คนตัวเล็กๆ ไม่กี่คนจะเปลี่ยนแปลงองค์กรได้อย่างไร?

คนตัวเล็กๆ ไม่กี่คนจะเปลี่ยนแปลงองค์กรได้อย่างไร?

Author : เครือข่ายจิตตปัญญาศึกษา

คำถามยอดฮิตที่พวกเรามักจะถูกถามเสมอในการทำเวิร์คช็อพกับหน่วยงานต่างๆ ในช่วงเวลาที่ผ่านมาก็คือคำถามประมาณนี้ครับ

“คนตัวเล็กๆ อย่างพวกเราจะเปลี่ยนแปลงองค์กรได้อย่างไร?” หรือ “คนเพียงไม่กี่คนจะไปทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงให้กับองค์กรได้อย่างไร?”

นอกจากนั้นก็จะมีสิ่งที่เกิดขึ้นเสมอๆ ตามมา นั่นคือหลายๆ คนก็มักจะบอกว่า อยากให้หัวหน้าหน่วยงานมาทำกิจกรรมแบบนี้ ได้มาเรียนรู้แบบนี้ หรือบางท่านก็บอกว่าอยากจะให้เพื่อนๆ คนอื่นๆ ได้มีโอกาสมาร่วมกิจกรรมแบบนี้

สำหรับคนที่อยากจะให้ “หัวหน้า” มาเปลี่ยนแปลงถ้ามองในแง่ดีว่าไม่ได้คิดไม่ได้มอง “หัวหน้าเป็นตัวปัญหา” ก็น่าจะหมายถึงว่า “หัวหน้าเป็นผู้มีอำนาจ” บางทีผมก็อยากจะถามว่า “แล้วหัวหน้าคุณเค้าไม่มีหัวหน้าอีกต่อหนึ่งเหรอ เขาใหญ่จริงเหรอที่จะทำอะไรก็ได้ตามแบบที่คุณคิด” หรือ “บางทีหัวหน้าคุณเขาก็อาจจะคิดว่าตัวเขาเป็นเพียงคนตัวเล็กๆ แบบคุณด้วยเช่นกันได้มั๊ย?”

คำถามนี้ถ้าจะให้ผมตอบแบบวิทยาศาสตร์กระบวนทัศน์ใหม่ ผมก็อยากจะตอบว่า ผมเชื่อว่ามีความเป็นไปได้สูงมากที่คนไม่กี่คนจะสามารถเปลี่ยนแปลงองค์กรได้

แต่มีข้อแม้นะครับว่า “คนตัวเล็กๆ” เหล่านั้นจะต้องมี “การเปลี่ยนแปลง” อย่างจริงๆ จังๆ เสียก่อนนะถึงจะสามารถก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในองค์กรได้

เหตุผลประการแรก คือ ณ วินาทีที่คุณ “เปลี่ยนแปลงตัวตน” ของคุณได้ เมื่อคุณกลายเป็นคนๆ ใหม่ที่มองเห็นความสำคัญของความเป็นมนุษย์ของผู้คนในองค์กร มองเห็นความสำคัญของมิตรไมตรีของคนในองค์กร มองเห็นความสำคัญของความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ซึ่งกันและกันมากกว่าที่จะมุ่งมองเฉพาะผลกำไรหรือผลสำเร็จขององค์กรแต่เพียงอย่างเดียว ณ วินาทีนั้นองค์กรทั้งองค์กรของคุณก็เปลี่ยนไปเช่นเดียวกัน เพราะคุณและองค์กรต่างก็เป็นสิ่งมีชีวิตที่ดำรงอยู่ “ซ้อนทับกัน” แบบกล่องซ้อนกล่องซ้อนกล่องเหมือนกับการที่เซลล์ดำรงอยู่ในเนื้อเยื่อ เนื้อเยื่อดำรงอยู่ในอวัยวะ และอวัยวะดำรงอยู่ในร่างกายของมนุษย์

เหตุผลประการที่สอง คือในวิทยาศาสตร์กระบวนทัศน์ใหม่นั้น เราไม่ได้เชื่อเรื่องของ “แรง” แต่เพียงอย่างเดียว แน่นอนว่าในเชิงกายภาพ “แรงมาก” ก็ย่อม “เกิดผลมาก” เช่นการผลักวัตถุชิ้นใหญ่ก็ต้องออกแรงมากกว่าการผลักวัตถุชิ้นที่เล็กกว่า แต่ในเชิงพลังงานหรือมิติที่ซ่อนเร้นอยู่ในโลกกายภาพเหล่านั้น การเปลี่ยนแปลงบางอย่างไม่ต้องอาศัยแรงแต่เพียงอย่างเดียว

ทฤษฎีไร้ระเบียบก็บอกเรื่องราวแบบนี้ประมาณว่าการเปลี่ยนแปลงของระบบเกิดขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงที่จุดเล็กๆ ตรงชายขอบแล้วเกิดวงจรขยายลุกลามไปให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทั้งระบบเป็น “Butterfly Effect”

ทุกวันนี้ การที่คนผิวดำในสหรัฐอเมริกาได้สิทธิตามกฎหมายที่เท่าเทียมกับคนผิวขาวนั้น “จุดเริ่มต้น” เป็นเพราะผลงานของผู้หญิงผิวดำแก่ๆ คนหนึ่ง เธอปฏิเสธที่จะไม่สละที่นั่งบนรถเมล์ให้กับคนผิวขาวคนหนึ่งตามกฎหมายขณะนั้นปี 1955 “จุดเริ่มต้น” ไม่ได้เกิดจากฮีโร่ คนตัวใหญ่ๆ หรือคนมีอำนาจคนไหนเลย

ปฏิกิริยาทางนิวเคลียร์ก็เป็นปฏิกิริยาลูกโซ่ที่เกิดจากการแตกตัวของจุดเล็กๆ ในระบบในทำนองเดียวกัน

ด้วย “มุมมองที่ไม่ถูกต้อง” ในกรณีแบบนี้จะทำให้ “เกิดความเข้าใจผิด” ที่นำไปสู่ “ความท้อแท้” “ความไม่เข้าใจ” ว่า “ตัวเล็กๆ อย่างฉัน ทำอะไรไม่ได้หรอก” หรือ “คนไม่กี่คนจะไปเปลี่ยนแปลงองค์กรได้อย่างไรกัน” อย่างไรก็ตามผมเขียนบทความชิ้นนี้เพียงเพื่ออยากจะให้เข้าใจร่วมกันว่า “เป็นไปได้” นะครับ ไม่ได้เขียนเพื่อมาปลอบอกปลอบใจอะไรกันให้เกิดความมุมานะ แต่เขียนเพราะ “มันเป็นแบบนั้นจริงๆ” ไม่ได้มาปลอบมาโยน มาให้กำลังใจอะไรกันทั้งนั้นทั้งสิ้น

มาร์กาเร็ต เจ. วีตเลย์ ผู้เขียนหนังสือดังๆ หลายเล่ม เช่น “ผู้นำกับวิทยาศาสตร์ใหม่” “หันหน้าเข้าหากัน” และอื่นๆ เธอมีประสบการณ์ในการทำงานเพื่อปรับเปลี่ยนองค์กรให้มีประสิทธิภาพตามแนววิทยาศาสตร์กระบวนทัศน์ใหม่ เธอบอกไว้ว่าการเปลี่ยนแปลงในองค์กรจะเกิดขึ้นเห็นเป็นรูปธรรมชัดเจนนั้น นอกจากจะต้องอาศัยการเปลี่ยนแปลงที่ชัดเจนของ “ใครก็ได้” ในองค์กรแล้ว ยังมักจะต้องอาศัยเวลาอีกอย่างน้อย ๓-๕ ปี

ประการแรกต้องเข้าใจว่า ทุกคนในองค์กรมีความหมายมีความสำคัญจริงๆ ต่อองค์กร การบริหารงานในวิทยาศาสตร์ใหม่นั้น ในเบื้องต้นเราไม่ได้สนใจว่า จำนวนผู้คนจะมากน้อยแค่ไหน แต่เราจะสนใจใน “คุณภาพของการเปลี่ยนแปลง” ของผู้คนในองค์กรว่ามีการเรียนรู้อย่างไร มีความเข้าใจความสำคัญของการเชื่อมโยงอย่างไร ใช้อำนาจอย่างไร

ประการที่สองคือ วัฒนธรรมขององค์กรนั้น “สื่อสารกันอย่างไร” และการสื่อสารภายในองค์กร หลีกเลี่ยงไม่ได้เลยที่จะต้องหันกลับมาสู่ “การฝึกฝนทักษะการฟัง” ที่จะสามารถ “ร้อยเรียง” และ “เชื่อมโยง” ผู้คนต่างๆ ในองค์กรให้เข้ามาพูดคุยกัน เรียนรู้ร่วมกัน แก้ไขปัญหาร่วมกันและสร้างนวัตกรรมและความรู้ใหม่ๆ ร่วมกัน

ต่อเมื่อสองเรื่องหลักนี้ “ก่อเกิด” ขึ้นมาอย่างแท้จริงแล้ว “ณ เมื่อเวลานั้น” โครงสร้างในองค์กรแบบเก่า โครงสร้างอำนาจแบบเก่าที่เป็นแนวดิ่ง ก็จะค่อยๆ สั่นคลอนพังทลายและล้มครืนลงมาให้เห็นต่อหน้าต่อตาของเรา

จัดลำดับชีวิต จัดลำดับความสุข

จัดลำดับชีวิต จัดลำดับความสุข

Author : ชลลดา ทองทวี เครือข่ายจิตตปัญญาศึกษา

ผู้เขียนได้มีโอกาสเข้าไปเรียนรู้การเจริญสติวิปัสสนา ร่วมกับผู้ป่วยใน “โครงการรักษาใจยามเจ็บป่วย” ของโรงพยาบาลศิริราช ซึ่งเป็นโครงการที่แพทย์และพยาบาลร่วมกัน จัดขึ้นเพื่อเยียวยาผู้ป่วยโรคมะเร็งและอื่นๆ เพื่อให้พ้นทุกข์ทางใจ แม้ร่างกายกำลังเจ็บป่วย โดยตอนต้นของกิจกรรมนั้น เป็นการพูดคุยระหว่างอาจารย์หมอ ศาสตราจารย์ พญ. สุมาลี นิมมานนิตย์ และผู้ป่วย โดยต่างเล่าถึงอาการทางกายและใจในระยะเวลาที่ผ่านมา รวมถึงการนำเอาการฝึกสติไปใช้ในชีวิตประจำวัน ซึ่งในบางกรณี การฝึกสตินั้น สามารถช่วยรักษาโรคให้หายหรือทุเลาลงได้ แต่บางกรณี แม้ยังไม่สามารถรักษาโรคให้หายได้ แต่จิตใจกลับไม่ทุกข์ตามโรคภัยไข้เจ็บ เมื่อผู้เขียนได้ไปนั่งเรียนรู้ท่ามกลางผู้ป่วยเหล่านั้น รู้สึกว่าท่านทั้งหลายมีความสุข อาจจะมากกว่าคนที่ไม่เจ็บป่วยหลายคนด้วยซ้ำ

หลังจากที่คุณหมอและผู้เข้าร่วมได้สนทนากันสักพัก ก็เปลี่ยนเป็นการฝึกสติตามอิริยาบถการก้าวย่าง ฝึกการรับรู้ความรู้สึกทางร่างกาย การเท่าทันความคิดและอารมณ์ ที่เกิดขึ้นในระหว่างการก้าวย่างนั้น รวมถึงการฝึกนั่งสมาธิ การเฝ้าดูการหายใจและปฏิกิริยาตอบสนองทางร่างกายอย่างเป็นปัจจุบัน ซึ่งทั้งอาจารย์หมอและคุณพยาบาลจะเน้นเรื่อง “การรับรู้ตามความเป็นจริง” เช่น เมื่อคิด รู้ว่าคิด ได้ยิน รู้ว่าได้ยิน ได้กลิ่น รู้ว่าได้กลิ่น ไม่ว่าจะเป็นความคิดที่ผ่านเข้ามา เสียง สัมผัสต่างๆ ที่เกิดขึ้น จะมีลักษณะเหมือนกันคือ เกิดขึ้น ตั้งอยู่ และดับไป “เป็นจริง” ตามที่ปรากฏ ณ ขณะนั้น

โดยปกติความคิดของคนแต่ละคนจะแว้บไปคิดเรื่องนู้นเรื่องนี้เร็วมาก อารมณ์ความรู้สึกก็เร็วไม่แพ้กัน สติจะระลึกรู้ตามไป บางครั้งเมื่อสติตามรู้ว่าแว้บไปแล้ว เครียดไปแล้ว มักจะเปลี่ยนเป็นไม่อยากเครียด โกรธ อยากหาย อารมณ์ ความรู้สึกจะเปลี่ยนไปเร็ว การฝึกสติ ก็จะตามรู้ตามเข้าใจไปเช่นนั้น ในที่สุดจะเข้าใจ “ความจริง” ของการเปลี่ยนแปลง

การฝึกการเดินจงกรม หรือการเดินก้าวย่างอย่างมีสติ รวมทั้งการนั่งสมาธิ โดยเน้นการจัดวางร่างกายให้ลงนั่งอย่างเชื่องช้านั้น เป็นขั้นตอนที่สำคัญยิ่ง การชะลออิริยาบถทางร่างกายให้ช้าลง จะทำให้เห็นอิริยาบถทางใจได้ชัด ว่าจิตใจไม่ได้ช้าตามเลย บังคับก็ไม่ได้ และเมื่อใจเผลอไปคิดแว้บหนึ่ง ก็จะลืมอิริยาบถที่กำลังปฏิบัติไปแว้บหนึ่งเช่นกัน ก็รู้ว่าลืม ตั้งต้นใหม่ ให้อภัยตนเอง ไม่ใช่เรื่องเสียหายอะไร ทั้งยังเป็นเรื่องของปัญญา ที่จะเท่าทันกับสิ่งต่างๆ ที่เกิดขึ้น วางจิต วางใจ ได้อย่างเป็นกลาง ท่ามกลางความเป็นปัจจุบัน ความจำได้หมายรู้จะบอกทางต่อ ว่านับจังหวะไปถึงไหนแล้ว ความจำได้หมายรู้ในทางบังคับจะบอกหนทางหนึ่ง ความจำได้ในทางเผลอก็บอกอีกทางหนึ่ง เหล่านี้เกิดขึ้นเร็วมาก ตามดูตามรู้แทบไม่ทัน และใจก็หลอกตัวเองว่าไม่หลง ไม่เผลอสักหน่อย นับได้จนครบ แต่แท้ที่จริงหลงกับเผลอไปไม่รู้เท่าไหร่แล้ว ผู้เขียนรับรองว่าการฝึกเช่นนี้จะทำให้มีโอกาสให้อภัยตนเองนับครั้งไม่ถ้วน เป็นเมตตาภาวนาได้อย่างดีเยี่ยม ทำให้เกิดความรักตนเองและผู้อื่น เข้าใจว่าคนเรามีสิทธิ์เดินผิดพลาดได้ เมื่อผิดได้ก็แก้ไขได้ สติเกิดขึ้น กลับมาสู่ปัจจุบัน แล้วสติก็หายไปบ้าง แล้วก็กลับมาใหม่ ความเผลอก็หายไปต่อหน้าต่อตาได้เช่นกัน แล้วก็เดินหน้าต่อไปได้  

ผู้เขียนรู้สึกว่าการฝึกวิปัสสนาร่วมกับแพทย์ พยาบาลและผู้ป่วยที่โรงพยาบาลศิริราชนี้ ทำให้ผู้เขียนสามารถเข้าใจความเป็นจริงประการหนึ่ง ว่าสิ่งทั้งหลายบนโลกไม่เที่ยงเป็นทุกข์ เพราะไม่ว่าวิทยาศาสตร์จะก้าวหน้าไปมากมายเพียงใด แต่ก็ไม่สามารถเหนี่ยวรั้งชีวิต ร่างกาย และจิตใจให้เที่ยงได้ วิทยาศาสตร์เป็นเพียงความจริงบนพื้นฐานของการสมมติ (สมมติสัจจะ; Relative Truth) เท่าที่จะประดิษฐ์ถ้อยคำหรือสัญลักษณ์เพื่อสื่อสารระหว่างกัน รวมทั้งเพื่อการถ่ายทอดเรื่องราวที่เป็นประวัติศาสตร์ของความคิด จินตนาการบนโลกส่งต่อจากรุ่นสู่รุ่น

แต่กระบวนการสร้างปัญญาสำหรับบุคคลๆ หนึ่งให้เข้าถึงความจริงที่แท้ ในระดับที่สูงขึ้น น่าจะตั้งอยู่บนการเรียนรู้ความเป็นจริงของกายและใจของตัวมนุษย์เอง ซึ่งมนุษย์แต่ละคนมีความเป็นปกติ ธรรมดาธรรมชาติที่ไม่ต่างกัน น่าจะเรียนรู้ร่วมกันได้ และในที่สุด สามารถนำความรู้ที่เกิดจากประสบการณ์ไปช่วยเพื่อนมนุษย์ให้พ้นจากกองทุกข์ได้จริงๆ สมควรเป็นวิชาที่มนุษย์ทุกคนน่าจะได้ฝึกฝนเรียนรู้ และถ่ายทอดออกเป็นภาษาที่แต่ละคนแต่ละกลุ่มสามารถเข้าใจได้ ตามบริบท ตามจริตและวิถีชีวิต แม้นชุดภาษานั้น จะเป็นเพียงสมมติสัจจะก็ตาม แต่ท้ายที่สุดก็ย่อมต้องการการสื่อสาร เพื่อเป็นแนวทางในการเชื่อมโยงความรู้ภายในของแต่ละคน ให้ปรากฏออกมา ง่ายต่อการเข้าใจร่วมกัน และเมื่อนั้น มนุษย์แต่ละคนก็จะสามารถน้อมนำความรู้ของกันและกันไปเรียนรู้และปฏิบัติได้ด้วยตนเองต่อไป ดังที่อาจารย์หมอได้เพียรพยายามพูดคุยซักถามแลกเปลี่ยนประสบการณ์กับทุกคน ก่อนและหลังการปฏิบัติเพื่อให้เกิดความเข้าใจที่ชัดเจนยิ่งขึ้น 

