เรื่องเล่าชาวอาศรมฯ
Author : ประชา หุตานุวัตร
ผมก็เป็นคนหนึ่งในอาศรม และเป็นคนที่ถูกกล่าวขานในทางลบสำหรับชาวอาศรมในยุคหนึ่งมาโดยตลอด ผมเป็นจอมมารสำหรับบรรดาผู้แสวงหาความดีงามทั้งหลาย ไม่แน่ใจนะว่าเป็นจอมมารที่ใครผ่านด่านไปได้บ้าง
หลายคนวิจารณ์ผมในมิติของความก้าวร้าว สนใจแต่งานสำนักงานหรืองานที่ไม่ต้องใช้แรงกาย ไม่มีสุนทรียะ แม้บางคนจะพยายามหาข้อเด่นของผมมาพูดบ้างว่าสามารถผลักดันงานได้สำเร็จหลายเรื่องก็ตาม แต่ในความเห็น(ซึ่งเป็นความรู้สึกนึกคิดของมนุษย์ธรรมดามีอารมณ์เป็นหลักเหตุผลเป็นรองและหาเหตุผลมาเพื่อสร้างความชอบธรรมให้กับอารมณ์เท่านั้นเอง ) ของผมซึ่งเป็นข้อเท็จจริงอย่างหนึ่งคือ ผมเองก็เป็นเครื่องมือในการบริหารอย่างหนึ่งเหมือนกัน ผมอาจจะเรียกหรือกล่าวได้ว่าผมเป็นมิติด้านลบของพี่ประชา เป็นมิติที่พี่ประชาไม่ต้องการแสดงออกหรือไม่กล้าแสดงออก เพราะมีผมทำให้พี่ประชาเป็นพ่อพระได้มากขึ้น ดังนั้นคุณงามความดีที่ผมควรจะมีเพิ่มอีกอย่างหนึ่งคือ การเป็นอิฐถมทางให้พี่ประชาขึ้นหิ้ง ด้วยเหตุฉะนี้เอง ปฐมบทของผมจึงเป็นเรื่องประชา หุตานุวัตร เอ้า ล้อมวงเข้ามาครับพี่น้อง ถึงเวลาแล้วที่วณิพกจะสาธายายเรื่องของชายผู้นั้นให้ท่านได้รับฟัง
ค่ำคืนหนึ่งในวิหารสุขเทวาลัย บ้านเช่าเล็กๆ ไม่ใกล้แต่ก็ไม่ไกลจากโชคชัยสี่สักเท่าใด ผมมีโอกาสได้พบกับโอ๋ ที่พึ่งเดินทางมาจากอาศรมวงศ์สนิท ตอนนั้นผมไม่รู้จักหรอกว่าอาศรมวงศ์สนิทคืออะไร เพราะผมจากพระนครไปซะหลายปี เป็นเด็กโต๊ะสนุ๊กอยู่แถวหัวหิน และกลับมาเพราะเสียงเรียกร้องของ สนนท.ที่ออกมาไล่ สุจินดาทุกวัน
คืนนั้นเราได้สอบถามสารทุกข์สุขดิบกันตามประสามิตรสหายที่ไม่ได้เจอะเจอกันมานาน จนกระทั่งได้ทราบว่าอาศรมรับสมัครเจ้าหน้าที่ โอ๋แนะนำว่ามีงานหนึ่งที่น่าจะถูกใจผมคืองานโรงเรียนเยาวชนชาวพุทธ ซึ่งโอ๋บอกว่าเป็นงานจัดตั้งเยาวชนเลยทีเดียว ถ้าใครอยู่ในยุคสมัยเดียวกับผมคงจะรู้ว่างานเยาวชนสมัยนั้นคืองานที่พวกเราใฝ่ฝันที่จะทำกัน เหมือนกับที่พี่อี๊ด วายที หรือที่เอ็มดีเอ็ม ของดวงประทีปทำกันอยู่ เยาวชนคือเมล็ดพันธุ์แห่งการต่อสู้ วาว….. โรงเรียนเยาวชนชาวพุทธ ช่างน่าสนใจจริงๆ ถึงแม้ผมในตอนนั้นอาจจะเป็นชาวเหมา ชาวมาร์กซ มากกว่าชาวพุทธก็ตาม แต่ไม่เป็นไรเอาโรงเรียนชาวพุทธมาบังหน้าก่อนละกัน แล้วค่อยๆ สอดแทรกชาวเหมาชาวมาร์กซเข้าไป เลยตัดสินใจบอกโอ๋ว่าผมสนใจงานนี้ ให้โอ๋ช่วยจัดการให้ด้วย โอ๋เลยนัดหมายว่าถ้าพี่ประชากลับมาเมื่อไรจะติดต่อให้ไปพบ นี่คือครั้งแรกที่ได้ยินชื่อของพี่ประชา โดยที่ยังไม่รู้ว่าเป็นคนเดียวกันกับพระประชา
