มูลนิธิเสฐียรโกเศศ-นาคะประทีป

Sathirakoses-Nagapradjpa Foundation (SNF) ในพระอุปถัมภ์ขององค์ทะไลลามะแห่งธิเบต 

มูลนิธิเสฐียรโกเศศ-นาคะประทีป เป็นองค์กรหรือสถานสาธารณกุศล ลำดับที่ 501 ของประกาศกระทรวง การคลัง ผู้บริจาคเงินเพื่อสนับสนุนโครงการต่าง ๆ ของมูลนิธิ สามารถนำใบเสร็จรับเงินไปลดหย่อนหักค่า ใช้จ่ายในการคำนวณเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา / ภาษีเงินได้นิติบุคคลประจำปีตามที่กฎหมายกำหนดได้

นามแห่งองค์กรนี้ มีที่มาแต่คู่แห่งบุรุษผู้เป็นนักศึกษาเรียนรู้คนสำคัญในสมัยของตน ทั้งสองเติบโตทางสติปัญญา ควบคู่ไปกับมิตรภาพที่มีต่อกัน โดยเฉพาะท่านแรกคือเสฐียรโกเศศนั้น เป็นแบบอย่างของปราชญ์ที่ศึกษา เสาะแสวงความรู้ด้วยตัวเอง โดยการค้นคว้าหาความรู้ ถามไถ่ท่านผู้มีปัญญา หรือกระทั่งซักไซ้ไล่เลียงจากเด็กๆ เพื่อให้ได้รู้ในสิ่งที่อยากรู้แต่ยังไม่รู้ ท่านเป็นคนอ่อนน้อมถ่อมตน การศึกษาในเรื่องใดๆ ของท่านจะตั้งต้นจากง่ายไปหายากเสมอ นั่นคือ จากพื้นฐานไปสู่ความสุขุมลุ่มลึกลงโดย ลำดับ การศึกษาด้วยตนเองของท่าน เช่น ด้านมานุษยวิทยาทางไทยนั้น นับเป็นการวางรากฐานที่สำคัญ สำหรับให้นักวิชาการชั้นต่อมาพัฒนาจนเป็นไทยวิทยา หรือไทยคดีศึกษา เป็นต้น

พระยาอนุมานราชธน (ยง เสฐียรโกเศศ)
https://www.silpa-mag.com/

อาจารย์สุลักษณ์ ศิวรักษ์ หนึ่งในผู้ก่อตั้งมูลนิธิเสฐียรโกเศศ-นาคะประทีป เป็นบุคคลหลักที่อำนวยให้เกิดการเติบโต และคลี่คลายขยายตัวของมูลนิธิฯ มาโดยตลอด นอกจากจะฝากตัวเป็นศิษย์ต่อพระยาอนุมานราชธน เจ้าของนามปากกา เสฐียรโกเศศ ตามแนวทางการแสวงหาความรู้อย่างของไทย โดยฟังคำแนะนำตักเตือนของครูตลอดเวลาที่ท่านดำรงชีพอยู่แล้ว อาจารย์สุลักษณ์ยังเป็นผู้ที่เข้าถึงปฏิสัมพันธ์อันดีระหว่าง บุคลาธิษฐานกับธรรมาธิษฐาน ซึ่งมีความหมายว่าความดีต้องอาศัยเรือนร่างของผู้ประกอบ กรรมดี เพื่อสำแดงความดีนั้นให้ปรากฏ ชื่อของมูลนิธิจึงมีความไพเราะ ในเหตุที่ความดีและคนดีได้มาบรรจบพบกัน และมิได้หยุดลงที่การเทิดทูนครูในอดีตเท่านั้น หากยังแผ่ความเคารพไปถึงศิษย์ในอนาคต จึงทำให้อดีตเป็นปัจจุบัน ทั้งยังมีพลวัตหนุนส่งให้ก่อเกิด เป็นนฤมิตกรรมทางสังคมในอนาคตกาลอีกด้วย

มูลนิธิเสฐียรโกเศศ-นาคะประทีปแห่งนี้ จึงเป็นองค์อินทรีย์ที่มีชีวิต หรือเป็นองค์กรแห่งชีวิตที่มีการเติบโตคลี่คลาย และวิวัฒน์ดุจเดียวกับสิ่งมีชีวิตทั้งหลาย มีความเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงและเรียนรู้ เป็นขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคม ยิ่งกว่าจะเป็นสถาบันที่มีโครงสร้าง และแบบแผนอันตายตัวอยู่นิ่ง อาจารย์สุลักษณ์ได้ย้ำอยู่เสมอว่า ไม่ควรที่เราจะย่ำเท้าอยู่กับที่ หากต้องขยับขับเคลื่อนไปอย่างเป็นขบวนการ เมื่อได้พินิจพิเคราะห์ประวัติของมูลนิธิเสฐียรโกเศศ – นาคะประทีป จะเห็นได้ว่า แต่เริ่มแรกมูลนิธิ ตั้งต้นด้วยการเป็นเพียงองค์กรช่วยเหลืออนุเคราะห์นักเขียน และศิลปินตกยาก แต่แล้ว ก็ค่อยๆ ขยายขอบเขตกว้างขวางขึ้นโดยลำดับ