ผู้เขียนเห็นว่าผู้ป่วยที่มาฝึกปฏิบัตินั้น เข้าใจหลักการได้ไม่ยาก และท่านเหล่านั้นก็ยิ้มแย้มแจ่มใสอย่างยิ่ง หลังจากการฝึกเดินและนั่งอย่างมีสติร่วมกัน ผู้เขียนยังเชื่ออีกว่า พลังกลุ่ม พลังความเป็นเพื่อนเป็นกัลยาณมิตรนั้น ส่งผลต่อความก้าวหน้าในการฝึกไม่มากก็น้อย นึกถึงผู้ป่วยท่านอื่นๆ ที่น่าจะมีโอกาสได้รักษาใจยามเจ็บป่วย หรือคนที่ยังไม่ป่วยกายแต่ป่วยใจก็มีมากมาย หวังว่าท่านเหล่านั้นจะยังไม่ท้อแท้ ผู้เขียนเชื่อว่าทุกชีวิตมีคุณค่า ไม่ว่าท่านกำลังประสบพบเจอเหตุการณ์ใดที่ทำให้ทุกข์แสนสาหัส ขอมอบเรื่องราวข้างต้นไว้เป็นกำลังใจ อย่าเพิ่งท้อแท้ วันหนึ่งประสบการณ์ของท่านอาจสามารถช่วยผู้อื่นที่กำลังตกทุกข์ได้ยากได้อย่างดีเยี่ยม  ดังเช่น แพทย์ พยาบาล และผู้ป่วยในโรงพยาบาลศิริราชได้ร่วมกันเยียวยาหัวใจของกันและกัน อันเป็นสิ่งประเสริฐสุดเท่าที่มนุษย์จะพึงกระทำได้ ตราบเท่าที่ยังมีชีวิตและลมหายใจอยู่ร่วมกันบนโลกใบนี้

Source : คอลัมน์ ณ พรมแดนแห่งความรู้ หนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์ ฉบับวันที่ ๒๔ มิถุนายน ๒๕๕๐

วิศวกรมนุษย์

วิศวกรมนุษย์

Author : ศุภชัย พงศ์ภคเธียร เครือข่ายจิตตปัญญาศึกษา

ผมเป็นวิศวกรคนหนึ่ง ที่ภาคภูมิใจในความเป็นวิศวกรซึ่งจบจากสถาบันอันมีชื่อของประเทศ ที่เด็กนักเรียนมัธยมจำนวนไม่น้อยใฝ่ฝันอยากจะเข้ามาศึกษา พอนึกถึงสมัยเป็นเด็กมัธยม ช่วงนั้นเราต้องเรียน ต้องติววิชาต่างๆ ที่จะใช้เอนทรานซ์เข้ามหาวิทยาลัยอย่างหนัก ในตอนกลางวันต้องเรียนที่โรงเรียนตามหลักสูตร พอเลิกเรียนก็ต้องรีบไปติววิชาภาษาอังกฤษในสถาบันมีชื่อย่านวังบูรพา จำได้ว่าในห้องเรียนนั่งอัดกันอย่างกับปลากระป๋อง แทบจะไม่มีทางเดิน ซ้ำยังต่อทีวีวงจรปิดไปเรียนชั้นอื่นอีกด้วย และยังบันทึกเทปไว้ สำหรับคนที่ไม่สามารถมาเรียนสดกับตัวอาจารย์ได้ ค่าใช้จ่ายก็สูงเกือบเท่าเรียนสดกับอาจารย์  

กว่าจะได้กลับถึงบ้าน ก็ 4-5 ทุ่ม หรือกว่านั้น พอถึงบ้านก็รีบกินข้าว อาบน้ำ แล้วก็ต้องรีบทำการบ้าน แบบฝึกหัดของครูที่โรงเรียนสั่งไว้ ซึ่งก็มีมาก ขณะเดียวกันก็ต้องฝึกทำข้อสอบเข้ามหาวิทยาลัยในวิชาต่างๆ  อาจารย์ที่โรงเรียนกวดวิชาจะใช้ข้อสอบคัดเลือกเข้ามหา’ลัยในปีการศึกษาต่างๆ แล้วยังใช้ข้อสอบระดับสูงกว่าขึ้นไปอีก เช่น ข้อสอบระดับปริญญาโท-เอกมาทดสอบกันด้วย เสาร์-อาทิตย์ก็ต้องไปติววิชาอื่นๆ ตามโรงเรียนกวดวิชา เป็นอย่างนี้ทุกวันในช่วงเรียนมัธยมปลาย แทบไม่มีวันหยุด

จนกระทั่งช่วงใกล้สอบเอนทรานซ์พวกเราจะเก็บตัวติวเข้ม บ้างเก็บตัวเป็นกลุ่ม บางกลุ่มก็ 4-5 คน บางคนก็ซุ่มดูหนังสือคนเดียว พวกเราเอาจริงเอาจังมาก ราวกับนักกีฬาทีมชาติเก็บตัวก่อนแข่งขัน บางคนเครียดจนต้องอาศัยยาคลายเครียด บางคนผู้ปกครองต้องพาไปพบแพทย์ บ้างก็หายาบำรุงอาหารเสริมมาช่วย น่าสงสารพวกเรานะที่ต้องแข่งขัน เอาจริงเอาจังกันจนแทบจะไม่ห่วงชีวิต ไม่ห่วงสุขภาพกันเลย

พอมาปัจจุบัน กว่า 30 ปีผ่านไป ลูกสาวผมเองก็กำลังเรียนอยู่ชั้นมัธยมปลายเหมือนกัน เมื่อคืนก่อนเธอโทรมาบอกว่าให้ช่วยไปรับเธอหน่อย เพราะ เธอนั่งรถเมล์หลับด้วยความอ่อนเพลีย จนเลยป้ายที่จะต้องลงไปไกล ตอนนี้ไม่รู้ว่าตัวเองอยู่ตรงไหน ทำให้ผมรู้สึกสะท้อนใจ ที่พวกเราเติบโตมาในสังคม ในระบบการศึกษา ที่เตรียมพวกเราเพื่อป้อนให้กับความต้องการของภาคธุรกิจ ซึ่งพวกเราก็ตั้งใจทุ่มเทเวลา ชีวิตของพวกเราให้กับการศึกษา เพื่อความเป็นเลิศตามค่านิยมแบบนี้

ในช่วงที่เรียนอยู่ในคณะวิศวะ  พวกเราก็เรียน เล่น และทำกิจกรรมต่างๆ ตามค่านิยมของนักศึกษาสมัยนั้น ขณะเดียวกัน ก็ยังต้องเรียนหนักเรื่องการคำนวณ  คณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีสาขาต่างๆ แต่ที่น่าแปลก คือไม่มีการเรียนรู้ศาสตร์เกี่ยวกับชีวิต เกี่ยวกับตัวเอง หรือเรียนรู้ว่าทำอย่างไรเราจึงจะมีชีวิตที่มีคุณภาพ มีความสุข

สิ่งที่ทำให้ผมตั้งใจที่จะต้องเปลี่ยนแปลงชีวิตตัวเองขนานใหญ่ เกิดขึ้นในช่วงเรียนจบแล้วประมาณ 4 ปี ช่วงนั้นผมก็ใช้ชีวิตกลางวันทำงาน กลางคืนเที่ยวเตร่ กินเหล้าเมายาตามประสาวิศวกรหนุ่มโสดทั่วไป ทำให้เห็นคนชอบเที่ยว ชอบเมาแทบทุกคืน ดีกว่าสมัยเป็นนักศึกษาหน่อย ตรงที่ตอนโตแล้วไม่ถึงขนาดสร้างวีรกรรมไว้ต่างๆ นานา จนต้องออกตามหา อย่างบางคนก็ไปนอนตามแผงผักที่ตลาด บางคนไปเจอที่ป้ายรถเมล์ บางคนก็ไปเจอที่ม้านั่งในโรงอาหาร ที่หอพักบ้าง

พอคิดถึงเรื่องราวเหล่านี้แล้ว ทำให้ผมก็อดคิดไปไม่ได้ว่า ปกติพวกเราก็เมาชีวิตอยู่แล้ว ทำไมเรายังจะกินเหล้ากันให้เมาเข้าไปอีก ยิ่งทำให้เมาในเมา ยิ่งทำให้ “หลงชีวิต” เข้าไปกันใหญ่ เลยเป็นที่มา ทำให้ตั้งคำถามเกี่ยวกับตัวเองขึ้นมาว่า “ชีวิตคนเรา มีอะไรเป็นเป้าหมายกันแน่?” แล้วเราจะพัฒนาตนเองอย่างไร เพื่อให้บรรลุเป้าหมายของชีวิต เราเรียนอะไรมาตั้งมากมาย  มนุษย์เราสามารถหาความรู้ในศาสตร์ต่างๆ ในโลกได้มหาศาล แต่เรากลับไม่ได้เรียนรู้เรื่องเกี่ยวกับตัวเอง โดยเฉพาะความรู้เรื่องเกี่ยวกับจิตใจ

เพื่อนหลายคนยิ่งทำงานยิ่งเครียด ยิ่งรวยยิ่งเครียด เรามักได้ยินคนพูดกันว่า “สุข-ทุกข์อยู่ที่ใจ” แต่เราก็พบว่าแม้แต่คนพูดก็ยังถูกความทุกข์เล่นงานเอา ทำให้เกิดแรงบันดาลใจว่า เราจะต้องศึกษาหาความรู้เรื่องชีวิตของคนเราให้ได้ด้วย และถ้าไม่ถูกความทุกข์เล่นงานเหมือนอย่างคนทั่วไปก็จะดี

ในยุคนี้ยังดีที่เรามีการศึกษาค้นคว้าศาสตร์ในเรื่องของจิตใจอย่างเป็นเหตุเป็นผล เป็นวิทยาศาสตร์มากขึ้น และแสวงหาความรู้ได้ง่ายขึ้น หลากหลายกว้างขวางขึ้น แต่ความรู้ที่เกิดจากการศึกษาตำรา หรือฟังจากครูบาอาจารย์ เป็นเพียงความรู้ที่เราเข้าใจ จำได้ คิดได้ แต่ก็ยังอยู่ในระดับจินตนาการเอา ยังไม่ใช่ความรู้ หรือปัญญา ที่เกิดจากประสบการณ์ เกิดจากการตระหนักรู้ ได้จากการปฏิบัติด้วยตัวเอง

จะดีกว่าหรือไม่ ถ้าเราได้เรียนรู้ ได้พัฒนาศักยภาพภายในตนเอง ให้เรารู้เท่าทันความคิด รู้จักอารมณ์ รู้จักธรรมชาติของเราเองดีขึ้น รู้ว่าอะไรคือคุณค่าของการเกิดมาเป็นมนุษย์ที่จะมีจะเป็นได้ ควบคู่ไปกับศาสตร์ที่เราต้องเรียน เพื่อใช้ประกอบอาชีพ เพื่อช่วยเหลือสังคม และหล่อเลี้ยงชีวิตตนเองไปด้วยกัน พวกเราคงจะมีความสุขในชีวิตมากขึ้น ไม่ถูกความเครียด ความทุกข์เล่นงาน

จะดีกว่าไหม ถ้ารู้จักชีวิตดีขึ้น สามารถออกแบบ สามารถสร้างชีวิตที่เราปรารถนาได้มากขึ้น ทำให้เรามีความสุขเพิ่มขึ้น เป็นประโยชน์ต่อตนเองและคนรอบข้าง

พอชีวิตระยะหลัง ผมหันมาสนใจงานการศึกษา งานพัฒนาเยาวชนมากขึ้น จนอาจารย์ที่นับถือกัน ล้อเลียนว่า ตอนนี้ผมไม่ใช่วิศวกรแล้ว ทีแรกก็แปลกใจ และสงสัยเล็กน้อย แต่พออาจารย์อธิบายว่า ก็เปลี่ยนจากวิศวกรสร้างเครื่องจักรเครื่องยนต์ มาเป็นวิศวกรสร้างมนุษย์แทน ก็รู้สึกแปลกดีเหมือนกัน ถ้าจะมีวิศวกรสาขาใหม่เป็น “วิศวกรมนุษย์”  ผมเชื่อว่าเราสามารถเป็น “วิศวกรมนุษย์” กันได้ทุกคน ถ้าเราสามารถสร้าง “ความเป็นมนุษย์” ให้กับตัวเราเองได้ และถ้าเราสามารถพัฒนาตัวเราได้ เราก็จะรู้วิธีการพัฒนาความเป็นมนุษย์ให้กับบุตรหลาน และเยาวชนของเราได้

ถึงแม้เราจะตั้งใจหรือไม่ ตัวเราเองก็เป็นผู้สร้างชีวิตของเรา เพราะมนุษย์เรา คิดอย่างไร ทำอย่างไร เชื่ออย่างไร เราก็เป็นอย่างนั้น จึงเท่ากับว่า เราก็เป็น”วิศวกรมนุษย์”  ผู้สร้างชีวิตของตัวเอง ขณะเดียวกัน ชีวิตของเราก็จะกลายเป็นแบบอย่าง เป็นแรงบันดาลใจให้กับผู้คนรอบข้างและคนรุ่นต่อๆไปในสังคม ไม่ว่าเราจะเจตนาหรือไม่ก็ตาม

Source : คอลัมน์ ณ พรมแดนแห่งความรู้ หนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์ ฉบับวันที่ ๑๗ มิถุนายน ๒๕๕๐

เข้าใจโลกและชีวิต

เข้าใจโลกและชีวิต

Author : จารุพรรณ กุลดิลก เครือข่ายจิตตปัญญาศึกษา

ผู้เขียนได้มีโอกาสเข้าไปเรียนรู้การเจริญสติวิปัสสนา ร่วมกับผู้ป่วยใน “โครงการรักษาใจยามเจ็บป่วย” ของโรงพยาบาลศิริราช ซึ่งเป็นโครงการที่แพทย์และพยาบาลร่วมกัน จัดขึ้นเพื่อเยียวยาผู้ป่วยโรคมะเร็งและอื่นๆ เพื่อให้พ้นทุกข์ทางใจ แม้ร่างกายกำลังเจ็บป่วย โดยตอนต้นของกิจกรรมนั้น เป็นการพูดคุยระหว่างอาจารย์หมอ ศาสตราจารย์ พญ. สุมาลี นิมมานนิตย์ และผู้ป่วย โดยต่างเล่าถึงอาการทางกายและใจในระยะเวลาที่ผ่านมา รวมถึงการนำเอาการฝึกสติไปใช้ในชีวิตประจำวัน ซึ่งในบางกรณี การฝึกสตินั้น สามารถช่วยรักษาโรคให้หายหรือทุเลาลงได้ แต่บางกรณี แม้ยังไม่สามารถรักษาโรคให้หายได้ แต่จิตใจกลับไม่ทุกข์ตามโรคภัยไข้เจ็บ เมื่อผู้เขียนได้ไปนั่งเรียนรู้ท่ามกลางผู้ป่วยเหล่านั้น รู้สึกว่าท่านทั้งหลายมีความสุข อาจจะมากกว่าคนที่ไม่เจ็บป่วยหลายคนด้วยซ้ำ

หลังจากที่คุณหมอและผู้เข้าร่วมได้สนทนากันสักพัก ก็เปลี่ยนเป็นการฝึกสติตามอิริยาบถการก้าวย่าง ฝึกการรับรู้ความรู้สึกทางร่างกาย การเท่าทันความคิดและอารมณ์ ที่เกิดขึ้นในระหว่างการก้าวย่างนั้น รวมถึงการฝึกนั่งสมาธิ การเฝ้าดูการหายใจและปฏิกิริยาตอบสนองทางร่างกายอย่างเป็นปัจจุบัน ซึ่งทั้งอาจารย์หมอและคุณพยาบาลจะเน้นเรื่อง “การรับรู้ตามความเป็นจริง” เช่น เมื่อคิด รู้ว่าคิด ได้ยิน รู้ว่าได้ยิน ได้กลิ่น รู้ว่าได้กลิ่น ไม่ว่าจะเป็นความคิดที่ผ่านเข้ามา เสียง สัมผัสต่างๆ ที่เกิดขึ้น จะมีลักษณะเหมือนกันคือ เกิดขึ้น ตั้งอยู่ และดับไป “เป็นจริง” ตามที่ปรากฏ ณ ขณะนั้น

โดยปกติความคิดของคนแต่ละคนจะแว้บไปคิดเรื่องนู้นเรื่องนี้เร็วมาก อารมณ์ความรู้สึกก็เร็วไม่แพ้กัน สติจะระลึกรู้ตามไป บางครั้งเมื่อสติตามรู้ว่าแว้บไปแล้ว เครียดไปแล้ว มักจะเปลี่ยนเป็นไม่อยากเครียด โกรธ อยากหาย อารมณ์ ความรู้สึกจะเปลี่ยนไปเร็ว การฝึกสติ ก็จะตามรู้ตามเข้าใจไปเช่นนั้น ในที่สุดจะเข้าใจ “ความจริง” ของการเปลี่ยนแปลง

การฝึกการเดินจงกรม หรือการเดินก้าวย่างอย่างมีสติ รวมทั้งการนั่งสมาธิ โดยเน้นการจัดวางร่างกายให้ลงนั่งอย่างเชื่องช้านั้น เป็นขั้นตอนที่สำคัญยิ่ง การชะลออิริยาบถทางร่างกายให้ช้าลง จะทำให้เห็นอิริยาบถทางใจได้ชัด ว่าจิตใจไม่ได้ช้าตามเลย บังคับก็ไม่ได้ และเมื่อใจเผลอไปคิดแว้บหนึ่ง ก็จะลืมอิริยาบถที่กำลังปฏิบัติไปแว้บหนึ่งเช่นกัน ก็รู้ว่าลืม ตั้งต้นใหม่ ให้อภัยตนเอง ไม่ใช่เรื่องเสียหายอะไร ทั้งยังเป็นเรื่องของปัญญา ที่จะเท่าทันกับสิ่งต่างๆ ที่เกิดขึ้น วางจิต วางใจ ได้อย่างเป็นกลาง ท่ามกลางความเป็นปัจจุบัน ความจำได้หมายรู้จะบอกทางต่อ ว่านับจังหวะไปถึงไหนแล้ว ความจำได้หมายรู้ในทางบังคับจะบอกหนทางหนึ่ง ความจำได้ในทางเผลอก็บอกอีกทางหนึ่ง เหล่านี้เกิดขึ้นเร็วมาก ตามดูตามรู้แทบไม่ทัน และใจก็หลอกตัวเองว่าไม่หลง ไม่เผลอสักหน่อย นับได้จนครบ แต่แท้ที่จริงหลงกับเผลอไปไม่รู้เท่าไหร่แล้ว ผู้เขียนรับรองว่าการฝึกเช่นนี้จะทำให้มีโอกาสให้อภัยตนเองนับครั้งไม่ถ้วน เป็นเมตตาภาวนาได้อย่างดีเยี่ยม ทำให้เกิดความรักตนเองและผู้อื่น เข้าใจว่าคนเรามีสิทธิ์เดินผิดพลาดได้ เมื่อผิดได้ก็แก้ไขได้ สติเกิดขึ้น กลับมาสู่ปัจจุบัน แล้วสติก็หายไปบ้าง แล้วก็กลับมาใหม่ ความเผลอก็หายไปต่อหน้าต่อตาได้เช่นกัน แล้วก็เดินหน้าต่อไปได้  

