คลื่นความรู้สึก: คลื่นดนตรี

คลื่นความรู้สึก: คลื่นดนตรี

Author : เครือข่ายจิตตปัญญาศึกษา

ความรู้สึกมากมายที่เกิดขึ้นภายในร่างกายและจิตใจของเรา เราเคยรับรู้ความรู้สึกเหล่านั้นบ้างหรือเปล่า? ทั้งอารมณ์ความรู้สึกด้านดีและด้านร้ายๆ ที่แสนจะน่าชังในตัวเอง โกรธ เกลียด รัก อบอุ่น เศร้า เหงา ดีใจ สุข ทุกข์ เสียใจ และความรู้สึกอื่นๆ อีกมากมายที่ไม่อาจบรรยายได้ด้วยคำพูด

บ่อยครั้งที่เราไม่รับรู้ความรู้สึกและอารมณ์เหล่านั้น นั้นอาจไม่ใช่เพราะเราด้านตาย เป็นคนไม่มีอารมณ์ความรู้สึก แต่อาจเป็นเพราะเราไม่เคยหันกลับมาอยู่กับตัวเองและสำรวจว่า ตอนนี้เรามีความรู้สึกอารมณ์ใดๆ เกิดขึ้นภายในร่างกายและจิตใจของเราบ้าง เราไม่เคยเชื่อในสิ่งที่ร่างกายและจิตใจของเราบอก เรามักเชื่อในความคิดของเรามากกว่า ความคิดที่มีความสลับซับซ้อน เต็มไปด้วยการปรุงแต่ง แต่ร่างกายของเราที่ประสบกับสิ่งต่างๆ ที่เกิดขึ้นโดยตรง เราไม่เคยเชื่อถือมันเลย ไม่เคยแม้แต่จะเงี่ยหูฟังในสิ่งที่ร่างกายบอกแก่เรา ไม่เคยรับรู้ความรู้สึกที่เกิดขึ้นในร่างกายและจิตใจของเรา แม้มันจะตะโกนบอกเราดังแค่ไหน เราก็มักจะปฏิเสธมันออกไปได้ง่ายว่าเราไม่มีมัน ยิ่งโดยเฉพาะเมื่อมันเป็นอารมณ์ความรู้สึกด้านที่ไม่น่ารักเอาเสียเลย

และอารมณ์ความรู้สึกต่างๆ ที่เกิดขึ้นกับเรานั้นก็มักสะสมอยู่ในเนื้อในตัวของเรา ยิ่งเราเกิดอารมณ์นั้นบ่อยๆ ก็ยิ่งสะสมมากขึ้น และเมื่อเราไม่เคยเข้าไปสำรวจ รับรู้ถึงอารมณ์ความรู้สึกเหล่านั้นเลย มันก็ยิ่งฝังรากลึกอยู่ในจิตใจของเรา และเชื่อหรือไม่ว่าเราจะจดจำและฝังเก็บอารมณ์ด้านร้ายได้ดีกว่าด้านดีๆ ที่สำคัญความรู้สึกเหล่านั้นอาจจะโผล่มาอีกครั้งในรูปของความเจ็บปวดทางกาย การเจ็บป่วยทางจิต ความหวั่นไหวทางอารมณ์ จิตใจที่ไม่มั่นคง และนั่นก็เป็นที่มาของความทุกข์

แล้วเราจะสัมผัสรับรู้อารมณ์ความรู้สึกที่เกิดขึ้นได้อย่างไร และเราจะปลดปล่อยตัวเองจากอารมณ์เหล่านั้นที่มันเกิดขึ้นกับเราได้อย่างไรกัน อาจมีทางเลือก มีคำตอบที่มากมายหลายหลาก แต่เมื่อไม่นานมานี้ ดิฉันได้ค้นพบความรู้สึกบางอย่างที่เกิดขึ้นกับร่างกายและอยู่ในจิตใจ โดยผ่านดนตรี คลื่นเสียงและความเงียบ และไม่อยากจะเชื่อว่าเสียงดนตรีจะปลุกความรู้สึกที่ฝังลึกอยู่ในร่ายกายให้ตื่นออกมาได้

จากการอบรม “ดนตรี: คลื่นแห่งความสุข” ในครั้งนั้นวิทยากร คือ คุณเมธี จันทรา และ คุณสุพัฒน์ ฟูสิน ได้เชื้อเชิญให้เราได้ทบทวนถึงเหตุการณ์ ความรู้สึกที่เกิดขึ้นในขณะที่เราโกรธใครสักคนหรือสิ่งใดสักอย่าง และวิทยากรก็ได้เล่นดนตรีที่ช่วยทำให้เราสัมผัสรับรู้ถึงอารมณ์โกรธพร้อมกันด้วย ฉันเพิ่งรู้ตัวว่าในร่างกายของฉันได้สะสมความโกรธไว้เป็นอย่างมาก โกรธที่ไม่เคยรู้เลยว่าโกรธ ฉันคิดภาพถึงเหตุการณ์ที่เคยโกรธ หรือเกลียดใครไม่ออกเลยสักภาพ แต่ด้วยร่างกายสัมผัสถึงพลังแห่งดนตรี ฉันก็ค้นพบว่าท้องเกิดอาการปั่นป่วน หัวใจเต้นดังตึกๆๆๆ รู้สึกอึดอัดใจเป็นอย่างมาก แล้วจู่ๆ น้ำตาก็พลันไหลออกมา ฉันรับรู้ถึงความโกรธที่มีอยู่ในตัวฉัน ฉันไม่รู้ว่าโกรธใครหรือสิ่งใด แต่มันมีอยู่ในตัวฉัน ในตัวฉันที่ไม่เคยคิดว่าจะโกรธหรือเกลียดใครได้ ฉันค่อยๆ คลี่ก้อนอารมณ์โกรธนั้นออกมาดู สัมผัสมันอย่างตรงไปตรงมา แล้วมันค่อยๆ เผยออกมาให้ฉันได้รับรู้ว่า ที่ผ่านมาฉันเต็มไปด้วยความโกรธที่ไม่อาจแสดงความโกรธนั้นออกมาได้ แทนที่จะแสดงอาการเกรียวกราด ด่า ต่อว่าหรือตะโกนให้ใครต่อใครรับรู้ว่าฉันโมโห ฉันมักจะแปรมันเป็นน้ำตา ร้องไห้เสียใจ อาจจะด้วยเหตุผลที่ว่า ฉันไม่สามารถแสดงท่าทีตอบโต้คนที่ฉันโกรธอย่างนั้นได้ หรือฉันไม่กล้าแสดงท่าทีแบบนั้นเพราะมันจะทำให้ฉันดูเป็นคนไม่น่ารัก เป็นคนที่ไม่สามารถควบคุมอารมณ์ของตัวเองได้ หรือจะด้วยเหตุผลใดก็ตาม

ตอนนี้ฉันพบว่าในตัวฉันมีความโกรธ แต่นั้นมันไม่ได้ทำให้ฉันเป็นคนไม่น่ารัก ฉันกลับรู้สึกว่าฉันเป็นคนธรรมดาๆ นี่เอง คนที่เต็มไปด้วยอารมณ์ความรู้สึก และฉันรู้สึกว่าฉันสัมผัสมันได้ มันเป็นความมหัศจรรย์ที่เกิดขึ้นในตัวฉัน แค่เรารับรู้ถึงอารมณ์ที่เกิดขึ้นไม่ว่าอารมณ์นั้นจะร้ายหรือดี เมื่อรับรู้มันก็จะคลี่คลายตัวเอง เราแค่สัมผัสมันเพียงเบาๆ ลูบไล้บางๆ ราวกับว่าเป็นของมีค่าที่เราได้ค้นพบว่ามันมีในตัวเรา เราไม่อาจจะบอกปัดหรือปฏิเสธอารมณ์ความรู้สึกที่เกิดขึ้นได้ เมื่อมันเกิดขึ้นเราก็เพียงรับรู้ ที่สำคัญเรามักไม่เคยรู้ว่าเรามี หรือบางครั้งเรารู้ว่ามีแต่เราก็ไม่เคยใส่ใจมันเลย

ต้องขอบคุณดนตรี คลื่นเสียงและความเงียบที่มาช่วยปลุกความรู้สึกที่ตกตะกอนอยู่ที่ก้นบึ้งในหัวใจ ให้บางสิ่งที่คั่งค้างนอนนิ่งอยู่ในจิตวิญญาณได้ลุกขึ้นมาปรากฏตัวให้เราได้เห็น ได้สัมผัสและคลี่คลายมัน ทำให้เรากล้าที่จะยอมรับสิ่งที่เกิดขึ้นกับร่างกายและจิตใจของเราได้ง่ายขึ้น ยอมรับอย่างที่มันเป็นว่ามันเกิดขึ้นในตัวเรา เหมือนเสียงทุกเสียง คลื่นทุกคลื่นทั้งที่เราสัมผัสได้และสัมผัสไม่ได้ เมื่อมันเกิดขึ้นเราต้องยอมรับมัน เราไม่มีทางที่จะทำให้เสียงขลุ่ยดังหนักแน่นดั่งเสียงกลองได้ เมื่อมันมีเราก็ยอมรับว่ามี ทุกอารมณ์ความรู้สึกเป็นสภาวะที่เกิดขึ้นกับเรา เหมือนเช่นเสียงทุกเสียง คลื่นทุกคลื่นเป็นสภาวะของมันอย่างนั้นเอง

ดนตรีสามารถเป็นตัวเชื่อมประสานความรู้สึก อารมณ์กับร่างกายได้เป็นอย่างดี ร่างกายของเราสามารถรับคลื่นทุกคลื่นที่มากระทบเราได้ และคลื่นสามารถกระตุ้นอารมณ์ความรู้สึก เพราะร่างกายเราก็เป็นคลื่นหนึ่งเช่นเดียวกับเสียงดนตรี

ดนตรีบอกให้เราเชื่อมั่นในร่างกาย เชื่อในสิ่งที่เกิดขึ้นกับร่างกาย รับฟังเสียงร่างกายที่บอก เมื่อเราเชื่อในร่างกาย เราก็จะรับรู้ถึงอารมณ์ความรู้สึกต่างๆ ที่เกิดขึ้นได้ดีขึ้น ซึ่งเท่ากับเป็นการรับรู้ถึงสภาวะที่เกิดขึ้นกับตัวเรา ไม่ว่าสภาวะนั้นจะดีหรือร้าย นั่นก็เป็นสภาวะหนึ่งที่เกิดขึ้น เมื่อเรารับรู้จะทำให้เรากล้าที่จะเผชิญกับทุกสภาวะที่ผ่านเข้ามาพบเจอเรา ไม่หลีกหนี เก็บซ่อนให้มันจมฝังอยู่ในจิตใจ จนเราเผลอนึกว่าไม่มีมัน

ดนตรีเป็นดั่งประตู เป็นเหมือนช่องทางที่จะช่วยทำให้เรากลับมาอยู่กับเนื้อกับตัวของเราเอง เป็นกุญแจที่จะทำให้เราสัมผัสและเข้าถึงอารมณ์ความรู้สึกที่เกิดขึ้น หากร่ายกายและจิตใจได้เปิดรับเสียงดนตรี ก็คล้ายกับว่าเรากำลังต้อนรับเชื้อเชิญทุกความรู้สึกให้ปรากฏต่อเรา ให้ดนตรีและความรู้สึกเป็นคลื่นที่จะทำให้เราตื่นรู้อยู่กับร่างกายและจิตใจของเรา ลองเผชิญกับทุกความรู้สึกและอารมณ์ที่เกิดขึ้น มันอาจกลายเป็นความมหัศจรรย์ที่มีอยู่ในคนธรรมดาอย่างเรานี่เอง

ประชาธิปไตยเชิงลึก: ของขวัญวันเด็กย้อนหลัง

ประชาธิปไตยเชิงลึก: ของขวัญวันเด็กย้อนหลัง

Author : เครือข่ายจิตตปัญญาศึกษา

วันเด็กที่เพิ่งผ่านพ้นมาเมื่อไม่กี่อาทิตย์ ทำให้นึกถึงการเรียนรู้ของเด็กๆ และนึกถึงสิทธิประเภทหนึ่งของเด็กไทย ได้แก่ สิทธิในการมีส่วนร่วม (Participation Right) ในด้านต่างๆ ตั้งแต่ในครอบครัว ในโรงเรียนและในสังคม การสนับสนุนและเปิดโอกาสให้เด็กๆ มีพื้นที่ปลอดภัย กล้าที่จะแสดงออก ตั้งคำถาม และร่วมแสดงความคิดเห็น ร่วมตัดสินใจ เป็นสิ่งที่ต้องสนับสนุนให้เกิดการปฏิบัติจริงตั้งแต่ในครอบครัว

เมื่อพิจารณาลักษณะครอบครัวไทยและสังคมไทย แน่นอนเรามิเคยปฏิเสธความสำคัญของความสัมพันธ์ระหว่างผู้ใหญ่กับผู้น้อย แต่การมองอีกด้านทำให้ได้ย้อนกลับมาตั้งคำถามว่าเราได้ให้ความสำคัญกับการมีส่วนร่วมของเด็กมากมายเพียงใด จริงอยู่หลายครั้งเราได้พยายามปรับปรุงกระบวนการเรียนรู้ให้ทั้งเด็กและครูได้มีโอกาสเรียนรู้ร่วมกัน เป็นการเรียนรู้ผ่านประสบการณ์ตรงของผู้เรียน ได้แบ่งปันความรู้สึก และร่วมเล่าหรือเขียนถึงสิ่งที่ได้ยินให้นำมาเชื่อมโยงกับการใช้ชีวิตของตน แต่จะเป็นไปได้ขนาดไหนที่เด็กสามารถโต้แย้งถึงสิ่งที่ตนเห็นด้วย และไม่เห็นด้วยได้อย่างปลอดภัย หรือแม้กระทั่งสามารถบอกได้ว่า “หนูไม่เข้าใจ” “หนูขอให้อธิบายเพิ่ม” หรือ “เนื้อหาที่เรียนมากเกินไป หนูรับไม่ไหวแล้ว”

