ดูนกเพื่อรักษาป่า
Author : Admin
ความจริงที่นี่ยังคงต้องการแรงงานเพื่อปลูกต้นไม้อีกมาก โดยขึ้นไปปลูกที่ วัดป่ามหาวัน ซึ่งมีขนาดราว 3,000 ไร่ แต่เนื่องจากคณะของเราเป็นคณะผ้าป่าครอบครัว มีทั้งเด็กเล็กและผู้สูงอายุเดินทางไม่สะดวก จึงไม่ได้ขึ้นไป
ในคืนแรก พวกเราได้ดูภาพบรรยากาศของคณะพระสงฆ์ในวัดกับคณะของกลุ่มเด็กรักนกบ้านทะไฟหวานไปดูนกด้วยกันที่เขาใหญ่ โดยมีวิชัย หัวหน้ากลุ่มเด็กรักนกบ้านท่ามะไฟหวานเป็นผู้บรรยาย และในเช้าวันถัดมา วิชัยและหลานชายของเขาก็เป็นผู้อาสาพาพวกเราและเด็กๆ เดินดูนกยามเช้าในวัดป่าสุคะโต
วิชัยเป็นคนในท้องถิ่น ชอบการดูนก หัดดูนกครั้งแรกก็เพราะวัดจัดกิจกรรม ความผูกพันกับวัด กับแผ่นดินถิ่นเกิดทำให้เขาคิดที่จะรักษาสิ่งดีๆเอาไว้ให้คนรุ่นต่อจากเขา ผืนป่าต้นน้ำลำปะทาว คือสิ่งที่วิชัย หวังจะเก็บรักษาให้อยู่คู่กับชุมชน ต่อไปนี้คือสิ่งที่วิชัยได้ถ่ายทอดให้พวกเรา คนกรุงเทพ ฟังค่ะ
งานวิจัย นกช่วยปลูกป่า เริ่มจากโจทย์ที่ว่า ต้นไม้ในป่านั้น ใครเป็นผู้ปลูก พวกเราก็คงตอบได้ว่าธรรมชาตินั้นเองที่ให้กำเนิดต้นไม้ แต่เนื่องจากพวกเราชอบดูนก เราก็อยากรู้ว่านกมีส่วนเกี่ยวพันกับการปลูกต้นไม้บ้างหรือเปล่า พวกเราอยากช่วยรักษาป่า แต่เราไม่รู้จะทำอย่างไร หลวงพี่ตุ้ม (พระอาจารย์สันติพงษ์ เขมะปัญโญ) ท่านจึงช่วยเชื่อมโยงกิจกรรมที่พวกเราชอบกับความปรารถนาที่จะรักษาป่า จึงเกิดคำถามว่า เป็นไปได้หรือไม่ที่นกจะเป็นผู้ที่ช่วยปลูกต้นไม้ ซึ่งถ้านกช่วยได้ ก็แสดงว่าการรักษานกก็เป็นรักษาป่า และถ้าจะรักษาป่าก็ต้องดูแลนก จึงคิดทำงานวิจัยเ พื่อเราจะได้นำไปบอกเล่ากับคนอื่นๆ ได้อย่างเป็นเหตุเป็นผล โครงการวิจัย นกช่วยปลูกป่า จึงเริ่มขึ้นในพื้นที่ในวัดแห่งนี้ ซึ่งพระ และ ญาติโยม ต่างก็มีส่วนร่วมด้วยกันทุกคน
เริ่มจากเก็บข้อมูลเรื่อง นกกินผลไม้ คือตามเฝ้าดูพฤติกรรมของนก ว่ามีนกกี่ชนิดที่กินผลไม้ ซึ่งจากการเก็บข้อมูลของเราพบว่ามีนก 218 ชนิด ที่กินผลไม้เป็นอาหาร นั่นหมายความว่า มีนกถึง 218 ชนิดที่ มันอาจจะช่วยปลูกต้นไม้!!! (คือนกกินผลไม้ แล้วอึออกมาในที่ต่างๆ แล้วอึนั้นก็งอกออกมาเป็นต้นไม้) เบาแรงคนไปเยอะเลยนะครับ ถ้าเราอนุรักษ์นกเหล่านี้ไว้ได้ …แต่การจะอนุรักษ์นกเหล่านี้ไว้ได้ก็ต้องรักษาต้นไม้เหล่านั้น (ต้นไม้ที่มีผลให้นกกิน) เพื่อให้นกมีอาหาร เราจึงติดตามว่า แล้วมีต้นไม้อะไรบ้างที่นกสามารถกินเป็นอาหารได้ เราพบว่ามีต้นไม้ถึง 999 ชนิดที่นกใช้กินเป็นอาหาร (โอ้โห) นี่คือในพื้นที่สำรวจของเราในวัดป่าสุคะโตนะครับ (ยังไม่รวมต้นไม้ที่นกใช้เป็นที่อยู่อาศัย แต่ไม่ได้กินเป็นอาหารว่า มีกี่ชนิด)
เนื่องจากเป็นงานวิจัย พวกเราต้องทำงานในภาคสนาม ก็ต้องเก็บข้อมูลว่ามีไม้อะไรบ้างที่ให้ผล ผลไม้นั้นสุกช่วงไหน แล้วมีนกกี่ชนิดที่มากินผลไม้ชนิดนั้นๆ กินในเวลาไหน ต้องคอยเผ้ากัน ซึ่งข้อมูลแบบนี้เราต้องทำงานกับผู้ใหญ่ในชุมชน เพราะเขารู้จักต้นไม้มากกว่าพวกเรา พวกผู้ใหญ่จะรู้ว่าต้นไม้นั้นออกผลในฤดูกาลไหน มีนกอะไรมากิน และต้นไม้ที่ว่ามันอยู่ตรงไหนของป่าสุคะโต
ก็กลายเป็นการทำงานร่วมกันของ ผู้ใหญ่กับเด็ก บางทีผู้ใหญ่รู้ว่านกมากินผลไม้จากไม้ต้นนั้น แต่ไม่รู้ว่านกอะไร แต่พวกเรารู้ พวกเราชำนาญเรื่องการดูนกมากกว่า แต่เรามีความรู้เรื่องต้นไม้ไม่เท่าผู้ใหญ่ พอได้เดินป่าด้วยกันบ่อยๆ ก็เกิดความเข้าใจกัน เป็นการทำงานร่วมกันของผู้ใหญ่กับเด็ก เดินไปก็คุยกันไป เป็นความสัมพันธ์ที่ดี ผู้ใหญ่บางคนชอบจับนก ยิงนก ก็สามารถเปลี่ยนพฤติกรรมได้ รู้ว่าต้องรักษานก ถ้าอยากให้ป่าคงอยู่ เด็กๆ เองก็มีความรู้เรื่องต้นไม้ เรื่องสมุนไพรติดตัวมาด้วยเพิ่มขึ้น เมื่อก่อนเราไม่สนใจต้นไม้ สนใจแต่จะดูนก ตอนนี้ก็รู้ว่าถ้าอยากเห็นนกชนิดนี้ อยากอนุรักษ์ ก็ควรจะปลูกต้นอะไร ต้องรักษาต้นอะไร และได้ความรู้เรื่องคุณประโยชน์ต้นไม้เพิ่มขึ้นด้วย รู้จักสรรพคุณทางสมุนไพร รู้จักการนำต้นไม้ไปเป็นประโยชน์ใช้สอย
ครั้งหนึ่ง ทุกคนในคณะเดินไปพบตอไม้ใหญ่ขนาดมากต้นหนึ่งถูกตัดโค่นลงไปสดๆ ผู้ใหญ่คนหนึ่งที่ไปด้วยกันเป็นอดีตนายพรานเดินดูสภาพรอบๆ ต้นไม้แล้วก็เอ่ยออกมาว่า “ไม้แบบนี้ไม่ได้ตัดเอาไปทำบ้าน ไม่ได้ค่นเอาไปเพื่อใช้ประโยชน์ แต่ถูกโค่นเพื่อจะเอากล้วยไม้ที่มันอยู่บนยอดไปขาย…” ข้อมูลแบบนี้เชื่อถือได้ว่าจริง เพราะคนพูดเป็นนายพราน มีความรู้เรื่องต้นไม้ดี รู้ว่ากล้วยไม้อะไรที่จะอาศัยอยู่บนไม้ชนิดนั้น รู้ด้วยว่าพฤติกรรมแบบนี้ใครในหมู่บ้านเป็นคนทำ ซึ่งก็จะได้ตามแก้ปัญหากันต่อไป ทำเรามองเห็นว่า การจะทำงานเพื่ออนุรักษ์ป่านั้นจะมีใครบ้างที่เกี่ยวข้องกับเรา เห็นมิติการทำงานที่กว้างขึ้น
