ย้อนรอยรัฐประหารในประวัติศาสตร์ไทย

ย้อนรอยรัฐประหารในประวัติศาสตร์ไทย

Author : pornphanh

ตอนนี้บ้านเมืองกำลังอยู่ในความวุ่นวาย ต่างฝ่ายต่างออกมาประท้วง จนกระทั่งทหารต้องออกมาแถลงเกี่ยวกับการอัยการศึก และมีแถลงการล่าสุดคือ รัฐประหาร วันนี้ทีนเอ็มไทยมีข้อมูล ย้อนรอยรัฐประหารในประวัติศาสตร์ไทย ไปดูกันคะว่าในครั้งอดีตนั้นมีเหตุการณ์อะไรบ้าง

การรัฐประหาร คืออะไร?

หมายถึง การล้มล้างรัฐบาลผู้บริหารปกครองรัฐในขณะนั้น แต่มิใช่การล้มล้างระบอบการปกครองหรือทั้งรัฐ และไม่จำเป็นต้องใช้ความรุนแรง หรือเกิดเหตุนองเลือดเสมอไป

เช่นหากกลุ่มทหารอ้างว่า รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง บริหารประเทศชาติผิดพลาด และจำเป็นต้องบังคับให้รัฐบาลพ้นจากอำนาจ จึงใช้กำลังบังคับให้ออกจากตำแหน่ง โดยประกาศยกเลิกรัฐธรรมนูญ หรือประกาศให้มีการเลือกตั้งใหม่ ภายในเวลาที่กำหนด ลักษณะนี้ก็เรียกได้ว่า เป็นการก่อรัฐประหาร โดยในวิชาการพัฒนาการเมือง ซึ่งเป็นสาขาวิชาทางรัฐศาสตร์ จะถือว่าการรัฐประหาร มิใช่วิธีทางของวัฒนธรรมทางการเมืองแบบประชาธิปไตย และถือเป็นความเสื่อมทางการเมือง (political decay) แบบหนึ่ง ทั้งนี้ หากความพยายามในการก่อรัฐประหาร ไม่ประสบความสำเร็จ ผู้ก่อการมักถูกดำเนินคดีในข้อหากบฏ

ย้อนรอยรัฐประหารในประวัติศาสตร์ไทย : รวมปัจจุบันมีถึง 13 เหตุการณ์ด้วยกัน ดังนี้

1. รัฐประหาร 1 เมษายน พ.ศ. 2476 พระยามโนปกรณ์นิติธาดา ได้ประกาศพระราชกฤษฎีกาปิดสภาผู้แทนราษฎร พร้อมงดใช้รัฐธรรมนูญบางมาตรา

เกิดจากการนำเสนอเค้าโครงเศรษฐกิจของนายปรีดี พนมยงค์ ฉบับที่เรียกว่า “สมุดปกเหลือง” ที่ถูกหลายฝ่ายมองว่าเป็นคล้ายกับเค้าโครงเศรษฐกิจของคอมมิวนิสต์ ก่อให้เกิดความเห็นขัดแย้งกันอย่างรุนแรงในหมู่คณะราษฎรด้วยกันเองและบรรดาข้าราชการ จึงเกิดการ รัฐประหารเงียบ บีบบังคับให้นายปรีดีเดินทางออกนอกประเทศ พร้อมทั้งกวาดล้างจับกุมพวกที่คิดว่าเป็นคอมมิวนิสต์, พรรคคอมมิวนิสต์ ทั้งนี้มีบันทึกที่ไม่เป็นทางการว่า พระยามโนปกรณ์นิติธาดา และ พระยาทรงสุรเดช ร่วมมือกันในการขจัดบทบาททางการเมืองของคนสำคัญในคณะราษฏรเอง เช่น นายปรีดี พนมยงค์ และหลวงพิบูลสงคราม เป็นต้น

อ่านต่อ รัฐประหารเงียบ (ครั้งที่ 1)

2. รัฐประหาร 20 มิถุนายน พ.ศ. 2476 นำโดยพลเอกพระยาพหลพลพยุหเสนา ยึดอำนาจรัฐบาล พระยามโนปกรณ์นิติธาดา

เป็นรัฐประหารครั้งแรกในประเทศไทย รัฐประหารครั้งนี้มีขึ้นหลังพระยามโนปกรณ์นิติธาดาประกาศพระราชกฤษฎีกาปิดสภาฯ และงดใช้รัฐธรรมนูญบางมาตรา หลังจากมีความขัดแย้ง“สมุดปกเหลือง” จนกระทั่งเกิดวิกฤตเมื่อ “4 ทหารเสือ” พระยาพหลพลพยุหเสนา, พระยาทรงสุรเดช, พระยาฤทธิอัคเนย์ และพระประศาสน์พิทยายุทธ ลาออกจากตำแหน่งเมื่อวันที่ 18 มิถุนายน ปีเดียวกัน โดยอ้างเหตุผลว่าเพื่อพักผ่อนหลังจากตรากตรำทำงานราชการจนสุขภาพเสื่อมโทรม

จากนั้น ในเวลาหัวค่ำของคืนวันที่ 20 มิถุนายน พ.ศ. 2476 คณะทหารบก, ทหารเรือ และพลเรือน นำโดยพระยาพหลพลพยุหเสนา, หลวงพิบูลสงคราม และหลวงศุภชลาศัย ได้ทำรัฐประหารยึดอำนาจจากพระยามโนปกรณ์นิติธาดา

อ่านต่อ รัฐประหารครั้งที่ 2

3. รัฐประหาร 8 พฤศจิกายน พ.ศ. 2490 นำโดย พล.ท.ผิน ชุณหะวัณ ยึดอำนาจรัฐบาล พล.ร.ต.ถวัลย์ ธำรงนาวาสวัสดิ์

สาเหตุของการรัฐประหารก็คือ รัฐบาล พล.ร.ต.ถวัลย์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ ซึ่งสืบอำนาจต่อจากรัฐบาล นายปรีดี พนมยงค์ ไม่สามารถจัดการกับปัญหาความขัดแย้งกันในชาติได้ อันมีสาเหตุหลักจากเหตุการณ์สวรรคตของรัชกาลที่ 8 ประกอบกับมีการทุจริตคอร์รัปชั่นในวงราชการ

อ่านต่อ รัฐประหารครั้งที่ 3

4. รัฐประหาร 6 เมษายน พ.ศ. 2491 คณะนายทหารกลุ่มที่ทำการรัฐประหาร 8 พฤศจิกายน พ.ศ. 2490 จี้บังคับให้ นายควง อภัยวงศ์ ลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี และมอบตำแหน่งต่อให้ จอมพล ป. พิบูลสงคราม

เป็นการทำรัฐประหารโดยบุคคลกลุ่มเดียวกันกับที่ทำรัฐประหารรัฐบาล พล.ร.ต.ถวัลย์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ ซึ่งเป็นกลุ่มที่สนับสนุน จอมพล ป. อดีตนายกรัฐมนตรี โดยที่ภายหลังจากกลุ่มนายทหารนำโดย พล.ท.ผิน ชุณหะวัณ (ยศขณะนั้น) ได้ทำการรัฐประหารรัฐบาล พล.ร.ต.ถวัลย์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ เมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน พ.ศ. 2490 แล้วได้แต่งตั้งให้ นายควง อภัยวงศ์ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ พรรคฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร รักษาการในตำแหน่งนายกรัฐมนตรี เพื่อจัดการเลือกตั้งทั่วไปสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.)

ต่อมาในการเลือกตั้งวันที่ 29 มกราคม พ.ศ. 2491 พรรคประชาธิปัตย์ สามารถชนะการเลือกตั้งได้รับเสียงสูงสุดในสภาฯ นายควง อภัยวงศ์ ในฐานะ หัวหน้าพรรคได้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีสืบต่อ ท่ามกลางสภาพแวดล้อมที่บ่งชี้ว่า ผู้มีอำนาจที่แท้จริงก็คือ จอมพล ป. พิบูลสงคราม ทำให้เกิดการขัดแย้ง ..

อ่านต่อ รัฐประหารครั้งที่ 4

5. รัฐประหาร 29 พฤศจิกายน พ.ศ. 2494 นำโดยจอมพล ป. พิบูลสงคราม ยึดอำนาจรัฐบาลตนเอง

เป็นการรัฐประหารอีกครั้งที่เกิดในประเทศไทย แต่เป็นรัฐประหารครั้งแรกที่เรียกได้ว่า เป็นการ รัฐประหารตัวเอง (ยึดอำนาจตัวเอง) เหตุเนื่องจากจอมพล ป. พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรี อ้างว่าไม่ได้รับความสะดวกในการบริหารราชการแผ่นดิน เหตุสืบเนื่องจากรัฐธรรมนูญฉบับปี พ.ศ. 2492 อันเป็นรัฐธรรมนูญที่ใช้อยู่ขณะนั้น ไม่เอื้อให้เกิดอำนาจ คือให้ผู้ที่เป็น สมาชิกวุฒิสภาจะเป็นข้าราชการประจำไม่ได้ การยึดอำนาจกระทำโดยไม่ใช้การเคลื่อนกำลังใด ๆ

ซึ่งการรัฐประหารครั้งนี้ได้ถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวางว่าเป็นการกระทำที่ประหลาดที่สุดในโลก และเป็นเหตุให้พรรคฝ่ายค้าน คือ พรรคประชาธิปัตย์ ได้ประกาศคว่ำบาตรรัฐบาลทุกประการ

อ่านต่อ รัฐประหารครั้งที่ 5

6. รัฐประหาร 16 กันยายน พ.ศ. 2500 นำโดยจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ยึดอำนาจรัฐบาล จอมพล ป.พิบูลสงคราม

ป็นการรัฐประหารที่ถือได้ว่าพลิกโฉมหน้าการเมืองไทยไปอีกรูปแบบหนึ่งเช่นเดียวกับการรัฐประหารในปี พ.ศ. 2490 สืบเนื่องจากความแตกแยกกันระหว่างกลุ่มทหาร ที่นำโดย จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ผู้บัญชาการทหารบก กับ พล.ต.อ.เผ่า ศรียานนท์ อธิบดีกรมตำรวจ ที่ค้ำอำนาจของรัฐบาล จอมพล ป. พิบูลสงคราม

มีการเลือกตั้งที่นับได้ว่ามีการโกงกันมากที่สุดในประวัติศาสตร์ นิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยและประชาชนร่วมกันเดินขบวนประท้วงการเลือกตั้ง จอมพล ป. นายกรัฐมนตรี สั่งประกาศภาวะฉุกเฉิน และแต่งตั้งให้ จอมพลสฤษดิ์ เป็นผู้ปราบปรามการชุมนุม แต่เมื่อฝูงชนเดินทางมาถึงสะพานมัฆวานรังสรรค์แล้ว จอมพลสฤษดิ์กลับเป็นผู้นำเดินขบวน พาฝูงชนข้ามสะพานมัฆวานรังสรรค์

อ่านต่อ รัฐประหารครั้งที่ 6

7. รัฐประหาร 20 ตุลาคม พ.ศ. 2501 นำโดยจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ยึดอำนาจรัฐบาล จอมพลถนอม กิตติขจร (ตามที่ตกลงกันไว้)

เกิดขึ้นหลังจากที่ จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ได้ทำการรัฐประหารในปี พ.ศ. 2500 ล้มอำนาจเดิมของ จอมพล ป. พิบูลสงคราม แล้วได้มอบหมายให้ นายพจน์ สารสิน เอกอัครราชทูตไทยประจำสหรัฐอเมริกาดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเพื่อจัดการเลือกตั้ง มีการเลือกตั้งขึ้นในวันที่ 15 ธันวาคม พ.ศ. 2500 วันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2501พลโทถนอม กิตติขจร จึงขึ้นดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีต่อมา

แต่ว่าการเมืองในรัฐสภาไม่สงบ เนื่องจากบรรดา ส.ส. เรียกร้องเอาผลประโยชน์และมีการขู่ว่าหากไม่ได้ตามที่ร้องขอจะถอนตัวจากการสนับสนุนรัฐบาล เป็นต้น พล.ท.ถนอม กิตติขจรก็ไม่อาจควบคุมสถานการณ์ได้ พล.ท.ถนอม กิตติขจร จึงประกาศลาออกในเวลาเที่ยงของวันเดียวกัน แต่ทว่ายังไม่ได้ประกาศให้แก่ประชาชนทราบโดยทั่วกัน จากนั้นจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ประกาศยึดอำนาจอีกครั้ง โดยอ้างถึงเหตุความมั่นคงของประเทศ ซึ่งมีลัทธิคอมมิวนิสต์กำลังคุกคาม โดยมีคำสั่งคณะปฏิวัติให้ยกเลิกรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2475 แก้ไขเพิ่มเติม พุทธศักราช 2495 ที่ใช้อยู่ขณะนั้น ยุบสภา ยกเลิกสถาบันทางการเมือง

