"อยากรู้ว่าอะไรมีความสุข" พลิกเปลี่ยนเส้นทางชีวิตศึกษาศาสนา
“ทุกวันนี้คนเราทำบุญไม่ได้ทำเพื่อขัดเกลาจิตใจตัวเอง แต่ทำเพื่อหวังอะไรบางอย่าง การทำบุญคือการบริจาค การสละ เพื่อคนที่มีความทุกข์ลำบากมากกว่า คนจนก็จนไป คนทำบุญพระก็รวยไป ต้องยอมรับว่าอดีตพระไม่สะสมเงินทอง ทรัพย์สินกระจายไปสู่คนลำบาก สวนทางกับปัจจุบันคนทำบุญหนึ่งอยากจะเอาล้าน ส่วนพระรับมาสิบ ก็อยากจะได้ร้อยได้พัน จึงกลายเป็นเรื่องธุรกิจทางศาสนา แล้วพระใช้ศาสนาหากินหรือเปล่า”
สําหรับ วิจักขณ์ พานิช ผู้ตัดสินใจพลิกเปลี่ยนเส้นทางชีวิต ทดลองค้นหาตัวเองด้วยการศึกษาระดับปริญญาโท “ประวัติศาสตร์ศาสนา” ที่สถาบันนาโรปะ แหล่งศึกษาทางศาสนาที่รัฐโคโลราโด สหรัฐอเมริกา เป็นคนหนุ่มไฟแรงที่มีแรงบันดาลใจในเรื่องของการเรียนรู้ด้านในและวิถีพุทธธรรมในโลกสมัยใหม่ ซึ่งทำให้ค้นพบวิถีการตีความศาสนาแบบใหม่ที่ให้อิสรภาพมนุษย์ในการเลือกเส้นทางแห่งการหลุดพ้นอย่างเป็นตัวของตัวเองถึงที่สุด
มีคำถามว่าอะไรเป็นแรงขับเคลื่อนให้หันมาสนใจศึกษาเรื่องศาสนา วิจักขณ์ สะท้อนความคิดว่า ทุกคนตั้งคำถามเกี่ยวกับชีวิตตัวเองทุกคน ว่าจะทำอย่างไรให้ชีวิตมีคุณค่า จึงต้องหันมาดูตัวเองว่าติดขัดหรือมีปัญหาเรื่องไหน หรือว่าสับสนตัวเองอยู่ ไม่อย่างนั้นคุณค่าของตัวเองคงไปไม่ไกล ดังนั้นเมื่อคิดว่ามีปัญหาก็ต้องเยียวยาเพื่อให้เข้าใจความสับสนของตัวเองมากขึ้น และอยากรู้ว่าอะไรมีความสุข แล้วสามารถแชร์ให้กับคนอื่นได้ นั่นมาจากคำถามในใจ
“เรียนโรงเรียน เรียนมหาวิทยาลัยมาหลายปีมันตอบไม่ได้เลยว่า เราคือใคร เราเกิดมาทำไม เรามีคุณค่าอะไร พอทำงานก็เริ่มคำนึงถึงเรื่องการอยู่รอด จึงเป็นคำถามของตัวเองมาโดยตลอด กระทั่งมีโอกาสไปเรียนที่ประเทศสหรัฐอเมริกา กระทั่งเจอครู เจอพื้นที่การเรียนรู้บางอย่างที่ตอบโจทย์ส่วนนี้ได้ เลยรู้สึกว่าอยากจะสร้างพื้นที่แบบนี้ที่เมืองไทย ซึ่งเป็นพื้นที่ของการเรียนรู้บางอย่างที่ทำให้คนได้มองเข้าไปภายในตัวเอง คลี่คลายคำถามเกี่ยวกับชีวิตแบบลึกๆ เป็นศาสนาที่ตอบคำถามว่า คุณทำอะไรแล้วมีความสุข แชร์กับคนอื่นได้ เลยกลายเป็นจุดที่มาของการทำงานลักษณะนี้”
ส่วนตัวคิดว่ามีคนที่ต้องเป็นอะไรแบบนี้จำนวนมาก คนที่มีความทุกข์ สับสน หาตัวเองไม่เจอ คนเหล่านี้ต้องการกัลยาณมิตร ต้องการคนที่คุยได้เหมือนเพื่อน มีความเป็นกันเอง คนที่คุยในทางมิติศาสนธรรมที่ไม่ใช่แบบศาสนากับศาสนา แต่เป็นแบบธรรมดาๆ เพื่อแชร์ประสบการณ์ แชร์ความทุกข์ของคนเหล่านั้น
