เจาะปัญหา “ความเหลื่อมล้ำ”

เจาะปัญหา “ความเหลื่อมล้ำ”

Author : ณภัทร จาตุศรีพิทักษ์

นับตั้งแต่ Thomas Piketty นักเศรษฐศาสตร์อัจฉริยะชาวฝรั่งเศสได้เขียนหนังสือเรื่อง Capital in the Twenty-First Century ขึ้นมาเมื่อสองปีก่อน คนทั่วโลกก็ได้ตาสว่างเห็นภาพที่แท้จริงของสังคมตนเองและเกิดความกังวลมากมายว่าสังคมกำลังกลับไปสู่ยุคทุนนิยมจากมรดก (patrimonial capitalism) ที่คนรวยรวยเพราะทรัพย์สินของบิดามารดา ไม่ได้รวยเพราะความสามารถ กังวลว่ามีอะไรผิดปกติที่ผู้บริหารระดับสูงมีรายได้มากกว่าลูกจ้างทั่วไปเกินกว่า 300 เท่า กังวลว่าระดับความเหลื่อมล้ำที่สูงขึ้นนับวันนับคืนจะนำมาซึ่งความหายนะต่อระบบเศรษฐกิจและระบอบประชาธิปไตย ไปจนถึงความกังวลว่านโยบายอะไรก็ตามที่พยายามจะกระจายรายได้จากผู้ที่ร่ำรวยไปสู่ผู้ที่ยากจนจะเป็นการทำลายแรงจูงใจในการทำงานและพัฒนาตนเองของประชากร

ในช่วงหนึ่งปีที่ผ่านมานี้ ผู้เขียนได้มีโอกาสทบทวนความคิดเกี่ยวกับปัญหา “ความเหลื่อมล้ำ” จากการถกเถียงและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับคนรู้จักหลากหลายเชื้อชาติ หลากหลายระดับฐานะ หลากหลายอาชีพ ผู้เขียนคิดว่าความเหลื่อมล้ำนั้นเป็นประเด็นที่ซับซ้อน ลึกซึ้ง และซึมแทรกลงไปในสังคมเกินกว่าที่จะสามารถแก้ไขได้ด้วยเครื่องมือทางเศรษฐกิจเพียงไม่กี่ชิ้น เราจะโทษระบบทุนนิยมก็ไม่ถูกเพราะว่ามันไม่ใช่ผู้ร้ายตัวจริงเสียทีเดียว ทุนเป็นเพียง “พาหนะ” ของความเหลื่อมล้ำในระบบเศรษฐกิจสมัยใหม่เท่านั้น และที่สำคัญที่สุด ถึงแม้ประเด็นความเหลื่อมล้ำนี้จะซับซ้อนแต่มันก็เป็นประเด็นสำคัญที่พวกเราจะลืมมันไปไม่ได้

บทความนี้จะนำเสนอแนวคิดและสถิติเกี่ยวกับปัญหาความเหลื่อมล้ำที่น่าสนใจทั้งจากผลงานของนักเศรษฐศาสตร์สมัยปัจจุบันอย่าง Joseph Stiglitz หรือ Thomas Piketty ไปจนถึงแนวคิดเชิงปรัชญาจากนักเศรษฐศาสตร์รุ่นบุกเบิก อย่าง Vilfred Pareto เพื่อเป็นการจุดประกายการถกเถียงเกี่ยวกับปัญหาความเหลื่อมล้ำในสังคม โดยจะเจาะปัญหานี้จาก 4 มุมมองคำถามต่อไปนี้

1. อะไรคือ “ความเหลื่อมล้ำ”
2. เหลื่อมล้ำแล้วยังไง
3. อะไรคือต้นตอของความเหลื่อมล้ำ
4. อะไรคือจุดหมายของการแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำ

1. อะไรคือ “ความเหลื่อมล้ำ”

ที่มาภาพ : https://en.wikipedia.org/wiki/Gini_coefficient#/media/File:Gini_since_WWII.svg

ที่มาภาพ : https://en.wikipedia.org/wiki/Gini_coefficient#/media/File:Gini_since_WWII.svg

อุปสรรคด่านแรกของการแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำคือการที่เรายังไม่สามารถ “วัด” ความเหลื่อมล้ำได้อย่างแม่นยำและยังตกลงกันไม่ได้ว่ามาตราวัดไหนดีที่สุด

หนังสือเรื่อง Capital in the Twenty-First Century ของ Piketty นั้นกล่าวเตือนถึงความน่าหวาดกลัวของระดับความเหลื่อมล้ำทางรายได้และทรัพย์สินที่กำลังพุ่งสูงขึ้นอย่างรวดเร็วในหลายๆ สังคม แต่หากใครที่ไม่ได้อ่านหนังสือเล่มนี้แล้วไปลองค้นดูสถิติ Gini Coefficientด้านบน (ซึ่งเป็นสถิติวัดความเหลื่อมล้ำที่นิยมใช้กันมาก) จะเห็นได้ว่าหลังจากสงครามโลกครั้งที่สองนั้นระดับความเหลื่อมล้ำที่วัดด้วย Gini ในปัจจุบันไม่ได้น่าตกใจอย่างที่เขาฮือฮากัน แม้ว่าระดับความเหลื่อมล้ำจะเพิ่มมากขึ้นในบางประเทศ (ตัวเลข Gini สูงขึ้น) แต่ก็ไม่ได้มากขึ้นถึงขั้นน่าตกใจและยังมีอีกหลายประเทศที่ระดับความเหลื่อมล้ำน้อยลงเสียอีก จะมีที่น่าสะดุดตาเป็นพิเศษก็คือในกรณีของประเทศจีนที่เริ่มต้นไว้ที่ราวๆ 30 ในช่วงปี ค.ศ. 1980 แต่ไต่ไปถึงระดับเดียวกันกับสหรัฐฯ ได้ภายในไม่กี่สิบปีหลังเปิดประเทศ แต่ในมุมมองผู้เขียนเองเมื่อลองเทียบความเหลื่อมล้ำที่เพิ่มขึ้นในประเทศจีนกับการที่คนจีนหลายร้อยล้านชีวิตสามารถหลุดพ้นจากบ่วงความยากจนได้ใน 30 ปีที่ผ่านมา ภาพมันก็ไม่ได้แย่มากนัก

สิ่งที่ Piketty กล่าวถึงและเตือนให้เราระวังในหนังสือ Capital นั้นไม่ใช่สิ่งที่เราเห็นได้ง่ายๆ จาก Gini แต่เป็นปรากฏการณ์ที่กลุ่มคนที่ร่ำรวยที่สุด (ต่อไปนี้ขอเรียกว่า ทอป 10% ทอป 1% หรือ ทอป 0.1%) จากหลายสังคมทั่วโลกกำลังร่ำรวยขึ้นอย่างมหาศาลและกำลัง “แยกวง” ออกไปรวยขึ้นเรื่อยๆ ฉีกตัวออกห่างจากประชาชนที่เหลืออย่างรวดเร็ว

นี่ต่างหากคือความเหลื่อมล้ำที่ทุกคนกำลังพูดถึงในขณะนี้

ที่มาภาพ : http://gabriel-zucman.eu/files/SaezZucman2014.pdf

ที่มาภาพ : http://gabriel-zucman.eu/files/SaezZucman2014.pdf

กราฟด้านบนจากงานวิจัยของ Emmanuel Saez และ Gabriel Zucman ที่ใช้ข้อมูลชุดเดียวกับที่ Piketty ใช้ในหนังสือเรื่อง Capital นั้นแสดงให้เห็นถึงความมั่งคั่งอันน่าตกใจของคนกลุ่มเล็กๆ กลุ่มนี้ในสหรัฐฯ จากการใช้ข้อมูลภาษีเงินได้และข้อมูลสวัสดิการสังคมรายครัวเรือนในสหรัฐฯ ทีมวิจัยนี้พบว่าในปี ค.ศ. 2012 กลุ่มคนที่อยู่ในทอป 10% มีรายได้ก่อนหักภาษีรวมกันมากกว่าครึ่งหนึ่งของรายได้ก่อนหักภาษีของประชาชนทั่วประเทศ ซึ่งถือว่าเป็นการถือครองส่วนแบ่งรายได้ของประเทศมากที่สุดเป็นประวัติศาสตร์โดยคนกลุ่มนี้ตั้งแต่เคยมีการเก็บข้อมูลมา

ที่มาภาพ : http://gabriel-zucman.eu/files/SaezZucman2014.pdf

ที่มาภาพ : http://gabriel-zucman.eu/files/SaezZucman2014.pdf

ที่น่าตกใจขึ้นไปอีกคือหากเราไต่ระดับจากทอป 10% เลยหมอกเมฆขึ้นไปแตะถึงระดับทอป 0.1% (ราวๆ 160,000 ครอบครัว) จะเห็นได้ว่าจากกราฟด้านบนกลุ่มคนที่อยู่ในทอป 0.1% มีรายได้ที่มาจากทุน เช่น เงินปันผลจากหุ้น ค่าเช่า ดอกเบี้ย รวมกันแล้วมากเกือบเท่าครึ่งหนึ่งของรายได้จากทุนของคนทั้งสหรัฐฯ รวมกัน

เทรนด์รูปตัว U นี้ไม่ได้ปรากฏแต่แค่ในสหรัฐฯ แต่ยังเป็นที่พบเห็นกันในกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาด้วย ทั้งๆ ที่ข้อมูลแบบสอบถามในประเทศเหล่านี้ชี้ไปคนละภาพเลยว่าความเหลื่อมล้ำกำลังลดลง

เพราะฉะนั้น การเลือกมาตราวัดความเหลื่อมล้ำนั้นมีความสำคัญมาก บางมาตราวัดอย่าง Gini นั้น แม้จะเป็นที่นิยมใช้งานกันทั่วโลก แต่มันกลับปิดบังความรุนแรงของปรากฏการณ์ “รวยกระจุกแล้วแยกวง” แบบที่ Piketty กับทีมนักวิจัยพบ อีกทั้งตัวเลข Gini นั้นหลายครั้งมีที่มาจากแบบสอบถามซึ่งเป็นไปได้ยากที่จะมีคนกลุ่มทอป 0.1% หรือ ทอป .00025% (พวก Forbes 400) อยู่ในนั้น เนื่องจากโอกาสที่จะสุ่มไปพบคนกลุ่มเล็กๆ กลุ่มนี้เป็นไปได้ยากและแม้จะสุ่มเจอคนกลุ่มนี้มักไม่เสียเวลามาตอบแบบสอบถาม หากการสุ่มแบบสอบถามในระดับท้องที่เกิดพลาดพวกเขาไปสักสามสี่คนแค่นี้ตัวเลขที่ออกมาก็จะบิดเบี้ยวจากความจริงไปมาก

จุดที่สำคัญกว่าเห็นจะเป็นการผลักดันให้เก็บและเปิดข้อมูลทรัพย์สินรายครัวเรือนให้กับนักวิจัยเพื่อช่วยให้เราเข้าใจปัญหานี้ได้อย่างลึกซึ้งขึ้น ถือเป็นเรื่องน่ายินดีที่ขณะนี้ทีมวิจัยที่นำโดย Piketty นั้นได้ร่วมแรงร่วมใจกันสร้างฐานข้อมูลรายได้ (World Top Incomes Database) ที่เปิดให้ทุกคนใช้งานได้ฟรีและกำลังรณรงค์ให้มีการเปิดข้อมูลระดับชาติเพื่อให้กรอบของการวิจัยเรื่องความเหลื่อมล้ำนั้นครอบคลุมหลายประเทศมากขึ้น

หนังสือ Capital นั้นเป็นบทเรียนให้กับเราว่าหากเราไม่มีข้อมูลรายได้และทรัพย์สินที่มีคุณภาพตั้งแต่แรก Piketty จะไม่สามารถเขียนหนังสือเล่มนี้ได้ เราก็จะไม่มีวันเข้าถึงเนื้อในของปัญหาที่มีความท้าทายอย่างปัญหาความเหลื่อมล้ำ ยิ่งไปกว่านั้น เราเองอาจจะไม่รู้สึกตัวเลยก็ได้ว่าทั้งหมดที่ Piketty กล่าวถึงในหนังสือเล่มนี้มันกำลังเกิดขึ้นจริงๆ

…เพราะเทรนด์รูปตัว U นี้มันเกิดขึ้นมา 20 กว่าปีแล้ว เราเพิ่งจะมาถกเถียงกันก็ไม่กี่ปีมานี้

2. เหลื่อมล้ำแล้วยังไง

ที่มาภาพ : https://pixabay.com/en/fist-rebellion-rebel-arm-arms-424500/

ที่มาภาพ : https://pixabay.com/en/fist-rebellion-rebel-arm-arms-424500/

ขณะนี้หลายฝ่ายกำลังให้ความสนใจกับภัยจากระดับความเหลื่อมล้ำสูงใน 2 ด้านหลักๆ นั่นก็คือ

1) ภัยต่อเศรษฐกิจ
2) ภัยต่อสังคม

มุมมองของผู้เขียนเองคือผู้เขียนคิดว่าการเจริญเติบโตของเศรษฐกิจเป็นเรื่องสำคัญ แต่ในขณะเดียวกันเราไม่ควรคิดจะแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำเพียงแค่เพราะว่ามันจะทำให้เศรษฐกิจโตเร็วขึ้นหรือต่อเนื่องขึ้น

หนึ่ง คือ ผู้เขียนไม่คิดว่าเศรษฐกิจที่โตวันโตคืนคือจุดหมายที่แท้จริงของการแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำ

สอง คือ หากวันดีคืนดีเราเกิดไปเจอวิธีเพิ่มอัตราเติบโตของเศรษฐกิจที่ทำได้ง่ายกว่าการแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำ คำถามที่น่าคิดคือ จะยังมีใครยอมเหน็ดเหนื่อยเพื่อแก้ปัญหานี้อีกหรือไม่

สาม คือ ผู้เขียนเป็นห่วงว่าเรายังไม่เข้าใจความเหลื่อมล้ำดีพอที่จะตอบคำถามว่า แล้วเมื่อเศรษฐกิจเติบโตขึ้นแล้วจะเกิดอะไรขึ้นกับความเหลื่อมล้ำในอนาคต งานวิจัยทางเศรษฐศาสตร์ด้านความเหลื่อมล้ำที่ใช้ข้อมูลคุณภาพอย่างที่ทีมวิจัยของ Piketty ใช้นั้นยังมีไม่มาก แม้ว่าพักหลังนี้เริ่มมีงานวิจัยที่นำเสนอหลักฐานจากการหาความสัมพันธ์ทางสถิติระหว่างมาตรการเพื่อลดความเหลื่อมล้ำกับความต่อเนื่องในอัตราเติบโตของเศรษฐกิจ เราคงยังต้องรอดูกันต่อไปเพราะว่าการหาความสัมพันธ์กับการเป็นเหตุเป็นผลกันมันไม่ใช่อย่างเดียวกัน

อย่างไรก็ตาม ผู้เขียนก็เข้าใจว่า ทำไมหลายองกรค์ที่ต้องการลดระดับความเหลื่อมล้ำถึงมักตีกรอบ (frame) ปัญหาความเหลื่อมล้ำให้เป็นปัญหาเศรษฐกิจ

การ frame ปัญหาความเหลื่อมล้ำในมุมมองของการเติบโตของเศรษฐกิจทำให้หลายคนเลิกกังวลว่าการที่ภาครัฐดำเนินนโยบายเพื่อลดความเหลื่อมล้ำที่เข้มข้นขึ้นนั้น ถึงแม้อาจเป็นการลดแรงจูงใจในการทำงานแต่บวกลบออกมาแล้วมีผลเป็นบวกต่ออัตราการเติบโตของเศรษฐกิจ และมันคงจะเป็นวิธี frame ที่เป็นไปในทางปฏิบัติ (pragmatic) ที่สุดแล้วในการมัดใจผู้คน (และผู้มีอิทธิพล) ให้หันมาเหลียวแลปัญหานี้ได้

ตัวอย่างการ frame แบบนี้คือสิ่งที่ OECD พยามจะผลักดัน รายงานจาก OECD ชิ้นนี้ชี้ว่า เราควรลดความเหลื่อมล้ำเพราะว่าความเหลื่อมล้ำทำให้เศรษฐกิจโตด้วยอัตราที่ต่ำลง (ถึงแม้ว่านักวิจัยจะยังไม่สามารถตกลงกันด้วยหลักฐานได้ว่าเป็นเพราะเหตุใด…) โดยผ่านแนวทางที่นักเศรษฐศาสตร์ตั้งสมมติฐานไว้เช่น 1) ความเหลื่อมล้ำที่มากขึ้นทำให้ประชาชนเรียกร้องให้ขึ้นภาษีธุรกิจ ขอให้ทำการกำกับดูแลที่รัดกุมขึ้น หรือประท้วงไม่เอานโยบายที่เป็นการช่วยเหลือกลุ่มธุรกิจ 2) ความเหลื่อมล้ำที่มากขึ้นในสังคมที่มี financial market imperfections อยู่แต่เดิมแล้วจะทำให้คนที่ฐานะไม่ดีไม่สามารถลงทุนในสิ่งที่ควรลงทุนเพื่อก่อให้เกิดผลตอบแทนอันมหาศาลต่อทั้งผู้ลงทุนและผลผลิตของชาติ (เช่น การลงทุนในการศึกษาที่มีคุณภาพ)

แต่ที่ผู้เขียนคิดว่าน่าวิตกยิ่งกว่าภัยต่อเศรษฐกิจคือ ภัยต่อการอยู่ร่วมกันในสังคมอย่างสงบสุข