การเดินทางไปอาศรมวงศ์สนิทเป็นไปอย่างยากลำบาก เนื่องจากผมไม่เคยไปเลย แต่ดันไปตอนเย็นเพราะช่วงนั้นช่วยงาน พีพี21(มหกรรมประชาชนสู่ศตวรรษที่ 21 ) อยู่ เดินทางจากสำนักกลางนักเรียนคริสเตียน ที่ใช้เป็นสำนักงานอยู่ในตอนนั้น มาอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ ต่อรถตู้เก่าๆ มาลงคลอง 15 มาถึงก็สามทุ่มกว่าแล้ว ไม่มีรถเข้าไปต้องไปนั่งรอที่ร้านค้าตรงปากซอย รอจนเบียร์หมดไปสองขวดรถก็ยังไม่มา ร้านเขาก็จะปิด น้องชายเจ้าของร้านเลยตัดสินใจไปส่งทั้งๆที่ดูท่าแล้วไม่ค่อยกล้าเท่าไรนักเพราะผมไว้ผมยาว ดูท่าทางไม่ค่อยน่าไว้วางใจ เขาถามว่าจะให้ไปส่งที่ไหนบอกเขาว่าจะไปอาศรม เขาก็ไม่รู้จัก บอกว่าไปร้านพี่ไหว เขาก็ไม่รู้จักอีก พอดีมีรถมาคันหนึ่งเขารู้จักร้านพี่ไหวเลยพาไปส่ง พอไปถึงร้านพี่ไหวปิด ต้องไปตะโกนเรียกจนเขาออกมาก็ถามทางเขาอีกที พี่ไหวใจดีอุตส่าห์ชี้ทางให้ แต่อนิจจา เมื่อไปถึงท่าน้ำอันมืดมิด มองไม่เห็นอะไรสักอย่าง ที่พี่ไหวบอกว่ามีโป๊ะก็ไม่มี ตะโกนเรียกจนเสียงแหบเสียงแห้ง มีเสียงเด็กผู้หญิงคนหนึ่งตะโกนตอบมาว่าโป๊ะอยู่ฟังที่ผมอยู่นี่แหละให้ควานๆหาเอา กว่าจะควานหาได้ก็เปียกไปครึ่งตัว กว่าจะกระเสือกกระสนข้ามฝั่งไปได้ ก็แทบถอดใจกับงานเยาวชนเอาเลยทีเดียว
“พี่มี พี่มี ตื่นได้แล้วครับ พี่ประชามาแล้วให้มาตามพี่ไปคุยด้วย” เสียงปลุกแต่เช้าเรียกให้ผมไปพบพี่ประชา ทำให้ผมเป็นเดือดเป็นแค้นหนักหนา ก็เล่นปลุกเอาซะเช้าเลยทั้งที่เรากว่าจะได้นอนก็เที่ยงคืนไปแล้ว เหนื่อยก็แสนจะเหนื่อยกับการเดินทาง ไหนยังจะอากาศดีๆ แบบนี้ที่ไม่ค่อยได้เจออีก มาโดนทำลายบรรยากาศอย่างนี้เสียอารมณ์หมด จำไว้นะทีหลังอย่าปลุกผมตอนเช้า
เจอแล้ว ประชา หุตานุวัตร เจอตัวเป็นๆ เลยหลังจากได้ยินแต่ชื่อมานานกำลังกินข้าวอยู่ ไว้ผมยาวนิดหน่อย มีหนวดหรอมแหรมพอให้น่าหมั่นไส้ ใส่เสื้อสีน้ำตาลลายแบบแขกอินโด มาเลย์อะไรทำนองนั้น กางเกงม่อฮ่อมเนื้อดี ดูท่าทางสมถะ แต่พอก้มต่ำลงอีกนิด รองเท้ารัดส้นหนังแท้แม้จะเก่าสักหน่อย คู่ไม่น่าจะต่ำกว่าพันบาทว่ะ ดูท่าจะให้ความสำคัญกับตีนมากกว่าอย่างอื่น น่าจะไปด้วยกันได้แฮะ