เมล็ดพันธุ์ไม้เล็กๆ อาจเกิด และเติบโตเป็นต้นไม้ใหญ่ฉันใด ความเปลี่ยนแปลงชนิดที่พลิกโลกได้ ก็เริ่มจากการกระทำของคนกลุ่มเล็กๆ ฉันนั้น ปรากฏการณ์ต่อไปนี้คือเรื่องราวของมูลนิธิเสฐียรโกเศศ-นาคะประทีป องค์กรอาสาสมัครไม่แสวงหาผลกำไร และมิใช่องค์กรของรัฐ หากเป็นองค์กรเล็กๆ ที่ใช้มิติทางวัฒนธรรม ต่อสู้คะคานกับอำนาจ บาตรใหญ่อันง้ำตระหง่านอยู่ สามสิบห้าปีของมูลนิธิฯ เกี่ยวโยงอย่างลึกซึ้งกับผู้ก่อตั้งที่แข็งขัน คืออาจารย์สุลักษณ์ ปัญญาชนสยาม ผู้ใช้พลังทางวัฒนธรรมเต็มรูปแบบ เพื่อต่อกรกับเผด็จการและความอยุติธรรม ในอันที่จะยังให้เกิดอิสรภาพ สิทธิมนุษยชน การสืบทอดเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรมอย่างเหมาะสม ตลอดจนการเติบโตของสังคมสันติประชาธรรม อันหมายเอาถึงประชาชน ที่แม้จะสังกัดองค์กรหรือหน่วยงานใดก็ตาม ยังสามารถดำรงความเป็นอิสระ แห่งจิตวิญญาณของมนุษย์ไว้ได้อย่างเต็มเปี่ยมบนมรรคาแห่ง สันติวิธี

http://www.thai-explore.net/

หนึ่งในภารกิจที่อาจารย์สุลักษณ์ได้กระทำ ซึ่งอยู่ระหว่างบรรทัดของวัตถุประสงค์มูลนิธิฯ นั่นก็คือการสร้างสรรค์รูปแบบผู้นำใหม่ เพื่อการเปลี่ยนแปลงที่เนื้อหาสาระ ในทุกๆ ระดับชั้นของสังคม ดังนั้น ในช่วงกาลสองสามทศวรรษหลังนี้ เราจะได้เห็น การแตกหน่อเบ่งบานออกมาเป็นองค์กรใหม่ๆ มากมายภายใต้ฉายาของมูลนิธิเสฐียร- โกเศศ-นาคะประทีป ทุกองค์กรดำเนินการด้วยตัวเอง โดยอาจจะมีคำแนะนำอย่างไม่เป็นทางการจากอาจารย์ เฉพาะในกรณีคุณขอมาเท่านั้น

ผู้นำรุ่นใหม่ในองค์กรพี่น้องเหล่านี้ เป็นผู้ที่ได้รับการศึกษามาอย่างต่างวิธี แต่มีความปรารถนาจะรับใช้คนยากคนจน และบุคคลชายขอบ ยิ่งกว่าต้องการไต่เต้าเอาดี ในทางสถานภาพสังคมเหมือนๆ ที่คนรุ่นเดียวกับพวกเขาส่วนใหญ่ได้กระทำ ผู้นำใหม่เหล่านี้หันมาใช้ชีวิตในเงื่อนไขและโอกาสที่จะได้ฟังเสียงจากระดับรากหญ้า และแทนที่จะไปสั่งไปสอนหรือช่วยโปรดบรรดาคนเหล่านั้น พวกเขาต่างก็ช่วยเหลือซึ่งกันและกัน โดยล้วนเรียนรู้จากกันและกันไปพร้อมนั้น สมบัติประการหนึ่งที่ทำให้เครือข่ายมูลนิธิ เสฐียรโกเศศ-นาคะประทีป โดดเด่นกว่าองค์กรพัฒนาเอกชนด้วยกันก็คือ ความใฝ่ใจในการพัฒนาทางจิตวิญญาณอย่างแท้จริง พวกเขาเชื่อว่าการเปลี่ยนแปลงจากด้านในของชีวิต หรือการเปลี่ยนแปลงในระดับสภาวะทางจิตใจนั้น จำต้องดำเนินไปเคียงคู่กับการเปลี่ยนแปลงทางโครงสร้างสังคมอย่างมีปฏิสัมพันธ์ และจากมุมมองนี้ ย่อมเป็นสาเหตุให้พวกเขาหาฝักฝ่ายที่จะยืนอยู่ด้วยได้ยาก ไม่ว่าจะเป็นซ้าย-ขวา อนุรักษ์นิยม-เสรีนิยม กับทั้งพวกสนใจศาสนธรรมอย่างจารีตก็หาเข้าใจพวกเขาไม่ ชาวเครือข่ายมูลนิธิเสฐียร-โกเศศ-นาคะประทีปนั้น ทำสมาธิ เจริญภาวนา แผ่เมตตาให้กับหมู่สัตว์และสรรพสิ่งเช่นเดียวกัน แต่พวกเขาก็เข้าร่วมการประท้วงกับสมัชชาคนจนด้วย พวกเขาพูดและกระทำการเพื่อความยุติธรรมทางสังคม แต่ก็มีบทบาทวิพากษ์พวกซ้ายที่ยึดติดคัมภีร์ และพวกเสรีนิยมก้าวหน้ามาบ้างแล้ว พวกเขาปฏิบัติการ เพื่อความฟื้นคืนตัวของระบบนิเวศน์และสร้างเสริมกระบวนทัศน์ใหม่ให้ปรากฏ แต่พวกเขาก็วิพากษ์อาการตื้นเขินของยุคใหม่ในตะวันตกด้วยเช่นกัน บางทีความสำคัญที่สุดอาจจะอยู่ตรงที่ว่า บุคคลเหล่า นี้พูดถึงทางออกอันยั่งยืน ในขณะที่ดำรงตนอยู่โดยหลักการเช่นนั้นอย่างเป็นจริงเป็นจัง โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่อาศรมวงศ์สนิทนั้น ได้ประกอบขึ้นด้วยหลักการของความเป็นอยู่อย่างเรียบง่าย พวกเขาล้วนเห็นว่าการปฏิบัติธรรม และการทำงานเพื่อเปลี่ยนแปลงสังคม นั้น ได้หลอมรวมอยู่ร่วมกัน