การเปิดโอกาสให้เด็กได้มีส่วนร่วม เป็นการ “ปลดปล่อยความทุกข์” ในการเรียนรู้ของเด็ก และฝึกฝนความเป็นประชาธิปไตยในชีวิตจริงของเด็ก โดยไม่ต้องรอให้อายุครบเกณฑ์เลือกตั้ง หรือไปเข้าร่วมชมรมประชาธิปไตยใดๆ ในโรงเรียน เพราะ “ประชาธิปไตย” ที่สามารถเริ่มต้นได้ในครอบครัว หรือในชั้นเรียน จะเป็น “ประชาธิปไตยเชิงลึก” (Deep Democracy) ที่ผู้น้อยซึ่งอ่อนด้อยกว่าทั้งอายุ ความรู้และอำนาจ สามารถมีส่วนร่วมส่งเสียงแสดงความคิดเห็นของตนได้อย่างอิสระและปลอดภัย แนวคิดนี้ได้เทียบเคียงมาจากแนวคิดของ อานี มินเดล (Arny Mindell) เขากล่าวถึง ความเป็นประชาธิปไตยเชิงลึก ว่าเป็นทัศนคติที่ให้ความสำคัญต่อการตระหนักรู้ของเสียงและความคิดเห็นของทั้งคนที่สำคัญและไม่สำคัญ เสียงของคนที่ดูเหมือนจะด้อยกว่า (ทั้งอายุ ความรู้ และอำนาจ) นั้นมีความหมาย มีคุณค่า มีปัญญาแฝงอยู่ และปัญญานี้มีผลต่อกลุ่มคนส่วนรวมเช่นกัน แนวคิดนี้เขยิบระดับขึ้นจากประชาธิปไตยทั่วไปในประเด็นว่า เสียงส่วนน้อย คนกลุ่มน้อยก็สำคัญ มิใช่แต่เสียงส่วนใหญ่เท่านั้น เสียงที่มีน้ำหนักมากกว่าบางครั้งก็อาจละเลยไม่ได้พิจารณาเสียงและเหตุผลของส่วนน้อย

เปรียบเทียบกับกรณีของเด็กในครอบครัว ในห้องเรียน เสียงของเด็กมักสำคัญน้อยกว่า เด็กไทยจำนวนมากเป็นโรคเหงา โรคไม่กล้า และโรคขาดความมั่นใจในตนเอง เพราะไม่สามารถมี “พื้นที่ปลอดภัย” ในการแสดงความคิดเห็น และการมีส่วนร่วมตั้งแต่อยู่ในครอบครัว ระหว่างพ่อแม่พี่น้องและ ในห้องเรียน ระหว่างครูกับศิษย์ เมื่อประชาธิปไตยเบื้องต้นยังไม่สามารถเกิดขึ้นได้ในบ้าน ในโรงเรียน การมุ่งเรียกร้องถึงความสำคัญและคุณค่าของความเป็นประชาธิปไตยที่ผ่านการเลือกตั้ง และระบบตัวแทนก็ไกลจากความเป็นจริง

ประชาธิปไตยเชิงลึกจะเกิดขึ้นได้ต่อเมื่อผู้ใหญ่ ผู้มีความสำคัญได้มี “สติ” และ “ตระหนักรู้” เต็มใจให้เด็กได้มีส่วนร่วมบอกความรู้สึกและร่วมเรียนรู้ สติและความตระหนักรู้นี้จะเกิดขึ้นเสมอๆ เมื่อผู้ใหญ่ได้มีโอกาส “ใคร่ครวญ” ถึงสิ่งที่ตนคิด พูดและแสดงออก การตระหนักรู้ ยังเปิดโอกาสให้เห็นทัศนคติของตนที่ยอมรับ “ความแตกต่างหลากหลาย” และ “รวมผู้อื่น” เช่น เด็ก หรือ ผู้ด้อยโอกาสกว่าเข้าไว้ในชีวิตการทำงานและการอยู่ร่วมกันด้วย

ประชาธิปไตยเชิงลึกจึงเป็นการฝึกฝนจิตใจจาก “ด้านใน” ยอมรับและเต็มใจฝึกฝนให้เกิดการเปลี่ยนแปลงจากการแปลกแยก (ระหว่างเด็ก-ผู้ใหญ่ ระหว่างศิษย์-ครู) สู่การเห็นความสัมพันธ์เชื่อมโยงอิงอาศัยซึ่งกันและกัน ประชาธิปไตยเชิงลึกจึงเสนอแนะก้าวที่เลยพ้นความสำคัญของ “เสียงส่วนใหญ่” ตลอดจน “คนที่ใหญ่กว่า” (ทั้งอายุ ความรู้ อำนาจและสถานภาพต่างๆ) การที่บุคคลจะฝึกการเห็นความสำคัญของคนที่ด้อยกว่า เสียงของคนตัวเล็กกว่า ต้องอาศัย “การฝึกฝนด้านใน” เป็นประสบการณ์ด้านในของการตระหนักรู้ถึงความเชื่อมโยง ความสัมพันธ์ซึ่งกันและกันของทุกสิ่งนั่นเอง

เครื่องมือในการฝึกประชาธิปไตยเชิงลึกซึ่งง่ายที่สุดคือ “การฟัง” ที่ไม่ใช่แต่เพียง “ได้ยิน” เสียงของเด็กเท่านั้น แต่เป็นการฟังด้วยหัวใจที่เมตตาต่อเด็ก ฟังโดยไม่คิดตัดสินตามประสบการณ์ที่ผู้ใหญ่เคยประสบมาก่อน แต่ให้โอกาสเด็กได้พูดความรู้สึก ได้เล่าเหตุผล ได้แบ่งปันสิ่งที่ตนคิด โดยไม่ตัดบทว่า “ฉันอาบน้ำร้อนมาก่อน!” และฟังโดยการเอาใจเขามาใส่ใจเรา ลองนึกถึงเมื่อครั้งตนเองเป็นเด็ก นึกถึงสภาวะที่ตนอ่อนด้อยกว่า หัวใจแบบเด็กๆ ของตนนั้นเรียกร้องอะไร

การฟังอย่างลึกซึ้งเช่นว่านี้เกิดขึ้นในกระบวนการสานเสวนา (Dialogue) นั่นเอง ดังนั้น ประชาธิปไตยเชิงลึกจึงสามารถสอดแทรกในการเรียนรู้ของทุกวิชา ไม่จำกัดว่าต้องเรียนวิชาหน้าที่พลเมืองวิชารัฐศาสตร์หรือนิติศาสตร์เท่านั้น ในครอบครัว ในห้องเรียน ในการทำงาน ก็สามารถเริ่มต้น “การฟังด้วยหัวใจ” เพื่อเชื้อเชิญให้ทุกคนมีส่วนร่วม ไม่ว่าจะเป็นคนกลุ่มน้อยขนาดไหน เสียงและความรู้สึกของทุกคนมีค่า ถึงแม้จะแตกต่างแต่ก็สามารถแบ่งปัน อธิบาย ชี้แจง เหตุผล และจุดยืนของความแตกต่างนั้นได้

ประชาธิปไตยเชิงลึกโดยผ่านวัฒนธรรมแห่งการฟังเช่นนี้ จะเป็นพื้นฐานของการพัฒนาประชาธิปไตยที่พวกเราโดยเฉพาะในสภาวการณ์ปัจจุบันเรียกร้องหาเป็นอย่างยิ่ง

ความเหงาของผู้คนทั้งหลายจะได้รับการบรรเทาให้ลดน้อยลง เพราะการฟังอย่างลึกซึ้งจะทำให้เด็กและผู้คนทั้งหลายได้สื่อสารกันอย่างเมตตา เชื่อมโยงความรู้สึกของผู้หนึ่งไปสู่อีกผู้หนึ่ง ถมช่องว่างของความแปลกแยกไปสู่โยงใยเอื้อเฟื้อต่อกัน ดังในพระพุทธศาสนาว่าด้วยปรโตโฆสะ อันเป็นการเรียนรู้ที่เกิดจากการได้ยินได้ฟัง การมีกัลยาณมิตรที่ดี และมีโยนิโสมนสิการ คือการคิดอย่างแยบคาย

แน่นอนว่าเสียงของเด็กที่คิดเห็นแตกต่างอาจไม่สบอารมณ์ผู้ใหญ่ หรือนำไปสู่ความขัดแย้ง แต่ก็ทำให้ผู้ใหญ่ ครู อาจารย์ ได้มีโอกาสฝึกจิต ฝึกเมตตา ฝึกความอดทนมากขึ้นและเพียรพยายาม “พัฒนา” ตนเอง และความรู้สึกไม่สบอารมณ์จะคลายลงเมื่อมีความต่อเนื่องของการฟังที่เมตตาและกติกาหลายๆ อย่างของสานเสวนา เช่น ความใจกว้าง การยอมรับและพร้อมจะวิพากษ์วิจารณ์ตัวเอง เป็นต้น เพียงเท่านี้เด็กก็จะวางใจและเริ่มกล้าพอที่จะแสดงความคิดเห็น ร่วมเรียนรู้ สิทธิการมีส่วนร่วมของเด็กก็จะได้รับการปฏิบัติจริง ประชาธิปไตยที่พึงประสงค์ในบ้านเมืองของเราอาจใกล้ความเป็นจริงขึ้นบ้างก็เป็นได้

คำประกาศแห่งการพึ่งพา: ยอมจำนนต่อธรรมชาติอย่างไร้เงื่อนไข

คำประกาศแห่งการพึ่งพา: ยอมจำนนต่อธรรมชาติอย่างไร้เงื่อนไข

Author : เครือข่ายจิตตปัญญาศึกษา

ฝีเท้าของผู้เขียนย่ำเข้าสู่ความสงัดของป่าต้นน้ำ ที่หมู่บ้านหินลาดใน อ.เวียงป่าเป้า จ.เชียงราย พร้อมกับคณะนักศึกษาปริญญาโท หลักสูตรการศึกษาองค์รวม (Holistic Education) รุ่นที่ ๑ ของสถาบันอาศรมศิลป์ โดยมีอาจารย์ณัฐฬส วังวิญญู เป็นผู้นำให้เราปลดวางสัมภาระ ปลีกตัวออกห่างจากความจำเจในหน้าที่การงานและความคิดเชิงตรรกะทางสังคม เข้าสู่การเรียนรู้ที่นัยทางหนึ่งนั้นเป็นการแสวงหาปรีชาญาณจากธรรมชาติ (Nature Acquisition) เชื้อเชิญแต่ละคนก้าวสู่พรมแดนที่ท้าทายตัวตนที่เปราะบางให้ทำหน้าที่สะท้อนภาพพื้นฐานที่สุดของมนุษย์ ด้วยการอดอาหารเป็นเวลา ๑ วัน และแยกย้ายออกไปเดียวดายกลางป่าเป็นเวลา ๑ คืน การเดินทางครั้งนั้นเป็นการเดินเข้าป่าในเชิงกายภาพ แต่อันที่จริง แต่ละคนกำลังเดินกลับสู่บ้านหลังใหญ่ มาตุภูมิแห่งขุนเขาที่นำพาเราหยั่งถึงธรรมชาติที่แท้ภายในตน

คำถามหนึ่งที่ผู้เขียนถามตัวเองคือ ที่หมายของความรู้ที่เพิ่มขึ้นจากประสบการณ์และการแสวงหาทางจิตวิญญาณ จะนำพาให้ผู้เขียนก้าวไปสู่ปัญญาที่สร้างให้เกิดความเข้าใจต่อความเป็นไปของสรรพสิ่งด้วยใจที่เคารพ หรือนำไปสู่การสะสมองค์ความรู้ในเชิงปริมาณที่ก่อร่างสร้างเสียงวิพากษ์วิจารณ์ พิพากษาตัดสินผู้อื่น? ดูเหมือนกรณีที่เกิดขึ้นกับผู้เขียนในระยะนี้ และจากการเฝ้าสังเกตการเรียนรู้ที่มีจุดเริ่มต้นจากแวดวงการศึกษา ก็ยิ่งเห็นว่าคนเราเรียนรู้มากขึ้น แต่กลับเป็นไปเพื่อบ่มเพาะจุดยืนทางความคิดอันเป็นที่มาของการเจริญอัตตาตัวตนที่แข็งกร้าว หลงผิดคิดว่าความรู้จะทำให้มนุษย์พึ่งพาตนเองอย่างโดดเดี่ยวได้ในโลกนี้

รหัสนัยที่ธรรมชาติชี้ให้ผู้เขียนย้อนกลับไปมองเห็นตัวตนที่ชัดเจน คือ การทึกทักเอาเองว่าสามารถพึ่งพาตนเองได้ แต่ธรรมชาติก็มอบความจริงผ่านภาพสะท้อนให้ผู้เขียนย้อนมองตัวเอง คือ ช่วงก่อนที่จะเดินทาง ผู้เขียนตั้งใจเอาไว้ว่าจะสร้างความเปลี่ยนแปลงให้กับชุมชนน้อยที่สุด รบกวนธรรมชาติให้น้อยที่สุด บริโภคอาหารและทรัพยากรให้น้อยที่สุด พึ่งพาให้น้อยที่สุด ซึ่งในทางหนึ่งก็เป็นไปเพื่อการฝึกละวางความต้องการ แต่ในฟากของความสุดโต่งที่ขาดสติ สิ่งที่ซ่อนอยู่ภายใต้คำกล่าวว่า “ฉันจะพึ่งพาตนเองให้ได้มากที่สุด” นั้นก็คือ “ฉันแน่ ฉันเก่ง ฉันดูแลตัวเองได้ ไม่ต้องพึ่งใคร ดังนั้น ไม่มีใครหรืออะไรที่จำเป็นสำหรับฉัน ฉันดำรงอยู่ได้ด้วยตนเอง” เป็นเป้าหมายที่คับแคบเหมาะสมอย่างยิ่งต่อการบ่มเพาะอัตตาตัวตนให้แข็งแกร่งขึ้น

