มนุษย์ทั้งโลกพ้นทุกข์ร่วมกันได้

มนุษย์ทั้งโลกพ้นทุกข์ร่วมกันได้

Author : ประเวศ วะสี

กุญแจอยู่ที่ความเป็น “ทั้งหมด”

ในเมื่อส่วนต่างๆ สัมพันธ์กัน และสัมพันธ์กัน “ทั้งหมด” ถ้าเราไม่คิดถึงความเป็น “ทั้งหมด” เราก็ไม่สามารถทำให้เกิดความเป็นปรกติได้ ในระบบรถยนต์ประกอบด้วยเครื่องเคราหรือส่วนประกอบอันหลากหลายและสัมพันธ์กันอย่างซับซ้อน แต่ถึงจะหลากหลายซับซ้อนเท่าใด ถ้าส่วนประกอบครบและสัมพันธ์กันอย่างถูกต้อง เกิดความเป็นทั้งหมด รถก็วิ่งไปได้อย่างเรียบร้อย โดยคนขับเพียงแต่ไขกุญแจสตาร์ทเครื่องเท่านั้น แต่ถ้าส่วนประกอบหนึ่งขาดไป หรือสัมพันธ์กันไม่ถูกต้อง แม้เพียงน็อตเพียงตัวเดียว รถยนต์คันนั้นก็จะเสียความเป็นปรกติ หรือวิ่งไม่ได้เลย

หรือร่างกายของเรา มีส่วนประกอบที่หลากหลายยิ่งกว่ารถยนต์หลายเท่า แต่เมื่อส่วนประกอบครบและสัมพันธ์กันถูกต้อง เราก็อยู่สบายๆ หรือมีความเป็นปรกติ หรือสุขภาพดี ถ้าอวัยวะหนึ่งผิดปรกติหรือขาดไปจากวงจร ก็จะเสียความเป็นปรกติ หรือไม่สบายไปทั้งตัว อาจวิกฤติและตายได้

ความสัมพันธ์กันด้วยดีของส่วนประกอบที่ปรกติทั้งหมดทำให้เกิดการหลุดพ้นจากความติดขัด หรือการพ้นทุกข์

มนุษย์ทั้งโลกและธรรมชาติแวดล้อมทั้งหมดอยู่ในระบบเดียวกัน หรือมีความเป็นหนึ่งเดียวกัน (The same Oneness) ถ้าส่วนใดส่วนหนึ่งขาดไปหรือพิการ ย่อมกระทบส่วนอื่น ทำให้ขาดความเป็นปรกติ หรือสันติสุข

ไม่เคยมีมาเลยที่มนุษย์ทั้งโลกจะมีจิตสำนึกของความเป็นทั้งหมดทั้งโลก เพราะข้อจำกัดในการรับรู้ และในความรู้แต่โบราณมนุษย์อยู่เป็นกลุ่มตามเผ่าพันธุ์ และมีสัญชาติญาณทางเผ่าพันธุ์สูง มีการต่อสู้ระหว่างกลุ่ม ระหว่างเผ่าพันธุ์ระหว่างประเทศ ตลอดมาในประวัติศาสตร์ของมนุษย์ โดยไม่สามารถมีสันติภาพได้นาน แม้จะมีศาสนาใหญ่ๆ เกิดขึ้นในช่วง 2-3 พันปีก่อน ซึ่งเป็นปัญญาใหญ่เพื่อความสุขสวัสดีของมนุษย์ และได้ผลเป็นหย่อมๆ ไม่ทั่วถึง แต่สัญชาตญาณเผ่าพันธุ์ก็ทำให้มนุษย์ดึงศาสนาให้แคบลง กลายเป็นศาสนาหรือพระเจ้าเฉพาะเผ่าพันธุ์ตัว แล้วเข้าห้ำหั่นกันเพราะศาสนา แม้พุทธศาสนาจะเป็นศาสนาเพื่อสันติภาพ และมีผู้บรรลุธรรมตามคำสอน แต่สภาพทั่วไปที่ขาดความเป็นโลกเดียวกัน ยากที่จะมีคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งหรือประเทศใดประเทศหนึ่งเจริญอยู่ได้นานโดยไม่ถูกคนกลุ่มอื่น หรือประเทศอื่นบุกเข้าทำลายล้าง ฉะนั้นแม้ศาสนาจะเป็นของดี เพราะขาดความเป็นโลกเดียวกัน สันติภาพของโลกก็เกิดขึ้นไม่ได้

เหมือนบางส่วนของเครื่องยนต์ดี แต่ส่วนอื่นๆ ไม่ดี รถยนต์คันนั้นก็ดีไม่ได้ เพราะทั้งหมดเป็นรถยนต์คันเดียวกัน

ในครั้งโบราณ เพราะมนุษย์อยู่ไกลกัน มนุษย์กลุ่มหนึ่งรู้อะไร กว่าความรู้จะเดินทางไปถึงมนุษย์อีกกลุ่มหนึ่งอาจกินเวลาตั้งพันปี มนุษย์ไม่อาจรู้ทั่วถึงกันได้ จึงขาดจิตสำนึกแห่งความเป็นหนึ่งเดียวกัน แต่สมัยนี้ความรู้ทั่วโลกมีแล้ว และมนุษย์ก็อยู่ใกล้ชิดกัน ไปมาหาสู่กันได้ทั้งโลก มีเทคโนโลยีการสื่อสารที่สามารถรู้เรื่องเดียวกันทั้งโลก ฉะนั้นในปัจจุบันจึงเป็นไปได้เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ของมนุษยชาติที่มนุษย์ทั้งดลกจะรู้อย่างเดียวกันพร้อมกันทั้งโลก ทำให้ความเป็นโลกเดียวกันเป็นไปได้ จึงเป็นโอกาสที่มนุษย์จะคิดถึงความเป็นทั้งหมด และคิดถึงการอยู่ร่วมโลกเดียวกันด้วยสันติทั้งโลก

มนุษย์เป็นทั้ง 2 อย่างพร้อมๆ กัน คือมีความเป็นตัวของตัวเองมาก หรือความเป็นปัจเจกบุคคล แต่ขณะเดียวกันก็เชื่อมโยงสัมพันธ์กันสิ่งอื่นๆ คือคนอื่น และธรรมชาติแวดล้อม เพราะทั้งหมดเป็นหนึ่งเดียวกัน ถ้าใครอยากจะอยุูคนเดียวไม่เกี่ยวข้องกับโลก โลกก็จะเกี่ยวข้องกับเรา และส่งผลกระทบกับเรา เพราะทั้งหมดอยุ่ในระบบเดียวกัน ฉะนั้นลัทธิปัจเจกนิยมสุดโต่ง จะเป็นในความทันสมัยแบบตะวันตก หรือในพุทธศาสนาแบบคับแคบที่มุ่งบรรลุนิพพานเป็นเอกเทศโดยไม่อยากเกี่ยวข้องกับใครก็ตาม เป็นการแยกส่วนจากทั้งหมด ไม่สามารถทำให้เกิดสันติภาพได้

กุญแจของสันติภาพจึงอยู่ที่การเห็นทั้งหมดทั้งปัจเจกบุคคล สังคมหรือคนทั้งโลก และธรรมชาติทั้งโลก ความเป็นโลกเดียวกัน จึงหมายถึงคนแต่ละคน คนทั้งหมดทุกคนในโลก และธรรมชาติทั้งโลก

เมื่อมนุษย์อวกาศชื่อ เอ็ดการ์ มิทเชลล์ ยืนอยู่บนดวงจันทร์แล้วเห็นโลกทั้งใบลอยฟ่องอยู่ในอวกาศ เขาเกิดจิตสำนึกใหม่แห่งควงามเป็นโลกเดียวกัน เมื่ออยู่บนโลกเพราะรู้เห็นเป็นส่วนๆ จึงเกลียดกันบ้าง ทะเลาะกันบ้าง ฆ่ากันบ้าง ทำลายธรรมชาติบ้าง แต่เมื่ออยู่นอกโลกแล้วเห็นโลกทั้งใบจึงเกิดจิตสำนึกแห่งความเป็นหนึ่งเดียวกันทั้งโลก เกิดความรักอันไพศาลต่อมนุษย์ทั้งหมดและต่อธรรมชาติทั้งหมด

“I came back to Earth a totally changed man.” เอ็ดการ์ มิทเชลล์ กล่าว (ฉันกลับมายังโลกเป็นคนที่เปลี่ยนแปลงโดยสิ้นเชิง) คือ เกิดจิตสำนึกโลก ที่ผ่านเลยการยึดมั่นในตัวตน

ถ้ามนุษย์มีจิตสำนึกใหม่ (New Consciousness) อันเป็นจิตสำนึกใหญ่เป็นจิตสำนึกโลก เห็นความเป็นหนึ่งเดียวกันของคนทั้งโลก และธรรมชาติทั้งหมดจะประสบอิสรภาพ เพราะหลุดจากความยึดมั่นในตัวเอง หรือการเอาตนเองเป็นศูนย์กลาง หรือติดอยู่กับความคับแคบในตัวเอง อันก่อให้เกิดความขัดแย้ง อิสรภาพจะทำให้มนุษย์พบความสุข เกิดความรักอันไพศาลต่อเพื่อนมนุษย์ทั้งหมดและธรรมชาติทั้งหมด อันเป็นรากฐานให้มนุษย์สามารถจัดระบบการอยู่ร่วมกันด้วยสันติทั้งโลก ทั้งระหว่างมนุษย์กับมนุษย์ และระหว่างมนุษย์กับธรรมชาติแวดล้อม นั่นคือ

“มนุษย์ทั้งโลกพ้นทุกข์ร่วมกันได้”

ที่จริงมนุษย์ใฝ่ฝันมาแต่โบราณถึงโลกที่มนุษย์มีความเจริญมีความสุขดังที่เรียกว่า “โลกศรีอาริยะ” แต่สมัยโบราณไม่มีทางเป็นไปได้ เพราะความเป็นโลกเดียวกันเป็นไปไม่ได้ แต่ในปัจจุบัน สังคมมนุษย์ได้วิวัฒนาการมาถึงจุดที่ความเป็นโลกเดียวกันเป็นไปได้ โลกที่มนุษย์มีความเจริญและมีความสุข หรือ “โลกศรีอาริยะ” จึงมีความเป็นไปได้ ปัญญาทางศาสนาแต่ดั้งเดิม และความรู้ใหม่ทางวิทยาศาสตร์เกี่ยวกับจักรวาลโลก สิ่งแวดล้อม สังคม กำลังมาบรรจบกัน ที่ทำให้มนุษย์มีทางเลือกอันหลากหลายที่จะเกิดจิตสำนึกใหญ่ เมื่อมีทางเลือกอันหลากหลายก็เป็นไปได้ว่ามนุษย์ทั้งหมดจะเกิดจิตสำนึกใหม่ แม้ทางเลือกจะต่างกัน แต่จิตสำนึกใหม่จะเป็นที่พบกันของมนุษย์ทั้งโลก จัดระบบการอยู่ร่วมกันด้วยความเจริญ และความสุขร่วมกันทั้งโลก

เส้นทางการไปสู่การพ้นทุกข์ร่วมกันทั้งโลก เป็นเส้นทางที่หลากหลาย เปิดกว้าง ไม่คับแคบ ไม่บีบคั้น จึงเป็นเส้นทางที่สามารถเดินได้ด้วยความหฤหรรษ์ และสนุก

Source : หนังสือ “วิถีมนุษย์ในศตวรรษที่ 21 ศูนย์ หนึ่ง เก้า” เขียนโดย ประเวศ วะสี

จดหมายอวยพรจากทะไลลามะ ถึงส.ศิวรักษ์

จดหมายอวยพรจากทะไลลามะ ถึงส.ศิวรักษ์

19 มีนาคม 2556

เรียน ศรีสุลักษณ์

 

อาตมาทราบว่าใกล้ถึงวันเกิดครบรอบแปดสิบปีของคุณ ในโอกาสสำคัญนี้ อาตมาขออำนวยพรให้คุณมีความสุข และสามารถประกอบกิจอันดีงามอีกยาวนาน

 

จำได้ที่เราพบกันเป็นครั้งแรกๆ คราวที่อาตมาไปเยือนเมืองไทยเมื่อกว่าสี่สิบปีที่แล้ว เราทั้งคู่ต่างยังหนุ่ม หลังจากนั้นเราได้พบกันอีกหลายครั้ง อาตมารู้สึกชื่นชมกับงานที่คุณทำ ซึ่งช่วยให้คนเห็นถึงปัญหาที่มนุษยชาติเผชิญอยู่ และชื่นชมความกล้าหาญของคุณในการเสนอทางออกให้กับปัญหาเหล่านั้น

 

อาตมายังยินดีกับศรัทธาปสาทะอันแก่กล้าที่คุณแสดงออกต่อพุทธธรรมและธรรมปฏิบัติ และนำเสนอให้เหมาะกับยุคสมัยปัจจุบัน

 

ด้วยพรและธรรมอันประเสริฐ

เจริญพร

สมเด็จทะไลลามะ

มอง ส. ศิวรักษ์ จากอีกมุมหนึ่ง

มอง ส. ศิวรักษ์ จากอีกมุมหนึ่ง

Author : ทักษ์ศิล ฉัตรแก้ว

คนส่วนใหญ่มองและเห็น ส.ศิวรักษ์ หรือ “อาจารย์สุลักษณ์” เป็นนักคิด นักเขียน และปัญญาชนชาวพุทธคนสำคัญของยุคสมัย