ที่จริงแล้วการที่ใครบางคนร่ำรวยกว่าคนส่วนมากมันก็ไม่ได้เป็นปัญหาในตัวมันเองมากนักตราบใดที่คนส่วนมากยังมีรายได้พอกินพอใช้ แต่สิ่งนี้จะเป็นปัญหาได้ก็เพราะว่ามันมีความเป็นไปได้สูงที่คนกลุ่มอภิมหารวยกลุ่มนี้จะสามารถยึดครองสิ่งอื่นๆ ในสังคมนอกจากแค่เม็ดเงินได้ด้วย

มุมมองนี้เป็นมุมมองที่ Joseph E. Stiglitz เขียนเอาไว้ได้ดีมากในหนังสือ 2 เล่มของเขาเรื่อง “The Price of Inequality: How Today’s Divided Society Endangers Our Future” และเรื่อง “The Great Divide: Unequal Societies and What We Can Do About Them” Stiglitz มองว่า การที่ความมั่งคั่งเกินครึ่งไปกระจุกอยู่บนยอดปลายแหลมของพีระมิดสังคมจะมีผลทำให้ระบอบประชาธิปไตยขัดข้องและถดถอยจากระบอบ one person one vote ไปเป็นระบอบ one dollar one vote ที่กลุ่มธุรกิจหรือกลุ่มที่มั่งคั่งกว่าสามารถล็อบบี้หรือแม้กระทั่งกดดันรัฐบาลเพื่อให้ออกกฎหมายที่สามารถโยกย้ายทรัพยากรเพื่อผลประโยชน์ของตัวเองแทนที่ว่าการกระทำของรัฐบาลจะสะท้อนความต้องการของประชากรหมู่มาก และสุดท้ายความเหลื่อมล้ำนี้จะทำให้ความแค้นสั่งสมในหมู่ประชาชนจนกลายเป็นชนวนก่อให้เกิดวิกฤติความขัดแย้งทางการเมืองได้ในที่สุด

ในสังคมอเมริกันทุกวันนี้ Stiglitz ยกตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือแม้ว่าประชาชนจะเห็นว่าระบบการเก็บภาษีเงินได้นั้นไม่แฟร์ แต่ไปๆ มาๆ บุคคลที่ร่ำรวยที่สุด 400 คนกลับจ่ายภาษีเงินได้ น้อยกว่า 20%ของรายได้ทั้งๆ ที่จริงๆ แล้วควรจะจ่ายเป็นเปอร์เซ็นต์ที่สูงกว่านั้นตามระบบภาษีแบบ progressive ที่สหรัฐฯ เป็นประเทศแรกๆ ที่ริเริ่มมัน อีกทั้งบริษัทยักษ์ใหญ่มากมาย เช่น บริษัท General Electric นั้นลงทุนไปกับการหาช่วงโหว่ของกฎหมายภาษีถึงขั้นที่ว่าในสิบปีระหว่างปี ค.ศ. 2002 ถึง ค.ศ. 2011 General Electric จ่ายภาษีไปแค่เฉลี่ยแล้วปีละ 1.8% ผู้เขียนไม่แน่ใจจริงๆ ว่าควรจะชมว่าเก่งหรือโกงดี เพราะว่าเขาไม่ได้ทำผิดกฎหมาย (คงทั้งคู่)

ในสายตาของ Stiglitz (ซึ่งผู้เขียนเองก็เห็นด้วย) สังคมในอุดมคติที่ชาวอเมริกันเคยภาคภูมิใจนั้นกลับกลายเป็นสังคมที่คนรวยมีโอกาสได้เข้าถึงการศึกษาคุณภาพที่ดีกว่าคนจน เป็นสังคมที่คนจนมีอุปสรรคเมื่อต้องการเข้ารักษาสุขภาพ (อ่านเพิ่มเติมเรื่องประกันสุขภาพทั่วโลกได้ในบทความนี้) เป็นสังคมที่ถึงแม้คนรวยจะฉีกตัวห่างจากคนจนไปจนไม่เห็นฝุ่นแต่ค่าแรงขั้นต่ำขณะนี้ดันน้อยกว่าสมัยเมื่อ 50 ปีที่แล้วเสียอีกทั้งๆ ที่เศรษฐกิจปัจจุบันก็โตช้ากว่าและคนก็ไม่ได้ว่างงานน้อยกว่าด้วย เท่านี้ยังไม่พอคนส่วนมากยังจ่ายภาษี (effective tax rate) เป็นเปอร์เซ็นต์มากกว่าคนที่ฐานะดีอีกด้วย

ทั้งหมดนี้บ่งบอกว่าอุดมการณ์ของชาติอเมริกันกำลังเพี้ยนไปอย่างรุนแรง จริงอยู่ที่สหรัฐฯ เป็นชาติที่ให้ความสำคัญกับการแข่งขัน แต่ทุกวันนี้ American Dream กลับกลายเป็นฝันร้ายแห่งความเหลื่อมล้ำที่ผิดเพี้ยนไปเป็นว่าชาวอเมริกันไม่มีทางเลือก ไม่มีความเป็นธรรมในโอกาสทางสังคม แต่ยังจำเป็นต้องชิงดีชิงเด่นไต่บันไดฝันอย่างเอาเป็นเอาตายเพื่อขึ้นไปตัดพายชิ้นใหญ่ให้กับตัวเอง กลายเป็นสังคมที่เอาตัวรอดแบบสุดขั้วเพราะว่าหากปล่อยให้คนอื่นไต่บันไดฝันแซงเราไปหรือเราพลั้งพลาดหล่นลงมาหน่อยก็จะอดตายหรือป่วยตายได้

สิ่งที่หนังสือ Capital กำลังเตือนเราก็คือ หลายสังคมบนโลกโดยเฉพาะอย่างยิ่งสังคมอเมริกัน หรือสังคมที่พยายามทำตัวให้คล้ายสังคมอเมริกัน คล้ายกับว่าระดับความเหลื่อมล้ำที่สูงนั้นทำให้ยิ่งคนเราอยู่ใกล้เชิงบันได American Dream เท่าไร แต่ละขั้นบันไดมันยิ่งห่างกันมากขึ้น นั่นก็คือ หากเราเกิดร่วงลงไป หรือโชคไม่ดีเกิดมาแถวๆ เชิงบันไดขึ้นมา มันจะทำให้เราปีนกลับขึ้นมาได้ยากมาก ส่วนเด็กๆ ที่โชคดีนั้นเกิดมาอยู่บนปลายบันไดเลย ต่อให้ไม่ปีนป่ายเลยสักขั้นเดียวก็คงจะไม่เป็นไรนัก

บางคนอาจมองว่าแบบนี้ก็ดีแล้ว สังคมจะได้รีดเค้นเอาหัวกะทิออกมาจากกองมนุษย์ธรรมดาๆ ทั้งหลาย ไม่ต่างจากการคัดเลือกโดยธรรมชาติ (natural selection) ที่จะทำให้มนุษย์ที่เหลืออยู่มีแต่พวกที่ “สมควรอยู่กว่า” (จะจริงหรือไม่ที่กลุ่มคนที่ปลายบันไดข้างบนคือคนที่สมควรอยู่กว่านั้นเป็นคำถามเชิงปรัชญาที่ผู้เขียนคงตอบให้ไม่ได้)

แต่ผู้เขียนอดสงสัยไม่ได้ว่าการที่ใครบางคนยินดีที่จะอยู่อาศัยในสังคมแบบที่ว่านี้ เรายังจะสามารถใช้คำว่า “สังคม” เรียกสังคมแบบนี้ได้อยู่อีกหรือ

3. ต้นตอของความเหลื่อมล้ำ

ที่มาภาพ : https://farm7.staticflickr.com/6092/6211653333_b5e2f057e9_z_d.jpg

ที่มาภาพ : https://farm7.staticflickr.com/6092/6211653333_b5e2f057e9_z_d.jpg

ตั้งแต่หนังสือ Capital วางแผงไปก็ได้ มีการถกเถียงและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันอย่างมากว่า “เรามาถึงจุดนี้ได้อย่างไร”

ปัจจัยที่หลายคนคิดว่าเป็นต้นตอของความเหลื่อมล้ำนั้นมีตั้งแต่ความล้มเหลวของสมาคมแรงงานในยุคหลังๆ การเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีซึ่งทำให้เกิดความต้องการแรงงานที่มีทักษะสูงและเกิดการ “โละ” แรงงานทักษะต่ำ ไปจนถึงความเหลื่อมล้ำทางโอกาสการศึกษา ซึ่งทั้งหมดนี้นักเศรษฐศาสตร์หลายคนเห็นว่าเป็นปัจจัยสำคัญ แต่ไม่สามารถอธิบายระดับความเหลื่อมล้ำที่เราเห็นอย่างในกรณี “รวยกระจุกแล้วแยกวง” ที่ Piketty นำเสนอใน Capital ได้ ยกตัวอย่างง่ายๆ เช่น ความเหลื่อมล้ำในโอกาสการศึกษา ไม่น่าจะสามารถอธิบายว่าทำไมคนกลุ่มอภิมหารวยทอป 0.00025% ถึงรวยขึ้นไปยิ่งกว่าคนอื่นๆ ในกลุ่มทอป 1%

เนื่องจากท่านผู้อ่านมีเวลาจำกัด ผู้เขียนจะนำเสนอแค่ 2 แนวคิดที่เกี่ยวเนื่องกับต้นตอของปัญหานี้

1) แนวคิดของ Stiglitz ที่มองว่าโครงสร้างของสังคม การเมือง และธุรกิจเปิดโอกาสให้คนส่วนน้อยที่ร่ำรวยและมีอำนาจรีดไถเอาเปรียบคนส่วนมาก

2) แนวคิดของ Piketty ที่กล่าวถึงบทบาทของความสัมพันธ์ระหว่างอัตราผลตอบแทนจากทุนกับอัตราการเติบโตของเศรษฐกิจในการทำให้เกิดปัญหาความเหลื่อมล้ำ

แนวคิดของ Stiglitz

ในบทความนี้ผู้เขียนใช้คำว่า “ปัญหา” คู่กับ “ความเหลื่อมล้ำ” แต่จากการสนทนากับผู้คนที่หลากหลายแล้วผู้เขียนพบว่ามีคนจำนวนไม่น้อยที่ไม่คิดว่าความเหลื่อมล้ำเป็นปัญหาและคิดว่าสังคมควรเลิกเสียเวลาช่วย “พวกขี้แพ้” เสียด้วยซ้ำ

งานวิจัย จาก Economic Policy Institute เมื่อปีที่แล้วพบว่าผู้บริหารระดับสูงในสหรัฐฯ มีรายได้มากกว่าลูกจ้างทั่วไปประมาณ 303 เท่าในปี ค.ศ. 2014 (เทียบกับราวๆ แค่ 20 เท่าในปี ค.ศ. 1965) หากแปลงสัดส่วนนี้เป็นเงินดอลลาร์แล้วผู้บริหารระดับสูงเหล่านี้มีรายได้โดยเฉลี่ยราว 16 ล้านดอลลาร์ต่อปีเทียบกับแค่ 5 หมื่นดอลลาร์ที่ลูกจ้างทั่วไปได้รับ

บางคนคิดว่า การที่ผู้บริหารระดับสูงเหล่านี้มีรายได้มากกว่าหลายเท่านั้นเป็นเรื่องธรรมชาติที่เป็นไปตามหลักเศรษฐศาสตร์ที่ตลาดแรงงานจะให้ค่าตอบแทนที่สูงกว่ากับแรงงานที่มีความสามารถสูงกว่าและมีผลิตภาพมากกว่าแรงงานทั่วไป และอาจมองได้อีกว่ารายได้และโบนัสเหล่านี้เป็น “รางวัล” ที่ผู้ประกอบการสมควรได้รับ หากเป็นเช่นนี้จริงการไปลงโทษพวกเขาด้วยการไล่เก็บภาษีมากขึ้นนั้นเท่ากับเป็นการลดแรงจูงใจให้พวกเขาทำให้ทั้งบริษัทและเศรษฐกิจมีการพัฒนาเติบโตขึ้น

แต่ทว่าตัวเลข 300 เท่านี้มันเหมาะสมกับสิ่งที่ผู้บริหารระดับสูงทำให้กับบริษัทและเศรษฐกิจจริงๆ หรือไม่

เนื่องจากเศรษฐกิจปัจจุบันมีความซับซ้อนสูง ผู้เขียนชวนให้ท่านผู้อ่านลองย้อนยุคกลับไปนึกถึงเศรษฐกิจชาวป่าแบบง่ายๆ ก่อนนะครับ

สมมติว่าเศรษฐกิจนี้มีคนอยู่แค่ 3 คน นาย ก. นาย ข. และ นาย ค. ทุกวันทุกคนมีหน้าที่ออกไปล่าไก่ป่าซึ่งเป็นสินค้าชนิดเดียวในเศรษฐกิจนี้เพื่อเอามาเป็นอาหารประทังชีวิต ตอนเริ่มแรกไม่มีใครมีเครื่องมือใดๆ ต้องล่าไก่ด้วยมือเปล่า ทั้งวันได้ไก่ป่าแค่คนละตัวเดียวเท่านั้น จากเช้าจรดเย็น 3 คนนี้จึงไม่ได้ทำอะไรเลยนอกจากล่าไก่ป่ามาเป็นอาหารเพียงเพื่อที่จะได้อยู่รอดไปถึงวันถัดไป สรุปคือเศรษฐกิจนี้ผลิตไก่ป่าได้ 3 ตัวต่อวันด้วยคน 3 คน

วันดีคืนดี นาย ก. เกิดมีไอเดียประเจิดขึ้นมาว่าจะทำกับดักหลุมพรางด้วยกิ่งไม้และการขุดดิน ปรากฏว่า “นวัตกรรม” หรือ “เทคโนโลยี” ที่นาย ก. คิดค้นขึ้นมานั้นสามารถทำให้นาย ก. จับไก่ได้วันละ 3 ตัว แทนที่จะเป็นแค่วันละตัวเดียว เทียบกับเมื่อวานกลายเป็นว่าเศรษฐกิจนี้สามารถผลิตไก่ป่าได้วันละ 5 ตัวด้วยคน 3 คนแล้ว (นาย ก. จับได้ 3 นาย ข. และ นาย ค. จับได้คนละ 1) วันถัดๆ ไปนาย ก. ก็จะเริ่มมีเวลาว่างเอาไปทำอย่างอื่นได้โดยที่ไม่อดตายเพราะมีไก่เหลือจากเมื่อวานและบางทีไก่ป่าก็เดินมาตกหลุมพรางเอง นาย ก. ซึ่งแต่เดิมเป็นผู้ชื่นชอบความงดงามของบทกวีอยู่แล้วจึงสามารถใช้เวลาบางส่วนของวันไปเพื่อการแต่งกวี ทำให้เศรษฐกิจชาวป่านี้นอกจากจะมีไก่เพิ่มขึ้นทวีคูณแล้วยังมีบทกวีเพิ่มขึ้นวันละบทอีกด้วย ไปเรื่อยๆ นาย ก. อาจเสนอให้ นาย ข. และ นาย ค. เลิกจับไก่แล้วไปผลิตอย่างอื่น เช่น ไปหากล้วยมาแลกกับไก่ เป็นต้น พอเวลาผ่านไปหลายพันปี เศรษฐกิจก็จะซับซ้อนขึ้นเป็นแบบที่เห็นกันอยู่ทุกวันนี้

นี่คือคำอธิบายแบบสั้นๆ ว่าเศรษฐกิจเติบโตได้อย่างไร

หากเหล่าผู้บริหารระดับสูงที่มีรายได้มากกว่าลูกจ้างธรรมดา 300 เท่าสามารถทำให้ “พายเศรษฐกิจ” ก้อนนี้ขยายใหญ่ขึ้นหลายต่อหลายเท่าด้วยความสามารถของตนอย่างที่ นาย ก. นำมาสู่เศรษฐกิจชาวป่า ทำไมสังคมถึงจะมาประณามเหล่าผู้บริหารระดับสูงทั้งๆ ที่หลายคนในกลุ่มนี้ไม่เคยทำตัวให้เป็นภาระสังคม แต่สังคมกลับไปแบกอุ้มคนที่ฐานะไม่ดีบางคนที่มีพฤติกรรมเสี่ยง เช่น สูบบุหรี่ ติดเหล้า หรือไม่ออกกำลังกาย อย่างนี้ถูกต้องแล้วหรือ (ประเด็นนี้มีการถกเถียงกันอย่างมาก หากท่านสนใจอ่านต่อได้ที่นี่)

แต่ในทางกลับกันหากเราพิสูจน์ได้ว่าเหล่าผู้บริหารระดับสูงไม่ได้มีผลิตภาพมากกว่าแรงงานปกติทั่วไป เป็นเพียงแรงงานธรรมดาๆ อย่างเช่น นาย ข. และ นาย ค. แล้วเงินตอบแทนที่มากกว่า 300 เท่ามันมาได้อย่างไรกัน

จุดสำคัญจึงอยู่ตรงที่ว่ามันเป็นกรณี (1) ผู้บริหารระดับสูงเหล่านี้ได้รับรายได้สูงเพราะว่าตลาดแรงงานยอมจ่ายเพื่อแลกกับความสามารถของพวกเขาหรือว่าเป็นกรณี (2) ผู้บริหารระดับสูงเหล่านี้ใช้อำนาจของตำแหน่งของตนในการนำมาซึ่งรายได้อันมหาศาลเกินกว่าที่เป็นมูลค่าของความสามารถของเขา

