เทศกาลศิลปวัฒนธรรม จากหิมาลัยสู่เจ้าพระยา
Author : SNF
ถ้ามองในแง่ภูมิศาสตร์ประเทศไทยกับธิเบตอยู่ห่างไกลกันลิบลับไม่มีความเกี่ยวข้องกันในทางประวัติศาสตร์ แต่หากมองในด้านวัฒนธรรมความเชื่อ ไทยและธิเบตมีส่วนที่เชื่อมโยงถึงกันได้ด้วยเป็นประเทศที่นับถือพุทธศาสนาเหมือนกัน อีกทั้งธิเบตมีพัฒนาการทางประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมประเพณีที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวที่มีความงดงามโดดเด่น ชาวธิเบตเป็นชาวพุทธผู้อ่อนโยน มีศรัทธาต่อศาสนาอย่างลึกซึ้งมั่นคง ด้วยเหตุนี้มูลนิธิเสฐียรโกเศศ – นาคะประทีปร่วมกับองค์กรภาคีจึงได้จัดเทศกาลศิลปวัฒนธรรม จากหิมาลัยสู่เจ้าพระยา ในระหว่างวันที่ ๕ – ๑๐ มีนาคม ๒๕๕๓ ณ หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร สี่แยกปทุมวัน กรุงเทพมหานคร โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเผยแพร่วัฒนธรรมธิเบตที่เป็นดั่งวัฒนธรรมของโลกให้สังคมมองเห็นคุณค่า อันนำไปสู่การแลกเปลี่ยนวัฒนธรรม ประเพณี ศาสนา ศิลปะ ระหว่างชาวไทยกับชาวธิเบต
ท่ามกลางวัฒนธรรมสมัยใหม่ที่แพร่กระจายไปทั่วทุกมุมโลก วัฒนธรรมประเพณีดั้งเดิมถูกสั่นคลอน ชาวธิเบตพลัดถิ่นเป็นตัวอย่างอันดีที่ยังพยายามรักษาประเพณี วิถีปฏิบัติ และวัฒนธรรมอันงดงาม แม้พวกเขาต้องจากถิ่นฐานเดิมมาเริ่มต้นชีวิตในดินแดนใหม่หากแต่รากฐานวัฒนธรรมเดิมคงแทรกซึมอยู่ในสายเลือด และยังส่งต่อวัฒนธรรมอันดีงามไปยังชนรุ่นหลัง
การจัดงานครั้งนี้แม้จะมีอุปสรรคเป็นระยะ ๆ จนเมื่อก่อนการเปิดงานเล็กน้อยมีกลุ่มชาวจีนจากสมาคมแต้จิ๋วมาประท้วงขับไล่คณะชาวธิเบตที่มาเผยแพร่วัฒนธรรม ประเพณีอันงดงาม ด้วยเข้าใจว่าการจัดงานครั้งนี้เป็นไปเพื่อการเคลื่อนไหวทางการเมืองของชาวธิเบตซึ่งเกี่ยวเนื่องกับจีนแผ่นดินใหญ่ แต่คณะผู้จัดงานทุกคนมิได้หวั่นไหว เพราะเจตนารมณ์ไม่ได้เป็นไปตามที่พวกเขากล่าวอ้าง คณะผู้จัดงานต้องการให้คนไทยได้ชื่นชมศิลปวัฒนธรรมอันงดงามของชาวธิเบต ซึ่งนับเป็นครั้งแรกที่มีการจัดการแสดงทางวัฒนธรรมธิเบตในเมืองไทย
สำหรับเนื้อหาและรายละเอียดของงานก็ล้วนเกี่ยวเนื่องกับศิลปวัฒนธรรมของชาวธิเบตและการแสดงของชนเผ่าทางเหนือของไทย โดยแบ่งภาพงานออกเป็น ๒ ส่วน คือ นิทรรศการและการสาธิตกับการแสดงวัฒนธรรมและดนตรี อาทิ
๑. การวาดภาพทรายมันดาลาของพระสงฆ์ ซึ่งเป็นรูปแบบการฝึกจิตอย่างหนึ่ง การสร้างมันดาลาบางครั้งพระสงฆ์จะท่องมนตราและแผ่เมตตา ผู้สร้างต้องมีสมาธิแน่วแน่ การสร้างเริ่มจากจากรูปทรงเรขาคณิตแบบง่าย ๆ และค่อย ๆ เพิ่มรายละเอียดจนเป็นรูปมันดาลาสามมิติที่สมบูรณ์งดงาม ปริศนาธรรมที่แฝงมาในมันดาลาคือ ไม่ว่าจะสมบูรณ์สวยงามหรือมั่นคงเพียงใด สุดท้ายก็ต้องสูญสลายไปตามธรรมชาติ และเมื่อสูญสลายไปแล้วก็จะต้องถูกสร้างขึ้นมาใหม่ เพราะความมีอยู่ทำให้เกิดความว่าง และความว่างก็เป็นบ่อเกิดของความมีอยู่ ตามหลักไตรลักษณ์ในพุทธศาสนาสอนไม่ให้ติดยึดกับสิ่งใดสิ่งหนึ่ง