ผู้เขียนรู้สึกว่าการฝึกวิปัสสนาร่วมกับแพทย์ พยาบาลและผู้ป่วยที่โรงพยาบาลศิริราชนี้ ทำให้ผู้เขียนสามารถเข้าใจความเป็นจริงประการหนึ่ง ว่าสิ่งทั้งหลายบนโลกไม่เที่ยงเป็นทุกข์ เพราะไม่ว่าวิทยาศาสตร์จะก้าวหน้าไปมากมายเพียงใด แต่ก็ไม่สามารถเหนี่ยวรั้งชีวิต ร่างกาย และจิตใจให้เที่ยงได้ วิทยาศาสตร์เป็นเพียงความจริงบนพื้นฐานของการสมมติ (สมมติสัจจะ; Relative Truth) เท่าที่จะประดิษฐ์ถ้อยคำหรือสัญลักษณ์เพื่อสื่อสารระหว่างกัน รวมทั้งเพื่อการถ่ายทอดเรื่องราวที่เป็นประวัติศาสตร์ของความคิด จินตนาการบนโลกส่งต่อจากรุ่นสู่รุ่น

แต่กระบวนการสร้างปัญญาสำหรับบุคคลๆ หนึ่งให้เข้าถึงความจริงที่แท้ ในระดับที่สูงขึ้น น่าจะตั้งอยู่บนการเรียนรู้ความเป็นจริงของกายและใจของตัวมนุษย์เอง ซึ่งมนุษย์แต่ละคนมีความเป็นปกติ ธรรมดาธรรมชาติที่ไม่ต่างกัน น่าจะเรียนรู้ร่วมกันได้ และในที่สุด สามารถนำความรู้ที่เกิดจากประสบการณ์ไปช่วยเพื่อนมนุษย์ให้พ้นจากกองทุกข์ได้จริงๆ สมควรเป็นวิชาที่มนุษย์ทุกคนน่าจะได้ฝึกฝนเรียนรู้ และถ่ายทอดออกเป็นภาษาที่แต่ละคนแต่ละกลุ่มสามารถเข้าใจได้ ตามบริบท ตามจริตและวิถีชีวิต แม้นชุดภาษานั้น จะเป็นเพียงสมมติสัจจะก็ตาม แต่ท้ายที่สุดก็ย่อมต้องการการสื่อสาร เพื่อเป็นแนวทางในการเชื่อมโยงความรู้ภายในของแต่ละคน ให้ปรากฏออกมา ง่ายต่อการเข้าใจร่วมกัน และเมื่อนั้น มนุษย์แต่ละคนก็จะสามารถน้อมนำความรู้ของกันและกันไปเรียนรู้และปฏิบัติได้ด้วยตนเองต่อไป ดังที่อาจารย์หมอได้เพียรพยายามพูดคุยซักถามแลกเปลี่ยนประสบการณ์กับทุกคน ก่อนและหลังการปฏิบัติเพื่อให้เกิดความเข้าใจที่ชัดเจนยิ่งขึ้น 

ผู้เขียนเห็นว่าผู้ป่วยที่มาฝึกปฏิบัตินั้น เข้าใจหลักการได้ไม่ยาก และท่านเหล่านั้นก็ยิ้มแย้มแจ่มใสอย่างยิ่ง หลังจากการฝึกเดินและนั่งอย่างมีสติร่วมกัน ผู้เขียนยังเชื่ออีกว่า พลังกลุ่ม พลังความเป็นเพื่อนเป็นกัลยาณมิตรนั้น ส่งผลต่อความก้าวหน้าในการฝึกไม่มากก็น้อย นึกถึงผู้ป่วยท่านอื่นๆ ที่น่าจะมีโอกาสได้รักษาใจยามเจ็บป่วย หรือคนที่ยังไม่ป่วยกายแต่ป่วยใจก็มีมากมาย หวังว่าท่านเหล่านั้นจะยังไม่ท้อแท้ ผู้เขียนเชื่อว่าทุกชีวิตมีคุณค่า ไม่ว่าท่านกำลังประสบพบเจอเหตุการณ์ใดที่ทำให้ทุกข์แสนสาหัส ขอมอบเรื่องราวข้างต้นไว้เป็นกำลังใจ อย่าเพิ่งท้อแท้ วันหนึ่งประสบการณ์ของท่านอาจสามารถช่วยผู้อื่นที่กำลังตกทุกข์ได้ยากได้อย่างดีเยี่ยม  ดังเช่น แพทย์ พยาบาล และผู้ป่วยในโรงพยาบาลศิริราชได้ร่วมกันเยียวยาหัวใจของกันและกัน อันเป็นสิ่งประเสริฐสุดเท่าที่มนุษย์จะพึงกระทำได้ ตราบเท่าที่ยังมีชีวิตและลมหายใจอยู่ร่วมกันบนโลกใบนี้

Source : คอลัมน์ ณ พรมแดนแห่งความรู้ หนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์ ฉบับวันที่ ๑๐ มิถุนายน ๒๕๕๐

เรื่องเล่าชาวอาศรมฯ

เรื่องเล่าชาวอาศรมฯ

Author : ประชา หุตานุวัตร

ผมก็เป็นคนหนึ่งในอาศรม และเป็นคนที่ถูกกล่าวขานในทางลบสำหรับชาวอาศรมในยุคหนึ่งมาโดยตลอด ผมเป็นจอมมารสำหรับบรรดาผู้แสวงหาความดีงามทั้งหลาย ไม่แน่ใจนะว่าเป็นจอมมารที่ใครผ่านด่านไปได้บ้าง

หลายคนวิจารณ์ผมในมิติของความก้าวร้าว สนใจแต่งานสำนักงานหรืองานที่ไม่ต้องใช้แรงกาย ไม่มีสุนทรียะ แม้บางคนจะพยายามหาข้อเด่นของผมมาพูดบ้างว่าสามารถผลักดันงานได้สำเร็จหลายเรื่องก็ตาม แต่ในความเห็น(ซึ่งเป็นความรู้สึกนึกคิดของมนุษย์ธรรมดามีอารมณ์เป็นหลักเหตุผลเป็นรองและหาเหตุผลมาเพื่อสร้างความชอบธรรมให้กับอารมณ์เท่านั้นเอง ) ของผมซึ่งเป็นข้อเท็จจริงอย่างหนึ่งคือ ผมเองก็เป็นเครื่องมือในการบริหารอย่างหนึ่งเหมือนกัน ผมอาจจะเรียกหรือกล่าวได้ว่าผมเป็นมิติด้านลบของพี่ประชา เป็นมิติที่พี่ประชาไม่ต้องการแสดงออกหรือไม่กล้าแสดงออก เพราะมีผมทำให้พี่ประชาเป็นพ่อพระได้มากขึ้น ดังนั้นคุณงามความดีที่ผมควรจะมีเพิ่มอีกอย่างหนึ่งคือ การเป็นอิฐถมทางให้พี่ประชาขึ้นหิ้ง ด้วยเหตุฉะนี้เอง ปฐมบทของผมจึงเป็นเรื่องประชา หุตานุวัตร เอ้า ล้อมวงเข้ามาครับพี่น้อง ถึงเวลาแล้วที่วณิพกจะสาธายายเรื่องของชายผู้นั้นให้ท่านได้รับฟัง

ค่ำคืนหนึ่งในวิหารสุขเทวาลัย บ้านเช่าเล็กๆ ไม่ใกล้แต่ก็ไม่ไกลจากโชคชัยสี่สักเท่าใด ผมมีโอกาสได้พบกับโอ๋ ที่พึ่งเดินทางมาจากอาศรมวงศ์สนิท ตอนนั้นผมไม่รู้จักหรอกว่าอาศรมวงศ์สนิทคืออะไร เพราะผมจากพระนครไปซะหลายปี เป็นเด็กโต๊ะสนุ๊กอยู่แถวหัวหิน และกลับมาเพราะเสียงเรียกร้องของ สนนท.ที่ออกมาไล่ สุจินดาทุกวัน

คืนนั้นเราได้สอบถามสารทุกข์สุขดิบกันตามประสามิตรสหายที่ไม่ได้เจอะเจอกันมานาน จนกระทั่งได้ทราบว่าอาศรมรับสมัครเจ้าหน้าที่ โอ๋แนะนำว่ามีงานหนึ่งที่น่าจะถูกใจผมคืองานโรงเรียนเยาวชนชาวพุทธ ซึ่งโอ๋บอกว่าเป็นงานจัดตั้งเยาวชนเลยทีเดียว ถ้าใครอยู่ในยุคสมัยเดียวกับผมคงจะรู้ว่างานเยาวชนสมัยนั้นคืองานที่พวกเราใฝ่ฝันที่จะทำกัน เหมือนกับที่พี่อี๊ด วายที หรือที่เอ็มดีเอ็ม ของดวงประทีปทำกันอยู่ เยาวชนคือเมล็ดพันธุ์แห่งการต่อสู้ วาว….. โรงเรียนเยาวชนชาวพุทธ ช่างน่าสนใจจริงๆ ถึงแม้ผมในตอนนั้นอาจจะเป็นชาวเหมา ชาวมาร์กซ มากกว่าชาวพุทธก็ตาม แต่ไม่เป็นไรเอาโรงเรียนชาวพุทธมาบังหน้าก่อนละกัน แล้วค่อยๆ สอดแทรกชาวเหมาชาวมาร์กซเข้าไป เลยตัดสินใจบอกโอ๋ว่าผมสนใจงานนี้ ให้โอ๋ช่วยจัดการให้ด้วย โอ๋เลยนัดหมายว่าถ้าพี่ประชากลับมาเมื่อไรจะติดต่อให้ไปพบ นี่คือครั้งแรกที่ได้ยินชื่อของพี่ประชา โดยที่ยังไม่รู้ว่าเป็นคนเดียวกันกับพระประชา

การเดินทางไปอาศรมวงศ์สนิทเป็นไปอย่างยากลำบาก เนื่องจากผมไม่เคยไปเลย แต่ดันไปตอนเย็นเพราะช่วงนั้นช่วยงาน พีพี21(มหกรรมประชาชนสู่ศตวรรษที่ 21 ) อยู่ เดินทางจากสำนักกลางนักเรียนคริสเตียน ที่ใช้เป็นสำนักงานอยู่ในตอนนั้น มาอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ ต่อรถตู้เก่าๆ มาลงคลอง 15 มาถึงก็สามทุ่มกว่าแล้ว ไม่มีรถเข้าไปต้องไปนั่งรอที่ร้านค้าตรงปากซอย รอจนเบียร์หมดไปสองขวดรถก็ยังไม่มา ร้านเขาก็จะปิด น้องชายเจ้าของร้านเลยตัดสินใจไปส่งทั้งๆที่ดูท่าแล้วไม่ค่อยกล้าเท่าไรนักเพราะผมไว้ผมยาว ดูท่าทางไม่ค่อยน่าไว้วางใจ เขาถามว่าจะให้ไปส่งที่ไหนบอกเขาว่าจะไปอาศรม เขาก็ไม่รู้จัก บอกว่าไปร้านพี่ไหว เขาก็ไม่รู้จักอีก พอดีมีรถมาคันหนึ่งเขารู้จักร้านพี่ไหวเลยพาไปส่ง พอไปถึงร้านพี่ไหวปิด ต้องไปตะโกนเรียกจนเขาออกมาก็ถามทางเขาอีกที พี่ไหวใจดีอุตส่าห์ชี้ทางให้ แต่อนิจจา เมื่อไปถึงท่าน้ำอันมืดมิด มองไม่เห็นอะไรสักอย่าง ที่พี่ไหวบอกว่ามีโป๊ะก็ไม่มี ตะโกนเรียกจนเสียงแหบเสียงแห้ง มีเสียงเด็กผู้หญิงคนหนึ่งตะโกนตอบมาว่าโป๊ะอยู่ฟังที่ผมอยู่นี่แหละให้ควานๆหาเอา กว่าจะควานหาได้ก็เปียกไปครึ่งตัว กว่าจะกระเสือกกระสนข้ามฝั่งไปได้ ก็แทบถอดใจกับงานเยาวชนเอาเลยทีเดียว

“พี่มี พี่มี ตื่นได้แล้วครับ พี่ประชามาแล้วให้มาตามพี่ไปคุยด้วย” เสียงปลุกแต่เช้าเรียกให้ผมไปพบพี่ประชา ทำให้ผมเป็นเดือดเป็นแค้นหนักหนา ก็เล่นปลุกเอาซะเช้าเลยทั้งที่เรากว่าจะได้นอนก็เที่ยงคืนไปแล้ว เหนื่อยก็แสนจะเหนื่อยกับการเดินทาง ไหนยังจะอากาศดีๆ แบบนี้ที่ไม่ค่อยได้เจออีก มาโดนทำลายบรรยากาศอย่างนี้เสียอารมณ์หมด จำไว้นะทีหลังอย่าปลุกผมตอนเช้า

เจอแล้ว ประชา หุตานุวัตร เจอตัวเป็นๆ เลยหลังจากได้ยินแต่ชื่อมานานกำลังกินข้าวอยู่ ไว้ผมยาวนิดหน่อย มีหนวดหรอมแหรมพอให้น่าหมั่นไส้ ใส่เสื้อสีน้ำตาลลายแบบแขกอินโด มาเลย์อะไรทำนองนั้น กางเกงม่อฮ่อมเนื้อดี ดูท่าทางสมถะ แต่พอก้มต่ำลงอีกนิด รองเท้ารัดส้นหนังแท้แม้จะเก่าสักหน่อย คู่ไม่น่าจะต่ำกว่าพันบาทว่ะ ดูท่าจะให้ความสำคัญกับตีนมากกว่าอย่างอื่น น่าจะไปด้วยกันได้แฮะ

“เฮ้ย ไปตักข้าวมากิน แล้วคุยกัน” เสียงแสดงอำนาจบงการให้ผมไปกินข้าวโดยไม่ถามว่าหิวหรือไม่สักคำ อย่างว่าเรามันมาของานเขาทำ เป็นผู้น้อยก็ต้องค่อยก้มประนมกรไปก่อน จึงเดินไปตักข้าวมากินด้วยดี ไม่รู้กินกันไปได้ยังไง ข้าวแดงกับผักและเนื้อปลอมปรุงเป็นกับข้าว ช่างทรมานจิตใจชาวศิวิไลซ์อย่างเราแท้ๆ กำลังนั่งกินอย่างสงบเสงี่ยมเจียมตัว ก็เจอคำถามข่มแบบตั้งรับไม่ทันเลย โธ่ ก็เรามันเจอมาแต่ เพื่อนครับ เพื่อนนักศึกษา อะไรทำนองนี้พอมาเจอ “ลื้อชื่ออะไรวะ” พ่อแม่ลื้อเป็นเจ๊กหรือเปล่า” “ลื้ออยากจะทำอะไร” “ลื้อรู้ไหมว่าจะต้องทำอะไรบ้าง” ไปเกือบไม่เป็นเหมือนกันแหละครับ อาศัยว่าเล่นหมากรุกเป็นเลยพอเอาตัวรอดไปได้ แล้วบทจะเลิกถามก็เลิกถามไปดื้อๆ หันไปคุยกับชัยยะแทนซะตั้งนาน เล่นเอาใจแป้วเลยไม่รู้ว่าจะได้ทำงานหรือเปล่า

เอาเป็นว่าสรุปว่าได้งานทำก็แล้วกัน ในตำแหน่งที่สมัครไว้นั้นแหละ แต่ยังไม่ต้องเริ่มงานตอนนี้ให้มาเริ่มงานหลังจากเสร็จงานมหกรรมประชาชนแล้ว และงานแรกที่เริ่มทำคือ ช่วยงานฉลองประจำปีของอาศรม เอาละเข้าเรื่องแล้ว เมื่อพูดถึงงานก็ต้องพูดถึงการบริหารงาน นับแต่นี้ต่อไปวณิพกขอนำท่านรู้จักกับวิธีการบริหารงานของประชา หุตานุวัตร

ซึ่งต่อไปก็จะขอเรียกว่าพี่ประชา ตามธรรมเนียมที่หลายๆคนเรียกและถือว่าเป็นก้าวแรกในการเข้ามาอยู่ภายใต้อาณาจักรของพี่ประชา อย่างแท้จริง

พูดแบบ ส.ศิวรักษ์ ก็ต้องบอกว่า ประชาเป็นคนน่ารัก แต่…… แต่อะไรที่ตามหลังมานั่นคือการตำหนิเล็กๆ แต่ผมคงมิบังอาจไปตำหนิพี่ประชา ขอเพียงแค่ตัดพ้อต่อว่าเล็กน้อยส่งเสียงดังไม่ได้ ตามคุณลักษณะของระบบอำนาจนิยมที่ผู้ชายเป็นใหญ่ในการปกครองอาศรม ก็แล้วกัน