ส.ศิวรักษ์ ยังเป็นอะไรอีกตั้งหลายอย่าง

ส.ศิวรักษ์ เป็นนักประวัติศาสตร์
ส.ศิวรักษ์ เป็นนักวิจารณ์สถาบันพระมหากษัตริย์ตัวยงและอย่างต่อเนื่อง โดยมีความรู้เรื่องเจ้าและมีฐานข้อมูลเกี่ยวกับเจ้าอย่างกว้างขวางลึกซึ้ง
ส.ศิวรักษ์ เป็นนักวิจารณ์วงการสงฆ์และรู้เรื่องพระสงฆ์ดีที่สุดคนหนึ่งในประเทศนี้
ส.ศิวรักษ์ เป็นนักต่อสู้เคลื่อนไหวในเรื่องสิทธิมนุษยชนและความเป็นธรรมในสังคมระดับนานาชาติ
ส.ศิวรักษ์ เป็นนักระดมทุนที่เก่ง
ส.ศิวรักษ์ เป็นหัวขบวนคนสำคัญของบรรดาเอ็นจีโอไทย และเป็นผู้ร่วมก่อตั้งหน่วยงานพัฒนาเอกชนและองค์กรไม่แสวงกำไรชั้นนำจำนวนมาก
ส.ศิวรักษ์ เป็นบรรณาธิการคนสำคัญของอุตสาหกรรมหนังสือไทย
ส.ศิวรักษ์ เป็นคอลัมนิสต์ปากกาคม
ส.ศิวรักษ์ เป็นนักเขียนที่มีผลงานจำนวนนับร้อยเล่ม ทั้งภาษาไทย ภาษาอังกฤษ โดยทำงานเขียนมาตลอด 60 กว่าปี
ส.ศิวรักษ์ เป็นนักปาฐกถาที่มีลีลาเฉพาะตัว พูดกระชับ ตรงประเด็น มีพลังในการโน้มน้าว และอ้างอิงข้อมูลเชิงประวัติศาสตร์ที่แม่นยำ
ส.ศิวรักษ์ เป็นปัญญาชนคนแรกๆ ที่ออกมาเคลื่อนไหวโค่นล้มทักษิณ ชินวัตร ในรอบที่แล้ว

มิเพียงเท่านั้น ส. ศิวรักษ์ ยังเป็นนักธุรกิจที่ประสบความสำเร็จ สำนักพิมพ์เคล็ดไทย (และสำนักพิมพ์ในเครือข่าย) สายส่งศึกษิต ร้านหนังสือศึกษิตสยามและร้านในเครือข่าย ล้วนเป็นธุรกิจที่ประสบความสำเร็จ และมีส่วนช่วยเหลือนักเขียน กวี และเจ้าของสำนักพิมพ์เล็กๆ น้อยๆ จำนวนมาก

พูดภาษาเชิงการบริหารจัดการได้ว่า ส.ศิวรักษ์ นั้นมี “จิตวิญญาณแบบผู้ประกอบการ” หรือ “Entrepreneurial Spirit” อยู่เต็มเปี่ยม คือชอบริเริ่มสร้างสรรค์และรับความเสี่ยง แม้จะย่างเข้าปัจฉิมวัยแล้วก็ตาม จิตวิญญาณแบบนั้นก็ยังคงไม่มอดไหม้

MBA สนใจ ส.ศิวรักษ์ ในเชิงนี้ เพราะ ส. ศิวรักษ์ เป็นตัวอย่างของผู้สูงอายุที่ยังคงประกอบการและผลิตและสร้างสรรค์

คนอย่าง ส.ศิวรักษ์ พิสูจน์ให้เราเห็นว่า “จิตวิญญาณแบบผู้ประกอบการ” และความคิดสร้างสรรค์ หรือพลังที่จะริเริ่มกิจกรรมและธุรกิจ โดยพร้อมรับความเสี่ยง ไม่จำเป็นว่าจะต้องมีอยู่แต่ในวัยหนุ่มสาวอย่างเดียว ดังที่เข้าใจกันในบัดนี้ (ส.ศิวรักษ์ ยังพร้อมรับความเสี่ยงต่อชีวิต ทรัพย์สิน และถูกพรากอิสรภาพ ทุกครั้ง เมื่อวิจารณ์สถาบันฯ และผู้มีอำนาจ)

สื่อมวลชนและนโยบายสร้างผู้ประกอบการของแทบทุกรัฐบาลล้วนพุ่งความสนใจไปสู่คนหนุ่มสาวในเยนเนอเรชั่น Google, Facebook, และ Groupon และ “เถ้าแก่น้อย”

โดยเรามักคิดว่าคนอายุ 50, 60, 70 ย่อมบุกเบิกสร้างกิจการไม่ได้แล้ว เพราะเป็นวัยอันควรเกษียณและพักผ่อนหรือเลี้ยงหลานอยู่กับบ้าน

โอกาสที่จะเข้าถึงทุนของพวกเขาแทบจะเป็นไปไม่ได้ (มันค่อนข้างนอกเหนือจินตนาการของบรรดานายธนาคารไปมาก ถ้าจะให้พวกเขาปล่อยสินเชื่อให้กับคนในวัย 50 หรือ 60 เพื่อมาลงทุนสร้างกิจการ)

แต่อย่าลืมว่าคนอย่าง Ray Krock ก็เริ่มสร้าง McDonald”s ตอนอายุ 50 กว่า และพันเอก Harland Sanders ก็เริ่มสร้าง Kentucky Fried Chicken เมื่ออายุ 60 กว่าแล้ว Verdi ประพันธ์โอเปร่าเรื่อง Falstaff ตอนอายุ 80 เช่นเดียวกับเบโธเฟนที่แต่งซิมโฟนีหมายเลข 9 เมื่ออายุ 54 และตอนที่รัชกาลที่ 1 สร้างกรุงก็ทรงมีพระชนมายุมากกว่ากึ่งหนึ่งของพระชนม์ชีพแล้ว และ Peter Drucker ก็เพิ่งจะมาดังสุดขีดและสร้างสรรค์สุดขีดในฐานะ Management Guru ระหว่างช่วงอายุ 60-94 นี่เอง เชอร์ชิลนำอังกฤษสู้ฮิตเล่อร์เมื่ออายุ 65 เช่นเดียวกับนายพลไอเซนฮาวที่นำกองทัพสัมพันธมิตรยกพลขี้นบกในวัน D-Day เมื่ออายุ 54 และไมเคิลแองเจโลก็ปีนขึ้นไปวาดภาพบนเพดานโบสถ์เซนต์ปีเตอร์ตอนอายุ 71 แล้ว หรือคนอย่าง แอ็ด คาราบาว เพิ่งจะก่อตั้งบุกเบิกกิจการ “คาราบาวแดง” ตอนอายุ 50 นี่เอง และยังคงแต่งเพลงและ Produce งานเพลงให้ศิลปินรุ่นหลังอยู่อย่างต่อเนื่องแม้จะย่างเข้าวัยเกษียณแล้ว (อย่าลืมว่า Rolling Stone ยังตระเวนแสดงสดอยู่ และสมาชิกวงก็ยังแต่ตัวสไตล์เดิม ไม่ต่างจากสมัยที่พวกเขายังเป็นวัยรุ่น และ Mick Jagger ก็ยังกระโดดโลดเต้นอยู่อย่างเดิม แม้จะอายุ 69 แล้ว)

คนอย่าง ส.ศิวรักษ์ และปีเตอร์ ดรักเกอร์ และ Ray Krock และพันเอก Harland Sanders และ Mick Jagger และสมาชิกวง Rolling Stone และหลายคนที่กล่าวมานั้น ทำให้คนรุ่นหลังอย่างเราไม่กลัวความแก่ และทำให้เราวางใจได้ว่าสังคมในอนาคตที่คาดกันว่าจะเต็มไปด้วยคนแก่นั้นจะยังสร้างสรรค์ต่อไปและไม่หยุดผลิต

ที่สำคัญ มันยังสร้างความหวังให้กับคนที่กำลังย่างเข้าวัย 40-50-60 ซึ่งคิดว่าตัวเองหมดหนทาง หมดเวลาแล้วสำหรับงานตั้งต้นบุกเบิก งานสร้างสรรค์ และรับความเสี่ยง ไม่ว่าเขาเหล่านั้นจะทำงานอยู่ในภาคราชการหรือเอกชนหรือเป็นนายตัวเองหรือทำงานสร้างสรรค์นฤมิตกรรมเพื่อยกระดับจิตใจมนุษย์ (Sursum Corda)

จะไม่มีคำว่า “อยู่ไปวันๆ” “รอเกษียณ” หรือ “รอวันถูกโละออกจากงาน”

Source : ตีพิมพ์ครั้งแรกในนิตยสาร MBA ฉบับเดือนกุมภาพันธ์ 2555 
http://mba-magazine.blogspot.com/2012/02/blog-post_27.html