“เฮ้ย ไปตักข้าวมากิน แล้วคุยกัน” เสียงแสดงอำนาจบงการให้ผมไปกินข้าวโดยไม่ถามว่าหิวหรือไม่สักคำ อย่างว่าเรามันมาของานเขาทำ เป็นผู้น้อยก็ต้องค่อยก้มประนมกรไปก่อน จึงเดินไปตักข้าวมากินด้วยดี ไม่รู้กินกันไปได้ยังไง ข้าวแดงกับผักและเนื้อปลอมปรุงเป็นกับข้าว ช่างทรมานจิตใจชาวศิวิไลซ์อย่างเราแท้ๆ กำลังนั่งกินอย่างสงบเสงี่ยมเจียมตัว ก็เจอคำถามข่มแบบตั้งรับไม่ทันเลย โธ่ ก็เรามันเจอมาแต่ เพื่อนครับ เพื่อนนักศึกษา อะไรทำนองนี้พอมาเจอ “ลื้อชื่ออะไรวะ” พ่อแม่ลื้อเป็นเจ๊กหรือเปล่า” “ลื้ออยากจะทำอะไร” “ลื้อรู้ไหมว่าจะต้องทำอะไรบ้าง” ไปเกือบไม่เป็นเหมือนกันแหละครับ อาศัยว่าเล่นหมากรุกเป็นเลยพอเอาตัวรอดไปได้ แล้วบทจะเลิกถามก็เลิกถามไปดื้อๆ หันไปคุยกับชัยยะแทนซะตั้งนาน เล่นเอาใจแป้วเลยไม่รู้ว่าจะได้ทำงานหรือเปล่า
เอาเป็นว่าสรุปว่าได้งานทำก็แล้วกัน ในตำแหน่งที่สมัครไว้นั้นแหละ แต่ยังไม่ต้องเริ่มงานตอนนี้ให้มาเริ่มงานหลังจากเสร็จงานมหกรรมประชาชนแล้ว และงานแรกที่เริ่มทำคือ ช่วยงานฉลองประจำปีของอาศรม เอาละเข้าเรื่องแล้ว เมื่อพูดถึงงานก็ต้องพูดถึงการบริหารงาน นับแต่นี้ต่อไปวณิพกขอนำท่านรู้จักกับวิธีการบริหารงานของประชา หุตานุวัตร
ซึ่งต่อไปก็จะขอเรียกว่าพี่ประชา ตามธรรมเนียมที่หลายๆคนเรียกและถือว่าเป็นก้าวแรกในการเข้ามาอยู่ภายใต้อาณาจักรของพี่ประชา อย่างแท้จริง
พูดแบบ ส.ศิวรักษ์ ก็ต้องบอกว่า ประชาเป็นคนน่ารัก แต่…… แต่อะไรที่ตามหลังมานั่นคือการตำหนิเล็กๆ แต่ผมคงมิบังอาจไปตำหนิพี่ประชา ขอเพียงแค่ตัดพ้อต่อว่าเล็กน้อยส่งเสียงดังไม่ได้ ตามคุณลักษณะของระบบอำนาจนิยมที่ผู้ชายเป็นใหญ่ในการปกครองอาศรม ก็แล้วกัน
การบริหารงานของพี่ประชาเป็นยังไงใครรู้บ้าง ไม่มีใครรู้หรอก และใครก็มิอาจรู้ได้ เพราะการบริหารงานของพี่ประชานั้นเป็นอนิจจัง คือเป็นการบริหารงานที่มีวิธีการที่ไม่แน่นอน มีหลากหลายวิธีในการใช้ ใครพอทำอะไรได้ก็ช่วยๆกันไปก่อน เอ็ดดี้จึงเป็นคนดูแลบ้านพักด้วย เป็นพนักงานขับรถด้วย ช่วยงานแปลอีกต่างหาก ในขณะที่กำลังจะเตรียมตัวไปอินเดีย แค่คิดก็ปวดหัวแล้วไม่ต้องเห็นภาพหรอก การวางแผนงานต่างๆ ในสมัยนั้น ก็เป็นไปตามโครงการที่เขียนไว้แล้ว และต้องทำให้ได้ตามโครงการนั้น ดังนั้น ไอ้นายบารมี วณิพกของท่าน จึงได้ระเห็จจากผู้ประสานงานโครงการโรงเรียนเยาวชนชาวพุทธเพื่อการรับใช้สังคม มาทำหน้าที่ ดูแลการก่อสร้างในเบื้องต้น “ช่วยพี่ดูก่อสร้างสักปี