วิจักขณ์ ยังบอกด้วยว่า จากการศึกษาเล่าเรียนฝึกเกี่ยวกับการภาวนา จึงมีการเปิดคอร์สสอนอบรมการภาวนา โดยใช้กระบวนการนั่งสมาธิภาวนามาช่วยเรื่องการขัดเกลาจิตใจ เยียวยาจิตใจ อย่างคนที่มีความทุกข์ ความเครียด เขาต้องการพื้นที่มาเยียวยาหรือต้องการผ่อนคลายปล่อยวางจากความคิด การโทษตัวเองให้อภัยตัวเอง มีความกรุณา มีความรักกับคนอื่นและรอบข้าง คนก็มาฝึกเรียนรู้
กลุ่มที่มาเรียนมีทุกช่วงอายุ ตั้งแต่วัยรุ่น กลางคน คนแก่ คนอายุ 70 ปี เป็นการเรียนลักษณะแบบการศึกษาผู้ใหญ่ใครก็สามารถมาเรียนได้ นอกจากนี้ทุกวันอาทิตย์จะเปิดบ้านพักส่วนตัวที่ใช้ชื่อว่า “ติโรปะ” ทำสมาธิภาวนา มีลูกศิษย์และคนทั่วไปที่สนใจและเปิดรับความหลากหลายทางศาสนา และต้องการภาวนามาปฏิบัติกันพอสมควร
วิจักขณ์ เผยอีกว่า เท่าที่ทำมารู้สึกมีความสุข ยืนยันไม่ต้องการชื่อเสียง แต่คิดว่าอยากจะเป็นแรงบันดาลใจฝึกให้คนทำแบบตนเพิ่มขึ้นอีก มีคนที่ฟังคนอื่นและสอนคนอื่นแบบเปิดกว้าง อยากเห็นครูที่มีจิตวิญญาณ อยากเห็นนักข่าวที่มีจิตวิญญาณ อยากเห็นหมอ พยาบาลมีจิตวิญญาณ มาใช้ในชีวิตจริง ซึ่งมีความหวังมากๆ เนื่องจากมีคนสนใจเรื่องเหล่านี้เยอะ เพราะคนเริ่มเหนื่อยหน่ายกับ “ศาสนาพุทธรูปแบบเดิม” คนเลยหาทางเลือกในหลากหลายแบบเพิ่มขึ้น
สำหรับเรื่องการศึกษา วิจักขณ์ มองว่า ถ้าเรามีจิตใจเปิดกว้างรับฟังคนอื่น ก็จะเป็นพื้นที่ที่ดีมากในทางการศึกษา โดยไม่ยึดมั่นอยู่ในกรอบของตัวเอง และเปิดกว้างกับความเป็นไปได้อื่นๆ อยู่เสมอจนไปสู่การแลกเปลี่ยนแบบพลวัต
ปัจจุบัน วิจักขณ์ รับบท “เรือจ้าง” สอนพิเศษอยู่ที่วิทยาลัยศาสนศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล ส่วนใหญ่สอนระดับ ปริญญาตรี ส่วนวิชาที่สอนจะเกี่ยวข้องกับวิถีพุทธธรรมในโลกสมัยใหม่ พุทธศาสนากับสังคมสมัยใหม่ จิตวิทยากับพุทธศาสนา เจ้าตัวบอกว่า เป็นอาจารย์สอนหนังสือมาหลายปีและยังได้รับเชิญไปสอนตามมหาวิทยาลัยหลายแห่ง เช่น มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร ฯลฯ หรือแม้แต่การได้รับโอกาสไปบรรยายพิเศษมานับไม่ถ้วน
นอกจากนี้ยังเป็นคอลัมนิสต์ให้กับมติชน นิตยสาร way และทำหนังสือ แปลหนังสือ เป็นบรรณาธิการสำนักพิมพ์ ปลากระโดด ซึ่งจะพิมพ์หนังสือที่เกี่ยวข้องกับมิติทางจิตวิญญาณ แปลผลงานจากตะวันตกให้เห็นว่า ศาสนธรรม ศาสนาพุทธ เปิดกว้างและหลากหลายได้ขนาดไหน