อภิมหาวาทกรรม ‘ปัญญาชน คนรากหญ้า’ กับข้อสังเกตบางประการ

อภิมหาวาทกรรม 'ปัญญาชน คนรากหญ้า' กับข้อสังเกตบางประการ

Author : รัฐพล เพชรบดี

ถ้าคำถามที่ว่า “ไก่กับไข่ อะไรหนอที่เกิดก่อนกัน” นับเป็นปัญหาที่เรียกว่า ‘โลกแตก’ ฉะนั้นคำุถามที่ว่า “ปัญญาชนกับคนรากหญ้า ใครหนอซื่อบื้อกว่ากัน (ในสภาวะหลังสมัยใหม่)” ก็อาจนับว่าเป็นปัญหาโลกแตกได้เ่ช่นเดียวกัน ตรงนี้หมายถึงอะไร” ตรงนี้ก็หมายความว่าใช่ปัญญาชนจะซื่อบื้อไปหว่าชาวรากหญ้ามิได้เสียเมื่อไหร่ หรือถ้าจะมองในมุมของกฤษณะมูรติ นักปราชญ์ร่วมสมัยชาวอินเดียผู้ที่กว่าวว่า ‘ปวงความรู้นั้นคือพันธนาการ’ ก็คงยิ่งไม่ต้องกว่าวอะไรถึงความเป็นไปได้ในการสลับขั้วกันซึ่งปัญหาโลกแตก แดร์ริดาเองก็เคยโต้ไว้ว่าการที่เราเห็นความไม่มีอยู่นั้นไร้ค่า มันเป็นเพราะเรายึดกับความมีอยู่ของสิ่งต่างๆ ให้เป็นสถานะหลักของการตีความ (metaphysics of presence) ในความเป็นจริงกระแสหลัก ดังนั้น โลกใบนี้จึงไม่มีพื้นที่ให้กับความไม่มีอยู่ ถ้าจะมองว่าวาทกรรม ‘ปัญญาชน คนรากหญ้า’ เป็นหนึ่งในลักษณะที่เรียกว่า Binary Opposition กลายๆ ก็คงไม่ผิดอะไร มีขาวก็ต้องมีดำ มีไร้ก็ต้องมีซึ่งดำรง มีร้อนก็ต้องมีหนาว มีฉลาดก็ต้องมีโง่ และที่สำคัญมีคนรากหญ้าก็ต้องมีฝ่ายตรงข้าม เพียงแต่ตรงนี้เราอาจต้องพิจารณาให้ดีว่าทุกคู่ตรงข้ามมีความสอดคล้องไปในทางเดียวกันทุกกรณีหรือไม่ ส่วนตัวผู้เขียนมองว่าไม่แน่นอน เนื่องจากคู่ตรงข้ามบางคู่นั้นก็มนุษย์เราเองนี้แหละ ที่เป็นคนสร้างสรรค์มันขึ้นมา ผู้เขียนไม่รู้ว่าจะปีติหรือเศร้าโศกดี ที่การทำรัฐประหารกันยา ๔๙ โดยตัวมันเองทำให้อภิมหาวาทกรรมนี้ก่อกำเนิดเกิดขึ้นมาในสังคมไทย กระบวนการ ‘วิภาษวิธี’ ที่กำลังรอการผลิดอกออกใบในทางการเมืองแต่ละยุคสมัยจึงจะได้เจริญเติบโตเร็วขึ้นกว่าเดิม ไปสู่จุดสัมบูรณ์เร็วขึ้นกว่าเดิม ว่าแต่มันมีอยู่จริงหรือ สิ่งที่เรียกว่า ‘ปัญญาชน คนรากหญ้า'” หรือเอาเข้าจริงแล้ว มันเป็นเพียงแค่ความฝันที่รอการตื่นเพียงวาทกรรมที่รอการชำระ หรือมันอาจจะเป็นเพียงอวิชชาของคนบางกลุ่ม” แน่นอนว่าท่านผู้อ่านคงต้องเคยขบคิดความหมายของวาทกรรมคู่ตรงข้ามนี้มาบ้าง ไม่มากก็น้อย ด้วยวิธีพิสูจน์ที่อาจใช้ระบบตรรกะเหตุผหรือว่าด้วยอารมณ์ความรู้สึก แต่ผลลัพธ์คือแน่นอนว่าการตีความวาทกรรมคู่นี้นั้นมิใช่เรื่องง่าย เนื่องจากมันหาได้ใช่ discourse ธรรมดาๆ แต่ถึงขั้นอภิมหา(grand) วาทกรรมที่มีเลือดวาทกรรมย่อยผสมกันอยู่มากสีเลยทีเดียว กล่าวคือวาทกรรม ‘ย่อย’ ในส่วนของ ‘ศีลธรรม’ (morality) ‘การศึกษา’ (education) และ ‘อุดมการณ์’ (ideology)   วาทกรรม ‘คลั่งศีลธรรม’ ของคนเมือง (หรือชนชั้นกลาง) ถ้าลองสังเกตอัตราความเคลื่อนไหวในทางการเมืองในแต่ละขณะ ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันให้ดีแล้ว จะเห็นได้ว่าวาทกรรมทายาท (คลั่ง) ‘ศีลธรรม’ (ศัพท์โดย สฤณี อาชวนันทกุล) เพิ่งจะถูกคลอดออกมาให้เห็นเด่นชัดในช่วงยุครัฐบาลคุณทักษิณนี่เอง (กล่าวคือก็น่าแปลกดี ที่แม้แต่การเมืองในสมัยเดือนตุลา ซึ่งถูกแฝงไว้ด้วยความโหดร้ายทารุญอย่างยิ่งกลับไม่ส่งผลให้วาทกรรมที่ว่านี้เด่นชัดเท่า) คำชมคลาสสิกที่เรามักจะได้ยินเกี่ยวกับกิตติศัพท์ของคุณทักษิณก็เช่นว่า ‘ไอ้โกงบ้านโกงเมือง’ (จากแนวคิดชนชั้นกลางทั่วไป) ‘มันจะซื้อประเทศเราไปแล้ว’ (จากเพื่อนผู้เขียน) ‘ระบอบทักษิณ’ (ขอยืมลิขสิทธิ์ อ.เกษียร เตชะพีระ (สมัยก่อน)) ‘ไอ้สมบูรณาญาสิทธิทุน’ (อ้างอิง ส.ว.คำบุญ สิทธิสมาน) ‘เสื้อคลุมประชาธิปไตย เนื้อในเผด็จการ’ (อ้างอิง อ.บรรเจิด สิงคะเนติ) ฯลฯ ผู้เขียนเองคงไม่วิจารณ์อะไรกับคำวิจารณ์ ด่าทอตรงนี้ เพียงแต่ผู้เขียนมองว่ามันมีประเด็นที่พิลึกพิลั่นบางอย่างที่ควรจะถูกนำเสนอเท่านั้น ประเด็นแรกก็คือว่าผู้พูด หรือผู้หยิบยืมวลีประโยคเหล่านั้น (ส่วนมาก แต่อาจไม่ทั้งหมด) หาได้รู้อะไรเลยเกี่ยวกับข้อเท็จจริงต่างๆ ในเนื้อหาทางกฎหมาย การเมือง และความรู้พื้นฐานทางด้านประวัติศาสตร์ไทย คำถามจึงมีอยู่ว่า แล้วคนกลุ่มที่ว่านั้นเขาด่าทำไม เขาด่าไปด้วยเหตุผลอะไร” คำตอบอย่างพื้นฐานที่สุดก็คือเพื่อจะแสดงให้เห็นว่า “ฉันเป็นคนอี มีศีลธรรม” “ไอ้พวกโกงบ้านโกงเมืองฉันรับไม่ได้หรอก” ดังนั้นแล้วการศึกษาค้นคว้าหาความรู้ หาข้อเท็จจริง จึงหาได้มีความสลักสำคัญอะไรเท่ากันการแสดงตัวตอนและจุดยืนตามกระแสสังคมเท่านั้น (persona จากแนวคิดของ คาร์ล ยุงค์) ข้อสังเกตที่ตามมาจึงมีอยู่ว่า แล้วรัฐบาลบางรัฐบาลทีีขึ้นชื่อว่ามีการทุริตคอร์รัปชั่นสูงทีุ่สุดในประวัติศาสตร์ไทยนั้นเท่าที่เคยปรากฏมานั้น ด้วยเหตุใดจึงไม่โดนกล่าวหาในลักษณะเดียวกัน จากคนกลุ่มเดียวกันเล่า” ตรงนี้ก็พูดได้ว่าเป็นภาพต่อในนัยยะเดียวกัน สอดคล้องกัน กล่าวคือ ‘ความดูดี มีชาติตระกูล(เก่าแก่)’ สำหรับคนไทยนั้นถือว่ามีชัยไปกว่าครึ่งในทุกวงการ เมื่อมีสิ่งที่ว่านี้แล้ว เกราะหุ้มในเรื่องศีลธรรมความดีก็ตามมาเอง เมื่อมีสิ่งที่เรียกว่า “คนดีมีชาติตระกูล” แล้วจึงเป็นเรื่องปกติที่ต้องมีสิ่งที่ถูกนิยามให้อยู่ตรงกันข้าม ถ้าจะพูดกันในเชิงสัญลักษณ์ ฝ่ายที่ว่าก็คือ “สีแดง” (ไพร่) นั่นเอง และโดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อคนส่วนใหญ่ตัดสินสิ่งที่เรียกว่า “ศีลธรรม” ด้วยวัฒนธรรมประเพณี ด้วยปัจจัยภายนอก และอารมณ์ความรู้สึก พื้นที่ “ความเป็นคนดี” จึงไม่มีเหลือให้เพื่อนมนุษย์อีกฝ่ายสามารถถลำกล้ำกรายเข้ามามีส่วนร่วมได้ ซึ่งตรงนี้เอง ที่ผู้เขียนมองว่ามีความพิลึกพิลั่นจนสุดจะพรรณนา กล่าวคือเราไม่ตัดสินคนด้วยบรรทัดฐานของปรัชญาความรู้ แต่กลับตัดสินคนด้วย “ความเป็นเขา” (you are wrong because you have been, not what you have done) อย่างง่ายๆ และหยาบๆ เพียงแค่นั้น ถ้าเขาดี เขาก็จะดีเสมอไป ถ้าเขาจะสง่า ก็จะสง่าเสมอไป ถึงเขาจะฆ่าคนเกินกว่าเก้าสิบศพ เขาก็เป็นคนดี ถึงเขาจะทำการทุจริตคอร์รัปชั่น แต่เขาเป็นคนมีสง่าราศีชาติตระกูล ถึงเขากระทำการยึดอำนาจรัฐประหาร เขาก็ยังคงไว้ซึ่งศีลธรรม ในขณะที่กลุ่มคนอีกพวกหนึ่งนั้นไร้ซึ่งปัญญาและศีลธรรมยิ่งนัก มันเป็นฝ่ายซ้าย มันเป็นคอมมิวนิสต์จำแลง มันเรียกร้องระบอบประชาธิปไตย มันจะสืบทอดเจตนารมณ์ของคณะราษฎร มันจะแก้รัฐธรรมนูญฉบับรัฐประหาร มันจะโค่นอำมาตย์ (ขุนนางและผู้มีอำนาจเก่า) เพื่อให้ประชาชนทุกคนมีสิทธิและเสรีภาพเท่าเทียมกันในสังคมตามธรรมสภาพสัจจะความเป็นจริง และที่สำคัญ มันผิดเพราะเป็นคนรากหญ้า เป็นคนชนบทเป็นคนที่ไม่รู้เรื่องรู้ราวอะไร   วาทกรรมการศึกษาของ “คนเดินทองหล่อ” กับ “คนหลังสู้ฟ้า หน้าสู้ดิน” ท่าน ส.ศิวรักษ์ เคยกล่าวเอาไว้ ณ รายการคุณภิญโญ เกี่ยวกับเรื่อง “ประชาธิปไตย” ตอนหนึ่งว่า “ประชาธิปไตยนั้น เป็นภูมิปัญญาชาวบ้าน” โดยส่วนตัวผู้เขียนเองเห็นว่าประโยคที่ว่ามีความหมายลึกซึ้งยิ่ง เพราะในเมื่อประชาธิปไตยนั้นเป็นเรื่องการปกครอง “โดยประชาชน ของประชาชน และเพื่อ ประชาชน” (อ้างอิง อับราฮัม ลินคอล์น) แล้ว ฉะนั้นประเด็นเรื่องการศึกษาจึงมิใช่ประเด็น (หรือมิควร) ที่จะมากำหนดทิศทางประชาธิปไตยของบ้านเมืองในฐาน “วาทกรรมหลัก” แต่อย่างใด ก่อนอื่นถ้าเราลองคิดดู เราจะเห็นว่าเรื่องของ “ช่องว่าง” หรือ “ความห่าง” ในระดับขั้นของการศึกษามักจะถูกหยิบขึ้นมาเป็นประเด็นหลักในทางการเมือง (ภาคประชาชน”) เสมอมา ทั้งในรูปของการนำเสนอแบบรูปธรรม (เช่นเรื่องของลำดับศักดิ์ปริญญา หรือการแสดงความรู้ทางเทคโนโลยีใหม่ๆ) หรือในรูปแบบของการนำเสนอเชิงสัญลักาณ์ (เช่น การแปรความหมายทุกอย่างให้เป็นไปในแง่ต่ำต้อยตลอดเวลาเมื่อกล่าวถึงคำว่า “ชนบท”) หรือถ้าจะลองพิจารณากันตามแนวคิด difference ของแดร์ริดา ก็เป็นไปได้ที่ “ความหลากเลื่อน” น้ำจะโยงไปถึงการสร้างวาทกรรมคามต่างระหว่างวัฒนธรรมเพลงป๊อปอัลเทอร์กับเพลงลูกทุ่ง (ซึ่งมีศักดิ์ด้อยกว่า) เสียด้วยซ้ำ จะอย่างไรก็ตาม คำถามตรงนี้ก็คือ เรื่องแบบนี้มันเกิดขึ้นมาได้อย่างไร และอะไรที่นับได้ว่าเป็นจุดผิดพลาดที่ใหญ่ที่สุดในเรื่องนี้” คำตอบที่ชัดเจนที่สุดอาจตอบได้ว่า มันเป็นเรื่องความคิด (อาจนับได้เป็นวาทกรรมหนึ่ง) ทาง “ชนชั้น” (classes) ที่ยังฝังรากแน่นอยู่ในสังคมไทยนั่นเอง และโดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้คนที่ได้แสดงออกทางความคิดในรูปแบบนี้ (ส่วนมาก) ยังหาได้รู้ความนัยและที่มาของการแสดงออกเหล่านั้นของตนเลย พวกเขาหารู้ไม่ว่าการพูดถึงความต่าง (โดยไม่รู้ตัว) ของเรื่องวัฒนธรรม การศึกษา ชาติพันธุ์ ภาษา ล้วนมีต้นตอมาจาก “อคติ” (bias) ที่เกิดจากระบบชนชั้นทั้งสิ้น ในทำนองเดียวกัน ถ้ามองในมุม “การครอบงำ” (hegemonic power) ของวาทกรรมกระแสหลัก ก็จะเห็นได้ว่ามันจะแสดงออกในรูปของ binary opposition (ที่ได้เกริ่นไปแล้ว) อยู่เสมอ เช่นการตัดมิติกันของเรื่อง เมือง/ชนบท ภาษากลาง/ภาษาอีสาน ปัญญา/แรงงาน ผู้นำ/ผู้ถูกกดขี่ ไฮโซ/โลโซ ทองหล่อ/หนองหอย คอนกรีต/ดินแดง ไวน์แดง/เหล้าขาว ฯลฯ กล่าวสรุปตรงนี้อย่างง่ายๆ ก็คือว่า ไม่ว่าเหตุผลของอีกฝ่ายจะเป็นอย่างไร แต่ในเมื่อวาทกรรมเหล่านี้ได้ครอบงำและฝังรากลึกอยู่ในสังคมอย่างแทบจะถาวรแล้ว ทุกอย่างจึงถูกฟูลล์สต๊อปป์อยู่ที่เดิม และเนื่องด้วยที่มาเหล่านี้เอง จึงทำให้คนจบมหาวิทยาลัยปีสีที่เดินอยู่ตามซอกซอยถนนทองหล่อ กับคนจบระดับชั้นเดียวกันแต่กลับไปช่วยแม่อยู่ตามคันนา กลับมีศักดิ์และชนชั้นในทางการเมืองที่แตกต่างกันโดยอัตโนมัติเนื่องจากพื้นฐานของการคอบงำ และแน่นอนว่าปราศจากการใช้ซึ่งปรัชญาและตรรกะเหตุผลในการพิจารณาแต่อย่างใด อย่างไรก็ตาม ผู้เขียนจะขออธิบายเรื่องการศึกษาและประชาธิปไตยอีสักหน่อย กล่าวคือที่ท่าน ส. พูดมานั้น ความหมายที่แท้จริงคืออะไร การตีความควรจะเป็นไปในทิศทางไหน” ตรงนี้ผู้เขียนมองว่าชื่อของระบบก็สามารถพูดได้โดยตัวของมันเองอยู่แล้ว กล่าวคือประชาธิปไตยเป็นเรื่องของการลงความเห็นชอบ (ใช้อำนาจอธิปไตย) โดยคนส่วนใหญ่ของประเทศ ดังนั้น เรื่องการด่าทอว่าใครฉลาดหรือโง่กว่าใคร เรื่องตระกูลใครเก่าแก่กว่าใคร เรื่องใครเป็นอำมาตย์ใครเป็นชาวบ้าน จึงเป็นเพียงสิ่งที่ปรุงแต่งอยู่นอกระบอบเท่านั้น ตรงนี้สำคัญอย่างไร” ตรงนี้สำคัญที่ว่าก่อนที่ระบอบประชาธิปไตยจะเริ่มผลิบานได้นั้น “ความเท่าเทียม” กันทั้งในเรื่องของสิทธิและศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์ควรจะทำให้เกิดมีขึ้นได้อย่างเป็นรูปธรรมเสียก่อน (ผู้เขียนคิดว่าตอนนี้ยังไม่มี) ทุกคนมีหนึ่งเสียงที่ทรงพลังเท่าๆ กัน และเมื่อเรายอมรับในปัจจัยที่เป็นสัจจะนั้นได้แล้ว ประชาธิปไตยที่แท้ก็จะถึงเวลาเรียนรู้ความถูกต้องและความผิดพลาดในตัวของมันเอง (ตามกระบวนการ “วิภาษวิธี”) ได้อย่างมีคุณภาพ (อ้างอิง อ.วีรพัฒน์ ปริยวงศ์) เพราะถ้าไม่เช่นนั้นแล้ว เราอาจจะต้องเห็นความเขลาที่ปรากฏอยู่ทุกวันนี้ไปตลอดกาลนาน ในนามแฝง “ประชาธิปไตยแบบไทยๆ” ที่มีแต่คนหน้าตาดี คนชั้นสูง หรือนักวิชาการฝ่ายขวา (ฌอง ปอลล์ ซาร์ตร์เคยบอกว่าปัญญาชนที่แท้ คือฝ่ายซ้ายเท่านั้น) ออกมาพูดนู่นพูดนี่ ดูดีมีหลักการ แต่เอาเข้าจริงก็แก้ไขอะไรไม่ได้สักอย่าง ดังที่เคยปรากฏอย่างชัดแจ้งมาในทุกยุคทุกสมัย   ประชาธิปไตย : อุดมการณ์ ปฏิบัติ หรือละอองดาว เมื่อไม่นานมานี้ เพื่อนของผู้เขียนคนหนึ่งเคยกล่าวกับผู้เขียนว่า “ประชาธิปไตยยังไม่เหมาะกับเมืองไทยหรอกว่ะ” ผู้เขียนตอบ (ในใจ) ทันควันว่า “ก็ในเมื่อมันยยังไม่ทันเกิด แล้วมันจะเหมาะได้ยังไงวะ” ที่ผู้เขียนเกริ่นมาแบบนี้ก็ไม่ใช่อะไร เพียงแต่ผู้เขียนต้องการจะสื่อว่ามิใช่เพราะว่าคำพูดเทือกๆ นี้หรอกหรือ ที่เป็นนัยยะได้อย่างดีในการไม่ยอมรับหลักการของประชาธิปไตยที่เราๆ ท่านๆ ต้องการ มันมิใช่เราพคำพูดประมาณนี้หรอกหรือ ที่สื่อถึงการไม่ยอมรับความแตกต่างทางความคิดของมนุษย์ (นานาจิตตํ) ซึ่งเป็นต้นเหตุให้ต้องมีการยกเหตุยกผลนอกระบบมาโต้แย้งอยู่เสมอ ท่าน ส.ศิวรักษ์เคยกล่าวเอาไว้ว่า “ก็เพราะคนเหล่านั้นมันกลัวประชาธิปไตย” ผ่านรายการทีวีรายการหนึ่ง โดยส่วนตัวผู้เขียนเห็นว่านี้เป็นเหตุผลที่ดี ถึงแก่น และแทงใจดำทีเดียว คำถามตรงนี้มีอยู่ว่าแล้วเมื่อไหร่ระบอบประชาธิปไตย “ที่แท้” (หลังจากฝ่าฟันขวากหนามมาแล้วถึงแปดทศวรรษ) จะผลิบานเสียที” เมื่อไหร่ที่มนุษย์ทุกผู้ทุกนามจะเคารพความแตกต่างทางความคิด และเคารพในสิทธิขั้นพื้นฐานตรงนี้ซึ่งกันและกันเสียที” คำตอบี่ชัดเจนที่สุดก็คือ เมื่อมนุษย์สามารถดำรงอยู่ในสังคมได้โดยปราศจากซึ่งความกลัวนั่นเอง คำถามต่อมาก็คือแล้วที่ว่ากลัวนั่น กลัวอะไร” ตรงนี้ก็สามารถตอบได้ว่ากลัวว่าคนอื่นจะคิดไม่ถูก คิดไม่เหมือนตน กลัวว่าความคิดของคนอื่นนั้นจะไม่เป็นไปในตามขนบธรรมเนียมประเพณีที่เคยปูกันมา (อย่างแนบเนียบ) แม้ว่าความคิดเหล่านั้นจะมาจากคนส่วนใหญ่ของประเทศก็ตาม กลัวว่าคนอื่นจะไม่ฉลาดเหมือนตน และที่สำคัญที่สุด กลัวว่าคนอื่นนั้นจะไม่เข้าใจความหมายของระบอบประชาธิปไตยเช่นเดียวกับตน คำถามในขั้นนี้ก็คือ แล้วมิใช่เพราะสิ่งมีชีวิตที่เรียกว่า “มนุษย์” นั้นเองหรอกหรือ ที่ไม่มีทางที่จะมีความคิดอ่านต่อสิ่งๆ หนึ่งเหมือนกันได้ทั้งประเทศ (เป็นสัจจะทุนเดิม) อุดมการณ์ประชาธิปไตยจึงเปรียบได้ดั่ง “อุดมคติ” (ideology) ที่เป็นกลางและเป็นธรรมที่สุด ในการปกครองหมู่สัตว์โลกให้สามารถดำรงอยู่ร่วมกันได้ (ด้วยการยอมรับและความเข้าใจ)” แน่ละว่าหากเลือกได้ ทุกคนคงอยากให้สังคมเรามีลักษณะที่เป็น Utopia อย่างปราศจากข้อสงสัย (ซึ่งแน่นอนว่าถ้าเป็นได้ คงกลายสภาพไปนานโขแล้ว) แน่ล่ะว่าถ้าหากเลือกได้ หมู่มวลมนุษย์ในประเทศแต่ละประเทศคงต้องการผู้นำ (ไม่ว่าจะในระบอบใด) ที่มีสถานะทางด้านความฉลาดเฉลียวและคุณธรรมดั่ง Philosopher King (ตามแนวคิดผู้ปกครองที่ของเพลโต) แต่ในเมื่อความเป็นจริงของมนุษย์ สังคม และการเมืองมันเป็นอย่างนี้ แล้วด้วยเหตุผลกลใดเล่า จึงมีวลีที่น่าขัดที่สุดเฉกเช่น “เผด็จการเสียงข้างมาก” หรือ “เสียงข้างมากลากไป” โผล่ขึ้นมา ณ ใจกลางจักรวาลระบอบประชาธิปไตยได้ สิ่งที่น่าท้อใจที่สุดในเรื่องประชาธิปไตยต่อสังคมไทยก็คือคนมากกลุ่มนั้นเอาแต่อ้างเรื่องอ้านราวกันแต่ในทางทฤษฎี อ้างตำราเล่มนั้นเล่มนี้ ซึ่งยางทีก็ผิดๆ ถูกๆ ไปตามเรื่อง ผู้เขียนเห็นด้วยกับนักกฎหมายอิสระอย่าง อ.วีรพัฒน์ ปริยวงศ์ เป็นที่สุด ที่ให้ความเห็นไว้ว่า การเติบโตของระบอบประชาธิปไตยนั้นต้องอาศัยเวลา และที่สำคัญมันหาได้ใช่เรื่องแปลกแต่อย่างใด ที่บางทีเราต้องยอมเจ็บเนื้อเจ็บตัวหรือปวดใจกันบ้าง ด้วยเหตุว่าไม่มีประเทศใดในโลกใบนี้ที่ปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตย ทว่าสามารถผลิดอกออกผลได้ในช่วงเวลาอันสั้น แต่ประเด็นสำคัญคือใช่หรือไม่ ว่าเราต้องยอมรับความแตกต่างในทุกๆ ด้านกันให้ได้เสียก่อน (เช่นเรื่องของ อัตลักษณ์ สายพันธุ์ รากเหง้า ต้นตระกูล ความคิดอ่าน ฯลฯ) ประเด็นสำคัญคือใช่หรือไม่ ที่เราต้องเคารพศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์ (ในฐานะสัตว์โลกที่อยู่ร่วมกันในสังคม) กันให้มากกว่านี้ มิใช่เอะอะอะไร ก็กล่าวหาว่าอีกฝ่ายนั้นโง่ อีกฝ่ายนั้นไม่รู้เรื่อง (เอาดัชนีใดมาชี้วัด”) เพราะมิเช่นนั้นแล้ว ประชาธิปไตยที่มนุษย์ไทยทุกผู้ทุกนามไฝ่หาก็อาจจะกลายเป็นเพียงความเวิ้งว้างว่างเปล่า หรือถ้าจะยัดเยียดให้มองในทัศนะเชิงบวกมากกว่านี้สักหน่อย ประชาธิปไตยที่ได้มา ก็คงเป็นได้มากที่สุดเพียงวาทกรรมปาหี่วาทกรรมหนึ่งเท่านั้น จะคว้าดาวดวงใดก็คว้าน้ำเหลว ถ้าจะได้ ก็คงได้เพียงเศษละอองของมันเท่านั้น ผู้เขียนขอจบด้วยคำจากท่าน ส.ศิวรักษ์ ที่กล่าวว่า “การที่ชนชั้นบนแลเห็นว่าชนชั้นล่างโง่เขลาเบาปัญญา ย่อมยากที่ชนชั้นบนจะเห็นคุณค่าของประชาธิปไตยด้วยประการใดๆ ทั้งสิ้น”