นึงก่อนนะแล้วค่อยเริ่มงาน”
พอจากอนิจจังก็มาทุกขัง เป็นความทุกข์ที่แต่ละคนต้องได้รับไปไม่มากก็น้อย อ้อยจากดูแลเด็กเร่ร่อนมาเป็นคนปลูกผัก พี่แขกจากดูแลเด็กเร่ร่อนมาทำเกษตรและขับรถ ชัยยะจากช่วยงานโอ๋ประสานงานเรื่องกิจกรรมมาเป็นเจ้าหน้าที่การเงิน อานันทะ(กมล)เพื่อนชาวศรีลังกาจากวิศวะไฟฟ้ามาเป็นพ่อครัว การบริหารแบบนี้ก่อให้เกิดความทุกข์แด่ทุกผู้ทุกนามในเบื้องต้น แถมยังจะมีเรื่องชุมชนเข้ามาอีก คือไม่มีการชี้แจงให้ชัดเจนตั้งแต่ต้น ก็เลยมีปัญหาบ้าง เช่น สาวเข้มไม่อยากนอนกางมุ้งต้องการมุ้งลวดมากกว่า หลังคาก็ไม่ชอบมุงแฝกอีก เพราะกลัวจะรั่วก็กลายเป็นทุกข์ขึ้นมาอีก
แน่นอนจากทุกขังแล้วก็ต้องมาอนัตตา อนัตตาไร้ตัวไร้ตน เป็นมนุษย์ล่องหน เพราะพอสั่งงานแล้วพี่ประชาก็หายเข้ากลีบเมฆไป ไปไหนก็ไม่รู้ แต่ต้องรู้ให้ได้ว่าไปไหนเมื่อมีโทรศัพท์ทางไกลจากซอยสันติภาพมาถาม ถ้ามีโทรศัพท์จากที่นั่นเมื่อไรจากอนัตตาเป็นอัตตามีตัวมีตนขึ้นมาได้ทันที พี่เจนเคยนินทาให้ฟังว่าตอนอยู่เมืองวิสกี้ด้วยกันใหม่ๆ โทรศัพท์เป็นระบบที่ไม่ต้องรับสายก็ได้ถ้าไม่อยากรับ “แต่ถ้ามีเสียงอาจารย์โทรมาเมื่อไร ประชาพุ่งออกไปรับโทรศัพท์ราวกับจรวดเลย” เมื่ออนัตตาไร้ตัวไร้ตนเช่นนี้พวกผมก็ปรึกษาใครไม่ได้ มีปัญหาขึ้นมาทีไรก็ทะเลาะกันเอง เพราะไม่มีคนตัดสิน ใครเสียงดังกว่า พูดเก่งกว่าก็ได้เปรียบคนอื่น ใครเสียงเบาพูดช้าก็เสียเปรียบคนอื่น ทั้งหมดที่เล่ามานี่เป็นตัวอย่างบางตอนของการบริหารงานในช่วงแรกที่ผมเข้าไปอยู่เท่านั้น แต่ว่าไปแล้วก็เห็นใจพี่ประชาเหมือนกันเพราะยังไม่มีอำนาจอะไรมากนัก แถมยังเป็นมือใหม่หัดขับอีก มันก็เลยกระท่อนกระแท่นเป็นธรรมดา
แต่เรื่องที่เด่นที่สุดของพี่ประชากลับเป็นเรื่องการปล่อย วาง ไม่ว่าจะอยู่ในสถานการณ์แบบไหน แกสามารถปล่อย วางได้ตลอด แต่ปล่อย วางแล้วจะไปสะสมอยู่ภายในหรือไม่ก็ไม่อาจจะรู้ได้นะ แต่ก็มีบางเรื่องที่แกไม่ปล่อย แต่วางคือแกไม่ปล่อยก้าม แต่ชอบวางก้าม ไม่รู้ไปติดมาจากใครผมเลยพาลติดจากแกมาด้วย