๒. รูปปั้นเนย เป็นรูปแบบการบูชาอันเก่าแก่ของชาวธิเบต ส่วนใหญ่จะปั้นในงานเทศกาลมอลลัมและพิธีกรรมทางศาสนาอื่น ๆ รูปปั้นเนยมีเอกลักษณ์ที่โดดเด่นแฝงไปด้วยศิลปะที่งดงาม
๓. ภาพวาดทังก้า เป็นพุทธศิลป์ขั้นสูงของธิเบต ทังก้าคือภาพวาดเกี่ยวกับพระพุทธเจ้า พระโพธิสัตว์ และปริศนาธรรม หรือเรื่องราวที่เกี่ยวเนื่องทางศาสนา ทังก้ามีความสำคัญต่อชาวธิเบตเมื่อพวกเขาโยกย้ายถิ่นฐานจะพกพาทังก้าติดตัวไปด้วยเสมอ การวาดทังก้าต้องใช้สีจากแร่ธาตุธรรมชาติ ต้องมีความอดทนกว่าจะได้ภาพทังก้าแต่ละผืนและภาพทังก้ามีอายุยาวนานนับร้อยปี
๔. นิทรรศการเกี่ยวกับวิถีชีวิตชาวธิเบต ภาพพระราชกรณียกิจของทะไลลามะ และภาพคนชราธิเบต นิทรรศการภาพทั้งสามส่วนนี้บอกเล่าเรื่องราวเกี่ยวกับความเป็นธิเบตโดยใช้ภาพเล่าเรื่องประกอบคำบรรยายสั้นๆ เพื่อให้ผู้ชมได้ถักทอเรื่องราวเหล่านั้นด้วยตนเอง
๕. นิทรรศการและการตรวจรักษาการแพทย์แผนธิเบต ซึ่งเป็นภูมิปัญญาการดูแลสุขภาพของชาวธิเบตอย่างเป็นองค์รวม แฝงไว้ด้วยพุทธปรัชญา การแพทย์แผนธิเบตให้ความสำคัญกับการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการดำเนินชีวิตเพื่อความมีสุขภาพที่ดี ยาเป็นเพียงปัจจัยหนึ่งที่ทำให้หายจากโรค ถ้าเพียงแต่กินยาแต่ไม่ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการรักษานั้นก็จะไม่ได้ผลเต็มที่ เป็นต้น
ส่วนในภาควัฒนธรรมและดนตรีจากสถาบันศิลปะการแสดงธิเบตหรือ Tibetan Institute of Performing Arts (TIPA) ซึ่งเป็นองค์กรทางวัฒนธรรมในต่างแดนที่เก่าแก่องค์กรหนึ่ง ตั้งอยู่ในเมืองธรรมศาลา ประเทศอินเดีย ได้นำชุดการแสดงทางศิลปวัฒนธรรมอันเป็นเอกลักษณ์ อาทิ
Shanak : ระบำหมวกดำ
ระบำหมวกดำคือพิธีกรรมศักดิ์สิทธิ์ที่แสดงในธิเบตโดยใช้เวลาหลายวัน มีจุดมุ่งหมายเพื่อขจัดอุปสรรคกีดขวางความสุข ซึ่งหมายถึงความเศร้าหมองและความไม่รู้ถึงสาเหตุแห่งทุกข์ที่อยู่ในตัวของแต่ละบุคคล เมื่อเริ่มการแสดง ผู้เต้นระบำหมวกดำจะหลั่งน้ำพุทธมนต์ (ชาดำ) ถวายต่อลามะ เทพเจ้าที่คอยปกปักรักษา (รูปลักษณ์ต่าง ๆ ของพระพุทธเจ้า) และธรรมบาล (ผู้รักษาสัจธรรม) เพื่อสร้างความพึงพอใจให้แก่ท่านเหล่านั้นและเพื่อจะได้รับการอวยพรกลับมา จากนั้นผู้เต้นรำจะเชิญมิตรสหายกับผู้ติดตามของเหล่าธรรมบาลเข้ามาร่วมเต้นรำ
Kongpoi Dha lu