อ่านต่อ รัฐประหารครั้งที่ 7

8. รัฐประหาร 17 พฤศจิกายน พ.ศ. 2514 นำโดย จอมพลถนอม กิตติขจร ยึดอำนาจรัฐบาลตนเอง

เป็นการรัฐประหารอีกครั้งในประเทศไทย ที่เป็นการ ยึดอำนาจตัวเอง สาเหตุสืบเนื่องจากการที่สมาชิกพรรคสหประชาไทยของจอมพลถนอม กิตติขจร นายกรัฐมนตรีที่มาจากการเลือกตั้งในปี พ.ศ. 2512 นำโดย นายญวง เอี่ยมศิลา ส.ส.จังหวัดอุดรธานี ได้เรียกร้องผลประโยชน์ตอบแทนต่าง ๆ ตามที่จอมพลถนอมได้เคยสัญญาไว้ในช่วงเลือกตั้ง เมื่อไม่ได้รับการตอบแทนดังที่สัญญาไว้ ส.ส.เหล่านี้ได้ต่างพากันเรียกร้องต่าง ๆ นานา บ้างก็ขู่ว่าจะลาออก เป็นต้น ซึ่งเหล่านี้เป็นเหตุให้ จอมพลถนอม หัวหน้าพรรคและนายกรัฐมนตรีซึ่งได้รับฉายาสมัยนั้นว่า “นายกฯคนซื่อ” ไม่อาจควบคุมสถานการณ์ในสภาฯ ได้ จึงทำการยึดอำนาจตนเองขึ้น โดยไม่มีชื่อเรียกคณะรัฐประหารในครั้งนี้โดยเฉพาะเหมือนการรัฐประหารที่เคยมีมาในอดีต แต่เรียกตัวเองเพียงแค่ว่า คณะปฏิวัติ

อ่านต่อ รัฐประหารครั้งที่ 8

9. รัฐประหาร 6 ตุลาคม พ.ศ. 2519 นำโดย พล.ร.อ.สงัด ชลออยู่ ยึดอำนาจรัฐบาล ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช

เนื่องจากเหตุการณ์การสังหารหมู่ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ ที่เกิดขึ้นมาตลอดช่วงวันนั้นที่เรียกว่า เหตุการณ์ 6 ตุลา รัฐบาลพลเรือนโดย หม่อมราชวงศ์เสนีย์ ปราโมช นายกรัฐมนตรี, รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ไม่อาจควบคุมสถานการณ์ให้อยู่ในความสงบเรียบร้อยได้ คณะนายทหาร 3 เหล่าทัพและอธิบดีกรมตำรวจ นำโดย พลเรือเอกสงัด ชลออยู่ ผู้บัญชาการทหารสูงสุด จึงจำเป็นต้องยึดอำนาจการปกครองไว้ โดยใช้ชื่อว่า คณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน

อ่านต่อ รัฐประหารครั้งที่ 9

10.รัฐประหาร 20 ตุลาคม พ.ศ. 2520 นำโดย พล.ร.อ.สงัด ชลออยู่ ยึดอำนาจรัฐบาล นายธานินทร์ กรัยวิเชียร

เหตุเนื่องจากการที่คณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดินที่นำโดย พล.ร.อ.สงัด ได้ทำการรัฐประหารเมื่อปี พ.ศ. 2519 เนื่องจากในเหตุการณ์ 6 ตุลา และแต่งตั้ง นายธานินทร์ กรัยวิเชียร เป็นนายกรัฐมนตรี โดยรัฐบาลนายธานินทร์มีภารกิจสำคัญที่จะต้องกระทำคือ การปฏิรูปการเมืองภายในระยะเวลา 12 ปี ซึ่งทางคณะปฏิรูปฯเห็นว่าล่าช้าเกินไป ประกอบกับสถานการณ์ต่าง ๆ ในประเทศยังไม่สงบดีด้วย ดังนั้นจึงกระทำการรัฐประหารซ้ำอีกครั้ง ซึ่งอาจเรียกว่าเป็นการ รัฐประหารตัวเอง เพื่อกระชับอำนาจก็ว่าได้

อ่านต่อ รัฐประหารครั้งที่ 10

11. รัฐประหาร 23 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2534 นำโดย พล.อ.สุนทร คงสมพงษ์ ยึดอำนาจรัฐบาล พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ

บางครั้งเรียกว่า เหตุการณ์ รสช. โดย คณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ หรือ รสช.(National Peace Keeping Council – NPKC) ยึดอำนาจจากรัฐบาล พลเอกชาติชาย ชุณหะวัณ โดยมีเหตุผลหลายประการ เช่น พฤติการณ์ฉ้อราษฎร์บังหลวง, ข้าราชการการเมือง ใช้อำนาจกดขี่ข่มเหงราชการประจำผู้ซื่อสัตย์สุจริต, รัฐบาลเป็นเผด็จการทางรัฐสภา

อ่านต่อ รัฐประหารครั้งที่ 11

12. รัฐประหาร 19 กันยายน พ.ศ. 2549 นำโดย พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน ยึดอำนาจรัฐบาลรักษาการ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร

นำโดย คณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ซึ่งมีพลเอก สนธิ บุญยรัตกลินเป็นหัวหน้าคณะ โดยโค่นล้มรักษาการนายกรัฐมนตรีพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ซึ่งนับเป็นการก่อรัฐประหารเป็นครั้งแรกในรอบ 15 ปี รัฐประหารครั้งนี้เกิดขึ้นก่อนการเลือกตั้งทั่วไปในเดือนต่อมา หลังจากที่การเลือกตั้งเดือนเมษายนถูกตัดสินให้เป็นโมฆะ นับเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญในวิกฤตการณ์ทางการเมืองที่ดำเนินมายาวนานนับตั้งแต่เดือนกันยายน พ.ศ. 2548 คณะรัฐประหารได้ยกเลิกการเลือกตั้งในเดือนตุลาคม ยกเลิกรัฐธรรมนูญ สั่งยุบสภา สั่งห้ามการประท้วงและกิจกรรมทางการเมือง ยับยั้งและเซ็นเซอร์สื่อ ประกาศใช้กฎอัยการศึก และจับกุมสมาชิกคณะรัฐมนตรีหลายคน

อ่านต่อ รัฐประหารครั้งที่ 12

13. รัฐประหาร 22 พฤษภาคม พ.ศ. 2557 นำโดย พล.อ.ประยุทธ จันทร์โอชา เป็นการประกาศรัฐประหารเพื่อให้รัฐมนตรีรักษาการทั้งหมดหมดอำนาจ และเปลี่ยนผ่านสู่การจัดตั้งคณะรัฐมนตรีชุดใหม่

เป็นเหตุการณ์รัฐประหารในประเทศไทยที่มีผลทั่วราชอาณาจักร เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 เวลา 16.30 น. โดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติ หรือ คสช. (National Peace and Order Maintaining Council) ที่นำโดย พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้บัญชาการทหารบก เป็นหัวหน้าคณะ นับเป็นการรัฐประหารครั้งที่ 13 ในประวัติศาสตร์ไทย

สองวันก่อนหน้านั้น พลเอก ประยุทธ์ ในนามของกองทัพบก ได้ประกาศใช้พระราชบัญญัติกฎอัยการศึก ตั้งแต่เวลา 03:00 นาฬิกา ด้วยการอาศัยอำนาจตามกฎอัยการศึก พ.ศ. 2457 ต่อมากองทัพบกได้ออกประกาศยุติการดำเนินการของศูนย์อำนายการรักษาความสงบเรียบร้อย (ศอ.รส.) และจัดตั้ง กองอำนวยการรักษาความสงบเรียบร้อย (กอ.รส.) ขึ้นแทนโดยมีพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นผู้อำนวยการรักษาความสงบเรียบร้อย (ผอ.รส.) และออกประกาศคำสั่ง และขอความร่วมมือในหลายเรื่องอย่างต่อเนื่องในวันที่ 20 พฤษภาคม พ.ศ. 2557 เช่น ขอให้ระงับการแพร่ภาพออกอากาศโทรทัศน์ดาวเทียมและวิทยุชุมชนที่ไม่ได้รับใบอนุญาต ขอความร่วมมือในการเผยแพร่เนื้อหาทางอินเทอร์เน็ต และเชิญประชุมข้าราชการระดับสูง ผู้นำกลุ่มการเมือง ตัวแทนพรรคการเมืองต่าง ๆ เป็นต้น

อ่านต่อ รัฐประหารครั้งล่าสุด

ทั้งนี้ บางตำราระบุว่า การปิดสภาผู้แทนราษฎร และงดใช้รัฐธรรมนูญบางมาตรา เมื่อวันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2476 เป็นรัฐประหารครั้งแรกของไทย และมิได้แยกเหตุการณ์วันที่ 6 เมษายน พ.ศ. 2491 เป็นรัฐประหารอีกครั้ง

ขอบคุณข้อมูล วิกิพีเดีย

Source : http://teen.mthai.com/variety/72869.html

ทุกข์ที่สุด จะหลุดได้อย่างไร

ทุกข์ที่สุด จะหลุดได้อย่างไร

Author : พุทธทาสภิกขุ

อย่ากลัวว่าความทุกข์นั้น จะมีตลอดไป… อย่าคิดว่าไม่มีทางแก้ไข… หนทางที่เร็วที่สุดคือ เปลี่ยนอารมณ์…
ท่านใดมีทุกข์ ขอให้มันผ่านไปโดยไวครับ…..

เมื่อเราเกิดมาย่อมได้รับ ทั้งสุขและทุกข์ ปะปนกันไปอยู่แล้ว แต่เมื่อทุกข์ที่สุดเราควรจะทำอย่างไร ปัจจุบันเราได้ยินข่าวเรื่อง การฆ่าตัวตายบ่อยมาก ในชีวิตของความเป็นหมอ ก็เจอคนที่ฆ่าตัวตายบ่อยมาก ทั้งที่สำเร็จและไม่สำเร็จ หมอได้พูดได้คุยกับคนเหล่านี้มากมาย คำถามที่น่ารู้ก็คือ…
การฆ่าตัวตายเป็นสิ่งที่ถูกต้อง ควรกระทำหรือไม่ และเราควรจะทำอย่างไรดี

บทความนี้จะไม่สนใจว่าการกระทำอย่างนั้นจะมีผลในอนาคตอย่างไร ทำลายตนเองจะบาปมากแค่ไหน ต้องเกิดมาฆ่าตัวตายใช้กรรมอีก 500 ชาติจริงหรือ เพราะถ้าบอกไป ต้องใช้ความเชื่อและศรัทธาในตัวศาสนามาพูดคุยกัน แต่ต้องการจะบอกว่า การทำลายตนเอง เป็นสิ่งที่น่าเสียดายนัก เสียดายโอกาสที่จะได้รับสิ่งที่ดีอีกมากที่จะตามมา และเสียดายแทนญาติมิตรที่เกี่ยวข้อง ที่จะต้องได้รับผลกระทบกายและใจตลอดไป

ในเรื่องความทุกข์ที่สุดนี้ ธรรมะในพระพุทธศาสนาสอนให้เราแก้เรื่องนี้ได้ทันที ด้วยความเข้าใจ ด้วยความรู้ที่เราไตร่ตรองเองได้ และด้วยประสบการณ์ในอดีตของเราทุกคน ในกาลามสูตรพระพุทธเจ้าทรงสอนไม่ให้เชื่อด้วยเหตุ 10 อย่าง เช่นด้วยเหตุผลว่าผู้สอนเป็นครูของเรา และอื่นๆ รวมสิบประการ แต่จะให้เชื่อก็ต่อเมื่อไตร่ตรองรู้ได้ด้วยตนเองจึงเชื่อ การจะไตร่ตรองให้รู้ได้ด้วยตนเอง จะมีได้ก็ต่อเมื่อเรามีประสบการณ์ในเรื่องนั้นมาแล้ว ดังนั้นประสบการณ์ในอดีตจึงเป็นธรรมะที่เราตรึกตรองได้เช่นกัน

เมื่อความทุกข์ที่สุดมาถึง สิ่งที่ควรระลึกถึงมีสองสามอย่างคือ หนึ่ง อย่ากลัวว่าความทุกข์นั้นจะมีตลอดไป เพราะมันจะไม่คงอยู่ตลอดไป เดี๋ยวมันก็จางไป สอง อย่าคิดว่าไม่มีทางแก้ไขให้ดีขึ้นได้ เพราะจะมีทางแก้ไขเสมอ เพียงแต่ตอนนี้ยังนึกไม่ออกเท่านั้น สาม อย่านึกว่าต่อไปนี้เราจะไม่ได้รับสิ่งดีๆ อีก เพราะเมื่อทุกข์ผ่านไป เราจะยังมีความสุข สนุกสนาน ได้อย่างเดิมแน่นอน และสุดท้ายคือ ให้นึกถึงคนข้างหลัง ที่เขาจะต้องเศร้า ได้รับการกระทบกระเทือน จากการกระทำด้วยอารมณ์ของเรา เมื่อทุกข์ที่สุดมาถึงสิ่งที่เราต้องทำทันที ในขณะที่ยังตั้งตัวปรับใจไม่ทันก็คือ รีบหาทางเปลี่ยนอารมณ์ เมื่อเราไปเจอคนอื่นทุกข์สิ่งที่ต้องทำอันดับแรก คือช่วยเปลี่ยนอารมณ์เขาก่อน จากนั้นสติจึงจะตามมา

