ความเท่าเทียมไม่ใช่ความเสมอภาคในสังคม

ความเท่าเทียมไม่ใช่ความเสมอภาคในสังคม

Author : กาแฟดำ

‘มือใครยาวสาวได้สาวเอา’

ภาพนี้เคยเห็นมาก่อน แต่ที่เห็นมีเพียงสองภาพทางซ้าย ภาพด้านขวาสุดเพิ่งเห็น ทำให้เห็น สัจธรรม แห่งสังคมเพิ่มอีกมิติหนึ่ง

วิเคราะห์ภาพนี้ให้ดีจะเห็นว่าความขัดแย้งในสังคม และปัญหาของประเทศเกิดจากการที่เราไม่ซาบซึ้ง ถึงความแตกต่างระหว่างคำว่า equality กับ equity

ภาษาไทยมีคนแปลคำว่า equality คือความเท่าเทียม

และคำว่า equity แปลว่าเสมอภาค

คำว่า reality ไม่ต้องแปลให้ยาก มันคือสภาพความเป็นจริงที่เกิดขึ้นอย่างที่เห็นและเป็นอยู่

ภาพแรกคือคำอธิบายคำว่า เท่าเทียม นั่นคือการให้ทุกคนได้ทุกอย่างเหมือนกัน แต่ ความเท่าเทียม จะกลายเป็นความเป็นธรรมและความยุติธรรมได้ก็ต่อเมื่อทุกคนเริ่มจากจุดเดียวกัน

ในภาพแรกจะเห็นว่าความยุติธรรมจะเกิดจากความเท่าเทียม ก็ต่อเมื่อทุกคนเกิดมาสูงเท่ากัน หรือในสังคมที่ทุกคนมีอะไรเหมือนกันแล้ว ความยุติธรรมและความเป็นธรรมก็เกิดขึ้นได้

ภาพที่สองเน้น ความเสมอภาค หรือ equity ซึ่งไม่ใช่ “ความเท่าเทียม” เท่านั้น หากแต่หมายความว่าทุกคนจะได้ การเข้าถึงโอกาสเหมือนกัน

เพราะสถานภาพในสังคมของคนไม่เหมือนกัน โอกาสไม่เท่าเทียมกัน ทำให้เกิดอุปสรรคในการเข้าถึงโอกาส เกิดความไม่เสมอภาคกัน ดังนั้นการจะทำให้เกิดความเท่าเทียมนั้นจะต้องให้มีความเสมอภาคกันก่อน

คำว่า “เท่าเทียม” คือการให้อะไรเหมือน ๆ กัน

คำว่า “เสมอภาค” คือความยุติธรรม

ในทางปฏิบัติการจะทำให้เกิดความเสมอภาค เพื่อให้เกิดความเท่าเทียม ก็คือคนที่มีโอกาสน้อยที่สุด ต้องได้รับการช่วยเหลือส่งเสริมมากที่สุด ส่วนคนที่ได้เปรียบอยู่แล้วก็ไม่ต้องได้รับอะไรมาเสริมหรือหนุนเนื่อง ตรงกันข้ามอาจจะต้องเสียสละให้คนอื่นที่ไม่มีโอกาสได้มากกว่าตัวเอง

หากเปรียบเทียบโอกาสคือการสามารถดูฟุตบอลได้เหมือนกัน คนที่สูงอยู่แล้วไม่ต้องมีกล่องช่วยหนุน ขณะที่คนสูงปานกลางอาจได้กล่องช่วยบ้าง แต่คนเตี้ยที่สุดจะต้องได้กล่องหนุนสองชั้นด้วยซ้ำ…. เพื่อให้ทั้งสามคนสามารถดูและเชียร์เกมฟุตบอลได้เหมือนกัน

อย่างนี้จึงจะทำให้ ความเสมอภาค” นำไปสู่ ความเท่าเทียม” และ ความยุติธรรม” อันแท้จริง

สภาพที่เกิดขึ้นในสังคมไทยวันนี้ ส่วนใหญ่จะคิดแต่เพียงว่า “ความเท่าเทียม” ก็คือ “ความเสมอภาค” หรือ equality ก็คือ equity ซึ่งไม่จริง ตรงกันข้ามเมื่อเราตีความเช่นนี้ผิด คิดว่าการให้อะไรเหมือน ๆ กันก็คือความเป็นธรรมและความยุติธรรม, ลงท้ายช่องว่างระหว่างคนรวยคนจนกับคุณภาพชีวิตของคนระดับบนกับระดับล่างก็ยังห่างกันอยู่… และจะห่างต่อไปเรื่อย ๆ จนกลายเป็นวิกฤตของสังคมที่มาในรูปความขัดแย้ง, การแก่งแย่งทรัพยากรและการใช้ไม้วัดเดียวกันประเมินคนในสังคมทุกชนชั้น

จนกลายเป็น ความเป็นจริง หรือ reality อย่างที่เห็นในรูปที่สาม

สะท้อนว่ายิ่งวันคนด้อยโอกาสก็ยิ่งถูกเหยียบย่ำ ขณะที่คนรวยคนได้เปรียบก็อยู่ในสภาพ “มือใครยาวสาวได้สาวเอา”

หากไม่แก้ไขสัจธรรมข้อนี้ หากยังตีความ ความเท่าเทียม” คือ ความเสมอภาค” ก็อย่าได้หวังว่าจะเกิดสังคมเป็นธรรม ที่ยึดหลักความยุติธรรม เป็นเป้าหมายของการสร้างสังคมอันพึงปรารถนาสำหรับทุกคนเลย

คำประกาศเกียรติคุณ ศาสตราจารย์พิเศษเรืองอุไร กุศลาสัย ศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์

คำประกาศเกียรติคุณ ศาสตราจารย์พิเศษเรืองอุไร กุศลาสัย ศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์

“ทวาย” ยังไม่สายที่จะต้องมนต์

คำประกาศเกียรติคุณ ศาสตราจารย์พิเศษเรืองอุไร กุศลาสัย ศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์

Author : พัชริดา พงษปภัสร์ เจ้าหน้าที่สื่อสารองค์กร มูลนิธิสืบนาคะเสถียร

“ฉันไม่ได้โฆษณาชวนเชื่อเรียกร้องให้คุณมาเข้าใจ แต่คุณจำเป็นต้องรู้สึก ต่อคุณค่าความงามที่แท้จริงของทวายด้วยตัวของคุณเอง”.

…ก่อนเราจะเป็นหนึ่งในประเทศที่แปรสภาพเมืองทวายให้เป็นเมืองท่าและนิคมอุตสาหกรรมขนาดใหญ่.

ราวกับวันนี้ยังคงเป็นวันแรกที่เราต้องมนต์สเน่ห์แห่งทวาย จากการร่ายมนต์ของผู้ร่วมมือทุกๆ ฝ่ายด้วยกัน ทั้งที่ฉันละประสาทสัมผัสจากพื้นที่ตรงนั้นมาได้สองสามวันเศษแล้ว แปรเปลี่ยนความประสงค์เป็นการเอื้อมมือไปสัมผัสทวายอย่างแท้จริง ผ่านกลิ่นหอมแป้งทานาคา ผสมผสานกลิ่นปลาในตลาด รึไม่ก็นึกเล่นซนขอป้าลองปั้นหม้อดินเผาที่ศูนย์ใหญ่ใจกลางเมือง และสัมผัส texture ร่องรอยอารยธรรมเก่าแก่ เมืองพี่เมืองน้องครั้นบรรพกาลของไทย ด้วยดวงตา จมูก สองมือ และกล้องคู่ใจของตัวเอง.

ตลาดบ้านตะบอเส็กแสดงให้เห็นความอุดมสมบูรณ์ของทะเล Sayan Chuenudomsavad

ตลาดบ้านตะบอเส็กแสดงให้เห็นความอุดมสมบูรณ์ของทะเล – ถ่ายภาพโดย Sayan Chuenudomsavad

ทำนองโฟล์คซองคลอเสียงร้องภาษาถิ่น ยังคงก้องติดหูแม้จะผ่านไปครึ่งวันแล้วก็ตาม รอยยิ้ม เสียงหัวเราะปรากฏร่องรอยแห่งกาลเวลาบนสองข้างแก้มที่ประพรมแป้งทานาคา หนุ่มสาวนุ่งซิ่นอัตลักษณ์ท้องถิ่นเชื้อเชิญทั้งชาวไทย ชาวต่างชาติ และชาวทวายด้วยกันเข้ามาร่วมงาน.

นิทรรศการ หลงรักทวาย

บรรยากาศในงานนิทรรศการ “หลงรักทวาย”

เมื่อ 24 มกราคม 2560 ที่ผ่านมา  โครงการศิลปะชุมชน, สมาคมพัฒนาทวาย, สมาคมวิจัยทวาย, ชุมชนบ้านกาโลนท่า เมืองทวาย ประเทศพม่า, มูลนิธิเสถียรโกเศศ-นาคะประทีป และเสมสิกขาลัย ร่วมจัดงานนิทรรศการ “หลงรักทวาย” ขึ้น เพื่อหยิบยกสเน่ห์อันเรียบง่ายของทวายมาถ่ายทอดสู่สาธารณชนใจกลางกรุงเทพฯ ผ่านการแสดง ภาษา ดนตรี โดยเฉพาะภาพถ่าย และภาพจิตรกรรมบอกเล่าความเป็นทวายได้อย่างลงตัว และชวนให้หลงไหลมนต์สเน่ห์ที่เต็มเปี่ยมไปด้วยความหมาย

ทวาย

สาวน้อยกำลังเทินปลาที่ได้มาจากเรือประมงใหญ่  – ถ่ายภาพโดย Amnat Ketchuen.

ชาวทวายผู้มาร่วมงานประสานเป็นเสียงเดียวกันเพื่อตอบพิธีกร(ล่าม)ที่ถามถึงความรู้สึกต่อเมืองทวาย แปลความได้ว่า ‘คิดถึงบ้าน’

แม้ฟังภาษาทวายไม่เข้าใจ แต่รู้สึกได้ถึงความน่ารักของสำเนียงภาษาที่น่าฟัง.

ทวายไม่ได้เป็นแค่เมืองเล็กๆ ในแผนที่ที่รอให้นักลงทุนข้ามชาติรุมทึ้งแล้วดัดแปลงโฉมใหม่กลายเป็นประตูเศรษฐกิจแห่งใหม่ที่เชื่อมต่อการค้าจากโลกตะวันตกเท่านั้น แต่ยังเป็นเมืองแห่งชีวิตและสีสัน วิถีชีวิตชาวทวายดำเนินไปตามครรลองธรรมชาติ  หาเช้ากินค่ำ เพาะปลูกพืชผล หาปลา นำมาวางขายบนแผงตลาด และมีหมากเป็นพืชเศรษฐกิจ.

ทวาย

หมาก พืชเศรษฐกิจของทวาย – ถ่ายภาพโดย Thanawat Insuwan.

อีกทั้งยังเป็นเมืองแห่งความงดงามของธรรมชาติโอบกอดด้วยภูเขาและท้องทะเล ซึ่งผสมผสานทั้งชุมชนพุทธ คริสต์ มุสลิม ฮินดู พึ่งมีวัฒนธรรมและประเพณีดั้งเดิมที่สืบทอดต่อกันมาอย่างช้านาน กลายเป็นส่วนหนึ่งของวิถีชีวิตที่เรียบง่าย และยั่งยืน.

ทวาย

เด็กนักเรียนขี่จักรยานผ่านถนนตาลคู่ไปโรงเรียนทุกเช้า – ถ่ายภาพโดย  Thanawat Insuwan.

ความงามอันพิสุทธิ์นี้หวนให้ฉันระลึกถึงทวายโปรเจคที่จะนำมาสู่ความเปลี่ยนแปลง…  ดัดแปลงหรือโละทิ้งมนต์สเน่ห์ดั้งเดิมของทวาย ซึ่ง “ทวายโปรเจค” มักปรากฏข้อมูลมิติด้านเศรษฐกิจเป็นสำคัญ แต่มิติด้านสิ่งแวดล้อม ทรัพยากรธรรมชาติ ศิลปะ วัฒนธรรม ประเพณี วิถีชีวิตของประชาชนในพื้นที่ยังไม่ถูกนำเสนอมากมายนัก

ทวาย

เด็กๆ ณ ชายหาดมองมะกัน ชายหาดยอดนิยมของคนทวาย – ถ่ายภาพโดย Rapeepat Mantanarat.

ความสัมพันธ์ระหว่างชุมชนและความเจริญก้าวหน้าทางเศรษฐกิจจะเป็นไปในทิศทางเดียวกันได้กระนั้นหรือ เมื่อ ‘มาบตาพุด’ ยังหลงเหลือบทเรียนให้เราได้หวาดผวา ชวนหวั่นกลัวว่าทวายจะกลายเป็น ‘เหยื่อรายที่สอง’ ถัดจากนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด.

ทวาย

ยามเย็นที่หาดมะยินจีซึ่งตั้งอยู่ติดกับเขตเศรษฐกิจพิเศษทวาย – ถ่ายภาพโดย Jamon Sonpednarin.

การพัฒนาจะเกิดผลดีจำเป็นต้องมาพร้อมสติปัญญา – นั่นคือสิ่งที่ฉันสรุปกับตัวเองหลังได้ฟัง อ.สุลักษณ์ ศิวรักษ์ กล่าว แต่ฉันไม่แน่ใจนักว่า โครงการเพื่อการพัฒนาครั้งนี้จะเข้าข่ายหรือไม่.

ความเป็นจริงนั้น ทวายโปรเจค หรือ โครงการท่าเรือน้ำลึกและนิคมอุตสาหกรรมทวาย และเส้นทางคมนาคมเชื่อมระหว่างประเทศไทยกับสหภาพพม่า (Dawei Deep Sea Port & Industrial Estate Project and Transborder Corridor Link) ประกอบไปอะไรหลายอย่างที่จะส่งผลกระทบต่อทวายทั้งสิ้น อาทิ โครงการท่าเรือน้ำลึก นิคมอุตสากรรม ทั้งโรงหล็กต้นน้ำ โรงปุ๋ยไฟฟ้า โรงไฟฟ้าถ่านหิน โรงแยกก๊าซ โรงกลั่นน้ำมัน อุตสาหกรรมยานยนต์ เส้นทางการคมนาคม ทั้งถนน ทางรถไฟ และท่อส่งน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ และที่พักอาศัย ศูนย์การค้า ศูนย์การท่องเที่ยว รีสอร์ท และศูนย์พักผ่อนบริษัทฯ ซึ่งมีพื้นที่โครงการต้ังอยู่ห่างจากเมืองทวายประมาณ 30 กิโลเมตร.

ทวาย

แม่น้ำตะลายยาร์ระหว่างทางไปหมู่บ้านกะโลนท่า – ถ่ายภาพโดย  Wichai Juntavaro.

ทั้งหมดที่ได้กล่าวไปข้างต้นจะเข้ามารุกรานจนสิ่งมีค่าเหล่านี้อาจต้องมลายหายไป มันคงเป็นเรื่องน่าเสียดายหากทวายจะเหลือเพียงปกรณัมเล่าขาน ก่อนถูกทุนข้ามชาติกลืนกินจนทวายกลายสภาพเป็นอดีต เชิญชวนให้ท่านทั้งหลายมาทำความรู้จัก ลุ่มหลง และตกหลุมรักทวายอย่างมิอาจถอนตัวกันเถอะ.

พวกเขารอคอยความหวังให้เพื่อนบ้านอย่างเราช่วยกันเข้าใจและเป็นอีกแรงที่จะธำรงรักษาคุณค่าอันหลากหลายและสร้างกระแสการพัฒนาที่ยั่งยืน จึงขอถือเสียว่านิทรรศการหลงรักทวาย ครั้งนี้เป็นสาส์นเชิญถึงโลกกว้าง ให้เราเดินทางอย่างยากลำบากไปค้นหาความหมายและคำตอบในแบบของคุณเองว่า “ทำไมเราจึงตกหลุมรักทวาย”

‘ทวาย’ ในความงามของ สุลักษณ์ ศิวรักษ์

เพลานี้ อ.สุลักษณ์ ศิวรักษ์ มูลนิธิเสฐียรโกเศศ-นาคะประทีปชวนทุกคนมาหลงรักทวาย ผ่านการเรียนรู้อดีต เข้าใจปัจจุบัน และเดินหน้าไปสู่อนาคต… “ทวาย” เคยเป็นเมืองหนึ่งในราชอาณาจักรไทยเมื่อครั้นก่อนการสิ้นสถานภาพราชธานีกรุงศรีอยุธยา คราวกรุงแตกวันที่ 7 เมษายน พ.ศ. 2310 หรือ 2.5 ศตวรรษที่ผ่านมา ซึ่งเหตุการณ์เสียกรุงครั้งนั้น เมืองทวาย ตะนาวศรี และมะริด ได้ตกเป็นของพม่า

รู้หรือไม่?… ‘บ้านทวาย’ หรือชุมชนทวายจำนวนหนึ่งพักพิงอยู่ในเมืองไทยมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 1 ยาวนานมากระทั่งยุคปัจจุบัน ที่ระแวกวัดยานนาวา จังหวัดกรุงเทพฯ

การเดินทางไปยังเมืองทวายประเทศพม่า นั้นไม่สะดวก ต้องต่อรถหลายต่อ ความเจริญยังเข้าไม่ถึงนัก ซึ่งเป็นคุณสมบัติบางประการในการช่วยรักษาทวายไว้ได้ เพราะหากการเดินทางเต็มไปด้วยความสะดวกความเจริญ สิ่งเหล่านี้จะอำนวยประโยชน์ต่อทุนข้ามชาติ แต่ส่งผลตรงข้ามกับคนเล็กคนน้อยและชาวทวายเอง

ความเจริญไม่ใช่สิ่งดีงามตลอดไป ความเจริญเป็นสิ่งที่นำความหายนะมาให้ไม่ใช่น้อย

.
.

ทวาย
.
.

อ.สุลักษณ์ กล่าวว่า ผมเป็นคนโชคดีที่มีโอกาสไปเยี่ยมทวาย ได้เห็นว่าวัดยังเป็นศูนย์กลางของชุมชนทวาย ชุมชนทวายยังรักษาเอกลักษณ์ วัฒนธรรม ภาษาดั้งเดิมไว้ได้อย่างน่าภูมิใจ และชาวบ้านพร้อมร่วมใจกันต่อสู้กับสิ่งทันสมัย ความเจริญ ที่ทุนข้ามพรมแดนได้เข้ามายัดเยียดให้แสดงถึงศักดิ์ศรี ความภาคภูมิใจในวัฒนธรรม และภาษาของตนเอง ผมหวังว่าชาวทวายจะสามารถรักษาเอกลักษณ์เหล่านี้ไว้ได้ ให้สมศักดิ์ศรีบรรพบุรุษที่สืบทอดกันเรื่อยมาสู่ยุคปัจจุบัน

ผมไม่จำเป็นต้องบอกชาวทวายว่า ท่าเรือน้ำลึก ถนนอันทันสมัยต่างๆ จะนำความเลวร้ายอะไรมาให้ทวายบ้าง เพียงท่านทั้งหลายไปดูมาบตาพุด ก็จะเห็นได้เลยว่านิคมอุตสาหกรรมนั่นได้ทำลายชาวบ้าน ทำลายปลา ทำลายทะเล สร้างมลพิษเป็นอันมาก ผมหวังว่าสิ่งเลวร้ายเหล่านี้จะไม่เกิดขึ้นที่ทวาย แต่ผมเกรงว่าถ้าเราไม่ต่อสู้ให้ทันท่วงที สิ่งที่จะเกิดกับทวาย จะเลวร้ายยิ่งกว่ามาบตาพุด

การต่อสู้กับการพัฒนาผิดๆ นั้นเป็นมิจฉาทิฏฐิของคนปัจจุบัน

อ.สุลักษณ์ ท้าวความถึงโครงการการพัฒนาต่างๆ ของนายทุนผู้หวังช่วงชิงทวายมาจากชาวทวายเอง ว่า โครงการทวายเริ่มขึ้นตั้งแต่สมัยทักษิณ ชินวัตร มาจนถึงยุคสมัยคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) การปกครองตอนนี้ก็เลวร้ายพอๆ กัน ที่เห็นเงิน เห็นอำนาจ เห็นทรัพยากรเป็นประโยชน์เพื่อเทคโนโลยีแบบใหม่ เพราะฉะนั้นการต่อสู้พวกนี้จะยาก แต่เราจำเป็นต้องไม่ก้มหัวให้ และการไม่ก้มหัวให้นั้นต้องหวนกลับมาหาวัฒนธรรมดั้งเดิม ภูมิใจในศิลปะ วัฒนธรรม ศาสนธรรม ศาสนสถาน ซึ่งชาวทวายช่วยกันรักษาเอกลักษณ์ได้อย่างกลมเกลียวกัน.