จังหวัดกงโป (Kongpo) ตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ของธิเบต เป็นที่รู้จักว่ามีพื้นที่ป่าเขียวชอุ่มและพืชพรรณหนาแน่น นอกจากทักษะด้านธรรมชาติแล้ว ชายชาวพื้นเมืองในแถบนี้ยังมีชื่อเสียงด้านความสามารถในการยิงธนู ส่วนผู้หญิงมีชื่อในด้านความงาม
Domey Tserik
ระบำชนิดนี้เป็นที่นิยมในเมืองโซงน (Tso Ngon) และเมืองลาบรัง (Labrang) ของจังหวัดโดเมะแห่งภาคตะวันออกเฉียงเหนือของธิเบต ผู้แสดงระบำทั้งชายและหญิงจะสร้างความเบิกบานให้ตนเองด้วยการยอมรับความดีงามและความเมตตาจากกันและกันผ่านเสียงดนตรีและถ้อยคำ
Lhokhag Trangoe Dro Dhung
โดยทั่วไป โดรทุงมักแสดงในโอกาสพิเศษและเป็นมงคลเพื่อนิมิตหมายอันดี เช่น ในระหว่างพระราชพิธีสถาปนาองค์ทะไลลามะขึ้นครองราชสมบัติ ระบำชุดพิเศษนี้มาจากภาคใต้ของธิเบต
Yak Dance : (ระบำจามรี)
จามรีเป็นสัตว์พื้นเมืองที่สำคัญที่สุดของธิเบต ระบำจามรีนี้มีรากมาจาก อุปรากรธิเบตเรื่อง โดรวา ซังโม (Drowa Sangmo) สะท้อนถึงพัฒนาการความผูกพันอย่างลึกซึ้งระหว่างชาวธิเบตกับจามรี จามรีตัวเมียหรือที่เรียกในภาษาธิเบตว่า -ดรี- จะหลั่งน้ำนมเพื่อเตรียมทำเนย จากนั้นมันจะร้องเพลงเพื่อถวายเนยสดแด่องค์ทะไลลามะ การฟ้อนโต ของชาวไตจากภาคเหนือของไทย โตเป็นสัตว์ที่มีส่วนผสมของสัตว์ห้าชนิด ฟ้อนโตเป็นการแสดงออกถึงความรื่นเริงสนุกสนาน และการเป่าเตหน่าและขับลำนำของชาวปกากะญอจากภาคเหนือของไทยเช่นกัน เป็นต้น
การจัดเทศกาลศิลปวัฒนธรรมจากหิมาลัยสู่เจ้าพระยาเรื่องราวได้รับทราบไปถึงองค์ทะไลลามะพระองค์ได้ส่งสาส์นอำนวยพรมายังคณะผู้จัดและชาวไทยทุกคน เพื่อแสดงความขอบใจต่อการจัดงานเผยแพร่วัฒนธรรมธิเบตในประเทศไทย และในวันสุดท้ายของงานพระองค์ยังได้ส่งสาส์นมาอีกฉบับหนึ่งถึงชาวธิเบตและชาวไทย โดยมีสาระสำคัญดังนี้ ทรงขอให้ชาวธิเบตรักษาวัฒนธรรม ปกป้องอัตลักษณ์ความเป็นธิเบตและรักษาความเป็นมิตรกับชนชาติอื่น พยายามใช้สันติวิธีในการแก้ปัญหา ทรงเห็นว่าเยาวชนควรจะได้รับการศึกษาอย่างทั่วถึง ทรงยืนยันต่อรัฐบาลจีนว่าทรงยึดนโยบายทางสายกลางอันเป็นไปตามข้อกำหนดในรัฐธรรมนูญของจีนและขอสิทธิในการปกครองตนเองแก่ธิเบตในด้านวัฒนธรรม ภาษา และเอกลักษณ์ความเป็นธิเบต หากธิเบตได้รับอิสรภาพ
ทะไลลามะและผู้บริหารในคณะรัฐบาลพลัดถิ่นจะไม่ขอรับตำแหน่งทางการเมืองใด ๆ และปัญหาระหว่างจีนกับ
ธิเบตถึงที่สุดแล้วต้องเป็นการตกลงในระหว่างสองชาติ ทรงเน้นย้ำให้ชาวธิเบตทุกคนรักษาความเป็นมิตรกับชาวจีนทุกคนเพื่อการอยู่ร่วมกันอย่างผาสุก
การแสดงศิลปวัฒนธรรมได้สร้างความประทับใจแก่ผู้ชมชาวไทยจนบางคนน้ำตาคลอด้วยความปลื้มปีติ หลังจบการแสดงทุกคนเดินออกมาอย่างมีความสุข ไม่มีใครเลยที่บอกว่าการแสดงเหล่านี้ไม่น่าสนใจ