ความทุกข์ที่มากสุดจะแก้ได้เร็วและง่ายที่สุด ด้วยการเปลี่ยนอารมณ์ ดึงอารมณ์ออกจากสถานการณ์นั้นก่อน อาจง่ายๆ เพียงแค่ทำอะไรที่ชอบ ฟังเพลง ดูหนัง หาของอร่อยกิน ชวนเพื่อนไปเที่ยว ชวนคุยเรื่องอื่น ลืมเรื่องทุกข์ไปชั่วคราวก่อน บางทีก็เบาบางได้เอง ที่สำคัญถ้ามีเพื่อนดี จะเบาบางไปได้มากที่สุด ที่ไม่ควรทำคือดื่มสุรา หรือพูดง่ายๆ ก็คือ ไม่ควรหันไปดื่มเหล้าเบียร์ เพราะการกินเหล้าก็ดับทุกข์ได้ระดับหนึ่งเท่านั้น แต่จะมีข้อเสียกว่าคือ จะยิ่งโกรธง่าย น้อยใจง่ายและโมโหง่ายกว่าเดิม และไม่มีสติยับยั้งความโกรธ หรืออารมณ์ที่รุนแรงเหล่านั้น เมื่อเปลี่ยนอารมณ์ได้ ใจจะเข็มแข็งมากพอที่จะแก้ในขั้นต่อไป

ขั้นต่อไปคือพยายามตั้งใจใช้สติคิดว่าจะแก้ได้อย่างไร อะไรเป็นเหตุ อะไรเป็นผล สายไปแค่ไหนแล้วและแก้ได้หรือไม่ ทำให้ดีขึ้นได้หรือไม่ ถ้าแก้ไม่ได้ ขั้นสุดท้ายคือ ทำให้ใจของเรายอมรับสิ่งนั้นให้ ได้ ใจของเราจะยอมรับได้ คิดได้ ปลงตกได้ต้องมีสิ่งที่เรียกว่า ธรรมะ

ท่านพุทธทาสภิกขุ สอนว่า โดยสรุปรวมในธรรมะของพระพุทธเจ้า อาจสรุปเป็นแบบหนึ่งได้ว่า สิ่งทั้งหลายทั้งปวงไม่ควรยึดมั่นถือมั่น นั่นเป็นเพราะในความเป็นจริง สิ่งทั้งหลายย่อมไม่ได้ดั่งใจเรา มีความไม่เที่ยง แปรเปลี่ยนไปได้ตลอดเวลาด้วยเหตุและปัจจัย จึงไม่สมควรที่จะไปหลงยึดมั่นหมายว่าเป็นเรา เป็นตัวเรา หรือเป็นของของเรา สิ่งทั้งหลายไม่ได้ดั่งใจทั้งนั้น ไม่ว่าเราจะเป็นใคร รวยเพียงใด อำนาจล้นฟ้าขนาดไหน ต่างก็มีความทุกข์ประจำตัวประจำอยู่ทุกคนทั้งสิ้น

เมื่อคนคนหนึ่งประสพอุบัติเหตุขาขาดสองข้าง เขาจะรู้สึกอยากตายไม่อยากอยู่ จะรู้สึกว่าชีวิตนี้ไม่มีอะไรเหลืออีกแล้ว แต่ผ่านไปสักสองปี ไปดูอีกทีกำลังหัวเราะอยู่เพราะดูละคร ส่วนเรื่องขาขาดก็นั่งรถเข็นเอา และก็ชินเสียแล้ว ไม่เสียใจมากเหมือนตอนขาขาดใหม่ๆ บางคนแฟนตายไปเสียใจแทบตายตาม ผ่านไป 3 ปี มีแฟนใหม่แล้ว มีความสุขดีมากเลย ความทุกข์จึงเป็นของไม่เที่ยงเสมอ เช่นเดียวกับความสุข เพียงแต่ว่าตอนทุกข์ ให้ผ่านวันเวลาไปได้ ไม่ด่วนตายไปเสียก่อน เมื่อทุกข์ผ่านไป จะมีสิ่งดีๆ ตามมาได้แน่นอน

และเมื่อมองย้อนไป ความทุกข์เหล่านั้นมันก็เท่านั้นเอง เมื่อเราอ่านมาถึงตอนนี้ ก็ขอให้ลองใช้เวลานี้ นึกถึงอดีตที่มีทั้งทุกข์และสุขของเราดู อดีตนั่นแหละที่จะสอนตัวเราในความจริงแห่งธรรมะ ในกาลามสูตรพระพุทธเจ้าทรงสอนไม่ให้เชื่ออะไรง่ายๆ แต่สอนว่าเมื่อเราพิจารณาได้เอง ว่านี้เป็นสิ่งดีหรือไม่ดีแก่จิตใจจึงค่อยเชื่อ การจะพิจารณาได้อย่างนั้น จะต้องมีประสบการณ์ในความรู้สึก แบบนั้นในอดีตมาก่อน อดีตจึงเป็นธรรมะที่สอนใจได้เป็นอย่างดี

ทุกข์ที่สุดจะเกิดจาก ความยึดมั่นถือมั่นที่สุด สิ่งใดที่เรารักมากยึดมากว่าเป็นตัวเราหรือของเรา สิ่งนั้นถ้าขาดหายไปจะทำให้ทุกข์ถึงที่สุด ถ้าเรารักความสวยงาม เมื่อเสียโฉมจะทุกข์ที่สุด ถ้าเรารักสามีหรือภรรยา เมื่อเขานอกใจ หรือเสียเขาไปจะทุกข์ที่สุด ถ้ารักลูก ลูกหายหรือพิการหรือตายจะทุกข์ที่สุด ถ้ารักยศถาบรรดาศักดิ์เมื่อสูญเสียจะทุกข์ที่สุด ถ้ารักตนเอง เมื่อทราบว่าตนป่วยเป็นมะเร็ง เป็นเอดส์ หรือโรคที่รักษาไม่หายก็จะทุกข์ที่สุด

แต่ถ้าเราไม่มีสิ่งนั้นเลย ก็ไม่มีอะไรจะทุกข์กับสิ่งนั้น ไม่มีลูกก็ไม่ทุกข์กับลูก ไม่มีแฟนก็ไม่มีทุกข์จากแฟน ไม่มีทรัพย์สิน ก็ไม่ทุกข์กับทรัพย์สิน หรือถ้าเรามีแต่ทำใจไว้เสมือนไม่มี หรือทำใจไว้ว่าของที่มีมันไม่เที่ยงย่อมแปรปรวนไป ก็จะทุกข์น้อยลง ยิ่งยึดมั่นได้น้อยลงเท่าไรก็ทุกข์น้อยลงเท่านั้นเป็นสัดส่วนไป เมื่อไม่ยึดมั่นก็ไม่ทุกข์เลย หมายความว่าไม่มีอะไรทำให้ทุกข์ใจได้อีกเลย แต่ความเจ็บปวดยังมีตราบเท่าที่มีสังขารร่างกายอยู่ เพียงแต่ความทุกข์กายอันนั้น จะไม่สามารถมากินใจให้ทุกข์ใจได้เลย

ความทุกข์ที่เกิดขึ้น มักเป็นสิ่งสำคัญที่ทำให้คนคิดจะทำความดี เพราะธรรมชาติของเราจะหลงลืมและเพลินในสุข ซึ่งความสุขส่วนมากที่เราชอบ มักจะตั้งอยู่บนความไม่เที่ยงทั้งสิ้น พระพุทธองค์เห็นข้อนี้จึงสละทุกสิ่งออกบวชแสวงหาธรรมะ แต่อย่างเราๆ มักจะไม่คิดเรื่องนี้จนกว่าจะทุกข์ เสียก่อน เราจึงพบว่าคนจำนวนมาก ได้ประพฤติธรรมะ ได้ทำสิ่งดีๆ แก่ตนและผู้อื่นเพราะประสพกับความทุกข์มาแล้ว ดังนั้นเมื่อมีทุกข์นั่นคือเราได้อยู่ใกล้ธรรมะแล้ว ถ้าผ่านช่วงนี้ไปได้ก็มักจะมีสิ่งดีโอกาสดี และเราเองก็จะดำรงอยู่ในความดีมากขึ้น ความทุกข์และความสุขเป็นของคู่โลกเช่นนี้มาตลอด

เมื่อเราทุกข์หรือพบคนที่ทุกข์ อย่าลืมเปลี่ยนอารมณ์ ตั้งสติหาทางแก้ไข ใช้ความดีเอาชนะสิ่งไม่ดี ทุกข์ย่อมไม่เที่ยง ย่อมผ่านไป เป็นธรรมดา และเราก็มีโอกาสที่จะได้รับสิ่งที่ดี ได้ปรับปรุงตนเป็นคนดีเสมอ หวังว่าบทความนี้จะเป็นประโยชน์กับทุกท่าน

พรปีใหม่ไทย จาก อ.สุลักษณ์

พรปีใหม่ไทย จาก อ.สุลักษณ์

Author : สุลักษณ์ ศิวรักษ์

 “วันปีใหม่เป็นศุภฤกษ์ที่ดี แต่ตอนนี้คนไปวิตกวิจารณ์การเมืองมากเลยในทางเลวร้าย ถ้าเราคิดไปในทางเลวร้ายก็จะเลวร้าย ถ้าคิดในทางที่ดีก็จะดี แม้เราแต่ละคนจะไม่ใช่คนสำคัญมากนัก แต่ทุกคนมีศักยภาพที่สำคัญ พยายามคิดในทางที่ดี ทำในทางที่ดี พูดในทางที่ดี เราควรเติบโตโดยมุ่งในทางที่ถูกที่ควร ผลจะเป็นอย่างไรก็แล้วแต่มัน อย่าไปมุ่งที่ผล ควรมุ่งที่มรรคเป็นสำคัญ และถ้าเรากลับมาหาคุณธรรมดั่งเดิมเราจะแก้ปัญหาได้

สำหรับ “พร” พรคือสิ่งที่ประเสริฐ พระพุทธเจ้าตรัสสอน สิ่งที่ประเสริฐคุณต้องให้กับตัวเอง และเวลาคุณไปทำบุญพระท่านจะให้พรตลอดเวลาเลย ถ้าเราฟังนะตอนจบท่านจะว่า “อะภิวาทะนะสีลิสสะนิจจัง วุฒาปะจายิโน ฯลฯ” พรสี่ประการคือ

“อายุ” ไม่ใช่คนที่อายุแปดสิบกว่าอย่างผม อายุคือมีพลังแห่งชีวิต ไม่จำเป็นต้องอายุยืนครับ ใช้ชีวิตได้อย่างเกื้อกูลโดยไม่เอาเปรียบคนอื่น “วรรณะ” ก็ไม่ได้แปลว่าผิวพรรณสวยงามอย่างที่โฆษณากันทุกวัน วรรณะคือความผ่องใส ชีวิตที่มีพลังแล้วก็จะผ่องใส แล้วก็จะมี “สุขะ” คือความสุข ความสุขที่แท้องค์ดาไลลามะท่านรับสั่งว่า คือเราเห็นความสุขของคนอื่นเท่ากับความสุขของเรา และเราจะมี “พละ” พละนี่ไม่ใช่ร่างกายที่แข็งแรงอย่างเดียว จิตใจแข็งแรง มีความกล้าหาญทางจริยธรรมด้วย

พรสี่ประการนี้สำคัญมาก พระท่านว่ามาจาก “อะภิวาทะนะสีลิสสะนิจจัง วุฒาปะจายิโน ฯลฯ” รู้จักอ่อนน้อมถ่อมตัวอยู่เนื่องนิตย์ อ่อนน้อมถ่อมตัวยกย่องให้เกียรติ ให้เกียรติต้นหมากรากไม้-แผ่นดิน ให้เกียรติคนเล็กคนน้อย ให้เกียรติคนที่มีบุญคุณแก่เรา อันนี้ผมว่าเป็นพรอันประเสริฐที่ผมว่าคุณให้แก่ตัวคุณได้ ที่พวกคุณมารดน้ำปีใหม่นี้ จริงๆมาขอพรผู้ใหญ่ ซึ่งก็คือมาแสดงความอ่อนน้อมถ่อมตัวนั้นเอง เมื่อคุณมีความอ่อนน้อมถ่อมตัวแล้วคุณก็ได้พรสี่ประการ”

วันที่ 7 เมษายน 2557 ณ บ้านอาจารย์สุลักษณ์ ศิวรักษ์ 

เมื่อสังคมไทยมีคนเก่ง แต่ขาดคนดี

เมื่อสังคมไทยมีคนเก่ง แต่ขาดคนดี

Author : สุทธิชัย หยุ่น

หลายคนเอาข้อความสัมภาษณ์ของอดีต นายกฯ อานันท์ ปันยารชุน เรื่องความห่วงใยที่สุดในวัยอาวุโส คือ การโกงกินบ้านเมือง

และประเทศชาติมีคนเก่งแต่ขาดคนดีอย่างห่วงใยเพียงใดไปขึ้นเฟซบุ๊ค เพื่อแบ่งปันความรู้สึกเห็นพ้องกัน

ผมอ่านแล้ว ก็ต้องส่งสารต่อให้ท่านผู้อ่าน ได้ช่วยกันคิดช่วยกันอ่าน เพราะว่าลำพังเราเอง เพียงแค่แสดงความกังวลห่วงใยในบ้านเมืองเฉยๆ ไม่น่าจะพอ แต่จะต้องรวมพลังในรูปแบบต่างๆ เพื่อหาทางแก้ไขปัญหาบ้านเมืองกันอย่างแข็งขันอีกด้วย