ในช่วงการทำงานในชีวิตประจำวันกับผู้คนที่คุ้นเคย เราอาจมองเห็นภาพตัวเองไม่ชัด แม้จะมีพฤติกรรมทางใจเป็นสัญญาณบางอย่าง เช่น ความหงุดหงิดรำคาญ ความไม่พอใจ ที่เกิดขึ้นอยู่เนืองๆ แต่การอยู่ในโลกที่มนุษย์สมมติสร้างขึ้นด้วยคำอธิบายและนิยามความคิดแต่เพียงมนุษย์นั้น ไม่ทำให้ตาของเราเปิดมองเห็นความจริงได้ แต่เมื่อเราต้องอยู่ในสภาพที่เปราะบาง การเดินทางไกล การอดอาหาร และการอยู่กับความกลัวเพียงลำพัง ทำให้เราเห็นความจริงอย่างหนึ่งว่า มนุษย์ก็ยังพึ่งพาอยู่นั่นเอง

ผู้เขียนพยายามเดินหาสถานที่กางเต็นท์ที่พักระหว่างการอดอาหารวันที่สอง ซึ่งเป็นช่วงที่ร่างกายกำลังเข้าสู่จุดที่อ่อนแอที่สุดเนื่องจากกำลังปรับสภาพ ผู้เขียนเดินห่างจากจุดนัดพบออกไปไกล ยิ่งเดิน ยิ่งเหนื่อย หายใจเริ่มติดขัด ร่างกายอ่อนแรง ต้องหยุดพักเป็นช่วงๆ แต่ใจที่แข็งกร้าวอยากเอาชนะไม่ยอมน้อมขอความช่วยเหลือใดๆ หรือลดทอนเป้าหมายของตัวเองลง ระหว่างที่แรงเฮือกสุดท้ายกำลังจะหมด ยังไม่วายมองหาจุดที่พักที่ไม่เบียดเบียนชีวิตเล็กๆ ของต้นไม้เล็กใหญ่หรือต้นหญ้า ซึ่งแน่นอนว่าไม่มีพื้นที่เช่นนั้นในป่าต้นน้ำที่อุดมสมบูรณ์ แต่ความหลงยึดอยู่กับความคิดที่ต้องทำทุกสิ่งให้ดีที่สุดโดยไม่คำนึงถึงบริบทความจริง ปล่อยให้ทิฐิมานะคาดคั้นลากสังขารตนเองให้บรรลุวัตถุประสงค์ทางความคิดให้ได้ ในที่สุดเมื่อกายอ่อนล้าและหมดแรงไปต่อ ผู้เขียนจำนนใจอ้อนวอนจากธรรมชาติ จำนนต่อฐานะผู้พึ่งพิงของตนเองต่อต้นไม้ใบหญ้าน้อยใหญ่ที่ขึ้นอยู่ริมทาง และมดแมลงตัวน้อยที่เราไม่เคยมองเห็นค่าของเขาเมื่อตัวเราเป็นใหญ่ที่บ้านในเมืองหลวง แต่ ณ ที่แห่งนี้ ผืนป่ามอบความจริงอย่างที่สุดให้กับมนุษย์

หลังจากนั่งพักจิบน้ำ กางเต็นท์ที่พักเสร็จ ผู้เขียนนิ่งเงียบอยู่กับตนเอง อยู่กับความเป็นจริงที่ธรรมชาติมอบให้ การเงียบเสียงจากภายนอก ทำให้ได้ยินเสียงภายในของเราชัดเจนขึ้น เมื่อความคิด หรืออารมณ์ใดๆ ผุดบังเกิด เราจะได้ยินเสียงของมันเหมือนดังออกมาข้างนอก ผู้เขียนย้อนกลับไปใคร่ครวญถึงเสียงของตนเองในระหว่างเดินหาที่พัก และมองเห็นธรรมชาติของความอยากเอาชนะที่เกิดขึ้น แม้จะตกอยู่ในสภาพที่ไม่น่าจะพึ่งพาตนเองได้ แต่ก็ยังขัดขืนดื้อดึงไม่ยอมให้ตัวเองอยู่ในฐานะผู้ร้องขอการพึ่งพิงจากธรรมชาติ มายาคติที่สร้างขึ้นว่ามนุษย์เป็นผู้สร้าง เป็นนายเหนือธรรมชาติ ทำให้ผู้เขียนมองไม่เห็นความจริงว่า สรรพสิ่งที่ดำเนินไปนั้น สัตว์ก็ยังต้องพึ่งพาผืนป่า ป่าก็พึ่งพาไอแดด และปรายฝน คนก็ต้องพึ่งพาธรรมชาติ และแม้แต่วินาทีแรกที่ลมหายใจของเราปรากฏเป็นชีวิตบนโลก เราก็อยู่ในฐานะผู้พึ่งพาธรรมชาติแล้ว หากแต่ใจของเราไม่ยอมศิโรราบ ตาของเราจึงมองไม่เห็นโยงใยที่ซ่อนเร้นอันเป็นความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์และธรรมชาติ ความรู้และปัญญาที่เกิดโดยคำนึงถึงความจริงข้อนี้ จึงเป็นความรู้ที่เกิดขึ้นพร้อมกับอัตตาตัวตนที่ใหญ่ขึ้น เสียงวิพากษ์วิจารณ์ การตัดสินถูกผิดโดยมีตัวเราเป็นฐานจึงทำหน้าที่แทนปัญญาที่จะเข้าใจความเป็นไปของทุกสิ่งอย่าง

มนุษย์ผู้กล้าจะอยู่เพียงลำพังได้จริงหรือ? การทำงานที่ประสบกับความสำเร็จไม่ต้องพึ่งพาคนเล็กคนน้อยเช่นนั้นหรือ? เราไม่ต้องการความสัมพันธ์ฉันมิตรเพื่อปลอบประโลมหัวใจเหนื่อยล้าของเราจริงหรือ? การดำรงอยู่ของเราไม่จำเป็นต้องพึ่งพาสิ่งใดนอกเหนือจากตัวเองจริงหรือ?

ในคืนแรกๆ ผู้เขียนพักอยู่ในหมู่บ้านของ “ผู้ดูแลป่า” พลังของคนเล็กๆในสังคมอย่างชาวปกาเกอะญอ ที่ทำหน้าที่ยิ่งใหญ่กว่าตัวเองนักในการปกปักษ์รักษาป่าต้นน้ำพื้นที่กว่า ๑๕,๐๐๐ ไร่ ด้วยจำนวนสมาชิกเพียง ๒๐ หลังคาเรือน “อ้ายชัยประเสริฐ” ชาวปกาเกอะญอวัย ๔๐ ปี บอกว่า “ภารกิจของคนต้นน้ำคือการรักษาน้ำให้กับคนปลายน้ำ ชาวปกาเกอะญอรักษาป่าเพราะป่าเป็นแหล่งกำเนิดน้ำที่หล่อเลี้ยงชีวิตอีกหลายชีวิต”

พวกเราชาวเมืองทุกคนก็เป็นหนึ่งในผู้พึ่งพาภารกิจการปกปักษ์รักษาของเขา ทุกหยดน้ำที่เราดื่มกินในแต่ละวัน เกิดจากจิตใจดีงามที่ทำหน้าที่โอบอุ้มดูแลสรรพชีวิต เรามิอาจตัดสายใยแห่งการพึ่งพานี้ได้ มนุษย์มิได้ดำรงอยู่เป็นปัจเจกที่โดดเดี่ยว ในทางกลับกัน มนุษย์เป็นชีวิตเล็กๆ ชีวิตหนึ่งในสายสัมพันธ์ที่ยิ่งใหญ่ของธรรมชาติ

เมื่อผู้เขียนประจักษ์ถึงความจริงที่เรามิได้ยิ่งใหญ่มาจากไหน ในทางกลับกันก็เป็นเพียงผู้พึ่งพาสิ่งต่างๆ อยู่นั่นเอง เสียงวิพากษ์วิจารณ์ของตนก็ลดลง ธรรมชาติได้สอนความจริงว่าเราเป็นเพียงส่วนเสี้ยวเล็กๆ ของความหลากหลายของสรรพชีวิตที่เลื่อนไหลดำรงอยู่บนโลก และเป็นโลกใบเดียวกันนี้เอง

ฟังเสียงจากใจ

ฟังเสียงจากใจ

Author : เครือข่ายจิตตปัญญาศึกษา

วันนี้เป็นการตัดสินใจครั้งสำคัญที่สุดครั้งหนึ่งในชีวิต เป็นครั้งแรกที่เป็นการตัดสินใจด้วยตัวเอง โดยปราศจากการขอคำปรึกษา หรือการแสวงหาแรงบันดาลใจจากผู้อื่น เป็นครั้งแรกที่รับฟัง และศิโรราบต่อเสียงเรียกร้องภายในของตัวเองอย่างแท้จริง

วันนี้เป็นวันที่ได้เดินออกมาจากองค์กรที่สร้างขึ้นมากับมือ

เป็นองค์กรเล็กที่เราช่วยกันก่อร่างสร้างตัวมากับเพื่อนๆ ที่รวมความฝัน มิตรภาพ บ้านที่อบอุ่น และปลอดภัย ภารกิจอันยิ่งใหญ่และมีคุณค่ายังรออยู่ข้างหน้า ไม่ใช่เพราะมีปัญหา หรือเหนื่อยล้าจนไปต่อไม่ไหว แต่ ณ วันนี้ได้ยินเสียงใจตัวเองอย่างชัดเจนแล้วว่า “หมดวาระของเธอแล้ว”

คนแต่ละคนจะมีแรงผลักดันพื้นฐานในการดำเนินชีวิตแตกต่างกันไป สำหรับเราแล้วแรงผลักนี้มาจากการทำเพื่อคนอื่น โดยเฉพาะคนที่เรารัก “ชีวิตที่ทำเพื่อผู้อื่น จึงจะเป็นชีวิตที่มีค่า” การเดินทางที่ผ่านมาอบอุ่นและเต็มไปด้วยความหมาย ได้แรงบันดาลใจล้นเหลือในการทำงานเพื่อรับใช้สังคม ได้ทุ่มเททำงานอย่างเต็มที่ และอิ่มเอมกับผลตอบแทนที่ได้ คือ การมีคุณค่าพอที่จะได้รับความรัก

แต่ในขณะเดียวกันเมื่อเผลอไป มันก็เป็นการผูกติดคุณค่าของตัวเราไว้กับความพอใจของคนอื่น หลงลืมไปว่าตัวเราก็มีคุณค่าได้ด้วยตัวเองเหมือนกัน รับรู้และตอบสนองความต้องการของผู้อื่น จนละเลยที่จะฟังเสียงของตัวเอง

การจะเป็นผู้ให้ หรือผู้รับใช้ที่ดี ผู้ให้จึงน่าจะรู้จักตัวเองอย่างลึกซึ้งก่อน เพื่อที่จะสามารถดึงศักยภาพที่สูงสุดของตัวเองออกมาเพื่อประโยชน์ของผู้อื่นอย่างแท้จริงได้ การให้อย่างหลงลืมตัว จะไม่เป็นประโยชน์ต่อทั้งผู้ให้และผู้รับ

วันนี้จึงตัดสินใจที่จะออกเดินทางเพื่อจะเข้าไปรู้จักตัวเองมากขึ้น การเดินออกมา ไม่ได้เป็นการละทิ้งตัวตนที่เราเป็นอยู่ ตัวตน ความคิด ความสามารถต่างๆ ที่มีอยู่ไม่ได้สูญหายไปไหน แต่การเดินทางเป็นการเปิดพื้นที่แห่งความเป็นไปได้ ให้เราได้ทดลองเรียนรู้ศักยภาพในด้านอื่นๆ ของตัวเอง ที่เราไม่เคยได้รู้ว่ามีอยู่ เพราะแท้ที่จริงแล้ว ตัวเราเป็นไปได้ทุกอย่าง แต่ความคุ้นชิน และประสบการณ์ ความเชี่ยวชาญที่เรามีอยู่เดิม เมื่อยึดติดมากเกินไป ก็กลายเป็นสิ่งปิดกั้นให้เราเชื่อไปว่าเราไม่สามารถทำสิ่งอื่นๆ ได้

การฟังเสียงตัวเอง ต้องใช้ความสงบนิ่ง ตัดสินใจเดินไปตามทางนั้น ต้องใช้ความกล้าหาญอย่างมาก เพราะจะไม่มีใครรับผิดชอบสิ่งที่เกิดขึ้นจากการตัดสินใจนั้นได้ นอกจากตัวเราเอง

ความกลัวมากมายกำลังโถมเข้ามาสู่ตัวเรา กลัวการตัดสินจากคนรอบข้าง กลัวคุณค่าในตัวเราที่คนอื่นเคยเห็นจะเปลี่ยนแปลง กลัวความรักที่ได้จะหายไป

ทั้งตัวเราและคนอื่นๆ ก็เปลี่ยนแปลงไปทุกวัน ตัวเรา ณ ชั่วขณะนี้มีอยู่เพียงตอนนี้ ตัวเราในอีกช่วงขณะหนึ่งก็คืออีกคนหนึ่ง ซึ่งเป็นทั้งคนเดิมและคนใหม่ สิ่งเดียวที่แน่นอน ก็คือความไม่แน่นอน การยึดติดต่อสิ่งที่เราเคยมี เคยเป็น และอยากให้คงอยู่ จึงหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะทำให้เป็นทุกข์ และความทุกข์นั้นก็เป็นตัวเรา เมื่อเรารับรู้การมีอยู่ของเขา โอบอุ้มเขา เขาก็จะไม่ทำร้ายเราได้

…….