สุลักษณ์ ศิวลักษณ์
.
หวังว่าคนไทยจะหลงรักทวาย ด้วยการเห็นมองเห็นคุณค่า ความงามสิ่งประเสริฐการรักษาศักดิ์ศรี และรักวัฒนธรรมของทวายให้คงความสวยและความพริ้งไพเราะ ตลอดไปชั่วกาลนาน

Source : เรียบเรียงบทความจากการกล่าวเปิดงานนิทรรศการ “หลงรักทวาย” โดย อ.สุลักษณ์ ศิวรักษ์ มูลนิธิเสฐียรโกเศศ-นาคะประทีป ในวันที่ 24 มค. 2560 ที่หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพ

พรปีใหม่2560 พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตโต)

พรปีใหม่2560 พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตโต)

Author : พิเภกInter

“พระพุทธเจ้าตรัสว่า มนุษย์สามารถหาความสุขที่ประณีตกว่าการบำเรอตา หู จมูก ลิ้น กาย ความสุขแบบนั้น ท่านเรียกว่า เป็นความสุขที่ประณีตขึ้น ซึ่งมีลักษณะสำคัญ คือเป็นอิสระ มนุษย์มีความสุขได้ โดยลำพังตัวเองในใจ และไม่ต้องขึ้นต่อวัตถุภายนอก ซึ่งหมายความว่า แม้วัตถุภายนอกนั้นไม่มีอยู่ เราก็มีความสุขได้ ข้อสำคัญก็คือ มันเป็นความสุขพื้นฐาน ที่จะทำให้การแสวงหา หรือการเสพความสุขภายนอก เป็นไปอย่างพอดี อยู่ในขอบเขตที่สมดุล ทำให้มีความสุขแท้จริง และไม่เบียดเบียนกันในทางสังคม

ถ้าคนมีความสุขประเภทนี้ เป็นรากฐานอยู่ภายในตนเองแล้ว การหาความสุขทางวัตถุ มาบำเรอ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ก็จะมีขอบเขต ท่านเรียกว่า รู้จักประมาณ ถ้าเรามีความสุขข้างในแล้ว ความสุขที่ได้ข้างนอก ก็เป็นความสุขที่เติมเข้ามา เป็นของแถม หรือกำไรพิเศษ และอิ่มอยู่เสมอ แต่ถ้าเราไม่มีความสุขในจิตใจ มีใจเร่าร้อน กระวนกระวาย หรือมีความเบื่อ มีความเครียด มีปัญหาอยู่ภายในใจของตนเองแล้ว พอหาวัตถุมาบำเรอตา หู จมูก ลิ้น กาย ก็จะต้องมีปัญหาต่อไปอีก คือ

๑.ไม่สามารถมีความสุขได้เต็มที่

๒.เมื่อทำโดยมีปมปัญหาในใจ ก็ทำอย่างไม่พอดี ทั้งทำให้เกิดปัญหาวุ่นวาย และตัวเองก็ไม่ได้ความสุขจากภายนอกเต็มที่ด้วย และประการสำคัญก็คือ พอทำอะไรออกมา เพื่อหาความสุขเหลานั้น ก็ทำให้เกิดการปะทะ กระทบซึ่งกันและกัน ก็เลยกลายเป็นปัญหาสังคมขยายบานปลายออกไป

ถ้าความสุขนั้น ยังต้องขึ้นอยู่กับสิ่งอื่น มันก็ผันแปรได้ และตัวเราก็ไม่เป็นอิสระ เพราะสิ่ง นั้นตกอยู่ใต้กฎธรรมชาติ เป็นไปตามอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา มันสามารถกลับย้อน มาทำพิษแก่เราได้ สิ่งภายนอกที่เราอาศัยนั้น มันไม่ได้อยู่กับตัวข้างในเรา ไม่เป็นของเราแท้จริง เมื่อเราฝากความสุขไว้กับมัน ถ้ามันมีอันเป็นอะไรไป เราก็ทุกข์

ความดีก็เหมือนกัน เมื่อเรามีความสุข เพราะอาศัยมัน ถ้าความดีนั้น เราทำไปแล้ว คนอื่นไม่เห็น หรือไม่ชื่นชม บางทีใจเราก็หม่นหมองไปด้วย จึงเรียกว่า เป็นความสุขที่ยังอิงอาศัยอยู่ เพราะฉะนั้น เราจึงต้องก้าวต่อไปสู่การมีปัญญา รู้ความจริงของสิ่งทั้งหลาย รู้ว่าธรรมดาของสิ่งทั้งหลาย ก็เป็นอย่างนี้ ไม่ว่าอะไรที่เป็นสังขาร จะเป็นรูปธรรม หรือนามธรรม เป็นความชั่ว หรือความดี เป็นวัตถุ หรือเป็นเรื่องของจิตใจ มันก็เป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ทั้งนั้น

เมื่อรู้ความจริงแล้ว ก็จะเข้าถึงกระแสของธรรมชาติ เรียกว่ากระแสแห่งเหตุปัจจัย ปัญญา ของเราก็เข้าไปรู้ทันกระแสแห่งเหตุปัจจัยนี้ พอปัญญารู้เท่าทันมันแล้ว เราก็วางใจได้ รู้สึกเบา สบาย เราก็รู้แต่เพียงความเป็นจริงว่า เวลานี้ สิ่งนี้เป็นอย่างนี้ มันก็เป็นไปตามเหตุปัจจัยของมัน เมื่อรู้ทันแล้ว สิ่งนั้นก็ไม่ย้อนมาทำพิษแก่จิตใจของเรา จิตใจของเราก็เป็นอิสระ

สิ่งทั้งหลายที่เป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา มีความเปลี่ยนแปลงเป็นไปต่างๆ มันก็ต้องเป็นอย่างนั้นเป็นธรรมดา เพราะมันอยู่ในกฎธรรมชาติอย่างนั้น ไม่มีใครไปแก้ไขได้ แต่ที่มันเป็นปัญหาก็เพราะว่าในเวลาที่มันแปรปรวนเปลี่ยนแปลงไปตามกฎธรรมชาตินั้น มันพลอยมาเบียดเบียนจิตใจของเราด้วย เพราะอะไร? ก็เพราะเรายื่นแหย่ใจของเราเข้าไปใต้อิทธิพลความผันผวนปรวนแปรของธรรมชาตินั้นด้วย

ดังนั้น เมื่อสิ่งเหลานั้นปรวนแปรไปอย่างไร ใจของเราก็พลอยปรวนแปรไปอย่างนั้นด้วย เมื่อมันมีอันเป็นไป ใจของเราก็ถูกบีบคั้น ไม่สบาย แต่พอเรารู้เท่าทัน ถึงหลักธรรมชาติแล้ว กฎธรรมชาติ ก็เป็นกฎธรรมชาติ สิ่งทั้งหลายที่เป็นธรรมชาติ ก็เป็นไปตามกฎธรรมชาติ ทำไมเราจะต้องเอาใจของเราไปให้กฎธรรมชาติบีบคั้นด้วย เราก็วางใจของเราได้

ความทุกข์ที่มีในธรรมชาติ ก็เป็นของธรรมชาติไป ใจของเราไม่ต้องเป็นทุกข์ไปด้วย ตอนนี้แหละที่ท่านเรียกว่ามีจิตใจเป็นอิสระ จนกระทั่งว่าแม้แต่ทุกข์ที่มีในกฎของธรรมชาติ ก็ไม่สามารถมาเบียดเบียนบีบคั้นใจเราได้ เป็นอิสรภาพแท้จริง ที่ท่านเรียกว่า วิมุตติ ความสุขจากความเป็นอิสระ ถึงวิมุตติ ที่มีปัญญารู้เท่าทันพร้อมอยู่นี้ เป็นความสุขที่สำคัญพอถึงสุขขั้นนี้แล้ว เราก็ไม่ต้องไปพึ่งอาศัยสิ่งอื่นอีกต่อไป ไม่ว่าจะเป็นรูปธรรม หรือนามธรรม มันจะกลายเป็นความสุขที่เต็มอยู่ในใจของเราเลย และเป็นสุขที่มีประจำอยู่ตลอดเวลา เป็นปัจจุบัน

และในโอกาสที่จะขึ้นปีใหม่ 2560

ขอสิ่งศักดิ์สิทธิ์ทั้งหลายในสากลโลกได้โปรดอำนวยพรให้ท่านและครอบครัว ได้รับโชคดี มีความสุข สำเร็จ สมหวัง ตลอดปีและตลอดไป

ขอให้บุญรักษา เทวดาคุ้มครอง พระรัตนตรัยปกป้อง จงมีแต่สิ่งดีๆเข้ามาในชีวิต สุขภาพร่างกายแข็งแรง มีความร่มเย็น และมีความสุข ให้ร่ำรวยเงินทองและทรัพย์สิน ให้สูงส่งด้วยบารมี

“พรใดประเสริฐ ขอจงบังเกิดแก่ท่านและครอบครัว” ตลอดปีใหม่ 2560 และตลอดไป

ขออนุญาตกล่าวขออโหสิกรรมก่อนวันสิ้นปี 2559 และในวาระดิถีขึ้นปีใหม่ 2560 ที่จะถึงนี้ ต่อเพื่อนร่วมโลกทุกท่าน

สิ่งใดที่ข้าพเจ้าเคยล่วงเกิน เคยกระทำต่อทุกท่าน ทั้งกายกรรม วจีกรรม  มโนกรรม ทั้งที่เจตนาหรือไม่เจตนา ที่นึกได้หรือนึกไม่ได้ ทั้งในอดีตทุกภพชาติ ปัจจุบันชาติ ขอทุกท่านโปรดจงอโหสิกรรมต่อข้าพเจ้าด้วยเถิด

หากกรรมใดๆที่ทุกท่านเคยกระทำไม่ดี กับข้าพเจ้าในอดีตชาติ และปัจจุบันชาติ ข้าพเจ้า ขอยกโทษ อโหสิกรรมเป็นอภัยทาน แด่ทุกๆท่านเช่นเดียวกัน เพื่อถวายเป็นพุทธบูชา เป็นอภัยทาน เพื่อจะได้ไม่ต้องจองเวรจองกรรม ข้ามภพข้ามชาติอีกต่อไป

ขอทุกท่านจงโชคดีในวาระดิถีขึ้นปีใหม่ 2560 ด้วยกันทุกๆท่านเทอญ

ปฏิบัติบูชา

ปฏิบัติบูชา

Author : ส.ศ.ษ.

การที่ประชาชนพลเมืองพากันไปถวายบังคมพระบรมศพอย่างเนืองแน่นไม่ขาดสายนั้น นับว่าน่าชื่นชม ถือได้ว่าเป็นการแสดงความกตัญญูกตเวทีต่อพระเจ้ามหาชีวิต โดยถือว่านี่เป็นอุดมมงคลก็ได้ เพราะการบูชาผู้ที่ควรบูชา นับว่าน่าสรรเสริญ ยังเจ้านายพระญาติพระวงศ์และผู้หลักผู้ใหญ่ในแผ่นดินก็ต้อนรับราษฎรอย่างเต็มใจ หาอาหารให้รับประทาน ทั้งยังบางพระองค์มาทรงประกอบอาหารเองก็มี ทั้งหมดนี้ สะท้อนให้เห็นคุณงามความดีของทั้งผู้ให้และผู้รับ

แต่ทั้งหมดนี้ ถือได้ว่าเป็นอามิสบูชา ซึ่งย่อมสู้ผู้ปฏิบัติบูชาไม่ได้ ฉะนั้น ถ้าชาวเราจะชวนกันขยับเข้าไปให้ถึงปฏิบัติบูชา น่าจะถือได้ว่าวิเศษพิศดารจริงๆ กล่าวคือ ร่วมกันทำอะไรๆถวายในหลวงในพระโกศ ให้เป็นราชพลีอย่างที่มีคุณประโยชน์แก่บ้านเมืองและประเทศชาติอย่างแท้จริง

ขอยกตัวอย่างที่เป็นรูปธรรม คือทั้งชนชั้นปกครองและผู้ถูกปกครอง หาทางตกลงร่วมกันทำให้แม่น้ำลำคลองรอบกรุงเทพฯหมดมลพิษ ให้น้ำคืนสู่ความบริสุทธิ์ สำหรับอาบกินได้ดังสมัยบรรพบุรุษของเรา ลดถุงพลาสติกและโฟมให้หมดไปจากพื้นแม่น้ำ ทำลายสิ่งโสโครกในแม่น้ำลำคลองให้หมดไป อะไรๆ ที่ปิดกั้นคูคลอง ต้องเอาออกให้หมด สายน้ำต่างๆ จะติดต่อกันตามธรรมชาติ แม้นี่จะเป็นการใหญ่ แต่ถ้าร่วมใจกันจริงๆ เพื่อบูชาคุณในหลวงของแผ่นดิน นี่จะเป็นสิ่งประเสริฐที่สุด โดยกำหนดให้งานบูรณะปฏิสังขรณ์แม่น้ำลำคลองได้แล้วเสร็จทันงานถวายพระเพลิงพระเจ้าอยู่หัวในพระบรมโกศ หากพระองค์ทรงทราบได้โดยพระญาณวิถีใด ก็ย่อมจะพอพระราชหฤทัย และพระราชทานพรให้พสกนิกรทุกถ้วนหน้าดำรงชีพอยู่กันตามแม่น้ำลำคลองอย่างสุขสวัสดี ดังที่บรรพบุรุษบรรพสตรีของเราดำเนินชีวิตมาเช่นนั้น แต่สมัยกรุงศรีอยุธยานั้นแล้ว ยิ่งถึงงานบรมราชาภิเษกพระเจ้าแผ่นดินองค์ใหม่ ย่อมจะได้เสด็จพระราชดำเนินเป็นพยุหยาตราทางชลมารคอย่างงามสง่าและอย่างมีศักดิ์ศรีที่แท้จริง นับได้ว่าแม่น้ำเจ้าพระยาที่ใสบริสุทธิ์จะคืนกลับมาสมกับการเริ่มรัชสมัยใหม่

อนึ่ง ปี ๒๕๖๐ นี้ กรุงศรีอยุธยาจะสิ้นสภาพความเป็นราชธานีมาครบ ๒๕๐ ปี และเริ่มต้นกรุงธนบุรีเป็นราชขธานีมาครบ ๒๕๐ ปีเช่นกัน เราควรหันไปสำรวจอดีตของเราอย่างรู้เท่าทัน ว่าบรรพชนของเราอยู่กับน้ำยิ่งกว่าชนชาติใดๆ น้ำเป็นหัวใจของการกิน การอยู่ และการสัญจรไปมายิ่งกว่าทางบก ยังความต้องการต่างๆทางวิจิตรศิลปแปละมัณฑนศิลปก็เกี่ยวข้องกับน้ำอย่างเหลือคณานับ เช่นบทเห่เรืออันวิเศษสุด เป็นต้น แม้เมื่อเราย้ายมาตั้งราชธานีที่กรุงรัตนโกสินทร์แล้ว เราก็ยังถือน้ำเป็นปัจจัยหลัก ทั้งทางศิลปวัฒนธรรมและศาสนธรรม หากเมื่อเราลืมกำพืดเดิมของเรา หันเหวิถีชีวิตเอาอย่างฝรั่ง ด้วยความเข้าไม่ถึงอารยธรรมดั้งเดิมนั่นแหละ ความหายนะจึงคืบคลานเข้ามา

ในโอกาสผลัดแผ่นดินเช่นนี้ ควรที่เราจะกลับไปแสวงหากำพืดเดิมของเรา นำบุราณธรรมกลับมาประยุกต์ใช้ให้สมสมัย เพื่อเป็นปฏิบัติบูชาแด่พระผู้เป็นทั้งเจ้าชีวิตและเจ้าแผ่นดินที่เคารพรักของเรา
ในภาคผนวกหนังสือเล่มล่าสุดของข้าพเจ้าชื่อ “อย่าลืมกำพืดของเราเอง” ได้อธิบายขยายความเรื่อง ๒๕๐ ปีกรุงศรีอยุธยาและกรุงธนบุรีไว้ด้วย หากช่วยกันอ่านและร่วมกันวิจารณ์ เพื่อให้เกิดกรณียกิจอันยิ่งกว่าอามิสบูชา เป็นปฏิบัติบูชา ถวายสมเด็จพระมหาราชาธิราชของชาวเรา ทั้งรัชกาลที่ ๙ และรัชกาลถัดไป

สำหรับคนชนบทที่ห่างไกลราชธานีออกไป ก็ร่วมมือกันทำอะไรๆ ให้น้ำในดินแดนของตนได้มีความหมายอย่างสะอาด อย่างเป็นคุณกับชีวิต ให้สมกับพระราชดำรัสของพระเจ้าอยู่หัวในพระบรมโกศ ที่ตรัสว่า พระองค์ท่านเป็นน้ำ เพื่อหล่อเลี้ยงพวกเรา พวกเราก็ควรเคารพรักษาน้ำ ดังให้เป็นปฏิบัติบูชาต่อในหลวงของชาวเราให้จงได้

สังคมที่น่าเป็นห่วง

สังคมที่น่าเป็นห่วง

Author : ประภัสสร เสวิกุล

สิ่งหนึ่งซึ่งเป็นปัญหาสำหรับคนในสังคมเวลานี้ ก็คือการรับข้อมูลมากเกินไป และส่วนใหญ่จะเป็นข้อมูลด้านเดียวหรือข้อมูลที่ยังไม่ได้ผ่านการกลั่นกรอง ปัญหาที่ตามมาก็คือการสำลักข้อมูล หรือการถูกผู้อื่นบรรจุข้อมูลลงในสมอง โดยที่เจ้าตัวไม่มีเวลาที่จะวิเคราะห์ข้อมูลเหล่านั้นอย่างถี่ถ้วน

ถ้าลองเปิดโซเชียลมีเดียหรือสังคมโลกออนไลน์ดู จะเห็นได้ชัดเจนว่าคนในยุคปัจจุบันจะใช้นิ้วในการเคาะคีย์และโพสต์ข้อความมากกว่าการใช้หัวคิดและไต่ตรอง ทันทีที่มีคนเริ่มต้นอะไรขึ้นสักอย่าง ก็จะมีคนส่วนหนึ่งแสดงความเห็นต่างๆ นานา โดยขาดการสอบสวนทวนความให้ถ่องแท้ ทั้งที่การใช้เสรีภาพดังกล่าว อาจก่อให้เกิดความเสียหายต่อผู้อื่น หรือปัญหาแก่ตัวเองได้

จุดใหญ่ใจความของเรื่องเหล่านี้ น่าจะมีที่มาจากสาเหตุสองประการ ประการแรกคือระบบการเรียนการสอนของไทยเราสอนให้จำมากกว่าจะสอนให้คิด ดังนั้น คนที่จำแม่นก็จะกลายเป็นคนที่เรียนเก่ง เพราะตอบข้อสอบได้ตรงกับโจทย์ และพฤติกรรมเช่นนี้ก็จะติดตัวมาจนโต ทำให้เป็นคนที่อยู่ในกรอบ ไม่กล้าคิดหรือทำอะไรที่ผิดแผกออกไป อีกประการหนึ่งก็คือการที่เรารู้จักประชาธิปไตยกันแค่เรื่องสิทธิเสรีภาพของตนเอง แต่ไม่ค่อยจะตระหนักในสิทธิเสรีภาพของผู้อื่น หรือหน้าที่ที่พึงมีต่อส่วนรวม

เหตุสองประการนี้ ถ้าเป็นในสมัยก่อนที่สังคมไทยยังเป็นสังคมเล็กๆ ที่ราบเรียบร่มรื่นก็ไม่สู้จะกระไรนัก แต่ในยุคปัจจุบันที่สังคมมีขนาดใหญ่โต มีความสลับซับซ้อน รวมทั้งมีความขัดแย้งทางแนวคิดและผลประโยชน์เพิ่มมากขึ้น ประกอบกับวิวัฒนาการของการติดต่อสื่อสารที่เชื่อมโยงคนเข้าด้วยกันเหมือนใยแมงมุม ก็ทำให้เกิดเป็นปัญหาขึ้นมา เพราะตามความเป็นจริงแล้ว หากมีการสอนให้คนคิดเก่งมากกว่าจำเก่ง ความคิดก็จะทำให้แต่ละคนมีวิจารณญาณ มีกระบวนการทางความคิด รู้จักคิดหาข้อเท็จจริง รู้จักใคร่ครวญถึงผลดีผลเสีย แล้วก็คงไม่พูดอะไรหรือโพสต์อะไรพล่อยๆ ขณะเดียวกัน ถ้ามีความเข้าใจเรื่องการใช้สิทธิเสรีภาพในระบอบประชาธิปไตยดีพอ ก็คงจะเคารพสิทธิเสรีภาพของผู้อื่น และไม่กระทำการใดๆ ที่ละเมิดสิทธิเสรีภาพ เช่นที่เห็นกันอยู่ทั่วไป

การรับเทคโนโลยีใหม่ๆ เข้ามานั้น เป็นเรื่องที่ดี แต่สิ่งที่ควรทำควบคู่กันไปกับการเรียนรู้และการใช้เทคโนโลยี ก็คือเรื่องมารยาทในการใช้เทคโนโลยี และกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีนั้นๆ ซึ่งก็เป็นเรื่องที่เราละเลยไม่ได้ปลูกฝังกันตั้งแต่ต้น ยกตัวอย่างเช่นการขับรถยนต์ หากรู้เพียงวิธีการขับ แต่ไม่เรียนรู้หรือสนใจที่จะปฏิบัติตามกฎจราจร ก็คงจะไม่สามารถใช้รถใช้ถนนได้ดี และย่อมก่อปัญหากับผู้ขับขี่ยวดยานหรือคนเดินถนนทั่วไป

สิ่งที่สำคัญยิ่งไปกว่านั้น ก็คือความรับผิดชอบ ซึ่งนับวันจะหายไปจากจิตใจของคนในสังคม เพราะเมื่อคนขนาดสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร หรือรัฐมนตรีบางคน สามารถทำอะไรหรือพูดอะไรโดยปราศจากความรับผิดชอบในสิ่งที่ตนพูดตนทำ ทั้งๆ ที่มีพยานหลักฐานปรากฏชัด คนทั่วไปที่ใช้โซเชียลมีเดียซึ่งไม่ได้แสดงตัวตนที่แท้จริง ก็ถือว่าตนย่อมจะสามารถโพสต์ข้อความหรือรูปภาพ โดยไม่มีความรับผิดชอบได้เช่นเดียวกัน

สังคมใดที่คนในสังคมขาดความคิด ขาดการเคารพกฎเกณฑ์กติกา เคารพสิทธิผู้อื่น และขาดความรับผิดชอบการกระทำของตน สังคมนั้นก็เป็นสังคมที่น่าเป็นห่วงอย่างยิ่งครับ

ความไม่เป็นสมัยใหม่ของความคิดชนชั้นนำไทย

ความไม่เป็นสมัยใหม่ของความคิดชนชั้นนำไทย

Author : สุรพศ ทวีศักดิ์ นักวิชาการด้านปรัชญาและศาสนา

“ รัฐธรรมนูญมีไว้แก้ปัญหาประเทศ ปัญหาของประเทศคือทุกข์ ต้องรู้เหตุแห่งทุกข์ ต้นตอปัญหามาจากไหน จะดับทุกข์คือแก้ปัญหาอย่างไร และใช้วิธีอะไร ยุทธศาสตร์ 20 ปี เป็นการเดาทุกข์ล่วงหน้าและเตรียมแนวทางแก้ไขไว้ ”

นายวิษณุ เครืองาม ที่มา http://www.tnamcot.com/content/499424

น่าสังเกตว่า เมื่อชนชั้นนำไทยไม่สามารถอ้างหลักการประชาธิปไตยให้ความชอบธรรมกับการกำหนดนโยบายสาธารณะได้ พวกเขามักอ้างหลักการพุทธศาสนาเป็น “สูตรสำเร็จ” สนับสนุนแนวทางของตน เช่นในกรณีนี้นายวิษณุอ้างหลักอริยสัจสนับสนุนการกำหนดยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี

เมื่อพิจารณาเนื้อหาอริยสัจจะเห็นว่า เป็นเรื่องที่พุทธะสอนเกี่ยวกับ “ความจริง” ของทุกข์และการดับทุกข์ในชีวิตของปัจเจกบุคคล แต่นักคิดทางพุทธศาสนาในบ้านเรา (เช่น ส. ศิวรักษ์) หรือนักปรัชญาชาวอเมริกัน (เช่นเดวิด อาร์ ลอย) ก็มองว่าหลักอริยสัจสามารถประยุกต์ใช้กับปัญหาทางสังคมได้

แต่ก็ต้องประยุกต์ใช้ในความหมายที่เน้นการทำความเข้าใจ “ความจริง” ของทุกข์ทางสังคม ไม่ใช่นำมาสนับสนุน “การเดาทุกข์ล่วงหน้า” เพราะเมื่อเราศึกษาหลักอริยสัจอย่างสัมพันธ์กับ “กาลามสูตร” จะเข้าใจอย่างชัดแจ้งว่า พุทธศาสนาไม่ยอมรับ “การเดา” แต่ยืนยันการใช้ปัญญาประจักษ์แจ้งความจริงจนสิ้นสงสัย ซึ่งการจะเกิดปัญญาเช่นนั้นได้ ไม่เพียงแต่ต้องมีเสรีภาพจากอิทธิพลครอบงำภายนอกทั้งปวงเท่านั้น แม้แต่อิทธิพลครอบงำจากโมหะภายในก็ต้องทะลุทะลวงให้ได้

การอ้างหลักอริยสัจสนับสนุนยุทธศาสตร์ชาติ 20 เพื่อแก้ปัญหาหรือดับทุกข์ของประเทศ จึงมีคำถามสำคัญ 2 ประการคือ อะไรคือ “ความจริง” ของปัญหาหรือทุกข์ของประเทศ และการอ้างดังกล่าวมี “ความเป็นเหตุผล” หรือไม่

เมื่อพูดถึงความจริงและความเป็นเหตุผลในกรอบความคิดสมัยใหม่ หรือ “ความเป็นสมัยใหม่” (modernity) จะมีลักษณะร่วมอย่างหนึ่งคือ ความจริง (truth) และความเป็นเหตุเป็นผล (rationality) ต้องมี “เสรีภาพ” เป็นแกน ปราศจากเสรีภาพการรู้และพูดถึงความจริงอย่างเป็นสาธารณะก็เกิดขึ้นไม่ได้ ความเป็นเหตุผลก็เป็นไปไม่ได้

ในทัศนะของพุทธศาสนา การรู้ความจริงของทุกข์ในชีวิตและเข้าถึงความจริงของความพ้นทุกข์ ก็จำเป็นต้องมีเสรีภาพจากการครอบงำจากอิทธิพลภายนอกต่างๆ ดังที่สิทธัตถะหลุดพ้นจากอิทธิพลของพ่อ อิทธิพลของครูอาจารย์ การเดินตามทางของคนอื่นๆและความเชื่อทางศาสนาอื่นๆในสมัยนั้น จึงค้นพบเส้นทางของตัวเองและตรัสรู้อริยสัจเป็นพุทธะได้ในที่สุด

แต่นั่นคือการรู้ความจริงของทุกข์และการดับทุกข์ทางใจของปัจเจกบุคคล เสรีภาพจึงหมายถึงการที่ปัจเจกบุคคลสามารถปลดปล่อยตัวเองจากอิทธิพลครอบงำภายนอกและอิทธิพลด้านในคือกิเลสของตน จึงไม่เกี่ยวโดยตรงกับเสรีภาพทางสังคมการเมือง

ทว่าเมื่อนำหลักอริยสัจมาใช้กับปัญหาหรือ “ทุกข์ทางสังคม” การจะรู้ความจริงของทุกข์ทางสังคมและความมีเหตุผลของยุทธศาสตร์แก้ทุกข์ทางสังคม จึงสัมพันธ์กับ “เสรีภาพทางสังคมการเมือง” ในความหมายสมัยใหม่อย่างไม่อาจแยกจากกันได้

นั่นคือ การรู้และเข้าใจความจริงของปัญหาหรือทุกข์ทางสังคมไม่ใช่รู้จากชนชั้นนำบอกให้เชื่อ แต่ต้องรู้และเข้าใจได้จากการที่ประชาชนมีเสรีภาพในการอภิปรายความจริงของปัญหาทุกแง่ทุกมุมและอย่างถึงที่สุด จึงจะสามารถกำหนดยุทธศาสตร์แก้ปัญหาที่มีความเป็นเหตุเป็นผลได้

พูดอีกอย่างว่า ความจริงและความเป็นเหตุผลในความหมายสมัยใหม่ต้องมีความเป็นวิทยาศาสตร์ และอะไรที่มีความเป็นเหตุผล เป็นวิทยาศาสตร์ต้องสามารถเสนอข้อมูลด้านตรงข้ามเพื่อพิสูจน์หักล้างได้ ซึ่งจะเป็นเช่นนั้นได้ก็ต่อเมื่อมีเสรีภาพตามกรอบคิดสมัยใหม่ คือกรอบประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชน แต่ภายใต้รัฐบาลทหารเราไม่มีเสรีภาพเช่นนั้น ความจริงของปัญหาหรือทุกข์ทางสังคมตามที่กล่าวอ้างจึงไม่ใช่ความจริงที่มีความเป็นเหตุผลและเป็นวิทยาศาสตร์ตามความหมายสมัยใหม่

เพราะชนชั้นนำไทยติดอยู่กับความคิดที่ไม่มีความเป็นสมัยใหม่ พวกเขาจึงมักแสดงความเห็นหรือเสนออะไรที่ “ขัดแย้งในตัวเอง” ตลอดเวลา เช่นกล่าวชื่นชมการลงประชามติในอังกฤษ (ซึ่งเป็นการลงประชามติตามกรอบคิดสมัยใหม่) และอยากให้การลงประชามติในไทย (ซึ่งขัดกับกรอบคิดสมัยใหม่) มีความราบรื่นแบบเขา แต่ก็ไม่ยอมให้มีการลงประชามติภายใต้กติกาที่เสรีและเป็นธรรมแบบเขา และไม่กล้าหาญแสดงภาวะผู้นำรับผิดชอบด้วยการลาออกหากเสียงข้างมากไม่เอาด้วยกับรัฐบาลเหมือนผู้นำอังกฤษ

พูดอย่างถึงที่สุด รากฐานปัญหาของประเทศคือ “ความไม่เป็นประชาธิปไตย” จึงไม่มีเสรีภาพทางความคิดเห็นและเสรีภาพในการแสดงออกทางการเมือง ฉะนั้น จึงไม่มีเสรีภาพในการอภิปรายความจริงของปัญหาด้านต่างๆของสังคมการเมืองไทยได้อย่างถึงที่สุดหรืออย่าง “สะเด็ดน้ำ” เมื่อเป็นเช่นนี้ความจริงและความเป็นเหตุเป็นผลเกี่ยวกับการสร้างการรับรู้และความเข้าใจร่วมกันเกี่ยวกับปัญหาและแนวทางแก้ปัญหาทางสังคมการเมืองจึงเป็นไปไม่ได้

ปัญหาหรือทุกข์ของประเทศที่เรากำลังเผชิญอยู่ จึงไม่ได้เกิดจากคนสวน ชาวนา คนขับแท็กซี่ หรือคนระดับชาวบ้านธรรมดาที่เป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศไม่รู้ประชาธิปไตย แต่อยู่ที่กลุ่มชนชั้นนำไทยยังไม่มีความคิดที่มีความเป็นสมัยใหม่ หรือไม่สามารถจะปรับตัวอยู่กับความจริง ความมีเหตุผล ความเป็นวิทยาศาสตร์ภายใต้หลักเสรีภาพตามระบบประชาธิปไตยได้

ทบทวน “ศาสนา” จากชายขอบ

ทบทวน “ศาสนา” จากชายขอบ

Author : Yoko Hayami and Tatsuki Kataoka

เราได้ยินเรื่องความเสื่อมของพุทธศาสนาในประเทศไทยมานาน ส่วนใหญ่มักมาพร้อมกับข่าวอื้อฉาวของพระที่พัวพันกับเงิน ไสยศาสตร์หรือเพศสัมพันธ์ มันเรื่องหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่ความเป็นจริงเหล่านี้มักถูกซัดทอดว่าเกิดจากความเป็นสมัยใหม่หรือโลกาภิวัตน์ อย่างไรก็ตาม ความเสื่อมของพระในฐานะคณะสงฆ์ที่รัฐรับรองอย่างเป็นทางการไม่จำเป็นต้องหมายถึงความเสื่อมของศาสนาโดยรวม อันที่จริงมันมีความหมายว่า ในส่วนของนักวิชาการมีความจำเป็นที่จะต้องทำความเข้าใจศาสนาต่างๆ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อย่างใส่ใจในรายละเอียดมากกว่าเดิม โดยย้อนกลับมาพิจารณาทบทวนการที่รัฐสร้างความเป็นสถาบันให้ศาสนาในช่วงกำลังเข้าสู่ความเป็นสมัยใหม่ ตลอดจนมโนทัศน์เกี่ยวกับศาสนาเอง

ศาสนา รัฐและมุมมองแบบศูนย์กลาง

ความเข้าใจที่เรามีต่อพุทธศาสนานิกายเถรวาท รวมทั้งต่อศาสนาโดยทั่วไปในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มักถูกจำกัดด้วยม่านบังตาสองชั้นด้วยกัน ชั้นแรกคือคำว่า “ศาสนา” ที่มาจากตะวันตก คำคำนี้มีปัญหาตั้งแต่เริ่มแรกแล้ว โดยเฉพาะในสังคมที่ไม่ใช่ตะวันตก การใช้คำคำนี้สร้างปัญหาขึ้นมาอย่างกว้างขวางเพราะการที่มีต้นกำเนิดจากตะวันตกและมาพร้อมกับอคติของศาสนาคริสต์ยุคใหม่ (cf. Asad 1993) เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ก็มิใช่ข้อยกเว้น คำถามข้างต้นนำไปสู่การศึกษาเชิงวิพากษ์ทั้งในแง่ที่เอเชียนำมโนทัศน์ศาสนาของตะวันตกมาใช้และการเปลี่ยนแปลงของศาสนาในเอเชียภายใต้แรงกดดันจากตะวันตก ตรงกันข้ามกับการสร้างความมีเหตุมีผลและการเปลี่ยนไปสู่ฆราวาสนิยมในประวัติศาสตร์ของศาสนาคริสต์ อันเป็นกระบวนการที่เกิดขึ้นเองดังที่นักสังคมวิทยาศาสนาอย่างเวเบอร์และแบร์เกอร์อภิปรายถึงหลายครั้ง สังคมเอเชียมีลักษณะเฉพาะตรงที่ระบอบอาณานิคมหรืออำนาจรัฐที่กำลังก้าวสู่ความเป็นสมัยใหม่ในยุคหลังอาณานิคมเป็นฝ่ายบังคับให้ศาสนาต้องเปลี่ยนไปสู่ความมีเหตุมีผล ความมีมาตรฐานและความเป็นสถาบัน ด้วยเหตุนี้ อำนาจรัฐจึงเป็นปัจจัยที่หลีกเลี่ยงไม่ได้และมีความสำคัญอย่างยิ่งในการทำความเข้าใจศาสนาในภูมิภาคนี้

ม่านบังตาชั้นที่สองคือกรอบกระบวนทัศน์และมุมมองหลักในการเข้าใจพุทธศาสนานิกายเถรวาทมักได้มาจากประเทศไทยในระหว่างกระบวนการสร้างชาติ มันชี้นำวิธีการที่เราเข้าใจพุทธศาสนานิกายเถรวาทในหลายๆ แง่ อาจรวมถึงศาสนาอื่นๆ ในภูมิภาคนี้ด้วย และกำหนดเส้นทางการสร้างความรู้ของเรา ไม่ว่าจะเป็นศาสนาพุทธแบบชาวบ้าน ศาสนาพุทธกับการนับถือผี การจัดระบบวัดในส่วนที่เกี่ยวข้องกับพระป่า กับสถาบันกษัตริย์และกับรัฐ หัวข้อเหล่านี้ทั้งหมดเกิดขึ้นจากประเทศไทยเป็นส่วนใหญ่ ซึ่งกรอบกระบวนทัศน์ของความเข้าใจมุ่งเน้นที่พุทธศาสนากับการเป็นส่วนหนึ่งของชาติ ทั้งหมดนี้ส่งผลกระทบที่ทำให้ชนกลุ่มน้อยถูกจัดวางอยู่นอกขอบเขตการพิจารณาเมื่อมีการศึกษาเกี่ยวกับพุทธศาสนา ดังนั้น การมุ่งเน้นศึกษาพุทธศาสนาในภูมิภาคนี้จึงเป็นการมองสถาบันวัดและความสัมพันธ์กับรัฐ รวมทั้งบทบาทของพุทธศาสนาในการสร้างชาติ (Ishii 1986; Tambiah 1976)

ด้วยเหตุผลข้างต้น การศึกษาพุทธศาสนาในประเทศไทยจึงให้ความสำคัญเป็นพิเศษต่อศาสนาพุทธของพระที่มีสมณศักดิ์และชนชั้นนำ ซึ่งอันที่จริงแล้ว ดังที่ McDaniel (2008) ชี้ให้เห็นว่า มันสามารถสร้างมาตรฐานให้แก่การปฏิบัติศาสนกิจของชาวพุทธได้ค่อนข้างจำกัดตลอดศตวรรษที่ผ่านมา ยิ่งกว่านั้น ในความพยายามสร้างชาติ พุทธศาสนากลายเป็นหมุดหมายศูนย์กลางประการหนึ่งของ “ความเป็นไทย” เมื่อชนกลุ่มน้อยรับศาสนาอื่นนอกเหนือจากศาสนาพุทธ พวกเขาถูกมองว่าเลือกเช่นนั้นเพื่อตอกย้ำอัตลักษณ์ของตนว่าไม่ใช่คนไทย หรือในกรณีที่ชนกลุ่มน้อยนับถือศาสนาพุทธ พวกเขาก็ถูกตีตราว่าปฏิบัติศาสนกิจแบบนอกรีตนอกรอยอีก

ทั้งสองแง่เป็นการมองศาสนาพุทธจากสายตาของศูนย์กลาง เป็นการมองจากศูนย์กลางด้วยสายตาของพระที่มีสมณศักดิ์และมักรวมถึงรัฐ/สถาบันกษัตริย์ในการทำความเข้าใจการจัดระบบและความสัมพันธ์กับรัฐ ตลอดจนเป็นการมองจากจุดศูนย์กลางของระบบลำดับชั้นในการผสานความเชื่ออันซับซ้อนทั้งหมด ซึ่งมีองค์ประกอบหลากหลายที่นิยามได้ว่า “พุทธ” หรือ “ไม่ใช่พุทธ”

มีความพยายามหลายครั้งที่จะปรับให้มุมมองแบบชนชั้นนำที่มีคณะสงฆ์เป็นศูนย์กลางนี้มีความสัมพัทธ์มากขึ้น แต่ตราบที่ยังยอมรับการจัดวางตำแหน่งแบบศูนย์กลาง-รอบนอกเช่นนี้ ก็มีแนวโน้มที่จะมองว่าองค์ประกอบของศาสนาในส่วนรอบนอกเป็นแค่การต่อต้านศูนย์กลาง ซึ่งก็ยิ่งตอกย้ำตัวแบบความเข้าใจแบบศูนย์กลาง-รอบนอกอีก หากเรามองชาวพุทธชนกลุ่มน้อยเป็นแค่การต่อต้านหรือภาวะแย้งของศาสนาพุทธของคนส่วนใหญ่ ก็เท่ากับเรากำลังขีดเส้นแบ่งขั้วและสร้างความเป็นคู่ตรงข้ามระหว่างศาสนาพุทธของรัฐศูนย์กลางที่มีความเป็นสถาบันกับศาสนาพุทธของชนกลุ่มน้อยอื่นๆ

ศาสนากับสามชายแดน

อย่างไรก็ตาม เมื่อจัดวางชนกลุ่มน้อยลงในช่องที่กำหนดมาล่วงหน้าตามการจัดแบ่งประเภททางชาติพันธุ์แล้ว มันก็จะก่อรูปขึ้นเป็นหน่วยปิดที่อธิบายตัวเองได้สำหรับทำความเข้าใจการปฏิบัติศาสนกิจ ซึ่งเท่ากับกีดกั้นมุมมองอื่นๆ ที่ก้าวข้ามการจัดแบ่งประเภทที่ทึกทักว่าชัดเจนแล้ว ในความพยายามทั้งหมดนี้ แนวโน้มที่เกิดขึ้นทั่วไปคือการแบ่งซอยออกเป็นส่วนย่อยๆ ด้วยจารีตทางศาสนา พุทธ/ไม่ใช่พุทธ หรือการแบ่งแบบอื่นๆ เช่น ชนกลุ่มใหญ่/ชนกลุ่มน้อย ศูนย์กลาง/รอบนอก และด้วยการจัดแบ่งประเภททางชาติพันธุ์ วิธีการเช่นนี้ทำให้ความเป็นจริงของศาสนาในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งการปฏิบัติและจารีตทางศาสนามีการแลกเปลี่ยนกันไปมาจนก่อให้เกิดโครงสร้างเป็นชั้นๆ ที่ซับซ้อนและเหลื่อมซ้อนกัน กลายเป็นสิ่งที่มองไม่เห็นและอธิบายไม่ได้ ในทางตรงกันข้าม ถ้าเราต้องการพิจารณาศาสนาพุทธของชนกลุ่มน้อย เราควรมองมันในลักษณะที่ท้าทายมุมมองแบบศูนย์กลางอย่างถึงรากฐาน และตั้งคำถามต่อการยอมรับการแบ่งแยกระหว่างชาติพันธุ์กับรัฐ

ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา กลุ่มของเราในญี่ปุ่นได้ศึกษาวิจัยศาสนาที่ปฏิบัติกันตามชายแดนหรือในหมู่คนชายขอบด้วยความคิดว่า ด้วยการพิจารณาพลวัตของศาสนาที่เกิดขึ้นในชุมชนรอบนอกหลายๆ แห่ง เราอาจตั้งคำถามต่อกรอบกระบวนทัศน์ของศาสนาที่มีรัฐเป็นศูนย์กลางและมีสถาบันเป็นพื้นฐานได้ 1 คำว่า “ชายแดน” ในที่นี้มีนัยยะซ้อนกันสามประการ กล่าวคือ ชายแดนระหว่างรัฐในเชิงภูมิศาสตร์การเมือง ชายแดนระหว่างชาติพันธุ์ (รวมทั้งระหว่างที่สูงกับที่ราบ) และชายแดนระหว่างสงฆ์กับฆราวาส อย่างไรก็ตาม มิติที่ซุกซ่อนต่อไปอีกก็คือ ด้วยการสำรวจค้นลึกเข้าไปในชายขอบเหล่านี้ เราอาจเริ่มต้นตั้งคำถามเกี่ยวกับพื้นที่ชายขอบของ “ศาสนา” เองได้

Ngi Tek Tung Temple, registered as a philanthropic foundation. Photo by T. Kataoka​

Ngi Tek Tung Temple, registered as a philanthropic foundation. Photo by T. Kataoka​

ชาติพันธุ์กับการปฏิบัติศาสนา

ชายแดนทางภูมิศาสตร์การเมืองและชายแดนทางชาติพันธุ์มาบรรจบกันสำหรับสมาชิกในกลุ่มนี้จำนวนมาก เนื่องจากชนกลุ่มน้อยทางชาติพันธุ์ในภูมิภาคนี้อาศัยอยู่ในพื้นที่ที่คร่อมพรมแดนของรัฐ ดังนั้น การเข้าใจชนกลุ่มน้อยที่ดำรงชีวิตคร่อมพรมแดนจึงน่าจะเป็นพื้นฐานในการท้าทายมุมมองที่มีรัฐเป็นศูนย์กลาง จุดนี้นำมาซึ่งการตระหนักว่ามีแบบแผนความสัมพันธ์อันซับซ้อนระหว่างชนกลุ่มน้อยชาติพันธุ์ ศาสนากับรัฐของประชากรส่วนใหญ่ ซึ่งไม่สามารถลดทอนเป็นสมการหยาบง่ายได้

การอภิปรายที่วางพื้นฐานบนงานภาคสนามทำให้มองเห็นความเป็นจริงอันซับซ้อนที่ท้าทายทัศนะเดิมๆ ซึ่งตั้งสมมติฐานล่วงหน้าเกี่ยวกับการต่อต้านของรอบนอกที่มีต่อศูนย์กลาง การจัดประเภทชาติพันธุ์ที่รัฐรับรองและศาสนาที่กลายเป็นสถาบัน ในหมู่ชาวปะหล่องกับชาวปะโอในประเทศเมียนมาตอนบน สิ่งที่เมื่อก่อนเคยเป็นพื้นที่ทางศาสนาร่วมกันแบบหลากหลายชาติพันธุ์และซับซ้อนกำลังถูกแบ่งออกเป็นคณะสงฆ์เล็กๆ ที่นิยามตามชาติพันธุ์ โดยแต่ละกลุ่มมีคัมภีร์ที่แปลและถ่ายเสียงเป็นภาษาของกลุ่มตัวเอง (Kojima 2015; Murakami 2012; 2015) ความเปลี่ยนแปลงนี้เกิดขึ้นจากความพยายามที่จะใช้ภาษาปะหล่องในพระคัมภีร์ของพุทธศาสนาหรือด้วยการตั้งคณะสงฆ์ปะโอขึ้น ประเด็นที่ย้อนแย้งก็คือ ความเปลี่ยนแปลงดังกล่าวเกิดขึ้นจากการที่ปัญญาชนและผู้นำศาสนาของพวกเขามีการเดินทางมากขึ้น เนื่องจากได้รับโอกาสให้เดินทางออกนอกพื้นที่ชนกลุ่มน้อย กล่าวอีกอย่างหนึ่งคือ ประสบการณ์ของการข้ามชายแดนเข้าไปในพื้นที่นอกเขตชาติพันธุ์ของตนกระตุ้นให้เกิดการแบ่งแยกพรมแดนทางชาติพันธุ์เข้มข้นขึ้นด้วยการสร้างความเป็นสถาบันให้แก่ความเป็นชาติพันธุ์และภาษาในการปฏิบัติศาสนกิจของกลุ่มตน ซึ่งคล้ายคลึงกับสิ่งที่ทำกันอยู่แล้วในหมู่ชาวพุทธที่เป็นชนกลุ่มใหญ่