คุณอานันท์ บอกว่า “ปีนี้ผมมีอายุครบ 80 ปี และเป็นปีแรกที่ต้องขอสารภาพด้วยความจริงใจ บริสุทธิ์ใจ และไม่มีอคติ ว่า ปีนี้ผมมีความห่วงใยเรื่องคอร์รัปชันในเมืองไทยมากที่สุด ตั้งแต่เกิดมา”

คุณอานันท์ บอกว่า ในอดีตคอร์รัปชันเป็นเรื่องการให้ค่าน้ำชา ค่าสินบน การให้ของชำร่วย 
ช่วยเหลือในด้านต่างๆ ระหว่างบุคคลกับบุคคล หรือกลุ่มกับกลุ่มเท่านั้น

แต่ปัจจุบัน “ความฉ้อฉล” และ “กลโกง” มีความลึกลับสลับซับซ้อนมากขึ้นมาก ไม่ใช่แค่ค่าน้ำชา สินบน แต่มีการวางยุทธศาสตร์ มีการวางแผนการอย่างแยบยล

และที่สำคัญที่สุด คือ มีการบูรณาการกันอย่างพร้อมเพรียง ไม่ใช่เรื่องของคนต่อคน หรือกลุ่มต่อกลุ่มอีกต่อไป ขณะนี้เป็นเครือข่ายกันหมด ครอบคลุมถึงนักการเมือง ข้าราชการ พ่อค้า นักธุรกิจ สื่อ องค์กรต่างๆ ทั้ง รัฐวิสาหกิจ หรือแม้แต่องค์กรอิสระที่รัฐธรรมนูญสร้างขึ้น

อดีต นายกฯ อานันท์ บอกว่า หากเป็นเช่นนี้ต่อไป สุดท้ายสิ่งเหล่านี้ก็จะนำไปสู่การยึดครองพื้นที่ของประเทศทั้งหมด ทุกพื้นที่ ทุกกิจกรรม ทุกส่วน

ท่านบอกว่า สมัยนี้จึงไม่ใช่เรื่องการ “โกงกิน” “ทุจริต” “ฉ้อราษฎร์บังหลวง” แต่เป็นการ ‘กินเมือง’ อะไรขวางซื้อหมด อำนาจเงินกลายเป็นอำนาจสูงสุด คนไม่มีค่า

คุณอานันท์ บอกด้วยว่า “นโยบายปัจจุบัน จะนำความหายนะมาสู่ประเทศ” 
และท่านก็มีความเศร้า ที่คนดีๆ ที่มีความรู้ ก็ตกหลุม ติดกับอยู่กับนโยบายเหล่านี้ไปด้วย

คุณอานันท์ ย้ำว่า คอร์รัปชันมีความหมายมากกว่าทุจริตฉ้อราษฎร์บังหลวง

และคอร์รัปชันไม่ใช่ความหมายเฉพาะเรื่องเงิน แต่การโกหกประชาชน ก็เป็นหนึ่งของการคอร์รัปชัน

ตราบใดที่เรายังเห็นคนที่มีอำนาจ มีความรับผิดชอบออกมาหลอกประชาชนทุกวัน วันละ 3 มื้อ 
อย่าหวังว่าจะแก้ปัญหาคอร์รัปชันในประเทศไทยได้

อดีต นายกฯ อานันท์ บอกว่า การที่จะแก้ปัญหาดังกล่าวในประเทศไทยได้นั้น จะต้องทำให้คนไทยรู้สึกว่าเงินที่โกงกินเป็นเงินของเรา เรามีส่วนเป็นเจ้าของ อีกทั้งกลุ่มที่ทำงานเรื่องการต่อต้านคอร์รัปชัน ต้องบูรณาการในการกระทำของคนทุกกลุ่มร่วมกัน จึงจะมีประสิทธิภาพมากขึ้น

ผมเชื่อว่า คนไทยจำนวนไม่น้อยก็เข้าใจตรงกับคุณอานันท์ แต่ยังขาดการระดมพลังคนรอบข้างต่อต้านคนโกงอย่างเป็นกิจจะลักษณะ และบ่อยครั้งยังเห็นว่าเป็นเรื่องที่เพียงแต่ตัวเองก็ทำอะไรมากไม่ได้ จึงกลายเป็น “เสียงเงียบงันของคนส่วนใหญ่” หรือ Silent Majority ซึ่งเป็นทัศนคติที่เป็นอันตราย เพราะว่าทำให้คนไทยเห็นการคอร์รัปชันเป็นเรื่องที่ “จำเป็นต้องทนกับมัน” เพราะว่าไม่มีใครปราบมันให้สิ้นแผ่นดินไทยไปได้

เราอาจจะ “เสียกรุง” ครั้งใหม่…ก็เพราะคิดแบบนี้นี่แหละ

กฎแห่งความ “ไร้ระเบียบ”

กฎแห่งความ “ไร้ระเบียบ”

Author : คนรักบ้าน

ในท่ามกลางบรรยากาศความสับสนวุ่นวายของเศรษฐกิจ สังคมและการเมืองในปัจจุบันที่ดูเหมือนยากแก่การควบคุมและคาดเดาทิศทางของการขับเคลื่อนตัวไปในอนาคต แท้จริงแล้วในความสับสนมีความสงบนิ่งภายใต้กระแสคลื่นลมกรรโชกแรงที่พื้นผิว พอได้พิจารณาลงลึก ๆ ความรู้สึกที่ว่ากังวลก็ค่อยคลายกังวล ความรู้สึกที่สับสนก็ค่อยคลายความสับสน อีกทั้งยังเห็นความชัดเจนของการแปรเปลี่ยนไปกับการเคลื่อนตัวไปอย่าง “ไร้ระเบียบ” ของสังคมไทย หากพิจารณากันอย่างช้า ๆ ชัด ๆ 

ในเหตุปัจจัยที่เกิดขึ้น ทำให้เห็นสัจแห่งธรรม(ชาติ)พื้นฐาน สมดังคำกล่าวที่ว่า “การเมืองเป็นเรื่องของการรักษาผลประโยชน์ของตนและพวกพ้อง อีกทั้งยังเป็นเรื่องของการประสานผลประโยชน์กับฝ่ายตรงข้าม” รวมไปถึงได้เรียนรู้ว่า “อุดมการณ์ทางการเมืองเป็นเรื่องที่ล้าสมัย” จึงทำให้ผมกล้าฟันธงว่าในสังคมไทยโดยเนื้อแท้แล้วไม่มีทั้ง “ไพร่” แบบถาวรไม่มีทั้ง “อำมาตย์” แบบถาวรหรอกครับเพราะ “ไพร่” ก็สามารถกลายพันธ์เป็นมหา “อำมาตย์” มหาอำมาตย์ก็สามารถกลายพันธ์เป็น “ไพร่” สลับขั้วกันไปมา (ใครจะไปเชื่อครับว่าควานช้างจะกลายเป็นประธานรัฐสภา) 

ผมกลับคิดว่าในยุคนี้เป็นยุคทองของประชาธิปไตยแบบไทยอย่างแท้จริง ที่สิทธิและเสรีภาพเบ่งบานถึงขีดสุดยิ่งกว่ายุคสมัยใด ๆ แม้แต่ในยุคสุโขทัยที่มีการบันทึกในหลักศิลาจารึก ถึงสิทธิและเสรีภาพในการดำรงชีวิตว่า “ใครใคร่ค้าช้างค้า ม้าค้า” ภายใต้การปกครองของ “พ่อขุน” ที่ปกครองพสกนิกรแบบพ่อปกครองลูก มีอะไรก็ว่ากล่าวตักเตือนกันไป จะทำผิดมหันต์แค่ไหนก็ทรงพระเมตตา ในบางกรณีทรงพระราชทานอภัยโทษให้เสียด้วยซ้ำ ดังนั้นอย่าแปลกใจนะครับว่าพสกนิกรชาวไทยในปัจจุบันมักจะกล่าวถึงพระเจ้าอยู่หัวว่า “พ่อหลวง” เมื่อหลักชัยอันเป็น “แกน” ของสังคมเป็นเช่นนี้ สังคมไทยถึงแม้จะเป็นสังคมแห่งความ “ไร้ระเบียบ” จึงกลายสภาพเป็นสังคมที่มีลักษณะสานประโยชน์ อะลุ่มอล่วยกัน เอื้ออาทรต่อกัน ถึงแม้จะเป็นศัตรูคู่อาฆาตกันก็ไม่ถึงขนาดเข่นฆ่าจองล้างจองผลาญกัน (อาจจะมีความรุนแรงอยู่บ้างบางอารมณ์มาเป็นสีสัน แต่ลึก ๆ แล้วเราก็ให้อภัยกันครับ) 

จากกฎแห่งความ “ไร้ระเบียบ” ก็เลยเป็นผลให้มีเพื่อนสนิทมิตรสหายหลายคนกลายพันธ์จาก “เหลือง” เป็น “แดง” และอีกหลายคนก็กลายพันธ์จาก “แดง” เป็น “เหลือง” จะว่าไปแล้วก็เป็นเสน่ห์ครับของสังคม “ไร้ระเบียบ” ที่ไร้ซึ่งอุดมการณ์และจุดยืนที่แปรเปลี่ยนไปตามอารมณ์ ความรู้สึกของกระแสสังคมที่เกิดขึ้นในช่วงนั้น ๆ เป็นผลให้สังคมไทยเป็นสังคมที่มีลักษณะเชื่อง่าย ชี้นำง่าย เกลียดง่าย รักง่าย (หน่ายเร็ว) อะไรต่ออะไรก็สามารถเกิดขึ้นได้ง่ายมากถึงง่ายที่สุด จึงเป็นสังคมที่มีทั้งจุดอ่อนและจุดแข็งในตัวเอง ภายใต้กฎแห่ง “ความไร้ระเบียบ” ที่ยากจะหาสังคมใดเสมอเหมือน เป็นสังคมที่ยอมรับอะไรได้ง่าย มีไม่กี่ประเทศในโลกหรอกครับที่พูดคำว่า “ไม่เป็นไร” กับทุก ๆ สถานการณ์ไม่ว่าจะคับขันมากแค่ไหน 

วัฒนธรรมทางความคิดที่มีลักษณะเฉพาะตนเช่นนี้แหละครับเป็นสิ่งที่มีความหมายมากนะครับ เพราะเมื่อตั้งต้นที่ “ไม่เป็นไร” แล้วจะสุขหรือทุกข์หนักหนาแสนสาหัสสักเพียงใดก็ “ไม่เป็นไร” ทำให้สังคมไทยสามารถผ่านอะไรต่อมิอะไรไปได้ ก็เพราะความ “ไม่เป็นไร” นี้แหละครับ เป็นทั้งจุดอ่อนจุดแข็งของสังคมไทย เป็นทั้งเสน่ห์และไร้เสน่ห์ ก็เพราะเราอยู่กันมาอย่างนี้ ก็เลยทำให้สังคมไทย “ไม่เป็นไร” จะหนักหนาสาหัสแค่ไหนก็ “ไม่เป็นไร” เพราะที่สุดแล้วอย่างไรเราก็จะก้าวข้ามปัญหาอุปสรรคได้เสมอ (แต่ห้ามถามนะครับว่าบอบช้ำมากน้อยแค่ไหน)

ในมุมมองของผมความขัดแย้งทางด้านการเมืองที่ “ไร้ระเบียบ“ในครั้งนี้เป็นปรากฎการณ์ที่ “สานประโยชน์” และ “สร้างประโยชน์” ให้กับทุกฝ่าย ทั้งฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายตรงข้ามรัฐบาล เป็นเกมส์การเมืองที่ส่งผลให้ทุกฝ่ายเบิกบานด้วยความสุขและสมหวัง ไม่ว่าจะเป็นการประท้วงที่ก่อให้เกิดเงินสะพัดไปทั่วประเทศ ในช่วงที่ชาวไร่ชาวนาต่างจังหวัดว่างจากงาน อยู่บ้านไปก็ไม่มีรายได้อะไร มีโอกาสเดินทางมาเที่ยวกรุงเทพฯ อีกทั้งบรรดา ส.ส. อดีต ส.ส.และว่าที่ส.ส.ก็ต่างเบิกบาน เป็นการทดสอบหัวคะแนนและเครือข่ายในการกะเกณฑ์ผู้คน เป็นมวลชนจัดตั้ง อีกทั้งยังเป็นการเตรียมความพร้อมการเลือกตั้งครั้งใหม่ 

ที่ผมคาดว่าอย่างเร็วที่สุดน่าจะเป็นปลายปีนี้หรืออาจจะลากยาวไปปีหน้า ไม่มีการยุบสภาเลือกตั้งเป็นอันขาด เพราะยังมีอีกหลายโครงการที่มีมูลค่ารวมกันนับแสนล้านยังไม่มีการเซ็นต์สัญญาว่าจ้าง จัดจ้าง ท่านนายกฯ ก็เบิกบาน ได้รับความชื่นชมในความอดทนอดกลั้น ขนาดถูกล้อมบ้านก็แล้ว ถูกปาอึใส่บ้านก็แล้วก็ยังยิ้มได้ ท่านอดีตนายกฯ ที่อยู่ต่างประเทศก็เบิกบาน เพราะว่ามีกองเชียร์หนาแน่น รวมทั้งหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ กลับพุ่งขึ้นอย่างสวนกระแสแบบยิ่งประท้วงหุ้นก็ยิ่งขึ้น รับอานิสงส์เต็ม ๆ จากการประท้วงในครั้งนี้ 

