มองข้ามอคติ ‘กัญชา’ คือสิ่งเสพติดหรือยารักษาโรค

มองข้ามอคติ ‘กัญชา’ คือสิ่งเสพติดหรือยารักษาโรค

Author : A Day Bulletin

กัญชาเป็นสิ่งเสพติดผิดกฎหมาย เรื่องนี้ถูกสอนให้ฝังอยู่ในหัวเรามาตั้งแต่เด็ก แต่ก็ลืมนึกไปว่าทุกอย่างในโลกนั้นไม่ได้มีแค่ด้านเดียว เมื่อโตขึ้นเราพบว่ากัญชาถูกนำมาใช้ในหลายบริบท ในด้านมืดเรารู้จักมันในฐานะสิ่งเสพติดอันตรายตัวแรกๆ ที่น้ำพุเริ่มเสพในหนังสือ พระจันทร์สีน้ำเงิน รู้จักกับมันในฐานะยาที่ช่วยบรรเทาอาการเจ็บปวด จากโรคมะเร็งระยะสุดท้ายของตัวละครที่นำแสดงโดย ซูซาน ซาแรนดอน ในภาพยนตร์เรื่อง Stepmom

กัญชาในตอนนี้จึงกลายเป็นพืชที่อยู่ตรงกลางระหว่างพืชที่ถูกนำไปทำเป็นสารเสพติดอันตราย กับพืชทางเลือกเพื่อช่วยรักษาโรคร้าย เป็นทั้งเทพธิดาผู้มาช่วยเหลือมนุษย์ และปีศาจร้ายที่ทำลายชีวิตคน แต่ทั้งหมดนั้นขึ้นอยู่กับแต่ละคนว่าจะเชื่อในด้านไหน

HISTORY OF CANNABIS

กัญชาเป็นพืชล้มลุกชนิดหนึ่งที่มีประวัติศาสตร์ยาวนานหลายพันปี แต่หน้าที่ของมันกลับถูกเหวี่ยงไปเหวี่ยงมาด้วยข้อกำหนดของกฎหมายอยู่บ่อยครั้ง บ้างก็ถูกมองว่าเป็นวายร้าย เป็นสารเสพติดที่ก่อให้เกิดอาการมึนเมา บ้างก็เป็นของเล่นของเหล่าหนุ่มสาวและศิลปินที่ทำให้เกิดแรงบันดาลใจและผ่อนคลาย แต่ในขณะเดียวกันก็เป็นสมุนไพรชั้นเยี่ยมที่ช่วยรักษาให้ใครหลายคนรอดพ้นจากอาการเจ็บป่วยเรื้อรัง สุดท้ายแล้วจุดยืนที่ถูกต้องของกัญชาอยู่ตรงไหน? เราขอชวนคุณไปสำรวจ เส้นทางประวัติศาสตร์ของพืชชนิดนี้ไปพร้อมๆ กัน

THE FIRST ERA

การใช้กัญชาครั้งแรกของโลกมีขึ้นเมื่อราว 4,700 ปีที่แล้ว โดยจักรพรรดิเสินหนงแห่งประเทศจีน ได้ใช้พืชชนิดนี้เป็นสมุนไพรรักษาโรคข้อต่ออักเสบ (เกาต์) มาลาเรีย และโรคไข้รูมาติก แต่ต่อมาเมื่อราวๆ 2500 ปีที่แล้ว มันก็เริ่มถูกสั่งห้ามในจีน เนื่องจากได้รับการสันนิษฐานว่าทำให้เด็กๆ และวัยรุ่นไม่เคารพผู้ใหญ่ ประมาณว่าพอเสพแล้วสติขาด หัวร้อน ทำให้สติไม่อยู่กับเนื้อกับตัว ไม่ต่างจากอาการเมาสุราที่เราเห็นกันอยู่ทุกวัน