ในอดีต ความสัมพันธ์ระหว่างชนกลุ่มน้อยกับรัฐในที่ราบต่ำมักเป็น “การเลียนแบบหรือการต่อต้าน” อย่างใดอย่างหนึ่ง อย่างไรก็ตาม กรณีตัวอย่างของปะหล่องและปะโอชี้ให้เห็นว่า ประสบการณ์ของชนกลุ่มใหญ่หรือสังคมที่ราบต่ำที่มีรัฐเป็นศูนย์กลางสามารถส่งผลสะท้อนแก่การปฏิบัติศาสนาพุทธของชนกลุ่มน้อยได้เหมือนกัน ความเป็นจริงมักมีพลวัตมากกว่าทางเลือกแบบ “สยบยอม/ต่อต้าน” ง่ายๆ เสมอ สิ่งที่อาจดูเหมือนการข้ามชายแดนทางศาสนาหรือการปิดตัวแบ่งแยกตามชาติพันธุ์ของชนกลุ่มน้อย แต่จากมุมมองของศาสนิก มันอาจเป็นแค่วิธีการในการปรับปรุงสภาพแวดล้อมทางศาสนาของตนให้ดีขึ้นเท่านั้นเอง เราควรระมัดระวังการทึกทักโดยไม่ตั้งคำถามที่เชื่อว่า การเดินทางข้ามชายแดนจะทำให้การแบ่งแยกระหว่างชาติพันธุ์มีการเปิดกว้างตอบรับต่อกันมากขึ้น โดยไม่สนใจว่าสิ่งเหล่านี้มีความหมายต่อการปฏิบัติศาสนาของตัวศาสนิกเองอย่างไรบ้าง

เมื่อพิจารณาการจัดแบ่งประเภทกลุ่มชาติพันธุ์ที่เข้มข้นขึ้น ศาสนาอาจเป็นประเด็นสำคัญอย่างยิ่ง เราพบว่าจิตสำนึกด้านชาติพันธุ์ในหมู่ชาวกะเหรี่ยงในพม่าศตวรรษที่ 20 เกิดขึ้นระหว่างการนิยามศาสนากับพุทธศาสนาใหม่ (Ikeda 2012) แม่บทเรื่องเล่า “ความเป็นกะเหรี่ยง” ของชาวพุทธได้ปรับเปลี่ยนความเชื่อดั้งเดิมที่แพร่หลาย ซึ่งมักเชื่อมโยงชนกลุ่มน้อยกับคริสต์ศาสนาหรือศาสนาอื่นที่ไม่ใช่พุทธศาสนา ในขณะเดียวกัน เมื่อพิจารณาวัดจีนในประเทศไทย เราจะพบพื้นที่ชายขอบของการกำกับดูศาสนาของรัฐ (Kataoka 2012) ศาสนิกชนของวัดจีนอ้างตัวเองเป็นชาวพุทธในการเก็บสถิติของราชการ กระนั้นก็ตาม สถานะอย่างเป็นทางการของวัดจีนที่มีวิหารผสมผสานความเชื่อหลายศาสนาหลายลัทธิก็จัดอยู่ในประเภท “ไม่ใช่ศาสนา” วัดจีนซึ่งถูกหน่วยงานบริหารศาสนาของรัฐเมินเฉย ชี้ให้เห็นช่องว่างระหว่างคำนิยามพุทธศาสนาของทางการกับตัวศาสนาเองจริงๆ

ในที่นี้ สิ่งที่เห็นชัดประการแรกสุดก็คือ ศาสนาที่ถูกนิยามเป็นทางการและกลุ่มชาติพันธุ์ที่ขึ้นทะเบียนเป็นทางการเป็นสิ่งที่คาดการณ์ไม่ได้หรือสอดรับกันอย่างเที่ยงตรง ความสัมพันธ์ระหว่างชาติพันธุ์-ศาสนาไม่เคยตรงไปตรงมา ถึงแม้กลุ่มชาติพันธุ์หนึ่งๆ อาจประกาศว่านับถือศาสนาหนึ่งใดก็ตาม โดยเฉพาะในกระบวนการของการทบทวนคำนิยามศาสนาและการสร้างรัฐสมัยใหม่ ยิ่งกว่านั้น การศึกษาศาสนาของชนกลุ่มน้อยอาจนำไปสู่การทบทวนพรมแดนของ “ศาสนา” เอง 

ชายแดนของศาสนา

การพิจารณาการปฏิบัติศาสนาจากพื้นที่ชายขอบสามารถทำให้เราเข้าใจศาสนาพุทธพ้นจากข้อจำกัดของความเป็นสถาบัน ใกล้ชิดกับความเป็นจริงรากหญ้าและศาสนิกที่เป็นปัจเจกบุคคลมากขึ้น เมื่อติดตามการเคลื่อนไหวข้ามชายแดนของพระที่มีบารมีในหมู่ชนกลุ่มน้อยชาติพันธุ์ เช่น ครูบาบุญชุ่มหรือพระอูซุซานะ สมาชิกในกลุ่มเราบางคนเริ่มตั้งคำถามเกี่ยวกับทัศนะเดิมๆ ที่ตีความการปฏิบัติศาสนาเป็นการต่อต้าน (Hayami 2011; 2015; Kataoka 2015) ถึงที่สุดแล้ว คำถามเหล่านี้ทำให้เราตระหนักว่า เมื่อเราพิจารณาการปฏิบัติศาสนาในระดับรากหญ้าจริงๆ มันมักไม่เกี่ยวกับการสนับสนุนหรือต่อต้านรัฐเลย ตรงกันข้าม สิ่งที่สำคัญสำหรับศาสนิกมากกว่าคือ พระผู้มีอำนาจบารมีที่พวกเขาเชื่อฟังช่วยให้ความคุ้มครองและอำนาจในสภาพชีวิตการดำรงอยู่ตามที่พวกเขาต้องการต่างหาก

Khruba Bunchum and his followers. Photo by T. Kataoka

Khruba Bunchum and his followers. Photo by T. Kataoka

ตามแนวชายแดนไทย-เมียนมา พระที่มีบารมีหลายรูปได้รับความนับถืออย่างสูงจากชนกลุ่มน้อยชาติพันธุ์ พระเหล่านี้ดำเนินการในซอกหลืบระหว่างรัฐ ช่วยสร้างทางเลือกให้แก่ชนกลุ่มน้อย กระนั้นก็ตาม ในขณะเดียวกัน พระรูปเดียวกันนี้มักมีเส้นสายสัมพันธ์กับชนชั้นปกครองทั้งสองฟากชายแดน การตอบรับผู้สนับสนุนที่หลากหลายโดยไม่เลือกหน้านี้เองเอื้อให้พระสามารถข้ามชายแดนไปมาได้อย่างอิสระ ในกรณีเช่นนี้ คำถามว่าพระที่มีบารมีเหล่านี้ลดทอนอำนาจรัฐหรือเพิ่มความเข้มแข็งให้อำนาจรัฐในพื้นที่ชายขอบกลายเป็นคำถามที่ไม่ตรงประเด็นหรือกระทั่งสร้างความไขว้เขว เราควรตั้งคำถามต่อการแบ่งทางเลือกของชนกลุ่มน้อยที่มีต่อการปกครองของชนกลุ่มใหญ่ออกเป็นแค่การสยบยอมหรือการต่อต้านด้วย สำหรับสานุศิษย์ของพระเหล่านั้น คำถามดังกล่าวอาจไม่ตรงประเด็นเลย ดังนั้น การปฏิบัติศาสนาในพื้นที่ชายขอบจึงไม่ใช่แค่ อาวุธของผู้อ่อนแอ แต่ควรพิจารณาด้วยแนวคิดที่แตกต่างออกไปอย่างสิ้นเชิง

เมื่อเราเอ่ยถึงการข้ามชายแดนของศาสนา มันมักหมายถึงการเผยแผ่ศาสนาเข้าไปในพื้นที่ที่ยังไม่เคยมีการปฏิบัติศาสนานั้นมาก่อน ในแง่นี้ การเผยแผ่ศาสนาคือรูปแบบสูงสุดของการข้ามชายแดน (Tosa 2015) มันหมายถึงการก้าวเข้าสู่อาณาบริเวณที่ไม่มีการสนับสนุนจากสถาบันหรือโครงสร้างพื้นฐานสำหรับศาสนานั้นๆ ในสถานการณ์เช่นนี้ เงื่อนไขหลายประการที่เคยมีอยู่เพื่อรองรับศาสนาโดยไม่มีการตั้งคำถามจะกลายเป็นคำถามขึ้นมา (ลองจินตนาการถึงพระที่จำเป็นต้องประกอบกิจกรรมทางเศรษฐกิจทางโลกเพื่อความอยู่รอดในพื้นที่เผยแผ่ศาสนาที่ไม่มีอุบาสกอุบาสิกาชาวพุทธอยู่เลย) ด้วยเหตุนี้ การข้ามชายแดนของศาสนิกอาจทำให้เกิดการตั้งคำถามต่อเงื่อนไขพื้นฐานของการปฏิบัติศาสนานั้นๆ ในจุดเริ่มต้นที่สุด มันจึงมีความหมายที่ขัดแย้งกันในตัวเอง นั่นคือการกระทำที่เรียกว่า thatana-pyu (การสร้างความสมบูรณ์แก่ศาสนาทั้งภายในและภายนอกตัวตนของเรา การทำให้ศาสนานั้นเกิดขึ้น ซึ่งรวมถึงการเผยแผ่ศาสนา) อาจกลายเป็นความเสี่ยงที่จะทำลายกฎของการถือศีลขั้นพื้นฐาน ในที่นี้อีกเช่นกัน การข้ามชายแดนนำเราไปสู่การสำรวจค้นหาเส้นเค้าโครงที่กำหนดความเป็นศาสนาหนึ่งๆ

ด้วยการตั้งคำถามเกี่ยวกับชายแดน พื้นที่ชายขอบและการปฏิบัติศาสนา คำถามนั้นจะผลักดันให้เราตั้งคำถามขั้นพื้นฐานเกี่ยวกับศาสนา ด้วยการติดตามกิจกรรมข้ามชายแดน เรามาถึงจุดหมายปลายทางที่กิจกรรมข้ามชายแดนถอยไปเป็นแค่ฉากหลังและคำถามในระดับอภิปรัชญาเกี่ยวกับพุทธศาสนาและศาสนา รวมทั้งสิ่งที่ประกอบกันขึ้นเป็นศาสนา ถูกดึงขึ้นมาอยู่ด้านหน้า

การเจาะลึกเข้าสู่ภาคสนามบนชายแดนของรัฐ ของกลุ่มชาติพันธุ์และของการปฏิบัติศาสนา เราพบวิธีการศึกษา “ศาสนา” ที่เข้าใกล้การทำความเข้าใจการปฏิบัติศาสนาอย่างแท้จริงมากขึ้น รวมทั้งตั้งคำถามเกี่ยวกับองค์ประกอบของการแบ่งแยกแบบจัดประเภท เช่น ชาติพันธุ์หรือรัฐ ความเป็นสมัยใหม่และโลกาภิวัตน์ยังห่างไกลจากการเป็นจุดสิ้นสุดของศาสนาสำหรับประชาชน ตรงกันข้าม มันกลับตอกย้ำแง่มุมของศาสนาที่เอื้อต่อการใช้ชีวิตประจำวันเมื่อต้องเผชิญกับสถาบันศาสนาและรัฐที่ขาดความยืดหยุ่น เราสามารถมองเห็นทั้งด้านความซับซ้อนของการปฏิบัติศาสนาในชีวิตจริงของประชาชน ตลอดจนการตั้งคำถามต่อเส้นเค้าโครงที่กำหนดความเป็นศาสนาและการปฏิบัติศาสนานั้นๆ ด้วย

Yoko Hayami and Tatsuki Kataoka
Center for Southeast Asian Studies, Kyoto University

Banner image: “Temple mural of Khruba Wong and his Karen devotees, Prabat Huai Tom, Amphoe Li” (Photo by Y. Hayami)

Issue 19, Kyoto Review of Southeast Asia, March 2016
 
Lay precept-keepers listening to the recitation of Buddhist texts in Palaung language, a temple in Kalaw, Shan State. (Photo by T. Kojima)​

Lay precept-keepers listening to the recitation of Buddhist texts in Palaung language, a temple in Kalaw, Shan State. (Photo by T. Kojima)​

Reference:

Asad, Talal. 1993. Genealogies of Religion: Discipline and Reasons of Power in Christianity and Islam. Baltimore: Johns Hopkins University Press.
Hayami, Yoko 2011. “Pagodas and Prophets: Contesting Sacred Space and Power among Buddhist Karen in Karen State” Journal of Asian Studies.Vol.70 No.4. 1083-1105.
Hayami, Yoko 2015. “Pagoda Construction and saintly charisma: religious movements in the Thai-Myanmar border region.” (in Japanese) Tonan Ajia Kenkyu. 53:1:68-99.
Hayashi, Yukio (ed.) 2009. Kyo-iki no Jissen Shukyo: Tairikubu Tonan Ajia Chiiki to Shukyo no Toporojii (Practical Religion in the Border Regions: the Topology of Mainland Southeast Asia and Religion). Kyoto University Press
Ikeda, Kazuto 2012 “Two Versions of Buddhist Karen History of the Late British Colonial Period in Burma: Kayin Chronicle (1929) and Kuyin Great Chronicle (1931) Southeast Asian Studies, 1:3:431–460.
Ishii, Yoneo. 1986. Sangha, State, and Society: Thai Buddhism in History. (translated by Peter
Hawkes) Honolulu: The University of Hawaii Press.
Kataoka, Tatsuki 2012. “Religion as Non-religion: The Place of Chinese Temples in Phuket, Southern Thailand Southeast Asian Studies, 1:3:461–485.
Kataoka, Tatsuki 2015. “The Bunchum Worship movement on the hills: a Theravadin Charismatic monk and the Lahu” (in Japanese). Tonan Ajia Kenkyu 53:1:100-137.
Kataoka, Tatsuki (ed.) 2012. “De-Institutionalizing Religion in Southeast Asia”. Special Issue. Southeas Asian Studies. Vol.1. No.3.
Kataoka, Tatsuki (ed.) 2015. “Contemporary Southeast Asian Religions in Boundary-Crossing: Case Studies from Thailand and Myanmar” (in Japanese). Tonan Ajia Kenkyu.Vol.53. No.1.
Kojima, Takahiro. 2015. “The Migration of Palaung Buddhists and the Uniqueness of their Religious Practices: A Case Study from Namhsan, Northern Shan State, Myanmar.” (in Japanese) Tonan Ajia Kenkyu 53:1:9-43.
Murakami, Tadayoshi 2012 “Buddhism on the Border: Shan Buddhism and Transborder Migration in Northern Thailand” Southeast Asian Studies, 1:3:365–393.
——- 2015. “The Birth of “Pa-O Buddhism”? Buddhism and Identity of the Pa-O in the Shan State of Myanmar.” (in Japanese) Tonan Ajia Kenkyu. 53.1.44-67.
McDaniel, Justin 2008. Gathering Leaves and Lifting Words: Monastic Education in Laos and Thailand. Seattle: University of Washington Press.
Tambiah, S. J. 1976. World Conqueror and World Renouncer: A Study of Buddhism and Polity in Thailand against a Historical Background.Cambridge: Cambridge University Press.
Tosa, Keiko. 2015. “Pagoda construction and “Propagation of Sasana” Thathana pyu in Myanmar.” (in Japanese). Tonan Ajia Kenkkyu.

Notes:

  1. โครงการที่ใหญ่กว่านี้มีอาทิ: “Religions and Social Change in Mainland Southeast Asia and Southwestern China : Institutions, Corridors and Practices” led by Hayashi, Yukio (2003-2005); และ “Comparative Study on Mainland Southeast Asian Religions in Border-crossing” led by Kataoka, Tatsuki (2010-2012).” ผลลัพธ์จากโครงการเหล่านี้มีอาทิ: Hayashi, Yukio (ed.) 2009.; Kataoka (ed.) 2012 and Kataoka (ed.)2015.

เรื่องเล่า “อาจารย์ป๋วยที่ข้าพเจ้ารู้จัก”

เรื่องเล่า “อาจารย์ป๋วยที่ข้าพเจ้ารู้จัก”

Author : ThaiPublica
9 มีนาคม 2559 ที่ผ่านมา ธนาคารแห่งประเทศไทย สถาบันป๋วย อึ๊งภากรณ์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มูลนิธิเสฐียรโกเศศ-นาคะประทีป มูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ และคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จัดงานฉลอง 100 ปี ชาตกาล ให้ศาสตราจารย์ “ดร.ป๋วย อึ๊งภากรณ์” บุคคลสำคัญของโลก ณ หอประชุมศรีบูรพา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ อย่างสมเกียรติและเรียบง่าย พร้อมกับกิจกรรมเสวนารำลึกถึงแนวคิด ปณิธาน และอุดมการณ์ของอาจารย์ป๋วย ให้คนรุ่นหลังได้ขบคิด
 

จากศิษย์ถึงครู

“ดร.อรัญ ธรรมโน” อดีตปลัดกระทรวงการคลัง ศิษย์อาจารย์ป๋วย เล่าผ่านการเสวนาเรื่อง “อาจารย์ป๋วยที่ข้าพเจ้ารู้จัก” ว่า ผมเป็นลูกศิษย์รุ่นแรก ท่านเข้ามาสอนคณะเศรษฐศาสตร์เมื่อปลายเดือนพฤษภาคม ปี 2496 นั่นทำให้ผมเจอท่านครั้งแรก

ต่อจากนั้นผมมีโอกาสไปเป็นผู้ใต้บังคับบัญชาท่านโดยตรงอยู่ 2 ครั้งสั้นๆ ครั้งแรกเมื่อต้นปี 2497 ถึงต้นปี 2498 และครั้งที่สองเมื่อกลางปี 2504 จนถึงปลายปี 2510 ผมเป็นคนที่มีโอกาสรับใช้ท่านเสมอมา และมีโอกาสเจอท่านครั้งสุดท้ายที่ลอนดอนเมื่อวันที่ 12 ตุลาคม 2541 เป็นครั้งสุดท้ายที่ได้เจอท่านมีชีวิตอยู่จริงๆ หลังจากนั้นประมาณ 8-9 เดือน ท่านก็เสียชีวิต

เมื่อตอนผมอายุ 80 ผมเขียนหนังสือเล่มหนึ่งสั้นๆ แจกเพื่อนฝูง ชื่อเรื่อง “ความทรงจำดีๆ 80 ปีที่ผ่านมา” ในหนังสือเล่มนี้ผมเล่าถึงปาฏิหาริย์เล็กๆ ที่เกิดขึ้นในชีวิต ผมคิดว่าการพบอาจารย์ป๋วยเป็นปาฏิหาริย์เล็กๆ อันหนึ่งในชีวิตที่ทำให้ผมเป็นผม

ในบทหนึ่งผมเขียนว่า “อาจารย์ป๋วย เทพของผม” ผมไม่ได้หมายความว่าอาจารย์ป๋วยเป็นเทวดา ไม่เชื่อว่าท่านเป็นเทวดาด้วย แต่ได้เห็นว่าสิ่งต่างๆ ที่ท่านทำ มนุษย์ทำไม่ได้ เพราะท่านทำดีกว่าที่มนุษย์ทำได้อยู่เสมอ

ดร.อรัญกล่าวว่า ท่านเป็นอาจารย์ที่ดี ตอนที่คณะเศรษฐศาสตร์ ธรรมศาสตร์ ยังเป็นคณะใหม่ อาจารย์ป๋วยเพิ่งเป็นนักเศรษฐศาสตร์ที่จบปริญญาเอกทางเศรษฐศาสตร์คนแรกที่มาสอนที่คณะเศรษฐศาสตร์

ผมจำได้ว่า ตอนอาจารย์มาสอน จะมีนักศึกษามาเรียนมากมายเป็นพิเศษ มากมายเป็นพิเศษขณะนั้นประมาณ 20 คน เพราะปกติแล้วชั้นที่ผมมาเรียนส่วนใหญ่มีนักศึกษามาเรียนอย่างเก่งก็ไม่เกิน 10 คน แต่เพราะเป็นอาจารย์ป๋วย ใครก็ได้ยินชื่อว่าอาจารย์ป๋วยเป็นผู้เชี่ยวชาญการคลังคนแรกของประเทศไทย จบปริญญาเอกเศรษฐศาสตร์จากอังกฤษคนแรกอีกด้วย

จำภาพได้ดีว่า อาจารย์ขับรถเก่าๆ มาจอดใต้ต้นมะขาม แต่งตัวเรียบร้อย ผูกเนคไท และมีเสื้อนอกอยู่ตัวหนึ่ง แต่ผมยังไม่เคยเห็นท่านใส่เสื้อนอกเลย เพราะห้องเรียนสมัยก่อนไม่มีแอร์ ที่สำคัญไม่เคยเห็นท่านนั่งเก้าอี้ ท่านจะยืนสอนตลอด

แต่ขณะที่ท่านสอน เรารู้สึกผิดหวังท่านอยู่เรื่องหนึ่ง เพราะคิดว่าจบปริญญาเอกจากอังกฤษ คงได้ยินภาษาอังกฤษปนภาษาไทย ปรากฏว่าอาจารย์แทบไม่ใช้ภาษาอังกฤษเลยครับ แม้กระทั่งคำศัพท์เทคนิคทางเศรษฐศาสตร์ ท่านพยายามหาคำแปลเป็นภาษาไทยมาสอนเสมอ จึงอยากเรียนว่า อาจารย์เป็นคนที่ให้ตลอดเวลา เพราะนอกจากการสอนแล้ว ท่านยังให้เวลาหลังการสอนเพื่อให้เราซักถาม

อีกประการหนึ่งที่ผมจำได้ก็คือ อาจารย์ยังให้คำแนะนำเรื่องการทำงานด้วย เมื่อต้นปี 2497 ผมสอบเศรษฐศาสตร์ปีที่ 3 ได้ สมัยก่อนปีที่ 3 ถือเป็นอนุปริญญา มีสิทธิไปสอบเป็นข้าราชการพลเรือนสามัญชั้นตรีได้ ผมก็ไปหาท่านที่กระทรวงการคลัง เพราะท่านเปิดโอกาสให้ไปหาที่กระทรวงได้