น่าตื่นเต้นที่เมื่อตัดสินใจแล้วว่าจะออกเดินทางค้นหาตัวตนอื่นๆ ของตัวเอง หนทางมากมายตามที่ใจร้องขอ ก็เปิดออกอย่างน่าอัศจรรย์

เคยคิดว่าเป็นคนที่ไม่มีทักษะด้านศิลปะ จึงอยากค้นหาตัวตนนี้ ก็มีเพื่อนมาชวนทำงานเกี่ยวกับการใช้กระบวนการศิลปะกับจิตตปัญญา

เมื่อปีที่แล้วได้ไปร่วมกระบวนการ eco-quest หรือนิเวศน์ภาวนา ครั้งนั้นได้ตั้งคำถามไปว่า “ชีวิตเราเกิดมาเพื่ออะไร” คำตอบที่ได้ในตอนนั้น คือ “การเรียนรู้เรื่องราวจากชีวิตของผู้คนแล้วนำมาบอกเล่า” เชื่อ แต่ไม่ได้เดินตาม ไม่แน่ใจว่าจะทำได้หรือไม่เพราะความไม่เคย วันนี้จึงอยากลองทำงานเขียน โอกาสมากมายก็มาถึงในทันที ตั้งแต่การเขียนบทความนี้ งานถอดบทเรียนที่ต้องการคนทำ พี่สาวนักเขียนที่อยากขอติดตามไปก็โทรมาพูดคุยทั้งที่ไม่ได้เจอกันมาเกือบปี

อีกเรื่องที่ใจร้องขอ คือการปฏิบัติธรรมอย่างต่อเนื่อง ถ้าเป็นผู้ชายคงได้ออกบวช แต่เมื่อเป็นผู้หญิงคงต้องหาวิธีอื่น ก็มีคุณอาที่นับถือและไม่ได้ติดต่อกันมานานส่งหนังสือมาให้ ชื่อ “วารสารธรรมมาตา” โดยธรรมาศรมธรรมมาตา สถานปฏิบัติธรรมสำหรับผู้หญิง

อยากได้ใคร่ครวญถึงการเดินทางที่ผ่านมาและกำลังจะเดินต่อไป ก็มีการอบรม Life & Spiritual Dialogue ที่ได้รับเชิญไปเข้าร่วมที่เชียงราย เริ่มต้นพรุ่งนี้ เป็นช่วงเวลาที่ลงตัวที่สุดพอดี

และสุดท้าย สถานที่ๆ อยากไปมานานคือ อินเดีย ที่เต็มไปด้วยการเรียนรู้ทางจิตวิญญาณ ความทุกข์ และนวัตกรรมมากมายในการหาทางพ้นทุกข์ น้องชายที่เรียนอยู่ที่นั่นก็ชวนให้ทั้งครอบครัวเราไปเที่ยว ในช่วงเวลานี้ พอดีที่สุดอีกเช่นกัน

ความบังเอิญนี้น่าประหลาด เป็นสิ่งมหัศจรรย์ที่เกิดขึ้นได้กับทุกคนและทุกที่ มันคือมนต์วิเศษที่เกิดจากพลังของเสียงจากใจเราเอง

เรารู้อะไร?

เรารู้อะไร?

Author : เครือข่ายจิตตปัญญาศึกษา

เมื่อราว ๓ ปีก่อน สมาชิกกลุ่มจิตวิวัฒน์ได้พูดคุยแลกเปลี่ยนกันถึงความเป็นไปได้ที่จะผลักดันให้มี “จิตวิวัฒน์ศึกษา” ขึ้นในการศึกษาระบบอุดมศึกษา ด้วยว่าการศึกษาในปัจจุบันนั้นมุ่งเน้นการสอนเนื้อหาวิชาให้แก่ผู้เรียนเป็นหลัก แต่ไม่ได้เป็นเงื่อนไขปัจจัยให้เกิดการเปลี่ยนแปลงจิตสำนึกและยกระดับจิตใจ บัณฑิตที่สำเร็จการศึกษาออกไปสู่สังคมการทำงานจึงมีแต่ความรู้ทางเทคนิคในศาสตร์ต่างๆ ทว่าไม่อาจรู้จักและเข้าใจตนเองอย่างแท้จริง รวมทั้งไม่เห็นความเชื่อมโยงเป็นหนึ่งเดียวของตนกับสรรพสิ่ง

ต่อมาแนวคิดนี้จึงได้ก่อเป็นรูปธรรม โดยศูนย์จิตตปัญญาศึกษาถูกริเริ่มจัดตั้งขึ้นที่มหาวิทยาลัยมหิดลเมื่อไม่นานมานี้ และคำว่า “จิตตปัญญาศึกษา” เองก็เป็นที่รู้จักแพร่หลายมากยิ่งขึ้น เพราะไม่เพียงแต่เป็นที่สนใจในประเทศเท่านั้น หากยังเป็นกระแสความเคลื่อนไหวครั้งใหญ่ของวงการศึกษาทั่วโลก ในชื่อต่างๆ อาทิ Contemplative Education หรือ Holistic Education

กระนั้นก็ตาม ผู้ทำงานผลักดันขับเคลื่อนเรื่องนี้ยังคงได้รับคำถามอยู่เนืองๆ เป็นต้นว่า จิตตปัญญาศึกษาคืออะไร บ้างก็เข้าใจไปว่าเป็นการศึกษาว่าด้วยการเสริมสร้างคุณธรรมจริยธรรมให้แก่ผู้เรียน โดยมีรูปแบบกระบวนการเป็นการประยุกต์ปฏิบัติตามแนวพระพุทธศาสนา เช่น จัดให้นักศึกษาได้นั่งสมาธิ หรือส่งไปปฏิบัติธรรมยังวัดและสถานฝึกอบรมต่างๆ

ทว่า มีคำถามหนึ่งซึ่งผู้เขียนพบว่ายังติดค้างอยู่ในใจ และตระหนักเห็นว่ามีประเด็นสำคัญอย่างยิ่ง นั่นคือคำถามว่า จิตตปัญญาศึกษานั้น “เรียนอะไร?” และต้องศึกษา “วิชาอะไร” บ้าง?

เพราะฉับพลันทันทีที่ได้ยินคำถามนี้ สิ่งที่เกิดขึ้นเป็นปฏิกิริยาในทันใดมักกลายเป็นเรื่องที่บอกเล่าออกมาผ่าน ความทรงจำ ของผู้เขียน ไม่ว่าจะคำตอบจะบอกว่า เป็นการเรียนที่ไม่ได้มุ่งวิชาอย่างดิ่งเดี่ยว แต่น้อมนำเอาวิชาเข้ามาสู่ใจ หรือจะให้คำตอบว่า เป็นการเรียนเพื่อให้เข้าใจตนเองด้วยการเรียนรู้ด้วยใจอย่างใคร่ครวญ แต่เมื่อเวลาผ่านไปหลังจากได้เรียนรู้มากยิ่งขึ้น กลับพบว่าคำตอบทั้งหมดนี้แม้จะมีส่วนถูกต้อง แต่ไม่ถึงขั้นออกมาจากใจและกลั่นออกมาจากประสบการณ์ตรงของตนเองเลย คำถามจึงยังติดค้างไม่คลี่คลายแม้จะได้ให้คำตอบไปแล้ว

มองย้อนกลับไปในเครือข่ายจิตตปัญญาศึกษาเองก็มีการจัดฝึกอบรมหลักสูตรต่างๆ มากมาย หรือว่าเป็นหลักสูตรเหล่านี้เองที่อาจเป็นคำตอบตรงใจ และให้คำอธิบายแก่ผู้ถามได้ดีกว่า ไม่ว่าจะเป็นเรื่องนพลักษณ์ (Enneagram) กับการเข้าใจตนเอง เรื่องสุนทรียสนทนา (Dialogue) หรือแม้แต่เรื่องการเจริญสติวิปัสสนา

ครั้นทบทวนถึงการอบรมเรื่องนพลักษณ์ทั้งสองครั้งที่ผ่านมา เราผู้ร่วมอบรมล้วนได้รับความรู้มากมายและความเข้าใจใหม่เกี่ยวกับความคิด การมองโลกและพฤติกรรมที่แตกต่างกันของบุคคลทั้ง ๙ แบบ ผู้เข้าอบรมในครั้งแรกต่างได้ค้นพบรู้จักตัวเองมากขึ้นว่าเป็นคนลักษณ์ไหน มีสิ่งใดเป็นแรงขับดันภายใน และเราจะสามารถปรับปรุงพัฒนาศักยภาพไปให้พ้นข้อจำกัดตามลักษณ์ของตนเองได้อย่างไร

แต่ในระหว่างการอบรมครั้งที่สอง อาจเพราะด้วยความคุ้นเคยสนิทสนมกันทำให้บางคนที่ยังลังเลว่าตนเป็นคนลักษณ์อะไรตกเป็นฝ่ายถูกเพื่อนกระเซ้าเย้าแหย่ว่าน่าจะเป็นลักษณ์นั้นลักษณ์นี้ บ้างก็ปรารถนาดีเข้าไปช่วยคิดช่วยวิเคราะห์ความเป็นลักษณ์ของเพื่อน กระทั่งคุณ Joan Ryan และนพ.ธนา นิลชัยโกวิทย์ ผู้เป็นกระบวนกรต้องกล่าวย้ำว่า กระบวนการสำคัญในการเรียนรู้นพลักษณ์คือ การได้กลับมาอยู่กับตัวเอง กระบวนการนั่งทำสมาธิก่อนเริ่มกิจกรรมแต่ละช่วงจึงไม่ได้เป็นเพียงการทำให้สงบและผ่อนคลาย แต่ให้ผู้เรียนมีความนิ่งจนสังเกตเห็นความรู้สึก ความคิด คำพูดและการกระทำของตนเองได้ เมื่อสังเกตได้แล้วจึงจะรู้ และนำไปสู่ความเข้าใจตัวเองอย่างแท้จริง

น่าประหลาดใจว่าสิ่งที่กระบวนกรนพลักษณ์ย้ำนี้กลับมีสาระสำคัญอย่างเดียวกันกับการฝึกอบรมเรื่องอื่นๆ หากเพียงใช้ชื่อเรียกชุดคำต่างออกไป ดังเช่นในการอบรมเรื่องวิธีคิดคิดกระบวนระบบ (Systems Thinking) โดย อ.ชัยวัฒน์ ถิระพันธุ์ นั้น แม้จะมีเนื้อหาทฤษฎีที่ต้องเรียนรู้มากมายให้เข้าใจถึงลักษณะของความเป็นระบบ ความแตกต่างของการมองเห็นปรากฏการณ์ ผ่านลงไปถึงแบบแผน และภาพจำลองความคิด แต่กิจกรรมสำคัญที่ขาดเสียมิได้คือ การสะท้อน (Reflection) การเรียนรู้ที่เกิดขึ้นภายในตนเอง

เฉกเช่นเดียวกับการดำเนินวงพูดคุยแบบสุนทรียสนทนา (Dialogue) อ.วิศิษฐ์ วังวิญญู เคยแนะนำและให้คำอธิบายแก่ผู้เข้าร่วมหน้าใหม่ในเรื่องการรับฟังอย่างลึกซึ้ง (Deep Listening) และมีสติรู้ตัวอยู่เสมอ เพราะคุณภาพของการสนทนาไม่อาจจะก้าวข้ามสู่ระดับของการหลอมรวมและเพิ่มพูนความคิดใหม่ใดได้เลย หากผู้ร่วมสนทนามีความคาดหวัง หรือกำลังคาดเดาสิ่งที่ตนกำลังฟังอยู่ เสียงที่ได้ยินจะเป็นเพียงคำบรรยาย พร่ำบ่นซ้ำๆ ของคนอื่น ทั้งจะไม่ได้ยินเสียงของตัวเอง และสิ่งที่พูดก็ไม่ได้ออกมาจากความรู้สึกข้างในจริงๆ

เมื่อไม่กี่วันมานี้ Dr. Jennifer Garvey Berger เพิ่งได้บรรยายเรื่อง Towards a New Consciousness: Using Developmental Theory to Observe and Map Our Transformations ในวงจิตวิวัฒน์ เธอกล่าวว่าการเปลี่ยนจิตสำนึกไปสู่ระดับจิตที่สูงขึ้นจะเกิดได้ต่อเมื่อเราในฐานะผู้รู้ (Subject) รับรู้ถึงการมีอยู่ของสิ่งหนึ่ง (Object) ผู้เขียนรู้สึกละม้ายคล้ายกันเหลือเกินกับสิ่งที่คุณแม่อมรา สาขากร และ อ.สุรวัฒน์ เสรีวิวัฒนา ได้แนะนำสั่งสอนให้หมั่นสังเกตดูตามดูจิตของเราเอง เพราะเมื่อเกิดรู้สึกไม่พอใจ เรามักรู้ว่าเราไม่พอใจด้วยสาเหตุใด อะไรทำให้เกิดความรู้สึกนี้ แต่ในเวลาเดียวกัน ตัวของเราเองนั้นกลายเป็นหนึ่งเดียวกับความไม่พอใจไปแล้ว เราไม่ได้รู้เนื้อรู้ตัวหรือรู้เท่าทันจิตของเราเลย