การบริหารงานของพี่ประชาเป็นยังไงใครรู้บ้าง ไม่มีใครรู้หรอก และใครก็มิอาจรู้ได้ เพราะการบริหารงานของพี่ประชานั้นเป็นอนิจจัง คือเป็นการบริหารงานที่มีวิธีการที่ไม่แน่นอน มีหลากหลายวิธีในการใช้ ใครพอทำอะไรได้ก็ช่วยๆกันไปก่อน เอ็ดดี้จึงเป็นคนดูแลบ้านพักด้วย เป็นพนักงานขับรถด้วย ช่วยงานแปลอีกต่างหาก ในขณะที่กำลังจะเตรียมตัวไปอินเดีย แค่คิดก็ปวดหัวแล้วไม่ต้องเห็นภาพหรอก การวางแผนงานต่างๆ ในสมัยนั้น ก็เป็นไปตามโครงการที่เขียนไว้แล้ว และต้องทำให้ได้ตามโครงการนั้น ดังนั้น ไอ้นายบารมี วณิพกของท่าน จึงได้ระเห็จจากผู้ประสานงานโครงการโรงเรียนเยาวชนชาวพุทธเพื่อการรับใช้สังคม มาทำหน้าที่ ดูแลการก่อสร้างในเบื้องต้น “ช่วยพี่ดูก่อสร้างสักปี

นึงก่อนนะแล้วค่อยเริ่มงาน”

พอจากอนิจจังก็มาทุกขัง เป็นความทุกข์ที่แต่ละคนต้องได้รับไปไม่มากก็น้อย อ้อยจากดูแลเด็กเร่ร่อนมาเป็นคนปลูกผัก พี่แขกจากดูแลเด็กเร่ร่อนมาทำเกษตรและขับรถ ชัยยะจากช่วยงานโอ๋ประสานงานเรื่องกิจกรรมมาเป็นเจ้าหน้าที่การเงิน อานันทะ(กมล)เพื่อนชาวศรีลังกาจากวิศวะไฟฟ้ามาเป็นพ่อครัว การบริหารแบบนี้ก่อให้เกิดความทุกข์แด่ทุกผู้ทุกนามในเบื้องต้น แถมยังจะมีเรื่องชุมชนเข้ามาอีก คือไม่มีการชี้แจงให้ชัดเจนตั้งแต่ต้น ก็เลยมีปัญหาบ้าง เช่น สาวเข้มไม่อยากนอนกางมุ้งต้องการมุ้งลวดมากกว่า หลังคาก็ไม่ชอบมุงแฝกอีก เพราะกลัวจะรั่วก็กลายเป็นทุกข์ขึ้นมาอีก

แน่นอนจากทุกขังแล้วก็ต้องมาอนัตตา อนัตตาไร้ตัวไร้ตน เป็นมนุษย์ล่องหน เพราะพอสั่งงานแล้วพี่ประชาก็หายเข้ากลีบเมฆไป ไปไหนก็ไม่รู้ แต่ต้องรู้ให้ได้ว่าไปไหนเมื่อมีโทรศัพท์ทางไกลจากซอยสันติภาพมาถาม ถ้ามีโทรศัพท์จากที่นั่นเมื่อไรจากอนัตตาเป็นอัตตามีตัวมีตนขึ้นมาได้ทันที พี่เจนเคยนินทาให้ฟังว่าตอนอยู่เมืองวิสกี้ด้วยกันใหม่ๆ โทรศัพท์เป็นระบบที่ไม่ต้องรับสายก็ได้ถ้าไม่อยากรับ “แต่ถ้ามีเสียงอาจารย์โทรมาเมื่อไร ประชาพุ่งออกไปรับโทรศัพท์ราวกับจรวดเลย” เมื่ออนัตตาไร้ตัวไร้ตนเช่นนี้พวกผมก็ปรึกษาใครไม่ได้ มีปัญหาขึ้นมาทีไรก็ทะเลาะกันเอง เพราะไม่มีคนตัดสิน ใครเสียงดังกว่า พูดเก่งกว่าก็ได้เปรียบคนอื่น ใครเสียงเบาพูดช้าก็เสียเปรียบคนอื่น ทั้งหมดที่เล่ามานี่เป็นตัวอย่างบางตอนของการบริหารงานในช่วงแรกที่ผมเข้าไปอยู่เท่านั้น แต่ว่าไปแล้วก็เห็นใจพี่ประชาเหมือนกันเพราะยังไม่มีอำนาจอะไรมากนัก แถมยังเป็นมือใหม่หัดขับอีก มันก็เลยกระท่อนกระแท่นเป็นธรรมดา

แต่เรื่องที่เด่นที่สุดของพี่ประชากลับเป็นเรื่องการปล่อย วาง ไม่ว่าจะอยู่ในสถานการณ์แบบไหน แกสามารถปล่อย วางได้ตลอด แต่ปล่อย วางแล้วจะไปสะสมอยู่ภายในหรือไม่ก็ไม่อาจจะรู้ได้นะ แต่ก็มีบางเรื่องที่แกไม่ปล่อย แต่วางคือแกไม่ปล่อยก้าม แต่ชอบวางก้าม ไม่รู้ไปติดมาจากใครผมเลยพาลติดจากแกมาด้วย

ไม่รู้ใครอุตส่าห์ช่วยคิดจำแนกแยกแยะอาศรมออกเป็นสามยุค นี่ว่าตามหนังสือนะ ยุคบุกเบิกของนักฝัน ยุคนักกิจกรรมเพื่อสังคมและยุคทดลองตนของนักแสวงหา อยากจะแบ่งอย่างนั้นก็แบ่งไป แต่สำหรับผมแบ่งยุคที่ผมทำงานในอาศรมเป็นสามยุคเช่นกัน ยุคแรกเป็นยุคอาณานิคม ยุคที่สองเป็นยุค”ประชา”ธิปไตย และยุคที่สามเป็นยุคเสรีภาพเจ้ากรรม (ถ้าอวยพรเขียนอาจจะเปลี่ยนเป็นยุคมารครองเมืองก็ได้) ที่เล่าๆมานี่ยังอยู่ในยุคอาณานิคมอยู่

ในอาศรมนอกจากจะอยู่กันด้วยภาระการงานแล้วยังมีภาระชุมชนพ่วงเข้ามาด้วยอีก ซึ่งเป็นเรื่องหนักอกของผู้ที่เข้ามาอยู่อาจจะเรียกว่าทุกยุคทุกสมัยก็ว่าได้ อาจจะเป็นเพราะเรามีจินตนาการที่แตกต่างกัน แม้แต่ในตัวคนๆเดียวก็ยังมีจินตนาการที่แตกต่างกันด้วย พี่ประชาเป็นคนได้รู้ได้เห็นมามาก ก็ยิ่งมีจินตนาการมากขึ้นด้วย แกเคยคุยถึงจินตนาการของแกให้พวกเราฟังบ่อยๆ ซึ่งพวกเราเชื่อว่าเป็นเรื่องเพ้อฝันซะมากกว่า ตัวอย่างเช่น จะแบ่งอาศรมเป็นสองฝ่ายคือฝ่ายธรรมะกับฝ่ายอธรรม ฝ่ายธรรมะนี่ต้องปฎิบัติ ภาวนา ถือศีลห้าเป็นฐาน ฝ่ายอธรรมนี่ทำอะไรตามใจที่มันไม่ละเมิดศีลธรรมอันงามได้ เช่น กินเหล้าได้แต่เมาแล้วไประรานคนอื่นไม่ได้ พวกเราก็เห็นด้วยตามที่พี่ประชาเสนอเพราะพวกเราเลือกอยู่ฝ่ายอธรรมอยู่แล้ว และยังกระแนะกระแหนแกไปว่าฝ่ายธรรมะคงมีแต่พี่กับพี่พรเท่านั้น แกเลยเลิกล้มความคิดนี้ไปเพราะคงกลัวว่าจะไม่มีใครอยู่กับแก แต่ทุกวันนี้ถึงแม้ไม่ได้แบ่งฝ่ายแต่ก็ยังคงมีคนกินเหล้าแล้วไประรานคนอื่นได้ ผมไม่อยากจะบอกว่าเป็นพี่ล้วนเดี๋ยวแกจะเสียใจ อีกตัวอย่างหนึ่งคือพี่ประชาเสนอให้ทุกคนเงินเดือนเท่ากัน แต่ก็ไม่ลงตัวอีกเพราะเงินเดือนเท่ากันคือเท่าไร ทำไมพี่ประชาต้องเงินเดือนเท่ากับคนอื่นด้วยทั้งที่ประสบการณ์มากกว่า หรือคนโน้นทำงานหนักกว่าคนนี้ คนนี้ใช้แรงงานคนนี้ใช้สมอง หรือให้เงินเดือนตามความจำเป็นของแต่ละคน ก็ไม่รู้ว่าอะไรคือความจำเป็นขั้นพื้นฐานอย่างเช่น ต้องการเงินไปให้แม่สักสองหมื่นทดแทนค่าน้ำนมจะได้ไหม หรือถ้าไม่ได้ดูหนังแล้วใจจะขาด หรือจะพาแฟนไปกินข้าวดีๆสักมื้อ ขอบเขตอยู่แค่ไหนก็ไม่สามารถจำกัดได้เลยเหลวไปอีก แต่ถึงยังงั้นคนภายนอกก็ยังมองว่าคนอาศรมเงินเดือนสูงอยู่ ผมเคยบอกหลวงพี่ไพศาลว่าผมเงินเดือนห้าพันหก ท่านไม่เชื่อ ท่านว่าพวกอาศรมเงินเดือนสูงๆ ทั้งนั้น และยังแนะนำว่าถ้าคิดจะอยู่แบบชุมชนต้องไม่มีเงินเดือน ผมเลยหมดคำอธิบาย จริงๆแล้วผมก็เห็นด้วยกับการที่อยู่อาศรมโดยไม่มีเงินเดือน แต่มันก็ไม่ลงตัวว่าจะจัดการยังไง เข้าใจว่าทุกวันนี้ก็ยังไม่ลงตัวในเรื่องนี้

ปัญหาการอยู่ในชุมชนมีสารพัดปัญหา แก้ได้บ้าง ไม่ได้บ้าง จริงๆแล้วอาศรมน่าจะจัดให้มีการสรุปบทเรียนว่ายี่สิบปีที่ผ่านมาแก้ไขปัญหาอะไรได้บ้าง อะไรที่แก้ไม่ได้ ยุคสมัยที่ผมอยู่มีตั้งแต่ใครจะทำครัว จะมีครัวกลางหรือแยกครัว ใครจะดูแลหมา ใครจะดูแลเด็ก เรื่องชุมชนนี่พี่ประชาจะเปิดโอกาสให้พวกเราช่วยกันตัดสินใจ ทุกคนจะได้ช่วยหาทางแก้ไข แต่ชุมชนที่มีอำนาจที่จำกัดเพราะมีคนที่มีสิทธิที่จะวีโต้อยู่ เช่น พี่ประชาและอาจารย์ เป็นต้น หลายเรื่องที่พี่ประชาอธิบายไม่ได้ก็ให้อาจารย์มาอธิบายแทน และพวกเราก็ต้องยอมจำนน การรับคนเข้ามาไม่ใช่เรื่องใหญ่ แต่การเอาคนออกเป็นเรื่องใหญ่มาก ไม่ค่อยมีใครกล้าตัดสินใจเรื่องนี้มากนัก การทำงานที่เกี่ยวข้องกับการใช้ชีวิตร่วมกัน ทำให้พลังแห่งความขัดแย้งสูงขึ้น แต่พี่ประชาก็ไม่ค่อยได้อยู่ในเหตุแห่งความขัดแย้งนั้นๆ และจะกลับมาก็ต่อเมื่อเกิดเรื่องเกิดราวขึ้นแล้ว พี่ประชาก็จะกลับมาแก้ไขปัญหาทุกคนก็จะฟ้องพี่ประชา ว่าคนนั้นเป็นอย่างนั้นคนนี้เป็นอย่างนี้ ช่วงนี้เองที่พี่ประชาจะได้แสดงบทบาทเต็มที่ ยิ่งมีคนคอยเถียงแกอย่างผม แก่ โอ๋ ด้วยแล้วยิ่งดีเพราะแกยิ่งขึ้นเสียงได้มากขึ้นแสดงอำนาจได้เต็มที เรียกคะแนนความนับถือจากมวลหมู่สมาชิกได้ตรึมเลย บทบาทอย่างนี้พี่ประชาอยู่ในฐานะของผู้ชนะ แต่ที่พี่ประชาแพ้ราบคาบก็มีอยู่คนหนึ่ง ยอดชายนายเอ็ดดี้ รายนี้พี่ประชาจะด่าจะว่ายังไงมันก็ไม่เถียง ยิ้มรับอย่างเดียว พี่ประชาเคยโมโหมากถึงขนาดจะเข้าไปเตะ แต่เอ็ดดี้กลับกอดพี่ประชาไว้แล้วถามว่าพี่เกลียดผมขนาดนี้เลยหรือ เท่านั้นพี่ประชาก็ไปไม่เป็นแล้ว ถ้ามีคนอย่างเอ็ดดี้เยอะๆ ในอาศรมรับรองได้ว่าพี่ประชาสร้างความยอมรับนับถือขึ้นมาไม่ได้ขนาดนี้หรอก ต้องมีอย่างพวกผมนี่แหละถึงจะเป็นอิฐลองทองได้

เดี๋ยวจะหาว่าต่อว่าอย่างเดียวก็ไม่ดี พี่ประชามีคุณงามความดีที่ต้องกล่าวถึงไว้ในที่นี้ด้วย ประการแรกที่เห็นคือพี่ประชาเป็นคนให้อภัยทุกผู้ทุกคนเสมอ ผมเคยทะเลาะเบาะแว้งกับแกหลายครั้ง โกรธแกตั้งหลายหน แต่ก็เกลียดแกไม่ลง เพราะแกให้อภัยผมมาตลอด ครั้งหนึ่งเคยทะเลาะกันหน้าดำหน้าแดง แล้วแยกย้ายกันไปนอน ก็นอนบ้านเดียวกันนั่นแหละ แต่แกนอนในห้องผมนอนนอกห้อง ไม่ใช่แบ่งชนชั้นอะไรหรอก แกชวนนอนในห้องเหมือนกันแต่ผมไม่ไว้ใจแก โธ่…ก็ผมขาวอวบอะไรอย่างนี้จะให้ไปอยู่ในห้องกับผู้ชายสองต่อสองได้ไง เอ๊ย ….มิได้ มิได้ ผมต้องการมีพื้นที่ส่วนตัวบ้างต่างหาก เอ้าเลยนอกเรื่องไปอีก เอาเป็นว่าตอนเช้าตื่นขึ้นมาผมก็ยังนอนต่อไม่ยอมลุกไปนั่งสมาธิ จนสายแปดโมงกว่า พี่ประชาเดินมาเรียกด้วยน้ำเสียงนิ่มนวลอะไรจะขนาดนั้นว่า “ตื่นเถอะมี สายแล้ว ลุกไปกินข้าวเถอะ” เรียกว่าไม่ทันจบคำผมรีบกระโดดลุกขึ้นมาทันที โห …เจ้านายมาง้อถึงที่นอนเลยหรือนี่ ยังครับยังไม่พอ พอผมลุกขึ้นมาพี่ประชาบอกอีกว่า “เมื่อคืนได้คุยกับเอ็งดีว่ะ พี่นอนไม่หลับเลย เลยตอบจดหมายได้ตั้งหลายฉบับ ค้างไม่ได้ตอบมาตั้งนานแล้ว” น้ำตาแห่งความตื้นตันของลูกผู้ชายชื่อไอ้มีคลอเบ้าเลย พูดไม่ออกบอกไม่ถูกได้แต่รีบลุกไปล้างหน้าและกินข้าวโดยพลัน เช้าวันนั้นพี่ประชาเรียกคะแนนความจงรักภักดีจากผมได้เกินร้อยเลย แต่ธรรมดาครับคนอยุ่ใกล้กันก็ย่อมกระทบกระทั่งกันบ่อย ผมกับแกก็มีเรื่องกันเป็นระยะ และแกก็ให้อภัยผมตลอดมา ประการที่สองพี่ประชาเป็นคนให้โอกาสคนอื่นมาตลอด ถ้าเห็นว่าใครมีแวว หรือใครอาสาจะทำ ก็จะให้ทำ อย่างเช่น ไพริน กว่าจะลงตัวกับงานบ้านดินได้ ต้องอดทนกับความเมาของอ๊อดพอสมควรทีเดียว เอ๊ย ไมใช่ผิดเรื่อง เอาใหม่นะ อย่างเช่นไพรินกว่าจะลงตัวกับงานบ้านดินได้ก็ผ่านงานมาหลายขนานตั้งแต่ช่วยงานคดีพ่อประจักษ์ ช่วยงานโครงการดงใหญ่ ลาออกไปอยู่มูลนิธิครูทิม บุญอิ้งแล้วกลับมาทำห้องสมุด ทำเรื่องนิวเคลียร์ ไม่แน่ใจว่าทำเรื่องอะไรก่อนหลังและทำกี่เรื่องบ้าง แต่ไพรินก็ได้รับโอกาสจนกระทั่งหาช่องทางที่เหมาะสมกับตัวเองได้ ไม่แน่ใจว่างานนี้ไพรินหรือพี่ประชาใครอดทนมากกว่ากันแต่ที่แน่ๆ คือพี่ประชาให้โอกาสไพรินมาตลอด

จริงๆ แล้วยังไม่พร้อมที่จะกลับมาเขียนเท่าไร แต่วณิพกน้อยได้รับโทรศัพท์ให้กำลังใจจากมิตรรักแฟนเพลง ขอให้เขียนต่ออย่าให้ขาดระยะ แฟนานุแฟนจะได้ติดตามได้ ในฐานะที่เป็นพุทธบริษัทจำกัด(มหาชน) จะปฎิเสธได้อย่างไร เลยจำใจออกมาสาธยายต่อเล็กน้อย คืนวันพรุ่งจะเดินทางไปเชียงใหม่ แอบคาดหวังไว้ว่าบรรยากาศบนตู้เสบียงจะช่วยดึงดูดเอาอารมณ์อันวิจิตรออกมาได้ แฟนนานุแฟนช่วยเป็นกำลังใจให้วณิพกด้วยนะครับ ช่วยบริจาคค่าเบียร์สักคนละขวดสองขวดเถอะ จะนับเป็นเกียรติแก่วงศ์ตระกูลเป็นอย่างยิ่ง