ท่านบอกว่า ตอนนี้ที่กระทรวงการคลังว่างอยู่ ฉะนั้นลองมาสอบดู มีตำแหน่งเปิดรับ ผมก็ไปสมัครสอบ แต่พอจะเขียนใบสมัคร เจ้าหน้าที่บอกว่า ตอนนี้คนในกระทรวงเต็มแล้ว มีคนครบทุกตำแหน่งแล้ว

ผมก็บอกอาจารย์ว่า สงสัยจะเสียค่าสมัครฟรี อาจารย์ก็ให้คำแนะนำซึ่งผมคิดว่าเป็นคำแนะนำที่ดีที่สุดในชีวิตที่ผมเคยได้ ท่านบอกว่า “แล้วทำไมคุณไม่สอบให้ได้ที่ 1” เป็นคำแนะนำที่เมื่อเราออกจากท่านมาแล้ว เรามีหน้าที่ทำหลังจากนั้นคือ ต้องไปสอบให้ได้ที่ 1

ในฐานะผู้ใต้บังคับบัญชา ท่านเป็นผู้บังคับบัญชาที่ดี ผมเป็นข้าราชการชั้นตรีระดับต้น ท่านสอนวิธีทำงาน สอนการจดประชุม ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีให้ผมได้ และหลังจากผมเรียนจบต่างประเทศกลับมาทำงานกับท่านเป็นครั้งที่ 2 ขณะนั้นมีธนาคารแห่งหนึ่งที่อยู่ในฐานะย่ำแย่ คือ ธนาคารมณฑล ต้องรับการช่วยเหลือจากรัฐบาล ตอนนั้นมีลูกหนี้รายใหญ่ที่ต้องรับการปรับหนี้

ท่านอาจารย์ป๋วยตั้งให้ผมไปดูแลเรื่องการปรับหนี้ของลูกหนี้รายนี้อยู่ 2-3 ปี จนกระทั่งสำเร็จ โดยที่ผมไม่รู้เรื่องการเงินการธนาคารเลย แต่ด้วยความไว้วางใจอยากให้เราได้ทำ ท่านก็ให้ทำ และทำจนสำเร็จ

หรือครั้งเมื่อปี 2506 ประเทศไทยมีแผนพัฒนาเศรษฐกิจแล้ว เราต้องการเงินมาพัฒนาประเทศค่อนข้างมาก ต้องกู้เงินจากธนาคารระหว่างประเทศ แต่การกู้ค่อนข้างลำบากเพราะเรายังไม่มีความพร้อม

 

จนมีข้อเสนอแนะจากบางฝ่ายว่า ให้นำทุนสำรองทองคำไปขาย อาจารย์ป๋วยตกใจมาก จึงบอกผมว่าช่วยเขียนเหตุผลที่ท่านจะพูดกับนายกฯ ให้หน่อย แต่บอกว่าไม่ต้องเขียนอ้างวิชาการมากมายนะ อ้างอะไรก็ตามแต่ ขอให้ท่านนายกฯ เห็นด้วยว่าไม่ให้ขายทองคำ สุดท้ายก็พยายามเขียนจนได้ และไม่มีการขายทองคำ

อีกเรื่องคือ ในการประชุมทั้งหลาย ท่านไม่มีเวลาเตรียมการประชุมมากมายนัก ก็มักมอบหมายให้เราเตรียมให้ ใครเตรียมให้ก็ตามท่านก็จะไปอ้างในที่ประชุมเสมอว่าใครเตรียมให้ท่าน แล้วไม่ใช่แค่อ้างอย่างเดียว ท่านแบ่งเงินให้ด้วยอีกครึ่งหนึ่ง

การประชุมครั้งหนึ่งเบี้ยประชุมมากเหลือเกิน สมัยนั้นปี 2506-2507 เบี้ยประชุมกรรมการตรวจสอบภาษีอากร ครั้งละ 1,500 บาท ได้มาท่านก็แบ่งให้ผม ผมก็ตกใจเพราะท่านแบ่งให้ผม 800 บาท ท่านรับไว้ 700 บาท ผมก็ถามว่าทำไมอาจารย์ถึงให้ขนาดนี้ ท่านบอกว่าคุณมีหน้าที่ค้นหา เขียนให้ ซึ่งยากกว่าผม เพราะผมพูดอย่างเดียว คือท่านมีวิธีแยบยลในการให้เงิน

“ชีวิตอาจารย์ป๋วยเกิดมาเป็นผู้ให้จริงๆ ท่านไม่สนใจเรื่องทรัพย์สิน รวมทั้งผมยังมีความเชื่อว่า ถึงแม้ท่านได้รับเคราะห์กรรมค่อนข้างมาก แต่ท่านไม่เคยแสดงออก ในชีวิตผม นี่คือการได้เจอผู้ยิ่งใหญ่ที่แท้จริง” ดร.อรัญกล่าวสรุป

หลักประชาธรรม “ธรรมคืออำนาจ ไม่ใช่อำนาจเป็นธรรม”

“ดร.ณรงค์ชัย อัครเศรณี” อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เผยความรู้สึกว่า ท่านเป็นผู้ใหญ่ที่เราไปหาแล้วรู้สึกไม่เกร็ง ที่สำคัญ ท่านเป็นคนคอยขวางสิ่งที่ผิด แต่รัฐบาลทหารก็เชิญท่านมาทำงาน

ปี 1967 ผมกำลังจะเรียนจบ ได้รับทราบว่าท่านสอนอยู่ที่เศรษศาสตร์ ธรรมศาสตร์ ก็เลยสมัครงานเขียนจดหมายมาโดยไม่ได้คิดอะไร แต่ปรากฏว่าท่านตอบจดหมาย ตะลึงเลยครับ ก็อวดเพื่อนว่าอาจารย์ป๋วยตอบจดหมาย นั่นจึงเป็นที่มาให้ผมมาอยู่ที่คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ในช่วงต่อมา

ต่อมาได้ร่วมทำงานกับท่านเป็นเวลาก็ราว 10 ปี เห็นความมุ่งมั่นในการทำงาน เห็นความมีเมตตากรุณาและความรักในเสรีภาพ ขณะที่การตอบจดหมายของท่านเป็นวิธีการซื้อใจคน

จดหมายสำคัญที่สุดที่โต้ตอบกับท่านคือ เมื่อวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 1972 ซึ่งเล่าเรื่องการออกจดหมายนายเข้ม เย็นยิ่ง ซึ่งความมุ่งมั่นของอาจารย์ป๋วยในการที่จะต่อสู้เพื่อเสรีภาพเกิดขึ้นในตอนนั้น

ข้อความหนึ่งในจดหมายระบุว่า “อยากให้พวกเรายึดมั่นในเพลิงแห่งเสรีภาพตลอดไป อาจจะป้องกันการปฏิวัติคราวหน้าได้กระมัง” ซึ่งท่านทายผิดอย่างแรง (หัวเราะ) แต่อย่างน้อยก็มีความมุ่งมั่นเรื่องเสรีภาพ

ในจดหมายนายเข้ม ยังมีสิ่งที่สำคัญคือ “หลักประชาธรรม” ท่านเขียนว่า “ธรรมคืออำนาจ ไม่ใช่อำนาจเป็นธรรม ธรรมนั้นเกิดจากประชาชน” ท่านยังเขียนถึงจอมพล ถนอม (กิตติขจร) ว่า “แต่ผมว่าอะไรก็ไม่ร้ายเท่าพิษของความเกรงกลัว ซึ่งเกิดจากการใช้อำนาจขู่เข็ญ และการใช้อำนาจโดยพลการ

เพราะความเกรงกลัวย่อมมีผลสะท้อนเป็นพิษแก่ปัญญา เมื่อปัญญาเป็นพิษแล้ว ในบางกรณีก็กลายเป็นอัมพาต ใช้อะไรไม่ได้ บางกรณียิ่งร้ายกว่านั้น ปัญญาเกิดผิดสำแดง อัดอั้นหนักๆ เข้า ก็เกิดระเบิดขึ้นอย่างที่มีมาแล้วในหมู่บ้านอื่นๆ หลายแห่ง”

 

หรือตอนท่านเขียนจดหมายลาออกถึงคณาจารย์ที่คณะเศรษฐศาสตร์ ลงวันที่ 1 สิงหาคม 1972 ระบุว่า “งานมหาวิทยาลัย เริ่มต้นด้วยนักศึกษา และจุดหมายก็อยู่ที่นักศึกษา อะไรที่จะเป็นประโยชน์แก่นักศึกษา ขอให้ใส่ใจให้มาก อย่าทอดทิ้ง และขอให้ถือเป็นเป้าหมายที่สำคัญที่สุดเสมอ”

ดังนั้น สำหรับผมแล้ว อาจารย์ป๋วยเป็นแรงบันดาลใจในหลายเรื่อง ทั้งการทำความดี มุ่งมั่น ขยันหมั่นเพียร คิดถึงประโยชน์ส่วนรวมมากกว่าส่วนตัว ทำงานให้สำเร็จท่านบอกว่าต้องมีหลักการที่ถูกต้อง วิธีการที่เหมาะสม สุดท้ายคือเรื่อง “เสรีภาพ” ท่านบอกว่า เป็นเรื่องที่สำคัญมากที่สุดของมนุษยชาติ

สำหรับผมแล้ว หากท่านเป็นคนขยัน มีระเบียบ และไม่เครียด อย่างที่อาจารย์ป๋วยเป็น ผมคิดว่าบนโลกนี้อะไรเราก็รับได้ทั้งนั้น

นักอ่าน นักเขียน

“รศ.วิทยากร เชียงกูล” คณบดีวิทยาลัยนวัตกรรมสังคม มหาวิทยาลัยรังสิต เล่าว่า ผมรู้จักท่านอาจารย์ป๋วยมากขึ้นจากการอ่านงานเขียนของท่าน เพราะงานอาจารย์ป๋วยกับตัวตนของท่านไม่ต่างกัน ท่านเป็นคนตรงไปตรงมา คิดอย่างไรเขียนออกมาอย่างนั้น

งานเขียนของท่านน่าสนใจมาก เป็นนักเขียนที่เก่ง นอกจากเป็นนักเศรษฐศาสตร์แล้ว ท่านยังเป็นนักบริหาร แม้ไม่มีเวลาเขียนหนังสือมากนัก แต่ท่านเป็นนักอ่านหนังสือแล้วเขียน ท่านเขียนภาษาดีมากและจริงใจ

ผมเคยเขียนจดหมายถึงท่าน วิจารณ์ระบบการศึกษาในมหาวิทยาลัย ท่านนำมาอ่านในที่ประชุม แล้วท่านก็พูดว่ามันมีข้อจำกัดอย่างไร เราต้องช่วยกันอย่างไร คืออยากจะบอกว่าท่านเป็นคนเปิดใจกว้าง

เมื่อผมอ่านงานท่านมากขึ้น ยิ่งเห็นคุณค่าของท่านมากขึ้น เช่น ในช่วง 14 ตุลา จะเกิดกระแสขวากับซ้ายสูง ฉะนั้นคนที่เป็นกลางๆ เสนอแนวทางปฏิรูปแบบสันติวิธีก็ลำบาก พวกขวาก็หาว่าอาจารย์ป๋วยเป็นซ้าย พวกซ้ายบอกว่าอาจารย์ป๋วยประนีประนอม ประนีประนอมไม่ได้ต้องปฏิวัติ

เมื่อมองยุคปัจจุบัน ผมคิดว่าถ้าเรากลับไปศึกษาบทเรียนแนวคิดของอาจารย์ป๋วย ดูความเป็นคนของท่าน มันสำคัญมาก เรากำลังพูดเรื่องการปฏิรูปประเทศ โดยที่มีความไม่จริงใจและไม่เข้าใจ แต่คนที่เป็นนักปฏิรูปตัวจริงคืออาจารย์ป๋วย

ท่านอาจไม่ได้พูดคำว่าปฏิรูปบ่อย แต่สิ่งที่ท่านเสนอเรื่องสังคมที่เป็นธรรม สังคมที่มีความเป็นมนุษย์ สังคมที่มีรัฐสวัสดิการ สังคมที่กระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น สังคมที่สนใจสิ่งแวดล้อมคุณภาพชีวิต อาจารย์ป๋วยเสนอเรื่องเหล่านี้มาตลอด

ผมยังคิดว่าท่านเป็นปัญญาชนของภาคประชาชน รวมทั้งเป็นนักวิชาการที่ภูมิใจในวิชาชีพ มีการมองที่เป็นเหตุผล เป็นวิทยาศาสตร์ เป็นคนใจกว้าง ซึ่งผมคิดว่าเป็นสิ่งสำคัญซึ่งสังคมไทยไม่ได้พัฒนามาสู่จุดนี้

อาจารย์ป๋วยกล้าวิจารณ์ตัวเองว่า การที่ท่านประสบความสำเร็จในการพัฒนาเศรษฐกิจนั้น ท่านกลับรู้สึกเสียใจที่ไม่สามารถกระจายรายได้สู่ประชาชนอย่างยุติธรรม หลังจากนั้นท่านจึงหันมาสนใจการพัฒนาชนบท พัฒนาการศึกษา

 

อาจารย์ป๋วยทำตัวให้เป็นตัวอย่างว่า งานศึกษาเป็นเรื่องสำคัญ ต้องปฏิรูปการศึกษา ผมคิดว่านี่เป็นจุดเปลี่ยนและบทบาทที่สำคัญ ขณะเดียวกันมีคนมักจะนึกถึงอาจารย์ป๋วยในฐานะผู้ว่าแบงก์ชาติที่ซื่อสัตย์สุจริตซึ่งเป็นเรื่องที่ดี แต่ผมยังคิดว่า ในฐานะปัญญาชนที่วิพากษ์วิจารณ์สังคม จดหมายนายเข้ม เย็นยิ่ง เป็นพลังสำคัญอันหนึ่งและมีนัยยะที่สำคัญว่า ขอให้หมู่บ้านมีกติกาประชาธิปไตย ก็คือเรียกร้องประชาธิปไตย ส่งผลให้นักศึกษาและประชาชนตื่นตัว ผมคิดว่าเป็คุณูปการ น่าเสียดายว่าหลัง 14 ตุลา เราก็ไม่ได้ส่งเสริมให้แนวคิดท่านเป็นที่ยอมรับ ปล่อยให้เป็นเรื่องขวาซ้ายมากเกินไป สังคมก็สวิงไปสวิงมา จนบัดนี้ก็ยังล้าหลังอยู่ ถอยหลังเข้าคลอง

ผมคิดว่าคนแบบอาจารย์ป๋วย ถ้าคนไม่รู้จัก เด็กรุ่นใหม่คงยากจะเชื่อว่า คนแบบอาจารย์ป๋วยมีอยู่จริง คนที่เป็นผู้ว่าแบงก์ชาติแต่ไม่มีหุ้น ไม่ไปลงทุนทั้งที่เป็นนักเศรษฐศาสตร์คนแรกๆ ไม่มีหุ้น ไม่มีทรัพย์สินส่วนตัว กินเงินเดือนอย่างเดียว แถมยังแบ่งให้ลูกน้องอีก

ผมคิดว่าคนที่บ้าเห่อทุนนิยม คงจะเหลือเชื่อว่าคนแบบนี้มีอยู่จริง แต่ก็มีอยู่จริง และท่านก็ไม่ได้เรียกร้องอะไรด้วย ทำไปโดยธรรมชาติที่มนุษย์ควรทำ ความงาม ความดี ความเป็นธรรม ท่านทำแบบเสมอต้นเสมอปลาย

อีกอย่างหนึ่งคือท่านไม่ค่อยมีอัตตา ไม่ตีโพยตีพายว่าเป็นผู้ว่าแบงก์ชาติ เคยทำประโยชน์ให้ประเทศมากมาย ทำไมมาขับไล่ฉันแบบนี้ ท่านไม่พูดถึงสิ่งเหล่านี้เลย แต่เล่าง่ายๆ เรียบๆ เหมือนเป็นเรื่องธรรมดา ท่านเล่าให้รู้ข้อเท็จจริง แต่ไม่ใช้อารมณ์ส่วนตัว

ดังนั้น ท่านเป็นคนธรรมดาที่พิเศษมาก แต่ก็เป็นคนพิเศษที่เป็นคนธรรมดามาก นี่เป็นเรื่องที่เราต้องตระหนักว่าคนแบบนี้มีอยู่จริง และทำให้เรารู้สึกภูมิใจที่เกิดมาในประเทศนี้ร่วมกับท่าน

“ป๋วยกับสังคมเศรษฐกิจไทยในวิกฤติเปลี่ยนผ่าน”

“ดร.อัมมาร สยามวาลา” นักวิชาการเกียรติคุณ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) เล่าผ่านการอภิปรายเรื่อง “ป๋วยกับสังคมเศรษฐกิจไทยในวิกฤติเปลี่ยนผ่าน” ตอนหนึ่งว่า โศกนาฏกรรมของท่านอาจารย์ป๋วย คือ ท่านประสบความสำเร็จอย่างงามในการปรับปรุงและจรรโลงเศรษฐกิจของประเทศไทย ผมคิดว่าประเทศไทยได้ก้าวหน้าไปค่อนข้างมากในช่วงที่ท่านกลับมาทำงาน

ท่านปรับปรุงเศรษฐกิจประเทศไทยให้มีเสถียรภาพและเจริญเติบโตในอัตราที่สูง เป็นความสำเร็จอย่างหนึ่ง แม้ท่านเองก็รู้สึกว่ามันทำให้ความสมดุลของเศรษฐกิจไทยอาจจะเบ้ไป และงานของท่านทั้งงานพัฒนาชนบทกับงานด้านการศึกษาก็เป็นการพยายามแก้ความขาดสมดุล ซึ่งผมรู้สึกว่าจริงๆ แล้วทำยาก

ต้องเข้าใจว่างานปรับปรุงเศรษฐกิจของประเทศไทยเกิดขึ้นในช่วงแรกของชีวิตท่านไปจนกระทั่ง ค.ศ.1970 ก็ก้าวหน้าไปไกล จุดสูงสุดของการทำงานดังกล่าวนั้นคือ ในช่วงที่จอมพลสฤษดิ์ (ธนะรัชต์) ปฏิวัติ แล้วเข้ามาปกครองประเทศ การเปลี่ยนแปลงหลายๆ อย่างในด้านการคลังซึ่งเกิดขึ้นในช่วงปี 2501-2503 หรือ 2504 เป็นช่วงที่อาจารย์ป๋วยทำอะไรหลายอย่างมาก แล้วเศรษฐกิจไทยก็รุดหน้าไปอย่างมาก

แต่ปัญหาที่ตามมาและรู้สึกว่า ท่านอาจารย์ป๋วยเริ่มมีความกังขาต่อกระบวนการดำเนินนโยบายเศรษฐกิจของรัฐบาลจอมพลพลสฤษดิ์ ท่านก็จำเป็นต้องรู้สึกถอยห่างออกมาจากการช่วยงานจอมพลพลสฤษดิ์

ท่านเริ่มเห็นว่าจอมพลพลสฤษดิ์มีบทบาท เพราะการเมืองพรรคทหารในประเทศไทยขณะนั้นเริ่มมีปัญหา และเมื่อท่านเริ่มถอยห่างออกมา วิธีการที่ท่านถอยห่างก็คือไปทำงานในธนาคารแห่งประเทศไทย

 

ต่อมาเมื่อจอมพลถนอมเข้ามา ท่านก็ออกมาอยู่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และได้เริ่มทำงานหลายอย่าง ดังนั้น ท่านมีเวลาในการทำงานด้านการพัฒนาชนบทค่อนข้างน้อยและประสบความสำเร็จค่อนข้างน้อย เพราะว่าการพัฒนาชนบทไม่ง่ายเหมือนกับการพัฒนาเศรษฐกิจ เพราะเป็นโจทย์ที่ใหญ่มาก แต่ท่านพยายามแก้ไขอย่างต่อเนื่อง

จริงๆ แล้วการพัฒนาเศรษฐกิจจนกระทั่งท่านเข้ามาเป็นอธิการบดีธรรมศาสตร์ พูดกันจริงๆ เป็นงานไม่ยาก วิธีการที่ท่านใช้เรียกได้ว่าเป็น Washington concensus จัดการเรื่องเสถียรภาพ จัดการเรื่องการคลังให้ดี นี่คือมรดกที่ท่านทิ้งไว้ให้กับเทคโนแครต แล้วเทคโนแครตทั้งหลายก็ดำเนินรอยตาม

แต่ท่านพยายามอยู่ตลอดเวลาเรื่องการพัฒนาชนบท แต่เป็นเรื่องที่ยาก แม้กระทั่งอาจารย์ป๋วยก็ประสบปัญหา ปัญหานั้นเกิดขึ้นจากหลายๆ อย่าง ความสำเร็จในการพัฒนาเศรษฐกิจนั้น ทำให้กลไกตลาดเคลื่อนไปข้างหน้าอย่างมากและรุนแรงในประเทศไทย

ความพยายามของชุมชนพัฒนาชนบท ที่พยายามรั้งการก้าวหน้า การรุดหน้าไปของการพัฒนาชนบท จึงเป็นความพยายามที่ค่อนข้างประสบความล้มเหลว สิ่งที่ท่านอาจารย์ป๋วยได้พยายามทำอยู่ตลอดเวลาก็คือ การอบรมสั่งสอนลูกศิษย์ท่านให้เข้าใจปัญหาของชนบท ซึ่งอันนี้อาจจะเป็นสาเหตุหนึ่งที่ท่านไม่ได้รับความนิยมชมชอบจากผู้มีอำนาจทั้งหลายในขณะนั้น เพราะการพัฒนาชนบทเป็นการเน้นถึงความเหลื่อมล้ำ เป็นการเน้นถึงปัจจัยที่ไม่ดีหลายอย่างในสังคมไทย ท่านจึงมีปัญหามาตลอด

และไม่ว่าหลายๆ เรื่องก็ดี เช่น เรื่องการเจริญเติบโตของพรรคคอมมิวนิสต์ในประเทศไทย เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นจากส่วนหนึ่งจากงานของอาจารย์ป๋วยและอีกส่วนหนึ่งจากงานของพรรคคอมมิวนิสต์ ก็นำเอาบทเรียนหลายอย่างนี้ไปเผยแพร่และกล่าวถึง จึงเป็นปัญหาที่หาข้อยุติยาก และนี่เป็นเรื่องที่ทำให้เกิดโศกนาฏกรรมต่ออาจารย์ป๋วย

ปัจฉิมกถา สาระชีวิตของนายป๋วย

 