กรณีที่ (2) นั้น Stiglitz เรียกมันว่าพฤติกรรม “rent-seeking” ซึ่ง “rent” ในที่นี้ไม่ได้จำกัดความไว้แค่ค่าเช่าอพาร์ตเมนต์หรือค่าเช่าที่ แต่ “rent” เป็นคำที่นักเศรษฐศาสตร์ใช้แบบกว้างๆ เพื่อเรียกถึงเงินส่วนเกินที่บริษัทหรือบุคคลได้รับเพียงเพราะว่าตลาดขาดความแข่งขันอย่างในตลาดที่มีผู้ผลิตอยู่ไม่กี่ราย เช่น ตลาดการเงิน ตลาดยา ตลาดประกันสุขภาพ และตลาดโทรคมนาคม เป็นต้น Stiglitz มองว่าในสังคมสมัยใหม่แทนที่คนเราจะเอาเวลาและทรัพยากรไปพัฒนาเศรษฐกิจทำพายทั้งก้อนให้โตขึ้นแบบที่ นาย ก. ทำให้เศรษฐกิจชาวป่าเติบโต กลับกลายเป็นว่าคนสมัยใหม่กำลังหมกมุ่นกับการแย่งชิงไต่เต้าขึ้นไปเป็นผู้บริหารระดับสูงเพื่อขูดรีดแบ่งพายชิ้นใหญ่ขึ้นให้ตัวเองจากก้อนพายขนาดเท่าเดิม

บิล เกตส์ เองเคยออกมาปกป้องเหล่าผู้บริหารระดับสูงที่ติด ranking Forbes 400 และเตือนว่าอย่าลืมไปว่าครึ่งหนึ่งในนั้นเป็นผู้ประกอบการที่ประสบความสำเร็จอย่างสูงด้วยตัวเองและได้นำมาซึ่งสินค้าและบริการที่โลกก็ต้องการ แต่จากกราฟด้านบนเราจะเห็นว่ามันก็พอมีหลักฐานที่น่าเชื่อถือได้พอประมาณที่บ่งบอกว่าสถานการณ์ในกรณีที่ 2 นั้นโดยเฉลี่ยแล้วอาจเป็นคำอธิบายที่น่าเชื่อถือกว่ากรณีที่ 1 ในสหรัฐฯ เหตุผลก็คือ รายได้ของผู้ประกอบการของบริษัททอป 350 เหล่านี้สูงกว่ารายได้ของกลุ่มคนทอป 0.1% เกือบ 6 เท่าในปี ค.ศ. 2013 ถ้าเราคิดว่าคนที่มีรายได้สูงที่อยู่ในกลุ่มทอป 0.1% นี้ได้มันมาเพราะความสามารถและผลิตภาพที่สูงกว่าคนปกติ แล้วอีก 6 เท่าที่เกินมาสำหรับพวกผู้บริหารระดับสูงล่ะ มันจะมาจากไหนได้อีก นักวิเคราะห์ของ Economic Policy Institute มองว่าคนเหล่านี้ได้มาเพียงเพราะได้ครองตำแหน่งที่สามารถทำให้พวกเขาสูบ rent ออกมาได้สะดวกขึ้น

แนวคิดของ Piketty

ที่มาภาพ : https://www.flickr.com/photos/swanksalot/13984456397

ที่มาภาพ : https://www.flickr.com/photos/swanksalot/13984456397

Piketty คิดว่าบทบาทของอัตราผลตอบแทนของทุนและอัตราเติบโตของเศรษฐกิจมีส่วนสำคัญในการก่อให้เกิดความเหลื่อมล้ำ เขาเขียน 3 fundamental laws ไว้ในหนังสือ Capital ว่าดังนี้
1. a = r x β —– ซึ่งแปลเป็นภาษาคนว่าส่วนแบ่งของรายได้ประชาชาติในเศรษฐกิจที่ตกเป็นของผู้ถือครองทุน (a) นั้นจะเท่ากับอัตราผลตอบแทนจากทุน (r) คูณกับอัตราส่วนระหว่างปริมาณทุนต่อปริมาณรายได้ (β)
2. ในระยะยาว β = s/g —– นั่นก็คืออัตราส่วนระหว่างปริมาณทุนต่อปริมาณรายได้ (β) จะต้องเท่ากับอัตราการออม (s) หารด้วยอัตราเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ (g) ในระยะยาว
3. หาก r > g เมื่อไหร่ ผู้ที่ถือครองทุนจะค่อยๆ ได้รับสัดส่วนรายได้ทั้งหมดของเศรษฐกิจที่เพิ่มขึ้นโดยไม่รู้จบและจะก่อให้เกิดความเหลื่อมล้ำมากขึ้นเรื่อยๆ

Piketty เริ่มต้นด้วยการใช้ข้อมูลที่ชี้ให้เห็นว่า อัตราส่วนระหว่างปริมาณทุนต่อปริมาณรายได้ (β) ในหลายประเทศ เช่น สหรัฐฯ และฝรั่งเศสนั้นเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ตั้งแต่ปี ค.ศ. 1950 จนเกือบเท่ากับในสมัยศตวรรษที่ 19 และคาดว่าจะขึ้นจาก 4.5 ในปี ค.ศ. 2010 ไปถึง 6.5 เมื่อสิ้นศตวรรษนี้

ลองสมมติว่ามีเศรษฐกิจที่โตปีละ 5% (g) และมีการออม (s) 10% ของรายได้ทั้งหมดของประเทศ หากเศรษฐกิจปีนี้มีรายได้ประชาชาติ 100 บาท แสดงว่าเราจะออมไว้ 10 บาท (10 บาทนี้เป็นสิ่งที่ Piketty เรียกแบบหลวมๆ ว่า “capital” หรือทุน) การที่อัตราส่วนระหว่างปริมาณทุนต่อปริมาณรายได้ (β) จะคงที่ไปตลอดกาลตามกฎข้อสองได้นั้นทุนที่ออมไว้จะต้องมีปริมาณเท่ากับ 200 บาท ปีนี้ β จึงจะเท่ากับ 2 (เอามาหารกันเป็น 200/100) เมื่อเราให้เข็มนาฬิกาเดิน ปีหน้ารายได้ประชาชาติจะเป็น 105 (โต 5%) และทุนจะเป็น 210 (เพิ่มขึ้นมาด้วยเงินที่ออมมาจากรายได้ประชาชาติ 100 บาท) β จึงจะคงที่ที่ 2 ไปเรื่อยๆ ตลอดกาล ทั้งนี้ Piketty มองว่าโลกข้างหน้าน่าจะมีอัตราออมเฉลี่ยประมาณ 10% และอัตราเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจน่าจะลดลงไปเหลือราวๆ 1 ถึง 2% จนทำให้ β ขึ้นไปเกือบถึง 7

ขั้นถัดไปคือ ตามกฎข้อแรกหากคุณเอาอัตราผลตอบแทนจากทุน (r) ในเศรษฐกิจมาคูณกับ β ที่เราคำนวณไว้เมื่อครู่ก็จะได้สิ่งที่เรียกว่า “ส่วนแบ่งของทุนจากรายได้ประชาชาติ (a)” จากตัวอย่างที่ β = 2 จะเห็นว่าหากคุณคาดว่า r จะมีค่าประมาณ 4% ต่อปี ส่วนแบ่งของทุนจะเป็น 8% (2*4%) ของรายได้ประชาชาติ แต่ในตัวอย่างที่ Piketty คาดไว้ว่า β จะสูงขึ้นไปเฉียด 7 ในอนาคต ส่วนแบ่งของทุนจะพุ่งขึ้นไปถึง 28% (7*4%) ของรายได้ประชาชาติ และจะขึ้นไปมากกว่านี้อีกหาก r สูงกว่า 4% ถ้าคิดเล่นๆ ว่า r จะขึ้นไปถึง 6% ขึ้นมา ส่วนแบ่งของทุนจะขึ้นไปถึง 42% (7*6%) ของรายได้ประชาชาติเลยทีเดียว ส่วนที่เหลือ 58% คือส่วนแบ่งของรายได้ที่มาจากการทำงาน (ที่มนุษย์เงินเดือนและแรงงานปกติเป็นผู้ถือครอง)

นี่คือกรณีที่ชี้ให้เห็นถึงสิ่งที่จะเกิดขึ้นเมื่ออัตราผลตอบแทนจากทุนมากกว่าอัตราเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ (r>g) ในกรณีที่ β = 7 และ r = 6% > g หากมีคนแค่ไม่กี่คนถือครองทุนส่วนมาก ก็จะแปลว่าคนกลุ่มเล็กๆ นี้จะได้รับส่วนแบ่งจากการที่เศรษฐกิจเติบโตทุกปีไปเต็มๆ 42% ของรายได้ประชาชาติ คนกลุ่มนี้อาจรวยมากถึงขั้นไม่ต้องทำงานเลยก็จะยังเห็นรายได้จากทุนโตขึ้นราว r = 6% ต่อปี ซึ่งสูงกว่าอัตราที่รายได้จากหยาดเหงื่อในการทำมาหากินโดยคนส่วนใหญ่ที่จะโตได้แค่อย่างมากเท่ากับอัตราเติบโตของเศรษฐกิจ ซึ่งหลายคนคาดว่าจะต่ำลงเรื่อยๆ

หนังสือ Capital ไม่ได้เน้นเรื่องพฤติกรรมการออมมากนัก มันเป็นไปได้ที่ความเหลื่อมล้ำที่กฎข้อสามทำนายไว้จะไม่เกิดขึ้นหากชนชั้นกลางออมเก่งเพื่อไปเอาประโยชน์จาก r > g และพวกทอป 1% กลับไม่ยอมออมเลย (เอาไปซื้อเรือยอตช์หมด!) อย่างไรก็ตาม สิ่งนี้คงเกิดขึ้นยากมาก ในชีวิตจริงคนที่ร่ำรวยมากๆ มักจะมีอัตราการออมที่สูงกว่าคนส่วนมาก เพราะว่า 1) พวกเขามีรายได้สูงเกินพอให้เหลือใช้และ 2) พวกเขาเลือกที่จะออม จากงานวิจัยของ Saez กับ Zucman กลุ่มทอป 1% กลุ่ม 9% ถัดมา และ กลุ่ม 90% ที่เหลือในสหรัฐฯ นั้นมีอัตราการออมคือ 38% 15% และ 0% ตามลำดับ ดังนั้น ภาพที่ Piketty เห็นจึงเหมือนเป็นการกลับมาของทุนนิยมมรดกที่จะเข้ามามีบทบาทแทนที่การขยันทำงาน ขยันประดิษฐ์อะไรใหม่ๆ เพื่อหาเงินจากรายได้ที่มีอัตราเติบโตน้อยกว่าอัตราผลตอบแทนจากทุน

Piketty พบว่า r>g เป็นจริงในอดีตยกเว้นในช่วงสงครามโลก แต่จะเป็นจริงไปเรื่อยๆ หรือไม่คงไม่มีใครทราบได้ แม้ว่ามุมมองของ Piketty ฟังดูเหมือนว่าต้นตอของปัญหาอยู่ที่ระบบทุนนิยม แต่ผู้เขียนไม่คิดว่าทุนนิยมคือผู้ร้ายตัวจริง ทุนในที่นี้เป็นเพียงพาหนะของความเหลื่อมล้ำในระบบเศรษฐกิจที่พัฒนาไปในทางที่สามารถรองรับปริมาณทุนที่มากขึ้นพร้อมๆ กับทำให้อัตราตอบแทนของทุนไม่ตกลง

4. อะไรคือจุดหมายของการแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำ

Piketty เสนอว่าให้ทุกสังคมบนโลกร่วมมือกันเก็บภาษีคนรวยทั่วโลก (80% ของผู้ที่มีรายได้ระหว่าง 1 ล้านถึง 5 แสนดอลลาร์ต่อปี และราวๆ 50-60% ของผู้ที่มีรายได้ระหว่าง 5 แสนถึง 2 แสนดอลลาร์ต่อปี) เพื่อไม่ให้เกิดการ “รวยกระจุกแล้วแยกวง” ตั้งแต่แรก ข้อเสนอนี้เป็นเรื่องที่ถูกหยิบยกมาถกเถียงเป็นอย่างมาก บ้างก็ว่าเป็นนโยบายประชานิยมเกินไป บ้างก็ว่าเป็นนโยบายที่ยังไงก็ไม่มีวันเกิดขึ้นได้

แต่ก่อนที่เราจะลงมือทำอะไรก็ตาม ผู้เขียนคิดว่าเรามาลองคิดดูดีๆ กันก่อนดีกว่าว่า จุดหมายของการแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำคืออะไร

ตอนเด็กๆ ผู้เขียนเคยคิดว่า “ความเท่าเทียมกันอย่างสมบูรณ์” คือจุดมุ่งหมายของสังคมในฝันที่มีนโยบายและกฎหมายคอยปรับให้ทุกคนมีทุกสิ่งทุกอย่างเท่าเทียมกันหมด ไม่ว่าจะเป็นทรัพย์สินหรือคะแนนสอบเข้ามหาวิทยาลัย

แต่เมื่อเวลาผ่านไปก็คิดได้ว่า แม้สังคมนั้นจะเกิดขึ้นมาได้จริงๆ มันไม่มีเหตุผลที่ฟังขึ้นเลยว่าทำไมโลกที่เท่าเทียมกันหมดทุกมิติถึงจะต้องเป็นโลกที่ดีที่สุด

สังคมที่ไม่มีความเหลื่อมล้ำแต่ก็ไม่มีอันจะกินมันฟังดูไม่เข้าท่านัก หรือแม้กระทั่งสังคมที่มั่งคั่งและไม่มีความเหลื่อมล้ำเลยก็ตาม ผู้คนอาจจะไม่มีความสุขกับชีวิตก็เป็นได้โดยเฉพาะถ้าคนส่วนใหญ่ในสังคมนั้นชื่นชอบการอยู่เหนือกว่าผู้อื่น

ประเด็นนี้คือจุดหักเหสำคัญที่ทำให้ปัญหาความเหลื่อมล้ำกลายเป็นปัญหาทางปรัชญามากกว่าปัญหาทางเศรษฐศาสตร์

แนวคิดทางเศรษฐศาสตร์ตั้งเป้าหมายสังคมไว้ว่าเราจะพยายาม maximize สวัสดิการสังคม (social welfare) โจทย์ก็คือ เราจะแบ่งทรัพยากรอันจำกัดและจะสร้างกฎเกณฑ์กับนโยบายสังคมอย่างไรเพื่อให้เวลารวมอรรถประโยชน์ของทุกๆ ชีวิตมนุษย์ในสังคมแล้วออกมาเป็นตัวเลขที่มีค่ามากที่สุด และเราจะให้น้ำหนักความสำคัญกับอรรถประโยชน์ของมนุษย์แต่ละคนในสังคมอย่างไร เราอาจจะให้น้ำหนักทุกคนเท่ากันหมดเพื่อเป็นเสริมสร้างสังคมที่ยึดหลักความเสมอภาคของมนุษย์ทุกคนหรือเราจะให้ความสำคัญกับคนบางกลุ่มมากกว่าอย่างที่เรามักพบเห็นได้ในสังคมที่แบ่งชนชั้น

แต่ความท้าทายอยู่ตรงที่ว่า 1) คนเราแตกต่างกันมาก 2) เรายังไม่มีเครื่องวัดอรรถประโยชน์ของแต่ละคน 3) สังคมอาจเลือกให้ความสำคัญกับชีวิตคนแต่ละคนไม่เท่ากัน

ในชีวิตจริงนั้น คนเราไม่น่าจะมีพฤติกรรมที่เหมือนหุ่นยนต์แบบในเศรษฐกิจชาวป่าที่ทุกคนเป็นโคลนของกันและกัน และจะประพฤติเหมือนกับคนในชนชั้นเดียวกันแม้เราจะสุ่มให้เขาไปเกิดในชนชั้นที่ต่างออกไป แม้ว่า DNA มนุษย์จากทั่วทุกมุมโลกจะไม่ต่างกันเกิน 0.1% แต่ 0.1% ที่แตกต่างนี้มีผลอย่างยิ่งต่อทั้งโอกาสเป็นโรคภัยต่างๆ นานา ความถนัดของมือ (ที่มีความเกี่ยวเนื่องกับ cognitive skills) ความสามารถบางอย่างโดยเฉพาะความสามารถด้านกายภาพ เช่น การเล่นกีฬาที่การฝึกซ้อมและสภาพสิ่งแวดล้อมก็ทดแทนไม่ได้ไม่หมด (อ่านเพิ่มเติมได้ในหนังสือเล่มนี้) หรือแม้กระทั่งระดับความสุขที่คนเราสามารถได้รับก็ตาม 50% นั้นถูกกำหนดไว้แต่แรกเกิดแล้วด้วยพันธุกรรม

เมื่อเป็นเช่นนี้แล้ว มันก็ไม่สมเหตุสมผลเลยที่จะสรุปว่าสินค้าหรือบริการ 1 ชิ้น ไม่ว่าจะเป็น เงิน 1 บาท หรือ ที่ดิน 1 ไร่ จะต้องให้อรรถประโยชน์กับผู้คนที่แตกต่างกันเหล่านี้ในระดับที่เท่ากัน