ประการสุดท้าย ประการสุดท้ายนี่หมายถึงเท่าที่นึกได้นะ ไม่ใช่พี่ประชามีคุณงามความดีแค่นี้ ถ้าบอกมีคุณงามความดีแค่นี้เดี๋ยวแกมาอ่านเข้าแล้วจะน้อยใจ ก็รู้ ๆ กันอยู่ว่าคนแก่งอนมันไม่งาม อย่าให้แกงอนซะดีกว่า เอ้าเข้าเรื่องได้แล้วล้อมวงเข้ามา ฟังวณิพกสาธยายถึงชายผู้นี้ต่อไป คุณงามความดีที่ว่าคือพี่ประชาเป็นคนมีเวลาให้กับทุกๆคนโดยไม่จำกัด ไม่รู้ว่าแกจัดสรรเวลาได้อย่างไร เวลาผมมีธุระเข้าไปขอคุยก็คุยได้ทันที เช่นเดียวกับคนอื่นๆ และอย่างที่พูดไปแต่แรกแล้วว่าแกไม่ค่อยอยู่ที่อาศรมดังนั้น เวลาที่แกอยู่ทุกๆ คนจึงใช้แกอย่างมีคุณค่า และอาจจะเป็นด้วยเหตุฉะนี้เองจึงทำให้แกเกิดอาการ “หัวพอง ท้องอืด” อยู่ตลอดเวลา อาการนี้เป็นอย่างที่พี่พรเรียกว่าพี่ประชาบ้างาน และเป็นอาการที่ทางการแพทย์เรียกว่า “โรคความดันโลหิตสูง” แต่ก็จะมีช่วงเช้าๆ บ้างเหมือนกันที่แกไม่มีเวลา เพราะนอกจากนั่งสมาธิแล้ว แกยังมีภารกิจต้องช่วยเหลือพี่พรด้วย ดังที่พี่พรเคยเล่าให้ฟังว่า “พี่เล่นโยคะท่ายืนด้วยหัวไม่ได้ พี่ประชาต้องมาช่วยจับพี่ยืนทุกเช้า ” โห… ช่างเสียสละเพื่อชาติ เพื่อประชาชน จริงๆ นับเป็นผู้ปฎิบัติงานที่เข้มแข็งของพรรคได้เลย สงสัยอ่านชีวทัศน์เยาวชนมาเยอะ

หมายเหตุให้ทราบทั่วกันในที่นี้ว่า เวลาที่พี่พรตำหนิว่าพี่ประชาบ้างานนี่ น้ำเสียงมีแววชื่นชมมากกว่าตำหนินะ อันนี้จะมาจากปฐมเหตุอันใดวณิพกน้อยมิอาจทราบได้ฮ่ะ

กำลังจะจบบทว่าด้วยประชา หุตานุวัตรอยู่แล้วละ ว่าแต่จะจบลงยังไงดีหว่า แฟนานุแฟนทั้งหลายช่วยออกไอเดียหน่อย บทต่อไปก็จะเป็นอาศรมในยุคอาณานิคม แล้วยังไม่แน่ใจว่าจะตามด้วยเรื่อง สุภาพร พงศ์พฤกษ์ดีหรือว่าเอาเรื่อง เดอะ แกงค์ ออฟ ทรี(บารมี โอ๋ แก่) ก่อน เอาเป็นว่าคิดไปเขียนไปละกันนะ ใครทนไม่ไหวก็ต้องท่อง ขันตี จะ โสวะจัสสะตา สะมะณานัญจะ ทัสสะนัง กาเลนะ ธัมมะสากัจฉา เอตัมมะงคะละมุตตะมังฯ ไปก่อนละกัน

ความบ้างานของพี่ประชาอาจจะเป็นคุณสมบัติที่ดีอันหนึ่ง สำหรับผู้บริหาร แต่อาจจะไม่ใช่คุณสมบัติที่ดีนักสำหรับพ่อบ้าน พ่อเมือง พี่ประชาที่เป็นทั้งผู้บริหารและเป็นพ่อบ้านพ่อเมืองด้วยจึงต้องสร้างบุคลิกหลายแบบ ใช้ทั้งพระเดชและพระคุณ สง่างามด้วยพระคุณ และอาจหาญด้วยพระเดช และพระเดชก็ทำให้คนออกมาเป็นใหญ่เป็นโตนอกชายคาอาศรมกันซะมากมายจนทำให้ได้รำลึกถึงพระคุณอยู่ทุกจนวันนี้

สังคมวิกฤตเห็นผิดเป็นชอบ

สังคมวิกฤตเห็นผิดเป็นชอบ

Author : Admin

อันความดีทำไว้ไม่หายสายสูญ

จะเกื้อกูลตามต้องสนองผล

ให้ความสุขสมหมายดังใจคน

เกิดเป็นคนควรทำแต่กรรมดี

เป็นที่น่าสังเกตว่า ระยะนี้เหตุการณ์บ้านเมืองมีแต่เรื่องเดือดร้อน อุบัติเหตุที่ไม่น่าเกิดก็เกิดบ่อยจนผิดปรกติ เมื่อไม่นานมานี้ ก็มีข่าวรถไฟชนกันเองบ้าง ตกรางบ้าง ชนกับรถสิบล้อบ้าง ฯลฯ ทั้งๆที่แต่ก่อนนี้อุบัติเหตุทางรถไฟมีน้อยมาก การเดินทางโดยรถไฟถือว่าปลอดภัยที่สุด สาเหตุที่เกิดขึ้นพอสอบสวนกันแล้วก็พบว่า เกิดจากความบกพร่องของเจ้าหน้าที่ คนขับเมาบ้าง หลับบ้าง คนนั้นเป็นเหตุคนนี้เป็นเหตุบ้าง ก่อวินาศกรรมบ้าง ความบกพร่องทางวัตถุ ที่คนรับผิดชอบไม่ละเอียดลออเพียงพอบ้าง และประมาทเลินเล่อบ้าง เสร็จแล้วจะหาทางแก้ด้วยการเปลี่ยนรางใหม่ให้ใหญ่ขึ้น หาเรื่องใช้งบประมาณอีกเป็นพันๆล้าน ทั้งๆที่ปัญหาไม่ได้อยู่ที่รางเป็นเอก แต่อยู่ที่คน

นอกจากอุบัติภัยดังกล่าวแล้ว ยังเกิดภัยธรรมชาติ เกิดวาตภัย อุทกภัย กระหน่ำภาคใต้ถึงสองครั้งสองหนติดๆกัน ผู้คนตายนับร้อยพัน บ้านช่องพังพินาศ ต้นไม้ล้มระเนระนาด ที่อาศัยที่ทำกินสูญเสียสภาพ นับว่าเป็นเรื่องน่าเศร้าสลด และรุนแรงมาก หรือว่าเหตุการณ์ที่พระพุทธองค์ทำนายไว้ ได้มาถึงแล้วถึงยุคที่…

….เดือนดาวฟ้าจะอาเพศ….

บัติเหตุเกิดทั่วทุกทิศาน

หาเมฆจะลุกเป็นเพลิงกาฬ

กิดนิมิตพิสดารทุกบ้านเมือง…

คงจะไม่มีใครอยากเจอเรื่องทุกข์ร้อนแบบนี้ แต่ถ้าตราบใดผู้คนไร้ศีลธรรม ผู้มีอำนาจข่มเหงรังแกผู้ทรงศีลทรงธรรม ทั้งที่อยู่ในร่างฆราวาสและบรรพชิต ผู้ที่มีอำนาจใช้อำนาจช่วยคนผิดทำลายคนดี ทำลายป่าเขา ห้วยละหาน ธรรมชาตินานา ทำลายเศรษฐกิจ-รัฐกิจ เพราะรู้เศรษฐศาสตร์-รัฐศาสตร์ เพียงทางวัตถุ หรือรูนามธรรมก็แค่ขั้นต้นหยาบๆไม่ลึกซึ้งพอในทางจิตวิญญาณ ผู้มีอำนาจใช้อำนาจช่วยทำลายอุปนิสัยใจคอ และจิตวิญญาณผู้คน

เบียดเบียนผู้ทำคุณประโยชน์ให้กับบ้านเมืองและประชาชน คงจะต้องเจอภัยพิบัติอย่างหลีกเลี่ยงไม่พ้น

ท่านที่ติดตามพุทธทำนายมาจนตลอดจนถึงตอนที่สิบสองแล้วคงจะไม่สงสัยว่า ทำไมบ้านเมืองจึงเดือดร้อน สังคมจึงสับสนวุ่นวาย เราจะสักเกตได้ว่า พระพุทธองค์ตรัสไว้เสมอว่า ถ้ามนุษย์ไร้ศีลธรรม ผู้ปกครองหรือผู้มีอำนาจ ถืออำนาจบาตรใหญ่เอาเปรียบและข่มเหงรักแกประชาชน ความเลวร้ายในสังคมก็จะเกิดขึ้น ภัยพิบัติต่างๆนานา ก็จะปรากฏ

พุทธทำนาย นี้ก็เช่นกัน พระเจ้าปเสนทิโกศลได้สุบินนิมิตว่า

ได้เห็นน้ำเต้าแห้งกลวง ซึ่งปกติลอยน้ำได้ กลับจมดิ่งลงน้ำ

พระพุทธองค์ได้ทรงอธิบายทำนายไว้ว่า ตามที่โบราณาจารย์ได้แต่งเป็นบทกวีเกี่ยวกับเรื่องราวตอนนี้ไว้ว่า

สิบสองเล่าเห็นน้ำเต้านั้นจมชล

ดูวิกลไม่เคยพบประสบเห็น

พุทธบรรหารว่านานไปจะเกิดเป็น

ข้อที่เข็ญของสัตว์วิบัติมี

ปราชญ์ผู้รู้ธรรมจะต่ำต้อย

พาลาลอยเฟื่องฟูชูศักดิ์ศรี

ผู้พงศาตระกูลประยูรมี

จะลับลี้เสื่อมสูญประยูรยศ

พวกคนพาลจะร่านเริงบันเทิงหน้า

เจรจาผิดธรรมไปจนหมด

ใครปลอกปลิ้นลิ้นลมเป็นคนคด

รู้โป้ปดกลอกกลับจึงนับกัน…..

พระพุทธองค์อธิบาย หรือทำนายความฝันนี้ไว้ว่าในภายหน้า เมื่อมนุษย์ไร้ศีลธรรม โลกจะวิปริตแปรปรวนจะเกิดภัยพิบัติต่างๆนานา

นักปราชญ์ผู้มีคุณธรรมจะอยู่ยาก จะถูกกีดกันกลั่นแกล้งจากคนพาลที่มีอำนาจมีอิทธิพล คนบางคนอาศัยวิธีการฉ้อฉลต่างๆ เพื่อปีนป่ายขึ้นสู่ฐานะอันสูงศักดิ์ เพื่อมีอำนาจในบ้านในเมือง แต่ด้วยความเป็นพาลอันเป็นวิสัย จึงชอบใช้อำนาจนั้นไปในทางผิดพลาดเบียดเบียนผู้อื่น ทำความเดือดร้อนให้แก่ประชาชนโดยพยายามทำทุกวิถีทางเท่าที่จะฉลาด เพื่อไม่ให้ประชาชนจับได้ว่า เป็นการฉ้อโกง เป็นการกดขี่ข่มเหง เป็นการแสวงหารายได้และความสุขสำราญ โดยไม่คำนึงถึงศีลธรรมใดๆ กอบโกยผลประโยชน์อันจะพึงเป็นของประชาชน มาเป็นของตัว แล้วเขาก็หลงเข้าใจตนผิดว่าเป็นคนดีคนฉลาด ไม่มีใครรู้เท่าทันและท้วงติงติเตียนเขาได้ (เมื่อมีอำนาจ ย่อมหาคนกล้าไปท้วงติงได้น้อย) เขาจะดูถูกประชาชนว่า โง่เง่า ไม่รู้เท่าทัน เขาจึงใช้อำนาจที่ไม่เป็นธรรมอยู่ตลอดเวลา และยิ่งร้ายแรงซับซ้อนขึ้นเรื่อยๆ

ยุคนี้จะเป็นยุคที่คนในภาษาไทยเรียกว่า  ฉลาดเป็นกรด แต่ในภาษาพระเรียกว่า  เฉกตา  หรือ  พาลตา คือคนพาลมีอำนาจวาสนา คนทีขี้ประจบสอพลอจะอยู่ได้ ถือว่าเป็นพวกเดียวกันแต่คนที่จริงใจและยึดมั่นในอุดมการณ์ หากขัดผลประโยชน์ของเขาก็จะอยู่ยาก จะต้องถูกกีดกันกลั่นแกล้งให้ตกต่ำลงไป ความดีคือการมีผลประโยชน์ร่วมกัน (ร่วมกันโกง ร่วมกันกิน) ใครให้ผลประโยชน์ได้ คนนั้นคือคนดี ใครขัดผลประโยชน์เขาหรือให้ผลประโยชน์เขาไม่ได้ คนนั้นคือคนเลว ไม่ควรจะอยู่ร่วมสังคมด้วย คนดีที่รักบ้านรักแผ่นดิน จึงถูกกำจัดตลอดเวลา คนที่ต้องการเอาตัวรอดจึงไม่กล้าขัด และมักจะนิยมนับถือถ้อยคำของคนคดโกง

คำโกหกมดเท็จของคนพาล คำของอลัชชี จะถูกยกย่องนับถือ

ส่วนคำของสัตบุรุษ ผู้มีศีล มีธรรม ประพฤติดีปฎิบัติชอบแท้จริง จะถูกดูถูกเยาะเย้ยถากถาง หาว่าเป็นถ้อยคำที่วิปริตผิดธรรมวินัย

ไม่ต้องอื่นไกลยกตัวอย่างง่ายๆ แค่ประกาศแนะนำให้ถือศีล 5 ทั้งๆที่มีคำพรรณนาไว้ตอนท้ายว่า ถ้ารักษาศีล 5 ได้จะมีอานิสงส์หลายอย่าง จะมีโภคทรัพย์ก็เพราะศีล จะไปสู่สุคติโลกสวรรค์ก็เพราะศีล แม้ที่สุด จะไปสู่นิพพานอันยิ่งกว่าสุขก็เพราะศีล แต่ไม่ค่อยมีใครสนใจอยากไป แต่พอเขาได้ยินหรือเห็นภาพโฆษนายั่วยุทั้งของมอมเมาฟุ่มเฟือย มากตัณหาราคะมากความ สิ้นเปลืองโภคทรัพย์ในจอโทรทัศน์ กลับหูผึ่ง น้ำลายไหล หัวใจสั่นบอกไม่ถูก แสดงให้เห็นว่า ค่านิยมของคนทุกวันนี้ต่ำลงมาก

คนที่หวังผลประโยชน์ จึงชอบเอาสิ่งของมอมเมามาล่อ มาหลอกประชาชน ส่วนคนดีที่พยายามกอบกู้ ป้องกัน ไม่ให้ประชาชน ส่วนคนดีที่พยายามกอบกู้ ป้องกัน ไม่ให้ประชาชนถูกหลอกยั่วตัณหาจากสิ่งมอมเมา จึงต้องทำงานหนัก ไหนจะหนักเพราะต้องคอยจูงนำสังคมให้ไปสู่ทิศทางที่ถูกต้องซึ่งเป็นงานที่ยากแสนยาก นอกจากนี้ยังต้องหนักเพราะคอยสู้กับพวกหวังกอบโกยผลประโยชน์ ด้วยการมอมเมาประชาชนอีก จึงเป็นงานที่เสี่ยง และต้องเสียสละอย่างมาก

เพื่อเป็นกำลังใจสำหรับผู้ที่มุ่งมั่นทำความดี เพื่อให้สังคมพ้นจากภาวะทุกข์เข็ญ จะได้ไม่เป็นดังที่พระพุทธองค์ทำนาย ก็ขอให้อ่านข้อความต่อไปนี้หลายๆเที่ยว ข้อความที่จะช่วยให้เกิดกำลังใจนั้น มีผู้รู้ท่านได้กล่าวไว้ดังนี้

เรื่องการกลั่นแกล้งกีดกัน จะเป็นภัยเป็นอันตราย เป็นเครื่องบั่นทอนอย่างยิ่ง สำหรับคนที่มีจิตใจอ่อนแอ เห็นอุปสรรคเป็นเรื่องร้ายเป็นเรื่องน่ากลัว เมื่อถูกกลั่นแกล้งกีดกัน เขาจะหมดกำลังใจในการทำดีทำประโยชน์ในที่สุดก็จะเลิกทำความดี เลิกบำเพ็ญประโยชน์

แต่เรื่องกีดกันกลั่นแกล้งนี้เอง จะเป็นประโยชน์อย่างยิ่ง สำหรับบุคคลผู้มีกำลังใจเข้มแข้ง ทนทาน เด็ดเดี่ยว ยิ่งถูกกลั่นแกล้งมากเท่าใด เขายิ่งมุมานะทำความดีทำประโยชน์ เพื่อพิสูจน์ให้เห็นว่า การกลั่นแกล้งกีดกันนั้น ไม่มีผลจะมายับยั้งอุดมการณ์ที่จะทำความดีของเขาได้ ปรกติคนที่มีลักษณะลอยอยู่เสมอนั้น ใครจะกลั่นแกล้งกีดกัน หรือกดให้จมไม่ได้ เมื่อถูกกดที่นี่ก็จะต้องไปโผล่ที่อื่น เหมือนมะพร้าวก็ลอยขึ้นน้ำ หรือเหมือนพระอาทิตย์ ซึ่งลอยเด่นอยู่เสมอ จะต้องมีคนไม่มุมใดก็มุมหนึ่งของโลก มองเห็นพระอาทิตย์อยู่ตลอดเวลา

ตรงกันข้าม คนที่มีลักษณะจมเหมือนก้อนหิน แม้จะลอยอยู่เหนือน้ำได้ เพราะมีคนคอยเอามือรองรับไว้ แต่พอปล่อยมือมันก็จมต่อไปเหมือนคนบางคนบางพวก มีลักษณะจมอยู่เหมือนนิสัย ลอยอยู่ได้เพราะมีคนอุปถัมภ์ค้ำชู พอขาดผู้อุปถัมภ์ค้ำชู ก็จมเอาตัวไม่รอด อาศัยร่มเงาจากกลุ่มเมฆ จะยั่งยืนถาวรสักแค่ไหน