Source : นิตยสารปาจารยสาร ปีที่ ๓๖ ฉบับที่ ๓ กันยายน-พฤศจิกายน ๒๕๕๕

JOHN LANE (10 ตุลาคม 1930 – 17 สิงหาคม 2012)

JOHN LANE (10 ตุลาคม 1930 - 17 สิงหาคม 2012)

Author : ส.ศ.ษ

ข้าพเจ้าพบจอห์น เลน ครั้งแรก เมื่อปี ค.ศ.1994 ณ Dartington Trust ซึ่งก่อนตั้งโดย Leonard และ Dorothy Elmhirst ผัวเมีย โดยที่คู่นี้เคยเป็นผู้ใกล้ชิดกับ รพินทรนาถ ฐากูร ที่อินเดีย ซึ่งตั้งสันตินิเกตัน ขึ้นที่ประเทศนั้น และแนะนำผัวเมียคู่นี้ให้มาตั้งสำนักทำนองนี้ที่อังกฤษ เผอิญโดโรทีเป็นเศรษฐีนีจากสหรัฐ จึงซื้อที่ในมณฑลเดวอนอย่างกว้างขวางมาก มีที่ทำไร่ ทำนาและมีอาคารเก่าแก่แต่สมัย King John ที่ตรา Magna Carta ขึ้นเป็นธรรมนูญฉบับแรกของอังกฤษ และมูลนิธินี้มี Maurice Ash ลูกเขยของคู่สามีภรรยานี้เป็นประธาน โดยจอห์นเป็นกรรมการอยู่ด้วย และกรรมการคณะนี้แล ที่อนุมัติเงินช่วย สาทิศ กุมาร ก่อตั้ง Schumacher College นอกเหนือในกิจกรรมของดาติงตั้น ซึ่งจัดสัมมนาในแนวทางนอกกระแสหลัก เน้นหนักทางความงาม ความดี และความจริง มีคอนเสิร์ตดีๆ มีภาพเขียนจัดเป็นนิทรรศการให้คนชม และเคยจัดโรงเรียนทางเลือกเป็นแห่งแรกในสหราชอาณาจักร ดัง Bertrand Russell ก็ส่งลูกไปเรียนและเอาอย่างไปตั้งโรงเรียนของเขาอีกด้วย

เมื่อข้าพเจ้าแรกพบกับจอห์น เลนนั้น ได้ไปร่วมประชุมต่อต้านลัทธิบริโภคนิยม และผลพลอยได้จากลัทธิทุนนิยม ซึ่งใช้โทรทัศน์ คอมพิวเตอร์ และสื่อมวลชนตลอดจนการศึกษากระแสหลักมอมเมาผู้คน

ผู้ร่วมประชุมเป็นคนมีชื่อเสียงนอกกระแสหลักหลายคน เช่น Helena Norberg-Hodge และ Jerry Mander ที่เขียนโจมตีโทรทัศน์อย่างน่ารับฟังนัก รวมถึง Cliff Cobb (ข้าพเจ้าชอบพอกับพ่อเขามาก่อน ในฐานะนักเทววิทยาอเมริกันที่มีชื่อเสียงมาก) ซึ่งเสนอการวัดความเจริญอย่างใหม่ที่แผกไปจากระบบที่ยึดถือกัน เขาเขียนหนังสือชื่อ Redefining Progress อย่างน่าอ่าน

ผู้ร่วมประชุมมีจำนวนน้อย ใช้ห้องประชุมขนาดย่อม ในบริเวณวนาอันงดงาม ซึ่งมีประติมากรรมชั้นเลิศ ของ Henry Moore และบทกวีของ William Blake สลักไว้ด้วย

ทุกคนในที่ประชุมแสดงวาทะอย่างน่ารับฟัง หากข้าพเจ้าเตือนสติว่าพวกเราใช้หัวสมองมากไปหรือเปล่า ทำไมไม่ใช้หัวใจบ้าง คลิฟ คอป เลยพูดอย่างเอาหัวใจออกมาเทให้ฟังเลย ข้าพเจ้าเสนอให้หยุดพูดและเดินลมหายใจอย่างรู้ตัวทั่วพร้อมล้าง พร้อมทั้งฟังเสียงนกร้องที่นอกห้องประชุมกันบ้าง

จอห์นพอใจคำพูดของข้าพเจ้ามาก จากจุดนี้เองที่เริ่มมิตรภาพของเรา เขาพาไปรู้จักมอริซแอช ซึ่งก็กลายมาเป็นกัลยาณมิตรของข้าพเจ้าอีกคนหนึ่ง ดังเมื่อเราคิดจัดตั้งเสมสิกขาลัยได้เชิญนักการศึกษาชั้นนำทั้งในกระแสหลักอย่าง Bob McCloy และนอกกระแสหลักอย่าง Adam Curl เป็นต้น (รวมทั้งนักการศึกษานอกระบบจากเมืองไทย เช่น รัชนี ธงไชยแห่งโรงเรียนหมู่บ้านเด็ก) ไปวิสาสะกันที่ คฤหาสน์ของเขา ชื่อ Sharpham House ซึ่งโอฬาริกยิ่งนัก ดังเขายกให้เป็นมูลนิธิไปด้วยแล้ว และที่คฤหาสน์นี้ เขาตั้งวิทยาลัยพุทธขึ้นเป็นแห่งแรกในอังกฤษด้วย โดยใช้ไตรสิกขาเป็นหลัก ตอนนั้น Stephen และ Marine Bachelor เป็นอาจารย์ประจำ

จอห์นเป็นนักเขียนบทความที่เน้นทางด้านความงาม ซึ่งโยงไปถึงความศักดิ์สิทธิ์ ของธรรมชาติและของศาสนสถาน ทั้งของยุโรปและเอเชีย เขาและภรรยาเป็นนักเขียนรูปอย่างน่าทึ่งอีกด้วย ต่อมาข้าพเจ้าเลยได้คุ้นเคยกับสมาชิกในครอบครัวของเขาแทบทั้งหมด โดยเฉพาะก็ Nathaniel และ Jacob ซึ่งไปมาหาสู่กับครอบครัวของข้าพเจ้าที่กรุงเทพฯ เนืองๆ ข้ำเจ้ากับลูกสาวก็เคยไปพักบ้านของสกุลเลน ซึ่งน่าอยู่อย่างผู้ดีอังกฤษแบบเก่า ซึ่งไม่มีความดัดจริตรวมอยู่ด้วย

