ประชา หุตานุวัตร : "เรากำลังทำเรื่องเปลี่ยนแปลงคุณค่าพื้นฐานของสังคม"
ผู้เขียน : กษิดิศ อนันทนาธร
ข้อความบางส่วนจากบทความ “ประชา หุตานุวัตร : ปัญญาชนขบถ ผู้เพียรสร้างกระบวนทัศน์ใหม่” https://www.the101.world/pracha-hutanuwatra/
“ผมเป็นนักเรียน นักเขียน นักแปล และเป็นกระบวนกร หน้าที่หลักคือการเปลี่ยนแปลงตนเองและสังคม ให้ก้าวไปสู่ความบริสุทธิ์ ยุติธรรม และยั่งยืน ผมทำงานนี้มาตลอดชีวิตตั้งแต่มัธยมปลาย และตั้งใจที่จะตายคางานนี้”
ประชา หุตานุวัตร เคยพูดถึงชีวิตของตนเองเอาไว้อย่างน่าสนใจ
และเขาก็ได้ตายคางานที่เขาทำไว้เช่นนั้นจริงๆ
แต่ผลงานของประชาที่สร้างไว้จะคงอยู่ไปอีกนานเท่านาน ดังที่ Jane Rasbash อดีตคู่ชีวิตของประชาเขียนถึงเขาว่า “Pracha’s unique contributions to engaged spirituality and social change will continue through his writing, projects and student.”
ในยุคแสวงหา ก่อนเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 นั้น ประชาร่วมกับเพื่อนนักเรียนตั้งกลุ่ม ‘ยุวชนสยาม’ ขึ้นในปี 2515 รวบรวมนักเรียนหัวก้าวหน้าอันเป็นนักกิจกรรมจากโรงเรียนต่างๆ ทำกิจกรรมร่วมกัน เช่น ค่ายฝึกกำลังคน วารสาร กลุ่มสนทนา และร่วมประท้วงในหลายเหตุการณ์ มีสมาชิก อาทิ สันติสุข โสภณสิริ, วิศิษฐ์ วังวิญญู, ธงชัย วินิจจะกูล, สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล, ยงยุทธ วงศ์ภิรมย์ศานต์ และไพศาล วงศ์วรวิสิทธิ์
โดยพิภพ ธงไชย ตั้งข้อสังเกตว่า “คนรุ่นใหม่ในกลุ่มยุวชนสยาม เมื่อ 50 ปีก่อน ล้วนเลือกที่จะ ‘ขบถต่อตัวเอง’ และ ‘สังคมที่ตนดำรงอยู่’”
จากที่สนใจความคิดฝ่ายซ้ายที่นิยมมาร์กซ์ ต่อมาในปี 2517 ประชาหันมาสมาทานอหิงสาและพุทธธรรม ดังได้ร่วมกับวิศิษฐ์และสันติสุขตั้งกลุ่ม ‘อหิงสา’ เพื่อแยกจากกระแสส่วนใหญ่ในเวลานั้นที่นิยมมาร์กซ์อย่างเข้มข้น
แม้ประชาจะเรียนเก่งเป็นอันดับต้นๆ ของรุ่น เขากลับไม่ได้เลือกเรียนแพทย์หรือวิศวะตามกระแสหลัก แต่เลือกเรียนครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยได้รับแรงบันดาลใจมาจากครูโกมล คีมทอง ผู้ล่วงลับ แต่แล้วยังไม่ทันเรียนจบ ประชาก็ลาออกเพื่อดำเนินชีวิต ‘ขบถ’ กับเพื่อนในกลุ่มอหิงสา ซึ่งเชื่อมั่นในแนวทางสันติวิธี และไม่สยบยอมกับคำตอบสำเร็จรูปจากลัทธิที่สัญญาว่าจะให้ความหวังใหม่
สำหรับชีวิตการเรียนของประชานั้น สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล เขียนถึงว่า “ผมมีความทรงจำที่ดีต่อพี่ประชา เป็นคนแรกที่ให้แรงบันดาลใจกับผม ผมรู้สึกประทับใจมาก คนที่เรียนเก่งมากอย่างนั้น กลับเลือกสอบเข้าครุ แล้วก็ลาออก”