ถึงแม้กำหนดการจัดงานเทศกาลศิลปวัฒนธรรมจากหิมาลัยสู่เจ้าพระยาจะสิ้นสุดในวันที่ ๑๐ มีนาคม ๒๕๕๓ แต่ในวันที่ ๑๑ มีนาคม มีพิธีการทำลายทรายมันดาลาที่พระสงฆ์ได้บรรจงสร้างขึ้นมาอย่างประณีต พิธีเริ่มจากพระสงฆ์ธิเบตสวดมนต์ประมาณครึ่งชั่วโมง ในพิธีนี้มีชาวไทยมาร่วมด้วยจำนวนมาก ทุกคนนั่งพนมมือ บ้างก็นั่งหลับตาทำสมาธิขณะที่พระสงฆ์ก็สวดมนต์ไปด้วย เมื่อจบจากการสวดมนต์ จากนั้นพระธิเบตรูปหนึ่งเดินเวียนขวารอบภาพทรายมันดาลาพร้อมกับหยิบทรายจากใจกลางมันดาลาใสถ้วยที่เตรียมไว้ ต่อมาได้ใช้วัชระขีดจากใจกลางมันดาลาออกมาจนสุดขอบครั้งแรกขีดเป็นสี่เส้น แล้วก็ขีดเพิ่มอีกเป็นแปดเส้นและเพิ่มขึ้นอีก เหมือนตัดแบ่งเค้ก ขณะพระกำลังทำลายมันดาลาบางคนอุทานออกมาว่าเสียดายที่ภาพสวย ๆ กำลังจะถูกทำลาย จากนั้นพระสงฆ์ช่วยกันกวาดทรายไปกองรวมกันตรงกลาง แล้วแบ่งออกเป็นสองส่วน ส่วนแรกตักใส่โถเพื่อจะนำไปโปรยที่แม่น้ำเจ้าพระยา ส่วนที่สองแบ่งให้สาธุชนที่มาร่วมพิธีรับไปเป็นที่ระลึก การนำทรายมันดาลาไปโปรยลงแม่น้ำเจ้าพระยาได้เลือกสถานที่บริเวณสวนสาธารณะสันติชัยปราการ เพื่อเชื่อมโยงจากหิมาลัยสู่เจ้าพระยา สถานที่โปรยทรายมีความหมายในทางมงคลเพื่อสันติแก่มวลมนุษย์และสรรพสัตว์ เมื่อโปรยทรายเสร็จพระสงฆ์ได้ตักน้ำจากแม่น้ำเจ้าพระยามาชำระล้างภาพลายเส้นมันดาลา เป็นอันเสร็จพิธีอย่างสมบูรณ์และงดงาม
ก่อนหน้าการจัดเทศกาลศิลปวัฒนธรรมจากหิมาลัยสู่เจ้าพระยา ได้มีการจัดเทศกาลภาพยนตร์ธิเบตขึ้นระหว่างวันที่ ๑๖ – ๑๙ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๓ ณ หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานครเช่นเดียวกัน เทศกาลภาพยนตร์ธิเบตเป็นการฉายภาพยนตร์เพื่อบอกเล่าเรื่องราวเกี่ยวกับธิเบตผ่านภาพยนตร์และสารคดี พร้อมทั้งมีเวทีเสวนา วิจารณ์ สะท้อนแนวคิดจากเนื้อหาของภาพยนตร์แต่ละเรื่อง โดยบุคคลที่มีความเข้าใจเรื่องราวของภาพยนตร์ เช่น ภิกษุณีธัมมนันทา จีระนันท์ พิตรปรีชา เป็นต้น ภาพยนตร์ที่ฉายประกอบด้วย
(1) Unmistaken Child (2) Kundun (3) Tibet : Cry of the Snow Lion (4) Himalaya
(5) The Tibet book of the dead (6) Dreaming Lhasa (7) Windhouse (8) The cup
การจัดเทศกาลเกี่ยวกับธิเบตทั้งที่เป็นภาพยนตร์และศิลปวัฒนธรรมมีผู้ให้ความสนใจทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศมาเยี่ยมชมและสนับสนุนกิจกรรมกันอย่างล้นหลาม จึงถือได้ว่าการจัดกิจกรรมครั้งนี้บรรลุวัตถุประสงค์ ผู้ชมได้รับสาระประโยชน์กันทุกคน แม้งานจะสิ้นสุดแต่เรื่องราวเกี่ยวกับธิเบตต่อการรับรู้ของชาวไทยคงจะไม่จางหายไป