ไม่รู้ใครอุตส่าห์ช่วยคิดจำแนกแยกแยะอาศรมออกเป็นสามยุค นี่ว่าตามหนังสือนะ ยุคบุกเบิกของนักฝัน ยุคนักกิจกรรมเพื่อสังคมและยุคทดลองตนของนักแสวงหา อยากจะแบ่งอย่างนั้นก็แบ่งไป แต่สำหรับผมแบ่งยุคที่ผมทำงานในอาศรมเป็นสามยุคเช่นกัน ยุคแรกเป็นยุคอาณานิคม ยุคที่สองเป็นยุค”ประชา”ธิปไตย และยุคที่สามเป็นยุคเสรีภาพเจ้ากรรม (ถ้าอวยพรเขียนอาจจะเปลี่ยนเป็นยุคมารครองเมืองก็ได้) ที่เล่าๆมานี่ยังอยู่ในยุคอาณานิคมอยู่
ในอาศรมนอกจากจะอยู่กันด้วยภาระการงานแล้วยังมีภาระชุมชนพ่วงเข้ามาด้วยอีก ซึ่งเป็นเรื่องหนักอกของผู้ที่เข้ามาอยู่อาจจะเรียกว่าทุกยุคทุกสมัยก็ว่าได้ อาจจะเป็นเพราะเรามีจินตนาการที่แตกต่างกัน แม้แต่ในตัวคนๆเดียวก็ยังมีจินตนาการที่แตกต่างกันด้วย พี่ประชาเป็นคนได้รู้ได้เห็นมามาก ก็ยิ่งมีจินตนาการมากขึ้นด้วย แกเคยคุยถึงจินตนาการของแกให้พวกเราฟังบ่อยๆ ซึ่งพวกเราเชื่อว่าเป็นเรื่องเพ้อฝันซะมากกว่า ตัวอย่างเช่น จะแบ่งอาศรมเป็นสองฝ่ายคือฝ่ายธรรมะกับฝ่ายอธรรม ฝ่ายธรรมะนี่ต้องปฎิบัติ ภาวนา ถือศีลห้าเป็นฐาน ฝ่ายอธรรมนี่ทำอะไรตามใจที่มันไม่ละเมิดศีลธรรมอันงามได้ เช่น กินเหล้าได้แต่เมาแล้วไประรานคนอื่นไม่ได้ พวกเราก็เห็นด้วยตามที่พี่ประชาเสนอเพราะพวกเราเลือกอยู่ฝ่ายอธรรมอยู่แล้ว และยังกระแนะกระแหนแกไปว่าฝ่ายธรรมะคงมีแต่พี่กับพี่พรเท่านั้น แกเลยเลิกล้มความคิดนี้ไปเพราะคงกลัวว่าจะไม่มีใครอยู่กับแก แต่ทุกวันนี้ถึงแม้ไม่ได้แบ่งฝ่ายแต่ก็ยังคงมีคนกินเหล้าแล้วไประรานคนอื่นได้ ผมไม่อยากจะบอกว่าเป็นพี่ล้วนเดี๋ยวแกจะเสียใจ อีกตัวอย่างหนึ่งคือพี่ประชาเสนอให้ทุกคนเงินเดือนเท่ากัน แต่ก็ไม่ลงตัวอีกเพราะเงินเดือนเท่ากันคือเท่าไร ทำไมพี่ประชาต้องเงินเดือนเท่ากับคนอื่นด้วยทั้งที่ประสบการณ์มากกว่า หรือคนโน้นทำงานหนักกว่าคนนี้ คนนี้ใช้แรงงานคนนี้ใช้สมอง หรือให้เงินเดือนตามความจำเป็นของแต่ละคน ก็ไม่รู้ว่าอะไรคือความจำเป็นขั้นพื้นฐานอย่างเช่น ต้องการเงินไปให้แม่สักสองหมื่นทดแทนค่าน้ำนมจะได้ไหม หรือถ้าไม่ได้ดูหนังแล้วใจจะขาด หรือจะพาแฟนไปกินข้าวดีๆสักมื้อ ขอบเขตอยู่แค่ไหนก็ไม่สามารถจำกัดได้เลยเหลวไปอีก แต่ถึงยังงั้นคนภายนอกก็ยังมองว่าคนอาศรมเงินเดือนสูงอยู่ ผมเคยบอกหลวงพี่ไพศาลว่าผมเงินเดือนห้าพันหก ท่านไม่เชื่อ ท่านว่าพวกอาศรมเงินเดือนสูงๆ ทั้งนั้น และยังแนะนำว่าถ้าคิดจะอยู่แบบชุมชนต้องไม่มีเงินเดือน ผมเลยหมดคำอธิบาย จริงๆแล้วผมก็เห็นด้วยกับการที่อยู่อาศรมโดยไม่มีเงินเดือน แต่มันก็ไม่ลงตัวว่าจะจัดการยังไง เข้าใจว่าทุกวันนี้ก็ยังไม่ลงตัวในเรื่องนี้