จอห์นเองก็มาเยี่ยมเราที่เมืองไทย แม้จะไม่มากครั้ง ดังข้าพเจ้าแนะนำให้หนังสือของเขาตีพิมพ์เป็นภาษาไทยก็หลายเล่ม เช่น ความเรียบง่ายไร้กาลเวลา ความเงียบ และ สู่วัยชราอย่างมีศิลปะ ยิ่งเล่มล่าสุดที่ว่าด้วยชราภาพด้วยแล้ว นับว่าเป็นหนังสือขายดีที่สุดของสำนักพิมพ์สวนเงินมีมาเอาเลย

ที่จริงจอห์นอยากให้ข้าพเจ้าเขียนลงในเล่มนี้ด้วย เพราะข้าพเจ้าก็เป็นชายชราเช่นตัวเขาเหมือนกัน เสียดายที่ข้าพเจ้าปฏิเสธไป นอกไปจากนี้แล้วจอห์นยังเป็นบรรณาธิการฝ่ายศิลป์ของนิตยสาร Resurgence ที่มี สาทิศ กุมาร เป็นบรรณาธิการอีกด้วย รสนิยมของเขาดูได้จากความงามของนิตยสารฉบับนี้ และจากหนังสือเล่มอื่นๆ ของเขา โดยเขาเน้นที่ภูมิธรรมพื้นบ้านอย่างสำคัญอีกด้วย

เมื่อจอห์นอายุครบ 80 ปี เขาวางมือจากการงานต่างๆ รวมทั้งการเป็นกรรมการ Dartington Trust และการเป็นบรรณาธิการฝ่ายศิลป์ของ Resurgence หากวันเกิดปีนั้น มีงานฉลองอายุกันอย่างเป็นการภายใน เสียดายที่ข้าพเจ้าไปร่วมไม่ได้แม้จะได้รับเชิญก็ตาม

ในช่วงหลังนี้โรคภัยไข้เจ็บมาเยือนจอห์นจนเริ่มเลอะเลือนบ้าง แต่สุขภาพทั่วๆ ไป ก็ดีพอใช้จนตายจากไปอย่างสงบ

จอห์นเป็นคนมีอารมณ์ขันอย่างอังกฤษและมีความเป็นอยู่อย่างเรียบง่าย ทั้งยังมีรสนิยมอย่างเป็นเลิศ ไม่ว่าจะในทางคีตกรรม จิตรกรรม วรรณกรรม หรือสถาปัตยกรรม และเขาเข้าได้กับธรรมชาติอย่างน่าชื่นชมนัก

การจากไปของจอห์น เลน ย่อมเป็นธรรมดาของชีวิต ตามพระอนิจลักษณะ แต่ว่าข้าพเจ้าได้ศูนย์เสียกัลยาณมิตรไปอีกคนหนึ่ง อย่างจะหามาทดแทนได้ยาก และโลกเราก็สูญเสียสามัญชนคนสำคัญที่มหาชนแทบไม่รู้จัก หากคนอย่างนี้ต่างหากที่ช่วยให้โลกนี้น่าอยู่ แม้จะมีคนกึ่งดิบกึ่งดีจะมีมากมายเพียงใด แสงแห่งความดีงามของจอห์นอาจส่องไปไม่ได้กว้างไกล แต่ก็เป็นดวงประทีที่สำคัญ ซึ่งคงไม่ดับไปเฉยๆ หากผลงานของเขาและวิถีชีวิตของเขา จะคงไว้ให้อนุชน ผู้แสวงหาความเป็นเลิศ ได้เดินตามอย่างภาคภูมิ

Source : นิตยสารปาจารยสาร ปีที่ 36 ฉบับที่ 3 กันยายน-พฤศจิกายน 2555

มีคือไม่มี ไม่มีคือมี

มีคือไม่มี ไม่มีคือมี

Author : สุวัฒน์ อัศวไชยชาญ

เปิดเรื่องแบบนี้ คุณผู้อ่านคงคิดว่าผมเพี้ยนไปแล้ว แต่ลองมาคิดก่อนดีไหมครับ

อะไรเอ่ย  สิ่งที่เรามี แต่กลับไม่รู้สึกว่ามี

…หนึ่ง…สอง…สาม…สี่…คิดออกแล้วยัง

ผมขออนุญาตยกมือตอบก่อนว่า “ร่างกายครับ”

คุณครู : ไหนเด็กชายสุวัฒน์อธิบายให้เพื่อนๆ ฟังซิ

ผม : ครับคุณครู ตัวอย่างคือถ้าร่างกายส่วนไหนของเราปกติดี เราจะไม่เคยคิดถึงมันครับ เช่น นิ้วหัวแม่โป้งที่ช่วยให้เรายืนเดินวิ่งได้มั่นคง ปกติเราจะไม่เคยคิดถึงมันเลย แต่ถ้าเกิดรองเท้าคับจนเล็บขบ เราจะเจ็บจนรู้สึกตลอดเวลาที่นิ้วหัวแม่โป้ง

ลองคิดถึงส่วนอื่นๆ เวลาเราสบายดี มีส่วนไหนในตัวเราที่เราเคยคิดถึงมันบ้าง “แทบจะไม่มีเลยใช่ป่ะ

แต่พอเจ็บตรงไหนสิ ปวดหัว ปวดหลัง เคล็ด ขัด ยอก ท้องเฟ้อ ท้องผูก

คราวนี้แม้จะพยายามไม่คิดถึงมัน ก็ทำไม่ได้เสียอีกต่างหาก

“มีคือไม่มี” ก็กลายเป็น “ไม่มีคือมี” ไปทันที

“ท่านชายเล็ก” ในวรรณกรรมอมตะเรื่อง หลายชีวิต ของ ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ ปราโมช เป็นตัวอย่างอีกด้านหนึ่งของ “มีคือไม่มี” (หลายชีวิต สนุกมั่ก ถ้าใครยังไม่เคยอ่าน ต้องรีบเลยครับ)

ท่านชายเล็กเป็นหม่อมเจ้าที่ชีวิตตกอับเพราะเสด็จพ่อสิ้นพระชนม์ไปตั้งแต่ท่านยังเล็ก แถมยังทิ้งหนี้สิ้นไว้จนวังถูกยึด ท่านชายเล็กจึงมีแต่ฐานันดรศักดิ์ ทว่าไร้ทรัพย์สมบัติมาช่วยค้ำชูสถานะอันสูงส่ง  ตั้งแต่เล็ก ท่านไม่มีเพื่อน ไม่อาจเล่นสนุกหรือทำอะไรเยี่ยงเด็กๆ โตขึ้นแม้พบรักกับสาวสามัญชนก็ต้องผิดหวัง เข้ารับราชการแต่ก็ไม่เจริญก้าวหน้า ทั้งหมดนี้เพราะจารีตประเพณีที่สังคมสร้างขึ้นได้ขังท่านไว้จากโลกและอิสรภาพ  จนเมื่อท่านชายเล็กหนีจากเมืองกรุงไปเริ่มชีวิตใหม่ที่บ้านนอก จากท่านชายเล็กกลายเป็นนายเล็ก คนธรรมดาผู้มีจิตใจโอบอ้อมอารีชอบช่วยเหลือผู้อื่น จนชาวบ้านรักใคร่และเลือกให้เป็นผู้ใหญ่บ้าน มีชีวิตสงบสุขอยู่กว่าสิบปี  แต่ในท้ายสุดชะตากรรมก็เล่นตลกให้ความจริงถูกเปิดเผย ท่านชายเล็กจึงหนีลงเรือมาบ้านแพนเพื่อต่อเรือเมล์เข้ากรุงเทพฯ และจบชีวิตในคืนนั้นพร้อมกับอีกหลายชีวิต

กรณีนี้อาจสรุปได้ว่า การ “มี” สถานะสูงส่งกว่าคนทั่วไป กลับเป็นกรงขังท่านให้ “ไม่มี” เสียทุกสิ่ง  แต่เมื่อท่าน “ไม่มี” สถานะนั้น กลับทำให้ท่าน “มี” อิสรภาพและมี “ชีวิต”

ชีวิตท่านชายเล็กจึงคล้ายดั่งนกในกรงทอง  ส่วนชีวิตนายเล็กหรือผู้ใหญ่เล็กกลับมีความสุขเช่นนิ้วหัวแม่โป้ง

คำถามคือเราแต่ละคนมี “กรงทอง” ขังเราไว้อยู่หรือไม่ ไม่ว่าเราจะยินยอมอยู่ในกรงนั้นเอง หรือมีคนจับเราใส่ไว้

ตำแหน่ง หน้าที่ ฐานะ ชนชั้น เพศ รสนิยม อุดมคติ ฯลฯ นึกดูแล้วกรงที่พันธนาการเราทุกคนไว้นั้นมีมากเสียจริง

ระหว่าง “นิ้วหัวแม่โป้ง” กับ “กรงทอง” จึงเป็นความ “มี” ที่แตกต่าง

“นิ้วหัวแม่โป้ง” มีอยู่และทำหน้าที่เป็นประโยชน์แก่ส่วนรวม แถมมีเพื่อนนิ้วอยู่ใกล้ๆ แม้ยามปกติจะต่ำต้อยไม่มีใครสนใจ แต่ก็มีความปกติสุขตามธรรมชาติ

“กรงทอง” ดูสวยงาม มีค่า น่าชื่นชม น่ายกย่อง แต่อาจเป็นสิ่งครอบงำกักขังให้ไร้เสียซึ่งมิตรภาพ ชีวิต และอิสรภาพ

บางคนอาจอยากมี “นิ้วหัวแม่โป้ง” บางคนอาจเลือก “กรงทอง” ทั้งสอง “มี” และทำให้ “ไม่มี” ในวิถีของตนเอง

ความจริงหัวข้อ “มีคือไม่มี ไม่มีคือมี” ผมนำมาจากหลักปรัชญาของเต๋า ซึ่งเน้นให้เราใช้วิถีชีวิตอย่างกลมกลืนเป็นหนึ่งเดียวกับธรรมชาติ  แต่จิตใจของมนุษย์นั้นชอบแบ่งแยก ไม่เห็นความเคลื่อนไหวเชื่อมโยงสัมพันธ์กันของสรรพสิ่ง

ถ้วยน้ำมีประโยชน์ ก็เพราะมีที่ว่างให้ใส่น้ำ หรือในอีกแง่หนึ่ง คือความไม่เต็ม

แต่เมื่อถ้วยมีน้ำเต็มล้น ก็ย่อมไม่อาจใส่อะไรลงไปได้อีก

เต๋าจึงกล่าวว่า

“ไม่มีหายนะใดยิ่งใหญ่กว่าความไม่รู้จักพอ ไม่มีภัยพิบัติใดยิ่งใหญ่กว่าความโลภ ดังนั้นสำหรับผู้ที่รู้จักพอ ความพอนั้นจะทำให้มีพอไปตลอดชีวิต”

แผ่นดินไหวและสึนามิครั้งใหญ่ถล่มเมืองญี่ปุ่น ทำให้คนทั่วโลกเห็นถึงจิตวิญญาณของชนชาติที่ต้องอาศัยอยู่ร่วมกันบนเกาะอันคับแคบและเต็มไปด้วยภัยธรรมชาติ

การ “ไม่มี” พื้นที่และความมั่นคงในชีวิต ทำให้คนญี่ปุ่น “มี” ในสิ่งที่คนทั่วโลกไม่มี

ขณะที่เมืองไทย “มี” แผ่นดินอันสงบสุขและปลอดภัย จึงทำให้คนไทย “ไม่มี” ในสิ่งที่คนญี่ปุ่นมี

ยิ่งกว่านั้นความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรธรรมชาติในเมืองไทยกลับเป็น “นิ้วหัวแม่โป้ง” ที่คนไทยไม่ค่อยตระหนักถึง

ผมเชื่อว่าทุกสังคมมี “นิ้วหัวแม่โป้ง” อยู่ทุกที่  อันที่จริงมันอาจอยู่ในตัวเราทุกคน เพียงแต่เราไม่เคยคิดถึงเขามาก่อน

ยกมือตอบคุณครูมาถึงตรงนี้ ก็น่าคิดว่านิตยสารสารคดี กำลังเป็น “นิ้วหัวแม่โป้ง”  ของสังคม หรือมี “กรงทอง” ครอบไว้หรือไม่

ถ้ามีกรงทองแล้วทำให้ประสบชะตากรรมน่าสลดใจเป็นนกในกรงทองเช่นเดียวกับท่านชายเล็ก

ขอทำหน้าที่เป็น “นิ้วหัวแม่โป้ง” น่าจะสนุกกว่าครับ

อะไรเอ่ย มีคือไม่มี ไม่มีคือมี

ผมลองตอบแล้ว ต่อไปใครจะยกมือตอบคุณครูบ้าง

บรรณาธิการบริหาร

สุวัฒน์ อัศวไชยชาญ

suwatasa@gmail.com

หมายเหตุ : บทบรรณาธิการฉบับนี้ได้แรงบันดาลใจจากหนังสือหลายชีวิต ประพันธ์โดยคึกฤทธิ์ ปราโมช  วิถีแห่งเต๋า แปลและเรียบเรียงโดย พจนา จันทรสันติ

Source : นิตยสารสารคดี ฉบับ 314 เมษายน 2554

ไว้อาลัย อังคาร กัลยาณพงศ์

ไว้อาลัย อังคาร กัลยาณพงศ์

Author : วารสารวัฒนธรรม

เสียเจ้า

๏ เสียเจ้าราวร้าวมณีรุ้ง
มุ่งปรารถนาอะไรในหล้า
มิหวังกระทั่งฟากฟ้า
ซบหน้าติดดินกินทราย

๏ จะเจ็บจำไปถึงปรโลก
ฤๅรอยโศกรู้ร้างจางหาย
จะเกิดกี่ฟ้ามาตรมตาย
อย่าหมายว่าจะให้หัวใจ

๏ หากเจ้าอุบัติบนสรวงสวรรค์
ข้าขอลงโลกันตร์หม่นไหม้
สูเป็นไฟ เราเป็นไม้
ให้ทำลายสิ้นถึงวิญญาณ

๏ แม้แต่ธุลีมิอาลัย
ลืมเจ้าไซร้ชั่วกาลปาวสาน
แม้นชาติไหนเกิดไปพบพาน
จะทรมานควักทิ้งทั้งแก้วตา