Vilfredo Paretoนักเศรษฐศาสตร์ชาวอิตาลี เคยยกตัวอย่างน่าคิดเอาไว้ว่า การเก็บภาษีคนรวยเพื่อเอาเงินไปให้คนจนตามทฤษฎีแล้วอาจทำให้สวัสดิการสังคมโดยรวมลดลง คือ ลองสมมติว่าสังคมมีคนสองคน นายรวยกับนายจน เราเป็นพระเจ้าที่กำลังจะโยกเงิน 1 บาทจากนายรวยมาให้นายจน ถ้าบังเอิญว่าอรรถประโยชน์ที่นายจนได้จากเงิน 1 บาทที่เราโยกมาให้มันกลับน้อยกว่าอรรถประโยชน์ที่นายรวยเสียไปจากการถูกเราเก็บภาษีไป 1 บาท ก็เท่ากับว่าสวัสดิภาพสังคมแย่ลงกว่าก่อนที่เราจะลงมือเก็บภาษีจากนายรวย ตัวอย่างนี้ค่อนข้างพิเรนทร์แต่ก็ใช่ว่าจะเป็นไปไม่ได้

นอกจากนั้น ทุกวันนี้เรายังไม่มีเครื่องวัดอรรถประโยชน์ของมนุษย์ และดูเหมือนว่าสิ่งที่เกิดขึ้นเมื่อไม่กี่เดือนที่ผ่านมา เช่น วิกฤติผู้ลี้ภัยและความแค้นต่อชาวมุสลิม รู้สึกได้เลยว่า หลายสังคมยังตกลงกันไม่ได้ด้วยซ้ำว่ามนุษย์แต่ละคน แต่ละเชื้อชาติ แต่ละศาสนา ควรมีค่าเท่ากันหรือไม่

แต่ก็ยังพอจะมีตัวอย่างที่ทำให้เรามองโลกในแง่ดีขึ้นได้เหมือนกันจากการที่คนกลุ่มทอป 0.00025% อย่าง บิล เกตส์ หรือ มาร์ก ซักเคอร์เบิร์ก หรือ มาโนช ภควา (Manoj Bhargava เจ้าของเครื่องดื่มชูกำลัง 5-hour energy) ได้แบ่งทรัพย์สินและเวลาส่วนตัวมูลค่าไม่น้อยมาให้ความสนใจกับการ “ทำดีเพื่อโลก”

ผู้เขียนหวังว่าท่านผู้อ่านจะได้เห็นถึงความซับซ้อนของปัญหาความเหลื่อมล้ำจากบทความนี้ ว่าความเหลื่อมล้ำมีหลายนิยาม มีหลายต้นตอ และมีจุดหมายของการแก้ไขที่ค่อนข้างออกไปในเชิงปรัชญา เพราะฉะนั้น ผู้เขียนไม่คิดว่านโยบายเศรษฐกิจไม่กี่นโยบายจะช่วยแก้ปัญหาอันซับซ้อนที่ยังไม่มีใครเข้าใจได้ 100% นี้ได้หมด แต่ก็ไม่ใช่ว่าเราควรจะนิ่งเฉย

ในระหว่างที่เรากำลังรอความก้าวหน้าของความรู้เกี่ยวกับความเหลื่อมล้ำและการเปิดเผยข้อมูลทรัพย์สินทั่วโลก ผู้เขียนคิดว่าสังคมที่น่าอยู่อย่างน้อยๆ จะต้องมีอะไรรองรับคนที่กำลังลำบากบ้าง เพราะไม่ใช่ทุกคนที่ลำบาก ลำบากเพราะการกระทำของตัวเองทั้งหมด ใช่ บางครั้งคนที่ลำบากเขาทำตัวเอง แต่บางครั้งโชคชะตามันก็กำหนดหนทางของคนเราไว้มากกว่าครึ่งเข้าไปแล้วเหมือนกัน มันเป็นเรื่องประหลาดจริงๆ เวลาเราลองนึกดูว่าเศรษฐกิจของบางประเทศมาไกลแค่ไหนแล้ว แต่ทุกวันนี้กลับมีคนจำนวนมากที่ต้องเสียชีวิตเพียงเพราะโชคร้ายเกิดมาพ่อแม่ไม่เลี้ยงดู เกิดมาไม่ได้เรียนหนังสือ หรือเกิดมามีโรคที่ทำให้บริษัทประกันไม่รับเป็นลูกค้า ทำงานไม่ได้และต้องเสียชีวิตไปในที่สุด

แล้วนโยบายแบบไหนถึงจะทำให้เกิดความสมดุลที่ไม่ “ใจดี” หรือ “ใจร้าย” ต่อผู้ที่ลำบากเกินไป คงไม่มีใครตอบได้หากสังคมไม่ให้ความสำคัญกับการแก้ปัญหานี้อย่างจริงจังตั้งแต่แรก ตัวอย่างที่น่าสนใจในขณะนี้คือ รัฐบาลฟินแลนด์กำลังจะทำการทดลองสุ่มให้รายได้พื้นฐาน (Basic Income) กับประชากรของเขาเป็นเวลา 2 ปี หากการทดลองผ่านไปได้ด้วยดี ผลลัพธ์จากการทดลองนี้จะทำให้เรามีความเข้าใจเกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างรายได้ ความเหลื่อมล้ำ และความยากจนมากขึ้น

สุดท้ายนี้ ผู้เขียนหวังว่าแนวคิดและสถิติต่างๆ ในบทความนี้จะช่วยจุดประกายการถกเถียงเรื่องความเหลื่อมล้ำในสังคมไทยนะครับ

Source : ตีพิมพ์ครั้งแรกที่ “เศรษฐ” ความคิด – settaKid.com ณ วันที่ 12 ธันวาคม พ.ศ. 2558

การบริโภคของยุวชนชาวพุทธรุ่นใหม่

การบริโภคของยุวชนชาวพุทธรุ่นใหม่

Author : Sumi Loudon

ถอดความและเรียบเรียงจาก Sumi Loundon, “Young Buddhists in Shopping Shangri –

La” in Hooked! : Buddhist Writings on Greed, Desire, and the Urge to Consume edited by
Stephanie Kaza, Boston & London : Shambhala, 2005, pp.49 – 62.

ผู้เขียนบทความชิ้นนี้คือ ซูมิ เลานดอน นักเขียนสาว พุทธ
ศาสนิกชนชาวเกาหลีรุ่นใหม่ที่เกิดและเติบโตในสหรัฐฯ เธอสนใจ
พุทธธรรมและถ่ายทอดออกมาเป็นงานเขียนอย่างต่อเนื่อง ส่วนงาน
เขียนชิ้นนี้ ฆราวาสสาวรุ่นใหม่อย่างเธอ ผู้ไม่เคร่งครัดในแบบแผน
การปฏิบัติแบบชาวพุทธเท่าใดนัก ได้นำเรื่องราวแปลกๆ และ
ประสบการณ์ส่วนตัวที่น่าสนใจมาถ่ายทอดให้ฟัง

เธอเริ่มต้นเรื่องผ่านเหตุการณ์ปรกติธรรมดาในชีวิตประจำ
วันของเธอเอง เมื่อคราวต้องการซื้อของตกแต่งบ้านใหม่ อย่างเช่น
ม่านหน้าต่าง ซึ่งเธอไปพบผืนที่ชื่นชอบ ทว่าราคาของมันก็ช่างแพง
แสนแพงจนเธอจำต้องตัดใจ หันมาเดินเลือกหาใหม่ในห้างสรรพสินค้าระดับล่างลงมาอย่างเคมาร์ต
(Kmart) ตามคำแนะนำของคุณแม่ ซึ่งดูเหมือนเธอจะพึงพอใจกับราคาและคุณภาพสินค้าที่นี่

หลังจากได้ผ้าม่านผืนใหม่สีเหลืองในห้องครัวแล้ว เธอก็เข้านอนพร้อมกับนึกทบทวนถึงเหตุการณ์
และสภาวะจิตใจของเธอที่ผ่านมาตั้งแต่คืนก่อน ซึ่งเธอพบการเปลี่ยนแปลงอันน่าประหลาด กล่าวคือ การ
ซื้อม่านในวันนั้นทำให้เธอรู้สึกถึงความปรารถนาอยากมีอยากได้อย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน ทั้งๆ ที่คืนก่อน
หน้านั้น จิตใจของเธอกลับไม่ได้มีความปรารถนาใดๆ เลย จะมีก็แต่การนึกถึงเพื่อนอย่างปล่อยใจสบาย
อารมณ์ อ่านหนังสือดีๆ มีสาระที่ให้แง่คิด

หลังจากได้ผ้าม่านผืนใหม่สีเหลืองในห้องครัวแล้ว เธอก็เข้านอนพร้อมกับนึกทบทวนถึงเหตุการณ์
และสภาวะจิตใจของเธอที่ผ่านมาตั้งแต่คืนก่อน ซึ่งเธอพบการเปลี่ยนแปลงอันน่าประหลาด กล่าวคือ การ
ซื้อม่านในวันนั้นทำให้เธอรู้สึกถึงความปรารถนาอยากมีอยากได้อย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน ทั้งๆ ที่คืนก่อน
หน้านั้น จิตใจของเธอกลับไม่ได้มีความปรารถนาใดๆ เลย จะมีก็แต่การนึกถึงเพื่อนอย่างปล่อยใจสบาย
อารมณ์ อ่านหนังสือดีๆ มีสาระที่ให้แง่คิด

ซูมิย้อนเวลากลับไปเล่าสภาพความเป็นอยู่ของเธอในวัยเด็ก เธอเติบโตมาในครอบครัวที่ถือว่า
เคร่งครัดในแบบแผนการใช้ชีวิตที่ฆราวาสพึงยึดถือ พ่อแม่ของเธอเป็นคนรุ่นเบบี้บูม (baby boomers) ช่วง
ทศวรรษที่ 1960 และโตเป็นหนุ่มสาวในบรรยากาศของสังคมยุคแสวงหาช่วงทศวรรษที่ 1970 ทั้งเธอและ
พ่อแม่ตั้งรกรากอาศัยอยู่ในเขตชุมชนขนาดเล็กของผู้นับถือนิกายเซน ในเขตชนบทของรัฐนิวแฮมเชียร์ ชุม
ชนพึ่งตนเองที่ปฏิเสธกระแสการบริโภคของสังคมสมัยใหม่ เพาะปลูกและผลิตอาหารบริโภคกันเอง แม้แต่
เสื้อผ้าหรือของเล่นเด็ก

ของใช้ไม้สอย อุปกรณ์ และเครื่องเรือนภายในบ้านหลังใหญ่ของเธอล้วนเป็นของที่ใช้แล้วและนำ
กลับมาใช้ใหม่ทั้งสิ้น ของเหล่านี้ได้มาจากการบริจาคบ้าง ซ่อมแซมกันเองจากของเก่าบ้าง โดยมิพักต้อง
พูดถึงยี่ห้อหรือแบรนด์ใดๆ

การเติบโตท่ามกลางสังคมที่มีแบบแผนชีวิตดังกล่าว ส่งผลให้ซูมิเป็นคนที่ตระหนักเสมอว่า สิ่งของ
ทุกอย่างไม่ควรทิ้งขว้าง อะไรที่นำกลับมาใช้ใหม่ได้ก็ควรทำ ของเหล่านี้เป็นของทุกคนในชุมชน ทุกคนเป็น
เจ้าของร่วมกัน ฉะนั้นจึงต้องแบ่งปันกันใช้ บริโภคเท่าที่จำเป็นจริงๆ ไม่ว่าจะเป็นกองกระสอบแป้ง ถั่ว และ
กล่องนมผงขนาดมหึมา แน่นอน การใช้สอยอย่างฟุ่มเฟือยย่อมเป็นข้อห้ามในชุมชนแห่งนี้

พ่อแม่ของเธอ รวมทั้งเพื่อนบ้าน ปฏิบัติและถือครองตนใกล้เคียงกับวิถีแห่งฤๅษีชีไพร คือนิยมการ
บริโภคแต่น้อยและบริโภคอย่างรู้เท่าทันตัวเอง โดยวางเป้าหมายสูงสุดของชีวิตที่การรู้ตื่น ปล่อยว่าง ไม่ถือ
มั่นยึดมั่นในสิ่งใด ตามคำสอนของพระพุทธองค์

ยามใดที่ซูมิแสดงออกถึงความอยากมีอยากได้ พ่อของเธอจะร้องเพลง “Material Girl” ของนักร้อง
ดังอย่างมาดอนนาให้เธอฟัง เพื่อให้เธอตื่นและหลีกไกลจากมนตราแห่งอำนาจของวัตถุ

ภาพครอบครัวของซูมิวัยเด็กที่เล่ามาช่างแตกต่างตรงกันข้ามกับเพื่อนๆ ซึ่งอยู่กันเป็นครอบครัว
เดี่ยว มีอาหารสมบูรณ์พร้อมเตรียมไว้ทุกมื้อ ทั้งความเป็นอยู่ก็แสนสุขสบาย

ยี่สิบปีให้หลัง ซูมิเข้าย่างวัยสามสิบ การดำเนินชีวิตของเธอเปลี่ยนแปลงไป ทัศนคติเกี่ยวกับการ
บริโภคของเธอเริ่มเปลี่ยนไป ตั้งแต่ซื้อบ้านใหม่ วางแผนชีวิตหลังเกษียณ และประกันสุขภาพฟันของเธอเอง
ซึ่งพฤติกรรมเหล่านี้ ล้วนเป็นวิถีชีวิตที่แตกต่างกับพ่อแม่ของเธอในวัยเดียวกันโดยสิ้นเชิง

ซูมิคนใหม่มองการบริโภคต่างออก
ไป ทั้งนี้ มิได้แปลว่าเธอหลงใหลไปกับการ
เดินจับจ่ายซื้อของในห้างเคมาร์ตอย่างขาด
สติ อันที่จริง ในแง่หนึ่ง เธอเองก็ไม่ได้ชอบ
กิจกรรมนี้เท่าใดนัก เนื่องจากพื้นที่ในห้าง
สรรพสินค้ามีสินค้าละลานตามากเกินไป
ทั้งยี่ห้อสินค้า สี และกลิ่น ของบางอย่างก็
หาไม่พบจนชวนหัวเสีย

ห้างสรรพสินค้าทำให้เธอรู้สึกได้ถึงความล้นเกินกระทั่งนำไปสู่ความเสื่อมสลาย ขณะเดียวกัน ลึก
เข้าไปในส่วนลึกของเธอ เธอเองก็อยากละ อยากถอยห่างจากการกดทับของแบบแผนชาวพุทธอันเข้มงวด
ที่เธอจำต้องดำเนินรอยตามมาตั้งแต่เด็ก

ความขัดแย้งภายในที่กล่าวมานี้ โหมกระพือหนักขึ้นทุกครั้งที่เธอเข้าไปซื้อของในร้านค้าของชาว
พุทธ อาทิ เบาะรองนั่งอัดนุ่นในร้านที่มีลวดลายสวยงาม ฝีมือประณีต เย็บขอบริมด้วยด้ายไหม น่าใช้สอย
กว่าเบาะอัดหนังสือพิมพ์พันเทปกาวที่พ่อแม่ของเธอเคยทำไว้ใช้เอง

แต่ด้วยราคาของมัน เธอจึงหยุดชะงัก สับสน อดตั้งคำถามกับตัวเองไม่ได้ว่า การนั่งเบาะสวยงาม
นี้จะมีส่วนช่วยให้การนั่งสมาธิของเธอบรรลุผลได้ด้วยหรือ

ต่อมา เมื่อเธอเข้าศึกษาต่อในระดับอุดมศึกษาชั้นนำ เธอจึงพบว่า ไม่ใช่เธอคนเดียวที่รู้สึกกระอัก
กระอ่วนใจ เพื่อนชาวพุทธมีฐานะหลายคนที่อาศัยใกล้กับห้างสรรพสินค้าก็ประสบกับภาวะอึดอัดใจ เป็น
ความสลับซับซ้อนของความรู้สึกไม่ต่างกัน

ท่าทีของยุวชนชาวพุทธในโลกตะวันตก

ซูมิกล่าวขยายความอีกครั้งเกี่ยวกับความนึกคิดหรือทัศนคติของพุทธศาสนิกชนรุ่นเธอว่าค่อนข้าง
อยู่ตรงกึ่งกลางระหว่างสองแรงโน้มถ่วง ด้านหนึ่ง พวกเธอคำนึงถึงมลพิษและสิ่งแวดล้อม รู้และเข้าใจเรื่อง
โลกร้อน มีสำนึกของการนำสิ่งของต่างๆ กลับมาใช้ใหม่ ทั้งยังอ่านทฤษฎีมาร์กซิสม์ที่พูดถึงลัทธิบริโภคนิยม
มาตั้งแต่ยังเรียนอยู่ชั้นมัธยมศึกษา ขณะเดียวกันก็สนใจวิชาจิตวิทยาอันสลับซับซ้อนของเดเนียล โกลแมน
(Daniel Goldman) อันมีชื่อ

ในขณะเดียวกัน คนรุ่นเธอยังต้องเผชิญกับการโฆษณาชวนเชื่อของสินค้าสารพัดชนิดอย่างหนัก
หน่วง เป็นการยัดเยียดเพื่อกระตุ้นให้เกิดความอยากที่จะบริโภค การโฆษณาสินค้าอาจเริ่มมีมาแล้วตั้งแต่
วัยเพียงสามขวบ ฉะนั้น จึงไม่แปลกอะไรที่จะพบว่า ชาวพุทธบางคนหันหลังให้กับการบริโภค ขณะที่บาง
คนพึงพอใจในการบริโภค บางรายก็เลือกที่จะประนีประนอมผ่อนผันให้กับความปรารถนาของตัวเอง

คนรุ่นเธอหาความรู้ทางพุทธธรรมจากหนังสือที่คนรุ่นเบบี้บูมเขียนไว้ เช่นงานของเคน คราฟต์
(Ken Kraft) และอัลเลน ฮันต์ – แบไดเนอร์ (Allen Hunt – Badiner) หรือบทเรียนจากในหนังสือ Dharma
Rain ของสเตฟานี่ คาซ่า และเคนเน็ธ คราฟต์ (Stephanie Kaza and Kenneth Kraft) อีกเล่มคือ The
Dharma Bums ของแจ็ค เคโรแอ็ค (Jack Kerouac)