ปัญหาการอยู่ในชุมชนมีสารพัดปัญหา แก้ได้บ้าง ไม่ได้บ้าง จริงๆแล้วอาศรมน่าจะจัดให้มีการสรุปบทเรียนว่ายี่สิบปีที่ผ่านมาแก้ไขปัญหาอะไรได้บ้าง อะไรที่แก้ไม่ได้ ยุคสมัยที่ผมอยู่มีตั้งแต่ใครจะทำครัว จะมีครัวกลางหรือแยกครัว ใครจะดูแลหมา ใครจะดูแลเด็ก เรื่องชุมชนนี่พี่ประชาจะเปิดโอกาสให้พวกเราช่วยกันตัดสินใจ ทุกคนจะได้ช่วยหาทางแก้ไข แต่ชุมชนที่มีอำนาจที่จำกัดเพราะมีคนที่มีสิทธิที่จะวีโต้อยู่ เช่น พี่ประชาและอาจารย์ เป็นต้น หลายเรื่องที่พี่ประชาอธิบายไม่ได้ก็ให้อาจารย์มาอธิบายแทน และพวกเราก็ต้องยอมจำนน การรับคนเข้ามาไม่ใช่เรื่องใหญ่ แต่การเอาคนออกเป็นเรื่องใหญ่มาก ไม่ค่อยมีใครกล้าตัดสินใจเรื่องนี้มากนัก การทำงานที่เกี่ยวข้องกับการใช้ชีวิตร่วมกัน ทำให้พลังแห่งความขัดแย้งสูงขึ้น แต่พี่ประชาก็ไม่ค่อยได้อยู่ในเหตุแห่งความขัดแย้งนั้นๆ และจะกลับมาก็ต่อเมื่อเกิดเรื่องเกิดราวขึ้นแล้ว พี่ประชาก็จะกลับมาแก้ไขปัญหาทุกคนก็จะฟ้องพี่ประชา ว่าคนนั้นเป็นอย่างนั้นคนนี้เป็นอย่างนี้ ช่วงนี้เองที่พี่ประชาจะได้แสดงบทบาทเต็มที่ ยิ่งมีคนคอยเถียงแกอย่างผม แก่ โอ๋ ด้วยแล้วยิ่งดีเพราะแกยิ่งขึ้นเสียงได้มากขึ้นแสดงอำนาจได้เต็มที เรียกคะแนนความนับถือจากมวลหมู่สมาชิกได้ตรึมเลย บทบาทอย่างนี้พี่ประชาอยู่ในฐานะของผู้ชนะ แต่ที่พี่ประชาแพ้ราบคาบก็มีอยู่คนหนึ่ง ยอดชายนายเอ็ดดี้ รายนี้พี่ประชาจะด่าจะว่ายังไงมันก็ไม่เถียง ยิ้มรับอย่างเดียว พี่ประชาเคยโมโหมากถึงขนาดจะเข้าไปเตะ แต่เอ็ดดี้กลับกอดพี่ประชาไว้แล้วถามว่าพี่เกลียดผมขนาดนี้เลยหรือ เท่านั้นพี่ประชาก็ไปไม่เป็นแล้ว ถ้ามีคนอย่างเอ็ดดี้เยอะๆ ในอาศรมรับรองได้ว่าพี่ประชาสร้างความยอมรับนับถือขึ้นมาไม่ได้ขนาดนี้หรอก ต้องมีอย่างพวกผมนี่แหละถึงจะเป็นอิฐลองทองได้
เดี๋ยวจะหาว่าต่อว่าอย่างเดียวก็ไม่ดี พี่ประชามีคุณงามความดีที่ต้องกล่าวถึงไว้ในที่นี้ด้วย ประการแรกที่เห็นคือพี่ประชาเป็นคนให้อภัยทุกผู้ทุกคนเสมอ ผมเคยทะเลาะเบาะแว้งกับแกหลายครั้ง โกรธแกตั้งหลายหน แต่ก็เกลียดแกไม่ลง เพราะแกให้อภัยผมมาตลอด ครั้งหนึ่งเคยทะเลาะกันหน้าดำหน้าแดง แล้วแยกย้ายกันไปนอน ก็นอนบ้านเดียวกันนั่นแหละ แต่แกนอนในห้องผมนอนนอกห้อง ไม่ใช่แบ่งชนชั้นอะไรหรอก แกชวนนอนในห้องเหมือนกันแต่ผมไม่ไว้ใจแก โธ่…ก็ผมขาวอวบอะไรอย่างนี้จะให้ไปอยู่ในห้องกับผู้ชายสองต่อสองได้ไง เอ๊ย ….