“อาจารย์สุลักษณ์ ศิวรักษ์” กล่าวปัจฉิมกถาถึงอาจารย์ป๋วยว่า สาระชีวิตของนายป๋วยคือ ท่านเป็นคนมีอุดมคติคือ ต้องการดำเนินชีวิตไปในทางที่ดีงามเพื่อประโยชน์สุขของพหุชนยิ่งกว่าเพื่อตัวเองหรือครอบครัว อุทิศตนเพื่อผู้ยากไร้ให้เขาเหล่านั้นมีความกินดีอยู่ดียิ่งๆ ขึ้น โดยท่านต้องการขจัดโครงสร้างที่อยุติธรรมในสังคม

พร้อมกันนั้น นายป๋วยก็รับราชการซึ่งเป็นโครงสร้างทางสังคมอันอยุติธรรมเสียเอง แต่ขอให้ สังเกตว่านายป๋วยซึ่งเป็นข้าราชการใช้สถานภาพนั้นเพื่อทำประโยชน์ให้กับราษฎรส่วนใหญ่ แม้จะอยู่ใต้ระบบเผด็จการ ก็ไม่ไกล่เกลี่ยหลักการ ไม่ยอมทำตามคำสั่งอันมิชอบ แม้จะลาออกก็ยอม

ที่สำคัญยิ่งไปกว่านั้นคือ นายป๋วยเป็นคนแสวงหาและพยายามเข้าถึงความเป็นเลิศทั้งทางด้านความงาม ความดี และความจริง ท่านไม่เคยประกาศตนว่าเป็นพุทธมามกะตามรูปแบบ แต่ท่านแม่นยำในพระพุทธวจนะและปฏิบัติตามนั้น จนพระเถระบางรูปยอมรับความข้อนี้ พร้อมกันนั้นท่านก็ยกย่องลัทธิศาสนาอื่น และแนวคิดทางปรัชญาที่มีสาระทางศีลวัตร คือให้เกิดความเป็นปกติในสังคม

การแสวงหาความงามของท่านนั้น ท่านอุดหนุนศิลปะอย่างเต็มกำลัง หาทางสร้างสรรค์ให้ศิลปปินได้รับการยกย่องเชิดชู และเป็นแบบอย่างในการทำนุบำรุงศิลปิน โดยใช้ธนาคารแห่งประเทศไทยเป็นพาหะ จนธนาคารพาณิชย์จำนวนมากเอาเยี่ยงอย่างไปประพฤติปฏิบัติ

ยิ่งในทางคีตศิลป์ด้วยแล้ว ท่านเข้าร่วมวงได้อย่างเป็นงานอดิเรกเอาเลย ในขณะที่งานหลักในทุกๆ ทาง ท่านจะเน้นที่สันติประชาธรรม ไม่เพียงแต่ประชาธิปไตยในรูปแบบ หากมหาชนต้องมีส่วนร่วม มีเสียงในการเมืองการปกครองอย่างแท้จริง ช่องว่างระหว่างคนรวยกับคนจนต้องลดลง ทุกๆ คนต้องมีศักดิ์ศรี โดยเฉพาะชาวไร่ชาวนา และทุกอาชีพต้องเป็นไปในทางสัมมาอาชีวะ เพื่อความสมดุลทางธรรมชาติ

พร้อมกันนั้น เราก็ต้องมองให้เห็นความบกพร่องของท่านด้วย เช่น ท่านรักศิษย์ที่ใกล้ชิดจนเกินไปหรือเปล่า ท่านเชิดชูมิตรสหายบางคนจนเกินเลยสมรรถภาพของเขาไปบ้างหรือไม่ ท่านตระหนักหรือไม่ว่าคนรอบๆ ข้างท่านนั้น หลายคนเข้ามาหาประโยชน์จากท่าน ยิ่งกว่าจะมารับใช้ท่านเพื่อความชอบธรรม

จะอย่างไรก็ตาม ความกล้าหาญทางจริยธรรมของท่านนั้น แม้จะแสดงออกอ่อนน้อม แต่เป็นการอ่อนนอกแข็งใน ถ้าเห็นว่าการออกไปพบอาจารย์ปรีดี พนมยงค์ ที่ลี้ภัยอยู่ในประเทศฝรั่งเศส เป็นการแสดงความกตัญญูกตเวทีและเป็นการบูชาบุคคลที่ควรบูชา ท่านก็กล้าไปพบ

ทั้งๆ ที่ท่านทำงานใกล้ชิดกับถนอม กิตติขจร ซึ่งถึงจะเป็นเผด็จการ แต่ก็อุดหนุนให้นายป๋วยได้รับราชการอย่างเป็นประโยชน์ อย่างกว้างขวางออกไปหลายกรณี นายป๋วยร่วมอดทนกับนายกรัฐมนตรีผู้นี้อย่างแลเห็นคุณงามความดีของเขา และหวังว่าเขาจะเปิดทางให้ไปสู่ความเป็นประชาธิปไตย

และแล้วความหวังดังกล่าวก็ปรากฏขึ้นในปี 2511 แต่หลังจากนั้นไม่นานจอมพลผู้นั้นก็เขียนด้วยมือ ลบด้วยเท้า โดยรัฐประหารตนเองกลับไปเป็นเผด็จการอีก นี้แลคือที่มาของจดหมายจากนายเข้ม เย็นยิ่ง ถึงผู้ใหญ่ทำนุ เกียรติก้อง แห่งหมู่บ้านไทยเจริญ อย่างมีพลังในทางธรรม โดยผู้เขียนจดหมายฉบับนี้ถูกตัดขาดออกจากราชการในทางอนาคตอย่างสิ้นเชิง

คุณวิเศษของนายป๋วยอีกประการหนึ่งนั้นคือ ท่านมองอะไรๆ ได้แยบคาย ไม่ว่าจะเป็นสถานการณ์ใด ท่านปรับสภาพนั้นๆ ให้เป็นคุณประโยชน์กับส่วนรวมจนได้ แม้ในยุคเผด็จการที่ไม่เปิดกว้างให้หน่วยงานเอกชนประกอบกรณียะเพื่อสังคมได้

ครั้งท่านไปได้รับรางวัลแมกไซไซในประเทศฟิลิปปินส์ ไปเห็นชาวจีนบูรณะชนบทในไต้หวัน ด้วยการดึงผู้นำในวงธุรกิจการค้ามาร่วมพลัง อุทิศเงินและเวลา พากันปรับปรุงให้ไต้หวันขึ้นได้นอกแวดวงรัฐบาลก๊กมินตั๋ง ซึ่งเวลานั้นเป็นเผด็จการอย่างเต็มที่ และกระบวนการนี้เกิดขึ้นได้ในฟิลิปปินส์

นายป๋วยจึงนำมาประยุกต์ใช้ เกิดมูลนิธิบูรณะชนบทขึ้นในประเทศไทย ซึ่งเป็นหน่วยงานเอกชนด้านการพัฒนาประเทศที่เปิดโอกาสให้เยาวชนได้มีส่วนร่วม ช่วยให้เขาเป็นพลังสำคัญของบ้านเมือง

ทางอังกฤษ นาย Alec Dickson เป็นผู้ตั้งหน่วยงาน Voluntary service อย่างได้ผล จนประธานาธิบดีเคนเนดี้เอาอย่าง ไปตั้งหน่วยงานสันติภาพขึ้นที่สหรัฐฯ เมื่อบุคคลผู้นี้มาเมืองไทย ท่านขอให้ข้าพเจ้าพาไปพบ และท่านได้แรงบันดาลใจจากบุคคลผู้นั้นให้ก่อตั้งบัณฑิตอาสาพัฒนาขึ้น แม้จะมีคนเตือนท่านว่างานชิ้นนี้น่าจะยากกว่างานชิ้นแรก เพราะเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับเยาวชน ซึ่งรัฐบาลเผด็จการกลัวนักว่าท่านจะใช้คนรุ่นใหม่เป็นฐานทางการ แต่ท่านก็ดื้อรั้นจนทำได้สำเร็จ โดยท่านไม่ปรารถนาผลได้ทางการเมืองด้วยประการใดๆ

สำหรับโครงการพัฒนาลุ่มแม่น้ำแม่กลองของท่านนั้น ท่านถือว่าตราบใดที่คนชนบทและจังหวัดสมุทรสาครซึ่งร่ำรวยกว่าถิ่นอื่นเป็นไหนๆ ผู้คนยังอพยพเข้าเมืองกรุง ถ้าปรับปรุงให้แม่น้ำละแวกนั้น ประสานความสำเร็จทั้งทางเศรษฐกิจ การงาน และการสาธารณสุข น่าจะใช้แม่แบบนี้กระจายไปยังทุกลำน้ำ แม้ในแถบที่ยากจน นั่นก็ให้เพื่อคนทั่วราชอาณาจักรมีศักดิ์ศรี กินดี อยู่ดี ในบ้านเกิดเมืองนอนของตน โดยมีพื้นฐานทางประชาธิปไตยอย่างแท้จริง

แต่แล้วโครงการนี้ กลับกลายเป็นหอกข้างแคร่ที่ทิ่มตำท่าน จากอำนาจอธรรมที่ปกครองบ้านเมือง ทั้งทางฝ่ายมหาดไทยและทหาร นอกเหนือไปจากนักการเมืองและเผด็จการตัวโตๆ

มรดกจากความริเริ่มทั้งสามประการนี้ ในบัดนี้น่าจะได้รับการพินิจพิจารณาใหม่ แล้วดูว่าจะนำมาปรับใช้ให้สมสมัยได้หรือไม่ ถ้าได้ นี่จะเป็นอนุสาวรีย์อันประเสริฐสำหรับท่านแท้ทีเดียว

Source : http://thaipublica.org/2016/03/puey-ungphakorn-the-centenary-of-his-birth-in-2016/

เจาะปัญหา “ความเหลื่อมล้ำ”

เจาะปัญหา “ความเหลื่อมล้ำ”

Author : ณภัทร จาตุศรีพิทักษ์

นับตั้งแต่ Thomas Piketty นักเศรษฐศาสตร์อัจฉริยะชาวฝรั่งเศสได้เขียนหนังสือเรื่อง Capital in the Twenty-First Century ขึ้นมาเมื่อสองปีก่อน คนทั่วโลกก็ได้ตาสว่างเห็นภาพที่แท้จริงของสังคมตนเองและเกิดความกังวลมากมายว่าสังคมกำลังกลับไปสู่ยุคทุนนิยมจากมรดก (patrimonial capitalism) ที่คนรวยรวยเพราะทรัพย์สินของบิดามารดา ไม่ได้รวยเพราะความสามารถ กังวลว่ามีอะไรผิดปกติที่ผู้บริหารระดับสูงมีรายได้มากกว่าลูกจ้างทั่วไปเกินกว่า 300 เท่า กังวลว่าระดับความเหลื่อมล้ำที่สูงขึ้นนับวันนับคืนจะนำมาซึ่งความหายนะต่อระบบเศรษฐกิจและระบอบประชาธิปไตย ไปจนถึงความกังวลว่านโยบายอะไรก็ตามที่พยายามจะกระจายรายได้จากผู้ที่ร่ำรวยไปสู่ผู้ที่ยากจนจะเป็นการทำลายแรงจูงใจในการทำงานและพัฒนาตนเองของประชากร

ในช่วงหนึ่งปีที่ผ่านมานี้ ผู้เขียนได้มีโอกาสทบทวนความคิดเกี่ยวกับปัญหา “ความเหลื่อมล้ำ” จากการถกเถียงและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับคนรู้จักหลากหลายเชื้อชาติ หลากหลายระดับฐานะ หลากหลายอาชีพ ผู้เขียนคิดว่าความเหลื่อมล้ำนั้นเป็นประเด็นที่ซับซ้อน ลึกซึ้ง และซึมแทรกลงไปในสังคมเกินกว่าที่จะสามารถแก้ไขได้ด้วยเครื่องมือทางเศรษฐกิจเพียงไม่กี่ชิ้น เราจะโทษระบบทุนนิยมก็ไม่ถูกเพราะว่ามันไม่ใช่ผู้ร้ายตัวจริงเสียทีเดียว ทุนเป็นเพียง “พาหนะ” ของความเหลื่อมล้ำในระบบเศรษฐกิจสมัยใหม่เท่านั้น และที่สำคัญที่สุด ถึงแม้ประเด็นความเหลื่อมล้ำนี้จะซับซ้อนแต่มันก็เป็นประเด็นสำคัญที่พวกเราจะลืมมันไปไม่ได้

บทความนี้จะนำเสนอแนวคิดและสถิติเกี่ยวกับปัญหาความเหลื่อมล้ำที่น่าสนใจทั้งจากผลงานของนักเศรษฐศาสตร์สมัยปัจจุบันอย่าง Joseph Stiglitz หรือ Thomas Piketty ไปจนถึงแนวคิดเชิงปรัชญาจากนักเศรษฐศาสตร์รุ่นบุกเบิก อย่าง Vilfred Pareto เพื่อเป็นการจุดประกายการถกเถียงเกี่ยวกับปัญหาความเหลื่อมล้ำในสังคม โดยจะเจาะปัญหานี้จาก 4 มุมมองคำถามต่อไปนี้

1. อะไรคือ “ความเหลื่อมล้ำ”
2. เหลื่อมล้ำแล้วยังไง
3. อะไรคือต้นตอของความเหลื่อมล้ำ
4. อะไรคือจุดหมายของการแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำ

1. อะไรคือ “ความเหลื่อมล้ำ”

ที่มาภาพ : https://en.wikipedia.org/wiki/Gini_coefficient#/media/File:Gini_since_WWII.svg

ที่มาภาพ : https://en.wikipedia.org/wiki/Gini_coefficient#/media/File:Gini_since_WWII.svg

อุปสรรคด่านแรกของการแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำคือการที่เรายังไม่สามารถ “วัด” ความเหลื่อมล้ำได้อย่างแม่นยำและยังตกลงกันไม่ได้ว่ามาตราวัดไหนดีที่สุด

หนังสือเรื่อง Capital in the Twenty-First Century ของ Piketty นั้นกล่าวเตือนถึงความน่าหวาดกลัวของระดับความเหลื่อมล้ำทางรายได้และทรัพย์สินที่กำลังพุ่งสูงขึ้นอย่างรวดเร็วในหลายๆ สังคม แต่หากใครที่ไม่ได้อ่านหนังสือเล่มนี้แล้วไปลองค้นดูสถิติ Gini Coefficientด้านบน (ซึ่งเป็นสถิติวัดความเหลื่อมล้ำที่นิยมใช้กันมาก) จะเห็นได้ว่าหลังจากสงครามโลกครั้งที่สองนั้นระดับความเหลื่อมล้ำที่วัดด้วย Gini ในปัจจุบันไม่ได้น่าตกใจอย่างที่เขาฮือฮากัน แม้ว่าระดับความเหลื่อมล้ำจะเพิ่มมากขึ้นในบางประเทศ (ตัวเลข Gini สูงขึ้น) แต่ก็ไม่ได้มากขึ้นถึงขั้นน่าตกใจและยังมีอีกหลายประเทศที่ระดับความเหลื่อมล้ำน้อยลงเสียอีก จะมีที่น่าสะดุดตาเป็นพิเศษก็คือในกรณีของประเทศจีนที่เริ่มต้นไว้ที่ราวๆ 30 ในช่วงปี ค.ศ. 1980 แต่ไต่ไปถึงระดับเดียวกันกับสหรัฐฯ ได้ภายในไม่กี่สิบปีหลังเปิดประเทศ แต่ในมุมมองผู้เขียนเองเมื่อลองเทียบความเหลื่อมล้ำที่เพิ่มขึ้นในประเทศจีนกับการที่คนจีนหลายร้อยล้านชีวิตสามารถหลุดพ้นจากบ่วงความยากจนได้ใน 30 ปีที่ผ่านมา ภาพมันก็ไม่ได้แย่มากนัก

สิ่งที่ Piketty กล่าวถึงและเตือนให้เราระวังในหนังสือ Capital นั้นไม่ใช่สิ่งที่เราเห็นได้ง่ายๆ จาก Gini แต่เป็นปรากฏการณ์ที่กลุ่มคนที่ร่ำรวยที่สุด (ต่อไปนี้ขอเรียกว่า ทอป 10% ทอป 1% หรือ ทอป 0.1%) จากหลายสังคมทั่วโลกกำลังร่ำรวยขึ้นอย่างมหาศาลและกำลัง “แยกวง” ออกไปรวยขึ้นเรื่อยๆ ฉีกตัวออกห่างจากประชาชนที่เหลืออย่างรวดเร็ว

นี่ต่างหากคือความเหลื่อมล้ำที่ทุกคนกำลังพูดถึงในขณะนี้

ที่มาภาพ : http://gabriel-zucman.eu/files/SaezZucman2014.pdf

ที่มาภาพ : http://gabriel-zucman.eu/files/SaezZucman2014.pdf

กราฟด้านบนจากงานวิจัยของ Emmanuel Saez และ Gabriel Zucman ที่ใช้ข้อมูลชุดเดียวกับที่ Piketty ใช้ในหนังสือเรื่อง Capital นั้นแสดงให้เห็นถึงความมั่งคั่งอันน่าตกใจของคนกลุ่มเล็กๆ กลุ่มนี้ในสหรัฐฯ จากการใช้ข้อมูลภาษีเงินได้และข้อมูลสวัสดิการสังคมรายครัวเรือนในสหรัฐฯ ทีมวิจัยนี้พบว่าในปี ค.ศ. 2012 กลุ่มคนที่อยู่ในทอป 10% มีรายได้ก่อนหักภาษีรวมกันมากกว่าครึ่งหนึ่งของรายได้ก่อนหักภาษีของประชาชนทั่วประเทศ ซึ่งถือว่าเป็นการถือครองส่วนแบ่งรายได้ของประเทศมากที่สุดเป็นประวัติศาสตร์โดยคนกลุ่มนี้ตั้งแต่เคยมีการเก็บข้อมูลมา

ที่มาภาพ : http://gabriel-zucman.eu/files/SaezZucman2014.pdf

ที่มาภาพ : http://gabriel-zucman.eu/files/SaezZucman2014.pdf

ที่น่าตกใจขึ้นไปอีกคือหากเราไต่ระดับจากทอป 10% เลยหมอกเมฆขึ้นไปแตะถึงระดับทอป 0.1% (ราวๆ 160,000 ครอบครัว) จะเห็นได้ว่าจากกราฟด้านบนกลุ่มคนที่อยู่ในทอป 0.1% มีรายได้ที่มาจากทุน เช่น เงินปันผลจากหุ้น ค่าเช่า ดอกเบี้ย รวมกันแล้วมากเกือบเท่าครึ่งหนึ่งของรายได้จากทุนของคนทั้งสหรัฐฯ รวมกัน

เทรนด์รูปตัว U นี้ไม่ได้ปรากฏแต่แค่ในสหรัฐฯ แต่ยังเป็นที่พบเห็นกันในกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาด้วย ทั้งๆ ที่ข้อมูลแบบสอบถามในประเทศเหล่านี้ชี้ไปคนละภาพเลยว่าความเหลื่อมล้ำกำลังลดลง

เพราะฉะนั้น การเลือกมาตราวัดความเหลื่อมล้ำนั้นมีความสำคัญมาก บางมาตราวัดอย่าง Gini นั้น แม้จะเป็นที่นิยมใช้งานกันทั่วโลก แต่มันกลับปิดบังความรุนแรงของปรากฏการณ์ “รวยกระจุกแล้วแยกวง” แบบที่ Piketty กับทีมนักวิจัยพบ อีกทั้งตัวเลข Gini นั้นหลายครั้งมีที่มาจากแบบสอบถามซึ่งเป็นไปได้ยากที่จะมีคนกลุ่มทอป 0.1% หรือ ทอป .00025% (พวก Forbes 400) อยู่ในนั้น เนื่องจากโอกาสที่จะสุ่มไปพบคนกลุ่มเล็กๆ กลุ่มนี้เป็นไปได้ยากและแม้จะสุ่มเจอคนกลุ่มนี้มักไม่เสียเวลามาตอบแบบสอบถาม หากการสุ่มแบบสอบถามในระดับท้องที่เกิดพลาดพวกเขาไปสักสามสี่คนแค่นี้ตัวเลขที่ออกมาก็จะบิดเบี้ยวจากความจริงไปมาก

จุดที่สำคัญกว่าเห็นจะเป็นการผลักดันให้เก็บและเปิดข้อมูลทรัพย์สินรายครัวเรือนให้กับนักวิจัยเพื่อช่วยให้เราเข้าใจปัญหานี้ได้อย่างลึกซึ้งขึ้น ถือเป็นเรื่องน่ายินดีที่ขณะนี้ทีมวิจัยที่นำโดย Piketty นั้นได้ร่วมแรงร่วมใจกันสร้างฐานข้อมูลรายได้ (World Top Incomes Database) ที่เปิดให้ทุกคนใช้งานได้ฟรีและกำลังรณรงค์ให้มีการเปิดข้อมูลระดับชาติเพื่อให้กรอบของการวิจัยเรื่องความเหลื่อมล้ำนั้นครอบคลุมหลายประเทศมากขึ้น

หนังสือ Capital นั้นเป็นบทเรียนให้กับเราว่าหากเราไม่มีข้อมูลรายได้และทรัพย์สินที่มีคุณภาพตั้งแต่แรก Piketty จะไม่สามารถเขียนหนังสือเล่มนี้ได้ เราก็จะไม่มีวันเข้าถึงเนื้อในของปัญหาที่มีความท้าทายอย่างปัญหาความเหลื่อมล้ำ ยิ่งไปกว่านั้น เราเองอาจจะไม่รู้สึกตัวเลยก็ได้ว่าทั้งหมดที่ Piketty กล่าวถึงในหนังสือเล่มนี้มันกำลังเกิดขึ้นจริงๆ

…เพราะเทรนด์รูปตัว U นี้มันเกิดขึ้นมา 20 กว่าปีแล้ว เราเพิ่งจะมาถกเถียงกันก็ไม่กี่ปีมานี้

2. เหลื่อมล้ำแล้วยังไง

ที่มาภาพ : https://pixabay.com/en/fist-rebellion-rebel-arm-arms-424500/

ที่มาภาพ : https://pixabay.com/en/fist-rebellion-rebel-arm-arms-424500/

ขณะนี้หลายฝ่ายกำลังให้ความสนใจกับภัยจากระดับความเหลื่อมล้ำสูงใน 2 ด้านหลักๆ นั่นก็คือ