ส่วนในประเทศไทย เราใช้กัญชาในการรักษาโรคมาตั้งแต่รัชสมัยของสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ซึ่งมันเคยเป็นส่วนผสมสำคัญในตำรับแพทย์แผนไทยถึง 93 ตำรับ ส่วนใหญ่ใช้รักษาอาการนอนไม่หลับ ช่วยให้เจริญอาหาร ตกเลือด แก้ลงแดง ขับลม รักษาอาการปวดต่างๆ และบำรุงกำลัง

ถึงหลายคนจะคิดว่ากัญชาเป็นพืชที่ปลูกได้แค่ในเขตร้อนเท่านั้น แต่นักประวัติศาสตร์ก็ค้นพบว่าในประเทศเขตหนาวอย่างฝั่งยุโรปเองก็มีการใช้กัญชาเป็นสมุนไพรรักษาโลกมาเป็นเวลานานแล้วเช่นกัน เช่น ชนเผ่าไวกิ้งในสแกนดิเนเวีย และคนเยอรมันในยุคมืดที่ใช้กัญชาเป็นยาบรรเทาอาการปวดขณะคลอดลูก และปวดฟัน (ใครที่เคยผ่าฟันคุดน่าจะเข้าใจอาการเจ็บปวดนี้ได้เป็นอย่างดี)

GETTING (TOO) POPULAR

ความนิยมของกัญชาค่อยๆ เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ในช่วงศตวรรษที่ 17 เนื่องจากเป็นพืชที่มีประโยชน์ทั้งในเชิงการแพทย์และการอุปโภค โดยที่เมืองเจมส์ทาวน์ รัฐเวอร์จิเนีย สหรัฐอเมริกา ได้ออกข้อบังคับให้ประชาชนในเมืองทุกบ้านปลูกกัญชาเพื่อนำเส้นใยมาทำเป็นเชือก สิ่งทอ และผืนผ้าใบเรือ หากบ้านไหนไม่ปลูกกัญชาถือว่าผิดกฎหมาย

แม้กระทั่ง จอร์จ วอชิงตัน ประธานาธิบดีคนแรกของสหรัฐอเมริกา ก็บอกว่าเขาปลูกไร่กัญชาไว้บนภูเขาเวอร์นอนเพื่อนำมาใช้งานในเชิงอุตสาหกรรม และแม้ว่าชาวอเมริกันส่วนใหญ่จะตั้งข้อสงสัย แต่ก็ไม่มีหลักฐานชัดเจนว่าเขาเคยสูบกัญชาหรือไม่

การเสพและใช้กัญชาได้รับความนิยมจนถึงขีดสุดหลังการปฏิวัติเม็กซิโกในปี ค.ศ. 1910-1920 เนื่องจากชาวเม็กซิกันแห่ข้ามพรมแดนเข้ามาในสหรัฐอเมริกา พร้อมกับหอบความเพลิดเพลินในรูปแบบของใบไม้สีเขียวเข้ามาด้วย ทำให้คนหนุ่มสาวยุคใหม่เริ่มใช้กัญชาเพื่อการผ่อนคลายเป็นจำนวนมาก พฤติกรรมนี้ค่อยๆ หล่อหลอมให้เกิดวัฒนธรรมฮิปปี้ หรือบุปผาชน ในปี ค.ศ. 1940 ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่คนหนุ่มสาวนิยมออกเดินทางท่องเที่ยว เล่นดนตรี พร้อมกับมวนกัญชาในกระเป๋า

แต่ในขณะเดียวกัน ความนิยมที่จะ get high ตลอดเวลานี้ก็ทำให้อัตราการก่ออาชญากรรมและอุบัติเหตุเพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัด ไม่ว่าจะเป็นการขับรถในขณะมึนเมา และการทะเลาะวิวาทอย่างขาดสติ หลังจากนั้นไม่นาน อุตสาหกรรมกัญชาจึงเริ่มเข้าสู่จุดเปลี่ยน