สิ่งที่คลี่คลายออกจากคำถามที่ติดค้างในใจว่าเราเรียนอะไร? จึงไม่ใช่คำตอบว่าได้เรียนศาสตร์เรื่องอะไรและมีความรู้ความเข้าใจเรื่องนั้นแค่ไหน แต่การเรียนแบบจิตตปัญญาของเราเป็นการเรียนที่ต้องเกิดขึ้นในตัวของเราเอง นำเอาความคิดความรู้สึกให้กลับมาอยู่กับตัวเอง หมั่นรับฟังและสะท้อนเสียงจากภายในนั้นออกมา

คำตอบต่อจิตตปัญญาศึกษาสำหรับผู้เขียนคงไม่ใช่แค่เรียนอะไร แต่เราเรียนให้เรารู้ตัวเราเอง

เห็น “ต่าง” ได้ ไม่เป็นไร

เห็น "ต่าง" ได้ ไม่เป็นไร

Author : เครือข่ายจิตตปัญญาศึกษา

ครั้งหนึ่งในชั้นเรียนของนิสิตปริญญาเอก ในสถานศึกษาแห่งหนึ่ง ก่อนที่จะเริ่มเข้าสู่เนื้อหา เราได้เท้าความกันถึง ความเข้าใจคุณค่าของความเป็นมนุษย์อันเป็นแก่นของเนื้อหาวิชาในหมวดมนุษยศาสตร์ พวกเราได้แสดงความคิดเห็นกันว่า ศิลปะ เป็นหนึ่งในวิชาที่ช่วยเสริมสร้างและเปลี่ยนแปลง “จิตเล็ก” ให้เป็น “จิตใหญ่” ศิลปะมีพลัง มีคุณูปการ ที่ทำให้จิตที่ขุ่นมัว มีฝุ่นธุลี ได้เบาจางไป นับเป็นการเปลี่ยนแปลงคุณค่าภายใน ได้เป็นอย่างดี

ขณะเดียวกัน มีผู้พูดถึงศิลปะบางชิ้นที่คนรู้สึกว่าไม่สร้างสรรค์ บางชิ้นคนมองว่าเป็นอนาจาร บางชิ้นถูกมองว่าเป็นศิลปะที่ลบหลู่ศาสนา สถานการณ์เช่นนี้จะยังสามารถพูดได้ว่า ศิลปะช่วยผดุงคุณค่าภายในอีกหรือไม่ จุดหมายของเรามิได้ต้องการจะตัดสินว่าคำตอบสุดท้ายคืออะไร หรือฝ่ายใดถูกฝ่ายใดผิด แต่เป็นโอกาสที่เหมาะสมให้ชั้นเรียนได้เห็นประเด็น “ความแตกต่างหลากหลาย” ของความคิดที่เป็นปรากฏการณ์ธรรมดาที่เกิดขึ้นและพบเห็นอยู่เสมอ

งานศิลปะชิ้นเดียวกัน แต่ละคนอาจให้คุณค่าต่างกัน ตามแต่จุดยืนและมุมมองที่แตกต่างกัน เช่น จากมุมมองของศิลปินผู้นำเสนอภาพศิลปะนั้น ก็มีวัตถุประสงค์ในการสื่อสารเนื้อความใดเนื้อความหนึ่ง ผ่านงานศิลปะ ศิลปินผู้นั้นมีเป้าหมายชัดเจนว่า ต้องการส่ง “message” อะไร ไปถึงใคร เช่นนี้เป็นต้น แรงบันดาลใจในการรังสรรค์สร้างภาพ หรืองานศิลปะนั้น ก็ขึ้นอยู่กับบริบท สถานการณ์ เหตุการณ์แวดล้อม อารมณ์ความรู้สึกที่เกี่ยวข้องกับช่วงเวลาที่ศิลปินนั้น ผลิตงานศิลปะชิ้นนั้นๆ ออกมา

ถ้าเราเข้าใจได้เช่นนี้ เราจะเห็นได้ว่า งานศิลปะนั้นเกิดขึ้นมาโดยมีศิลปินผู้ผลิตเป็นศูนย์กลาง ศิลปินเปรียบเสมือนผู้แต่งบทประพันธ์ เมื่อเราจะเข้าใจงานศิลปะของศิลปินนั้น เราจะต้องคำนึงถึงการตีความภาพศิลปะในทำนอง Author-centered interpretation

ขณะเดียวกัน ด้านผู้ชมงานศิลปะ ต่างฝ่ายต่างก็มีจุดยืน เหตุผล ความรู้ความเข้าใจ และบริบทที่ต่างๆ กันไปอีกด้วย เช่น ผู้ชมงานศิลปะที่มีความรู้ทางศิลปะก็จะเข้าใจและชื่นชมงานนั้นสอดคล้องกับจุดยืนของตน ผู้มีความรู้ทางศาสนาก็อาจมองงานชิ้นเดียวกัน “แตกต่าง” ไปจากผู้ไม่ผ่านการเรียนรู้ทางศาสนา ผู้สนใจทางการเมือง หรือ ผู้เป็นนักวิทยาศาสตร์ก็จะมองภาพศิลปะนั้น อยู่บนพื้นฐานของ “บริบท” ที่หล่อหลอมความเป็นบุคคลนั้น แม้กระทั่งความเป็น “เพศหญิง” “เพศชาย” ก็อาจทำให้มองงานนั้นแตกต่างออกไปได้เช่นกัน การมองงานศิลปะโดยมีตัวผู้ชมเป็นศูนย์กลาง (Reader-centered interpretation) ศิลปะภาพเดียวกันจึงได้รับการตีความต่างๆ กัน เป็นดีเป็นชั่ว เป็นสวย เป็นไม่สวย เป็นลบหลู่ เป็นศิลปะล้วนๆ ที่ไม่ลบหลู่ผู้ใดได้ตลอดเวลา

แล้วตัวงานศิลปะเองเล่า สามารถบอกกล่าวอะไรด้วยตัวของตัวเองได้หรือไม่ แต่เนื่องจากในชั้นเรียนนี้ ไม่ใช่ชั้นเรียนศิลปะนิพนธ์วิจารณ์ จึงไม่สามารถบอกกล่าวได้อย่างละเอียด เท่ากับผู้มีความรู้โดยตรง สิ่งที่พวกเราสามารถแสดงความคิดเห็นกันได้ก็คือ ในงานศิลปะ เส้น สี แสง ลวดลาย รูปทรง และรูปร่างต่างๆ ประดามี ล้วน “สื่อ” ความหมายในตัวเองทั้งสิ้น ให้อารมณ์ความรู้สึก จินตนาการไปต่างๆ กัน ถ้าเราตัดตัวผู้สร้างสรรค์ศิลปะ และตัวเราเองที่เป็นผู้มองภาพศิลปะ เราอาจได้รับ “ความหมาย” ที่ตัวงานศิลปะล้วนๆ ต้องการเล่าบอกให้ผู้ชมได้ทราบเป็นแน่ ถ้าเปรียบเทียบกับงานเขียน การตีความงานเขียน โดยให้งานเขียนที่ประกอบด้วยภาษา ไวยากรณ์ การใช้คำ การเรียงคำ เป็นตัวตั้ง เราก็จะสามารถเข้าใจ “เนื้อความ” จากข้อเขียนได้รูปแบบหนึ่ง (Text-centered interpretation) เช่นกัน

ในชั้นเรียนวันนั้น เราได้ข้อคิดเห็นตรงกันว่า ถ้าเรามองเหตุการณ์ใดๆ ด้วยใจเมตตา ไม่รีบตัดสินว่า ใครถูก ใครผิด แล้วลองเปลี่ยนมุมมอง ไปยืนอยู่ในตำแหน่งของทั้งผู้ผลิตผลงานศิลปะ ผู้ชมผลงาน และตัวงานศิลปะเองแล้ว เราอาจได้เห็นภาพรวมทั้งหมด ที่มีเนื้อหาละเอียดชัดเจน เราจะเข้าใจ “ทุกสิ่งทุกอย่าง อย่างที่เป็น” มากขึ้น เราอาจไม่ต้องโต้เถียง แบ่งฝ่ายแพ้ชนะ ประท้วง เสียความรู้สึก หรือกลายเป็นคนละพวกกันไป “ความต่าง” ของจุดยืนเหล่านี้ อาจเป็นโอกาสให้เราได้เรียนรู้ เปิดโอกาส ให้เราได้ “สืบค้น” เรื่องราวได้มากขึ้น ขอเพียงมีใจเมตตา ให้โอกาสแต่ละฝ่าย ได้เล่าแจ้งแถลงเหตุผล และจุดยืนของตน โดยไม่ใช้อารมณ์ และตัดสินไว้ล่วงหน้า เราทั้งหลายจะได้ “ปัญญา” ใหม่ ได้ความสงบสุข  “สันติภาพ” ของพวกเรา ก็จะปรากฏให้เห็น โดยไม่ต้องออกไปเรียกร้อง “สันติภาพ” จากภายนอกเลย

สำหรับชั้นเรียนในวันนั้น ดูเหมือนว่า เราได้ก้าวเข้าไปใช้หลักการของไดอะล็อก (Dialogue) ในการพูดถึงงานศิลปะ เพื่ออธิบายการพัฒนาคุณค่าด้านในโดยไม่รู้ตัว

ประเด็นความคิดเห็นที่ “ต่าง” หรือ “ตรงกันข้าม” กันนี้ เป็นสิ่งที่ต้องเน้นย้ำ และกล่าวซ้ำ เพื่อการนำไปใช้ในชีวิต และการทำงาน เพื่อเป็นข้อตระหนักเบื้องต้น ในการป้องกันความขัดแย้ง ดังเช่น กรณีการมองภาพศิลปะดังกล่าวข้างต้นที่มีวิธีเข้าใจได้ต่างๆ กัน เมื่อทุกฝ่ายยอมรับความต่าง ว่าเป็นเรื่องธรรมดา ย่อมใช้ความต่างเป็นช่องทางให้ได้ “ฟังกันอย่างลึกซึ้ง” ด้วยเมตตา เพื่อปัญญาและสันติ

อย่างไรก็ดี มีประเด็นสืบเนื่องว่า เมื่อมีความเห็นต่าง ต้องใช้การฟังอย่างลึกซึ้ง บุคคลที่ไม่สามารถฟังได้ ก็ไม่สามารถทำไดอะล็อกได้ ประเด็นนี้ก็เป็นเหตุการณ์จริงในชั้นเรียนอีกครั้งหนึ่ง ที่ผู้เรียนเป็นผู้พิการทางการได้ยิน การกล่าวถึงการฟังด้วยเมตตา จึงได้รับการอธิบายให้ครอบคลุม “ผู้นำไปใช้” คือ นักศึกษาผู้ไม่สามารถได้ยินด้วย กล่าวคือ การสื่อสารอาจมีหลายวิธี สิ่งสำคัญอยู่ที่ “ใจ” ที่มีความเมตตา ไม่รวมตัดสินผิดถูกเสียก่อน เป็นประเด็นสำคัญ ดังนั้น ผู้มีความบกพร่องทางการได้ยิน จึงสามารถสื่อสารจุดยืนของตนที่ต่างได้ด้วย ภาษามือที่มีใจ ประกอบด้วยความรักผู้อื่น ประเด็นความต่าง จะไม่มีผลที่จะพัฒนากลายเป็นความขัดแย้ง เห็น “ต่าง” ก็ได้ จึงไม่เป็นไร ด้วยประการฉะนี้

ขยายพื้นที่แห่งความสุข

ขยายพื้นที่แห่งความสุข

Author : เครือข่ายจิตตปัญญาศึกษา

ผู้เขียนเป็นหนึ่งในทีมงานที่จัดกระบวนการและร่วมเรียนรู้ไปด้วยกันกับกลุ่มทั้ง ๕ ครั้ง สังเกตเห็นถึงความเปลี่ยนแปลงของตัวเองและกลุ่มได้อย่างชัดเจนในด้านทักษะพื้นฐานของการเป็นวิทยากรกระบวนการทางจิตวิญญาณ(จะขอเรียกสั้นๆ ว่ากระบวนกร) คือ การรับฟังอย่างลึกซึ้ง การเปิดใจกว้างไม่ด่วนตัดสินถูกผิด การจับประเด็นทั้งเนื้อหาสาระและอารมณ์ความรู้สึก การตั้งคำถามลงลึกต่อเนื่องเชื่อมโยงอย่างมีพลังเพื่อกระตุ้นให้ผู้ตอบได้หันกลับมาคิดใคร่ครวญภายในอย่างลึกซึ้ง การใช้กระบวนวิธีคิดที่เป็นระบบสอดคล้องกับเป้าหมายการเรียนรู้ เนื้อหา และกิจกรรมผ่านประสบการณ์ตรง ในด้านพฤติกรรมการแสดงออกของแต่ละท่านและความสัมพันธ์ระหว่างกันที่เห็นเปลี่ยนไปอย่างชัดเจน คือ ความเชื่อมั่นว่าตนทำได้ อีกทั้งความไว้วางใจระหว่างกันในกลุ่ม การเกิดขึ้นของจิตสาธารณะหรือจิตใหญ่ของแต่ละคน การแบ่งปันช่วยเหลือเกื้อกูลกันโดยไม่แบ่งแยกว่าเป็นใครมาจากไหน การสะท้อนสิ่งที่เพื่อนควรปรับปรุงด้วยภาษาแห่งความกรุณา การให้อภัยเวลาผิดพลาดพลั้งเผลอ ในด้านอารมณ์ความรู้สึกนั้นสังเกตได้ว่าแต่ละท่านมีความสงบนิ่ง มีสติเท่าทันกับสิ่งที่ตัวเองกระทำได้เร็วขึ้นถึงแม้บางครั้งจะผิดพลาดบ้างก็เป็นเรื่องธรรมดาของมนุษย์