ฝ่ายพรรคร่วมรัฐบาลก็ต่างมีความสุข เบิกบานอยู่ร่วมกันอย่างแน่นแฟ้น ประกาศสนับสนุนและยืนหยัดอยู่ร่วมกัน คงอีกสักพักใหญ่แหละครับ (อย่างน้อยก็ยังอยู่ร่วมกันจนกว่า “งบไทยเข้มแข็ง” ได้ถูกใช้จ่ายจัดสรรกันไปเรียบร้อย) อีกทั้งผู้นำการประท้วงก็เบิกบานเพราะต้องบริหารจัดการกับเงินที่ถูกบริจาคโดยผู้สนับสนุน นอกจากเงินบริจาคแล้วก็ยังมีการบริจาคโลหิตร่วมกันและนำมาละเลงปฐพีร่วมกัน นอกจากนั้นก็ยังประกาศแนวทางการประท้วงอย่าง “สันติวิธี” ภายใต้หลัก “อหิงสา” แบบไทยที่ไม่เหมือนใครในโลก ดูไปดูมาทุกฝ่ายก็ต่างเบิกบาน “สานประโยชน์” กันภายใต้กฎแห่งความ “ไร้ระเบียบ” อันเป็นเอกลักษณ์ของสังคมไทย ดังนั้นหากจะพยายามทำความเข้าใจการเคลื่อนตัวไปข้างหน้าของเศรษฐกิจ,สังคม และการเมืองไทย ห้ามคิดวิเคราะห์แบบสมการชั้นเดียวเป็นอันขาดครับ

Source : http://www.homeloverthai.com/index.php?option=com_content&task=view&id=1353&Itemid=104

‘ส.ศิวรักษ์’แนะคนไทยหลังปฏิรูป อย่าหวังผลเลิศอย่าหวังผลร้าย

‘ส.ศิวรักษ์’แนะคนไทยหลังปฏิรูป อย่าหวังผลเลิศอย่าหวังผลร้าย

Author : ภาณุพล รักแต่งาม

แอลเอ (ไทยทาวน์ยูเอสเอนิวส์) : ‘ส.ศิวรักษ์’ ชี้รัฐบาลใหม่ไม่น่าจะสร้างความเปลี่ยนแปลงให้ประเทศไทย เพราะ ครม. ยังเป็นคนในกระแสหลัก แนะรัฐบาลใหม่ควรฟังเสียงประชาชนให้มาก หาไม่จะวนเวียนกลับเข้าสู่รูปเก่า ชี้นายกฯ ใหม่ถอดใจตั้งแต่ยังไม่เริ่มงาน เพราะอ้างมีเวลาหนึ่งปีจะทำอะไรได้

อ.สุลักษณ์ ศิวรักษ์ หรือ ส. ศิวรักษ์ นักวิชาการชื่อดังของไทย ซึ่งเดินทางมาบรรยายเกี่ยวกับพุทธศาสนาเนื่องในโอกาสครบรอบร้อยปีท่านพุทธทาสภิกขุ ที่โคโรลาโดคอลเลจ, มหาวิทยาลัยนาโรปะ ในรัฐโคโรลาโด และที่มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด โดยได้เปิดแสดงปาฐกถาในลอส แอนเจลิส ที่โรงเรียนอนุบาล ดร.ผดิษฐา อายนบุตร เมื่อค่ำวันที่ 11 ตุลาคมที่ผ่านมา

อ.สุลักษณ์ ศิวรักษ์ ได้กล่าวถึงเหตุการณ์ปฏิรูปการเมืองของไทยโดยคณะทหารว่า ขณะนี้ยังอยู่ในช่วงที่คนกำลังเห่อ แต่หากไม่มีผลงานใดๆ ในระยะอันไกลก็จะถูกประชาชนด่า เหมือนเหตุการณ์ที่เคยเกิดขึ้นกับคณะรัฐประหารในอดีต อีกทั้งระบุว่า แม้ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีสมควรที่จะออกจากตำแหน่ง เพราะไม่มีความโปร่งใส แต่ก็ควรจะมีวิธีอื่นที่ดีกว่าการทำปฏิวัติยึดอำนาจ

“เอาล่ะ ยึดอำนาจแล้ว ก็น่าจะใช้สติปัญญาในการยึดอำนาจมากกว่านี้ เช่นงดใช้รัฐธรรมนูญบางมาตรา ปรับปรุงรัฐธรรมนูญ นี่ให้ร่างใหม่กันหมดแล้ว ยุบหมดเลย สภายุบหมด นี่แสดงว่าใช้อำนาจบาตรใหญ่นี่ครับ ระยะแรกก็เชียร์กันครับ ใส่เสื้อเหลืองเอาดอกไม้ไปให้ ก็ดีครับ เล่นละครกัน แต่ผมอยากจะเตือนนะครับอีกพักเดียวคนก็จะเอือม คนก็จะเบื่อ ผมเตือนด้วยความหวังดี ถ้าไม่พอใจ ผมกลับไปวันที่ 26-27 ก็ไปจับผมได้ ไม่หนี ให้จับครับ” นักวิชาการที่ได้ชื่อว่าเป็นคนตรง กล้าวิพากษ์วิจารณ์อย่างตรงไปตรงมากล่าวอย่างอารมณ์ดี

ผู้สื่อข่าวถามว่า รัฐบาลใหม่ที่มีการจัดตั้งขึ้นมา จะทำให้เกิดผลดีอะไรกับประเทศบ้าง นักวิชาการเจ้าของฉายาปราชญ์สยามกล่าวว่า เป็นเรื่องยาก เพราะนายกรัฐมนตรีบอกว่ามีเวลาทำงานแค่หนึ่งปี เหมือนถอดใจตั้งแต่ยังไม่ได้เริ่มทำงาน

“ท่านนายกฯ ท่านบอกมาปีเดียวจะทำไรได้ ถ้าพูดอย่างนี้คุณก็ทำอะไรไม่ได้ เมื่อรัฐบาลอังกฤษจะให้เอกราชอินเดียนั้น ได้ส่งหลอดหลุยส์ไป ให้เวลาหนึ่งปี ให้ทำให้สำเร็จ ให้อำนาจเต็มที่ ก็ทำได้สำเร็จ นี่อะไร อำนาจก็มีเต็มที่ ยังหยอยๆ อย่างนี้หรือจะทำได้สำเร็จ คณะรัฐมนตรีที่ตั้งอยู่นี่ ส่วนใหญ่กึ่งดิบกึ่งดีทั้งนั้น ทำอะไรได้”

นักวิชาการชื่อดังกล่าวอีกว่า คณะรัฐมนตรีในรัฐบาลใหม่ ส่วนใหญ่เป็นคนในกระแสหลัก ซึ่งไม่ค่อยฟังเสียงนอกกระแส

“บ้านเมืองเราตอนนี้มันเปลี่ยนไปมาก ที่มันเปลี่ยนแปลงได้เพราะประชาชนเป็นแสนๆ ทั่วทุกจังหวัดออกมาไล่ทักษิณ แต่คนเหล่านี้กลับไม่ได้รับการเหลียวแลเลย มีแต่เอาพวกขุนนางเก่าๆ พวกปลัดกระทรวงเก่าบ้างมาเป็นรัฐมนตรี พวกนี้ไม่เคยฟังใคร จะไปทำอะไรได้ คุณสุรยุทธ์เป็นคนน่ารักครับ แต่ผมว่าควรไปบวชมากกว่าจะมาเป็นนายกฯ”

อ.สุลักษณ์ ศิวรักษ์ ได้กล่าวถึงนายกรัฐมนตรีคนใหม่ของไทยต่อไปว่า เป็นชาวพุทธที่น่ารัก และซื่อสัตย์ “เมื่อท่านเป็นแม่ทัพ คุมกองทัพให้ลดการโกงกินไปมาก ตัวท่านเองเป็นผู้บริสุทธิ์ เกษียณแล้วก็ไปบวช แต่คนที่ถือพุทธแบบนี้ ไปเข้าใจว่าการถือพุทธให้ตัวเองเป็นคนดี ซื่อ ไม่โกงกิน เป็นเพียงส่วนหนึ่งเท่านั้น ถ้าเข้าใจศาสนาพุทธแล้ว ตัวศีลนั้น ไม่ใช่เป็นคนดีอย่างเดียว ศีลแปลว่าปกติ แต่ละคนต้องปกติ สังคมต้องปกติ ช่องว่างระหว่างคนรวยคนจนต้องลดลง อภิสิทธิต่างๆ จะต้องหมดไป คนชั้นปกครองทุกระบบ ตั้งแต่สูงสุดลงมาถึงต่ำสุดจะต้องโปร่งใสตรวจสอบได้ คนข้างบนจะต้องเคารพคนข้างล่าง ไม่ใช่ดูถูก ถ้าเนื้อหาสาระไม่กลับมา ไม่มีทางเป็นประชาธิปไตย…. ท่านนายกรัฐมนตรีคนปัจจุบัน เรียนด้วยความเคารพนะครับ ท่านไม่เข้าใจประเด็นนี้ ขึ้นมาจนกระทั่งถึงพลเอก ก็เลยนึกว่าพลเอกต้องใหญ่กว่าพลทหาร จ้าวต้องสูงกว่าไพร่ ผมว่าความคิดนี้หมดสมัยไปแล้ว”

นักวิชาการชื่อดังกล่าวด้วยว่า หากมีการประยุกต์เอาเนื้อหาสาระของพุทธศาสนาเข้าไปมาใช้ในระบอบการเมือง ก็จะทำให้ระบอบประชาธิปไตยเกิดขึ้นได้อย่างสมบูรณ์

“แก่นของพุทธ ใช้ได้กับทุกศาสนาและใช้ได้กับทางการเมือง สังคม เพราะเนื้อหาศาสนาพุทธ ฝึกให้ทุกคนเปลี่ยนความโลภเป็นทาน ความงกเป็นการให้ เปลี่ยนความรุนแรงโทสะเป็นเมตตากรุณา เปลี่ยนความหลงชาติ หลงตัว อะไรก็ตามให้เป็นความเข้าใจ เป็นปัญญา เนื้อหาสาระของศาสนาอื่นก็เช่นเดียวกัน แต่ใช้ภาษาต่างกัน เอาธรรมะมาประยุกต์ใช้ พุทธแปลว่าตื่น ตื่นจากโลภโกรธหลง ถ้าใช้เป็นพื้นฐานแล้ว มันจะช่วยทุกคนตื่น ทุกคนมีความภูมิใจ มีความเคารพซึ่งกันและกัน”

ในประเด็นการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่นั้น ส.ศิวรักษ์ กล่าวว่าจะร่างใหม่ให้สวยหรูอย่างไรก็ตาม หากไม่พัฒนาคน ก็จะไม่มีประโยชน์

“รัฐธรรมนูญฉบับที่แล้วก็ดีพอสมควร แต่ว่าคนใช้จุดอ่อนของรัฐธรรมนูญนี่ อย่างทักษิณนี่ชัดเจน เพราะเขาเชื่อว่าเขาสามารถใช้เงินและอำนาจซื้อได้ และที่น่าเสียใจกว่านั้นก็คือคนของเราซื้อได้แทบทุกแห่ง ทุกสถาบัน สำนักงานอัยการก็ถูกซื้อ ศาลรัฐธรรมนูญก็ถูกซื้อ วุฒิสภา ซึ่งเป็นครั้งแรกที่มีการเลือกตั้งก็ถูกซื้อ การแก้ก็ต้องกำหนดว่าทำไงถึงจะทำให้คนของเราเลิกถูกซื้อได้ นี่ผมไม่ได้พูดในทางนามธรรม ในทางอุดมคติ เป็นไปได้นะครับ แต่รัฐบาลชุดนี้ทำไม่ได้ เพราะรัฐบาลชุดนี้เต็มไปด้วยคนในระบบ มองอยู่แค่ในระบบ ไม่รู้ว่าระบบของตัวเองคือตัวสร้างความสับสนไขว้เขวให้กับบ้านเมืองตลอดเวลา ถ้าจะร่างรัฐธรรมนูญ ต้องมองไปนอกระบบ คนนอกระบบก็ตื่นขึ้นมามากแล้วครับ คนจนที่เคยถูกเหยียดหยามว่าโง่เขลาเบาปัญญา เขาตั้งสมัชชาคนจน มีสมาชิกหลายล้าน คนเหล่านี้เขาสามารถยืนหยัดท้าทายคนข้างบนครับ”

อ.สุลักษณ์ ศิวรักษ์ กล่าวด้วยว่า สิ่งที่คนไทยจะทำได้ในสภาพเช่นนี้ คือ จะต้องยอมรับความจริง เพราะตนไม่เห็นว่าจะมีใครใน ครม.ชุดนี้ กล้าหาญพอจะแหวกออกจาก ‘สภาพน้ำนิ่ง-น้ำเน่า’ ออกมาได้ และฝากสื่อมวลชนด้วยว่า ให้พยายามติชมรัฐบาลใหม่ในเชิงสร้างสรรค์