1) ภัยต่อเศรษฐกิจ
2) ภัยต่อสังคม

มุมมองของผู้เขียนเองคือผู้เขียนคิดว่าการเจริญเติบโตของเศรษฐกิจเป็นเรื่องสำคัญ แต่ในขณะเดียวกันเราไม่ควรคิดจะแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำเพียงแค่เพราะว่ามันจะทำให้เศรษฐกิจโตเร็วขึ้นหรือต่อเนื่องขึ้น

หนึ่ง คือ ผู้เขียนไม่คิดว่าเศรษฐกิจที่โตวันโตคืนคือจุดหมายที่แท้จริงของการแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำ

สอง คือ หากวันดีคืนดีเราเกิดไปเจอวิธีเพิ่มอัตราเติบโตของเศรษฐกิจที่ทำได้ง่ายกว่าการแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำ คำถามที่น่าคิดคือ จะยังมีใครยอมเหน็ดเหนื่อยเพื่อแก้ปัญหานี้อีกหรือไม่

สาม คือ ผู้เขียนเป็นห่วงว่าเรายังไม่เข้าใจความเหลื่อมล้ำดีพอที่จะตอบคำถามว่า แล้วเมื่อเศรษฐกิจเติบโตขึ้นแล้วจะเกิดอะไรขึ้นกับความเหลื่อมล้ำในอนาคต งานวิจัยทางเศรษฐศาสตร์ด้านความเหลื่อมล้ำที่ใช้ข้อมูลคุณภาพอย่างที่ทีมวิจัยของ Piketty ใช้นั้นยังมีไม่มาก แม้ว่าพักหลังนี้เริ่มมีงานวิจัยที่นำเสนอหลักฐานจากการหาความสัมพันธ์ทางสถิติระหว่างมาตรการเพื่อลดความเหลื่อมล้ำกับความต่อเนื่องในอัตราเติบโตของเศรษฐกิจ เราคงยังต้องรอดูกันต่อไปเพราะว่าการหาความสัมพันธ์กับการเป็นเหตุเป็นผลกันมันไม่ใช่อย่างเดียวกัน

อย่างไรก็ตาม ผู้เขียนก็เข้าใจว่า ทำไมหลายองกรค์ที่ต้องการลดระดับความเหลื่อมล้ำถึงมักตีกรอบ (frame) ปัญหาความเหลื่อมล้ำให้เป็นปัญหาเศรษฐกิจ

การ frame ปัญหาความเหลื่อมล้ำในมุมมองของการเติบโตของเศรษฐกิจทำให้หลายคนเลิกกังวลว่าการที่ภาครัฐดำเนินนโยบายเพื่อลดความเหลื่อมล้ำที่เข้มข้นขึ้นนั้น ถึงแม้อาจเป็นการลดแรงจูงใจในการทำงานแต่บวกลบออกมาแล้วมีผลเป็นบวกต่ออัตราการเติบโตของเศรษฐกิจ และมันคงจะเป็นวิธี frame ที่เป็นไปในทางปฏิบัติ (pragmatic) ที่สุดแล้วในการมัดใจผู้คน (และผู้มีอิทธิพล) ให้หันมาเหลียวแลปัญหานี้ได้

ตัวอย่างการ frame แบบนี้คือสิ่งที่ OECD พยามจะผลักดัน รายงานจาก OECD ชิ้นนี้ชี้ว่า เราควรลดความเหลื่อมล้ำเพราะว่าความเหลื่อมล้ำทำให้เศรษฐกิจโตด้วยอัตราที่ต่ำลง (ถึงแม้ว่านักวิจัยจะยังไม่สามารถตกลงกันด้วยหลักฐานได้ว่าเป็นเพราะเหตุใด…) โดยผ่านแนวทางที่นักเศรษฐศาสตร์ตั้งสมมติฐานไว้เช่น 1) ความเหลื่อมล้ำที่มากขึ้นทำให้ประชาชนเรียกร้องให้ขึ้นภาษีธุรกิจ ขอให้ทำการกำกับดูแลที่รัดกุมขึ้น หรือประท้วงไม่เอานโยบายที่เป็นการช่วยเหลือกลุ่มธุรกิจ 2) ความเหลื่อมล้ำที่มากขึ้นในสังคมที่มี financial market imperfections อยู่แต่เดิมแล้วจะทำให้คนที่ฐานะไม่ดีไม่สามารถลงทุนในสิ่งที่ควรลงทุนเพื่อก่อให้เกิดผลตอบแทนอันมหาศาลต่อทั้งผู้ลงทุนและผลผลิตของชาติ (เช่น การลงทุนในการศึกษาที่มีคุณภาพ)

แต่ที่ผู้เขียนคิดว่าน่าวิตกยิ่งกว่าภัยต่อเศรษฐกิจคือ ภัยต่อการอยู่ร่วมกันในสังคมอย่างสงบสุข

ที่จริงแล้วการที่ใครบางคนร่ำรวยกว่าคนส่วนมากมันก็ไม่ได้เป็นปัญหาในตัวมันเองมากนักตราบใดที่คนส่วนมากยังมีรายได้พอกินพอใช้ แต่สิ่งนี้จะเป็นปัญหาได้ก็เพราะว่ามันมีความเป็นไปได้สูงที่คนกลุ่มอภิมหารวยกลุ่มนี้จะสามารถยึดครองสิ่งอื่นๆ ในสังคมนอกจากแค่เม็ดเงินได้ด้วย

มุมมองนี้เป็นมุมมองที่ Joseph E. Stiglitz เขียนเอาไว้ได้ดีมากในหนังสือ 2 เล่มของเขาเรื่อง “The Price of Inequality: How Today’s Divided Society Endangers Our Future” และเรื่อง “The Great Divide: Unequal Societies and What We Can Do About Them” Stiglitz มองว่า การที่ความมั่งคั่งเกินครึ่งไปกระจุกอยู่บนยอดปลายแหลมของพีระมิดสังคมจะมีผลทำให้ระบอบประชาธิปไตยขัดข้องและถดถอยจากระบอบ one person one vote ไปเป็นระบอบ one dollar one vote ที่กลุ่มธุรกิจหรือกลุ่มที่มั่งคั่งกว่าสามารถล็อบบี้หรือแม้กระทั่งกดดันรัฐบาลเพื่อให้ออกกฎหมายที่สามารถโยกย้ายทรัพยากรเพื่อผลประโยชน์ของตัวเองแทนที่ว่าการกระทำของรัฐบาลจะสะท้อนความต้องการของประชากรหมู่มาก และสุดท้ายความเหลื่อมล้ำนี้จะทำให้ความแค้นสั่งสมในหมู่ประชาชนจนกลายเป็นชนวนก่อให้เกิดวิกฤติความขัดแย้งทางการเมืองได้ในที่สุด

ในสังคมอเมริกันทุกวันนี้ Stiglitz ยกตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือแม้ว่าประชาชนจะเห็นว่าระบบการเก็บภาษีเงินได้นั้นไม่แฟร์ แต่ไปๆ มาๆ บุคคลที่ร่ำรวยที่สุด 400 คนกลับจ่ายภาษีเงินได้ น้อยกว่า 20%ของรายได้ทั้งๆ ที่จริงๆ แล้วควรจะจ่ายเป็นเปอร์เซ็นต์ที่สูงกว่านั้นตามระบบภาษีแบบ progressive ที่สหรัฐฯ เป็นประเทศแรกๆ ที่ริเริ่มมัน อีกทั้งบริษัทยักษ์ใหญ่มากมาย เช่น บริษัท General Electric นั้นลงทุนไปกับการหาช่วงโหว่ของกฎหมายภาษีถึงขั้นที่ว่าในสิบปีระหว่างปี ค.ศ. 2002 ถึง ค.ศ. 2011 General Electric จ่ายภาษีไปแค่เฉลี่ยแล้วปีละ 1.8% ผู้เขียนไม่แน่ใจจริงๆ ว่าควรจะชมว่าเก่งหรือโกงดี เพราะว่าเขาไม่ได้ทำผิดกฎหมาย (คงทั้งคู่)

ในสายตาของ Stiglitz (ซึ่งผู้เขียนเองก็เห็นด้วย) สังคมในอุดมคติที่ชาวอเมริกันเคยภาคภูมิใจนั้นกลับกลายเป็นสังคมที่คนรวยมีโอกาสได้เข้าถึงการศึกษาคุณภาพที่ดีกว่าคนจน เป็นสังคมที่คนจนมีอุปสรรคเมื่อต้องการเข้ารักษาสุขภาพ (อ่านเพิ่มเติมเรื่องประกันสุขภาพทั่วโลกได้ในบทความนี้) เป็นสังคมที่ถึงแม้คนรวยจะฉีกตัวห่างจากคนจนไปจนไม่เห็นฝุ่นแต่ค่าแรงขั้นต่ำขณะนี้ดันน้อยกว่าสมัยเมื่อ 50 ปีที่แล้วเสียอีกทั้งๆ ที่เศรษฐกิจปัจจุบันก็โตช้ากว่าและคนก็ไม่ได้ว่างงานน้อยกว่าด้วย เท่านี้ยังไม่พอคนส่วนมากยังจ่ายภาษี (effective tax rate) เป็นเปอร์เซ็นต์มากกว่าคนที่ฐานะดีอีกด้วย

ทั้งหมดนี้บ่งบอกว่าอุดมการณ์ของชาติอเมริกันกำลังเพี้ยนไปอย่างรุนแรง จริงอยู่ที่สหรัฐฯ เป็นชาติที่ให้ความสำคัญกับการแข่งขัน แต่ทุกวันนี้ American Dream กลับกลายเป็นฝันร้ายแห่งความเหลื่อมล้ำที่ผิดเพี้ยนไปเป็นว่าชาวอเมริกันไม่มีทางเลือก ไม่มีความเป็นธรรมในโอกาสทางสังคม แต่ยังจำเป็นต้องชิงดีชิงเด่นไต่บันไดฝันอย่างเอาเป็นเอาตายเพื่อขึ้นไปตัดพายชิ้นใหญ่ให้กับตัวเอง กลายเป็นสังคมที่เอาตัวรอดแบบสุดขั้วเพราะว่าหากปล่อยให้คนอื่นไต่บันไดฝันแซงเราไปหรือเราพลั้งพลาดหล่นลงมาหน่อยก็จะอดตายหรือป่วยตายได้

สิ่งที่หนังสือ Capital กำลังเตือนเราก็คือ หลายสังคมบนโลกโดยเฉพาะอย่างยิ่งสังคมอเมริกัน หรือสังคมที่พยายามทำตัวให้คล้ายสังคมอเมริกัน คล้ายกับว่าระดับความเหลื่อมล้ำที่สูงนั้นทำให้ยิ่งคนเราอยู่ใกล้เชิงบันได American Dream เท่าไร แต่ละขั้นบันไดมันยิ่งห่างกันมากขึ้น นั่นก็คือ หากเราเกิดร่วงลงไป หรือโชคไม่ดีเกิดมาแถวๆ เชิงบันไดขึ้นมา มันจะทำให้เราปีนกลับขึ้นมาได้ยากมาก ส่วนเด็กๆ ที่โชคดีนั้นเกิดมาอยู่บนปลายบันไดเลย ต่อให้ไม่ปีนป่ายเลยสักขั้นเดียวก็คงจะไม่เป็นไรนัก

บางคนอาจมองว่าแบบนี้ก็ดีแล้ว สังคมจะได้รีดเค้นเอาหัวกะทิออกมาจากกองมนุษย์ธรรมดาๆ ทั้งหลาย ไม่ต่างจากการคัดเลือกโดยธรรมชาติ (natural selection) ที่จะทำให้มนุษย์ที่เหลืออยู่มีแต่พวกที่ “สมควรอยู่กว่า” (จะจริงหรือไม่ที่กลุ่มคนที่ปลายบันไดข้างบนคือคนที่สมควรอยู่กว่านั้นเป็นคำถามเชิงปรัชญาที่ผู้เขียนคงตอบให้ไม่ได้)

แต่ผู้เขียนอดสงสัยไม่ได้ว่าการที่ใครบางคนยินดีที่จะอยู่อาศัยในสังคมแบบที่ว่านี้ เรายังจะสามารถใช้คำว่า “สังคม” เรียกสังคมแบบนี้ได้อยู่อีกหรือ

3. ต้นตอของความเหลื่อมล้ำ

ที่มาภาพ : https://farm7.staticflickr.com/6092/6211653333_b5e2f057e9_z_d.jpg

ที่มาภาพ : https://farm7.staticflickr.com/6092/6211653333_b5e2f057e9_z_d.jpg

ตั้งแต่หนังสือ Capital วางแผงไปก็ได้ มีการถกเถียงและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันอย่างมากว่า “เรามาถึงจุดนี้ได้อย่างไร”

ปัจจัยที่หลายคนคิดว่าเป็นต้นตอของความเหลื่อมล้ำนั้นมีตั้งแต่ความล้มเหลวของสมาคมแรงงานในยุคหลังๆ การเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีซึ่งทำให้เกิดความต้องการแรงงานที่มีทักษะสูงและเกิดการ “โละ” แรงงานทักษะต่ำ ไปจนถึงความเหลื่อมล้ำทางโอกาสการศึกษา ซึ่งทั้งหมดนี้นักเศรษฐศาสตร์หลายคนเห็นว่าเป็นปัจจัยสำคัญ แต่ไม่สามารถอธิบายระดับความเหลื่อมล้ำที่เราเห็นอย่างในกรณี “รวยกระจุกแล้วแยกวง” ที่ Piketty นำเสนอใน Capital ได้ ยกตัวอย่างง่ายๆ เช่น ความเหลื่อมล้ำในโอกาสการศึกษา ไม่น่าจะสามารถอธิบายว่าทำไมคนกลุ่มอภิมหารวยทอป 0.00025% ถึงรวยขึ้นไปยิ่งกว่าคนอื่นๆ ในกลุ่มทอป 1%

เนื่องจากท่านผู้อ่านมีเวลาจำกัด ผู้เขียนจะนำเสนอแค่ 2 แนวคิดที่เกี่ยวเนื่องกับต้นตอของปัญหานี้

1) แนวคิดของ Stiglitz ที่มองว่าโครงสร้างของสังคม การเมือง และธุรกิจเปิดโอกาสให้คนส่วนน้อยที่ร่ำรวยและมีอำนาจรีดไถเอาเปรียบคนส่วนมาก

2) แนวคิดของ Piketty ที่กล่าวถึงบทบาทของความสัมพันธ์ระหว่างอัตราผลตอบแทนจากทุนกับอัตราการเติบโตของเศรษฐกิจในการทำให้เกิดปัญหาความเหลื่อมล้ำ

แนวคิดของ Stiglitz

ในบทความนี้ผู้เขียนใช้คำว่า “ปัญหา” คู่กับ “ความเหลื่อมล้ำ” แต่จากการสนทนากับผู้คนที่หลากหลายแล้วผู้เขียนพบว่ามีคนจำนวนไม่น้อยที่ไม่คิดว่าความเหลื่อมล้ำเป็นปัญหาและคิดว่าสังคมควรเลิกเสียเวลาช่วย “พวกขี้แพ้” เสียด้วยซ้ำ

งานวิจัย จาก Economic Policy Institute เมื่อปีที่แล้วพบว่าผู้บริหารระดับสูงในสหรัฐฯ มีรายได้มากกว่าลูกจ้างทั่วไปประมาณ 303 เท่าในปี ค.ศ. 2014 (เทียบกับราวๆ แค่ 20 เท่าในปี ค.ศ. 1965) หากแปลงสัดส่วนนี้เป็นเงินดอลลาร์แล้วผู้บริหารระดับสูงเหล่านี้มีรายได้โดยเฉลี่ยราว 16 ล้านดอลลาร์ต่อปีเทียบกับแค่ 5 หมื่นดอลลาร์ที่ลูกจ้างทั่วไปได้รับ

บางคนคิดว่า การที่ผู้บริหารระดับสูงเหล่านี้มีรายได้มากกว่าหลายเท่านั้นเป็นเรื่องธรรมชาติที่เป็นไปตามหลักเศรษฐศาสตร์ที่ตลาดแรงงานจะให้ค่าตอบแทนที่สูงกว่ากับแรงงานที่มีความสามารถสูงกว่าและมีผลิตภาพมากกว่าแรงงานทั่วไป และอาจมองได้อีกว่ารายได้และโบนัสเหล่านี้เป็น “รางวัล” ที่ผู้ประกอบการสมควรได้รับ หากเป็นเช่นนี้จริงการไปลงโทษพวกเขาด้วยการไล่เก็บภาษีมากขึ้นนั้นเท่ากับเป็นการลดแรงจูงใจให้พวกเขาทำให้ทั้งบริษัทและเศรษฐกิจมีการพัฒนาเติบโตขึ้น

แต่ทว่าตัวเลข 300 เท่านี้มันเหมาะสมกับสิ่งที่ผู้บริหารระดับสูงทำให้กับบริษัทและเศรษฐกิจจริงๆ หรือไม่

เนื่องจากเศรษฐกิจปัจจุบันมีความซับซ้อนสูง ผู้เขียนชวนให้ท่านผู้อ่านลองย้อนยุคกลับไปนึกถึงเศรษฐกิจชาวป่าแบบง่ายๆ ก่อนนะครับ

สมมติว่าเศรษฐกิจนี้มีคนอยู่แค่ 3 คน นาย ก. นาย ข. และ นาย ค. ทุกวันทุกคนมีหน้าที่ออกไปล่าไก่ป่าซึ่งเป็นสินค้าชนิดเดียวในเศรษฐกิจนี้เพื่อเอามาเป็นอาหารประทังชีวิต ตอนเริ่มแรกไม่มีใครมีเครื่องมือใดๆ ต้องล่าไก่ด้วยมือเปล่า ทั้งวันได้ไก่ป่าแค่คนละตัวเดียวเท่านั้น จากเช้าจรดเย็น 3 คนนี้จึงไม่ได้ทำอะไรเลยนอกจากล่าไก่ป่ามาเป็นอาหารเพียงเพื่อที่จะได้อยู่รอดไปถึงวันถัดไป สรุปคือเศรษฐกิจนี้ผลิตไก่ป่าได้ 3 ตัวต่อวันด้วยคน 3 คน

วันดีคืนดี นาย ก. เกิดมีไอเดียประเจิดขึ้นมาว่าจะทำกับดักหลุมพรางด้วยกิ่งไม้และการขุดดิน ปรากฏว่า “นวัตกรรม” หรือ “เทคโนโลยี” ที่นาย ก. คิดค้นขึ้นมานั้นสามารถทำให้นาย ก. จับไก่ได้วันละ 3 ตัว แทนที่จะเป็นแค่วันละตัวเดียว เทียบกับเมื่อวานกลายเป็นว่าเศรษฐกิจนี้สามารถผลิตไก่ป่าได้วันละ 5 ตัวด้วยคน 3 คนแล้ว (นาย ก. จับได้ 3 นาย ข. และ นาย ค. จับได้คนละ 1) วันถัดๆ ไปนาย ก. ก็จะเริ่มมีเวลาว่างเอาไปทำอย่างอื่นได้โดยที่ไม่อดตายเพราะมีไก่เหลือจากเมื่อวานและบางทีไก่ป่าก็เดินมาตกหลุมพรางเอง นาย ก. ซึ่งแต่เดิมเป็นผู้ชื่นชอบความงดงามของบทกวีอยู่แล้วจึงสามารถใช้เวลาบางส่วนของวันไปเพื่อการแต่งกวี ทำให้เศรษฐกิจชาวป่านี้นอกจากจะมีไก่เพิ่มขึ้นทวีคูณแล้วยังมีบทกวีเพิ่มขึ้นวันละบทอีกด้วย ไปเรื่อยๆ นาย ก. อาจเสนอให้ นาย ข. และ นาย ค. เลิกจับไก่แล้วไปผลิตอย่างอื่น เช่น ไปหากล้วยมาแลกกับไก่ เป็นต้น พอเวลาผ่านไปหลายพันปี เศรษฐกิจก็จะซับซ้อนขึ้นเป็นแบบที่เห็นกันอยู่ทุกวันนี้

นี่คือคำอธิบายแบบสั้นๆ ว่าเศรษฐกิจเติบโตได้อย่างไร

หากเหล่าผู้บริหารระดับสูงที่มีรายได้มากกว่าลูกจ้างธรรมดา 300 เท่าสามารถทำให้ “พายเศรษฐกิจ” ก้อนนี้ขยายใหญ่ขึ้นหลายต่อหลายเท่าด้วยความสามารถของตนอย่างที่ นาย ก. นำมาสู่เศรษฐกิจชาวป่า ทำไมสังคมถึงจะมาประณามเหล่าผู้บริหารระดับสูงทั้งๆ ที่หลายคนในกลุ่มนี้ไม่เคยทำตัวให้เป็นภาระสังคม แต่สังคมกลับไปแบกอุ้มคนที่ฐานะไม่ดีบางคนที่มีพฤติกรรมเสี่ยง เช่น สูบบุหรี่ ติดเหล้า หรือไม่ออกกำลังกาย อย่างนี้ถูกต้องแล้วหรือ (ประเด็นนี้มีการถกเถียงกันอย่างมาก หากท่านสนใจอ่านต่อได้ที่นี่)

แต่ในทางกลับกันหากเราพิสูจน์ได้ว่าเหล่าผู้บริหารระดับสูงไม่ได้มีผลิตภาพมากกว่าแรงงานปกติทั่วไป เป็นเพียงแรงงานธรรมดาๆ อย่างเช่น นาย ข. และ นาย ค. แล้วเงินตอบแทนที่มากกว่า 300 เท่ามันมาได้อย่างไรกัน

จุดสำคัญจึงอยู่ตรงที่ว่ามันเป็นกรณี (1) ผู้บริหารระดับสูงเหล่านี้ได้รับรายได้สูงเพราะว่าตลาดแรงงานยอมจ่ายเพื่อแลกกับความสามารถของพวกเขาหรือว่าเป็นกรณี (2) ผู้บริหารระดับสูงเหล่านี้ใช้อำนาจของตำแหน่งของตนในการนำมาซึ่งรายได้อันมหาศาลเกินกว่าที่เป็นมูลค่าของความสามารถของเขา