มีอีกครั้งหนึ่ง ในโครงการมีอาสาสมัครเป็นคนที่ชอบขโมยลูกนกไปขาย ตอนแรกก็กังวล ไม่ชอบเขา แต่พอเขาเข้าไปในป่ากับเราเขาบอกได้เลยว่า ต้นไม้ไหนมีรังของนกอะไรอยู่ อยู่ตรงไหนของป่า ถามว่า เขารู้ได้อย่างไร เขารู้ เพราะเขาเคยมาเฝ้าต้นไม้เพื่อจะขโมยลูกนกไปขาย ซึ่งมันต้องเฝ้ากันเป็นวันๆ ต้องหมั่นสังเกตุตั้งแต่มันมาทำรัง วางไข่ รู้อุปนิสัยนก บางทีรู้ดีกว่าพวกเราอีก พอเขามาเข้าร่วมโครงการกับเรา ค่อยๆ เห็นคุณค่าของการทำงานของเรา เห็นคุณค่าของป่าไม้ เขาก็เลิกจับนกขาย แถมยังให้เบาะแสอื่นๆ กับเราด้วย ทำงานแบบนี้เราจะไม่ปฏิเสธผู้คน แต่เราจะยินดีให้เขามาเรียนรู้ร่วมกับเรา เพราะเราก็ได้ความรู้จากเขาด้วย
จากนั้นในเช้าวันรุ่งขึ้นพวกเราก็ได้เดินสูดอากาศยามเช้าในบริเวณป่าในวัด ตัวดิฉันนั้น ไม่เคยดูนกมาก่อน การเดินในเช้าวันนั้นก็ไม่เห็นนกเลยสักตัว แต่ก็ไม่ได้รู้สึกว่าเสียเที่ยว การได้ฟังความคิดเห็น เห็นความงอกงามของที่นี่แล้วทำให้รู้สึกดีใจมากที่ได้มารับรู้ ร่วมทำกิจกรรมเพื่อสร้างความเข้มแข็งให้กับชุมชน
เมื่อเช้านี้ ดิฉันนั่งมองนกที่บ้านของตัวเอง ที่ระเบียงบ้านมีต้นน้อยหน่าที่ปลูกเองแบบเทวดาเลี้ยง จึงมีเพลี้ย มีหนอนอยู่บ้าง พอสมควร อากาศยามเช้าในกรุงเทพไม่สดชื่นเท่ากับในสุคะโตก็จริง แต่ก็เป็นความสดชื่นของอากาศมากที่สุดในรอบวัน เมื่อแดดเริ่มออก นกก็เริ่มออกมาเกาะบนกิ่งไม้ ไซร้ปีก ไซร้หาง มันไม่กลัวฉัน ทำกรีดปีกกรีดหางอวดโฉม จิกกินแมลงกินไปด้วยไปตามประสา จะเป็นเพราะมันมัวแต่โชว์ออฟหรืออย่างไรไม่ทราบ พลัดจากกิ่ง หัวคะมำ เสียฟอร์มนกเป็นที่สุด ขำก็ขำ อายแทนมันด้วย ….คงชินกับสายไฟมากกว่าต้นไม้น่ะ เป็นครั้งแรกที่ฉันมองนกด้วยสายตาที่เปลี่ยนไป รู้สึกเอ็นดู และเห็นเป็นเพื่อนเล่นขำขันได้ จึงรู้สึกว่า กิจกรรมดูนก ใกล้ตัวมากขึ้น คนเมืองอาจจะแค่ปลูกไม้ดอกไม้ประดับตามรั้วบ้าน ตามระเบียงแล้วแต่สภาพอำนวย แต่ขอให้เราไม่ใช้ยาฆ่าแมลง เท่านี้ก็คงพอได้ช่วยให้นกเล็กๆ ในกรุงเทพได้มีที่อยู่อาศัย ฝึกจับกิ่งไม้แทนการเกาะบนสายไฟบ้างนะคะ …แหม…เสียสถาบันนกหมดเลย