“พยายามชี้แนะ อย่าไปโจมตีในทางทำลายล้าง เขาจะเสียกำลังใจ เมื่อเสียแล้วเขามีคณะปฏิรูปอยู่หลังเขา เขารังแกได้ทันทีเลย ผมว่าเราอย่าเป็นศัตรูกันดีกว่า เตือนกันด้วยความหวังดีนะครับ อาจจะต้องใช้ถ้อยคำที่เพราะกว่าที่ผมใช้หน่อยหนึ่ง เขาจะได้ฟัง อย่างผมเขาไม่ฟังอยู่แล้ว ไอ้ตาแก่นี่พูดมาก”

ทั้งนี้ ผู้สื่อข่าวถามถึงนางชะบา จตุรบุล ซึ่งเป็นศิษย์ของ อ.สุลักษณ์ ศิวรักษ์ แต่ออกมาเคลื่อนไหวสนับสนุนรัฐบาลพรรคไทยรักไทยอย่างเต็มตัว และอ.สุลักษณ์เคยเขียนจดหมายติติงศิษย์จนเป็นข่าวฮือฮาในชุมชนไทยมาแล้วนั้น อ.สุลักษณ์กล่าวว่า ตนไม่ขอพูดอะไรมาก เพราะแต่ละคนก็มีสิทธิ์ที่จะทำในสิ่งที่ตนเชื่อ

“ผมไม่ว่าใคร เขาก็เลี้ยงข้าวผมเมื่อคืน คนเรามันเห็นไม่เหมือนกันได้นี่ครับ จะถือพุทธ ถือคริสต์ เป็นคอมมิวนิสต์ ก็ได้ ได้ข้อมูลมาเท่าไหนก็ทำไปเท่านั้น แต่ผมเชื่อว่าเขาเป็นคนบริสุทธิ์ ถามว่าคุยอะไรกันเหรอ ก็คุยกันส่วนตัว” นักวิชาการชื่อดังกล่าว

สันติสุขในมือเรา

สันติสุขในมือเรา

Author : พระไพศาล วิสาโล

สถานการณ์บ้านเมืองที่ขัดแย้งยืดเยื้อนานหลายเดือนทำให้ผู้คนเป็นอันมากรู้สึกคับข้องใจเป็นอย่างยิ่ง สาเหตุไม่ได้เป็นเพราะว่ามองไม่เห็นทางออกของบ้านเมืองเท่านั้น หากยังเป็นเพราะไม่รู้ว่าตัวเองจะทำอะไรได้บ้างในสถานการณ์อย่างนี้ นอกเหนือจากการนิ่งเฉยหรือเข้าร่วมกับฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง

ที่จริงมีมากมายหลายอย่างที่เราแต่ละคนสามารถทำได้ ไม่ว่าจะอยู่กับฝ่ายใด หรือไม่สังกัดฝ่ายใดเลยก็ตาม อย่างแรกที่สุดและน่าจะง่ายที่สุดก็คือ รักษาใจให้เป็นปกติ ถ้าเรายังทำอะไรกับใจของเราไม่ได้ จะไปเรียกร้องคาดหวังให้บ้านเมืองเป็นไปดั่งใจของเราได้อย่างไร

ความทุกข์ของผู้คนทุกวันนี้เกิดจากการปล่อยให้ความเครียด ความกังวล ความกลัว-เกลียด-โกรธ ครอบงำใจ เริ่มตั้งแต่เช้า พอตื่นขึ้นมาก็เครียดแล้วเมื่อได้ดูข่าวโทรทัศน์หรืออ่านหนังสือพิมพ์ แต่ขอให้สังเกตว่าเราจะเครียดและขุ่นเคืองใจก็ต่อเมื่อได้ฟังคำพูดของคนที่คิดต่างจากเรา หรือรับรู้การกระทำของคนที่อยู่คนละฝ่ายกับเรา ที่จริงถ้าเราเดาล่วงหน้าได้ว่าเขาจะพูดหรือทำอะไร เราก็คงไม่ทุกข์ แต่เป็นเพราะเราคาดหวังบางสิ่งบางอย่างจากเขา ครั้นเขาไม่พูดหรือทำตามความคาดหวังของเรา เราจึงไม่พอใจ ปัญหาจึงอยู่ที่ใจของเราเองที่ตั้งความคาดหวังเกินเลยจากความเป็นจริง หรือหวังในสิ่งที่มิใช่วิสัยของเขา วางความคาดหวังเสีย ยอมรับเขาตามที่เป็นจริง เราจะฟังเขาด้วยความรู้สึกธรรมดามากขึ้น

ถ้าคุณห้ามใจไม่ได้ ยังเครียดหรือโกรธคนเหล่านั้นอยู่ ก็ไม่ควรแบกความเครียดติดตัวไปด้วย เครียดตรงไหน วางตรงนั้น อย่าเอาไปที่ทำงาน หรือถ้าเครียดตอนอยู่ที่ทำงาน ก็วางไว้ในที่ทำงาน อย่าแบกกลับบ้านไป เวลากิน ก็อย่าไปคิดถึงคนเหล่านั้น กินให้มีความสุข เวลาทำงานก็อยู่กับงานของตนอย่างมีสติและสมาธิ อย่าเอาคนเหล่านั้นมาคิดนึกให้เสียอารมณ์ เวลานอนก็นอนให้สบาย จะคิดถึงคนเหล่านั้นไปทำไม แต่ถ้ายังคิดอยู่จนนอนไม่หลับ จะโทษใครดี

หลายคนบอกว่าอย่าว่าแต่ฟังเสียงเลย แค่เห็นหน้าคนบางคนทางโทรทัศน์ก็โมโหแล้ว นั่นเพราะเรามีความโกรธเกลียดเขาเต็มที่ และที่โกรธเกลียดก็เพราะเขาอยู่คนละฝ่ายกับเรา เป็นศัตรูของเรา แต่คุณเคยคิดบ้างไหมว่าวันข้างหน้าคนเหล่านั้นอาจกลับมาอยู่ฝ่ายเดียวกับคุณ

“ศัตรู”ที่เคยอยู่คนละข้างก่อนและหลังเหตุการณ์ ๖ ตุลา ๑๙ วันนี้ได้กลับมาเป็นเพื่อนร่วมพรรคร่วมอุดมการณ์กันอย่างเหนียวแน่น ขณะที่เพื่อนร่วมรบเคียงบ่าเคียงไหล่ต่อสู้รัฐบาลเมื่อ ๓๐ ปีก่อน วันนี้กลับมาอยู่คนละฝ่าย ดังนั้นคุณแน่ใจอย่างไรว่า “ศัตรู”ของคุณวันนี้จะไม่กลายมาเป็นเพื่อนของคุณในวันหน้า และคุณแน่ใจได้อย่างไรว่าผู้นำของคุณวันนี้ จะไม่กลายเป็นปรปักษ์หรืออยู่คนละฝ่ายกับคุณใน ๕ หรือ ๑๐ ปีข้างหน้า

ลองหยุดคิด แล้วจินตนาการถึงความเปลี่ยนแปลงในวันข้างหน้า แล้วคุณอาจพบว่าการต่อสู้ด้วยความเกลียดชังและมุ่งโค่นล้มทำลายอีกฝ่ายให้พินาศนั้น เป็นสิ่งที่คุณควรทุ่มเทอย่างเอาเป็นเอาตายหรือไม่
ลองมองไกล ใจคุณอาจจะเปิดกว้างยอมรับความเห็นต่างได้มากขึ้น อย่างน้อยก็คงได้ตระหนักว่าความเป็นมิตรและความเป็นศัตรูนั้นหาความเที่ยงแท้แน่นอนไม่ได้ ความเป็นฝักฝ่ายก็เช่นกัน จะเอาจริงเอาจังกับมันไม่ได้เลย

ปฏิเสธไม่ได้ว่าความกลัว-เกลียด-โกรธ กับความเป็นฝักฝ่ายนั้นแยกจากกันไม่ออก ยิ่งประจันหน้ากับคนที่อยู่คนละฝ่ายกับตัว ความกลัว-เกลียด-โกรธก็ถูกกระตุ้นให้พลุ่งพล่านใจ และยิ่งกลัว-เกลียด-โกรธมากเท่าไร ก็ยิ่งแบ่งฝักฝ่ายกันอย่างโจ่งแจ้งชัดเจนและผลักกันให้อยู่ไกลขึ้น จนไม่สามารถคุยกันได้ เพราะหวาดระแวงกันและเห็นซึ่งกันและกันเป็นศัตรูที่เลวร้าย

เมื่อใดก็ตามที่ความกลัว-เกลียด-โกรธ ลุกลามจนเกิดการแบ่งฝ่ายอย่างชัดเจน ถึงขั้นเป็นศัตรูกัน เมื่อนั้นชัยชนะหรือความพ่ายแพ้กลายเป็นสิ่งสำคัญเหนืออื่นใด ขณะที่ความถูกต้องหรือเหตุผลมีความหมายน้อยลง ทำอะไรก็ได้ขอให้ชนะเป็นพอ เสียอะไรก็เสียได้แต่อย่าให้แพ้ก็แล้วกัน

เริ่มแรกการต่อสู้อาจมีจุดมุ่งหมายเพื่อประเทศชาติ หรือเพื่อความถูกต้อง แต่เมื่อกลัว-เกลียด-โกรธกันอย่างที่สุดแล้ว การทำลายอีกฝ่ายให้พินาศกลายมาเป็นจุดหมายสำคัญที่สุด ถึงตรงนี้การพยายามทำทุกอย่างเพื่อให้อีกฝ่ายพ่ายแพ้ ก็อาจลงเอยด้วยความวิบัติของบ้านเมือง

เมื่อรู้ว่าหนูเข้ามาทำรังในบ้านและกัดแทะข้าวของเครื่องใช้ เจ้าของผู้รักบ้านย่อมไม่อยู่นิ่งเฉย ต้องหาทางจับหนูตัวนั้นมาให้ได้ แต่หนูตัวนั้นก็ฉลาดมาก ไม่เคยหลงติดกับดัก แม้ใช้กาวดักหนู ก็ไม่เป็นผล พยายามเท่าไรก็ไม่เคยสำเร็จ ขณะที่ข้าวของเสียหายจากฝีมือหนูมากขึ้น เพราะหนูออกลูกออกหลานมากขึ้น จึงอาละวาดเป็นการใหญ่ วันหนึ่งเจ้าของบ้านพบว่าหนูกัดสายไฟ จนทำให้ระบบควบคุมไฟถึงกับล่ม อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์หลายชิ้นใช้การไม่ได้ เสียเงินซ่อมมากมาย เจ้าของบ้านโกรธมาก ทีนี้เขาคิดแต่จะเข่นฆ่าหนูตัวนี้สถานเดียว จะยอมให้มันอาละวาดต่อไปอีกไม่ได้ เมื่อใช้ทุกวิถีแล้วไม่ได้ผล วันหนึ่งเขาก็เอาน้ำมันก๊าดฉีดพ่นเข้าไปในรังและจุดไฟ หวังจะฆ่ามันให้สิ้นซาก ผลก็คือหนูตายแต่บ้านเขาก็เสียหายจนเกือบวายวอดไปด้วย

ทีแรกเขาต้องการกำจัดหนูเพื่อรักษาบ้าน แต่เมื่อการกำจัดหนูลุกลามกลายเป็นสงครามระหว่างเขากับหนู ความต้องการเอาชนะหนูกลายเรื่องสำคัญที่สุดของเขาจนลืมนึกถึงบ้าน สุดท้ายกลายเป็นว่าเขาทำลายบ้านเพื่อกำจัดหนู มิใช่กำจัดหนูเพื่อรักษาบ้านอีกต่อไป

เมื่อใดก็ตามที่เรามีความกลัว-เกลียด-โกรธอย่างขีดสุด ทุกอย่างก็กลับตาลปัตร จากการทำลายอีกฝ่ายหนึ่งเพื่อรักษาบ้านเมืองไว้ ก็อาจกลายเป็นการทำลายบ้านเมืองเพื่อกำจัดอีกฝ่ายหนึ่งให้ได้ ทั้งหมดนี้ก็เพราะการอยากเอาชนะให้ได้เป็นสำคัญ

ด้วยเหตุนี้การรักษาใจมิให้ความกลัว-เกลียด-โกรธ ครอบงำจึงเป็นสิ่งสำคัญ แม้จะเป็นการเริ่มต้นในระดับบุคคลก็ตาม จริงอยู่การทำเช่นนั้นไม่ใช่เรื่องง่าย แต่ก็สามารถทำได้หากเริ่มต้นจากการตระหนักเห็นโทษของความกลัว-เกลียด-โกรธ มันไม่เพียงทำให้เราทุกข์เท่านั้น แต่ยังสามารถทำให้เรากลายเป็นตัวปัญหา หรือก่อความเดือดร้อนแก่ผู้อื่นได้ ใช่หรือไม่ว่าขณะนี้แต่ละคนเสมือนมีไม้ขีดไฟอยู่ในมือ ที่พร้อมจะเผาตัวเองและคนรอบข้าง ตลอดจนบ้านเมืองให้พินาศได้ เพราะทุกหนแห่งราวกับอบอวลด้วยไอน้ำมัน พร้อมจะลุกเป็นไฟได้ทุกเวลา