นอกจากนี้ตัวผู้เขียนเองสัมผัสได้ถึงความสุข ความอิ่มเอิบใจ ความมั่นใจในตัวเอง และความไว้วางใจที่เพิ่มมากขึ้นในทีมงานว่าเราทำได้ อย่างไรก็ตามการเปลี่ยนแปลงที่กล่าวมาทั้งหมดก็ยังเป็นเพียงหน่ออ่อนที่ต้องได้รับการใส่ใจดูแล ได้รับการรดน้ำพรวนดินอยู่เสมอ การเปลี่ยนแปลงระดับนี้เป็นเพียงจุดเริ่มต้นที่ต้องรอการตอกย้ำด้วยการเอาไปใช้หรือพิสูจน์ซ้ำแล้วซ้ำเล่าในชีวิตประจำวัน นี้แลการเปลี่ยนแปลงที่ลึกซึ้งและยั่งยืนจึงจะเริ่มเป็นจริง

 ในสังคมปัจจุบันนั้นต้องการความรวดเร็วสำเร็จรูปและง่ายไปเสียทุกอย่าง แม้กระทั่งการเรียนรู้หลายคนในสังคมก็คิดว่าการเรียนรู้จากการอบรมครั้งหรือสองครั้งก็น่าจะทำให้คนหรือองค์กรเปลี่ยนแปลงในทางที่ต้องการ เช่น คนต้องเปลี่ยนพฤติกรรมความคุ้นชินที่ไม่น่ารักให้น่ารักขึ้น คนในองค์กรต้องมีความรับผิดชอบต่อองค์กร หรือต้องการให้คนในองค์กรมีความสัมพันธ์ที่ดีต่อกัน รักกัน สามัคคีกันฯลฯ เมื่อหลังจากเสร็จสิ้นการอบรม  สำหรับผู้เขียนเองเห็นว่าการเปลี่ยนแปลงต้องใช้เวลา แม้แต่การเปลี่ยนแปลงทางร่างกายยังต้องใช้เวลา เช่น ถ้าคุณกำลังเคลื่อนย้ายจากสภาพอากาศแบบหนึ่งไปอยู่ในสภาพอากาศอีกแบบ ร่างกายยังต้องใช้เวลาในการปรับให้เข้ากับสภาพแวดล้อมใหม่ ในทำนองเดียวกันการปรับจิตใจต้องใช้เวลา เพราะจิตมีความซับซ้อนมากซึ่งคุณต้องยอมรับและเผชิญกับการเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปรภายในอย่างรู้เท่าทัน ไม่ใช่เรื่องง่ายเลย ดังนั้นเราอาจจำเป็นต้องใช้วิธีการอันหลากหลายและทดลองทำซ้ำอย่างต่อเนื่องจนจิตใจเกิดความคุ้นเคยใหม่ซึ่งจะค่อยๆ แปรเปลี่ยนทีละเล็กทีละน้อย นอกจากความมุ่งมั่นตั้งใจของคนคนหนึ่งที่ต้องการจะเปลี่ยนแปลงตัวเองแล้วนั้นยังต้องอาศัยเหตุปัจจัยหลายๆ อย่างประกอบกันทั้งปัจจัยในระหว่างกระบวนการเรียนรู้ และหลังจากออกไปดำเนินชีวิตประจำวัน สิ่งหนึ่งที่สำคัญมากสำหรับผู้เขียนในการเปลี่ยนแปลงตนเองระหว่างการเรียนรู้ คือ ความไว้วางใจ ทั้งในตัวเราเองว่าเราทำได้ การได้รับความไว้วางใจและกำลังใจจากคนรอบข้าง มีหลายครั้งที่เราคิดว่าทำไม่ได้แต่พอได้รับกำลังใจและความไว้วางใจเราก็จะพยายามทำและเห็นผลการเปลี่ยนแปลงที่ต้องการ

ในระหว่างกระบวนการเรียนรู้เพื่อการเปลี่ยนแปลงตนเองนั้น ความไว้วางใจเป็นปัจจัยสำคัญมากที่ทำให้ผู้เข้าร่วมอบรมกล้าที่จะเปิดใจยอมรับจุดเปราะบางของตัวเอง กล้าที่จะเผชิญกับเรื่องราวบางสิ่งบางอย่างที่ค้างคาใจ ถูกเก็บงำมาตลอดชีวิตและยังไม่ได้คลี่คลาย กล้าแม้กระทั่งปล่อยให้น้ำตาไหลรินอาบแก้มในที่สาธารณะต่อหน้าผู้เข้าร่วมอบรมด้วยกันซึ่งโดยปรกติหากเราไม่ได้ไว้วางใจกันมากพอเราคงไม่กล้าที่จะเปิดเผยหรือแสดงตัวตนที่แท้จริงของเราออกมาให้คนอื่นเห็น  สำหรับผู้เขียนการกล้าที่จะเผชิญกับตัวตนที่แท้จริงของเรานั้นเป็นจุดเริ่มต้นของการเปลี่ยนแปลงตนเองอย่างสำคัญยิ่ง

ความไว้วางใจระหว่างผู้เรียนรู้ด้วยกันหรือกับกระบวนกรนั้นไม่ได้เกิดขึ้นมาเองลอยๆ แต่ทุกคนในกระบวนการเรียนรู้ต้องร่วมกันสร้าง โดยเริ่มจากกระบวนกรเองต้องจัดกระบวนการที่หลากหลายง่ายต่อการเรียนรู้ปฏิบัติได้ไม่ซับซ้อน หากคล้ายคลึงกับสถานการณ์ในชีวิตจริงก็จะทำให้เห็นแง่คิดและมุมมองได้ง่าย ได้สัมผัสถึงอารมณ์ความรู้สึก  เหมาะสมกับกลุ่มผู้เรียน มีการรับฟังซึ่งกันและกันอย่างลึกซึ้งไม่ด่วนตัดสินและการมีส่วนร่วมของทุกคนบนบรรยากาศเป็นกันเองเอื้ออาทรระหว่างกัน ส่วนตัวผู้ร่วมเรียนรู้เองก็ต้องเปิดใจพร้อมที่จะเรียนรู้และรับฟังผู้อื่นอย่างแท้จริงด้วย

ปัจจัยในการเปลี่ยนแปลงตนเองที่สำคัญอีกสิ่งหนึ่งคือ เมื่อจบการอบรมและออกไปดำเนินชีวิตประจำวันแล้วทำอย่างไรเราจะสร้างโอกาสให้กับตัวเองในการทดลองใช้สิ่งต่างๆ ที่ได้เรียนรู้มาในระหว่างการอบรม เพราะหากเราไม่มีโอกาสได้ทดลองใช้จริงอย่างสม่ำเสมอความคุ้นชินเดิมๆ ก็จะกลับเข้ามาหาเราอย่างรวดเร็ว อีกทั้งการมีกลุ่มมีเพื่อนคอยช่วยเหลือให้กำลังใจคอยตักเตือนกันก็เป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่ช่วยให้เราเกิดการเปลี่ยนแปลงได้รวดเร็วและยั่งยืนมากขึ้น

จากการที่ผู้เขียนได้มีโอกาสจัดกระบวนการเรียนรู้ให้กับบุคคลที่แตกต่างหลากหลาย ต่างองค์กร ต่างอาชีพ และจากประสบการณ์การเปลี่ยนแปลงตัวเองนั้น ผู้เขียนได้ตระหนักว่าการที่คนคนหนึ่งเรียนรู้เพื่อที่จะเปลี่ยนแปลงตนเองนั้นไม่ใช่เรื่องง่ายๆ แต่ก็ไม่ยากเกินความสามารถของมนุษย์คนหนึ่งจะทำได้ และผลที่ได้จากการเปลี่ยนแปลงก็คุ้มค่ากับต้นทุนที่ต้องเสียไป จึงขอเป็นกำลังใจให้กับทุกท่านที่กำลังสร้างโอกาสในการเปลี่ยนแปลงตนเองอยู่ขณะนี้ แล้วเราจะได้พบกับพื้นที่แห่งความสุขที่กว้างใหญ่ไพศาล

ปฏิบัติการหวนถึง “แง่งาม ความรัก และน่าเอ็นดู”

ปฏิบัติการหวนถึง "แง่งาม ความรัก และน่าเอ็นดู"

Author : เครือข่ายจิตตปัญญาศึกษา

การทำงานเฉพาะหน้าที่ที่ได้รับมอบหมายด้วยความเชี่ยวชาญเพียงอย่างเดียว การมุ่งผลลัพธ์หรือความสำเร็จที่จำนวนชิ้นงาน หรือการดำเนินชีวิตทั่วๆ ไปที่ขาดความสมดุลทางกายและใจ คงจะตกกระแสสำหรับยุคปัจจุบันที่มาแรงในมิติด้านชีวิตจิตใจ หรือคุณภาพด้านใน ดังที่เราเห็นหรือได้ยินผ่านชุดคำต่างๆ เช่น การอยู่เย็นเป็นสุข สังคมสุขภาวะ ความรู้คู่คุณธรรม การพัฒนาจิตใจ คุณภาพชีวิต ความเอื้ออาทรไม่ทอดทิ้งกัน ชีวิตที่พอเพียง การพัฒนาอย่างยั่งยืน การยกระดับจิตใจ วิถีพุทธ อิสรภาพทางใจ ความสุขมวลรวมประชาชาติ ดัชนีความสุข วิถีแห่งสุขภาพ Healthy การรวมพลังทำความดีเรื่องต่างๆ องค์กรแห่งความสุข เป็นต้น

สิ่งที่เกิดขึ้นตามมาอย่างหนึ่งให้เราได้เห็นได้ยินอยู่เนืองๆ และมีพื้นที่เพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ตามสื่อต่างๆ คือ กิจกรรมการอบรมที่มุ่งเน้นทักษะการเรียนรู้ตนเอง การเข้าใจผู้อื่น การปรับสมดุลกายใจ หรือการสนับสนุนและส่งเสริมการปฏิบัติธรรม การเจริญสติภาวนาในการศึกษาทุกระดับตั้งแต่อนุบาล ในสถานที่ทำงาน สิ่งเหล่านี้กำลังเข้าสู่ความเป็นเรื่องปกติ (อาจเกิดปรากฏการณ์ใครไม่เคยปฏิบัติธรรม จะเชยมากในอีกไม่กี่ปีข้างหน้าก็ได้) หรือการแทรกซึมของชุดคำต่างๆ ที่มีความหมายลึกซึ้ง เป็นนามธรรมเข้าขั้นอุดมคติ ในยุทธศาสตร์ พันธกิจ เป้าหมายของหน่วยงาน ระเบียบวาระแห่งองค์กรเริ่มมีปรากฏให้เห็น เสมือนเป็นยุคแห่งการแสวงหา พยายามหาคำตอบให้กับชีวิตและมุ่งสู่อุดมคติของสังคมที่สุขแท้และดีงาม และเพื่อให้สามารถผ่านพ้นวิกฤตที่เขาว่ากันในปัจจุบันได้ โดยที่มีภาพคู่ขนานเป็นเหตุการณ์ความรุนแรง อาชญากรรม

ผลการสำรวจในแง่ไม่พึงประสงค์ของผู้คนในเรื่องต่างๆ ปัญหาสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรที่ไร้พรมแดน ช่วยชี้ชวนให้เราเห็นความสำคัญของเรื่องข้างต้น ซึ่งจะเป็นทิศทาง เป็นธงนำ เป็นหลักไมล์ เป็นเป้าหมาย เป็นสิ่งสะกิดใจให้เราต้องค้นหาว่าควรจะประพฤติปฏิบัติ ควรจะทำแผน หรือวัดผลประเมินค่าอย่างไรถึงจะใช่ หรือสะท้อนคุณค่าความหมายนั้นได้ อีกทั้งแนวปฏิบัติ ต้นแบบ ตัวอย่างนำร่อง ต่างได้รับความสนใจ มีการศึกษา สำรวจ เผยแพร่ ร่วมชื่นชมเพื่อประโยชน์ของส่วนรวมอย่างกว้างขวาง

แต่สำหรับใครบางคนสิ่งเหล่านี้อาจกลายเป็นข้อมูลข่าวสารอีกแบบที่ไหลบ่าท่วมท้น น่าสับสน ทำให้ลังเลสงสัยกับการทำงานหรือวิถีชีวิตประจำวันว่ามีความสุขแท้จริงหรือเปล่า มิติด้านในขาดแหว่งไปหรือไม่ ต้องตั้งคำถามที่ไม่เคยคิดจะตั้งมาก่อน