มิได้ มิได้ ผมต้องการมีพื้นที่ส่วนตัวบ้างต่างหาก เอ้าเลยนอกเรื่องไปอีก เอาเป็นว่าตอนเช้าตื่นขึ้นมาผมก็ยังนอนต่อไม่ยอมลุกไปนั่งสมาธิ จนสายแปดโมงกว่า พี่ประชาเดินมาเรียกด้วยน้ำเสียงนิ่มนวลอะไรจะขนาดนั้นว่า “ตื่นเถอะมี สายแล้ว ลุกไปกินข้าวเถอะ” เรียกว่าไม่ทันจบคำผมรีบกระโดดลุกขึ้นมาทันที โห …เจ้านายมาง้อถึงที่นอนเลยหรือนี่ ยังครับยังไม่พอ พอผมลุกขึ้นมาพี่ประชาบอกอีกว่า “เมื่อคืนได้คุยกับเอ็งดีว่ะ พี่นอนไม่หลับเลย เลยตอบจดหมายได้ตั้งหลายฉบับ ค้างไม่ได้ตอบมาตั้งนานแล้ว” น้ำตาแห่งความตื้นตันของลูกผู้ชายชื่อไอ้มีคลอเบ้าเลย พูดไม่ออกบอกไม่ถูกได้แต่รีบลุกไปล้างหน้าและกินข้าวโดยพลัน เช้าวันนั้นพี่ประชาเรียกคะแนนความจงรักภักดีจากผมได้เกินร้อยเลย แต่ธรรมดาครับคนอยุ่ใกล้กันก็ย่อมกระทบกระทั่งกันบ่อย ผมกับแกก็มีเรื่องกันเป็นระยะ และแกก็ให้อภัยผมตลอดมา ประการที่สองพี่ประชาเป็นคนให้โอกาสคนอื่นมาตลอด ถ้าเห็นว่าใครมีแวว หรือใครอาสาจะทำ ก็จะให้ทำ อย่างเช่น ไพริน กว่าจะลงตัวกับงานบ้านดินได้ ต้องอดทนกับความเมาของอ๊อดพอสมควรทีเดียว เอ๊ย ไมใช่ผิดเรื่อง เอาใหม่นะ อย่างเช่นไพรินกว่าจะลงตัวกับงานบ้านดินได้ก็ผ่านงานมาหลายขนานตั้งแต่ช่วยงานคดีพ่อประจักษ์ ช่วยงานโครงการดงใหญ่ ลาออกไปอยู่มูลนิธิครูทิม บุญอิ้งแล้วกลับมาทำห้องสมุด ทำเรื่องนิวเคลียร์ ไม่แน่ใจว่าทำเรื่องอะไรก่อนหลังและทำกี่เรื่องบ้าง แต่ไพรินก็ได้รับโอกาสจนกระทั่งหาช่องทางที่เหมาะสมกับตัวเองได้ ไม่แน่ใจว่างานนี้ไพรินหรือพี่ประชาใครอดทนมากกว่ากันแต่ที่แน่ๆ คือพี่ประชาให้โอกาสไพรินมาตลอด
จริงๆ แล้วยังไม่พร้อมที่จะกลับมาเขียนเท่าไร แต่วณิพกน้อยได้รับโทรศัพท์ให้กำลังใจจากมิตรรักแฟนเพลง ขอให้เขียนต่ออย่าให้ขาดระยะ แฟนานุแฟนจะได้ติดตามได้ ในฐานะที่เป็นพุทธบริษัทจำกัด(มหาชน) จะปฎิเสธได้อย่างไร เลยจำใจออกมาสาธยายต่อเล็กน้อย คืนวันพรุ่งจะเดินทางไปเชียงใหม่ แอบคาดหวังไว้ว่าบรรยากาศบนตู้เสบียงจะช่วยดึงดูดเอาอารมณ์อันวิจิตรออกมาได้ แฟนนานุแฟนช่วยเป็นกำลังใจให้วณิพกด้วยนะครับ ช่วยบริจาคค่าเบียร์สักคนละขวดสองขวดเถอะ จะนับเป็นเกียรติแก่วงศ์ตระกูลเป็นอย่างยิ่ง