ในยามนี้เพียงแค่ทำตัวเองไม่ให้รุ่มร้อน วุ่นวาย ก็เป็นการช่วยเหลือบ้านเมืองแล้ว อย่างน้อยก็ช่วยไม่ให้มันเลวร้ายไปกว่านี้ เมื่อเรือเล็กเกิดรั่วขึ้นมา การอยู่นิ่งเฉย อาจก่อผลดีกว่าการแตกตื่นวุ่นวายหรือพากันกรูไปอุดรูด้วยความตื่นตระหนก เพราะนั่นอาจทำให้เรือโคลงถึงกับล่มได้

แต่จะดียิ่งกว่านี้ หากเราไม่เพียงรักษาใจตัวเองให้ปกติเท่านั้น แต่ยังช่วยให้ผู้อื่นหายรุ่มร้อนวุ่นวายไปด้วย ที่จริงเพียงแค่เรามีความสงบเย็น ก็สามารถช่วยให้ผู้ที่อยู่รอบข้างสงบเย็นตามไปด้วย เขาจะบ่นอย่างไร ก็นั่งฟังด้วยความสงบ และเตือนสติเขาบ้างตามโอกาส กับช่วยให้เขามองในแง่มุมอื่นบ้าง

เมื่อช่วยรักษาใจผู้อื่นให้สงบเย็นได้แล้ว หากมีกำลังก็ควรรวมกันชักชวนผู้คนให้ลดละความกลัว-เกลียด-โกรธลงบ้าง ยับยั้งชั่งใจให้มากขึ้นในการใช้ความรุนแรงทางวาจาและการกระทำ ทุกวันนี้เสียงแห่งความกลัว-เกลียด-โกรธดังมากเกินไปแล้ว เราควรช่วยกันเปล่งเสียงแห่งขันติธรรม คือความอดกลั้นต่ออารมณ์และความใจกว้างต่อผู้ที่เห็นต่าง ให้ดังกว่านี้ รวมทั้งช่วยกันป้องกันและยับยั้งความรุนแรงจากทุกฝ่าย

แม้ทุกฝ่ายจะไม่ยอมถอยคนละก้าว แต่อย่างน้อยก็ควรช่วยกันจำกัดขอบเขตแห่งความขัดแย้งไม่ให้ลุกลามจนกลายเป็นการใช้กำลังต่อกัน ไม่ว่าจะอยู่ฝ่ายใด หรือไม่อยู่ฝ่ายใดเลย ก็ควรช่วยกันผลักดันให้ความขัดแย้งหรือการทะเลาะกันเป็นไปอย่างอารยะ คือใช้เหตุผล หรือถึงจะมีอารมณ์ ก็อย่าระเบิดเป็นความรุนแรง ตราบใดที่ไม่มีการสูญเสียชีวิตและเลือดเนื้อ โอกาสที่ความขัดแย้งจะคลี่คลายไปในทางสันติก็มีมากขึ้น

อย่างไรก็ตามพึงตระหนักไว้เสมอว่า ความขัดแย้งที่เกิดขึ้นนี้จะไม่หายไปในเร็ววัน เพราะนี่ไม่ใช่ความขัดแย้งระหว่างกลุ่มบุคคลที่ปรากฏเป็นข่าว แต่เป็นความขัดแย้งที่ลึกและกว้างขวางกว่านั้นมาก ดังที่มีผู้รู้บางท่านชี้ว่าความขัดแย้งระหว่างพันธมิตร ฯ กับพลังประชาชน เป็นตัวแทนของความขัดแย้งระหว่างคนชั้นกลางในเขตเมืองกับคนชั้นกลางระดับล่างในชนบท หรือระหว่างคนชั้นกลางในเมืองกับนายทุนที่เชื่อมต่อกับพลังโลกาภิวัตน์ร่วมกับคนชั้นล่างทั้งในเมืองและชนบท ซึ่งแต่ละฝ่ายมีคนนับสิบล้าน มองในแง่หนึ่งนี้คือความขัดแย้งระหว่างอุดมการณ์สองแบบ หรือการเมืองสองระบอบ ซึ่งสะท้อนจากการเรียกร้องต้องการรัฐบาลคนละแบบ

ความขัดแย้งแบบนี้จะคลี่คลายไปได้ก็ต่อเมื่อมีการปรับเปลี่ยนโครงสร้างหรือความสัมพันธ์ทางอำนาจ จนเป็นที่พอใจของทั้งสองฝ่าย การปฏิวัติ ๒๔๗๕ เหตุการณ์ ๑๔ ตุลา ๑๖ และพฤษภาทมิฬ ๓๕ ล้วนเป็นผลจากความขัดแย้งระหว่างกลุ่มชนในสังคมไทย ซึ่งกว่าจะคลี่คลายได้ต้องใช้เวลานับสิบปี และต้องผ่านความขัดแย้งถึงขั้นใช้กำลังและความรุนแรง

แต่ความขัดแย้งเชิงโครงสร้างไม่จำต้องจบลงด้วยการนองเลือด หากผู้คนในสังคมใช้สติและปัญญา มองเห็นรากเหง้าของปัญหาที่ใหญ่กว่าตัวบุคคล และไม่ใจเร็วด่วนได้ โดยคิดว่าถ้ามีความรุนแรงเกิดขึ้นแล้ว ทุกอย่างจะยุติ ในยามนี้ธรรมาธิปไตยเป็นสิ่งสำคัญมาก นั่นคือการถือธรรมเป็นใหญ่ คำนึงถึงความถูกต้องยิ่งกว่าความถูกใจ และเห็นอกเห็นใจผู้อื่น โดยไม่คิดแต่จะเอาใจตน หรือมุ่งชัยชนะอย่างเดียว นี้คือสิ่งที่เราควรบ่มเพาะขึ้นในจิตใจและช่วยกันปลูกฝังให้เจริญงอกงามในสังคมไทย พร้อมกับสร้างกลไกเพื่อให้ความขัดแย้งคลี่คลายอย่างสันติ ด้วยวิธีดังกล่าวเท่านั้นสังคมไทยจึงจะผ่านพ้นวิกฤตไปได้โดยไม่มีการสูญเสียเลือดเนื้อ

Source : มติชนรายวัน วันที่ 21 กันยายน พ.ศ. 2551 ปีที่ 31 ฉบับที่ 11152

80 ปี ปิยาจารย์สยาม

80 ปี ปิยาจารย์สยาม

ขอขอบคุณ คุณศิวกานท์ ปทุมสูติ

ระลึกถึงครูครั้งคราใด

ก็เห็นยิ้มละไมใสสว่าง

ได้ยินเสียงกังวานอันปล่อยวาง

เปรื่องปร่างปรัชญาวิวาทกรรม

แถวบรรทัดอักษรสัจศิลป์

ตระหง่านขึ้นในพิณภูผาร่ำ

อุโฆษแห่งระฆังดุลยธรรม

คูณค้ำแก่นแท้ความเป็นไทย

แปลบปลาบอารมณ์แห่งคมขวาน

สะเทือนสะท้านผู้สาไถย

อาทรอ่อนโยนดุจป่านใย

เมตตาดังดอกไม้หอมใจชน

 

ระลึกถึงครูทุกคราครั้ง

ที่สังคมขาดพลังจิตตกหล่น

ไร้สำเหนียกเรียกสำนึกปลุกมณฑล

ให้ตื่นขึ้นในตนในตัวเอง

แปดสิบปีมิเปลืองเปล่าใจปราชญ์

แก้วธาตุอริยธรรมนำพิศเพ่ง

ครูคือผู้ปักธงไม่โคลงเคลง

รักจึงเร่งต่อธงไม่โคลงคลอน

เสาหินแห่งปัญญาสยามประเทศ

ด้วยเหตุอันใดไม่ผุกร่อน

ด้วยเหตุเดียวกันนิรันดร

กาพย์กลอนแห่งข้าคารวะครู

“พฤติกรรมไร้ศีลธรรม” และนัยต่อการกำกับดูแล

"พฤติกรรมไร้ศีลธรรม" และนัยต่อการกำกับดูแล

Author : สฤณี อาชวานันทกุล

หลายปีมานี้ไม่ว่าจะไปที่ไหนก็ได้ยินแต่เสียงบ่น โดยเฉพาะจากผู้หลักผู้ใหญ่ที่ผู้เขียนนับถือว่า สังคมไทยทุกวันนี้ทุกวงการมีแต่คนขาดจรรยาบรรณ

ไร้ศีลธรรมจนไม่รู้ว่า “มาตรฐานวิชาชีพ” อยู่ตรงไหน ตั้งแต่โฆษณา สื่อ ธุรกิจ ตลาดทุนตลาดเงินก็ไม่เว้น ซ้ำร้ายกรณีอื้อฉาวหลายเรื่องที่คุยกันให้แซดในวงการ ควรจะเป็นข่าวพาดหัวในสื่อกระแสหลักกลับไม่เป็นข่าว ผู้เขียนคิดว่าสาเหตุหลักข้อหนึ่ง คือ จรรยาบรรณในวงการสื่อเองก็อ่อนแอปวกเปียกไม่แพ้จรรยาบรรณในวงการที่เกิดเรื่อง นักข่าวหลายคนมีบริษัทประชาสัมพันธ์ (พีอาร์) ของตัวเอง ทำงานพีอาร์เพื่อ “แหล่งข่าว” เป็นสรณะจนไม่อาจเขียน “ข่าว” ที่เป็นอิสระและรอบด้านตามมาตรฐานวิชาชีพได้อีกต่อไป เรื่องใหญ่แบบนี้ไม่เห็นสมาคมวิชาชีพจะทำอะไรได้กี่มากน้อย

ผู้ดำเนินนโยบาย เจ้าหน้าที่รัฐ สื่อมวลชน และเราๆ ท่านๆ มักจะให้ความสำคัญกับกรณีคอร์รัปชันที่คนทำตั้งใจทุจริตจริงๆ หรือไม่ก็ประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงจนเกิดความเสียหาย แต่งานวิจัยร่วมสมัยของนักจิตวิทยาศีลธรรม (behavioral ethics) พบว่าพฤติกรรมผิดศีลธรรมที่คนเราทำในชีวิตประจำวัน เวลาเข้าสังคมหรือในที่ทำงานนั้นส่วนใหญ่ไม่ได้เกิดจากความจงใจที่จะทุจริต แต่เกิดจากการ “หลอกตัวเองโดยไม่รู้สึกตัว” มากกว่า

จากการศึกษาของนักจิตวิทยาศีลธรรมพบว่า คนเราบิดเบือนกฎเพื่อช่วยเพื่อนร่วมงาน หรือแกล้งทำเป็นมองไม่เห็นข้อมูลที่อาจทำให้ลูกค้าเสียชื่อเสียง ทั้งที่ข้อมูลนั้นเป็นข้อเท็จจริงซึ่งทำให้ประชาชนเสียหายมากกว่าชื่อเสียงที่ลูกค้าเสีย เราทำอย่างนั้นเพราะมันช่วยบรรลุเป้าหมายอะไรบางอย่าง ซึ่งอาจไม่ใช่ประโยชน์ส่วนตัวล้วนๆ ด้วย ยกตัวอย่างเช่น เวลาที่เรายุ่งอยู่กับการทำงานให้ได้ยอดตามเป้า หรือแม้แต่ใช้ข้อมูลภายในหรือปั่นหุ้นหาเงินไปบริจาคให้กับวัดที่ตัวเองชอบ นัยทางศีลธรรมของการตัดสินใจสำคัญๆ ของเราอาจพร่าเลือนจากสติสัมปชัญญะ พอพร่าเลือนแล้วเราก็เลยประพฤติหรือยอมให้คนอื่นประพฤติในทางที่ปกติเราจะประณามหยามเหยียด

ลักษณะทางจิตวิทยาที่ว่านี้ตอบคำถามว่าเหตุใดความย่อหย่อนทางศีลธรรมแทบทุกวงการจึงดูแพร่หลายและฝังลึก นอกจากนี้ มันยังช่วยอธิบายว่าทำไมมาตรการลงโทษอย่างเช่นการบัญญัติค่าปรับหรือโทษจำคุกถึงอาจส่งผลตรงกันข้ามกับเจตนา นั่นคือ ทำให้คนประพฤติตนในทางที่ไม่พึงประสงค์มากขึ้น แทนที่จะน้อยลง การทดลองครั้งหนึ่งในปี 1999 ขอให้ผู้เข้าร่วมสวมบทเป็นนักอุตสาหกรรม เจ้าของโรงงานที่ปล่อยสารพิษสู่อากาศ พวกเขาตกอยู่ใต้แรงกดดันของนักสิ่งแวดล้อม ก็เลยตกลงกันว่าจะต่างคนต่างซื้ออุปกรณ์ลดมลพิษราคาแพงมาติดที่โรงงานเพราะไม่อยากเจอกฎหมายที่เข้มขึ้นในอนาคต นักทดลองบอกนักอุตสาหกรรมจำแลงบางคนว่า พวกเขาจะเสียค่าปรับไม่สูงนักถ้าหากละเมิดสัญญา ไม่ซื้ออุปกรณ์มาติดจริง บอกนักอุตสาหกรรมจำแลงที่เหลือว่าไม่ต้องเสียค่าปรับใดๆ เลยถ้าหากผิดสัญญา