นักเขียนหลายคนกลายมาเป็นแม่แบบให้คนรุ่นเธอเอาอย่าง แต่ถึงที่สุดแล้ว ซูมิบอกว่าคนรุ่นเบบี้
บูมเองก็เปลี่ยนทัศนคติไปมากแล้ว พวกเขาเลือกที่จะเสพสุข เลือกความสะดวกสบายทางวัตถุ มอบให้แก่
ชีวิตตนเองมากขึ้น อย่างน้อยตั้งแต่ทศวรรษที่ 1980 เป็นต้นมา ในจำนวนนี้ ไม่เว้นแม้แต่พ่อและแม่ของซูมิ
เอง

เบื้องต้น ซูมิได้เสนอให้จำแนกประเภทของกลุ่มยุวชนชาวพุทธรุ่นเดียวกับเธอไว้อย่างหลวมๆ ออก
เป็น 3 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มแรกเป็นกลุ่มผู้บริโภคที่ค่อนข้างยืดหยุ่น ไม่เข้มงวด การบริโภคไม่ใช่เรื่องใหญ่โต
อะไร (nonconsumers) กลุ่มที่สองเป็นผู้บริโภคที่เห็นว่าการปฏิเสธการบริโภคโดยสิ้นเชิงนั้นช่างไร้เหตุผลยิ่งนัก (anti-anticonsumers or at-ease consumers) และสุดท้ายคือผู้บริโภคที่มีสติรู้ (conscious
consumers)

กลุ่มแรกมักเป็นคนที่เคยบวชเรียนหรือไม่ก็เจริญรอยตามทางที่พุทธศาสนิกชนผู้เคร่งครัดพึงปฏิบัติ
กลุ่มนี้ดำเนินชีวิตด้วยความเรียบง่าย ถือสมถะ ไม่สุดโต่งไปทางใดทางหนึ่งมาตั้งแต่ต้น ยุวชนชาวพุทธกลุ่ม
นี้คิดว่าความเรียบง่ายสบายๆ จะนำมาซึ่งอิสรภาพของพวกเขาที่จะอุทิศตัวเองช่วยเหลือผู้อื่น แทนที่จะ
หมกมุ่นอยู่กับตัวเองภายในบ้าน

พวกเขาไม่ถึงกับปฏิเสธหรือต่อต้านการบริโภค (anticonsumerists) พวกเขาไม่นิยมการไปยืนหน้า
ห้างเคมาร์ตแล้วตะโกนส่งเสียงประท้วง หรือร่วมชุมนุมต่อต้านกระแสโลกาภิวัตน์ ขณะเดียวกัน พวกเขาก็
ไม่ใช่บุคคลจำพวกเลือกซื้อแต่ผักผลไม้จากศูนย์รวมสินค้าทางการเกษตรขนาดใหญ่ ในจำนวนนี้ ภิกษุบาง
รายถึงกับตื่นเต้นทุกครั้งด้วยซ้ำ หากมีโอกาสได้เข้าห้าง เดินซื้อหาซอฟแวร์คอมพิวเตอร์ชิ้นล่าสุด

กลุ่มที่สองมีจำนวนน้อย กลุ่มนี้เคยเคร่งครัดในวัตรปฏิบัติมาก่อน แล้วมาเปลี่ยนหรือผ่อนผันให้แก่
ตัวเองในภายหลัง คนกลุ่มนี้ตระหนักดีในคำสอนของพุทธศาสนาแบบตะวันตกที่ว่าด้วยเรื่องการปฏิเสธ
บริโภคนิยม แต่พวกเขาก็เลือกที่จะบริโภคต่อไปภายหลังจากที่พิจารณาถ้วนถี่แล้ว

ในแง่หนึ่ง คนกลุ่มนี้ถูกมองว่าตามกระแสบริโภคนิยมด้วยซ้ำไป พวกเขาถูกมองว่าได้กลืนกลายตัว
เองเป็นสมาชิกผู้ถือบัตรบริโภคนิยมเต็มขั้น อย่างเช่นปล่อยตัวเองให้เพลิดเพลินกับการบริโภคอาหาร
ประเภทไขมันสูง ซึ่งแตกต่างกับวิถีชีวิตของพวกเขาในอดีตจากหน้ามือเป็นหลังมือ

มาถึงกลุ่มสุดท้าย คนกลุ่มนี้รู้ตัวว่าพวกเขากำลังทำอะไรอยู่ พวกเขาอาจเคยปฏิเสธการบริโภค
อย่างหัวชนฝา มีอุดมการณ์สุดโต่ง แต่อีกหลายคนกลับเคยบริโภคอย่างขาดสติมาก่อน สุดท้าย พวกเขาก็
กลายมาเป็นกลุ่มผู้บริโภคที่สำนึกระลึกรู้ เป็นผู้บริโภคที่บริโภคอย่างมีสติ เรียกตัวเองได้ทั้งพุทธศาสนิกชน
และผู้บริโภคได้ในเวลาเดียวกัน

กลุ่มสุดท้ายนี้เลือกเดินทางสายกลาง อย่างน้อย พวกเขาก็เปลี่ยนตัวเองจากผู้บริโภคที่ไม่พิจารณา
มาเป็นผู้บริโภคที่ตระหนักรู้มากขึ้น เห็นและตระหนักถึงอิทธิพลของบริโภคนิยมที่เข้ามาในใจและสภาพ
แวดล้อมรอบตัวพวกเขา

ภาพยุวชนชาวพุทธรุ่นใหม่ที่ซูมิเสนอ แตกต่างจากภาพของคนรุ่นพ่อและแม่ของเธอในวัยเดียวกัน
อาจเรียกว่าคนรุ่นเธอเคร่งในสายปฏิบัติน้อยกว่าก็คงไม่ผิดนัก นั่นคือ คนรุ่นพ่อและแม่ เมื่อตัดสินใจหัน
หลังให้กับการบริโภคแล้ว พวกเขาถึงกับเพาะปลูกพืชผักบริโภคกันเอง ผลิตสินค้าทำมือใช้สอยเอง และนำ
สิ่งของกลับมาใช้ใหม่เสมอๆ ดังที่ได้กล่าวไปบ้างแล้ว ซูมิเรียกความเป็นอยู่แบบนี้ว่าความพอเพียง (selfsufficiency)
ซึ่งต่างจากแบบฉบับของชาวพุทธรุ่นใหม่อย่างซูมิและเพื่อนๆ

นอกจากนี้ ภาพลักษณ์ของชาวพุทธรุ่นใหม่ที่เปลี่ยนไปนั้น ซูมิคิดว่าอาจเป็นผลมาจากการเปลี่ยน
แปลงแบบแผนการดำเนินชีวิตของคนรุ่นก่อนที่มีท่าทีผ่อนคลายกับการบริโภคมากขึ้น

พ่อและแม่ของซูมิวันนี้ ยินดีกับวิถีการดำเนินชีวิตแบบชนชั้นกลาง มีรถยนต์ใหม่ราคาแพงขับ และ
โดยเฉพาะแม่ของเธอยังทำประกันซี่ฟันอีกด้วย ซูมิกล่าวว่า สังคมสหรัฐฯ วันนี้ ผู้ปฏิเสธการบริโภคอย่างหัว
ชนฝาน่าจะมีจำนวนลดน้อยลงมากแล้ว

ด้วยเหตุนี้ ซูมิจึงคาดเดาไว้ว่า ท่าทีของเยาวชนชาวพุทธกลุ่มสุดท้ายนี้น่าจะได้ผล สอดคล้องกับ
ความเป็นจริงมากที่สุด สามารถนำไปพัฒนาเป็นอุดมการณ์หลักปักฐานต่อไปในวันข้างหน้าได้

อย่างไรก็ดี เธอยังตั้งคำถามท้าทายต่อไปอีกว่า สัดส่วนและความยากง่ายของการจะดำรงสภาวะ
ของชาวพุทธกับการจะเป็นผู้บริโภคที่เรียบง่ายสบายๆ นั้นควรเป็นเช่นไรจึงเหมาะสม กล่าวอีกอย่างคือ เรา
จะเป็นผู้บริโภคที่มีสติได้อย่างไรกัน และจะแน่ใจได้อย่างไรว่านี่คือทางสายกลาง เป็นหนทางอันสมดุลของ
ปัจเจกระหว่างความจำเป็นต้องการทางจิตใจ จิตวิญญาณ และเหตุผลเชิงเศรษฐกิจ ตลอดจนความยุติ
ธรรมทางสังคมและสิ่งแวดล้อมของชุมชน

สินค้าแนวพุทธ

พุทธศาสนาในโลกทัศน์ของเยาวชนในสหรัฐฯ ไม่ต่างอะไรกับวิชาปรัชญา วิทยาศาสตร์ จิตวิทยา
และแบบปฏิบัติการฝึกฝน เป็นศาสนาที่แปลงกายเป็นผลิตภัณฑ์ให้ใครต่อใครซื้อหามาบริโภคได้ และเหตุนี้
เอง ซูมิจึงชวนตั้งคำถามว่า เราเองก็บริโภคพุทธศาสนาไม่ทางใดก็ทางหนึ่งเช่นกัน เพราะทั้งๆ ที่พุทธธรรม
พร่ำสอนให้เราละวาง แต่พุทธศาสนสถานกลับเต็มไปด้วยแท่นบูชาไม้สัก รวมทั้งประดิษฐานพระพุทธรูปสูง
ค่าและราคาด้วย

สภาพที่ขัดแย้งกันเองลักษณะนี้ คนรุ่นใหม่จึงไม่ใคร่ศรัทธาในวิถีพุทธเท่าใดนัก พวกเขาบริโภค
แฟชั่นสินค้าชาวพุทธอย่างเสื้อผ้าแนวเซนสุดเท่ ใช้น้ำหอมซัมซาร่า (Samsara) ฟังเพลงแห่งธรรมที่บรรเลง
ทำนองดนตรีแนวร็อคจากวงบีสตี้บอยส์ (Beastie Boys) ได้อย่างไม่ตะขิดตะขวงใจ หนำซ้ำ นักร้องนำขอ
งวงนี้ยังนับถือพุทธศาสนาด้วย คืออาดัม เยาช์ (Adam Yauch) ผู้คอยดึงศรัทธาธรรมจากแฟนเพลงวัยรุ่น
ได้อย่างไม่เสื่อมคลาย

สินค้าที่พวกเขาชื่นชอบยังหมายรวมถึงกำไลหินที่เรียกกันทั่วไปว่าอมตะ (Nirvana) ซูมิเล่าว่า แม้
แต่ในชุมชนผู้นับถือนิกายเซน ติดประกาศหลักธรรมสำคัญ (ลึกซึ้ง ฉับพลัน และฝึกฝน) ไปทั่วก็ไม่ยกเว้น

ว่าไปแล้ว ดูเหมือนเธอเองก็รังเกียจ ไม่ใคร่ชื่นชอบพฤติกรรมที่ขัดกับคำประกาศหรืออุดมการณ์ดัง
กล่าวเท่าใดนัก ความรู้สึกทำนองนี้ไม่ต่างอะไรกับที่ชาวคาธอลิครู้สึกและได้ออกมาปฏิเสธแฟชั่นเครื่อง
ประดับสร้อยคอรูปไม้กางเขนตั้งแต่ปลายทศวรรษที่ 1980

แต่ถึงกระนั้น จากข้อมูลที่เธอได้มาทำให้เธอจำต้องยอมรับความจริงบางประการ นั่นคือ หนทางไป
สู่พุทธศาสนาของคนรุ่นใหม่แตกต่างจากคนรุ่นก่อนไปไกลมากแล้ว คนรุ่นใหม่กว่าครึ่งเข้าถึงพุทธะผ่านการ
บริโภควัตถุ ไม่ว่าจะเป็นหนังสือ สิ่งพิมพ์ พระพุทธรูป ดนตรี หรือภาพยนตร์ ไม่เหมือนคนรุ่นก่อนที่ดำเนิน
ชีวิตโดยปฏิเสธการบริโภค

คนรุ่นซูมิหาสาระธรรมได้จากในหนังสือที่หลากหลาย ตั้งแต่แนวประสบการณ์ส่วนตัว เช่น The
Accidental Buddhist เขียนโดย ดินตี้ มัวร์ (Dinty Moore) แนววิชาการ อย่าง The Story of Buddhism
โดย ดอน โลเปซ (Don Lopez) หรือจากสายปฏิบัติธรรมอย่างเล่ม Mindfulness in Plain English ของ ภัน
เต กูนาราตนะ (Bhante Gunaratana) กระทั่งถึงหนังสือยอดนิยมขององค์ทะไลลามะ อาทิเรื่อง The Art
of Happiness

หรือหากเปรียบเทียบระหว่างพระพุทธรูปกับไม้
กางเขน พวกเขาก็นิยมมองอิริยาบถ รอยแย้มยิ้มอันล้ำลึก
และสงบเย็นของพระพุทธรูปมากกว่าท่าทางอันทรมานของ
พระเยซูที่ถูกตรึงบนไม้กางเขน

หรือหากเปรียบเทียบระหว่างพระพุทธรูปกับไม้
กางเขน พวกเขาก็นิยมมองอิริยาบถ รอยแย้มยิ้มอันล้ำลึก
และสงบเย็นของพระพุทธรูปมากกว่าท่าทางอันทรมานของ
พระเยซูที่ถูกตรึงบนไม้กางเขน

แม้ดูเหมือนการบริโภคดังกล่าวจะทำให้เราเข้าถึง
ธรรมะได้เพียงผิวเผิน แต่นั่นก็คือวิธีการหนึ่งในการเพาะเมล็ดพันธุ์แห่งพุทธะ เมื่อใดก็ตามที่วิกฤตชีวิตของ
พวกเขาเวียนมาถึง เช่น ความตายของสมาชิกในครอบครัว การพลัดพรากจากคู่ครอง และอุบัติเหตุทางรถ
ยนต์ เมล็ดพันธุ์ดังกล่าวก็จะงอกงามในจิตใจ เคลื่อนจิตวิญญาณของเจ้าของเรือนร่างสู่การแสวงหาความ
หมายและจุดประสงค์ที่แท้ของการมีชีวิตอยู่ เป็นการเข้าสู่ปรัชญาแห่งพุทธธรรมผ่านการบริโภคอย่างมีสติ
ผ่านคุณค่าของวัตถุธรรม

ท่าทีของเยาวชนชาวพุทธในเอเชีย

ซูมิพูดถึงนักศึกษาชาวพุทธในมหาวิทยาลัยเซนส์มาลายา (University Sains Malaya) ในรัฐปีนัง
ประเทศมาเลเซีย นักศึกษากลุ่มนี้อาศัยและแบ่งปันพื้นที่ภายในบ้านหลังใหญ่สองหลังใกล้สถานศึกษา
เพื่อใช้ห้องนั่งเล่นเป็นพื้นที่ปฏิบัติธรรม และมีแท่นบูชาพระพุทธประดิษฐานอยู่ด้วย

นักศึกษากลุ่มนี้จัดอยู่ในประเภทเด็กในกรอบ ตัดผมและแต่งกายถูกต้องตามกฎระเบียบ สวมเสื้อ
เชิ้ตสีขาวและกางเกงผ้าขายาว พวกเขาสนใจเรียนวิชาเศรษฐศาสตร์ โปรแกรมคอมพิวเตอร์ การสื่อสาร
และวิทยาศาสตร์ โดยใฝ่ฝันอยากจะเลื่อนฐานะเป็นชนชั้นกลาง มีบ้านเป็นของตัวเอง รุ่งเรืองในอาชีพการ
งานของตน มีชีวิตความเป็นอยู่ที่แสนสบาย ประสบความสำเร็จทางโลกย์ตามประสาของชนชั้นกลาง

ความสนใจและเลือกเรียนวิชาการของนักศึกษาในมหาวิทยาลัยของสหรัฐฯ แตกต่างกับของนัก
ศึกษาที่รัฐปีนังอย่างสิ้นเชิง กล่าวคือที่สหรัฐฯ เยาวชนจะให้ความสนใจในวิชาศาสนา มานุษยวิทยา ศิลปะ
และประวัติศาสตร์ ทั้งยังไม่ใส่ใจการแต่งตัว สวมใส่อะไรก็ได้ไม่ตามแฟชั่น ทรงผมของพวกเขาก็แสน
ธรรมดา ไม่หลากหลาย

นักศึกษาในสหรัฐฯ และโลกตะวันตกมีเป้าหมายของชีวิตที่ต่างออกไป นั่นคือ พวกเขาต้องการหนี
ห่างจากกรอบสังคมอเมริกัน แล้วแสวงหาทางเลือกในชีวิตใหม่ เป็นเป้าหมายที่ต่างกับนักศึกษาที่ปีนัง

ฉะนั้น ถึงแม้นักเรียนจากทั้งสองโลกจะปฏิบัติตนตามประเพณีชาวพุทธ แต่อุปนิสัยในการบริโภค
และการใช้สอยสินค้าของพวกเขาก็ต่างกันอย่างเห็นได้ชัด