๏ ตายไปอยู่ใต้รอยเท้า
ให้เจ้าเหยียบเล่นเหมือนเส้นหญ้า
เพื่อจดจำพิษช้ำนานา
ไปชั่วฟ้าชั่วดินสิ้นเอย

อังคาร กัลยาณพงศ์

อังคาร กัลยาณพงศ์ (13 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2469 – 25 สิงหาคม พ.ศ. 2555) เป็นทั้งกวีและจิตรกร อังคารเกิดที่จังหวัดนครศรีธรรมราช ศึกษาระดับประถมที่ โรงเรียนวัดจันทาราม ต่อมาก็เรียนที่วัดใหญ่จนจบประถมสี่ แล้วย้ายไปเรียนที่โรงเรียนมัธยมประจำจังหวัด คือ โรงเรียนเบญจมราชูทิศ นครศรีธรรมราช ศึกษาศิลปะที่โรงเรียนเพาะช่าง และที่คณะจิตรกรรมประติมากรรมและภาพพิมพ์ มหาวิทยาลัยศิลปากร

อังคารเป็นผู้ได้รับการยอมรับในฐานะเป็นจิตรกรและกวี ท่านเป็นกวีที่คงความเป็นไทย ทั้งในด้านความคิดและรูปแบบ อีกทั้งยังเป็นกวีที่มีความคิดเป็นอิสระ ไม่ถูกร้อยรัดด้วยรูปแบบที่ตายตัว จึงนับเป็นกวีผู้บุกเบิกกวีนิพนธ์ยุคใหม่

โดยพื้นเพเดิมอังคารเป็นคนเมืองนครศรีธรรมราช ซึ่งมีผู้กล่าวว่าเป็นเมืองแห่งกาพย์กลอนอยู่แล้ว หลังศึกษาจบระดับมัธยมที่โรงเรียนเบญจมราชูทิศ ได้เดินทางเข้ามาเรียนต่อที่ โรงเรียนเพาะช่าง และมหาวิทยาลัยศิลปากร อังคารได้เป็นศิษย์ของศิลปินใหญ่อย่าง ศ.ศิลป์ พีระศรี, อ.เฟื้อ หริพิทักษ์ และ อ.เฉลิม นาคีรักษ์ ทำให้ได้ติดตามและร่วมงานกับอาจารย์ในการศึกษาค้นคว้างานด้านต่าง ๆ ทั้งศิลปกรรม โบราณคดี และประวัติศาสตร์

ความเป็นกวีและจิตรกรนั้นเป็นพรสวรรค์ที่อังคารเองเชื่อมั่นและฝึกฝนมาตั้งแต่วัยเยาว์ ท่านได้พูดถึงการเป็นทั้งจิตรกรและกวีของตนว่า บทกวีและจิตรกรรมนั้นมาจากดวงใจดวงเดียวกัน

“การวาดรูปกับการแต่งบทกวีต้องใช้ความคิดกับจินตนาการ อาจจะผิดกันในเรื่องเทคโนโลยีกับเทคนิค แต่ใช้จิตใจดวงเดียวกัน ทั้งงานเขียนรูปและเขียนหนังสือก็ต้องอาศัยมโนคติ บางคนเขาเรียก อิมเมจิเนชั่น ต้องมีจินตนาการความคิด เหมือนคนที่สร้างนครวัด เขาต้องมีภาพมาก่อนว่าทำอย่างไรจึงจะมีปราสาทขึ้นมา ถ้าเรามีมโนภาพกว้างใหญ่ไพศาล เราก็สามารถสร้างสรรค์อะไรที่ใหญ่โตขึ้นมา ถ้ามีมโนภาพคับแคบก็สร้างสรรค์อะไรอยู่ในกะลาเท่านั้น”

“คนอื่นเขาอาจจะไปทำขนมครก ไปรับเหมาทางด่วน ไปทำอะไรก็ได้ แต่กวีต้องเป็นกวีอยู่ทุกลมหายใจ คือโดยหลักจริง ๆ แล้วผมยังเขียนบทกวีอยู่เรื่อย ๆ จะชำระของที่ดูไม่ค่อยเรียบร้อยให้เรียบร้อย ให้หมดจดขึ้น มีถ้อยคำที่ลงตัว คือพูดง่าย ๆ ว่า ถ้าเราตายไปแล้ว เราก็หมดโอกาสที่จะเปิดฝาโลงขึ้นมาชำระโคลงของเราให้เรียบร้อย คนที่เขียนกวี ถ้าบทกวีชิ้นใดไม่สมบูรณ์ ก็เหมือนเราไปปรโลกแล้วยังมีห่วงอยู่”

แต่ในการจะสร้างสรรค์ผลงานออกมาให้ได้ดีนั้นก็ต้องมีอารมณ์ที่จดจ่ออยู่กับงานด้วย

“โดยหลักการ การเขียนกาพย์กลอนต้องโปร่งใส ต้องใช้อิสระเสรี ถึงจะทำได้ดี ก็เหมือนทะเลเวลามีคลื่นลมมากเรือที่ลอยอยู่ก็สามารถจมได้ บางครั้งอารมณ์ไม่ดีก็ทำไม่ได้”

ส่วนในด้านงานจิตรกรรมนั้น อังคารเรียนวิชาวาดเขียนได้คะแนนดีมาโดยตลอด จนได้รับคำบันทึกจากคุณครูเขียนลงในสมุดรายงานว่า เป็นผู้มีใจรักและฝักใฝ่ในวิชาวาดเขียน เขามองว่าการวาดเขียนถึงแม้จะไม่ได้เงินทองมาก แต่จะมีประโยชน์ไปบริการทางวิญญาณ จะทำให้วิญญาณมนุษย์ดีขึ้น

อังคารยังให้ทัศนะในการทำงานว่า ก็เหมือนกับการเติบโตของต้นไม้ มันค่อย ๆ ขึ้นทีละใบสองใบ ค่อยแตกไปเรื่อย ๆ ถึงฤดูกาลก็แตกดอกออกผล ก่อนออกผลก็ออกดอกเสียก่อนไปตามลำดับ เขายืนยันว่าจะไม่ขอทำอย่างอื่นแล้วในชีวิตนี้ จะทำงานเหล่านี้ไปตลอดจนถึงชาติหน้า ทั้งงานศิลปะ ไม่ว่าจะวาดหรือปั้น รวมถึงงานเขียนบทกวี และกล่าวถึงผู้สืบทอดในงานว่า “ไม่ได้คิดอะไร เหมือนเราเกิดมาเป็นต้นโพธิ์ ถึงฤดูกาลใบมันก็หล่นลงมายังพื้นดิน กลายเป็นดิน น้ำ ลม ไฟตามเดิม ใครที่เขาเห็นคุณค่า เขามาไถ่ถามก็ให้เขาไปตามเรื่อง”

เมื่อคนไทยบางคน ไม่เข้าใจ คำว่า WHITE LIE

เมื่อคนไทยบางคน ไม่เข้าใจ คำว่า WHITE LIE

Author : WTKn

หลายวันนี้ คำว่า WHITE LIE เป็นที่วิพากษ์วิจารณ์กันมาก ว่าเหมาะสมหรือไม่

และมีการแปลความไปต่างๆนานา เช่น การแปลตามตัวอักษรว่าคือ โกหกสีขาว แล้วก็ตีความว่า คำว่า โกหก ไม่มีหรอก ที่จะเป็นสีขาว ยังไงก็ต้องเป็นสีดำ

หากเทียบเคียง การกระทำครั้งนี้ เป็นการกระทำเพื่อกระตุ้นให้เกิดความพยายามที่จะให้เกิดผลตามคำพูดนั้น หรือใกล้เคียงมากที่สุด ซึ่งเป็นสิ่งที่ดี และเป็นสิ่งที่ใครๆก็อยากให้เป็น

คำว่า WHITE LIE จึงเทียบกับคำในภาษาไทยได้ว่า กุศโลบาย และเป็น กุศโลบายเพื่อความสำเร็จ

อ.เสฐียรพงษ์ วรรณปก ได้พูดถึง กุศโลบายเพื่อความสำเร็จ (คัดลอกมาจาก หนังสือพิมพ์ข่าวสด หน้า 29 คอลัมน์ ธรรมะใต้ธรรมาสน์ โดย ไต้ ตามทาง) ไว้ว่า

มีคนพูดว่า กุศโลบาย ก็คือการโกหกนั่นเอง แต่คำจำกัดความนี้คงจะ “แรง” ไป สำหรับ คำว่า “กุศโลบาย” เพราะตามศัพท์จริงๆ แปลว่า อุบายหรือวิธีที่ฉลาด วิธีที่ฉลาดไม่จำเป็นต้องเป็นวิธีที่โกหกคดโกงเสมอไป

จริงอยู่วิธีการอาจมองเผินๆ ว่า เป็นการพูด หรือทำ “ไม่ตรง” ตามนั้นร้อยเปอร์เซ็นต์ แต่ต้องดูที่เจตนาและผลที่ออกมา ว่าพูดหรือทำด้วยเจตนาอันบริสุทธิ์หรือไม่ ผลที่ออกมานั้นเป็นประโยชน์แก่ส่วนรวมหรือไม่

ยกตัวอย่างที่ผมชอบยกอยู่เสมอคือ มีแม่ทัพท่านหนึ่งนำกองทัพเข้าสู้รบกับข้าศึก กองทัพของตนมีกำลังน้อยกว่ากองทัพของข้าศึก เหล่าทหารหาญทั้งหลายเห็นดังนั้นก็ขวัญไม่ค่อยจะดี แม่ทัพก็ทราบเรื่องนี้

วันหนึ่ง แม่ทัพก็พานายทหารเข้าไปไหว้พระในโบสถ์แห่งหนึ่งล้วงเหรียญขึ้นมา กล่าวอธิษฐานดังๆ ว่า ถ้ากองทัพของข้าพเจ้าจะรบชนะข้าศึก ขอให้เหรียญนี้ออกหัว ว่าแล้วก็เขย่าเหรียญในมือ โยนลงบนพื้น

เหรียญออกหัว

ท่านแม่ทัพหยิบเหรียญขึ้นมาเขย่า พลางอธิษฐานอีกเป็นครั้งที่สองแล้วโยนลง เหรียญออกหัวเช่นเดิม ท่านทำอย่างนี้ถึงสามครั้ง เหรียญก็ออกหัวทุกครั้ง เหล่านายทหารทั้งหลายต่างก็ขวัญดีมาเป็นกอง ที่รู้ว่ากองทัพของตนจะชนะ เพียงไม่กี่นาทีข่าวว่ากองทัพของตนจะรบชนะข้าศึก ก็แพร่กระจายไปทั่วกองทัพ ทหารหาญทั้งหลายต่างฮึกเหิม มีกำลังใจ ถึงคราวรบก็รบกันอย่างอุทิศ จนสามารถเอาชนะข้าศึกได้

นายทหารคนสนิทพูดกับท่านแม่ทัพในวันหนึ่งว่า พระเจ้าอวยพรให้เราชนะก็ชนะจริงๆ แม่ทัพล้วงเหรียญขึ้นมาแบให้นายทหารคนสนิทดู พร้อมกล่าวว่า

“ไม่ใช่ดอกคุณ เหรียญนี้ต่างหากที่ช่วยให้พวกเราชนะ”

ปรากฏว่าเหรียญนั้นมีแต่ “หัว” ทั้งสองด้าน ซึ่งแม่ทัพท่านทำขึ้นมาเป็นพิเศษ เพื่อนำมาใช้ในคราวคับขัน

อย่างนี้ก็เรียกว่า “กุศโลบาย” ของแม่ทัพ จะว่าแม่ทัพท่านโกหกหรือไม่ก็แล้วแต่จะคิด แต่เจตนาของแม่ทัพเป็นกุศลต้องการให้เกิดผลดีแก่ส่วนรวม

ในการดำเนินชีวิตของคนเรานั้น จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องใช้ปัญญา อย่างน้อยก็ให้รู้จักวิธีแก้ไขปัญหาและวิธีการทำงานให้ประสบความสำเร็จ และก้าวหน้าไปด้วยดี

คนทำงานอย่างโง่ๆ ไม่ศึกษาหาความก้าวหน้าในทางความรู้และประสบการณ์ ก็คงไม่ต่างกับตาแก่กับลูกชายจูงลา

ตาแก่คนหนึ่งกับลูกชายอายุประมาณไม่เกิน 10 ขวบ จูงลาผ่านหมู่บ้านแห่งหนึ่งชาวบ้านพูดว่า ?ดูตาแก่กับลูกชายสิ มีลาอยู่ทั้งตัวจูงตั้งสองคน ทำไมไม่ขี่คนหนึ่ง อีกคนหนึ่งจูง?

ตาแก่ได้ยินดังนั้น จึงให้ลูกชายขึ้นขี่ลา ตัวเองจูงไปได้หน่อยหนึ่งมีคนพูดว่า ?ดูเด็กน้อยคนนั้นสิ นั่งลาสบาย ปล่อยให้พ่ออายุมากแล้วจูง ทรมานคนแก่เปล่าๆ?

คราวนี้ตาแก่ไล่ลูกชายลงตัวเองขึ้นนั่งหลังลาให้ลูกชายจูง ผ่านอีกหมู่บ้านหนึ่ง ชาวบ้านพูดว่า ?ดูอีตาแก่คนนั้นสิให้เด็กตัวเล็กๆ จูงลา ตัวเองขี่สบายใจเฉิบ เอาเปรียบเด็กเหลือเกิน?

ตาแก่รีบลงจากหลังลา คิดหนักจะทำอย่างไร จูงทั้งสองคนก็ถูกว่า ให้ลูกขี่ตนจูงก็ถูกว่า ตนขี่ให้ลูกจูงก็ถูกว่า อย่ากระนั้นเลยขึ้นขี่มันทั้งสองคนดีกว่า ว่าแล้วก็บอกให้ลูกขึ้นขี่ลาพร้อมกับตน ลาเดินหลังแอ่นด้วยความหนัก

ชาวบ้านเห็นเข้าก็ชี้ให้กันดูว่า ?ดูยายแก่กับเด็กคนนั้นสิ ขึ้นขี่ลาจนมันหลังแอ่น ทารุณสัตว์เหลือเกินนะ?