ทฤษฎีเศรษฐศาสตร์ทั่วไปจะพยากรณ์ว่า คำขู่ที่จะเก็บค่าปรับจะบังคับให้คนทำตามสัญญามากขึ้น แต่ผลที่เกิดขึ้นกลับตรงกันข้าม-คนที่โดนขู่ว่าจะโดนปรับกลับโกงมากกว่าคนที่ไม่โดนขู่ นักวิจัยพบว่าสาเหตุ คือ ระบบค่าปรับทำให้คนมองการตัดสินใจเรื่องนี้ว่าเป็นการตัดสินใจทางการเงินล้วนๆ ก็เลยทำตัวผิดศีลธรรมโดยไม่รู้สึกอนาทรร้อนใจ แต่การไม่ต้องเผชิญกับค่าปรับใดๆ ทำให้คนมองสถานการณ์นี้ว่าเป็นการตัดสินใจทางศีลธรรม พอมองว่าเป็นเรื่องทางศีลธรรมก็เลยโกงน้อยลง มีความยับยั้งชั่งใจมากขึ้น ข้อค้นพบนี้สอดคล้องกับข้อค้นพบจากงานวิจัยมากมายว่า คนเรามักจะคิดว่าตัวเอง “มีศีลธรรม” มากกว่าที่เรามีจริงๆ

ความพร่าเลือนทางศีลธรรมที่ว่านี้นอกจากจะกีดกันไม่ให้เราสังเกตเห็นความประพฤติผิดศีลธรรมของตัวเองแล้ว มันยังทำให้เรามองข้ามพฤติกรรมเดียวกันของคนอื่นด้วย ตัวอย่างที่ชัดเจนล่าสุด คือ วิกฤติการเงินในสหรัฐอเมริกา ก่อนเกิดวิกฤตินี้แน่นอนว่าคณะกรรมการสถาบันการเงิน บริษัทผู้สอบบัญชี บริษัทจัดอันดับความน่าเชื่อถือ และวาณิชธนกรจำนวนมากเข้าถึงข้อมูลน่าตกใจที่พวกเขาควรสังเกตเห็นและรายงาน แต่แล้วส่วนใหญ่ก็ไม่ทำ ส่วนหนึ่งเป็นเพราะถูก “จูงใจให้ตาบอด” (motivated blindness) ในภาษาของนักจิตวิทยา หมายถึง แนวโน้มที่เราจะมองข้ามข้อมูลที่ขัดแย้งกับประโยชน์ของตัวเอง แม้แต่คนที่ซื่อสัตย์ที่สุดบางครั้งยังตกหลุมพรางนี้ ทั้งที่หลายคนจะปฏิเสธว่าไม่เคยตก

การตกอยู่ใต้อิทธิพลของแรงจูงใจให้ตาบอดนั้นทำให้มืออาชีพทำงานอย่างเป็น “ภววิสัย” (objective) ยากมาก โดยเฉพาะในภาคการเงินซึ่งภววิสัยเป็นส่วนสำคัญของจรรยาบรรณ และจรรยาบรรณเป็นหัวใจของความน่าเชื่อถือ ในกรณีอื้อฉาวมากมายตั้งแต่เอ็นรอนไปจนถึงเมอร์ริล ลินช์ ยักษ์ใหญ่ในอินเดียจนถึงจีนและไทย เราจะพบเห็นบ่อยครั้งว่าผลประโยชน์ทับซ้อน และการทำงานที่เข้าข้างลูกค้าแต่ผิดศีลธรรมและล่อแหลมว่าจะผิดกฎหมาย ของคนที่อ้างว่าเป็น “มืออาชีพ” นั้นเป็นส่วนสำคัญที่ก่อให้เกิดปัญหาและซุกปัญหาไว้ใต้พรม

เราจะแก้ไขหรืออย่างน้อยก็บรรเทาปัญหาพฤติกรรมไร้ศีลธรรมได้อย่างไร หลายคนมักจะเสนอให้ยกระดับมาตรฐานการเปิดเผยข้อมูล เช่น ให้เปิดเผยผลประโยชน์ทับซ้อน แต่งานวิจัยชิ้นสำคัญของ Daylian Cain, George Loewenstein และ Don Moore ปี 2005 พบว่า กฎการเปิดเผยดังกล่าวอาจส่งผลตรงกันข้าม คล้ายกับการบัญญัติค่าปรับให้นักอุตสาหกรรมจ่าย นั่นคือ การเปิดเผยข้อมูลทำให้คนรู้สึกว่า “ไม่มีหน้าที่” อีกต่อไปที่จะต้องทำงานอย่างเป็นภววิสัยหรือกำจัดปัญหาจากผลประโยชน์ทับซ้อน เพราะตัวเองได้เปิดเผยข้อมูลไปแล้ว นอกจากนี้ การเปิดเผยมากขึ้นยังทำให้คนรู้สึกไว้วางใจมืออาชีพหรือสถาบันนั้นๆ มากขึ้น กลายเป็นว่าตกเป็นเหยื่อได้อย่างง่ายดายกว่าเดิม

ที่ผ่านมา ระบบกฎหมายของไทยและทั่วโลกลงโทษพฤติกรรมผิดศีลธรรมก็ต่อเมื่อมันเกิดจากความจงใจของคนทำ ไม่ว่าจะเป็นการจงใจทุจริต หรือความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงก็ตาม เรามักจะคิดว่าคนควรต้องรับผิดก็ต่อเมื่อพวกเขาตั้งใจทำผิดเท่านั้น แต่ในโลกแห่งความจริงซึ่งนักจิตวิทยาศึกษาและเผยให้เห็น พฤติกรรมไร้ศีลธรรมที่เราไม่ตั้งใจทำนั้นเกิดขึ้นบ่อยครั้งกว่า และก่อความเสียหายได้ไม่แพ้กัน คนเราเชื่อมั่นใน “ความดี” ของตัวเองเกินจริง และเราก็มักจะมีส่วนร่วมในการตัดสินใจไร้ศีลธรรมโดยไม่รู้ตัว 

ทั้งหมดนี้ หมายความว่า เราควรปฏิรูปกลไกกำกับดูแลให้รับมือกับอิทธิพลซ่อนเร้นที่ส่งผลต่อพฤติกรรมของคน กำจัดผลประโยชน์ทับซ้อนที่อันตรายตั้งแต่ต้น เช่น ห้ามไม่ให้สถาบันการเงินทำธุรกรรมที่ขัดแย้งกับประโยชน์ของลูกค้า ผู้กำกับดูแลต้องเลิกคิดแค่ว่าจะเพิ่มค่าปรับ บทลงโทษ และระดับการเปิดเผยข้อมูลอย่างไร เพราะมาตรการเหล่านี้นอกจากจะไม่เพียงพอแล้ว หลายครั้งยังซ้ำเติมให้ปัญหารุนแรงกว่าเดิมอีกด้วย

สันติภาพ คือยอดปรารถนาของคนทั้งโลก

สันติภาพ คือยอดปรารถนาของคนทั้งโลก

Author : พนมหัตถ์

สังคมโลกทุกวันนี้มีความขัดแย้งระหว่างกันด้วยเรื่องต่างๆ นานา ตั้งแต่เรื่องเชื้อชาติ ศาสนา, ลัทธิความเชื่อถือ, การรุกล้ำดินแดน, ขัดแย้งผลประโยชน์ บางครั้งบางแห่ง ความขัดแย้งนำไปสู่การใช้กำลังห้ำหั่นสู้รบฆ่าฟันกัน

บางแห่งรุนแรงถึงขั้นทำสงครามระหว่างชาติที่ขัดแย้ง บางแห่งเกิดความขัดแย้งรุนแรงของคนในชาติ จนนำไปสู่สงครามกลางเมืองอย่างเช่นในเลบานอน และที่ซีเรียในปัจจุบัน

ความขัดแย้งถึงขั้นสู้รบฆ่าฟันกัน หมายถึงการสูญเสียเลือดเนื้อและชีวิตของผู้คนของทั้ง 2 ฝ่าย การสู้รบฆ่าฟันกันไม่เป็นผลดีแก่ฝ่ายใด อุทาหรณ์ให้เห็นเป็นที่ประจักษ์ตั้งแต่โบราณกาลจนถึงปัจจุบัน ทว่าในที่หลายแห่งของโลก ยังคงเลือกใช้วิธีการสู้รบด้วยกำลัง ทำสงครามกันเพื่อยุติปัญหา

ในทางตรงข้าม หากสังคมโลกมีความกรุณาเมตตาต่อกัน รักใคร่สมัครสมาน เข้าอกเข้าใจกัน ปรองดองสมานฉันท์ต่อกัน โลกใบนี้คงมีความสงบสุข มีสันติภาพ สันติสุข ไม่รบกัน ฆ่ากัน อย่างที่เป็นอยู่ในทุกวันนี้ สิ่งที่ว่ามานี้เกิดขึ้นได้แน่ ถ้าหากว่า…  ถ้าหากว่า…อิสราเอล กับชาติมุสลิมทั้งหลายที่อยู่ใกล้กัน ยุติการทำสงครามเข่นฆ่ากัน หาทางบรรลุข้อตกลง แบ่งสิทธิและผลประโยชน์กันได้อย่างเป็นที่พอใจ ประชากรของอิสราเอล กับประชากรของชาติมุสลิม มีเสรีภาพสามารถติดต่อค้าขาย แลกเปลี่ยนผลประโยชน์ต่อกันได้ บนพื้นฐานความเสมอภาคของ 2 ฝ่าย สันติภาพและสันติสุขย่อมบังเกิดแก่ดินแดนแห่งนี้ ที่มีความขัดแย้งตั้งแต่โบราณกาล และสันติสุขย่อมบังเกิดแก่ดินแดนแห่งนี้ ที่มีความขัดแย้งตั้งแต่โบราณกาล

ถ้าหากว่า…ประเทศมุสลิมในตะวันออกกลาง ยุติและขจัดความแตกแยก แก่งแย่งชิงอำนาจ ระหว่างชนในชาติมุสลิมด้วยกัน ไม่หลงเชื่อชาติใหญ่ตะวันตกที่คอยยุแยงตะแคงรั่วให้ชนในชาติรบกัน เพื่อพวกนั้นจะได้ฉกฉวยโอกาสขายอาวุธยุทโธปกรณ์ สันติภาพและสันติสุขย่อมบังเกิดในภูมิภาคแห่งนี้

ถ้าหากว่า…อินเดียกับปากีสถาน ว่าไปแล้วก็เป็นชนชาติสายพันธุ์เดียวกัน ในอดีตก่อนได้รับเอกราชจากอังกฤษก็เป็นประเทศเดียวกัน สามารถหันหน้าเข้าหาพูดจากัน บนพื้นฐานของไมตรีจริงใจ แขกอินเดีย กับแขกปากีสถาน คือแขกด้วยกันน่าจะทำความเข้าใจกันได้ แทนการใช้อาวุธเข่นฆ่ากันระหว่างแขกต่อแขก สันติภาพและสันติสุขย่อมบังเกิดแก่สองชาตินี้ แห่งชมพูทวีปในอดีตกาล

ถ้าหากว่า…จีนยอมลดราวาศอก พูดจาด้วยเหตุด้วยผลต่อชาติเล็กกว่า เช่น เวียดนาม ฟิลิปปินส์ ที่ในเวลานี้มีข้อพิพาทดินแดนตามหมู่เกาะในทะเลจีนใต้ ด้วยถ้อยทีถ้อยอาศัย อย่าให้ชาติใหญ่ตะวันตกที่จ้องคอยเอาน้ำมันราดบนกองไฟแห่งความขัดแย้ง เพื่อผลประโยชน์ของพวกเขา บัดนี้จีนกำลังก้าวเข้าสู่การเป็นชาติมหาอำนาจ น่าจะหยิบยื่นไมตรีแก่ชาติเล็ก เพื่อชนะใจชาติเล็กที่อยู่ใกล้กัน ดับความชิงชังของชนระหว่างชาติ อันจะนำไปสู่ความขัดแย้งในวันข้างหน้า

ถ้าหากว่า…เหตุการณ์ของโลกเป็นไปอย่างสร้างสรรค์ ตามความปรารถนาดังที่กล่าวมา จะไม่มีอะไรเลิศเลอไปกว่านี้แล้ว มหาอำนาจที่ทำตัวเป็นตำรวจโลก เป็นกรรมการโลกตัดสินความขัดแย้ง คงหมดความสำคัญ ส่วนชาติที่ได้ประโยชน์จากการผลิตอาวุธยุทโธปกรณ์ขาย เพื่อให้มนุษยชาติเข่นฆ่าประหัตประหารกัน ย่อมเลิกกิจการไป เพราะไม่มีความจำเป็นต้องซื้อ ประเทศทั้งหลายที่ต้องสิ้นเปลืองงบประมาณในการจัดซื้อหาอาวุธไว้ป้องกันประเทศ จะได้ใช้งบประมาณทุ่มเทให้กับการพัฒนาประเทศ สร้างความอยู่ดี กินดี ให้คนในชาติ ได้อยู่อย่างมีความสุข ความสงบ  พัฒนาประเทศ สร้างความอยู่ดี กินดี ให้คนในชาติ ได้อยู่อย่างมีความสุข ความสงบ   สันติภาพจงบังเกิดแก่ชาวโลกด้วยเถิดเจ้าประคู้น

Source : http://www.ryt9.com/s/bmnd/1440661