ทว่าด้วยความเป็นคนพูดจาตรงไปตรงมาการวิพากษ์วิจารณ์อาจไม่เข้าหูเข้าใจคน จนมองตัวของ วิจักขณ์ ไม่เข้าใจเรื่องศาสนาอย่างแท้จริง เรื่องนี้ วิจักขณ์ สวนตอบด้วยน้ำเสียงเข้มแข็งว่า “ผมไม่แคร์” เพราะไม่มีใครเป็นเจ้าของพุทธธรรม ไม่มีใครเป็นเจ้าของพระพุทธเจ้า สำหรับคนที่คิดว่าเป็นเจ้าของศาสนาแล้วต้องปกป้องศาสนาของเขาเอง และการที่คิดว่าแสดงความคิดเห็นที่เห็นต่าง มีจินตนาการที่แตกต่างเป็นการเรื่องการทำลายศาสนา
“ผมว่ามันเป็นปัญหาของเขาไม่ใช่ปัญหาของผม เพราะผมคิดว่าอยู่ในสังคมประชาธิปไตยที่รองรับเสรีภาพในการนับถือศาสนาและคิดว่างานที่ผมทำเป็นงานสร้างสรรค์ไม่ใช่ทำลาย และผมไม่มีอำนาจไปบังคับใครให้เชื่อตามผม ผมมีแค่สติปัญญา และสองมือในการทำงานเชิงสร้างสรรค์”
วิจักขณ์ เล่าต่อว่า อย่างน้อยสิ่งที่สอนและทำก็เป็นทางเลือกหนึ่งสำหรับคนที่สนใจศาสนา เปิดจินตนาการ ก็เหมือนตนเป็นพระป่า เดินร่อนเร่ ไม่มีสำนักอะไร แต่ว่าพบปะผู้คนตลอด ซึ่งมองว่าพลังศาสนธรรมจะเกิดขึ้นจากตัวปัจเจกบุคคล พลังการตื่นรู้
ภาพใหญ่ในศาสนาพุทธของไทย เป็นแบบสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่เหนือมนุษย์ ดังนั้นเวลาคนเข้าหาศาสนาพุทธส่วนใหญ่ก็ไปกราบไหว้พระพุทธรูป ขอหวย กราบไหว้หลวงพ่อที่มีพลังวิเศษดูจิตได้ แก้กรรมได้ และสภาพแบบนี้ทำให้เกิดพระอลัชชี มากกว่าดึงดูดพระที่ดี
“คุณไม่อยากเป็นเหรอ คุณห่มผ้าเหลืองเวลาคุณพูดอะไรทุกคนเชื่อหมดเลย วางตัวให้สุขุม นั่งสมาธิให้ได้นานๆคนก็มากราบคุณ หรือพูดอะไรให้ดูดีนิดนึง ก็กลายเป็นเซเลบขึ้นมา เงินก็ไม่รู้เท่าไหร่ คุณไม่อยากเป็นเหรอ ใครๆก็อยากเป็น มันง่าย”
วิจักขณ์ ย้ำว่า ตนไม่ได้ทำร้ายใคร งานที่ทำมันพิสูจน์ตัวเอง แล้วตัวพุทธธรรมแบบนี้ ถ้าเรามองในมุมที่กว้างจะเห็นเลยว่า สิ่งที่ตนพูดมันนิดเดียว หากเทียบกับสิ่งที่มันเกิดขึ้นบนโลกใบนี้ ศาสนาพุทธที่เปิดกว้างหลากหลาย เกิดขึ้นในตะวันตก อินเดีย เวียดนาม ญี่ปุ่น เต็มไปหมด เชื่อว่าคนที่มองต่างมีปัญหาความคับแคบของตัวเอง ไม่ใช่ปัญหาของตนที่เปิดกว้าง คนที่เรียนกับตนจะรู้เองว่าสิ่งที่สอนมันใช้ได้จริงหรือไม่
เพราะงอกเงยทางศาสนธรรมหรือที่เรียกว่า Spirituality หรือคุณค่าทางจิตวิญญาณ จะสอดคล้องกับชีวิตของผู้คนสมัยใหม่ “ไม่มีใครสนใจแล้วเรื่องศาสนา แต่เขาสนใจเรื่องจิตวิญญาณ” ทำยังไงให้การดำเนินชีวิตมีแรงบันดาลใจ มีคุณค่า ต่อสู้เพื่อความเป็นธรรม
“เตือนคนที่ทะเลาะกันวนเวียนความขัดแย้งทางศาสนา ขอให้ตระหนักมันไม่ได้เป็นความหวังของคนรุ่นถัดไป แต่คุณกำลังไปทะเลาะกับสิ่งมันจะตาย และสิ่งเหล่านี้ไม่ได้มีอะไรเกี่ยวข้องเลยกับคนรุ่นหลัง แล้วศาสนาพุทธแบบนี้ไม่ได้เกี่ยวข้องกับความทุกข์ของผู้คน เพราะฉะนั้นตัวศาสนาพุทธต้องตั้งหลักให้ดี” วิจักขณ์ ฝากถึงสังคม