นิทานก็เป็นเพียงนิทานอาจมิใช่เรื่องจริงก็ได้ แต่ ?สาระ? ของนิทานก็มีอยู่ เรื่องนี้ต้องการชี้ว่า ปัญญาความรู้เท่านั้นจะเป็นตัวบอกว่าตาแก่ควรจะทำอย่างไรให้ถูกต้องเหมาะสม จะขี่ให้ลูกจูง หรือจะให้ลูกขี่ตัวเองจูง หรือผลัดกันขี่ ความเหมาะสมอยู่ที่ไหน อย่างไร คนมีปัญญาจะรู้เอง เพราะฉะนั้นในการดำเนินชีวิตจึงต้องการปัญญา คอยชี้แนะแนวทาง นักสู้ชีวิตควรแสวงหาปัญญาและประสบการณ์ไว้ให้มาก อุบายที่จะนำออกใช้จะได้เป็น ?กุศโลบาย? (อุบายอย่างฉลาด) มิใช่อุบายโง่ๆ แบบตาแก่

Source : http://www.pantip.com/cafe/rajdumnern/topic/P12573030/P12573030.html

ใครคุมใครในใจเรา: สนทนากับเสียงด้านใน

ใครคุมใครในใจเรา: สนทนากับเสียงด้านใน

Author : เครือข่ายจิตตปัญญาศึกษา

ใครสักคนพูดจาฟังดูแล้วไม่ถนอมน้ำใจคนเลย” อาจจะเป็นเพราะตัวเอกของเรายึดถือว่า คนเราต้องพูดจาระมัดระวัง “ใครสักคนดูไม่รับผิดชอบเอาซะเลย” อาจจะด้วยว่า ตัวเอกของเราบอกว่า คนเอาไหนต้องรู้จักเคร่งครัดกับหน้าที่ “ใครสักคนดีแต่สั่งไม่เคยรับฟัง” เป็นไปได้ว่าตัวเอกคอยกำชับเราว่า จะทำอะไรกับใครต้องให้ทุกคนมีส่วนร่วม “ใครสักคนเห็นแก่ตัวสุดๆ” ด้วยเสียงตัวเอกคอยบอกว่าคนเราต้องรู้จักเสียสละเอาใจใครต่อใคร … ถ้าหากเราจะแขวนลอยห้อยคำถามว่า ใครผิดใครถูกไว้สักชั่วครู่ เราอาจจะได้ยินเสียงเบาๆ อีกเสียงว่า “ไม่ต้องระมัดระวังนักก็ได้” “ไม่ต้องเคร่งครัดเสมอๆ หรอก” “ไม่ต้องคอยใครต่อใครให้เห็นด้วยนัก” และ “ไม่ต้องเสียสละหรือเอาใจใครสักวันได้ไหม” … เสียงของตัวเอกที่ยกมาคือเสียงของตัวตนด้านในที่ ดร.สโตนเรียกว่า Primary Self ตัวพระเอกหรือนางเอก ที่เราได้แสดงในชีวิตเราแล้วใครต่อใครก็ยอมรับและหรือช่วยเราให้รอดในโลกที่เราเติบโตผ่านมา

ส่วนเสียงเบาๆ ที่เราได้ยินไม่ค่อยชัดนัก มักมาจากตัวตนด้านในที่ถูกละทิ้งไป ที่เรียกว่า Disowned Self ซึ่งมีบุคลิกและพฤติกรรมเป็นขั้วตรงกันข้ามกับตัวเอกของเรา เพราะขณะที่ตัวเอกสามารถทำให้เราอยู่รอดในโลกได้ ตัวตนด้านในที่ตรงกันข้ามกับตัวเอกนั้นทำให้เราไม่ปลอดภัย ไม่เป็นที่ยอมรับ อับอาย และเจ็บปวด

ผู้คนที่กวนใจกวนโมโหเรา รวมทั้งคนที่เรารู้สึกขาดเขาไม่ได้นั้น ต่างก็มีตัวตนที่ถูกทิ้งของเราอยู่ในมือของเขา และอาการรำคาญกวนใจของเรานั้นเป็นกุญแจเปิดให้เราได้เห็นกระจกเงาบานใหญ่ที่ส่องให้เห็นตัวตนที่เราละทิ้งหลงลืม แต่ยังทรงพลังอยู่ในตัวเรา และสำแดงพลังนั้นออกมาในอาการกระอักกระอ่วนป่วนใจทุกข์ร้อนที่เรามีกับผู้คนรอบข้าง

หากเราลองแวะเข้าไปสำรวจดูความสัมพันธ์ระหว่าง ตัวเอกกับตัวที่ถูกทิ้งของเราไปว่าเขาอยู่กันอย่างไร ตัวตนด้านในของเรานั้น “ใคร” คุม “ใคร” ในใจเรา เราอาจจะเห็นพลังที่ซ่อนเร้นและที่มาของอาการรำคาญกวนใจของเราได้

หากเปรียบเทียบว่าบุคลิกทางจิตของเราเป็นละคร เราเป็นนักแสดงที่ต้องเล่นตามบทบาทที่เราได้รับ แต่ตัวเอกของเราบอกบทของเขาให้เราเล่น และหากใครจะบอกบทที่ต่างจากตัวเอกตัวนี้ เจ้าตัวเอกที่ว่าก็ไล่คนบอกบทที่ต่างออกไปนั้นลงจากเวที และคอยกำกับให้เราเล่นเฉพาะบทที่ตัวเอกต้องการ ตัวตนที่ถูกไล่ลงจากเวที ยังวนเวียนอยู่หลังฉากและอยู่ในหมู่คนดูคอยเอาคืน หรือหาทางหวนคืนเวที

ตัวตนด้านในเหล่านี้มิใช่เป็นเพียงอุปมาอุปไมย แต่ดำรงอยู่จริงโดยก่อร่างสร้างตัวเป็นพลังสะสมสะท้อนความรู้สึกนึกคิด อารมณ์รวมทั้งการแสดงออกต่างๆ ในเนื้อในตัวในความทรงจำของเรา และเขามีชีวิตของเขามีความต้องการของเขา มีอาการทุกข์สุขของเขาเป็นตัวตนอยู่ในจิตไร้สำนึกของเราอย่างแนบเนียน จนเรานึกว่าเราเป็นได้เท่าที่เขาเป็น เราต้องการได้ตามที่เขาต้องการ และทุกข์สุขไปได้แค่พอๆ กับเขา แล้วเราปล่อยให้ตัวตนด้านในเข้าควบคุมเราโดยที่เราไม่รู้เนื้อรู้ตัวและรู้ทัน ทั้งที่ตัวเรามีศักยภาพที่จะกำหนดชีวิตเราได้มากกว่าเขายิ่งนัก

เราจะมาพิจารณาตัวตนด้านในที่สำคัญๆ เหล่านี้ นายแพทย์สกล สิงหะ แห่งมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ได้ตั้งชื่อตัวตนตัวเอกสำคัญๆ ของดร.สโตน เป็นภาษาไทยที่เข้าใจได้ง่าย ซึ่งขอยกมาเปิดตัวไว้ ณ ที่นี้ได้แก่

ตัวอ่อนหวานเอาใจ (The Pleaser) ตัวตนนี้มีมาตั้งแต่เราเกิด ก่อนที่เราจะรู้ภาษาพูดซะด้วยซ้ำ ตัวช่างเอาใจนี้รู้ดีว่าทำอย่างไร จึงจะทำให้ใครต่อใครยอมรับและพอใจในตัวเรา หากเป็นเด็กก็รู้ว่าจะร้องอย่างไรจึงจะได้นมกินได้เสียงหัวเราะและรอยยิ้มตอบสนอง เมื่อเติบโตขึ้นมาก็รู้ว่า ต้องรู้จักพูดจาพินอบพิเทาอย่างไร ผู้อาวุโสกว่าจะเอ็นดู รวมทั้งต้องเอาใจใครต่อใครอย่างไรให้เขารู้สึกดีดีกับตัวเรา ตัวตนนี้เชื้อเชิญให้เราประนีประนอมกับผู้คนจนบางครั้งเราแทบจะไม่มีที่ยืน

ตัวสร้างกฎ (The Rule Maker) ตัวนี้ ในการปรับตัวเข้ากับโลก ตัวสร้างกฎจะคอยกำชับเราให้ทำตามกฎและคำสั่งที่เราเคยได้รับ ไม่ฉี่รดที่นอน จนไปถึงไม่ซุกซน ไม่ด่าทอต่อว่า ไม่ดื้อ ไม่มาสาย ไม่เหม่อลอย ไม่โง่ และคำสั่งอื่นๆ ที่เราได้รับจากผู้คนผู้หวังดีต่างๆ นานาในชีวิต และตัวสร้างกฎจำได้แม่นยำว่า ผลลัพธ์ของการแหกกฎนั้นเป็นเช่นไร ดังนั้นเสียงใดที่คอยยุให้เราขบถลดบทบาทของกฎเกณฑ์ลง ตัวตนเจ้าของเสียงขบถจะถูกผลักให้ลงจากเวที

พี่ดัน (The Pusher) ชีวิตของเรามิได้คอยตั้งรับปรับตัวเท่านั้น แต่พี่ดันจะผลักดันให้เราทำตามข้อเรียกร้องของใครใคร ให้ทำตามมาตรฐานที่สังคมทั้งในครอบครัว ในโรงเรียนในที่ทำงานกำหนด และดันให้ทำจนกว่าเราจะสำเร็จ ไม่เสร็จไม่เลิก ถึงเลิกทั้งๆ ที่ไม่สำเร็จก็จะกินไม่ได้นอนไม่หลับกระสับกระส่าย

พี่อุดมคติ (The Perfectionist) เมื่อลงมือทำแล้วต้องทำให้สมบูรณ์แบบที่สุดจนหาที่ติไม่ได้ ทำแล้วทำไม่ดี ทำไปทำไม เสียงของพี่อุดม(คติ)จะดังก้องทำนองนี้ พี่อุดมต้องการความสมบูรณ์แบบ น้อยกว่านี้ได้อย่างไร เสียงของใครขวางทางให้ยืดหยุ่นประนีประนอม พี่อุดมคงจะเห็นว่า “ชุ่ย” แล้วไล่ไปอยู่หลังฉากหลังเวทีได้ทันที

ท่านวิจารณ์ (The Inner Critics) เป็นนายใหญ่ของหมู่เหล่าตัวเอกที่กล่าวมาแล้ว ท่านวิจารณ์มีหน้าที่คอยวิจารณ์กำกับและตักเตือนเราทั้งยามตื่นและเข้านอนว่า เราทำพอหรือยัง เราเอาใจใครต่อใครมากพอไหม เราทำได้ดีแค่ไหน เรามุ่งมั่นทำหรือยัง ถ้ายังไม่พอ ทำไมไม่พอ หรือพอแต่ยังไม่ดี หรือดีแต่ยังดีไม่พอ ท่านวิจารณ์ก็จะเตือนเราให้ระวังว่า ใครต่อใครจะตำหนิเราหรือเห็นเราไม่เอาไหน แต่เมื่อเราทำอะไรสำเร็จอย่างสมบูรณ์แม้นจะยากลำบากเพียงใด กลับได้ยินเสียงวิจารณ์พาดผ่านแว่วๆ มาว่า “ไม่ดีอย่างที่คิด” เป็นต้น เสียงของท่านวิจารณ์ประสานกับเสียงของตัวเอกทั้งหลายคือที่มาของอาการ “กวนใจ” ของเราทั้งสิ้น

เมื่อท่านวิจารณ์เห็นใครผ่านมาในชีวิตเราแล้วไม่ครบครันเท่าที่พี่อุดม(คติ)ของเราต้องการ คนๆ นั้นก็กวนใจเรา หากเราเห็นใครไม่ขยันขันแข็งเท่าพี่ดันในตัวเรา เราก็รำคาญเขา หากเราพบปะใครที่ชอบท้าทายกฎเกณฑ์ นักสร้างกฎในใจเราก็จะต่อว่ากล่าวหาเขาเป็นพวกขบถ หากใครเข้ามาในชีวิตของเรา แต่ไม่รู้จักสัมพันธ์กับผู้คน เช่นที่ตัวอ่อนหวานเอาใจเราเรียกร้อง เราก็จะเห็นคนนั้นเป็นคนแข็งกระด้างเย็นชา และอาจจะยัดข้อหาเห็นแก่ตัวให้เขาคนนั้นในทันที

ในทางกลับกันผู้คนอาจจะเห็นพี่ดันของเราเป็นพวกเผด็จการ เอาแต่สั่งงานไม่เอาใจใส่ใจผู้คน หรืออาจจะเห็นพี่อุดม(คติ)ของเราจุกจิกจู้จี้เคร่งครัดและเคร่งเครียดไปเลย และเห็นตัวตนช่างเอาใจของเรานั้นช่างอ่อนแอเสียเหลือเกิน

ครั้งแล้วครั้งเล่าที่เราปล่อยให้ตัวตนตัวเอกในตัวเรา “คุม” ความสัมพันธ์ของเราโดยพิพากษา “ใครใคร” อย่างไม่รู้เนื้อรู้ตัว จนเรารู้สึกว่าเราแวดล้อมด้วยผู้คนที่ไม่พึงปรารถนา และน่าหงุดหงิดกวนใจไปเสียหมด อันที่จริงแล้วหากเราดูแลแยกแยะเสียงของตัวเอกออกจากเสียงของตัวเราแล้ว เราอาจจะพบกระบวนการที่ดูแล อาการกวนใจเหล่านี้ให้ไม่รุนแรงนัก และอาจจะพลิกผันอาการทุกข์โศกที่เรามีกับผู้คนเป็นหนทางเดินด้านในเข้าหาการตื่นรู้ก็ยังเป็นได้

กระบวนการเรียนรู้เสียงของตัวตนด้านใน คือที่มาของ Voice Dialogue Work (VDW) ที่ช่วยให้เราแยกแยะและเก็บเกี่ยวเอาความสามารถทางจิตของเราที่หล่นหายให้กลับมาอยู่ในมือเรา แถมช่วยให้โดนกวนใจน้อยลง … มั้ง