อนึ่ง ซูมิได้เรียนรู้ว่า การเป็นชาวพุทธมิได้หมายความว่าจะต้องเป็นผู้ปฏิเสธลัทธิบริโภคนิยมเสมอ
ไป เยาวชนชาวพุทธในประเทศเอเชียที่กำลังพัฒนา สามารถปฏิบัติไปบนหนทางแห่งธรรมโดยไม่สูญเสีย
หลักประกันความมั่นคงและความสำเร็จในชีวิตอนาคตของพวกเขา นั่นคือ บริโภคนิยมสำหรับนักเรียนใน
เอเชียไม่ได้เป็นปัญหาแต่อย่างใด รวมทั้งคนเอเชียรุ่นก่อนหน้านี้ที่อาศัยอยู่ในสหรัฐฯ เองก็ไม่เป็นปัญหา
พวกเขามีแนวโน้มที่จะแสวงหาชีวิตในแบบชนชั้นกลางอยู่แล้ว และอย่างที่เห็นข้างต้น นักเรียนชาวเอเชียที่
มีฐานะมักมีอุปนิสัยลอกเลียนแบบหรือเอาอย่างเยาวชนในสหรัฐฯ หรือโลกตะวันตกเสียด้วยซ้ำ

คำถามต่อเนื่องของซูมิคือ ทำไมประเด็นการบริโภคจึงเป็นปัญหาใหญ่หลวงนักในโลกทัศน์ของชาว
พุทธ และเหตุใดเยาวชนชาวพุทธในโลกตะวันตก (ลูกครึ่งอเมริกันเอเชียรุ่นสอง) และชาวเอเชียมีฐานะ จึง
เน้นธรรมะแต่เพียงบางข้อที่เกี่ยวข้องกับความปรารถนา การปล่อยวาง และการพึ่งพากันและกัน ในบริบท
ที่เกี่ยวข้องวัฒนธรรมการบริโภค

ซูมิวิเคราะห์ไว้ว่า ประการแรกน่าจะเป็นเพราะอิทธิพลกระแสบริโภคนิยมแบบอเมริกันชนเข้าครอบ
งำ โดยเฉพาะผู้ฐานะดี ฆราวาสประเภทนี้ อาจเลือกละวางด้วยการลดการทานอาหารลง คือใช้คำสอนของ
พระพุทธองค์เป็นโอสถพิเศษเพื่อปลดปล่อยทางจิตวิญญาณ และเยียวยาสังคมที่ติดบริโภคนิยมมากมาย
จนล้นเกิน ส่วนอีกประการ เป็นประเด็นเรื่องชนชั้นที่ขมวดแนวทางของพุทธศาสนากับบริโภคนิยมเข้ามา
พันเกี่ยวกันจนแยกไม่ออก พาให้คิดวนเวียนแนวคำสอนและแนวทางปฏิบัติธรรมไม่พ้นกรอบคิดเรื่องการ
บริโภค

ซูมิเล่าประสบการณ์ของเธอต่อด้วยว่า คนมาเลย์ทั่วไปที่เธอพบเห็นมีความต้องการสินค้ามากพอๆ
กับอเมริกันชน หากพวกเขามีเงินพอ พวกเขาก็จะซื้อหามาบริโภค ความโลภจึงดูเหมือนจะเป็นลักษณะที่
อยู่คู่กับมนุษย์ทุกคน ไม่ใช่เฉพาะคนอเมริกัน

ความหลากหลายของสินค้าที่เกี่ยวข้องกับพุทธศาสนาทั้งในเอเชียและสหรัฐฯ ก็มีมากมายไม่แพ้
กัน ไม่ว่าจะเป็นสร้อยลูกประคำ เครื่องรางของขลังในรถยนต์ หรือลวดลายบนโทรศัพท์มือถือ

ภาพสะท้อนกลับ

ซูมิกลับมาที่ห้างเคมาร์ตอีกครั้ง และเดินหาซื้อเครื่องทำความร้อนชนิดน้ำสำหรับใช้ในบ้านของเธอ
การบริโภคแบบนี้ ซูมิไม่ถือว่าเป็นข้อเสีย เพราะเธอซื้อของจำเป็น โดยเธอเองไม่ใส่ใจหรือหงุดหงิดกับสินค้า
ที่มีให้เลือกเพียงสีขาวสีเดียวเท่านั้น เป็นประสบการณ์การจับจ่ายซื้อของที่ผ่อนคลาย สะอาด เบาสบาย

ซูมิยังคงไปห้างเคมาร์ตเป็นปรกติ บางครั้งก็จำเป็น บางครั้งก็เดินเตร่ไปตามชั้นวางสินค้า เผื่อพบ
ของที่กำลังต้องการ และสินค้าที่เธอเลือกยังคงมีลักษณะพื้นๆ แต่มีสไตล์

เธอรู้สึกเป็นหนี้บุญคุณคนชุมชนผู้นับถือนิกายเซน แต่ขณะเดียวกัน เธอเองก็ไม่คิดที่จะเลี้ยงลูก
ของเธอในสภาพแวดล้อมอันขาดแคลนแบบเดียวกับที่เธอเติบโตมา

สังคมสมัยใหม่มีทางเลือกมากขึ้น คุณสามารถเป็นชาวพุทธที่ยังบริโภคได้ หากแต่ต้องบริโภคอย่าง
ตระหนักรู้ อาหารทางเลือกก็มีให้ซื้อหามากมาย กลุ่มกิจกรรมทางสังคมก็เช่นกัน

นอกจากนี้ หลักสูตรในสถานศึกษาก็ยังมีการเรียนการสอนวิชาพุทธศาสนา ทั้งสอนให้เราเท่าทัน
สื่อและรู้รับผิดชอบต่อสังคม ตลอดจนองค์การนักศึกษาที่อาสาสมัครเพื่อสังคมก็มีมากมายให้ยุวชนเลือก
ทำงาน อันเป็นการฝึกฝนขัดเกลาจิตใจตนนั่นเอง

แสงไฟที่เราต้องรักษาไว้ด้วยกัน

แสงไฟที่เราต้องรักษาไว้ด้วยกัน

Author : ปราบดา หยุ่น

ความสำคัญของเสรีภาพทางความคิดเห็นและการแสดงออกในสังคมไทย

และเหตุใดเราจึงมิอาจนิ่งเฉยอยู่กับที่เมื่อเสรีภาพดังกล่าวสั่นคลอน
ปราบดา หยุ่น

“…อย่าหลงเชื่อไปว่าเราได้หลุดพ้นจากรอยบาป (ของการเข่นฆ่าผู้คิดต่าง) แม้กระทั่งของการข่มเหงโดยกฎหมาย การลงทัณฑ์ความคิดเห็น หรืออย่างน้อยก็การแสดงความคิดเห็น ยังคงมีอยู่ในทางนิตินัย; และการบังคับใช้ของมัน แม้กระทั่งในยุคสมัยนี้ ก็มิได้เกิดขึ้นน้อยครั้งเสียจนจะสามารถตายใจว่าสักวันหนึ่งการลงทัณฑ์เช่นนั้นจะไม่ถูกนำมาใช้อย่างหนักหน่วงสุดขั้วอีกครั้ง”

จอห์น สจ๊วร์ต มิลล์, On Liberty, 1859

ในโลกมนุษย์ยุคต้นศตวรรษที่ยี่สิบเอ็ด ดูเหมือนจะมีสังคมเพียงสองประเภทที่สมาชิกในสังคมสามารถถูกกฎหมายตัดสินจำขังเป็นเวลานานสองถึงยี่สิบปี ด้วยข้อหาส่งข้อความสั้นจากโทรศัพท์มือถือของคนคนหนึ่งไปยังโทรศัพท์มือถือของคนอีกคนหนึ่ง ด้วยข้อหาแปลความบางบทบางตอนจากหนังสือภาษาหนึ่งเป็นอีกภาษาหนึ่งเพื่อเผยแพร่ในพื้นที่ออนไลน์ส่วนตัว และด้วยข้อหาแสดงความเห็นทางการเมืองของตนบนเวทีสาธารณะ

สังคมสองประเภทที่ว่าคือ สังคมเผด็จการกับสังคมลัทธิ (cult) ที่คลั่งคลุ้มในความเชื่อเบ็ดเสร็จสำเร็จรูปโดยปราศจากการตั้งคำถาม และโดยมิแยแสต่อเหตุผล สิทธิมนุษยชน และความจริง

สังคมเผด็จการกับสังคมลัทธิ อาจดูเหมือนมีความคล้ายคลึงคล้องเกี่ยวกันอยู่ไม่น้อย ทว่าจุดแข็งทางอำนาจของสังคมสองประเภทนั้นแตกต่างโดยสิ้นเชิง สังคมเผด็จการคือสังคมที่ปกครองโดยกำลัง โดยการบังคับข่มขู่ หรืออาจกล่าวรวมได้หลวมๆว่าเป็นการปกครองด้วย “ความกลัว” โดยคนกลุ่มเล็กๆกลุ่มหนึ่งที่เห็นคนอื่นที่เหลือเป็นเพียงฝูงสัตว์ สมาชิกในสังคมเผด็จการอาจเต็มไปด้วยความอัดอั้นตันใจ และไม่ได้รับประโยชน์ใดๆที่คุ้มค่ากับการต้องใช้ชีวิตอยู่ใต้บังคับบัญชาของผู้นำทรราชย์กับสมุนถืออาวุธ ทว่าไม่มีทางเลือก ต้องดำรงอยู่ในกรอบขังนั้นด้วยความจำทน

สังคมลัทธิมีคุณสมบัติแทบตรงกันข้าม สมาชิกส่วนใหญ่ในสังคมลัทธิต่างค่อนข้างสุขีปรีดา ซึ้งซาบในความเป็นอันหนึ่งอันเดียวและความมั่นคงกลมเกลียวของความเป็นสาวกภายใต้การปกครองของผู้นำ ซึ่งมักได้รับการยกชูอยู่สูงจนมีสถานะเหนือมนุษย์ หรือมีภาพลักษณ์เป็นวีรชนไร้ผู้เทียมทาน และตราบใดที่สถานการณ์ในสังคมลัทธิดำเนินราบรื่นตามสูตรสำเร็จ ที่ถูกสถาปนาขึ้นด้วยการอ้างอิงความเห็นชอบของผู้นำ หรืออุปโลกน์ว่าเป็นการทำเพื่อผู้นำ สมาชิกส่วนใหญ่ต่างอิ่มเอมภาคภูมิกับการได้เกิดมารับใช้และปกป้องลัทธิของตนโดยถ้วนหน้า

และด้วยเชื่อมั่นว่าคำสอนของลัทธิคือสัจธรรมแห่งชีวิต สมาชิกทั้งหลายจึงมั่นใจว่าสิ่งที่ลัทธิสอนสั่งให้ตนเป็นและปฏิบัติคือ “ความถูกต้อง” คือ “ความดี” คือความ “มีศีลธรรม” กระทั่งถึงขั้นให้คุณสืบสานข้ามรุ่นไปยังชาติภพอื่น เมื่อมีสมาชิกหัวแข็ง ริอ่านแตกแถว คิดต่าง ตั้งคำถามสงสัย และหาญกล้าแสดงทีท่าผิดแผกไปจากข้อบังคับหรือความเชื่อของลัทธิ ทั้งในทางรุนแรงและนุ่มนวล ทั้งโดยตั้งใจและโดยไร้เดียงสา สาวกข้างมากมักเกิดอาการใจสั่น หวั่นหวาดว่าฐานความเชื่อของพวกตนจะถูกลบหลู่ดูแคลน กังวลวิตกว่าสมาชิก “กบฏ” ส่วนน้อยนั้นจะสร้างรอยร้าวและส่งผลให้เสาหลักของลัทธิล้มครืนลง

ข้อกล่าวหาที่ดีที่สุดเท่าที่สาวกลัทธิจะนำมาใส่ร้ายข่มขู่ผู้คิดต่าง มักมีเพียงข้อกล่าวหาไร้น้ำหนักและปราศจากเหตุผล อาทิ ผู้คิดต่างเป็นคนเลวทรามเพราะตั้งคำถามกับผู้นำหรือกับความศรัทธาในตัวผู้นำผู้ประเสริฐ ผู้คิดต่างต้องการทำร้ายผู้นำหรือทำลายลัทธิเพราะคนหวังดีที่ไหนจะเสือกคิดต่าง การคิดต่างแปลว่าผู้คิดต่างเนรคุณต่อลัทธิซึ่งเปรียบเสมือนบ้านของผู้คิดต่าง ดังนั้นผู้คิดต่างจึงควรออกไปจากบ้านหรือปลดตัวเองออกจากลัทธิเสีย สาวกลัทธิผู้มีจิตใจเหี้ยมโหดมักมีความเห็นถึงขั้นที่ว่าผู้คิดต่างทั้งหลายสมควรถูกฆ่าล้างโคตร นอกจากนั้นยังมีการกีดกั้นขัดขวาง ประณามความเห็นหรือความช่วยเหลือจากคนนอก โดยประกาศว่าคนนอกไม่เข้าใจในพื้นฐานวัฒนธรรมอันลึกซึ้ง (ซึ่งไม่ต้องการตรรกะ) ของลัทธิตน

ทั้งหมดนั้นล้วนมิใช่ “เหตุผล” ที่เกิดจากการคิด (ตามความหมายของการ “ใช้เหตุผล”) หากแต่เป็นเหตุผลที่เกิดจากการบังคับไม่ให้คิด ซึ่งไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจแม้แต่น้อย เนื่องเพราะกฎข้อที่หนึ่งของการเป็นสมาชิกลัทธิคือ “ถอดสมองส่วนที่ใช้ตรรกะและเหตุผลทิ้งไปเสียก่อน” ตามด้วยกฎข้อที่สอง “กฎระเบียบและคำสอนของลัทธิย่อมถูกต้องหมดจด” และแม้ว่าสาวกลัทธิจะนิยมใช้ถ้อยคำขับไล่ไสส่งผู้คิดต่างให้ออกห่างไปจากลัทธิ ทว่าในทางปฏิบัติพวกเขาพอใจกับการคุมขัง ทำร้าย หรือบังคับข่มขู่ให้ผู้คิดต่างต้องถอนคำพูด กลับใจ หรือปิดปากไว้ด้วยความกลัวเสียมากกว่า เป็นที่รู้กันดีในหมู่ผู้มีประสบการณ์เข้าร่วมลัทธิ ว่าการสมัครเข้าเป็นสมาชิกเป็นเรื่องง่ายดาย ทว่าการลาออกหรือการปลดปล่อยตนเองจากสถานะของความเป็นสาวกนั้นเป็นเรื่องที่แทบต้องเอาชีวิต (ทั้งของตนเองและคนใกล้ชิด) เข้าแลก สังคมลัทธิทนไม่ได้ที่จะปล่อยให้ผู้คิดต่างลอยนวล

ความแตกต่างที่สำคัญระหว่างสังคมเผด็จการกับสังคมลัทธิ จึงอยู่ที่สถานภาพทางจิตใจของสมาชิกในสังคม สมาชิกในสังคมเผด็จการส่วนมากมีชีวิตอยู่อย่างจำยอม รอคอยการเปลี่ยนผ่านสู่ระบอบการปกครองที่เสรีกว่าอย่างลำบากยากไร้และไม่เห็นอนาคต ในขณะที่สมาชิกของสังคมลัทธิมีความยินดีเป็นอย่างยิ่งที่จะถูกครอบงำ มิหนำซ้ำยังพากันเสนอตัวเป็นผู้ตรวจตราความเรียบร้อยในลัทธิอย่างบ้าคลั่งเสียเอง โดยมิต้องรับคำสั่งจากเบื้องบน

นั่นหมายความว่า ปัญหาส่วนใหญ่ของสังคมเผด็จการอยู่ที่ตัวผู้นำ ในขณะที่ปัญหาสำคัญของสังคมลัทธิอยู่ที่ตัวสมาชิกเอง ทั้งสมาชิก “วงใน” ที่ได้ผลประโยชน์มหาศาลจากการบริหารลัทธิ และบรรดาสาวกคลั่งจัดที่หลับหูหลับตาศรัทธาลัทธิและพร้อมจะทำการกำจัดผู้เป็นกบฏ (หรือผู้ที่ถูกพวกเขากล่าวหาว่าเป็นกบฏ) ให้ราบคาบ ไม่ว่าจะด้วยวิธีใดก็ตาม ความเกลียดชัง ความรุนแรง และความอัปรีย์ที่เกิดขึ้นในสังคมลัทธิจึงไม่จำเป็นต้องเกิดขึ้นจากการเห็นชอบหรือจากความประสงค์โดยตรงของผู้นำ บ่อยครั้งมันเกิดจากสาวกผู้เสนอหน้าแสดงความรัก ความภักดี และใช้ข้ออ้างอันปราศจากเหตุผลทั้งหลาย สร้างความชอบธรรมให้กับพฤติกรรมล่าแม่มดและการข่มขู่ผู้คิดต่างอย่างปลอดซึ่งจริยธรรมหรือความยุติธรรมใดๆ

ในยุคสมัยนี้ สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนเกาหลี หรือเกาหลีเหนือ อาจเป็นตัวอย่างชัดเจนที่สุดของสังคมที่มีส่วนผสมของทั้งสังคมเผด็จการและสังคมลัทธิ (บูชาประธานาธิบดี คิม อิล ซุง ผู้มีสถานะเป็นประธานาธิบดี “ตลอดกาล” แม้ว่าเขาได้ตายไปตั้งแต่ปี พ.ศ. 2537) ทว่าจากสภาวะที่ปรากฏชัดในสังคมไทยปัจจุบัน นอกจากกรณีการกล่าวหา ใส่ร้าย ข่มเหง ฟ้องร้อง และลงโทษผู้คิดต่างอย่างเกินเลยหนักหน่วง (ยังไม่นับว่าในบางกรณีผู้ถูกลงโทษอาจเป็นผู้บริสุทธิ์) ยังมีกรณีการเกิดรัฐประหารที่ขัดขวางการก้าวสู่ความเป็นประชาธิปไตยโดยแท้จริงมาหลายต่อหลายครั้ง นับตั้งแต่การเปลี่ยนแปลงการปกครองเมื่อปี พ.ศ. 2475 และยังคงมีความเป็นไปได้ที่จะเกิดขึ้นอยู่เสมอ จะมีก็เพียงผู้นิยมหลอกลวงตนเองอย่างล้ำลึก หรือสาวกคลั่งจัดในลัทธิ (ซึ่งในแง่หนึ่งก็คือคนประเภทเดียวกัน) เท่านั้นที่จะไม่สรุปว่าสังคมไทยก็มีคุณสมบัติที่มิเพียงละม้ายสังคมเผด็จการ มิเพียงคล้ายสังคมลัทธิ หากแต่ดูเหมือนจะมีส่วนผสมของสังคมทั้งสองประเภทอยู่อย่างกลมกลืนเช่นกัน