เมื่อพิจารณาในแง่ขบวนการทางสังคม ก็นับว่าพวกเขาทะเยอทะยานมิใช่น้อย โดยความพยายามรวบรวมจุดเด่น ข้อดีของหลายๆ แนวคิดเข้าด้วยกัน และไม่ละเลยที่จะบูรณาการคุณค่าทางจิตวิญญาณ และวัฒนธรรมของสังคมไทย และเอเชียเอาไว้ด้วย

ภารกิจเบื้องหน้าของขบวนแถวผู้นำรุ่นใหม่ในเครือข่ายมูลนิธิเสฐียรโกเศศ-นาคะ-ประทีป น่าจะอยู่ที่การแปลวิสัยทัศน์ หลักการ ตลอดจนบททดลองที่ประสบผลสำเร็จและล้มเหลว ในการเปลี่ยนแปลงระดับจุลภาคทั้งมวล ให้เป็นการปฏิรูปชั้นมหัพภาคอย่าง แท้จริง แน่นอนว่าสิ่งที่เอ่ยถึงนี้ ย่อมต้องมาจากการรวมตัวกันของเครือข่ายองค์กรพัฒนา เอกชน องค์กรชาวบ้านที่อยู่นอกเหนือแวดวงมูลนิธิเสฐียรโกเศศ-นาคะประทีปออกไป ซึ่งมิใช่เรื่องง่าย หรือแม้จนเมื่อมีสัมฤทธิผลขึ้นบ้างบางระดับแล้ว การธำรงรักษาให้คงไว้ ก็นับเป็นความยากลำบากอีกเปลาะหนึ่ง ด้วยกระแสของบรรษัทข้ามชาตินั้นพัดกระหน่ำอย่างเชี่ยวกราก เราจึงจำต้องขยายผลสำเร็จขององค์กรชาวบ้าน ออกไปให้ มาก และปลูกฝังวัฒนธรรมที่จะผลิต และบริโภคผลิตภัณฑ์ในท้องถิ่นอย่างเหมาะสมให้มั่นคงลงรากลึก กล่าวอีกนัยหนึ่งก็คือ มุ่งสร้างเสริมความเข้มแข็งให้กับชุมชนท้องถิ่นในทุก ๆ ทาง เช่นนี้จึงจะเป็นหลักประกันอันหนักแน่นว่า คนยากไร้ชายขอบจะสามารถเงยหน้าอ้าปาก ราษฎรจะมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นอย่างแท้จริง

http://oknation.nationtv.tv/
http://www.thai-explore.net/

งานริเริ่มบุกเบิกในโครงการนำร่องประสบความสำเร็จอยู่บ้าง และศิลารากฐาน ของการเปลี่ยนแปลงสังคมได้ถูกวางลงไปแล้ว ประเด็นท้าทายอยู่ที่ว่าการทำงานเพื่อวิสัยทัศน์ อย่างผนวกเอาแนวทางของนักกิจกรรมกับการปฏิบัติธรรมเข้าไว้ด้วยกันเช่นนี้ จะสามารถดำเนินต่อไปอย่างงอกเงยยิ่งๆ ขึ้น ในอนาคตทั้งในระยะใกล้และที่ยาวไกลออกไปได้หรือไม่ ภาระความรับผิดชอบข้อนี้ ย่อมต้องการการถ่ายเทจากผู้นำกระบวนคือ อาจารย์สุลักษณ์ ผู้อยู่ในปูนชรา ไปสู่คนรุ่นต่อไป อันหมายถึงคนหนุ่มสาวที่อาจารย์ได้สละอุทิศกำลังกายใจ ความคิดและสติปัญญา ในการอบรมบ่มเพาะมาตลอด เป็นเวลาเกินกว่าสามทศวรรษ