แล้วเราควรทำอย่างไร หรือคิดแบบใด พูดทำนองไหน จึงจะได้เข้าสู่วิถีทางนั้น รู้สึกว่าใช่ ไม่หลอกลวง ของจริงแท้ที่เรายอมรับได้อย่างสนิทใจ ไม่รู้สึกตะขิดตะขวงใจ ไม่ใช่ทำนองว่าพูดหรือเขียนอย่างหนึ่ง แต่รู้สึกหรือทำอีกอย่างหนึ่ง สมมุติว่าหากถูกตั้งคำถามในการทำงานเพื่อสอบทานคุณภาพชีวิตด้านใน เช่น ทั้งตัวเราและผู้ร่วมงานสุขใจ เป็นปลื้มกับผลงานและความสำเร็จนั้นขนาดไหน รู้สึกร่วมกันอย่างไรต่อชิ้นงาน ต่อความสำเร็จนั้น บางคนอาจจะเกิดอาการอึ้ง งงงวย ขวยเขิน คิดไม่ตกว่าจะตอบอย่างไร และหากได้คำตอบ บางทีคำตอบนั้นอาจจะทำให้เสียกำลังใจ และฉุดรั้งความพยายามครั้งใหม่ที่ร่วมด้วยช่วยกันอยู่ หากไม่ยอมรับว่าเรารวมตัวกันทำงานด้วยความเชื่อพื้นฐาน ทัศนคติหรือประสบการณ์ของแต่ละคนที่ต่างกันตั้งแต่ต้น แต่ละคนอาจจะใช้ความรู้สึก ค่านิยมหรือหลักยึดของตนไปตีความพฤติกรรมคนอื่นโดยไม่รู้ตัว ซึ่งโดยธรรมชาติแล้วเป็นไปไม่ได้ว่าจะได้ตามความคาดหวังของทุกคนทั้งหมด ความไม่พึงพอใจของเราต่อเขา หรือของเขาต่อเราจะพรั่งพรูออกมา และเสี่ยงต่อความเจ็บปวดและเสียใจ หากไม่สามารถเปิดใจรับและจิตใจไม่มั่นคงพอ ในที่สุดความขัดแย้งใหม่อาจจะเกิดขึ้น

แต่ว่าหากจะบอกว่าตั้งคำถามเช่นนั้นได้อย่างไร? เพราะถ้าเชื่อว่าสรรพสิ่งนั้นดำเนินและลุล่วงไปตามธรรมชาติด้วยเหตุ-ปัจจัยที่ซับซ้อน ละเอียดอ่อน ยากจะหยั่งรู้ หรือควบคุมได้ จะสุขหรือทุกข์ ชื่นชมหรือไม่ จะคิดว่าเป็นความสำเร็จของคุณ ของฉันหรือของเรา มันจะแปลกตรงไหน เรามาเรียนรู้และยอมรับความต่างดีกว่า พวกเราแต่ละคนมีบทบาทหน้าที่และยังอยู่ร่วมกัน ทำงานด้วยกัน มาเสริมสร้างกำลังใจกันตลอดเส้นทางเดินไม่ดีกว่าหรือ ถึงแม้จะไม่มีโอกาสคิดดังๆ เราทุกคนมีศักยภาพและสามารถจะตระหนักรู้ถึงความถูกต้อง ความผิดพลาด ความเหมาะสม ความสมบูรณ์ และสามารถรับรู้ถึงอารมณ์ความรู้สึกของเราจริงๆ และเราทุกคนพร้อมอยู่แล้วที่จะทำทุกอย่างให้ดีกว่าเดิม แต่เราต้องไม่ละเลยที่จะใส่ใจ ให้เวลากับตัวเองและผู้อื่นในการซึมซับสิ่งที่กลั่นกรองออกมาจากประสบการณ์ของแต่ละคน และพร้อมจะนำไปสู่การแปลงที่ดีกว่าในทางปฏิบัติ

หากใจเรียกร้องบางสิ่งบางอย่างที่ไม่เหมือนเดิมเพื่อความสุขที่แท้และยั่งยืนตามที่ว่ากันอยู่นั้น และไม่รู้จะเริ่มดำเนินการจริงจังหรือตั้งหลักอย่างไรเพื่อไม่ตกกระแสยุคปฏิรูปสุขภาพใจ ผู้เขียนคิดถึงตัวช่วยหนึ่งเพื่อการประคองใจเรา ไม่ให้หลงไปในความคิดไม่ดีที่มีต่อตนเอง บุคคลใกล้ชิด เพื่อนร่วมงานและเพื่อนร่วมทางชีวิต จะได้ทำให้เราสามารถปฏิบัติงานตามบทบาทหน้าที่ได้อย่างปกติเรียบร้อย นั่นคือการฝึกปฏิบัติเพื่อให้เกิดความชำนิชํานาญ ในการคิดเรื่องชื่นใจหรืออบอุ่นใจในอดีตของบุคคลเหล่านั้นหรือระหว่างเรา เพื่อใจที่สุขสงบ เบิกบาน ไม่ขุ่นมัว และอาจจะทำให้เราพร้อมที่จะขอโทษหรือให้อภัยกับเหตุแห่งความไม่พอใจทั้งหลาย

ตัวอย่างเล็กๆ ตัวอย่างหนึ่งที่จะลองหยิบยกขึ้นมา คือ เรื่องของหลานตัวน้อยในวัยเด็ก ที่เห็นตุ๊กแกเกาะอยู่บนฝาบ้าน แล้วพูดขึ้นว่า “จิ้งจกบ้านเราตัวใหญ่จัง” … ก็เพียงพอแล้ว สำหรับการกระตุ้นเราให้แอบยิ้มกับหลาน จิตใจอ่อนโยน เกิดความรู้สึกเอ็นดูหลานเรา และจะดำรงอยู่ได้หากหวนคิดถึงทุกครั้ง ถึงแม้หลานน้อยจะเติบโตและเปลี่ยนไป โดยที่เราเองรู้สึกอยู่ว่าที่น่าชังนั้นมากกว่าน่ารักนิดหน่อยเสียแล้ว

สักวันหนึ่ง “จิตตปัญญาศึกษา” อาจจะเป็นตัวช่วยหนึ่งที่เพิ่มขึ้นในกระบวนการและปฏิบัติการที่เสริมสร้างทักษะการเรียนรู้และน้อมนำสิ่งที่เกิดจากการกระทำหรือการได้พบเห็นมาพินิจพิจารณา โดยจะเป็นวิธีการหรือกระบวนการเรียนรู้ที่ดีและเหมาะสม ทำให้เกิดความจัดเจนจากประสบการณ์เพื่อรังสรรค์สิ่งที่ดีกว่า

ความกล้าหาญในกระบวนการเรียนรู้

ความกล้าหาญในกระบวนการเรียนรู้

Author : เครือข่ายจิตตปัญญาศึกษา

ในกระบวนการเรียนรู้ชนิดที่สามารถเปลี่ยนแปลงคนได้อย่างลึกซึ้งนั้น ความกล้าหาญถือเป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญที่จะนำไปสู่การเรียนรู้ที่ลุ่มลึก เพราะเท่าที่สังเกตและรับฟังเรื่องเล่าจากประสบการณ์ของการเติบโตภายในที่สำคัญๆ ของหลายคน ล้วนมีกลิ่นอายของความเด็ดเดี่ยวกล้าหาญผสมอยู่ในการเรียนรู้ขณะนั้นๆ ที่กล่าวมานี้ก็มิได้หมายความว่า จะต้องพยายามสลัดทิ้งความกลัวภายในให้หมดก่อนทุกครั้งที่จะเรียนรู้สิ่งใด

สำหรับเราในฐานะผู้เรียน จะมีบางขณะที่กระบวนการเรียนรู้ดำเนินมาถึงบทเรียนสำคัญคือ ภาวะต้องเผชิญหน้ากับตัวตนภายใน เช่น กรณีที่กระบวนกรบางท่านสามารถนำพวกเราเรียนรู้ไปสู่โลกภายใน ทำให้เราเห็นกิเลสวาสนาที่เราติดยึด เห็นการทำงานอย่างสลับซับซ้อนและรวดเร็วของจิตซึ่งเกิดขึ้นบ่อยครั้งจนเป็นร่องลึกของอารมณ์ แต่เราก็แทบไม่รู้สึกตัวและแสดงออกมาเป็นบุคลิกด้านร้ายประจำตัว หลายคนขณะที่บทเรียนเกี่ยวกับตัวตนภายในกำลังดำเนินมาอยู่ตรงหน้านี้จะรู้สึกไม่คุ้นเคยที่ได้เห็นมัน บางคนไม่อยากเชื่อ ไม่อยากเห็นว่าตัวตนภายในที่เป็นจริงของเราเป็นเช่นนี้ (ทั้งๆ ที่เราก็มีเมล็ดพันธุ์ด้านดีอยู่ไม่น้อย) เพราะการรับรู้ตัวตนภายในอย่างซื่อตรงนี้มักทำให้เราเจ็บปวด ไปจนถึงกลัวและเกลียดตัวเองได้ง่ายๆ โดยเฉพาะคนที่ติดดีหรือมีภาพลักษณ์ภายนอกดูดี

ดังนั้นหากเราจะเรียนรู้บทเรียนราคาแพงนี้เพื่อไปสู่การเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญของชีวิตจึงจำเป็นต้องกล้าหาญ กล้าที่จะเสี่ยงต่อความเจ็บปวดอันเนื่องจากตัวตนที่เรายึดมั่นมานานแสนนานกำลังสลายพังทลายลง กล้าที่จะเผชิญความจริงหลากหลายด้านที่มีในตัว เพราะในชีวิตประจำวันเรามักจะเลือกมองและเลือกรับรู้บางด้านที่เราอยากเห็นอยากให้เป็น บางด้านที่ไม่อยากรับรู้ทั้งที่มันมีอยู่เราก็มักกลบเกลื่อนหรือฝังกลบมันลงไปในห้องมืดของจิตใจ นอกจากนี้เราอาจต้องกล้าที่จะยอมลดการปกป้องตัวตนด้วยกลวิธีสารพัดที่เราเคยใช้ ถ้าหากเพื่อนหรือคนคุ้นเคยรอบข้างเริ่มล่วงรู้และเริ่มเปลี่ยนแปลงความรู้สึกนึกคิดและท่าทีเป็นความสัมพันธ์ที่แย่ลง แม้ว่าพวกเขาเหล่านั้นจะมองเราอย่างตัดสินตายตัวก็ตาม

ความกล้าหาญที่พร้อมจะเผชิญหน้ากับตัวตนภายในมักจะเป็นต้นธารของการมองเห็นและยอมรับตัวเองตามที่เราเป็น ความปลื้มปิติสุขอันเนื่องจากการเริ่มเห็นและยอมรับจะค่อยๆ เยียวยาความเจ็บปวดจากสภาวะตัวตนเก่าของเราถูกฉีกขาดลง และความสุขน้อยๆ ที่กำลังก่อตัวนี้มักจะทำให้เกิดประกายแห่งความสร้างสรรค์ความสัมพันธ์ใหม่ระหว่างเรากับคนอื่น สายสัมพันธ์ใหม่น่าจะมีความแน่นเหนียวมากกว่าที่จะเปราะบางเพราะเป็นการคบคุ้นกันด้วยจิตใจที่มีการปรุงแต่งบิดเบือนน้อยลงไปทุกที ความสัมพันธ์ใหม่จึงมีความตรงไปตรงมา แต่แฝงไว้ด้วยความอ่อนโยนและพร้อมที่จะเข้าใจ

ในอีกแง่หนึ่งบางครั้งบางคราวผู้เรียนจำต้องกล้าหาญที่จะยอมละทิ้งหรือวางความคิดความเชื่อบางอย่างที่เรายึดถือศรัทธามานาน กล้าหาญที่จะไม่พยายามปกป้องความเชื่อหรือทิฐิที่เรารักและแหนหวง ถ้าหากกระบวนการเรียนรู้นั้นมาถึงการปะทะสังสรรค์ทางความเชื่อความคิดจนเกิดมุมมองใหม่ที่น่าสนใจหรืออธิบายความจริงได้มากกว่า พูดอย่างรวบรัดก็คือ กล้าที่จะปล่อยวางความติดยึดในความคิดความเชื่อ ไม่ว่าความคิดความเชื่อนั้นจะมาจากครูบาอาจารย์ที่เราเคารพศรัทธามาก จะมาจากกระแสของกลุ่ม ชุมชนหรือสังคมที่เราสังกัดอยู่ หรือแม้แต่จะเป็นความคิดความเชื่อที่เคยถูกพิสูจน์ว่าเป็นจริงจากบริบทของอดีตแล้วก็ตาม ด้วยเหตุนี้เราจึงต้องกล้าหรือพร้อมที่จะเป็นแกะดำของกลุ่มกระแสความเชื่อเดิม หรือเป็นคนชายขอบของกลุ่มหรือสังคมที่เราอยู่ ซึ่งอาจจะทำให้เรารู้สึกโดดเดี่ยวบ้างในบางช่วงของชีวิต ความกล้าหาญในแง่นี้จึงเป็นปัจจัยสำคัญในการสลายอัตตาที่เรียกว่า ทิฏฐุปาทาน หรือความยึดมั่นถือมั่นในความเห็นนั่นเอง

ความกล้าหาญในแง่สุดท้ายที่จะกล่าวถึงนี้ก็คือ กล้าที่จะเผชิญหน้ากับผู้ที่คิดหรือเชื่อต่างไปจากเรา กล้าที่จะเรียนรู้ร่วมกับคนที่มีวิธีการเรียนรู้ต่างจากเรารวมถึงคนที่ไม่ได้อยู่กลุ่มกระแสเดียวกับเรา เพราะคนเหล่านี้ล้วนทำให้เราต้องกลับมาใคร่ครวญภายใน ทำให้เราต้องถูกทดสอบหรือพิสูจน์ทั้งความเห็น ความใจกว้างและการติดยึดตัวตนภายในของเรา เพราะคนที่มีบางอย่างต่างไปจากเรามักจะตั้งคำถามท้าทายหรือถึงกับโจมตีความเห็นความเชื่อ ไปจนถึงโจมตีตัวตนของเรา จะทั้งหวังดีหรือหวังร้ายก็ตาม ซึ่งด้านหนึ่งทำให้เราไม่หลงใหลติดยึดความเห็นความเชื่อไปได้โดยง่าย แต่กลับจะเพิ่มสำนึกในการทบทวนค้นคว้าเพื่อตรวจสอบชุดความเชื่อความเห็นของเราอยู่เสมอ แต่หากเราเรียนรู้เฉพาะกับคนที่คิดคล้ายๆ กับเราอยู่เสมอๆ หรือพอใจเลือกเรียนรู้กับกลุ่มคนที่เป็นพวกเดียวกับเรา ก็มักจะทำให้เราหลงติดยึดความเห็นความเชื่อจนขาดการใคร่ครวญได้ง่าย ความกล้าหาญในแง่นี้จึงมาในรูปของการเชื้อเชิญ เปิดพื้นที่ มองคนที่ต่างจากเราเป็นผู้ชี้ขุมทรัพย์ทางสติปัญญา เพื่อพร้อมที่จะเรียนรู้อย่างสร้างสรรค์ท่ามกลางความแตกต่างหลากหลายได้