FROM HERBS TO DRUGS

ในปี ค.ศ. 1961 กัญชากลายเป็นของต้องห้าม ไม่ใช่สมุนไพรหรือของเล่นสนุกของหนุ่มสาวอีกต่อไป เพราะหลังจากที่สหประชาชาติประกาศลงนามในสนธิสัญญาร่วมเพื่อปราบยาเสพติดให้หมดไปจากโลกนี้ ผู้นำประเทศต่างๆ รวมถึงประธานาธิบดี ริชาร์ด นิกสัน ของสหรัฐอเมริกา จึงประกาศสงครามยาเสพติด โดยเปลี่ยนกัญชาขึ้นเป็นยาเสพติดประเภท 1 ซึ่งมีความรุนแรงเทียบเท่ากับเฮโรอีน พร้อมกับเชิญชวนให้ทั่วโลกร่วมทำสงครามยาเสพติดเช่นกัน

ส่วนการปราบปรามกัญชาในประเทศไทยเริ่มในสมัยของพระยาพหลพลพยุหเสนา นายกรัฐมนตรีคนที่ 2 ของประเทศ โดยขณะนั้นได้มีพระราชบัญญัติกัญชา พ.ศ. 2477 ซึ่งห้ามให้ผู้ใดปลูก นำเข้า ซื้อขาย หรือเสพกัญชาเด็ดขาด ไม่เช่นนั้นจะได้รับโทษทั้งจำและปรับอย่างรุนแรง จนกระทั่งปี พ.ศ. 2522 รัฐบาลไทยก็ได้ออก พ.ร.บ. ยาเสพติดที่ใช้กันจนมาถึงปัจจุบัน

FINDING THE RIGHT SOLUTION

หลังจากกำหนดให้กัญชากลายเป็นยาเสพติดชนิดรุนแรง ก็เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์ในหมู่แพทย์และนักวิชาการทั่วโลก เพราะแม้ว่ากัญชาจะมีฤทธิ์ให้เกิดอาการมึนเมาและเสี่ยงต่อการเสพติด แต่ก็ยังนับว่าเป็นพืชที่มีประโยชน์มากในเชิงการรักษาโรค ในปี ค.ศ. 1972 รัฐบาลเนเธอร์แลนด์จึงตัดสินใจจัดประเภทยาเสพติดใหม่ โดยเลือกให้กัญชาเป็นยาเสพติดชนิดไม่ร้ายแรง และสามารถใช้ในเชิงการผ่อนคลายได้ใน ‘ร้านกาแฟ’

การรักษาโรคโดยใช้กัญชาได้รับความสนใจมากขึ้นเรื่อยๆ ในโลกตะวันตก เนื่องจากทีมแพทย์จากอเมริกาสามารถนำกัญชามารักษาผู้ที่ป่วยด้วยโรคมะเร็งและโรคเอดส์สำเร็จ ในปี ค.ศ. 1996 จึงประกาศให้แคลิฟอร์เนียเป็นรัฐแรกของสหรัฐอเมริกา ที่สามารถใช้กัญชาในเชิงการแพทย์ได้อย่างถูกกฎหมาย จากนั้นจึงตามมาด้วยประเทศแคนาดา

ปัจจุบัน กว่า 20 ประเทศทั่วโลกเปลี่ยนแปลงให้กัญชากลายเป็นพืชถูกกฎหมาย แต่ก็ยังมีข้อบังคับที่แตกต่างกันออกไป เพราะบางแห่งเปิดขายแค่เชิงการแพทย์ หรือแค่กับคนบางกลุ่มเท่านั้น

ส่วนในประเทศไทย คณะรัฐมนตรีได้เห็นชอบหลักการร่างประมวลกฎหมายยาเสพติดฉบับใหม่ ในวันที่ 12 เมษายน 2561 ที่ผ่านมา โดยมีบทที่อนุญาตให้ใช้กัญชาในเชิงการแพทย์ได้ พร้อมประกาศว่า ประเทศไทยจะเดินตามแนวทางใหม่ของสหประชาชาติ แต่ขอบเขตจะกว้างหรือแคบแค่ไหนนั้น ก็ยังเป็นเรื่องที่ต้องศึกษาและชั่งน้ำหนักกันต่อไป

Source : https://adaybulletin.com/article-agenda-weed/17764