อย่างไรก็ตาม คงเกินเลยความจริงและไม่เป็นธรรมนัก หากจะวางสังคมไทยไว้บนแท่นฐานเดียวกันกับเกาหลีเหนือ อย่างน้อยจากภาพบนเปลือกภายนอก สังคมไทยยังคงเป็นสังคมเปิด ให้เสรีภาพในการใช้ชีวิตกับสมาชิกในสังคม มีการถ่ายเทและสานต่อทางปัญญากับนานาประเทศ โดยเฉพาะกับประเทศเสรีนิยมที่มีความมั่นคงทางประชาธิปไตยและสนับสนุนสิทธิพื้นฐานทางความคิดและการแสดงออกของปัจเจกชนอย่างเข้มแข็งมาเป็นเวลาหลายทศวรรษ สังคมไทยยังขึ้นชื่อในสากลโลกว่าเป็นประเทศที่มี “ความอดทนอดกลั้นต่อความแตกต่าง” (tolerance) มากที่สุดประเทศหนึ่ง จึงมิอาจกล่าวได้ว่าสังคมไทยเป็นสังคมที่สมาชิกส่วนใหญ่ตกอยู่ในความหวาดกลัว ถูกปิดหูปิดตา หรือถูกกีดกันกดข่มมิให้ได้สัมผัสการคิดต่างและแนวทางเสรี สมาชิกในสังคมไทยส่วนใหญ่มีิอิสระในการเดินทางออกนอกประเทศ มีทางเลือกในการประกอบอาชีพ มีอิสระในการนับถือศาสนา มีโอกาสปรนเปรอตนเองด้วยความบันเทิงนานาชนิด (ทั้งที่ถูกและผิดกฎหมาย) ด้วยความสุขสบาย หรูหราฟุ่มเฟือย ได้ง่ายดายกว่าสมาชิกในสังคมอื่นหลายเท่า แม้จะถูกวิพากษ์วิจารณ์บ่อยครั้งโดยปัญญาชนร่วมชาติว่าสังคมไทยเป็นสังคม “ปากว่า ตาขยิบ” หรือ “มือถือสาก ปากถือศีล” และแม้ว่าจะเป็นคำวิจารณ์ที่น่ารับฟังอยู่มากในหลายบริบท (แต่จะว่าไป สังคมไหนๆก็มีคุณสมบัติของความเสแสร้ง สร้างภาพ ตอแหล ผสมอยู่ทั้งนั้น) ไม่ว่าจะด้วยปัจจัยใดก็ตาม สังคมไทยยังถือว่าห่างไกลจากการตกอยู่ภายใต้สภาวะขั้นวิกฤตของความเป็นสังคมเผด็จการและความเป็นสังคมลัทธิสุดโต่งอย่างไม่ต้องสงสัย

เช่นนั้นแล้ว เหตุใดเมื่อมีการพูดถึงบทบาทของสถาบันกษัตริย์ เหตุใดเมื่อมีการตัดสินลงโทษผู้ถูกกล่าวหาว่าลบหลู่ดูหมิ่นสถาบันกษัตริย์ เหตุใดเมื่อสมาชิกบางคนมีพฤติกรรมขัดแย้งกับธรรมเนียมประเพณีเกี่ยวเนื่องกับสถาบันกษัตริย์ที่ “สังคม” เรียกร้องแกมบังคับให้ปฏิบัติ (ทั้งที่บางธรรมเนียมมิได้เป็นกฎหมายหรือระเบียบกำหนดอย่างเป็นทางการ) บรรยากาศและอารมณ์ของสังคมไทยจึงเคลื่อนเข้าใกล้เส้นขีดของความเป็นสังคมเผด็จการและสังคมลัทธิได้ทันทีอย่างน่าวิตก ความเป็นสังคม “อดทนอดกลั้นต่อความแตกต่าง” ดังที่ชาวโลกเยินยอสรรเสริญไว้ เหือดหายในพริบตา ปัญญาชนผู้ชาญฉลาด ได้รับการศึกษาขั้นสูงสุดจากประเทศโลกที่หนึ่ง กลับกลายเป็นผู้สนับสนุนโฆษณาชวนเชื่อและพิธีกรรมไร้ตรรกะโดยปราศจากยางอาย ศิลปินผู้ชื่นชม “การมองมุมกลับ” “การแหกคอก” “การคิดนอกกรอบ” ต่างแปรร่างเป็นนักอนุรักษ์นิยมผู้ปกป้องทัศนคติสำเร็จรูปใส่ผงชูรส นักสื่อสารมวลชนที่ดิ้นรนเรียกร้องเสรีภาพสื่อ ต่างเอาหูฟังไปนา เอาตากล้องไปไร่ มิกล้าเปิดพื้นที่ให้ความเป็นธรรมกับผู้ถูกริดรอนเสรีภาพและผู้ถูกกลั่นแกล้งรังแก ครูบาอาจารย์ นายแพทย์ พระสงฆ์ผู้พร่ำเทศนาวิถีแห่งพุทธอันเปี่ยมด้วยเมตตา กรุณา ต่างกลายเป็นกระบอกเสียงให้กับสาวกวงในของลัทธิ ทั้งในทางตรงและทางอ้อม กระทั่งทนายและผู้พิพากษาซึ่งเป็นความหวังสุดท้ายทางกฎหมายของประชาชน ต่างตัดสินใจแทบเป็นเสียงเดียวกันว่าการปกป้องตรรกะผิดเพี้ยนสำคัญกว่าการรักษาความยุติธรรม

หากความ “เป็นคนไทย” คือการอยู่ในศีลธรรมอันดี รักสามัคคี มีความโอบอ้อมอารี ดังที่ป่าวประกาศกันอยู่ทุกเช้าค่ำ เมื่อมีการพูดถึงบทบาทของสถาบันกษัตริย์อย่างตรงไปตรงมา กลับดูเหมือนว่าประเทศนี้จะมี “คนไทย” อาศัยอยู่ไม่มากเท่าไรเลย

เหตุใดความเป็น “สังคมอารมณ์ดี” เป็น “สังคมใจกว้าง” เป็น “สังคมไม่เป็นไร” ของไทย จึงบอบบางและผันปรวนได้ง่ายดายเพียงนั้น

หากคำตอบคือ “ความรัก” ย่อมเป็นเรื่องวิปริตพิสดารไม่น้อยที่ความรักกลับบันดาลให้แผ่นดินไทยเจิ่งนองไปด้วยอุทกภัยแห่ง “ความเกลียดชัง” หลากล้นท่วมท้นหนทางแห่งเหตุผลจนไม่มีใครเอาอยู่เช่นนี้

หากยังสามารถสันนิษฐานด้วยความหวังว่าสังคมไทยไม่สุดขั้วในความเป็นเผด็จการและเป็นสังคมลัทธิเทียบเท่าเกาหลีเหนือ เหตุผลที่มีความเป็นไปได้ที่สุดข้อหนึ่ง คือสมาชิกในสังคมบางส่วนยังไม่เข้าใจความสำคัญและบทบาทของเสรีภาพทางความคิดและการแสดงออก (freedom of speech) ที่แท้จริงดีพอ ยังไม่รู้ซึ้งว่าอิสรภาพในการเลือก ในการใช้ชีวิต ในการดำรงสถานะของความเป็น “ปัจเจกชน” ในสังคม เป็นอิสรภาพที่งอกเงยขึ้นจากรากแห่งเสรีภาพทางความคิดและการแสดงออกทั้งสิ้น

คุณสมบัติที่น่ายินดีที่สุดของมนุษยชาติไม่ใช่การสามารถก้าวขึ้นสู่สถานะของสัตว์ผู้ครองโลก แต่คือการสามารถก้าวขึ้นสู่สถานะของสัตว์ผู้รู้จักเรียนรู้จนมีเหตุผลเพียงพอที่จะหาหนทางอยู่ร่วมกันท่ามกลางความแตกต่างทางความคิดอย่างเป็นธรรมและสันติ ประเทศที่ขึ้นชื่อว่า “เจริญแล้ว” มิได้เจริญเพราะก้าวหน้าทางวัตถุเท่านั้น ตรงกันข้าม การใช้เหตุผล การยอมรับในตรรกะ การให้ความสำคัญกับการมองโลกอย่างเป็นวิทยาศาสตร์ การเข้าใจว่าความแตกต่างหลากหลายคือธรรมชาติของโลกและสังคมมนุษย์ (ประชาธิปไตยจึงเป็นระบอบที่เปิดโอกาสให้มนุษย์แสดงออกตาม “ธรรมชาติ” ของตนได้มากที่สุดโดยไม่ต้องรบราฆ่าฟันกัน) คือความ “เจริญ” ทางปัญญา ที่เอื้อให้เกิดความเจริญทางวัตถุและการพัฒนาด้านอื่นๆตามมาอีกมากมาย ในขณะที่การปิดปาก การเซ็นเซอร์ การบังคับข่มขู่ให้อยู่ในกรอบกำหนดกักขัง คือต้นเหตุสำคัญของความหยุดนิ่ง ความล้าหลัง ความแร้นแค้น จนอาจเลยเถิดถึงการล่มสลายของสังคม

แสงสว่างจากไฟฟ้าจะไม่สามารถเกิดขึ้น ไม่สามารถได้รับการแพร่กระจายแจกจ่ายความสะดวกสบายกับมนุษย์ไปทั่วทุกมุมโลก หากผู้คิดประดิษฐ์มันไม่ได้รับการคุ้มครองจากแสงสว่างทางปัญญาที่มาพร้อมกับเสรีภาพทางความคิดและการแสดงออก แสงไฟแห่งเหตุผลจึงมีความสำคัญต่อมนุษย์ยิ่งกว่าแสงไฟสังเคราะห์ แสงไฟแห่งปัญญาจึงเป็นแสงไฟดวงสำคัญที่เราจำเป็นต้องยึดมั่นหมั่นดูแลรักษามิให้มอดดับ หากเรายังต้องการดำรงชีวิตร่วมกันอย่างสงบและเสรี

กลียุคจะเกิดขึ้นจริงก็ต่อเมื่อเสรีภาพของการไม่เชื่อในกลียุคถูกริดรอนไปเท่านั้น ตราบใดที่แสงไฟแห่งเหตุผลยังคงมีช่องทางส่องสว่าง ความหวังที่สังคมจะฝ่าฟันอุปสรรคต่างๆนานาไปได้ย่อมยังเรืองรองอยู่เสมอ

สมาชิกในสังคมผู้สามารถถือตนเป็น “ปัจเจกชน” อยู่ได้ทุกวันนี้ ล้วนเป็นหนี้บุญคุณบรรพบุรุษที่ต่อสู้โดยเอาชีวิตเข้าแลกเพื่อให้ได้มาซึ่งเสรีภาพทางความคิดและการแสดงออก นับตั้งแต่การต่อสู้กับทรราชย์ กับอำนาจปกครองของศาสนา กับสมบูรณาญาสิทธิราชย์ กับเผด็จการทหาร กับทรราชย์ในคราบสังคมนิยม พวกเขาคือสถาปนิก วิศวกร และช่างก่อสร้างตัวจริงของ “บ้าน” เสรี หลังที่เราใช้พำนักพักพิงโดยไม่ต้องสำนึกว่าความเป็นปัจเจกคือความหรูหราฟุ่มเฟือยของสังคมมนุษย์ยุคสมัยใหม่ที่ไม่อาจเกิดขึ้นได้หากมิใช่เพราะการเสียสละและการสังเวยตนของบรรพบุรุษ บรรพบุรุษที่ว่านั้นไม่จำกัดเฉพาะ “บรรพบุรุษของไทยแต่โบราณ” หากคือบรรพบุรุษของโลก ต่างยุคต่างสมัย ต่างภูมิประเทศ ต่างยุทธศาสตร์ในการต่อสู้ การออกแบบ และการก่อสร้าง แสงไฟในบ้านหลังนี้จึงใช้เวลาไม่น้อย ใช้สมองไม่น้อย ใช้ความกล้าบ้าบิ่นไม่น้อย และใช้เลือดใช้เนื้อไม่น้อย กว่าที่มันจะทำงานส่องสว่างอย่างค่อนข้างเสถียร ให้เราได้ประโยชน์จากมันอย่างเป็น “ปัจเจก” ในห้องเล็กๆส่วนตัวของเราเอง

ท่ามกลางธรรมชาติดิบเปลือย การเป็นปัจเจกอย่างปลอดภัยและสุขสบายมิอาจเกิดขึ้นได้ในสังคมมนุษย์ โดยเฉพาะในสังคมก่อนสมัยใหม่ ผู้ใดประสงค์จะอยู่อย่างเป็นปัจเจกถือเป็นสมาชิกนอกคอก นอกรีต ผิดเพี้ยน และหากยืนยันจะอยู่อย่างปัจเจกจริง ก็จำต้องพึ่งพาตัวเองให้ได้อย่างเรียบง่ายสมถะในสภาพแวดล้อมที่ไร้ความปราณีต่อการอยู่อย่างสันโดษ กาลเวลาได้ดำเนินมาถึงช่วงกลับตาลปัตร เมื่อการเป็นปัจเจกชนคือความปลอดภัย ความสงบ สบาย ไร้รอยด่าง และการแสดงออกร่วมกันทางสังคมกลายเป็นกิจกรรมของนักเคลื่อนไหว น่ารำคาญ ชวนตั้งข้อสงสัยว่ามีนัยยะแฝง เสี่ยงต่อการถูกใช้ “เป็นเครื่องมือทางการเมือง” ถูกกล่าวหาว่าเป็นกิจกรรมของคนสร้างภาพ เรียกร้องความสนใจ อยากเท่ หรือกระทั่งจิตวิปลาส

ถึงกระนั้น ความเป็นปัจเจกก็จะมิอาจดำรงอยู่อย่างถาวร หากรากฐานของมันมีโอกาสถูกสั่นคลอนได้เสมอ เสรีภาพในการใช้ชีวิตของปัจเจกชนจะมืดหม่น หากแสงไฟแห่งเหตุผลถูกละเลยและได้รับการยินยอมให้ถูกกลบดับโดยอำนาจเผด็จการและระบบลัทธิ สมาชิกในสังคมผู้ยังมีสติ ยังมีความหวัง และยังเชื่อมั่นว่าสังคมของตนมิใช่เผด็จการ มิใช่ลัทธิ จึงจำเป็นต้องสละความปลอดภัยและความสงบสบายในห้องส่วนตัวชั่วครู่ เพื่อแสดงเจตจำนงว่าจะปกปักรักษาแสงไฟแห่งปัญญา แสงไฟแห่งเสรีภาพทางความคิดและการแสดงออกที่มีค่าทว่าเปราะบางดวงนี้ไว้ด้วยกัน

หากสังคมจำเป็นต้องสร้างสะพานอย่างเป็นรูปธรรม การกล่าวว่าเห็นด้วยกับการสร้างสะพาน แต่ขอเก็บตัวอยู่ในห้องเพื่อสร้างสะพาน “ด้วยวิถีทางของตนเอง” จึงเป็นการแสดงออกอย่างผิดเพี้ยนในเชิงตรรกะ โดยสมาชิกผู้ไม่เข้าใจในความหมายของวาระสำนึกทางสังคม ปัจเจกนิยมสร้างสะพานขึ้นอย่างเป็นรูปธรรมไม่ได้ สะพานต้องถูกสร้างขึ้นด้วยการร่วมแรงร่วมใจ ลงไม้ร่วมมือ ด้วยการพักวางเรื่องส่วนตัวและเว้นวรรคจากความขัดแย้งเล็กๆน้อยๆหรืออคติระหว่างกันชั่วขณะ จนกระทั่งสะพานเสร็จสำเร็จสมบูรณ์เสียก่อน ปัจเจกนิยมจึงจะสามารถหวนคืนฟื้นฟู และปัจเจกชนทั้งหลายจึงจะสามารถกลับคืนสู่ห้องหับของตนเพื่อเสพแสงไฟแห่งเสรีภาพในมายาของความไม่เกี่ยวดองข้องกันทางสังคมและการเมืองได้ดังเดิม

สมาชิกบางส่วนในสังคมไทยผู้จดจ้องจะกลบดับแสงไฟแห่งปัญญาและเสรีภาพทางความคิดและการแสดงออก คือกลุ่มคนผู้หวังร้ายต่อสังคมและอนาคตของชาติที่แท้จริง พวกเขาก่อตั้งขบวนการให้ร้ายหมายหัวสมาชิกผู้คิดต่าง อ้างว่าความคิดต่างเห็นต่างคือความต้องการโค่นล้มสถาบันกษัตริย์และระบอบการปกครองของชาติ นำพลังแห่งรักและศรัทธาของสมาชิกจำนวนมากในสังคมมาใช้เป็นเหตุผลและเครื่องมือในการข่มเหงรังแกผู้คิดต่าง บิดเบือนความจริงและข้อมูลหลักฐานทางประวัติศาสตร์ด้วยสื่อชวนเชื่อและวาทกรรมซ้ำซากที่พยายามฉุดลากความเห็นต่างให้ตกอยู่ในวงจรอุบาทว์ของความเป็นขบถ เป็นผู้เนรคุณ เป็นคนชั่วช้า เป็นขี้ข้านักการเมือง

