเดียว ฝ่ายเดียว คือ การอนุรักษ์เมืองให้หยุดนิ่งอยู่กับอดีต ไม่มีชีวิต ไม่มีการเปลี่ยนแปลงใดๆ มีเพียงโบราณสถาน ให้นักท่องเที่ยวมาชื่นชมความงดงาม แล้วกลับออกไป

หมดชุมชนป้อมมหากาฬแล้ว ใครจะเป็นเหยื่อรายต่อไป

Source : https://www.the101.world/mahakan-fort/