กรณีที่ (2) นั้น Stiglitz เรียกมันว่าพฤติกรรม “rent-seeking” ซึ่ง “rent” ในที่นี้ไม่ได้จำกัดความไว้แค่ค่าเช่าอพาร์ตเมนต์หรือค่าเช่าที่ แต่ “rent” เป็นคำที่นักเศรษฐศาสตร์ใช้แบบกว้างๆ เพื่อเรียกถึงเงินส่วนเกินที่บริษัทหรือบุคคลได้รับเพียงเพราะว่าตลาดขาดความแข่งขันอย่างในตลาดที่มีผู้ผลิตอยู่ไม่กี่ราย เช่น ตลาดการเงิน ตลาดยา ตลาดประกันสุขภาพ และตลาดโทรคมนาคม เป็นต้น Stiglitz มองว่าในสังคมสมัยใหม่แทนที่คนเราจะเอาเวลาและทรัพยากรไปพัฒนาเศรษฐกิจทำพายทั้งก้อนให้โตขึ้นแบบที่ นาย ก. ทำให้เศรษฐกิจชาวป่าเติบโต กลับกลายเป็นว่าคนสมัยใหม่กำลังหมกมุ่นกับการแย่งชิงไต่เต้าขึ้นไปเป็นผู้บริหารระดับสูงเพื่อขูดรีดแบ่งพายชิ้นใหญ่ขึ้นให้ตัวเองจากก้อนพายขนาดเท่าเดิม

บิล เกตส์ เองเคยออกมาปกป้องเหล่าผู้บริหารระดับสูงที่ติด ranking Forbes 400 และเตือนว่าอย่าลืมไปว่าครึ่งหนึ่งในนั้นเป็นผู้ประกอบการที่ประสบความสำเร็จอย่างสูงด้วยตัวเองและได้นำมาซึ่งสินค้าและบริการที่โลกก็ต้องการ แต่จากกราฟด้านบนเราจะเห็นว่ามันก็พอมีหลักฐานที่น่าเชื่อถือได้พอประมาณที่บ่งบอกว่าสถานการณ์ในกรณีที่ 2 นั้นโดยเฉลี่ยแล้วอาจเป็นคำอธิบายที่น่าเชื่อถือกว่ากรณีที่ 1 ในสหรัฐฯ เหตุผลก็คือ รายได้ของผู้ประกอบการของบริษัททอป 350 เหล่านี้สูงกว่ารายได้ของกลุ่มคนทอป 0.1% เกือบ 6 เท่าในปี ค.ศ. 2013 ถ้าเราคิดว่าคนที่มีรายได้สูงที่อยู่ในกลุ่มทอป 0.1% นี้ได้มันมาเพราะความสามารถและผลิตภาพที่สูงกว่าคนปกติ แล้วอีก 6 เท่าที่เกินมาสำหรับพวกผู้บริหารระดับสูงล่ะ มันจะมาจากไหนได้อีก นักวิเคราะห์ของ Economic Policy Institute มองว่าคนเหล่านี้ได้มาเพียงเพราะได้ครองตำแหน่งที่สามารถทำให้พวกเขาสูบ rent ออกมาได้สะดวกขึ้น

แนวคิดของ Piketty

ที่มาภาพ : https://www.flickr.com/photos/swanksalot/13984456397

ที่มาภาพ : https://www.flickr.com/photos/swanksalot/13984456397

Piketty คิดว่าบทบาทของอัตราผลตอบแทนของทุนและอัตราเติบโตของเศรษฐกิจมีส่วนสำคัญในการก่อให้เกิดความเหลื่อมล้ำ เขาเขียน 3 fundamental laws ไว้ในหนังสือ Capital ว่าดังนี้
1. a = r x β —– ซึ่งแปลเป็นภาษาคนว่าส่วนแบ่งของรายได้ประชาชาติในเศรษฐกิจที่ตกเป็นของผู้ถือครองทุน (a) นั้นจะเท่ากับอัตราผลตอบแทนจากทุน (r) คูณกับอัตราส่วนระหว่างปริมาณทุนต่อปริมาณรายได้ (β)
2. ในระยะยาว β = s/g —– นั่นก็คืออัตราส่วนระหว่างปริมาณทุนต่อปริมาณรายได้ (β) จะต้องเท่ากับอัตราการออม (s) หารด้วยอัตราเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ (g) ในระยะยาว
3. หาก r > g เมื่อไหร่ ผู้ที่ถือครองทุนจะค่อยๆ ได้รับสัดส่วนรายได้ทั้งหมดของเศรษฐกิจที่เพิ่มขึ้นโดยไม่รู้จบและจะก่อให้เกิดความเหลื่อมล้ำมากขึ้นเรื่อยๆ

Piketty เริ่มต้นด้วยการใช้ข้อมูลที่ชี้ให้เห็นว่า อัตราส่วนระหว่างปริมาณทุนต่อปริมาณรายได้ (β) ในหลายประเทศ เช่น สหรัฐฯ และฝรั่งเศสนั้นเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ตั้งแต่ปี ค.ศ. 1950 จนเกือบเท่ากับในสมัยศตวรรษที่ 19 และคาดว่าจะขึ้นจาก 4.5 ในปี ค.ศ. 2010 ไปถึง 6.5 เมื่อสิ้นศตวรรษนี้

ลองสมมติว่ามีเศรษฐกิจที่โตปีละ 5% (g) และมีการออม (s) 10% ของรายได้ทั้งหมดของประเทศ หากเศรษฐกิจปีนี้มีรายได้ประชาชาติ 100 บาท แสดงว่าเราจะออมไว้ 10 บาท (10 บาทนี้เป็นสิ่งที่ Piketty เรียกแบบหลวมๆ ว่า “capital” หรือทุน) การที่อัตราส่วนระหว่างปริมาณทุนต่อปริมาณรายได้ (β) จะคงที่ไปตลอดกาลตามกฎข้อสองได้นั้นทุนที่ออมไว้จะต้องมีปริมาณเท่ากับ 200 บาท ปีนี้ β จึงจะเท่ากับ 2 (เอามาหารกันเป็น 200/100) เมื่อเราให้เข็มนาฬิกาเดิน ปีหน้ารายได้ประชาชาติจะเป็น 105 (โต 5%) และทุนจะเป็น 210 (เพิ่มขึ้นมาด้วยเงินที่ออมมาจากรายได้ประชาชาติ 100 บาท) β จึงจะคงที่ที่ 2 ไปเรื่อยๆ ตลอดกาล ทั้งนี้ Piketty มองว่าโลกข้างหน้าน่าจะมีอัตราออมเฉลี่ยประมาณ 10% และอัตราเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจน่าจะลดลงไปเหลือราวๆ 1 ถึง 2% จนทำให้ β ขึ้นไปเกือบถึง 7

ขั้นถัดไปคือ ตามกฎข้อแรกหากคุณเอาอัตราผลตอบแทนจากทุน (r) ในเศรษฐกิจมาคูณกับ β ที่เราคำนวณไว้เมื่อครู่ก็จะได้สิ่งที่เรียกว่า “ส่วนแบ่งของทุนจากรายได้ประชาชาติ (a)” จากตัวอย่างที่ β = 2 จะเห็นว่าหากคุณคาดว่า r จะมีค่าประมาณ 4% ต่อปี ส่วนแบ่งของทุนจะเป็น 8% (2*4%) ของรายได้ประชาชาติ แต่ในตัวอย่างที่ Piketty คาดไว้ว่า β จะสูงขึ้นไปเฉียด 7 ในอนาคต ส่วนแบ่งของทุนจะพุ่งขึ้นไปถึง 28% (7*4%) ของรายได้ประชาชาติ และจะขึ้นไปมากกว่านี้อีกหาก r สูงกว่า 4% ถ้าคิดเล่นๆ ว่า r จะขึ้นไปถึง 6% ขึ้นมา ส่วนแบ่งของทุนจะขึ้นไปถึง 42% (7*6%) ของรายได้ประชาชาติเลยทีเดียว ส่วนที่เหลือ 58% คือส่วนแบ่งของรายได้ที่มาจากการทำงาน (ที่มนุษย์เงินเดือนและแรงงานปกติเป็นผู้ถือครอง)

นี่คือกรณีที่ชี้ให้เห็นถึงสิ่งที่จะเกิดขึ้นเมื่ออัตราผลตอบแทนจากทุนมากกว่าอัตราเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ (r>g) ในกรณีที่ β = 7 และ r = 6% > g หากมีคนแค่ไม่กี่คนถือครองทุนส่วนมาก ก็จะแปลว่าคนกลุ่มเล็กๆ นี้จะได้รับส่วนแบ่งจากการที่เศรษฐกิจเติบโตทุกปีไปเต็มๆ 42% ของรายได้ประชาชาติ คนกลุ่มนี้อาจรวยมากถึงขั้นไม่ต้องทำงานเลยก็จะยังเห็นรายได้จากทุนโตขึ้นราว r = 6% ต่อปี ซึ่งสูงกว่าอัตราที่รายได้จากหยาดเหงื่อในการทำมาหากินโดยคนส่วนใหญ่ที่จะโตได้แค่อย่างมากเท่ากับอัตราเติบโตของเศรษฐกิจ ซึ่งหลายคนคาดว่าจะต่ำลงเรื่อยๆ

หนังสือ Capital ไม่ได้เน้นเรื่องพฤติกรรมการออมมากนัก มันเป็นไปได้ที่ความเหลื่อมล้ำที่กฎข้อสามทำนายไว้จะไม่เกิดขึ้นหากชนชั้นกลางออมเก่งเพื่อไปเอาประโยชน์จาก r > g และพวกทอป 1% กลับไม่ยอมออมเลย (เอาไปซื้อเรือยอตช์หมด!) อย่างไรก็ตาม สิ่งนี้คงเกิดขึ้นยากมาก ในชีวิตจริงคนที่ร่ำรวยมากๆ มักจะมีอัตราการออมที่สูงกว่าคนส่วนมาก เพราะว่า 1) พวกเขามีรายได้สูงเกินพอให้เหลือใช้และ 2) พวกเขาเลือกที่จะออม จากงานวิจัยของ Saez กับ Zucman กลุ่มทอป 1% กลุ่ม 9% ถัดมา และ กลุ่ม 90% ที่เหลือในสหรัฐฯ นั้นมีอัตราการออมคือ 38% 15% และ 0% ตามลำดับ ดังนั้น ภาพที่ Piketty เห็นจึงเหมือนเป็นการกลับมาของทุนนิยมมรดกที่จะเข้ามามีบทบาทแทนที่การขยันทำงาน ขยันประดิษฐ์อะไรใหม่ๆ เพื่อหาเงินจากรายได้ที่มีอัตราเติบโตน้อยกว่าอัตราผลตอบแทนจากทุน

Piketty พบว่า r>g เป็นจริงในอดีตยกเว้นในช่วงสงครามโลก แต่จะเป็นจริงไปเรื่อยๆ หรือไม่คงไม่มีใครทราบได้ แม้ว่ามุมมองของ Piketty ฟังดูเหมือนว่าต้นตอของปัญหาอยู่ที่ระบบทุนนิยม แต่ผู้เขียนไม่คิดว่าทุนนิยมคือผู้ร้ายตัวจริง ทุนในที่นี้เป็นเพียงพาหนะของความเหลื่อมล้ำในระบบเศรษฐกิจที่พัฒนาไปในทางที่สามารถรองรับปริมาณทุนที่มากขึ้นพร้อมๆ กับทำให้อัตราตอบแทนของทุนไม่ตกลง

4. อะไรคือจุดหมายของการแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำ

Piketty เสนอว่าให้ทุกสังคมบนโลกร่วมมือกันเก็บภาษีคนรวยทั่วโลก (80% ของผู้ที่มีรายได้ระหว่าง 1 ล้านถึง 5 แสนดอลลาร์ต่อปี และราวๆ 50-60% ของผู้ที่มีรายได้ระหว่าง 5 แสนถึง 2 แสนดอลลาร์ต่อปี) เพื่อไม่ให้เกิดการ “รวยกระจุกแล้วแยกวง” ตั้งแต่แรก ข้อเสนอนี้เป็นเรื่องที่ถูกหยิบยกมาถกเถียงเป็นอย่างมาก บ้างก็ว่าเป็นนโยบายประชานิยมเกินไป บ้างก็ว่าเป็นนโยบายที่ยังไงก็ไม่มีวันเกิดขึ้นได้

แต่ก่อนที่เราจะลงมือทำอะไรก็ตาม ผู้เขียนคิดว่าเรามาลองคิดดูดีๆ กันก่อนดีกว่าว่า จุดหมายของการแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำคืออะไร

ตอนเด็กๆ ผู้เขียนเคยคิดว่า “ความเท่าเทียมกันอย่างสมบูรณ์” คือจุดมุ่งหมายของสังคมในฝันที่มีนโยบายและกฎหมายคอยปรับให้ทุกคนมีทุกสิ่งทุกอย่างเท่าเทียมกันหมด ไม่ว่าจะเป็นทรัพย์สินหรือคะแนนสอบเข้ามหาวิทยาลัย

แต่เมื่อเวลาผ่านไปก็คิดได้ว่า แม้สังคมนั้นจะเกิดขึ้นมาได้จริงๆ มันไม่มีเหตุผลที่ฟังขึ้นเลยว่าทำไมโลกที่เท่าเทียมกันหมดทุกมิติถึงจะต้องเป็นโลกที่ดีที่สุด

สังคมที่ไม่มีความเหลื่อมล้ำแต่ก็ไม่มีอันจะกินมันฟังดูไม่เข้าท่านัก หรือแม้กระทั่งสังคมที่มั่งคั่งและไม่มีความเหลื่อมล้ำเลยก็ตาม ผู้คนอาจจะไม่มีความสุขกับชีวิตก็เป็นได้โดยเฉพาะถ้าคนส่วนใหญ่ในสังคมนั้นชื่นชอบการอยู่เหนือกว่าผู้อื่น

ประเด็นนี้คือจุดหักเหสำคัญที่ทำให้ปัญหาความเหลื่อมล้ำกลายเป็นปัญหาทางปรัชญามากกว่าปัญหาทางเศรษฐศาสตร์

แนวคิดทางเศรษฐศาสตร์ตั้งเป้าหมายสังคมไว้ว่าเราจะพยายาม maximize สวัสดิการสังคม (social welfare) โจทย์ก็คือ เราจะแบ่งทรัพยากรอันจำกัดและจะสร้างกฎเกณฑ์กับนโยบายสังคมอย่างไรเพื่อให้เวลารวมอรรถประโยชน์ของทุกๆ ชีวิตมนุษย์ในสังคมแล้วออกมาเป็นตัวเลขที่มีค่ามากที่สุด และเราจะให้น้ำหนักความสำคัญกับอรรถประโยชน์ของมนุษย์แต่ละคนในสังคมอย่างไร เราอาจจะให้น้ำหนักทุกคนเท่ากันหมดเพื่อเป็นเสริมสร้างสังคมที่ยึดหลักความเสมอภาคของมนุษย์ทุกคนหรือเราจะให้ความสำคัญกับคนบางกลุ่มมากกว่าอย่างที่เรามักพบเห็นได้ในสังคมที่แบ่งชนชั้น

แต่ความท้าทายอยู่ตรงที่ว่า 1) คนเราแตกต่างกันมาก 2) เรายังไม่มีเครื่องวัดอรรถประโยชน์ของแต่ละคน 3) สังคมอาจเลือกให้ความสำคัญกับชีวิตคนแต่ละคนไม่เท่ากัน

ในชีวิตจริงนั้น คนเราไม่น่าจะมีพฤติกรรมที่เหมือนหุ่นยนต์แบบในเศรษฐกิจชาวป่าที่ทุกคนเป็นโคลนของกันและกัน และจะประพฤติเหมือนกับคนในชนชั้นเดียวกันแม้เราจะสุ่มให้เขาไปเกิดในชนชั้นที่ต่างออกไป แม้ว่า DNA มนุษย์จากทั่วทุกมุมโลกจะไม่ต่างกันเกิน 0.1% แต่ 0.1% ที่แตกต่างนี้มีผลอย่างยิ่งต่อทั้งโอกาสเป็นโรคภัยต่างๆ นานา ความถนัดของมือ (ที่มีความเกี่ยวเนื่องกับ cognitive skills) ความสามารถบางอย่างโดยเฉพาะความสามารถด้านกายภาพ เช่น การเล่นกีฬาที่การฝึกซ้อมและสภาพสิ่งแวดล้อมก็ทดแทนไม่ได้ไม่หมด (อ่านเพิ่มเติมได้ในหนังสือเล่มนี้) หรือแม้กระทั่งระดับความสุขที่คนเราสามารถได้รับก็ตาม 50% นั้นถูกกำหนดไว้แต่แรกเกิดแล้วด้วยพันธุกรรม

เมื่อเป็นเช่นนี้แล้ว มันก็ไม่สมเหตุสมผลเลยที่จะสรุปว่าสินค้าหรือบริการ 1 ชิ้น ไม่ว่าจะเป็น เงิน 1 บาท หรือ ที่ดิน 1 ไร่ จะต้องให้อรรถประโยชน์กับผู้คนที่แตกต่างกันเหล่านี้ในระดับที่เท่ากัน

Vilfredo Paretoนักเศรษฐศาสตร์ชาวอิตาลี เคยยกตัวอย่างน่าคิดเอาไว้ว่า การเก็บภาษีคนรวยเพื่อเอาเงินไปให้คนจนตามทฤษฎีแล้วอาจทำให้สวัสดิการสังคมโดยรวมลดลง คือ ลองสมมติว่าสังคมมีคนสองคน นายรวยกับนายจน เราเป็นพระเจ้าที่กำลังจะโยกเงิน 1 บาทจากนายรวยมาให้นายจน ถ้าบังเอิญว่าอรรถประโยชน์ที่นายจนได้จากเงิน 1 บาทที่เราโยกมาให้มันกลับน้อยกว่าอรรถประโยชน์ที่นายรวยเสียไปจากการถูกเราเก็บภาษีไป 1 บาท ก็เท่ากับว่าสวัสดิภาพสังคมแย่ลงกว่าก่อนที่เราจะลงมือเก็บภาษีจากนายรวย ตัวอย่างนี้ค่อนข้างพิเรนทร์แต่ก็ใช่ว่าจะเป็นไปไม่ได้

นอกจากนั้น ทุกวันนี้เรายังไม่มีเครื่องวัดอรรถประโยชน์ของมนุษย์ และดูเหมือนว่าสิ่งที่เกิดขึ้นเมื่อไม่กี่เดือนที่ผ่านมา เช่น วิกฤติผู้ลี้ภัยและความแค้นต่อชาวมุสลิม รู้สึกได้เลยว่า หลายสังคมยังตกลงกันไม่ได้ด้วยซ้ำว่ามนุษย์แต่ละคน แต่ละเชื้อชาติ แต่ละศาสนา ควรมีค่าเท่ากันหรือไม่

แต่ก็ยังพอจะมีตัวอย่างที่ทำให้เรามองโลกในแง่ดีขึ้นได้เหมือนกันจากการที่คนกลุ่มทอป 0.00025% อย่าง บิล เกตส์ หรือ มาร์ก ซักเคอร์เบิร์ก หรือ มาโนช ภควา (Manoj Bhargava เจ้าของเครื่องดื่มชูกำลัง 5-hour energy) ได้แบ่งทรัพย์สินและเวลาส่วนตัวมูลค่าไม่น้อยมาให้ความสนใจกับการ “ทำดีเพื่อโลก”

ผู้เขียนหวังว่าท่านผู้อ่านจะได้เห็นถึงความซับซ้อนของปัญหาความเหลื่อมล้ำจากบทความนี้ ว่าความเหลื่อมล้ำมีหลายนิยาม มีหลายต้นตอ และมีจุดหมายของการแก้ไขที่ค่อนข้างออกไปในเชิงปรัชญา เพราะฉะนั้น ผู้เขียนไม่คิดว่านโยบายเศรษฐกิจไม่กี่นโยบายจะช่วยแก้ปัญหาอันซับซ้อนที่ยังไม่มีใครเข้าใจได้ 100% นี้ได้หมด แต่ก็ไม่ใช่ว่าเราควรจะนิ่งเฉย

ในระหว่างที่เรากำลังรอความก้าวหน้าของความรู้เกี่ยวกับความเหลื่อมล้ำและการเปิดเผยข้อมูลทรัพย์สินทั่วโลก ผู้เขียนคิดว่าสังคมที่น่าอยู่อย่างน้อยๆ จะต้องมีอะไรรองรับคนที่กำลังลำบากบ้าง เพราะไม่ใช่ทุกคนที่ลำบาก ลำบากเพราะการกระทำของตัวเองทั้งหมด ใช่ บางครั้งคนที่ลำบากเขาทำตัวเอง แต่บางครั้งโชคชะตามันก็กำหนดหนทางของคนเราไว้มากกว่าครึ่งเข้าไปแล้วเหมือนกัน มันเป็นเรื่องประหลาดจริงๆ เวลาเราลองนึกดูว่าเศรษฐกิจของบางประเทศมาไกลแค่ไหนแล้ว แต่ทุกวันนี้กลับมีคนจำนวนมากที่ต้องเสียชีวิตเพียงเพราะโชคร้ายเกิดมาพ่อแม่ไม่เลี้ยงดู เกิดมาไม่ได้เรียนหนังสือ หรือเกิดมามีโรคที่ทำให้บริษัทประกันไม่รับเป็นลูกค้า ทำงานไม่ได้และต้องเสียชีวิตไปในที่สุด

แล้วนโยบายแบบไหนถึงจะทำให้เกิดความสมดุลที่ไม่ “ใจดี” หรือ “ใจร้าย” ต่อผู้ที่ลำบากเกินไป คงไม่มีใครตอบได้หากสังคมไม่ให้ความสำคัญกับการแก้ปัญหานี้อย่างจริงจังตั้งแต่แรก ตัวอย่างที่น่าสนใจในขณะนี้คือ รัฐบาลฟินแลนด์กำลังจะทำการทดลองสุ่มให้รายได้พื้นฐาน (Basic Income) กับประชากรของเขาเป็นเวลา 2 ปี หากการทดลองผ่านไปได้ด้วยดี ผลลัพธ์จากการทดลองนี้จะทำให้เรามีความเข้าใจเกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างรายได้ ความเหลื่อมล้ำ และความยากจนมากขึ้น

สุดท้ายนี้ ผู้เขียนหวังว่าแนวคิดและสถิติต่างๆ ในบทความนี้จะช่วยจุดประกายการถกเถียงเรื่องความเหลื่อมล้ำในสังคมไทยนะครับ

Source : ตีพิมพ์ครั้งแรกที่ “เศรษฐ” ความคิด – settaKid.com ณ วันที่ 12 ธันวาคม พ.ศ. 2558