ประการสุดท้าย ประการสุดท้ายนี่หมายถึงเท่าที่นึกได้นะ ไม่ใช่พี่ประชามีคุณงามความดีแค่นี้ ถ้าบอกมีคุณงามความดีแค่นี้เดี๋ยวแกมาอ่านเข้าแล้วจะน้อยใจ ก็รู้ ๆ กันอยู่ว่าคนแก่งอนมันไม่งาม อย่าให้แกงอนซะดีกว่า เอ้าเข้าเรื่องได้แล้วล้อมวงเข้ามา ฟังวณิพกสาธยายถึงชายผู้นี้ต่อไป คุณงามความดีที่ว่าคือพี่ประชาเป็นคนมีเวลาให้กับทุกๆคนโดยไม่จำกัด ไม่รู้ว่าแกจัดสรรเวลาได้อย่างไร เวลาผมมีธุระเข้าไปขอคุยก็คุยได้ทันที เช่นเดียวกับคนอื่นๆ และอย่างที่พูดไปแต่แรกแล้วว่าแกไม่ค่อยอยู่ที่อาศรมดังนั้น เวลาที่แกอยู่ทุกๆ คนจึงใช้แกอย่างมีคุณค่า และอาจจะเป็นด้วยเหตุฉะนี้เองจึงทำให้แกเกิดอาการ “หัวพอง ท้องอืด” อยู่ตลอดเวลา อาการนี้เป็นอย่างที่พี่พรเรียกว่าพี่ประชาบ้างาน และเป็นอาการที่ทางการแพทย์เรียกว่า “โรคความดันโลหิตสูง” แต่ก็จะมีช่วงเช้าๆ บ้างเหมือนกันที่แกไม่มีเวลา เพราะนอกจากนั่งสมาธิแล้ว แกยังมีภารกิจต้องช่วยเหลือพี่พรด้วย ดังที่พี่พรเคยเล่าให้ฟังว่า “พี่เล่นโยคะท่ายืนด้วยหัวไม่ได้ พี่ประชาต้องมาช่วยจับพี่ยืนทุกเช้า ” โห… ช่างเสียสละเพื่อชาติ เพื่อประชาชน จริงๆ นับเป็นผู้ปฎิบัติงานที่เข้มแข็งของพรรคได้เลย สงสัยอ่านชีวทัศน์เยาวชนมาเยอะ
หมายเหตุให้ทราบทั่วกันในที่นี้ว่า เวลาที่พี่พรตำหนิว่าพี่ประชาบ้างานนี่ น้ำเสียงมีแววชื่นชมมากกว่าตำหนินะ อันนี้จะมาจากปฐมเหตุอันใดวณิพกน้อยมิอาจทราบได้ฮ่ะ
กำลังจะจบบทว่าด้วยประชา หุตานุวัตรอยู่แล้วละ ว่าแต่จะจบลงยังไงดีหว่า แฟนานุแฟนทั้งหลายช่วยออกไอเดียหน่อย บทต่อไปก็จะเป็นอาศรมในยุคอาณานิคม แล้วยังไม่แน่ใจว่าจะตามด้วยเรื่อง สุภาพร พงศ์พฤกษ์ดีหรือว่าเอาเรื่อง เดอะ แกงค์ ออฟ ทรี(บารมี โอ๋ แก่) ก่อน เอาเป็นว่าคิดไปเขียนไปละกันนะ ใครทนไม่ไหวก็ต้องท่อง ขันตี จะ โสวะจัสสะตา สะมะณานัญจะ ทัสสะนัง กาเลนะ ธัมมะสากัจฉา เอตัมมะงคะละมุตตะมังฯ ไปก่อนละกัน
ความบ้างานของพี่ประชาอาจจะเป็นคุณสมบัติที่ดีอันหนึ่ง สำหรับผู้บริหาร แต่อาจจะไม่ใช่คุณสมบัติที่ดีนักสำหรับพ่อบ้าน พ่อเมือง พี่ประชาที่เป็นทั้งผู้บริหารและเป็นพ่อบ้านพ่อเมืองด้วยจึงต้องสร้างบุคลิกหลายแบบ ใช้ทั้งพระเดชและพระคุณ สง่างามด้วยพระคุณ และอาจหาญด้วยพระเดช และพระเดชก็ทำให้คนออกมาเป็นใหญ่เป็นโตนอกชายคาอาศรมกันซะมากมายจนทำให้ได้รำลึกถึงพระคุณอยู่ทุกจนวันนี้