หวังว่า ผู้ที่มุ่งหมายประกอบคุณงามความดี เพื่อให้สังคมอยู่เย็นเป็นสุข แม้จะต้องเจอกับอุปสรรคเป็นบางช่วงบางขณะ จนดูเหมือนถูกกดให้จมลงไปบ้าง ก็อย่าเพิ่งท้อถอย พึงทำดีให้เข้มแข้งอดทนตลอดไป ถ้าเราเป็นของลอยจริง สักวันหนึ่งมันก็ต้องโผล่ขึ้นมาจนได้ แต่ผู้ที่มีลักษณะจม แม้ตอนนี้จะดูเหมือนเขาลอยอยู่ก็อย่าแปลกใจเลย ไม่ช้าเขาก็จะจมเอง เพราะธรรมชาติมันเป็นอย่างนั้น ขอให้เรามีความพากเพียรบากบั่น และตั้งใจทำความดีไปให้ตลอด ตราบใดที่โลกยังมีคนดี ยังไม่ไร้ซึ่งศีลธรรม น้ำเต้าน้อยก็จะลอยตามปรกติ สังคมก็จะไม่เดือดร้อนตามที่พระพุทธองค์ทรงทำนาย เพราะพระองค์มีข้อแม้ไว้ว่า

ถ้ามนุษย์ไร้ศีลธรรม ภัยพิบัติต่างๆก็จะเกิดขึ้น

ดังนั้น เรามาเร่งสร้างศีลธรรมให้เกิดขึ้นในหมู่มนุษย์กันเถิด เคราะห์กรรม ของเพื่อนมนุษย์จะได้ลดน้อยลง

ชีวิตในโลกสมัยใหม่

ชีวิตในโลกสมัยใหม่

Author : Admin

เคยว่าไว้ว่า เวลานี้โลกมีโรคภัยไข้เจ็บใหม่ๆ มากมายนัก หลายโรคนั้นเป็นโรคที่คร่าชีวิตผู้คนได้อย่างรวดเร็วจนไม่อาจตั้งตัว  นั่นนับเป็นหายนะภัยใหม่ขอโรคหรือเปล่า  ในขณะที่วิถีชีวิตของผู้คนห่างออกไปจากความสมดุลมากขึ้นเรื่อยๆ  ห่างออกไป ห่างออกไป  วิถีชีวิตที่เกี่ยวข้องสัมผัสโลกเพียงผิวเผิน ดูเหมือนชีวิตผู้คนจะไม่มีทางเลือกมากนัก ว่าก็โดยเฉพาะในเมืองใหญ่  นี่เป็นปัญหาหนึ่ง  แม้แต่ผู้คนมากมายที่หันมาสนใจการดูแลรักษาสุขภาพ หรือการกลับมาแสวงหาวิถีชีวิตที่ใกล้ชิดกับธรรมชาติ จนถึงการเยียวยารักษาโรคทางธรรมชาติบำบัด นั่นก็มีมากมายหลายสายให้แสวงหากันไป  นั่นก็เป็นกระแสที่ดีกระมัง อันว่าถึงการกลับมาใส่ใจเรื่องราวของชีวิตมากขึ้น  แต่ก็ยังไม่วายมีปัญหาตามมา เมื่อผู้คนนักแสวงหาทั้งหลายนั้น ส่วนหนึ่งไม่สามารถปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตได้  นั่นก็ไม่ได้แปลว่าพวกเขาทั้งหลายไม่อยากเปลี่ยนกระมัง  แต่ดูเหมือนภาระมากมายที่วางทอดเป็นแนวอยู่ในวิถีชีวิตของพวกเขาทั้งหลายนั้น มันไม่สามารถทำให้พวกเขามีเวลาได้อย่างแท้จริง   นั่นก็หมายความว่า เมื่อชีวิตมิได้ปรับเปลี่ยน  ภาวะเดิมๆ ก็ยังเกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำเล่า

ดูเหมือนว่า โลกวันนี้มันเคลื่อนตัวไปข้างหน้าอย่างรวดเร็วเหลือเกิน  นั่นก็คงเป็นผลพวงของเทคโนโลยีที่พลิกโฉมหน้าของโลกไปอย่างสิ้นเชิง  หลายเรื่องหลายอย่างที่หายไปจากระบบของโลก ซึ่งสิ่งเหล่านั้นครั้งหนึ่งเคยเป็นสิ่งสำคัญ ว่าก็ดังเช่น โทรเลข หรือการเขียนจดหมาย อย่างหลังนี้อาจจะยังมีอยู่ แต่ก็น้อยลงมากเหลือเกิน ดังจะเห็นได้ว่าไปรษณีย์ไทยก็ปรับตัวอย่างมากต่อการบริการเพื่อให้เหมาะสมกับโลกสมัยใหม่  นั่นก็หมายความว่า ชีวิตของเราทั้งหลายดำเนินอยู่บนเส้นทางของข้อมูลข่าวสาร การประดิษฐ์คิดค้น  นวัตกรรมใหม่ๆ เกิดขึ้นไม่เว้นวัน  และเรื่องราวต่างๆ ของโลกก็เคลื่อนตัวไปอย่างรวดเร็วเหลือเกิน  มีอยู่บ้างบางคนกระมังที่ไม่ยอม และไม่อยากก้าวตามมันไป  นั่นก็ไม่ได้แปลกอะไรเท่าไหร่นัก กระมัง….หรือเปล่า…

คำถามหนึ่งที่ผุดขึ้นมาในความคิดคำนึงของเราก็คือ  เราจะอยู่บนโลกนี้อย่างไรหรือ  หรือเราก็จะวิ่งตามโลกไปเรื่อยๆ ไม่ว่าอย่างไรเราก็หนีไม่ได้ เราก็วิ่งตามมันซะ เหนื่อยหน่อย แต่เราก็ไม่ตกยุค  พยายามขยันหมั่นเพียร ตามที่เคยเรียนมาจากคนรุ่นเก่า เก็บเงินเก็บทอง เอาเงินไว้รักษาตัวเองยามเจ็บป่วย  ซึ่งก็มาแน่ๆ สักวัน ไม่มีทางเป็นอื่นได้  ด้านชีวิต ความคิดความอ่านก็ไม่ต้องทำอะไรมาก  เดี๋ยวนี้เราก็สามารถเสพความรู้สำเร็จรูปได้จากจอโทรทัศน์ซึ่งก็มีมากมายหลายช่วงหลายแบบหลายดาวเทียม อะไรก็ว่าไป  ราคาไม่แพงนักด้วย ก็ไม่ต้องขวนขวายอะไรมานัก อยู่ๆ กันไป

มีทางเลือกอื่นหรือไม่เล่า….  นี่อาจเป็นคำถามของคนบางคน…หรือเปล่า  แล้ว หรือ จะเริ่มต้นยังไง  ในการสนทนา เราคุยกันเรื่องการกลับมาเริ่มต้นที่ฐานกาย ฐานกายคือฐานที่สังคมสมัยใหม่ให้ความสำคัญน้อยที่สุด หรือเปล่า  นั่นคือภาพที่เห็นแจ่มชัดที่สุด  ในโรงเรียน ตั้งแต่ช่วงต้นปฐมวัย การเรียนการสอนทั้งหมด หรือเกือบทั้งหมด มั่งไปที่เรื่องของหัว  หรือถ้าจะมีฐานกายอยู่บ้าง ก็เป็นเรื่องของการกีฬา และที่สำคัญคือการแข่งขัน   แล้วฐานกาย มันสำคัญอย่างไร…..

ในคำสอนเต๋า หรือในศาสตร์ของไท่จี๋เฉวียน บอกว่า เมื่อบ่มเพาะร่างกาย ดูแลร่างกาย ก็จะเกิดพลังชีวิต หรือการมีสุขภาพที่ดี ส่งผลถึงอารมณ์ที่เบิกบาน และเมื่ออารมณ์ที่เบิกบาน หรืออารมณ์ที่เป็นบวกทั้งมวลนั้นแล้ว ก็จะส่งผลต่อการเติบโตด้านจิตวิญญาณด้วย…

ในฐานะของผู้ฝึกฝนมวยจีน ไท่จี๋เฉวียน  มีผู้คนถามกันมาว่า มันมีคุณค่าอะไรบ้าง  ด้วยว่าตามความเข้าใจของผู้คนทั่วไปนั้น ไท่จี๋ก็เป็นการออกกำลังกายของคนเฒ่าคนแก่ หรือเปล่า ตามที่เห็นตามสวนสาธารณะ  เมื่อภาพเป็นเช่นนั้นแล้ว ผู้คนก็เพียงผ่านไปผ่านมา  และจนกว่าที่จะมีบางคนที่เริ่มรู้สึกได้ถึงการเปลี่ยนแปลงทางสุขภาพ เมื่ออายุมากขึ้น ว่าก็ สุขภาพเริ่มส่อแววของปัญหา  เขาก็จะเริ่มหันมาสนใจการดูแลตัวเอง  บางคนก็อาจจะเริ่มมองไปที่เรื่องของการออกกำลังกาย  ยามนี้ ภาพคนแก่รำมวยจีนก็จะผุดขึ้นมาในความทรงจำบ้างกระมัง

ต่อปัญหาสองเรื่องข้างต้น คือโรคภัยไข้เจ็บใหม่ๆ และความเร็ว และสิ่งต่างๆ มากมายในวิถีของโลกสมัยใหม่  มวยจีนจะตอบสนองต่อปัญหาสองข้อนี้หรือไม่….

ตอบแบบง่ายๆ ก่อนก็คือ หากการบ่มเพาะฐานกาย ทำให้ร่างกายแข็งแรงมั่นคน  มันส่งผลต่อพลังชีวิต และการพัฒนาทางอารมณ์ และที่สุดส่งผลต่อการเติบโตด้านจิตวิญญาณ  ยกระดับสติปัญญาให้สูงขึ้น นั่นก็จะเป็นคำตอบต่อปัญหานั้นได้  ขยายความต่ออีกนิด  สืบเนื่องจากเรื่องราว หรือปัญหาต่างๆ ของโลก ก็คือว่า มนุษย์ต่างก็สร้างชุดความรู้ สร้างชุดคำตอบขึ้นมาโดยการ คิดเอา  เราภาคภูมิใจในความรู้ แต่เรามักไม่รู้ว่า ความรู้นั้น มันไม่ได้เข้าไปเปลี่ยนแปลงโลกภายในของตัวเอง  แล้วเราก็เอาแต่ถ่ายทอด บอกเล่าเรื่องราวนั้นๆ ความรู้นั้นๆ หลายครั้งก็ทำให้เราดูดี ดูเก่ง ดูมีคุณค่ามีความหมาย  แต่คำถามก็คือ ในเรื่องราวนั้นๆ เราเพียงแต่คิดเอา ว่าเราทำได้ หรือความรู้นั้นมันพาเราไปเปลี่ยนแปลง หรือพัฒนาโลกภายในอย่างแท้จริง

อย่างนั้น การแปรเปลี่ยนที่แท้จะเกิดขึ้นจริงได้อย่างไร  คำตอบก็คือ การลงมือทำ  การลงมือปฏิบัติ ชีวิตไม่มีทางลัด เราจะไม่สามารถเข้าไปสู่การแปรเปลี่ยนที่แท้ได้ด้วยการคิดเอา  แต่มันต้องลงมือทำ  คำถามต่อมาก็คือ ทำอะไร ตอบ… พัฒนาฐานกาย เพื่อบ่มเพาะพลังชีวิต ก่อเกิดการพัฒนาทางด้านอารมณ์ นั่นก็คือการบ่มเพาะความรัก บ่มเพาะความมั่นคงภายใน  ที่สุดนั่นก็จะนำไปสู่การเติบโตทางจิตวิญญาณ   ผู้คนมากมายพูดถึงการเติบโตทางจิตวิญญาณ  แต่นั่นมันก็ไม่สามารถเติบโตได้จริงจากเพียงการคิดเอา

อะไรสักอย่างเพื่อเป็นทางแห่งการฝึกฝน  โยคะ มวยจีน วิ่ง หรือเดิน หรือออกกำลังกายอะไรสักอย่าง แต่ไม่ใช่เพื่อการแข่งขันหรือเอาชนะ  อะไรสักอย่างเพื่อฝึกฝนฐานกาย  บ่มเพาะฐานกาย  พร้อมกับการเรียนรู้หลักคิดปรัชญาของสิ่งนั้นไว้ด้วย ฝึกมวยจีน ก็มิใช่เพียงกายฝึกมวยจีน แต่มันคือการเข้าไปศึกษาในหลักความเป็นไปของธรรมชาติ และวิธีคิดของสาสตร์นั้นๆ  นั่นก็คือการเข้าไปเรียนรู้แท้ๆ ศึกษาอย่างลึกซึ้ง และปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตให้สอดคล้องกับหลักปฏิบัตินั้นๆ ไม่อย่างนั้นแล้วมันก็จะเป็นการเข้าไปสัมผัสเรียนรู้อย่างผิวเผินเท่านั้น  และสิ่งที่ได้รับก็จะเป็นเพียงเศษซากกากเดนของสติปัญญานั้นๆ

มวยจีน ศาสตร์แห่งพลังชีวิต ขั้นพื้นฐาน 

วิทยายุทธ การออกกำลังกาย สมาธิ บ่มเพาะพลังทางกาย

ชีวิตย่อมมีพลังอยู่แล้ว แต่ภาวะของพลังชีวิต อ่อน หรือแรง   เคลื่อนเปลี่ยนไปตามสภาวะวิถีนั่นหมายถึงผลแห่งการเป็นอยู่ เปลี่ยนผ่าน ผันแปร ขาดพร่อง เต็มเปี่ยม หรือเอ่อล้น พลังชีวิตที่สมดุล ย่อมทำให้ร่างกาย จิตใจและสมองสมดุลร่วมสืบค้นพลังชีวิต  ร่วมกิจกรรมฝึกมวยไท่จี๋เฉวียน (ไท่เก๊กคุ้ง) และศึกษาระบบธาตุ เรียนรู้ปรับเปลี่ยนวิถีการปฏิบัติตน เพื่อสุขภาพอันสมดุล

เรียนต่อเนื่องจำนวน ครั้ง ตั้งแต่ 09.00 – 16.0 

ครั้งที่ 1 วันเสาร์-อาทิตย์ที่     7-8    ส.ค. 53
ครั้งที่ 2 วันเสาร์-อาทิตย์ที่   14-15  ส.ค. 53
ครั้งที่ 3 วันเสาร์-อาทิตย์ที่   21-22  ส.ค. 53
ครั้งที่ 4 วันเสาร์-อาทิตย์ที่   28-29  ส.ค. 53

รับจำนวน 10 ท่าน ค่าลงทะเบียน 4,500 บาท  

(ตลอดการอบรม 4 ครั้ง ไม่รวมค่าอาหาร ค่าอาหารว่าง ค่าที่พัก)

เรียนภาคค่ำ 10 วัน ระหว่าง วันที่ 16-20 และ 23-27 ส.ค. 53

เริ่มเวลา 18.00 ถึง 20.00 .

รับจำนวน 10 ท่าน ค่าลงทะเบียน 2,000 บาท  

(ตลอดการอบรม  ไม่รวมค่าอาหาร ค่าอาหารว่าง ค่าที่พัก) 

วิทยากร อาจารย์อภิชาติ ไสวดี กวีหนุ่ม  นักเดินทางและนักแสวงหาความหมายแห่งชีวิต บวชเรียนตั้งแต่อายุยังน้อย หลังจากสึกแล้วก็ออกแสวงหาครู ทั้งครูทางจิตวิญญาณ และครูผู้สร้างดุลยภาพแห่งชีวิต จนกระทั่งได้พบ อาจารย์ฌาณเดช พ่วงจีน จึงขอฝากตัวเป็นศิษย์คอยติดตาม เพื่อเรียนกังฟูและเพลงมวยต่างๆ โดยเฉพาะไท่จี๋ฉวน เพลงมวยที่ผสานจิตและกายเป็นหนึ่ง อีกทั้งองค์ความรู้ในศาสตร์แห่งเต๋า ที่เป็นทั้งปรัชญาและตำรับโบราณ ในการดูแลสุขภาพ ตลอดจนฝึกความแข็งแกร่งและความยืดหยุ่นที่ถือว่า เป็นความสมบูรณ์ของฐานกายที่แท้จริง

เทศกาลศิลปวัฒนธรรม จากหิมาลัยสู่เจ้าพระยา

เทศกาลศิลปวัฒนธรรม จากหิมาลัยสู่เจ้าพระยา

Author : SNF

ถ้ามองในแง่ภูมิศาสตร์ประเทศไทยกับธิเบตอยู่ห่างไกลกันลิบลับไม่มีความเกี่ยวข้องกันในทางประวัติศาสตร์ แต่หากมองในด้านวัฒนธรรมความเชื่อ ไทยและธิเบตมีส่วนที่เชื่อมโยงถึงกันได้ด้วยเป็นประเทศที่นับถือพุทธศาสนาเหมือนกัน อีกทั้งธิเบตมีพัฒนาการทางประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมประเพณีที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวที่มีความงดงามโดดเด่น ชาวธิเบตเป็นชาวพุทธผู้อ่อนโยน มีศรัทธาต่อศาสนาอย่างลึกซึ้งมั่นคง ด้วยเหตุนี้มูลนิธิเสฐียรโกเศศ – นาคะประทีปร่วมกับองค์กรภาคีจึงได้จัดเทศกาลศิลปวัฒนธรรม จากหิมาลัยสู่เจ้าพระยา ในระหว่างวันที่ ๕ – ๑๐ มีนาคม ๒๕๕๓ ณ หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร สี่แยกปทุมวัน กรุงเทพมหานคร โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเผยแพร่วัฒนธรรมธิเบตที่เป็นดั่งวัฒนธรรมของโลกให้สังคมมองเห็นคุณค่า อันนำไปสู่การแลกเปลี่ยนวัฒนธรรม ประเพณี ศาสนา ศิลปะ ระหว่างชาวไทยกับชาวธิเบต

ท่ามกลางวัฒนธรรมสมัยใหม่ที่แพร่กระจายไปทั่วทุกมุมโลก วัฒนธรรมประเพณีดั้งเดิมถูกสั่นคลอน ชาวธิเบตพลัดถิ่นเป็นตัวอย่างอันดีที่ยังพยายามรักษาประเพณี วิถีปฏิบัติ และวัฒนธรรมอันงดงาม แม้พวกเขาต้องจากถิ่นฐานเดิมมาเริ่มต้นชีวิตในดินแดนใหม่หากแต่รากฐานวัฒนธรรมเดิมคงแทรกซึมอยู่ในสายเลือด และยังส่งต่อวัฒนธรรมอันดีงามไปยังชนรุ่นหลัง

