สำนึก 'ปัจเจกชนนิยมใหม่'
Author : อรรถจักร์ สัตยานุรักษ์
เรื่องความเปลี่ยนแปลงของอารมณ์ “ตลก” นี้น่าสนใจมากนะครับ แต่ผมไม่มีความรู้เพียงพอที่จะอธิบายได้ จึงขอให้ทั้งสองท่านเขียนออกมาเพื่อให้เกิดการถกเถียงกันในสังคม ซึ่งท่านทั้งสองก็ได้รับปากผมว่าจะเขียนเป็นความเรียงเพื่อเสนอต่อสังคมในเร็วๆนี้ (ผมผูกสัญญาทั้งสองท่านผ่านหน้าหนังสือพิมพ์แล้วนะครับ)
เรื่องที่ 2 ได้แก่ การนิยาม/ให้ความหมายตนเองของคนเล่น “เฟสบุ๊ค” จำนวนมาก คุณพงศกร เฉลิมชุติเดช เล่าให้ฟังว่าคนเล่นเฟสบุ๊กจำนวนไม่น้อยที่เขาอ่านพบ มักจะนิยามตัวเองว่า “เป็นคนแรง เป็นคนตรง” พร้อมทั้งแสดงความคิดเห็นอย่างไม่แคร์อะไรทั้งสิ้น มิหนำซ้ำมักจะสำทับคนที่ไม่พอใจการแสดงออกต่างๆในเฟสบุ๊คของตนทำนองว่าหากไม่พอใจและรับไม่ได้ก็อย่าเข้ามาอ่าน
การจะแสดงตนเองว่าเป็น “คนแรง คนตรง” ก็จะเป็นการแสดงความคิดเห็นความรู้สึกที่ปฏิเสธขนบทางสังคมทั้งหลาย เช่นการใช้คำแทนอวัยวะเพศชาย/เพศหญิงอย่างตรงไปตรงมา หรือ การใช้คำที่ถือกันว่าเป็น “คำหยาบ” อย่างเป็นเรื่องธรรมดาสามัญ รวมไปถึง การเขียนแสดงความรู้สึกของตนเองต่อเรื่องต่างๆอย่างไม่พะวงอะไรทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็นปรากฏการณ์ทางสังคม เศรษฐกิจ หรือชีวิตประจำวันทั่วไป
การแสดงตนเองเช่นนี้กำลังกำเนิดและฝังอยู่ระบอบอารมณ์ความรู้สึกของผู้คนจำนวนไม่น้อยในสังคม เป็นปรากฏการณ์สำคัญมากในระบบความสัมพันธ์ทางสังคม เป็นอารมณ์ความรู้สึกสำนึกถึงตนเองอย่างที่เรียกได้ว่าเป็นสำนึก “ปัจเจกชนนิยมใหม่” (New Individualism ) ซึ่งแตกต่างโดยสิ้นเชิงกับสำนึกเชิง “ปัจเจกชนนิยม” ลักษณะเดิม
ความเปลี่ยนแปลงจนทำให้เกิดความแตกต่างของสำนึกเชิง “ปัจเจกชนนิยม” นี้เป็นเรื่องที่สังคมไทยต้องให้ความสนใจมากขึ้น เพราะนี่คือฐานความเปลี่ยนแปลงทางสังคมที่จะเกิดขึ้นในอนาคต
สำนึกเชิง “ปัจเจกชนนิยม” ในสังคมไทยเกิดขึ้นมาหลายระลอก และก่อตัวเป็นกลุ่มก้อนอย่างชัดเจนจนพลังผลักดันให้มีความเปลี่ยนแปลงทางสังคมเกิดขึ้น นับเนื่องได้ตั้งแต่ทศวรรษ 2460 ซึ่งผู้คนที่กอรป์ด้วยสำนึกเชิงปัจเจกชนได้ลุกขึ้นท้าทายระบบอุดมการณ์ของรัฐสมบูณาญาสิทธิราชย์และดำเนินไปสู่การเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 ต่อมาการเริ่มตั้งคำถามกับระบอบอำนาจนิยมในทศวรรษ 2510 ของกลุ่มนักศึกษาที่เริ่มนิยามตนเองว่าเป็น “เสรีชน” ได้ทำให้ขบวนการนักศึกษาเติบใหญ่และท้าทายอำนาจรัฐทหารในเหตุการณ์วันที่ 14 ต.ค. 2516