เฉลิมฉลองชีวิต

เฉลิมฉลองชีวิต

Author : เครือข่ายจิตตปัญญาศึกษา

แดดสีโอโรส (สีส้มอมแดง หรือ orange + rose) ยามอาทิตย์ใกล้จะอัสดงส่องลอดที่กั้นจากไซต์งานก่อสร้างข้างบ้านเข้ามาในห้องทำงาน ปริมาณแสงในห้องที่เปลี่ยนไปเหมือนเพื่อนเข้ามาทักทาย ให้ได้รู้สึกตัวขึ้นมาว่าอยู่ในการทำงานด้วยความคิดเสียนาน แสงจับกับผ้าม่านสีครีมดูนุ่มเย็นตา พอหันไปมองก็ได้พักสายตาจากเครื่องคอมพิวเตอร์ตรงหน้า รู้สึกว่าเพื่อนสีสวยที่อยู่ไกลออกไปหนึ่งร้อยสี่สิบเก้าล้านกิโลเมตรยังทำตัวกลมโตน่ารักเหมือนอยากชวนให้ออกไปเดินเล่น ผมขยับตัวดูรู้สึกถึงความตึงในร่างกายจากการนั่งอยู่กับที่หลายชั่วโมง ให้เหตุผลกับตัวเองว่าน่าจะไปเปลี่ยนอิริยาบถบ้าง นี่ก็วันหยุดสุดสัปดาห์นะ อากาศข้างนอกก็ดี ดูไม่ร้อน ไม่ชื้น แม้อาทิตย์ยังอยู่สูงใช้ได้

อันที่จริงผมมีเหตุผลให้กับการออกไปชื่นชมธรรมชาติเป็นพิเศษอีกข้อ ด้วยว่าวันที่เขียนต้นฉบับนี้เป็นวันพิเศษในรอบปี หลายคนโดยเฉพาะคนเมืองรุ่นใหม่คงไม่ค่อยคุ้นเคยกับวันนี้ อาจเพราะใช้นาฬิกาและปฏิทินบอกเวลากันจนเคย วันนี้เป็นวันที่จุดที่แสงอาทิตย์ตกกระทบทำมุมตั้งฉากกับโลกนั้นอยู่ไปทางซีกโลกใต้และอยู่ไกลจากเมืองไทยที่สุด อยู่เหนือเส้นทรอปิกออฟแคปริคอร์น (เส้นรุ้งที่ยี่สิบสามเศษหนึ่งส่วนสององศาใต้) พอดิบพอดี

ฝรั่งเรียก winter solstice (ตามรากศัพท์คือวันที่พระอาทิตย์หยุดเคลื่อน ซึ่งในฤดูหนาวหมายถึงการหยุดเคลื่อนจุดทำมุมตั้งฉากลงไปทางใต้) ส่วนคนไทยเรียกว่า “เหมายัน” (อ่านว่า เห-มา-ยัน จากรากศัพท์คือการมาถึงของหิมะหรือฤดูหนาว)

ใครที่สังเกตบ้างคงจะเห็นว่าพระอาทิตย์นั้นไม่ได้ขึ้นทางทิศตะวันออกและตกทางทิศตะวันตกพอดีเป๊ะทุกวัน ในหน้าร้อนก็จะขึ้นและตกค่อนไปทางเหนือ ส่วนหน้าหนาวอย่างในตอนนี้ ก็จะค่อนไปทางใต้ ดังที่ชาวบ้านเรียกว่า “ตะวันอ้อมข้าว” ข้าวที่กำลังออกรวงโน้มตัวลงต่ำ เหมือนกับจะสอนอะไรบางอย่างให้กับคนที่ปลูกและคนที่กิน

สำหรับคนหลายล้านคนหรืออาจจะถึงพันล้านคน วันนี้ในรอบปีเป็นหมุดหมายสำคัญของการเปลี่ยนผ่าน วันที่กลางวันสั้นที่สุดและกลางคืนยาวนานที่สุด

วันและช่วงนี้มีการเฉลิมฉลองกันทั่วโลก เช่น บรรดาคนจีนไม่ว่าในจีนแผ่นดินใหญ่หรือในไทยวันนี้ต้องฉลองเทศกาลไป่อี๊ ทำขนมบัวลอยหรืออี๊ ที่มีรากแปลว่า การกลับมาเจอกัน การรวมกันใหม่จนครบสมบูรณ์

รวมถึงเทศกาลคริสต์มาส แม้ว่าเป็นวันแห่งการระลึกถึงการมาประสูติของพระเยซู แต่ไม่ได้หมายถึงวันจริงๆในปฏิทิน อาศัยการกำหนดเอา คืนที่รัตติกาลอันเหน็บหนาวและยาวนานเหลือเกินเริ่มหดสั้นเข้า ความอบอุ่นและความสว่างได้ยาตรากลับเข้ามาในวันและคืนหนึ่งๆ มากขึ้น

แต่เอาละ … ไม่ว่าอย่างไรก็ตาม ผมพาตนเองออกมาเดินเฉลิมฉลองวันนี้แล้วล่ะ ตั้งใจเดินไปเรื่อยๆ โดยไม่ได้มีจุดหมายอะไร เดินไปยังที่สาธารณะใกล้ๆ บ้าน

วันหยุด ผู้คนดูแจ่มใสกว่าวันทำงาน ออกมาเล่นกีฬากันเยอะ ฟุตบอล บาสเกตบอล เทนนิส เด็กหนุ่มคนหนึ่งซ้อมเทควันโดด้วย

มีคนพาสุนัขมาเดิน มีทั้งพันธุ์โปรดของผม แจ็ครัสเซล เทอร์เรีย จอมซน และเจ้าชิสุ จอมเห่าเก่ง

เดินวนรอบสนามสองรอบ และสระน้ำใกล้เคียงกันอีกสองรอบ หยุดดูเต่าตัวน้อยที่ว่ายน้ำบ้างสลับกับหยุดดูผมบ้างอย่างไม่เร่งร้อนเป็นระยะๆ ผมเดินไปเรื่อยๆ มีลมหายใจเป็นเพื่อนสนิท ไม่ต้องเอื้อนเอ่ยก็บอกเล่าได้ ไม่ต้องตั้งใจฟังก็ได้ยิน

จู่ๆ ก็รู้สึกเหมือนคิดได้ เข้าใจ คลี่คลายกับความยุ่งเป็นลิงแก้แหของการเมือง ไม่ว่าผลเลือกตั้งวันรุ่งขึ้นจะออกมาตรงกับใจตนเองหรือไม่

รอจนพระอาทิตย์สีแดงเหมือนไข่เค็มไชยาเริ่มลับเหลี่ยมอาคารจึงค่อยเดินกลับบ้านอีกทางหนึ่ง ได้ยินเสียงหัวใจกระซิบบอกให้ไปตามทางที่ยังไม่เคยไปบ้าง

ขากลับเห็นเด็กสาวตัวนิดเดียวขี่จักรยานให้คุณพ่อร่างแข็งแรงแบบนักกีฬานั่งซ้อน คงพากันไปออกกำลังกาย ดูน่ารักน่าเอ็นดูจัง

ผ่านช่อดอกไม้หน้าตาคล้ายดอกเล็บมือนางสีแดงสด บนก้านดอกสีเขียวอ่อน แต่อยู่บนต้นที่เหี่ยวแห้งกรอบที่ดูราวกับไม่มีชีวิตแล้ว นัยว่าจะบ่งบอกความจริงอะไรบางอย่าง

เดินมาอีกนิดถึงซอยอารีย์สัมพันธ์ ตรงข้ามกรมประชาสัมพันธ์ เห็นป้ายโปสเตอร์ติดประกาศไกลๆ อยู่อีกฟากของถนน หน้าร้านอาหารปลาดิบ ดูเหมือนงานแสดงศิลปะ อะไรเกี่ยวกับความรักสักอย่างเพราะเห็นคำว่า The … Side of Love ผมข้ามไปดู

อ้อ The Other Side of Love

ที่แท้เป็นงานชิ้นแรกของชุมชนไซเบอร์ ชื่อ Sawasdee Multiply Community (http://smcharity.multiply.com) พวกเขาลุกขึ้นมาทำสิ่งบางอย่างที่พอทำให้คนอื่นได้ เป็นงานแสดงศิลปะเล็กๆ สะท้อนจิตใจอันยิ่งใหญ่ของคนทำ จัดแสดง (และขาย) ภาพถ่ายเพื่อนำรายได้ไปช่วยผู้ติดเชื้อเอดส์ที่วัดพระบาทน้ำพุ อืมม์ ใครว่าการใช้เวลาว่างต้องเสียเงิน นี่ได้ทั้งเงิน ได้ทั้งเพื่อน ได้ทั้งบุญ ดีจังที่แถวบ้านเดี๋ยวนี้มีงานแสดงศิลปะ ดูเป็นชุมชนและมีสุนทรีย์ขึ้นอีกโข

กลับ “ถึงบ้าน” แม้มีงานที่ทำยังไม่เสร็จ แต่ก็พอใจ วางใจ และภูมิใจกับที่ได้พยายามทำมาทั้งวัน

นึกย้อนไปวันหนึ่งวันนี้ เป็นวันที่เต็มอิ่ม ได้ตื่นแต่เช้าสวดมนต์ภาวนานิดหน่อย ใช้เวลาช้าๆ สบายๆ อยู่กับที่บ้านกับคุณแม่ พี่สาว น้องชาย มีอาหารง่ายๆ แต่สะอาด รสอร่อยจากฝีมือคุณแม่ที่พัฒนามาตลอดเกินกึ่งศตวรรษ บรรจงใส่ใจทุกขั้นตอน ตบท้ายด้วยขนมบัวลอยตามเทศกาล พร้อมเสียงหัวเราะเอิ๊กอ๊ากกัน

ได้เจียดเวลาให้กับงานที่มีความหมายต่อเรา ต่อสังคม และต่อโลกบ้าง

ได้อ่านต้นฉบับบทความจิตวิวัฒน์ฉบับ สคส. ปีใหม่ ๒๕๕๑ ของ อ.ประเวศ พูดถึงความสุขง่ายๆ แต่มีความหมายมากสี่ประการคือ ๑. นิพพานอยู่แค่ปลายจมูกตามสูตรอาจารย์พุทธทาส ๒. การเข้าถึงความจริงสูงสุด ๓. ความสุขจากงานทุกชนิดด้วยปาฏิหาริย์แห่งการตื่นอยู่เสมอ และ ๔. ความสุขตามสูตร “ระพี – เสน่ห์ – ประเวศ”

ได้อ่านงานเขียน “ของดีที่ควรหวัง” ของหลวงพี่ไพศาล วิสาโล ที่ว่า “ถ้าเราหวัง ก็ควรหวังให้มีความเปลี่ยนแปลงที่ดีๆ ในจิตใจของเรา มีความต่างกันมากระหว่างการมีสิ่งดีๆ เกิดขึ้นในชีวิต กับการมีความเปลี่ยนแปลงที่ดีๆ เกิดขึ้นในจิตใจ อย่างหลังนี้อาจเกิดขึ้นโดยไม่จำเป็นต้องมีสิ่งดีๆ เกิดขึ้นกับชีวิตของเราก็ได้” มิน่าเล่าเราถึงรู้สึกวางจิตวางใจกับสิ่งที่กำลังจะเกิดขึ้นได้อย่างง่ายดายขึ้น

แถมยังได้รับฟอร์เวิร์ดอีเมลจากเพื่อนกลุ่มสื่อสร้างสรรค์ Happy Media ที่เป็นเรื่องชายหนุ่มหญิงสาวคู่หนึ่ง ไปเจอยักษ์จินนี่ในกระป๋องเบียร์ที่มอบพรสามประการ โดยชายหนุ่มขอ “ให้เราพอใจกับสิ่งที่เรามีและมีความสุขกับมัน” แววตาของตัวละครยังอยู่ในใจอยู่เลย

ได้ออกไปเดินเล่นเพื่อเฉลิมฉลองไม่ใช่แต่วันนี้ วันเหมายัน แต่ยังมีวันเทศกาลขนมบัวลอย เทศกาลคริสต์มาส และเทศกาลอื่นๆ อีกนับสิบ

ตอนค่ำได้รับข้อความ SMS จากน้องว่า วันนี้รู้สึกดีที่มีสติได้เลือกใช้เวลาที่มีคุณภาพกับครอบครัว ไม่พยายามทำงานไปใช้เวลากับที่บ้านไป ซึ่งก็ไม่เคยเวิร์กสักที

ย้อนไปในหนึ่งขวบปีก็มีช่วงที่เรามีสุขบ้าง มีทุกข์บ้าง ทันตัวเองบ้าง ไม่ทันตัวเองบ้าง พยายามน้อยไปบ้าง พยายามมากเกินไปบ้าง แต่ก็ในเวลาสบายๆ ของวันธรรมดาปรกติๆ เช่นนี้แหละที่ได้รู้ว่าเราเองก็เรียนจากตนเองก็ได้

นึกขอบคุณคนหลายๆ กลุ่มที่ยังคงพยายามทำในส่วนที่ทำได้โดยไม่หมดหวัง ขอบคุณขา เท้า ร่างกายและใจที่พาตัวเรามาพบกับสิ่งดีๆ ขอบคุณตนเองที่เลือกเดินเส้นทางใหม่ๆ ที่ไม่คุ้นเคยบ้าง ให้โอกาสมองโลกใบเก่าด้วยสายตาคู่ใหม่ จนกระทั่งได้มาพบสมบัติอยู่ใกล้ๆ ข้างหน้านี้เองเรื่อยมา ขอบคุณโลกใบน้อยในจักรวาลที่ยิ่งใหญ่ที่ให้โอกาสทุกคนได้เติบโตบนเส้นทางเรียนรู้

นึกถึงเนื้อเพลงจากหนัง รักแห่งสยาม “ดั่งในใจความบอกในกวี ว่าตราบใดที่มีรักย่อมมีหวัง”

ขอบคุณจริงๆ 🙂