การจัดงานครั้งนี้แม้จะมีอุปสรรคเป็นระยะ ๆ จนเมื่อก่อนการเปิดงานเล็กน้อยมีกลุ่มชาวจีนจากสมาคมแต้จิ๋วมาประท้วงขับไล่คณะชาวธิเบตที่มาเผยแพร่วัฒนธรรม ประเพณีอันงดงาม ด้วยเข้าใจว่าการจัดงานครั้งนี้เป็นไปเพื่อการเคลื่อนไหวทางการเมืองของชาวธิเบตซึ่งเกี่ยวเนื่องกับจีนแผ่นดินใหญ่ แต่คณะผู้จัดงานทุกคนมิได้หวั่นไหว เพราะเจตนารมณ์ไม่ได้เป็นไปตามที่พวกเขากล่าวอ้าง คณะผู้จัดงานต้องการให้คนไทยได้ชื่นชมศิลปวัฒนธรรมอันงดงามของชาวธิเบต ซึ่งนับเป็นครั้งแรกที่มีการจัดการแสดงทางวัฒนธรรมธิเบตในเมืองไทย

สำหรับเนื้อหาและรายละเอียดของงานก็ล้วนเกี่ยวเนื่องกับศิลปวัฒนธรรมของชาวธิเบตและการแสดงของชนเผ่าทางเหนือของไทย โดยแบ่งภาพงานออกเป็น ๒ ส่วน คือ นิทรรศการและการสาธิตกับการแสดงวัฒนธรรมและดนตรี อาทิ

๑. การวาดภาพทรายมันดาลาของพระสงฆ์ ซึ่งเป็นรูปแบบการฝึกจิตอย่างหนึ่ง การสร้างมันดาลาบางครั้งพระสงฆ์จะท่องมนตราและแผ่เมตตา ผู้สร้างต้องมีสมาธิแน่วแน่ การสร้างเริ่มจากจากรูปทรงเรขาคณิตแบบง่าย ๆ และค่อย ๆ เพิ่มรายละเอียดจนเป็นรูปมันดาลาสามมิติที่สมบูรณ์งดงาม ปริศนาธรรมที่แฝงมาในมันดาลาคือ ไม่ว่าจะสมบูรณ์สวยงามหรือมั่นคงเพียงใด สุดท้ายก็ต้องสูญสลายไปตามธรรมชาติ และเมื่อสูญสลายไปแล้วก็จะต้องถูกสร้างขึ้นมาใหม่ เพราะความมีอยู่ทำให้เกิดความว่าง และความว่างก็เป็นบ่อเกิดของความมีอยู่ ตามหลักไตรลักษณ์ในพุทธศาสนาสอนไม่ให้ติดยึดกับสิ่งใดสิ่งหนึ่ง

๒. รูปปั้นเนย เป็นรูปแบบการบูชาอันเก่าแก่ของชาวธิเบต ส่วนใหญ่จะปั้นในงานเทศกาลมอลลัมและพิธีกรรมทางศาสนาอื่น ๆ รูปปั้นเนยมีเอกลักษณ์ที่โดดเด่นแฝงไปด้วยศิลปะที่งดงาม

๓. ภาพวาดทังก้า เป็นพุทธศิลป์ขั้นสูงของธิเบต ทังก้าคือภาพวาดเกี่ยวกับพระพุทธเจ้า พระโพธิสัตว์ และปริศนาธรรม หรือเรื่องราวที่เกี่ยวเนื่องทางศาสนา ทังก้ามีความสำคัญต่อชาวธิเบตเมื่อพวกเขาโยกย้ายถิ่นฐานจะพกพาทังก้าติดตัวไปด้วยเสมอ การวาดทังก้าต้องใช้สีจากแร่ธาตุธรรมชาติ ต้องมีความอดทนกว่าจะได้ภาพทังก้าแต่ละผืนและภาพทังก้ามีอายุยาวนานนับร้อยปี

๔. นิทรรศการเกี่ยวกับวิถีชีวิตชาวธิเบต ภาพพระราชกรณียกิจของทะไลลามะ และภาพคนชราธิเบต นิทรรศการภาพทั้งสามส่วนนี้บอกเล่าเรื่องราวเกี่ยวกับความเป็นธิเบตโดยใช้ภาพเล่าเรื่องประกอบคำบรรยายสั้นๆ เพื่อให้ผู้ชมได้ถักทอเรื่องราวเหล่านั้นด้วยตนเอง

๕. นิทรรศการและการตรวจรักษาการแพทย์แผนธิเบต ซึ่งเป็นภูมิปัญญาการดูแลสุขภาพของชาวธิเบตอย่างเป็นองค์รวม แฝงไว้ด้วยพุทธปรัชญา การแพทย์แผนธิเบตให้ความสำคัญกับการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการดำเนินชีวิตเพื่อความมีสุขภาพที่ดี ยาเป็นเพียงปัจจัยหนึ่งที่ทำให้หายจากโรค ถ้าเพียงแต่กินยาแต่ไม่ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการรักษานั้นก็จะไม่ได้ผลเต็มที่ เป็นต้น

ส่วนในภาควัฒนธรรมและดนตรีจากสถาบันศิลปะการแสดงธิเบตหรือ Tibetan Institute of  Performing Arts (TIPA) ซึ่งเป็นองค์กรทางวัฒนธรรมในต่างแดนที่เก่าแก่องค์กรหนึ่ง ตั้งอยู่ในเมืองธรรมศาลา ประเทศอินเดีย ได้นำชุดการแสดงทางศิลปวัฒนธรรมอันเป็นเอกลักษณ์ อาทิ

Shanak : ระบำหมวกดำ

ระบำหมวกดำคือพิธีกรรมศักดิ์สิทธิ์ที่แสดงในธิเบตโดยใช้เวลาหลายวัน มีจุดมุ่งหมายเพื่อขจัดอุปสรรคกีดขวางความสุข ซึ่งหมายถึงความเศร้าหมองและความไม่รู้ถึงสาเหตุแห่งทุกข์ที่อยู่ในตัวของแต่ละบุคคล เมื่อเริ่มการแสดง ผู้เต้นระบำหมวกดำจะหลั่งน้ำพุทธมนต์ (ชาดำ) ถวายต่อลามะ เทพเจ้าที่คอยปกปักรักษา (รูปลักษณ์ต่าง ๆ ของพระพุทธเจ้า) และธรรมบาล (ผู้รักษาสัจธรรม) เพื่อสร้างความพึงพอใจให้แก่ท่านเหล่านั้นและเพื่อจะได้รับการอวยพรกลับมา จากนั้นผู้เต้นรำจะเชิญมิตรสหายกับผู้ติดตามของเหล่าธรรมบาลเข้ามาร่วมเต้นรำ

Kongpoi Dha lu

จังหวัดกงโป (Kongpo) ตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ของธิเบต เป็นที่รู้จักว่ามีพื้นที่ป่าเขียวชอุ่มและพืชพรรณหนาแน่น นอกจากทักษะด้านธรรมชาติแล้ว ชายชาวพื้นเมืองในแถบนี้ยังมีชื่อเสียงด้านความสามารถในการยิงธนู ส่วนผู้หญิงมีชื่อในด้านความงาม

Domey Tserik

ระบำชนิดนี้เป็นที่นิยมในเมืองโซงน  (Tso Ngon) และเมืองลาบรัง (Labrang) ของจังหวัดโดเมะแห่งภาคตะวันออกเฉียงเหนือของธิเบต ผู้แสดงระบำทั้งชายและหญิงจะสร้างความเบิกบานให้ตนเองด้วยการยอมรับความดีงามและความเมตตาจากกันและกันผ่านเสียงดนตรีและถ้อยคำ

Lhokhag Trangoe Dro Dhung

โดยทั่วไป โดรทุงมักแสดงในโอกาสพิเศษและเป็นมงคลเพื่อนิมิตหมายอันดี เช่น ในระหว่างพระราชพิธีสถาปนาองค์ทะไลลามะขึ้นครองราชสมบัติ ระบำชุดพิเศษนี้มาจากภาคใต้ของธิเบต

Yak Dance : (ระบำจามรี)

จามรีเป็นสัตว์พื้นเมืองที่สำคัญที่สุดของธิเบต ระบำจามรีนี้มีรากมาจาก อุปรากรธิเบตเรื่อง โดรวา ซังโม (Drowa Sangmo) สะท้อนถึงพัฒนาการความผูกพันอย่างลึกซึ้งระหว่างชาวธิเบตกับจามรี จามรีตัวเมียหรือที่เรียกในภาษาธิเบตว่า -ดรี- จะหลั่งน้ำนมเพื่อเตรียมทำเนย จากนั้นมันจะร้องเพลงเพื่อถวายเนยสดแด่องค์ทะไลลามะ                การฟ้อนโต ของชาวไตจากภาคเหนือของไทย โตเป็นสัตว์ที่มีส่วนผสมของสัตว์ห้าชนิด ฟ้อนโตเป็นการแสดงออกถึงความรื่นเริงสนุกสนาน และการเป่าเตหน่าและขับลำนำของชาวปกากะญอจากภาคเหนือของไทยเช่นกัน เป็นต้น

การจัดเทศกาลศิลปวัฒนธรรมจากหิมาลัยสู่เจ้าพระยาเรื่องราวได้รับทราบไปถึงองค์ทะไลลามะพระองค์ได้ส่งสาส์นอำนวยพรมายังคณะผู้จัดและชาวไทยทุกคน เพื่อแสดงความขอบใจต่อการจัดงานเผยแพร่วัฒนธรรมธิเบตในประเทศไทย และในวันสุดท้ายของงานพระองค์ยังได้ส่งสาส์นมาอีกฉบับหนึ่งถึงชาวธิเบตและชาวไทย โดยมีสาระสำคัญดังนี้ ทรงขอให้ชาวธิเบตรักษาวัฒนธรรม ปกป้องอัตลักษณ์ความเป็นธิเบตและรักษาความเป็นมิตรกับชนชาติอื่น พยายามใช้สันติวิธีในการแก้ปัญหา ทรงเห็นว่าเยาวชนควรจะได้รับการศึกษาอย่างทั่วถึง ทรงยืนยันต่อรัฐบาลจีนว่าทรงยึดนโยบายทางสายกลางอันเป็นไปตามข้อกำหนดในรัฐธรรมนูญของจีนและขอสิทธิในการปกครองตนเองแก่ธิเบตในด้านวัฒนธรรม ภาษา และเอกลักษณ์ความเป็นธิเบต หากธิเบตได้รับอิสรภาพ

ทะไลลามะและผู้บริหารในคณะรัฐบาลพลัดถิ่นจะไม่ขอรับตำแหน่งทางการเมืองใด ๆ และปัญหาระหว่างจีนกับ

ธิเบตถึงที่สุดแล้วต้องเป็นการตกลงในระหว่างสองชาติ ทรงเน้นย้ำให้ชาวธิเบตทุกคนรักษาความเป็นมิตรกับชาวจีนทุกคนเพื่อการอยู่ร่วมกันอย่างผาสุก

การแสดงศิลปวัฒนธรรมได้สร้างความประทับใจแก่ผู้ชมชาวไทยจนบางคนน้ำตาคลอด้วยความปลื้มปีติ หลังจบการแสดงทุกคนเดินออกมาอย่างมีความสุข ไม่มีใครเลยที่บอกว่าการแสดงเหล่านี้ไม่น่าสนใจ

ถึงแม้กำหนดการจัดงานเทศกาลศิลปวัฒนธรรมจากหิมาลัยสู่เจ้าพระยาจะสิ้นสุดในวันที่ ๑๐ มีนาคม ๒๕๕๓ แต่ในวันที่ ๑๑ มีนาคม มีพิธีการทำลายทรายมันดาลาที่พระสงฆ์ได้บรรจงสร้างขึ้นมาอย่างประณีต พิธีเริ่มจากพระสงฆ์ธิเบตสวดมนต์ประมาณครึ่งชั่วโมง ในพิธีนี้มีชาวไทยมาร่วมด้วยจำนวนมาก ทุกคนนั่งพนมมือ บ้างก็นั่งหลับตาทำสมาธิขณะที่พระสงฆ์ก็สวดมนต์ไปด้วย เมื่อจบจากการสวดมนต์ จากนั้นพระธิเบตรูปหนึ่งเดินเวียนขวารอบภาพทรายมันดาลาพร้อมกับหยิบทรายจากใจกลางมันดาลาใสถ้วยที่เตรียมไว้ ต่อมาได้ใช้วัชระขีดจากใจกลางมันดาลาออกมาจนสุดขอบครั้งแรกขีดเป็นสี่เส้น แล้วก็ขีดเพิ่มอีกเป็นแปดเส้นและเพิ่มขึ้นอีก เหมือนตัดแบ่งเค้ก ขณะพระกำลังทำลายมันดาลาบางคนอุทานออกมาว่าเสียดายที่ภาพสวย ๆ กำลังจะถูกทำลาย จากนั้นพระสงฆ์ช่วยกันกวาดทรายไปกองรวมกันตรงกลาง แล้วแบ่งออกเป็นสองส่วน ส่วนแรกตักใส่โถเพื่อจะนำไปโปรยที่แม่น้ำเจ้าพระยา ส่วนที่สองแบ่งให้สาธุชนที่มาร่วมพิธีรับไปเป็นที่ระลึก การนำทรายมันดาลาไปโปรยลงแม่น้ำเจ้าพระยาได้เลือกสถานที่บริเวณสวนสาธารณะสันติชัยปราการ เพื่อเชื่อมโยงจากหิมาลัยสู่เจ้าพระยา สถานที่โปรยทรายมีความหมายในทางมงคลเพื่อสันติแก่มวลมนุษย์และสรรพสัตว์ เมื่อโปรยทรายเสร็จพระสงฆ์ได้ตักน้ำจากแม่น้ำเจ้าพระยามาชำระล้างภาพลายเส้นมันดาลา เป็นอันเสร็จพิธีอย่างสมบูรณ์และงดงาม

ก่อนหน้าการจัดเทศกาลศิลปวัฒนธรรมจากหิมาลัยสู่เจ้าพระยา ได้มีการจัดเทศกาลภาพยนตร์ธิเบตขึ้นระหว่างวันที่ ๑๖ – ๑๙ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๓ ณ หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานครเช่นเดียวกัน เทศกาลภาพยนตร์ธิเบตเป็นการฉายภาพยนตร์เพื่อบอกเล่าเรื่องราวเกี่ยวกับธิเบตผ่านภาพยนตร์และสารคดี พร้อมทั้งมีเวทีเสวนา วิจารณ์ สะท้อนแนวคิดจากเนื้อหาของภาพยนตร์แต่ละเรื่อง โดยบุคคลที่มีความเข้าใจเรื่องราวของภาพยนตร์ เช่น ภิกษุณีธัมมนันทา จีระนันท์ พิตรปรีชา เป็นต้น ภาพยนตร์ที่ฉายประกอบด้วย

(1) Unmistaken Child      (2) Kundun      (3) Tibet : Cry of the Snow Lion      (4) Himalaya

(5) The Tibet book of the dead       (6) Dreaming Lhasa      (7) Windhouse       (8) The cup

การจัดเทศกาลเกี่ยวกับธิเบตทั้งที่เป็นภาพยนตร์และศิลปวัฒนธรรมมีผู้ให้ความสนใจทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศมาเยี่ยมชมและสนับสนุนกิจกรรมกันอย่างล้นหลาม จึงถือได้ว่าการจัดกิจกรรมครั้งนี้บรรลุวัตถุประสงค์ ผู้ชมได้รับสาระประโยชน์กันทุกคน แม้งานจะสิ้นสุดแต่เรื่องราวเกี่ยวกับธิเบตต่อการรับรู้ของชาวไทยคงจะไม่จางหายไป

แด่ YONEO ISHII

แด่ YONEO ISHII

Author : ส.ศิวรักษ์

แต่ปลายปีที่แล้วเป็นต้นมา ข้าพเจ้าสูญเสียเพื่อนรักไปเรื่อยๆ อย่างเกือบจะต่อเนื่อง นับว่าน่าเศร้า แต่ก็ต้องถือว่าในวัย 77 อย่างข้าพเจ้า เพื่อนร่วมรุ่นก็ต้องละโลกไปโดยขัยและวัย ตามพระอนิจลักษณะ คนแรกที่จากไปคือ ฯพณฯ อับดุลาราห์มาน วาหิต อดีตประธานาธิบดี อินโดนีเซีย วัย 69 ปี (วันที่ 30 ธันวาคม 2552) คนถัดมาคือ ยอช วิลโลบี้ นักสันติวิธีชาวอเมริกัน วัย 95 ปี (วันที่ 5 มกราคม 2553)  คนที่สามได้แก่ นิโคลัส เบนเนต ชาวอังกฤษ ซึ่งมีอายุเท่าๆ กับข้าพเจ้า (วันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2553) และแล้วเมื่อวันที่ 13 กุมภาพันธ์นี้  ศาสตราจารย์เยนิโอ อิฉิอิ ก็เพิ่งดับสังขารไปในตอนตี 2 ณ ประเทศญี่ปุ่น

อาจารย์อิฉิอิ เป็นเพื่อนญี่ปุ่นคนแรกของข้าพเจ้า และดีกับข้าพเจ้าตลอดมา เป็นเวลาเกือบกึ่งศตวรรษ นอกเหนือไปจากคุณูปการของเขาที่มีต่อไทยคดีศึกษา และบทบาทของเขาในวงวิชาการด้านเอเชียอาคเนย์ศึกษา ทั้งนี้โดยไม่จำต้องเอ่ยถึงความรักและเข้าใจวัฒนธรรมไทย ซึ่งอาจมีมาแต่อดีตชาติก็ยังได้ เพราะเขาอยากมาเมืองไทย และอยากศึกษาภาษาไทยตั้งแต่วัยเยาว์ อุตส่าห์ไปสมัครเข้ากระทรวงการต่างประเทศญี่ปุ่นด้วยการสอบแข่งขันได้เป็นอย่างดี และเมื่อเข้าไปทำงานแล้ว เจ้านายก็รักใคร่ โดยแลเห็นความสามารถของเขา ตลอดจนความแนบเนียนทางการทูต จึงเรียกเขาไปถามความสมัครใจ ว่าอยากไปอยู่สถานทูตแห่งใด โดยที่สมัยหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ญี่ปุ่นเริ่มลืมตาอ้าปากได้อีกแล้ว และมีสถานทูตในประเทศต่างๆ มากขึ้นแล้ว ผู้บังคับบัญชานึกว่า หนุ่มอิฉิอิคงอยากไปสหรัฐ หรืออังกฤษ แต่เขาบอกว่าอยากไปเมืองไทย เล่นเอาเจ้านายแปลกใจไปตามๆ กัน