ความกล้าหาญในกระบวนการเรียนรู้ยังมีอีกหลายแง่มุมที่ไม่ได้กล่าวในที่นี้ อย่างไรก็ตามความกล้าก็ไม่ได้เกิดขึ้นได้โดยง่าย ดังนั้นมันจึงควรเป็นบทฝึกประจำตัวของผู้ใฝ่เรียนรู้เพื่อเปลี่ยนแปลงภายในอย่างลึกซึ้ง ที่จะหมั่นมองเข้าไปข้างในจนสัมผัสรับรู้สภาวะของจิตที่กำลังเกิดขึ้นแต่ละขณะ มองเห็นการปรุงแต่งของจิตซึ่งเปลี่ยนรูปแปลงร่างไปแต่ละขณะว่าเป็นอย่างไร การสัมผัสรับรู้ถึงความกล้าและความกลัวภายในบ่อยๆ ก็จะทำให้เราคุ้นเคยกับธรรมชาติของมัน ในด้านหนึ่งหากเราหมั่นสัมผัสรับรู้ถึงเมล็ดพันธุ์แห่งความขลาดกลัว ก็จะเริ่มรู้ว่าอะไรที่เป็นเหตุแห่งความขลาดกลัว เราจะค่อยๆ รู้ชัดเจนว่าเหตุปัจจัยนั้นจะสลายและอ่อนกำลังลงได้อย่างไร ในทางตรงข้ามหากเราหมั่นสัมผัสรับรู้ถึงเมล็ดพันธุ์แห่งความกล้าหาญก็จะเริ่มรู้ว่าอะไรที่เป็นเหตุปัจจัยแห่งความกล้าและจะบ่มเพาะให้เกิดความเติบโตงอกงามได้อย่างไร

การสร้างบรรยากาศการเรียนรู้ที่คอยเกื้อกูลให้กำลังใจซึ่งกันละกันหรือรับฟังกันอย่างลึกซึ้งก็เป็นปัจจัยหนุนเสริมความกล้าหาญของเหล่าผู้เรียนได้ดีอีกทางหนึ่ง รวมถึงจัดกระบวนการที่เปิดพื้นที่ด้วยความใจกว้าง เป็นพื้นที่การเรียนรู้ที่แม้จะเสี่ยงแต่ก็ไม่อันตรายจนเกินไปย่อมช่วยให้ผู้เรียนเกิดความกล้าหาญได้ทีละเล็กทีละน้อย สองสามปัจจัยที่กล่าวมานี้คงพอจะทำให้รู้สึกมีความหวังในการบ่มเพาะความกล้าหาญได้ไม่มากก็น้อย โอกาสต่อไปจะได้กล่าวถึงความกล้าหาญของตัวกระบวนกรเอง

กระบวนการปฏิเสธตัวตน 1-2-3 และกระบวนการยอมรับตัวตน 3-2-1

กระบวนการปฏิเสธตัวตน 1-2-3 และกระบวนการยอมรับตัวตน 3-2-1

Author : เครือข่ายจิตตปัญญาศึกษา

เนื่องจากโลกนี้มีอย่างน้อยสามทัศน์หรือสามมุมมอง อันได้แก่ ทัศน์ของฉัน ทัศน์ของคนอื่น และทัศน์ของกระบวนการ หรือมุมมองบุคคลที่หนึ่ง มุมมองบุคคลที่สอง และมุมมองบุคคลที่สาม ตามลำดับ จิตใจของเราก็มีพื้นที่ให้โลดแล่นไปได้อย่างน้อยในสามมุมมองนี้ แต่ถึงคราวร้าย จิตใจของเรากลับเจ้าเล่ห์แสนกลใช้พื้นที่เหล่านี้อย่างไม่เข้าใจ

ด้วยการปฏิเสธบางส่วนของตัวเอง ตัวตนเริ่มเกิดรอยแยกเป็นสอง และตัวตนที่ถูกแยกและปฏิเสธออกไป ก็เริ่มถูกผลักออกจากพื้นที่ของมุมมองบุคคลที่หนึ่ง ไปสู่พื้นที่มุมมองบุคคลที่สอง อันเป็นพื้นที่แห่งการต่อรองระหว่างตัวตนฉันและตัวตนที่ไม่ใช่ฉัน คล้ายกับว่ามีสองคนในร่างเดียว ที่ต่างคนต่างถกเถียงกันไปมา และต่อรองว่าใครถูกใครผิด แต่กระนั้นการต่อรองในพื้นที่มุมมองบุคคลที่สองยังคงใกล้เกินไป และมีโอกาสสร้างความเจ็บปวดได้ง่าย ทำให้กระบวนการปฏิเสธตัวตนรุนแรงออกไปจนกลายเป็นการผลักออกไปสู่พื้นที่บุคคลที่สาม อันเป็นพื้นที่ที่เจ็บปวดน้อยกว่า ตัวตนที่ถูกปฏิเสธไม่ใช่ทั้งฉัน ไม่ใช่ทั้งคนอื่น แต่เป็น “มัน” ที่ฉันไม่รู้จัก และไม่อยากจะรับรู้ว่ามี “มัน” อยู่ พร้อมกันนั้นก็สร้างกำแพงขึ้นมาอีกชั้นหนึ่งเพื่อปกป้องตัวตนที่เจ็บปวดอยู่ภายใน ปิดประตู และใส่กลอนไว้อย่างหนาแน่นจนยากที่จะเข้าไปได้

กระบวนการข้างต้นนี้เรียกว่า กระบวนการปฏิเสธตัวตน 1-2-3 หรือกระบวนการแยกตัวตนออกจากพื้นที่มุมมองบุคคลที่หนึ่ง ไปสู่พื้นที่มุมมองบุคคลที่สอง และไปสู่พื้นที่มุมมองบุคคลที่สาม การปฏิเสธก่อให้เกิดการสูญเสียพลังทางจิตใจอย่างมาก เนื่องจากต้องคอยปกป้องและปกปิดการรับรู้การมีอยู่ของตัวตนที่รู้สึกว่าน่ารังเกียจ การปกป้องตัวเองในทางจิตวิเคราะห์เรียกว่า “กลไกการป้องกันตนเอง” (defense mechanism) และการปกปิดการรับรู้ว่ามี “มัน” อยู่ อาศัยการเอาตัวตนที่ถูกปฏิเสธไปเก็บไว้ในจิตไร้สำนึก

แท้จริงแล้ว ตัวตนที่ถูกปฏิเสธไม่ได้หายไป แต่หลบซ่อนอยู่ในจิตไร้สำนึก บางครั้งเหมือนจะเห็น แต่ก็ไม่เห็น ด้วยจิตสำนึก มีแต่เงาที่คอยตามหลอกหลอนเราอยู่ร่ำไป คาร์ล ยุงเรียกปรากฏการณ์นี้ว่า “เงา” (shadow) ซึ่งคอยติดตามเราไปทุกหนทุกแห่ง ตัวตนที่ไม่ใช่ฉันกลายเป็นเงาคอยทำงานซ่อนตัวอยู่ข้างหลังเรา คอยทำหน้าที่บงการ และนำพาชีวิตของเราไปตามอำนาจที่ซุกซ่อนและปกปิดอยู่ในจิตไร้สำนึก จนกระทั่งดูเหมือนว่าเราเป็นผู้เลือกได้เอง แต่ตรงกันข้าม เราต่างหากที่ถูกเลือก อันเป็นผลกรรมมาจากการแยกตัวตนออกเป็นสองตั้งแต่ต้น เงาแสดงตัวออกมาทั้งในด้านลบและบวก ในด้านลบ เงาอาจแสดงตัวโดยการโยนความผิดไปที่คนอื่น เช่น “ฉันไม่ได้โกธร เธอนั่นแหละโกรธ” แต่แท้จริงแล้วฉันกำลังปฏิเสธว่าฉันเองนั่นแหละที่เป็นคนโกรธ หรือในด้านบวก เงาอาจแสดงตัวโดยการชื่นชมคนอื่นในรูปแบบของศรัทธาหรือหลงใหลอย่างหน้ามืดตามัว ซึ่งแท้จริงแล้วฉันกำลังสร้าง “ฉันในอุดมคติ” ที่อยากจะเป็น แล้วปฏิเสธการชื่นชมและศรัทธาตัวเอง ซึ่งในที่นี้ไม่ได้หมายความว่าคนอื่นไม่ได้โกรธ หรือไม่น่าชื่นชม แต่เป็นสองส่วนที่จำเป็นต้องแยกออกจากกัน กล่าวคือส่วนหนึ่งที่เป็นส่วนของคนอื่น เป็นสิ่งที่เราสามารถรับทราบข้อมูลความเป็นไปของเขา แต่อีกส่วนหนึ่งเป็นส่วนที่เราอาจตอบสนองมากเกินกว่าปกติ ซึ่งการตอบสนองเกินปกติในส่วนที่สองนี้เอง คือการแสดงตัวของเงา

กระบวนการผสานรอยแยกระหว่างตัวตน คือกระบวนการนำพาตัวตนที่ถูกปฏิเสธจากพื้นที่มุมมองที่ห่างไกล กลับมาสู่บ้านที่แท้ในพื้นที่มุมมองบุคคลที่หนึ่ง กระบวนการนี้คือ กระบวนการยอมรับตัวตน 3-2-1

กระบวนการในขั้น 3 คือ การหาเงาให้เจอเพื่อหันกลับมาเผชิญกับ “มัน” หรือตัวตนที่ไม่ใช่ฉัน การหาเงาให้เจอเป็นเรื่องไม่ง่าย เนื่องจากมันได้ถูกกักเก็บเอาไว้แล้วในจิตไร้สำนึก สิ่งที่เราอาจพอสังเกตได้คือ กลไกการป้องกันตนเอง อนึ่งกลไกป้องกันตนเองเป็นธรรมชาติของจิตที่จำเป็นจะต้องมีเพื่อใช้คัดกรองสิ่งที่ควรรับและควรปฏิเสธ เพื่อให้มนุษย์สามารถดำเนินชีวิตไปได้อย่างราบรื่น แต่การใช้กลไกป้องกันตนเองมากเกินกว่าการคัดกรอง เช่น การโยนความผิดไปทำร้ายคนอื่น การเก็บกดเข้ามาทำร้ายตัวเอง หรือการใช้เหตุผลเพื่อหนีเอาตัวรอด ต่างมีรากมาจากเงาทั้งสิ้น การสังเกตกลไกการป้องกันตนเอง เป็นหนทางหนึ่งในอีกหลากหลายหนทางที่จะนำไปสู่การหาเงาให้เจอ และสามารถเผชิญหน้ากับตัวตนที่ไม่ใช่ฉันได้ในที่สุด

กระบวนการในขั้น 2 คือ การพูดคุยระหว่างตัวตนฉันกับ “มัน” โดยอาจเริ่มต้นใช้คำถามว่า “เธอคือใคร” “เธอต้องการอะไรจากฉัน” “เธอเอาอะไรมาให้ฉัน” เป็นต้น กระบวนการพูดคุยอาจเกิดขึ้นภายในตัวเราเอง หรืออาจเกิดขึ้นระหว่างการรับคำปรึกษากับผู้ให้คำปรึกษาก็เป็นได้

กระบวนการในขั้น 1 คือ การกลับไปเป็น “มัน” คือการเข้าไปสู่โลกของตัวตนที่ไม่ใช่ฉัน โลกที่เจ็บปวด โลกที่ตัวฉันช่างอ่อนแอ ช่างน่ารังเกียจ การยอมรับความอ่อนแอและความน่ารังเกียจเท่านั้นที่ช่วยให้ “ฉัน” เป็นหนึ่งเดียวกับ “มัน” เช่น “ฉันเองที่เป็นคนโกรธ” “ฉันเองที่รู้สึกว่าไม่ดีพอ” เป็นต้น

เมื่อ ” ฉัน ” หรือตัวตนฉัน เป็นหนึ่งเดียวกับ ” มัน ” หรือตัวตนที่ไม่ใช่ฉัน การผสานรอยแยกระหว่างตัวตนก็เกิดขึ้น เป็นการบำบัดรักษาจิตใจ และสิ้นสุดกระบวนการยอมรับตัวตน 3-2-1 ในที่สุด และการยอมรับตัวตนถึงที่สุดนี้เท่านั้น ที่จะเป็นฐานให้แก่กระบวนการข้ามพ้นความทุกข์ในระดับปัญญาต่อไป

หมายเหตุ: บทความนี้ได้รับอิทธิพลทางความคิดจากเคน วิลเบอร์ ในหนังสือชื่อ Integral Spirituality บทที่ 6 ว่าด้วยเรื่อง “เงาและตัวตนที่ถูกปฏิเสธ” (The Shadow and the Disowned Self)