สำนึกเชิง “ปัจเจกชนนิยม” ในอดีตของสังคมไทย เป็นสำนึกในศักยภาพของตนเองในฐานะมนุษย์เท่าเทียมกันและที่สำคัญตนเองในฐานะปัจเจกบุคคลจะมีความสัมพันธ์ผูกมัดเป็นส่วนหนึ่งของสังคมอย่างเหนียวแน่น คนจำนวนมากจึงพร้อมที่จะอุทิศตนเองให้แก่การทำประโยชน์ให้แก่สังคมเพราะความหมายชีวิตของปัจเจกบุคคลจะมีค่าก็ต่อเมื่อได้ทำสิ่งที่มีคุณค่ามีความหมายให้แก่สังคม
แต่ความเปลี่ยนแปลงในช่วง 20-30 ปีที่ผ่านมา ได้ทำให้สำนึกเชิง “ปัจเจกชนนิยม” แบบเดิมนั้นเริ่มอ่อนพลังลง และได้ก่อเกิดสำนึกเชิง “ปัจเจกชนนิยมใหม่” ขึ้นมาแทนที่
สำนึกเชิง “ปัจเจกชนนิยมใหม่” จะเป็นสำนึกที่เน้นความเป็นปัจเจกของตนเองอย่างเต็มเปี่ยมโดยที่จะไม่ผูกพันกับระบบคุณค่าใดๆของสังคม ซึ่งเป็นสำนึกส่วนตัวที่แยกออกจากสรรพสิ่ง (Individualism as isolated privatism) กรอบการคิดและอารมณ์ความรู้สึกทั้งหมดจะหมกมุ่นอยู่กับตัวตนของตนเอง และพร้อมที่จะจัดการทุกอย่างรอบตัวเพื่อตอบสนองหรือเติมเต็มความเป็นตัวเอง (self-realization and self- fulfillment )
สังคมที่ประกอบไปด้วยผู้คนที่มีสำนึกเชิง “ปัจเจกชนนิยมใหม่ ” จำนวนมากขึ้นๆ ก็จะพบกับการละเมิดพื้นที่สาธารณะทุกรูปแบบมากขึ้นตามไปด้วย ไม่ว่าจะเป็นการโจมตี/เข่นฆ่ากันในเฟสบุ๊ค หรือ ฆ่ากันจริงจังบนท้องถนน แม้ว่าในวันนี้ เรายังพอจะมีเส้นจริยธรรมขวางกั้นการละเมิดกันอยู่ได้บ้าง เช่น พ่อเฒ่าขับเบนซ์แล้วตบเด็ก ก็ถูกโจมตีจนเสียผู้เสียคน แต่เส้นจริยธรรมนี้ก็จะบางลงไปเรื่อยๆตามจำนวนและความเข้มข้นของผู้คนที่เข้าสู่สำนึก “ปัจเจกชนนิยมใหม่”
เราจะทำอย่างไรได้บ้างเพื่อที่จะทำให้สังคมเราพอจะอยู่กันต่อไปได้
การทำให้เกิดกิจกรรมที่ผู้คนทั้งหลายจะสามารถเชื่อมตัวเองกับคนอื่นๆและมองเห็นผลดีที่เกิดขึ้นกับสังคมจะช่วยผ่อนคลายสำนึกเชิง “ปัจเจกชนนิยมใหม่” ลงไปได้ แต่สังคมจะสร้างกิจกรรมอะไร เพราะเท่าที่ผ่านมาสังคมไทยไม่ได้คิดให้คนอื่นๆมาร่วมสร้างกิจกรรมเลย มีแต่สังคม/รัฐ/กลุ่มทุนจัดกิจกรรมแล้วให้คนมาร่วมดูเท่านั้น หากคิดกันใหม่ สนามกีฬาอาจจะต้องเปิดการแข่งขันกีฬาสำหรับผู้ที่เล่นไม่เป็น โรงเรียน วิทยาลัย มหาวิทยาลัยอาจจะต้องยอมให้นักเรียนนักศึกษาได้มีส่วนในการสร้างกิจกรรมด้วยตัวเองไม่ใช่สถานศึกษาจัดกิจกรรมแล้วบังคับให้เด็กมาร่วมเท่านั้น