ขณะที่พระไพศาล วิสาโล เขียนรำลึกถึงประชาว่า “ข้าพเจ้าโชคดีที่ได้รู้จักพี่ประชาขณะที่ยังเยาว์วัย เพราะได้เห็นแบบอย่างแห่งผู้ที่อุทิศตนเพื่ออุดมคติ ในช่วงที่ข้าพเจ้ากำลังแสวงหาความหมายของชีวิตอยู่พอดี”
ในปี 2518 เมื่อสถานการณ์ทางการเมืองทวีความรุนแรงขึ้น จากเดิมที่ประชาคิดว่าจะเข้าป่าหรือไปเมืองจีน ก็เปลี่ยนใจเข้าสู่ร่มกาสาวพัสตร์
ส. ศิวรักษ์ เล่าถึงการบวชของประชาไว้ว่า “แต่แล้วความเปลี่ยนแปลงของเขาทางด้านกิจกรรมฝ่ายซ้ายก็เป็นเหตุให้ปัญญานันทภิกขุปฏิเสธที่จะบวชให้เขา ข้าพเจ้าจึงฝากเขาไปยังพระสด ซึ่งเคยเรียนที่ธรรมศาสตร์กับข้าพเจ้า และต้องการอุทิศชีวิตทั้งหมดเพื่อการพระศาสนา พระสดพาประชาไปหาเจ้าคณะจังหวัดสุราษฎร์ธานีให้เป็นอุปัชฌาย์บวชให้เขา และเขาก็เข้าไปอาศัยสวนโมกขพลารามอยู่เป็นเวลากว่าทศวรรษ”
อนุสรณ์อันเป็นรูปธรรมาจากชีวิตสมณเพศของพระประชา ปสนฺนธมฺโม คือการสัมภาษณ์พระมหาเงื่อม อินฺทปญฺโญ จนสำเร็จออกมาในชื่อ เล่าไว้ในวัยสนธยา ซึ่งคำถาม การจับประเด็น และการนำเสนอตัวตนของพุทธทาสภิกขุออกมานั้น ทำออกมาได้อย่างที่ไม่มีใครเสมอเหมือน อีกเล่มหนึ่ง คือ ปาฏิหาริย์แห่งการตื่นอยู่เสมอ ที่แปลมาจากงานของติช นัท ฮันห์ ซึ่งถือได้ว่าเป็นเล่มแรกของท่านนัท ฮันห์ ในบรรณพิภพไทย และเมื่อปี 2565 เพิ่งพิมพ์ครั้งที่ 28 ออกมาวางจำหน่าย
ในทางวิถีชีวิตนั้น พระไพศาล วิสาโล กล่าวถึงพระประชาว่า “ข้าพเจ้าเอง…ได้รับอิทธิพลจากข้อคิดและงานเขียนของพี่ประชามิใช่น้อย โดยเฉพาะในช่วงที่พี่ประชาใช้ชีวิตทวนกระแสในเพศสมณะ ถ้าพี่ประชาไม่ได้ก้าวเดินบนเส้นทางนี้มาก่อน ข้าพเจ้าอาจไม่ได้บวชมาจนถึงวันนี้”
ในปี 2532 ประชาร่วมก่อตั้งเครือข่ายพุทธศาสนิกสัมพันธ์นานาชาติเพื่อสังคม (International Network of Engaged Buddhists: INEB) เพื่อเชื่อมโยงนักกิจกรรมชาวพุทธและผู้นำจากศาสนาอื่นในหลายประเทศมาแลกเปลี่ยนและสนับสนุนการทำงานเพื่อสังคมระยะยาว
หลังจากไปเรียนหลักสูตรสำหรับนักฝึกอบรมจนจบขั้นสูงสุดจาก A Movement for Society สหรัฐอเมริกา ประชานำหลักสูตรนี้มาประยุกต์กับพุทธกระบวนทัศน์ให้สมสมัย ใช้ในกระบวนการฝึกอบรมต่างๆ และได้ทำโครงการฝึกอบรมผู้นำระดับรากหญ้า (Grassroots Leadership Training: GLT) กับคนไทยและคนจากประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งต่อมาพัฒนาเป็นเสมสิกขาลัย ภายใต้มูลนิธิเสฐียรโกเศศ-นาคะประทีป
อีกองค์กรหนึ่งภายใต้ฉายาของมูลนิธิเสฐียรโกเศศฯ คือ อาศรมวงศ์สนิท คลอง 15 จังหวัดนครนายก นั้น ประชาก็มีส่วนเกี่ยวข้องอย่างสำคัญในการสร้างพื้นที่ทดลองใช้ชีวิตของนักกิจกรรมทางสังคม มุ่งสร้างชุมชนวิถีทางเลือกใหม่ นอกจากนี้ ประชายังเคยใช้ชีวิตที่ฟินด์ฮอร์น ซึ่งเป็นชุมชนทางเลือกในทางเหนือของสกอตแลนด์อีกด้วย