เมื่อเขามาประจำอยู่ ณ สถานทูตญี่ปุ่นในกรุงเทพฯ เขาขออนุญาตเข้าเรียนภาษาไทย ณ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จนได้เป็นศิษย์คนโปรดของพระยาอนุมานราชธน ดังเมื่อเราจัดงาน 100 ปีชาตกาลของท่าน อาจารย์อิฉิอิช่วยให้เราได้เอานิทรรศการเกี่ยวกับชีวิตและผลงานของท่านเจ้าคุณไปแสดง ณ พิพิธภัณฑ์สถานชาติพันธุ์อันทันสมัยที่สุด ณ นครโอซาก้า โดยอาจารย์อิฉิอิรับแสดงปาฐกถาสดุดีปิยาจารย์ของเขาด้วย

อาจารย์อิฉิอิเห็นว่า ถ้าจะรู้จักวัฒนธรรมไทยดี จำต้องบวชเรียนสักหนึ่งพรรษา เฉกเช่นชาวไทย เขาต้องการไปบวชที่สวนโมกข์ หากท่านอาจารย์พุทธทาสตอบจดหมายเขาว่า การบวชเพียงพรรษาเดียว หาวัดดีๆ ที่ในเมืองกรุงก็ได้ เขาจึงได้ไปบวชที่วันบวรนิเวศในปี พ.ศ. 2500 ได้ทันเฝ้าสมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณวงศ์ แม้จะไม่ได้ทรงเป็นพระอุปัชฌาย์ แต่ก็ตรัสถามถึงพระญี่ปุ่นอยู่เนืองๆ

อาจารย์อิฉิอิไม่ต้องการเอาดีทางการทูต จึงลาออกจากราชการ ไปเรียนต่อจนได้เป็นอาจารย์ ณ มหาวิทยาลัยเกียวโต จนได้เป็นผู้อำนวยการสถาบันเอเชียอาคเนย์ศึกษาที่นั่น โดยมีส่วนสร้างบุคลากรที่นั่น และหอสมุดแห่งนั้น จนมีชื่อเสียงในระดับโลก อย่างน้อยก็ไม่แพ้มหาวิทยาลัยคอแนล ของสหรัฐ

เขามาขอให้ภรรยาข้าพเจ้าแห่งร้านศึกษิตสยามช่วยหาหนังสือไทยดีๆ ให้หอสมุด รวมทั้งภาษาพม่า ภาษาลาว ภาษาเขมร และต่อมาภรรยาข้าพเจ้าแนะให้เขาไปหาซื้อหนังสืองานศพจากนายจรัส พิกุล ได้ไปเป็นจำนวนมาก จนเขาต้องขอยืมบรรณารักษ์จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์  และบรรณารักษ์จากธนาคารกรุงเทพ ผลัดกันไปช่วยจัดระเบียบหนังสือภาษาไทยเหล่านี้จนเข้าที่เข้าทาง

ผลงานทางวิชาการของอาจารย์อิฉิอิมีมากทั้งภาษาญี่ปุ่น ภาษาไทยและภาษาอังกฤษ ที่ร่วมงานกับศิษย์ญี่ปุ่น และเพื่อนไทยก็มี

เมื่อหมดวาระตำแหน่ง ผอ. ศูนย์เอเชียอาคเนย์ศึกษาที่มหาวิทยาลัยเกียวโตแล้ว อาจารย์อิฉิอิย้ายไปอยู่โตเกียว แรกทำงานกับมหาวิทยาลัย Sophia แล้วไปเป็นอธิการบดีมหาวิทยาลัยเล็กๆ นอกราชธานีออกไป หากรับตำแหน่งทางวิชาการในระดับนานาชาติให้รัฐบาลญี่ปุ่นด้วย เช่นเป็นตัวแทนของญี่ปุ่นที่ UNESCO เป็นต้น ตำแหน่งสุดท้าย ได้คุมกองทุนวิจัยทางสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ที่ใหญ่ยิ่งมาก หากเขาอ่อนน้อมถ่อมตน อย่างเป็นกันเองกับมิตรสหายและศิษย์หาทุกคน

เขาดีกับข้าพเจ้าและครอบครัวตลอดมา เขาเคยพาข้าพเจ้าเที่ยวญี่ปุ่นด้วยตนเอง แต่เมื่อข้าพเจ้าแรกไปประเทศนั้น (เพราะคำแนะนำของเขาให้ International House of Japanese เชิญไป ดังข้าพเจ้าเขียนเล่าไว้ในสมุดข้างหมอน) ครั้นข้าพเจ้าถามเขาว่า เวลามาเมืองไทย จะให้พาเขาไปที่ไหนบ้าง ทั้งๆ ที่เขาเคยอยู่เมืองไทยมานาน และท่องเที่ยวไปจังหวัดต่างๆ มามากแล้ว เขาบอกว่า เขาไม่เคยไปแม่กลองเลย ทั้งๆ ที่ใกล้กรุงเทพฯ แค่นั้นเอง เพราะเวลานั้นไปแม่กลอง ต้องนั่งรถไฟไปมหาชัย แล้วต้องข้ามฝากไปขึ้นรถไฟอีกต่อ ตกลงข้าพเจ้าพาเขาไปแม่กลอง ได้ล่องเรือเที่ยวดูวัดวาอารามอย่างสมใจ โดยที่บรรยากาศอย่างนี้ได้ปลาสนาการไปหมดแล้ว

การจากไปของอาจารย์อิฉิอิ ย่อมนับเป็นการสูญเสียของข้าพเจ้าและครอบครัว ทั้งเมืองไทยและคนไทยในแวดวงญี่ปุ่นศึกษาและไทยคดีศึกษา ตลอดจนเอเซียศึกษา ย่อมขาดมิตรผู้มีคุณูปการคนสำคัญไปคนหนึ่ง อย่างน่าเสียดายยิ่งนัก

รำลึกถึง นิโคลัส เบนเนตต์ ครูผู้สอนถึงชีวิต การต่อสู้ และอหิงสธรรม

รำลึกถึง นิโคลัส เบนเนตต์ ครูผู้สอนถึงชีวิต การต่อสู้ และอหิงสธรรม

Author : พระไพศาล วิสาโล

ย้อนหลังไปเมื่อ 3 ทศวรรษก่อน ในช่วงที่อาตมาแทบไม่ได้เข้าห้องเรียนเลย (ตลอด 4 ปีครึ่งในมหาวิทยาลัย มีสมุดจดคำบรรยายเพียงเล่มเดียวสำหรับทุกวิชาที่เข้าเรียน) มีบุคคลผู้หนึ่งที่อาตมานับถือว่าเป็นครูได้อย่างสนิทใจ บุคคลผู้นั้นคือ นิโคลัส เบนเนตต์

นิโคลัส เบนเนตต์ เป็นชาวอังกฤษ มาเมืองไทยตั้งแต่ปี 2513 ในฐานะที่ปรึกษาของกระทรวงศึกษาธิการที่อายุเพียง 2๘ ปี ในชั่วเวลาไม่ถึง 2 ปี เขาได้รับการยกย่องในหมู่นักวิชาการและนักศึกษาหัวก้าวหน้าว่าเป็นผู้ที่มี ความคิดเฉียบคมด้านการศึกษา งานเขียนของเขาหลายชิ้นได้รับการตีพิมพ์ในวารสารของปัญญาชนหลายฉบับ เช่น ปาจารยสาร ศูนย์ศึกษาวิทยาสาร

ช่วงนี้เองที่อาตมาได้รู้จักนิโคลัส ผ่านงานเขียนดังกล่าว โดยเข้าใจไปว่าเขาทำงานในต่างประเทศ เขาเขียนหนังสือได้น่าอ่าน ชัดเจน เป็นรูปธรรม และวิพากษ์วิจารณ์การศึกษาไทยอย่างตรงไปตรงมา แต่ก็เสนอทางออกที่น่าสนใจ

อาตมา รู้ในเวลาต่อมาว่าเขาเป็นผู้ที่นิยมสันติวิธี และมีความรู้ในเรื่องนี้อย่างลึกซึ้ง แต่ไม่เคยคิดว่าจะได้มาทำงานกับเขาจนกระทั่งหลัง 6 ตุลา ฯ ตอนนั้นมีนักศึกษาประชาชนกว่าสามพันคนถูกจับด้วยข้อหาร้ายแรงจากเหตุการณ์ นองเลือดที่ธรรมศาสตร์ อีกทั้งยังมีการกวาดล้างคนที่มีความคิดเห็นทางการเมืองต่างจากรัฐบาลอีกหลาย พันคนทั่วประเทศ ขณะที่อีกหลายพันหนีเข้าป่าเพื่อจับอาวุธสู้กับรัฐบาล

อาตมา กับเพื่อนหลายคนทั้งพระและฆราวาสซึ่งห่วงใยในบ้านเมืองว่าจะลุกเป็นไฟหนัก ขึ้น จึงได้ช่วยกันฟื้นฟูกลุ่มประสานงานศาสนาเพื่อสังคม (ซึ่งตั้งในปี 1๙ แต่ก็เหมือนยุบไปหลัง 6 ตุลา ฯ) โดยได้รับความสนับสนุนจากผู้ใหญ่หลายท่านทั้งในวงการศาสนาและสิทธิมนุษยชน (เช่น สังฆราชบุญเลื่อน หมั้นทรัพย์ อ.โกศล ศรีสังข์ และอ.โคทม อารียา) ทั้งนี้โดยเน้นหนักการรณรงค์เพื่อนิรโทษกรรมนักโทษ 6 ตุลา ฯ การปกป้องสิทธิมนุษยชน และการสมานไมตรีภายในชาติ

พี่ประชา หุตานุวัตร ซึ่งตอนนั้นบวชพระอยู่ (ขณะที่อาตมายังเป็นนักศึกษาปี 2) รู้จักกับนิโคลัสดี ได้ชักชวนนิโคลัสให้มาเป็นกรรมการกศส. ด้วย นิโคลัสไม่ได้เป็นกรรมการแต่ในนาม แต่ยังเป็นพี่เลี้ยงให้กับผู้ปฏิบัติงานกศส. ซึ่งมีอาตมาเป็นหนึ่งในนั้น พวกเราทำงานกันเต็มเวลาก็ว่าได้โดยอาศัยบ้านพักของนิโคลัสเป็นที่ประชุมทุกอาทิตย์ (ขณะที่สำนักงานตั้งอยู่ที่ถ.ประมวญ) ทั้งหมดนี้อยู่ภายใต้การติดตามสอดส่องจากเจ้าหน้าที่รัฐอย่างใกล้ชิด

ช่วง นี้เองที่อาตมาได้เรียนรู้จากนิโคลัสหลายอย่าง ทั้งในด้านชีวิตและการทำงาน นิโคลัสเป็นคนที่ฉลาดมาก จับประเด็นเร็ว คิดชัดมาก (อ.สุลักษณ์ ศิวรักษ์ เคยกล่าวว่าเท่าที่รู้จักคนมามากมาย ในเมืองไทยมีคนที่หลักแหลมจับประเด็นไวเพียง 3 คน คือ.ป๋วย อึ๊งภากรณ์ ท่านเจ้าคุณประยุทธ์ และนิโคลัส) แต่ในเวลาเดียวกันเขาก็เป็นคนที่สุภาพ อ่อนโยน มีเมตตา แถมยังมีความกล้าอย่างมาก คนที่จะมีคุณสมบัติพร้อมทั้ง 3 ประการ (ฉลาด สุภาพ และกล้าหาญ)อย่างเขานั้นหาน้อยมาก

นิโคลัสเป็น ที่ปรึกษารัฐบาล แต่เขาไม่เคยกลัวตกงาน ความที่เคยเป็นนักเคลื่อนไหวด้านสันติวิธีในอังกฤษบ้านเกิด เขาจึงเป็นเสมือนมันสมองให้กับพวกเราในการทำงานด้านสิทธิมนุษยชน ซึ่งเป็นธรรมดาที่ต้องคัดง้างกับรัฐ ตลอด 3 ปีที่เราทำงานภายใต้รัฐบาลเผด็จการและกึ่งเผด็จการ พวกเรามีโอกาสติดคุกตลอดเวลา เช่นเดียวกับนิโคลัสที่มีโอกาสถูกไล่ออกนอกประเทศ แต่การได้อยู่ใกล้ชิดกับนิโคลัส ทำให้พวกเรากล้าที่จะทำงานเสี่ยงคุกตะราง

นิโคลัสอายุมากกว่าอาตมา 15 ปี แต่เขาปฏิบัติกับพวกเราเหมือนเพื่อนยิ่งกว่า ?ผู้ใหญ่?อีกทั้งยังรับฟังความคิดของเรา และพร้อมรับคำติติง เขาจึงเป็นเสมือนครูที่ส่งเสริมให้พวกเรากล้าคิดกล้าตัดสินใจด้วยตัวเอง ขณะเดียวกันมีอุบายในการกระตุ้นให้เราเอาชนะความกลัว เขาพยายามผลักดันให้เราก้าวไปให้ไกลที่สุดจนกว่าจะถึงขีดจำกัดของตัวเอง ซึ่งทำให้พวกเราได้รู้จักตัวเองมากขึ้น จะว่าไปแล้วสถานการณ์บ้านเมืองตอนนั้นก็เป็นใจ แม้ความกดดันจะมีมากแต่มันก็ได้รีดเค้นเอาส่วนที่ดี ๆ ของเราออกมามิใช่น้อย โดยเฉพาะการคิดถึงส่วนรวมมากกว่าตัวเอง พวกเราหลายคนไม่กลัวติดคุกเพราะรู้สึกว่าเล็กน้อยมากเมื่อเทียบกับสิ่งที่ ผู้อื่นได้ประสบ

อีกอย่างหนึ่งที่อาตมาได้เรียนจากนิโคลัสคือ อหิงสธรรม แม้เขาจะเป็นนักยุทธวิธีด้านสันติวิธีตัวฉกาจ แต่วิถีชีวิตของเขาก็เป็นไปในทางสันติด้วย เขาใช้ชีวิตอย่างสมถะ ปฏิบัติต่อผู้อื่นด้วยความสุภาพ จริงใจ และยุติธรรม ไม่เอารัดเอาเปรียบ เขาเป็นคนที่เห็นใจเพื่อนมนุษย์มาก (แต่ก็ไม่ใจอ่อนจนตามใจเขา)

เมื่อสถานการณ์บ้านเมืองดีขึ้น ปี 22 นิโคลัสได้ย้ายไปทำงานที่ประเทศเนปาล ที่นั่นเขาได้สร้างคนรุ่นใหม่หลายคน เขาพาคนเหล่านี้ขึ้นเขาไปตามหมู่บ้านกันดารเพื่อช่วยพัฒนาการศึกษาควบคู่กับ การสร้างจิตสำนึก เขาไม่เหมือน ?ผู้เชี่ยวชาญชาวตะวันตก?ทั่วไป เพราะเขาไม่ชอบนั่งวางแผนในห้องแอร์ แต่จะต้องลงพื้นที่และไปอยู่กินกับชาวบ้าน เขาเป็นคนที่อดทนและแข็งแรง สามารถเดินข้ามเขาเป็นลูก ๆ เป็นเวลาหลายวัน พร้อมกับพาเจ้าหน้าที่พื้นเมืองไปด้วย ทราบว่าหลายคนต่อมาได้เป็นแกนนำในขบวนการต่อต้านรัฐบาลเนปาล

นิโคลัส ย้ายไปทำงานให้กับธนาคารโลก แต่เป็นเสมือน ?ขบถ? ที่นั่น เพราะไม่ชอบอยู่วอชิงตัน แต่ลงไปทำงานในอาฟริกาหลายประเทศ และใช้ชีวิตแบบติดดินชนิดหัวหกตีนขวิดอยู่หลายปี จนกระทั่งเริ่มมีอาการเจ็บป่วยทางประสาทกล้ามเนื้อที่เป็นกรรมพันธุ์ พี่ชายเขาตายด้วยโรคนี้หลังจากล้มป่วยไม่นาน แต่นิโคลัสได้ประคองรักษาตัวจนสามารถอยู่ได้นานเกือบ 10 ปี

นิโคลัส เป็นคนที่ถือพุทธ เป็นผู้หนึ่งที่ทำให้อาตมาศรัทธามั่นคงในพระศาสนาและภูมิปัญญาตะวันออก รวมทั้งสันติวิธี ภรรยาของเขาคือมองตาเน็ตก็เป็นครูโยคะคนแรกของอาตมาตั้งแต่ปี 18

แม้ เขาไม่ค่อยสนใจประเพณีพิธีกรรมและการภาวนาในรูปแบบ แต่เขาก็เป็นชาวพุทธที่แท้ที่มั่นคงในหลักการ เขาเตรียมพร้อมรับมือความตายอยู่ทุกขณะ เขามีอาการหนักจนโคม่าเมื่อวันที่ 8 กุมภาพันธ์ และสิ้นลมเมื่อตี 2 ของวันถัดมา สิริรวมอายุได้ 68 ปี

ในหนังสือเรื่อง ?สร้างสันติด้วยมือเรา? ที่อาตมาเขียนตั้งแต่ปี 2532 ได้เขียนคำอุทิศว่า
?แด่ นิโคลัส เบนเนตต์ ครูผู้สอนถึงชีวิต การต่อสู้ และอหิงสธรรม? แม้จนวันนี้อาตมาก็ยังซาบซึ้งในบุญคุณของครูผู้นี้ และจะระลึกถึงตราบชีวิตจะหาไม่

http://www.oknation.net/blog/visalo/2010/02/11/entry-1