ในปี 2548 ด้วยแนวคิดของพุทธทาสภิกขุที่ว่า “ศีลธรรมของเยาวชนคือสันติภาพของโลก” ประชาตั้งสถาบันยุวโพธิชน เพื่อเป็นสถาบันพัฒนาคุณภาพชีวิตเยาวชนและจัดกระบวนการเรียนรู้กระบวนทัศน์ใหม่ และเป็นการสร้างนิเวศทางการศึกษาหล่อหลอมคนรุ่นใหม่
นอกจากนั้น ประชายังมีส่วนร่วมก่อตั้งมูลนิธิสัมมาชีพ ที่มุ่งจะมีส่วนในการจัดการศึกษาเพื่อการเปลี่ยนแปลงสังคมในหมู่นักธุรกิจและนักการเมือง ทั้งยังตั้งชุมชนนิเวศเอเชีย (Ecovillage Transition Era: ETA) ที่ให้ความสำคัญกับการเปลี่ยนเมืองให้น่าอยู่ และการขับเคลื่อนเรื่องมนุษย์กับธรรมชาติที่เน้นความยั่งยืนของระบบนิเวศ
ในช่วงท้ายของชีวิต ประชามุ่งสู่การเปลี่ยนแปลงสังคมผ่านการเจาะไปที่คุณค่าพื้นฐาน จึงตั้งหลักสูตรผู้นำกระบวนทัศน์ใหม่ (Awakening Leadership Training: ALT)
วราภรณ์ หลวงมณี ที่ทำงานกับประชามาถึง 16 ปี เคยถามประชาว่า “คุณค่าของงานที่เรากำลังทำอยู่คืออะไร ใช่เรากำลังขับเคลื่อนเพื่อเปลี่ยนแปลงสังคมหรือไม่” ประชาตอบว่า “เราไม่สามารถทำขนาดนั้นได้หรอก แต่เรากำลังทำเรื่องเปลี่ยนแปลงคุณค่าพื้นฐานของสังคม” ในความหมายที่ว่าเปลี่ยนสังคมวัตถุนิยมเป็นสังคมที่มีจิตวิญญาณ เปลี่ยนสังคมที่เอารัดเอาเปรียบมาเป็นมิตรกับธรรมชาติ เปลี่ยนสังคมที่แก่งแย่งแข่งขันเป็นเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ และเปลี่ยนสังคมที่บูชาความเจริญก้าวหน้าทางวัตถุสู่สังคมที่มีสมดุลของคุณภาพชีวิตและเลือกสรรเทคโนโลยีอย่างชาญฉลาด
นอกจากนั้น ประชายังสัมภาษณ์ ส. ศิวรักษ์ เผยแพร่ในโลกออนไลน์อย่างเป็นระบบคิด ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการแสวงหาความรู้ เรื่องความยุติธรรม และที่ได้รับความนิยมมาก คือ ชุดประวัติศาสตร์ ทั้งจักรีปริทัศน์ การอภิวัฒน์ 2475 และการเมืองไทยร่วมสมัย ดังที่พิภพ ธงไชย ตั้งข้อสังเกตว่า “งานช่วงหลังที่ประชาทุ่มเททำ คือ การเสนอศักยภาพในตัวครูของตน โดยเฉพาะบทสัมภาษณ์…”
ไม่เพียงเท่านั้น ประชายังตั้งสำนักพิมพ์เสมสิกขาลัยขึ้นมาเผยแพร่ความรู้พื้นฐานในด้านต่างๆ อย่างขยันขันแข็ง ไม่ว่าจะเป็นประวัติบุคคล แนวความคิดพื้นฐานในด้านต่างๆ (แม้บางเล่มอาจจะผิดพลาดไปบ้าง หรือยังไม่ถึงกับเป็นเลิศ แต่ก็นับเป็นอุปกรณ์เบื้องต้นสำหรับการแสวงหาความรู้ขั้นต้นในด้านนั้นๆ ได้) และการนำหนังสือคลาสสิกหลายเล่มกลับมาพิมพ์ใหม่ เช่น จุดเปลี่ยนแห่งศตวรรษ และ ปาฏิหาริย์แห่งการตื่นอยู่เสมอ เป็นต้น
อ่านบทความฉบับเต็มได้ที่ : https://www.the101.world/pracha-hutanuwatra/