หากสมาชิกส่วนใหญ่ในสังคมเชื่อมั่นว่าสังคมไทยไม่ใช่สังคมเผด็จการ ไม่ใช่สังคมลัทธิที่มืดบอดทางเหตุผล ทว่าเป็นสังคมเสรีที่ปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตย และหากความ “เป็นคนไทย” จะเป็นสถานะที่น่าภาคภูมิใจในสากลโลกโดยแท้จริง ถึงเวลาแล้วที่แสงไฟแห่งเสรีภาพทางความคิดและการแสดงออกที่มักถูกหรี่ดับลง ต้องได้รับการกอบกู้ให้หลุดพ้นจากกำมือของกลุ่มคนผู้เป็นปรปักษ์ต่อปัญญาและความก้าวหน้าของสังคม

สังคมที่ได้รับการปกครองโดยธรรมไม่มีความจำเป็นต้องหวาดกลัวความจริง ไม่ต้องกักขังผู้เห็นต่าง ไม่ต้องใช้คำว่า “กบฏ” ปรักปรำสมาชิกด้วยกัน การมอบเสรีภาพทางความคิดและการแสดงออกอย่างหมดจดให้กับสังคมคือบทพิสูจน์ที่จะสะท้อนภาพได้แจ่มชัดที่สุดว่า ตัวตนที่แท้ของสังคมนี้เป็นเช่นไร หากสมาชิกในสังคมกล้ายืนยันว่าสังคมไทยไม่ใช่สังคมเผด็จการ ไม่ใช่สังคมลัทธิ วิธีพิสูจน์ที่จะปราศจากข้อกังขาโดยสิ้นเชิง คือต้องปรับระดับแสงไฟแห่งเสรีภาพทางความคิดและการแสดงออกให้เจิดจำรัสถึงขีดสุด

ความถูกต้องที่แท้ย่อมกล้าปรากฏตัวในที่แจ้ง ความจริงที่แท้ย่อมกล้าสบตากับแสงไฟ

หากสมาชิกในสังคมร่วมแรงร่วมใจรักษาแสงไฟแห่งเหตุผลและปัญญาดวงสำคัญดวงนั้นไว้ด้วยกัน สังคมไทยก็ยังมีหวังที่จะพิสูจน์ความบริสุทธิ์ของตัวเอง

ไว้อาลัยอาจารย์เบน แอนเดอร์สัน

ไว้อาลัยอาจารย์เบน แอนเดอร์สัน

Author : ส.ศิวรักษ์

อาจารย์เบน แอนเดอร์สัน

(๒๖ สิงหาคม ๒๔๗๙ – ๑๓ ธันวาคม ๒๕๕๘)

การจากไปอย่างกะทันหันของอาจารย์เบน แอนเดอร์สัน ทำให้พวกเราต้องตั้งสติและเจริญมรณานุสติว่าความตายนั้นเกิดขึ้นได้ง่าย ๆ โดยที่การตายของอาจารย์เบนนับเป็นการสูญเสียอย่างสำคัญสำหรับชาวไทยและชาวเทศแทบทั่วทั้งโลก

มหาวิทยาลัยคอร์แนลเคยเป็นสถาบันอุดมศึกษาที่สำคัญ โดยเฉพาะทางด้านเอเชียอาคเนย์ คณาจารย์ทางด้านเอเชียอาคเนย์นั้นมีคนสำคัญ ๆ หลายท่าน และในหลายแขนงวิชาการ เช่นทางด้านประวัติศาสตร์ มานุษยวิทยา และรัฐศาสตร์ เป็นต้น โดยที่ในบรรดาอาจารย์เหล่านั้น อาจารย์เบนเป็นคนที่มีหัวก้าวหน้ามากที่สุด และเป็นบุคคลซึ่งศิษยานุศิษย์เคารพมากที่สุด แม้ศิษย์นั้น ๆ จะไม่ไปเรียนวิชาสาขารัฐศาสตร์ของอาจารย์เบน ก็ไปมั่วสุมอยู่กับอาจารย์เบนซึ่งเป็นพลังให้ศิษย์นั้น ๆ แสวงหาความเป็นเลิศ โดยมุ่งทางวิชาการอย่างน่าสนใจนัก

อาจารย์เบนเคยเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านอินโดนิเซียศึกษามาก่อน และเขาศึกษาหาความรู้อย่างเจาะลึกด้วยความกล้าหาญทางจริยธรรม จนรัฐบาลอินโดนิเซียไม่ยอมให้เขาเข้าประเทศ เขาจึงหันมาเอาดีทางไทยคดีศึกษา โดยที่ภาษาอินโดนิเซียของเขานั้นนับว่าเป็นเลิศ ส่วนภาษาไทยซึ่งเขามาเรียนภายหลังจึงไม่ช่วยให้เขาพูดไทยได้ชัด แต่เขาก็แตกฉานในทางภาษาและวัฒนธรรมไทยอย่างหาใครเปรียบได้ยาก โดยเขาเจาะลึกทางการเมืองไทยโดยอาศัยวรรณคดีไทยร่วมสมัยอย่างน่าสังเกต

งานเขียนของเขาเกี่ยวกับไทยคดีศึกษานั้นน่าทึ่งมาก โดยที่ต่อมาเขายังศึกษาภาษาตากาล็อก และสนใจประเทศฟิลิปปินส์อีกด้วย พร้อมกันนั้น บทบาทของอาจารย์เบนก็เป็นสากลไปพ้นเอเชียอาคเนย์ โดยเฉพาะก็เรื่อง Imagined Communities [“ชุมชนจินตกรรม”, มูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ จัดพิมพ์เป็นภาษาไทย**] นั้นถือว่าเป็นอมตะในระดับสากลเอาเลย มีแปลเป็นภาษาต่าง ๆ แทบทั่วทั้งโลก แต่แล้วเจ้าตัวก็เป็นคนอ่อนน้อมถ่อมตน คบกับผู้คนทุกชนชั้นอย่างเปิดกว้าง

ศิษยานุศิษย์ของเขา กล่าวจำเพาะในเมืองไทยนี้เองต่างก็เทิดทูนบูชาเขาเป็นอย่างยิ่ง แม้ตัวผมเองจะไม่ได้เป็นศิษย์ของเขา แต่เราก็เป็นกัลยาณมิตรซึ่งกันและกัน ให้กำลังใจแก่กันและกัน เพราะฉะนั้น การจากไปของเขา ผมจึงถือเป็นการสูญเสียส่วนตัวด้วย และเป็นการสูญเสียสำหรับนักวิชาการที่รักสัจจะ รักสันติประชาธรรม

หวังว่าพวกเราจะร่วมใจกันทำอะไรบางอย่าง เพื่อเป็นอนุสรณ์ถึงอาจารย์เบนอย่างที่ไปพ้นอนุสาวรีย์ที่เป็นวัตถุ ควรจะเป็นอนุสรณีย์ที่กระตุ้นเตือนให้คนรักวิชาการ ให้มีความกล้าหาญทางจริยธรรม ยืนหยัดอยู่เพื่อสัจจะและความยุติธรรมในสังคม ถ้าอนุสรณีย์ที่ว่านี้จะช่วยให้คนรุ่นใหม่ดำเนินรอยตามวิถีทางของอาจารย์เบน ได้ นั่นจะเป็นคุณูปการที่สำคัญ แม้ผลงานของเขาจะเป็นอมตะอยู่แล้ว แต่ถ้าเราช่วยกันสร้างให้คนรุ่นใหม่ได้เข้าสู่กระแสแห่งอมตธรรมของอาจารย์ เบนได้ นี่จะเป็นการแสดงกตัญญูกตเวทีต่ออาจารย์เบนอย่างสมควรยิ่ง

ชีวิตไม่มีการเรียนรู้ที่สิ้นสุด

ชีวิตไม่มีการเรียนรู้ที่สิ้นสุด

Author : ท่านชุติปัญโญ

ชีวิตมีหลายอย่างที่ซ่อนเงื่อนอยู่ลึก ๆ ข้างใน ซึ่งต้องอาศัยความใส่ใจในการเรียนรู้ด้วยความแยบคาย สิ่งที่เกิดขึ้นจึงจะแจ่มแจ้งได้ ถือว่า เป็นการเว้นพื้นที่ให้ความรู้ต่าง ๆ สามารถเข้าไปเติมเต็มได้ด้วยภาวะที่ลงตัว

คนส่วนมากมักจะถามหาความสมบูรณ์แบบ เพื่อมอบให้กับชีวิตของตัวเองอยู่เสมอ ทั้งที่ความเป็นจริงแล้ว ชีวิตไม่มีสิ่งที่มาคอยเติมเต็มให้สมบูรณ์พร้อมได้ทั้งหมดแต่อย่างใด ทว่าคนเราก็มักจะยื้อว่า มันต้องถูกเติมเต็มได้แน่นอน

เมื่อมีความหวังแต่ไร้ความเข้าใจ เราจึงแสวงหาในสิ่งที่คิดว่า ใช่มาทับถมใจให้เต็มอยู่ตลอดเวลา ยอมทำทุกอย่างเพื่อจะได้สิ่งที่ต้องการมาครอบครอง และเพื่อบอกตัวเองให้ได้ว่า “เราสมบูรณ์พร้อมแล้ว เรามีครบทุกอย่างแล้ว”

ทุกอย่างที่ได้มาในด้านวัตถุและเกียรติยศที่ต้องการ เป็นเสมือนสิ่งที่มีอยู่จริงในมิติของชาวโลก ประหนึ่งว่ามีชีวิตที่เพียบพร้อมกว่าใครหลาย ๆ คน ซึ่งน่าจะทำให้มีความสุขได้อย่างที่ใจใฝ่หา

ทว่าเมื่อมองความสุขที่ได้รับจากสิ่งที่เพรียกหา กลับปรากฎว่า ความสุขที่ซ่อนอยู่ในใจ อันเป็นความสุขสงบที่ทำให้เรายิ้มได้ด้วยความรู้สึกผ่อนคลาย กลับหายไปอย่างน่าใจหาย เหลือเพียงความคิดที่เข้าข้างตัวเองว่า เรามีความสุขเท่านั้น

หน้าตาของความสุขจากวัตถุและเกียรติยศที่ได้มา ช่างเป็นอะไรที่เปล่ากลวงเหลือเกิน เป็นความสุขที่แห้งแล้งเกินกว่าที่จะตอบตัวเองได้ว่า เรามีความสุขดั่งที่ชีวิตต้องการจริง ๆ

เพราะความจริงของชีวิตในการเกี่ยวข้องกับความสุขแบบฉบับของชาวโลกทั่วไป เป็นสิ่งที่ตั้งอยู่บนพื้นฐานของความไม่แน่นอน ทุกสรรพสิ่งจะถูกลดทอนลงตามกาลเวลา และเปลี่ยนสภาพไปอย่างไม่มีข้อยกเว้น อยู่ที่ว่าจะเปลี่ยนแปลงไปในวันใดเท่านั้นเอง

ความสุขที่เราคาดหวังในสิ่งที่เคยอยากจับจอง จึงเป็นความบกพร่องในสิ่งที่คิดว่า เป็นความสมบูรณ์สำหรับเรา จึงเป็นความบกพร่องในสิ่งที่คิดว่าเป็นความสมบูรณ์สำหรับเรา สิ่งที่ได้มาจึงตอบสนองให้ใจสมอยากเพียงชั่ววูบเท่านั้น แล้วทุกอย่างที่จะกลายเป็นภาระใหม่ที่เราอาจจะไม่ต้องการ แต่ก็ต้องยอมก้มหน้าที่จะแบกรับมัน

แต่มีอยู่สิ่งหนึ่งที่เราสามารถแสวงหา และก่อให้เกิดเป็นความพร้อมในการดำเนินชีวิตได้ เป็นสิ่งที่มาเพิ่มเติมแล้วทำให้ชีวิตบกพร่องน้อยลง เป็นความลงตัวท่ามกลางความบกพร่องที่มีนั่นคือ การเรียนรู้ชีวิตด้วยความเข้าใจ

เพราะความเข้าใจมิใช่การคิดเอา หรือเดาสุ่มตามความรู้สึกที่เราสร้างขึ้นมา แต่เป็นการกลับไปดูสิ่งที่เกิดขึ้นอย่างรู้เท่าทันในทุกเรื่องของความจำเป็นที่มีต่อชีวิต เป็นภาวะที่เข้าไปช่วยทำให้ชีวิตมีความสมดุล ตั้งแต่จุดเริ่มต้นทั้งในด้านวัตถุภายนอกและจิตใจภายใน เพื่อให้กระบวนการศึกษาที่มีอยู่ ได้ทำหน้าที่ดูแลชีวิตทุกมิติที่เราเกี่ยวข้องให้มีความลงตัว

ถือว่า เป็นการรู้จักสร้างวิธีที่ก่อให้เกิดความเหมาะสมในทุกมิติที่ชีวิตต้องทำการศึกษา แม้จะอยู่ในภาวะทีเป็นความบกพร่องในหลาย ๆ ด้าน แต่ความสมดุลอันเกิดจากความเข้าใจด้วยปัญญา ย่อมประคองให้สิ่งต่าง ๆ เคลื่อนไปด้วยความราบรืนได้

ดังนั้น การศึกษาชีวิตไม่ว่าในแง่ของวัตถุและจิตใจ หรือในทุกเรื่องที่ผ่านเข้ามา เราไม่ควรประมาทว่า เรารู้แล้วหรือเข้าใจทุกอย่างโดยสมบูรณ์แบบแล้ว

เพราะในรายละเอียดของชีวิต มีหลายอย่างที่ซ่อนเงื่อนอยู่ลึก ๆ ข้างใน ซึ่งต้องอาศัยความใส่ใจในการเรียนรู้ด้วยความแยบคาย สิ่งที่เกิดขึ้นจะแจ่มแจ้งได้ ถือว่าเป็นการเว้นพื้นที่ให้ความรู้ต่าง ๆ สามารถเข้าไปเติมเต็มได้ด้วยภาวะที่ลงตัว

ด้วยเหตุนี้ สิ่งสำคัญจึงอยู่ที่การรู้จักสร้างวิธีเรียนรู้ด้วยความเข้าใจเป็นหลัก เป็นการประสานระหว่างความบกพร่องและความเพียบพร้อมให้มีการสัมพันธ์ต่อกัน เพื่ออำนวยประโยชน์สุขให้แก่กันและกันตราบนานเท่านาน

เพราะชีวิตเป็นสิ่งที่ต้องอยู่กับการเรียนรู้อย่างไม่มีที่สิ้นสุด

เราจึงต้องใส่ใจทุกรายละเอียดที่ผ่านเข้ามาในชีวิตโดยไม่มีข้อยกเว้น แม้จะอยู่ในสถานการณ์ที่น่าเบื่อหน่ายก็ตาม

มีพระหนุ่มรูปหนึ่งได้อยู่ศึกษาธรรมะกับอาจารย์เซนนามว่า อู๋เต๋อ เมื่อแรกเริ่มนั้น เขามีความกระตือรือร้นในการศึกษาเป็นอย่างมาก ทุกการเรียนรู้เต็มไปด้วยความพากเพียรพยายาม

หนึ่งปีผ่านไป พระหนุ่มมีความรู้สึกว่า ตนมีความรู้มากแล้วจึงมีความคิดที่จะออกธุดงค์ เพื่อแสวงหาความรู้ใหม่ ๆ ด้วยตัวเอง เพราะเขาคิดว่า หนึ่งปีที่อยู่กับอาจารย์นั้น ตนมีความรู้สมบูรณ์พร้อมแล้ว

ช่วงขณะที่รอเวลาออกธุดงค์ เขาจึงแสดงอาการเบื่อหน่ายต่อการศึกษาเป็นอย่างมาก เวลาฟังธรรมบรรยายก็ไม่สนใจเหมือนในอดีตที่ผ่านมา แถมยังแสดงอาการเบื่อหน่ายให้อาจารย์เห็นอยู่บ่อย ๆ

อยู่มาวันหนึ่ง หลังจากที่อาจารย์ให้โอวาทแก่บรรดาลูกศิษย์จบลง จึงพูดกับภิกษุหนุ่มด้วยความเป็นห่วงว่า

“ดูเธอไม่ค่อยใส่ใจในการศึกษาธรรมะเลยนะ ไม่ทราบว่า เป็นเพราะเหตุใด ?”

เมื่อลูกศิษย์เห็นว่า อาจารย์ต้องการทราบเหตุผลในเรื่องนี้จึงกล่าวความในใจที่ตนมีแก่ท่านว่า

“ท่านอาจารย์ครับ หนึ่งปีที่อยู่ศึกษาที่นี่ มันเป็นอะไรที่รู้หมดแล้ว ผมจึงคิดว่าจะออกธุดงค์ เพื่อหาประสบการณ์อย่างอื่นต่อไป การศึกษาที่นี่มันเป็นอะไรที่พอแล้วสำหรับผม”

“อะไรที่เธอว่าเป็นความพอของเธอ ?”

“พอก็คือเต็มแล้ว คือ บรรจุไม่ลงแล้วครับ”

เมื่ออาจารย์ได้ฟังลูกศิษย์กล่าวเช่นนั้น จึงหยิบถังไม้มาหนึ่งใบ แล้วนำก้อนกรวดเล็ก ๆ เทลงไปจนเต็มถัง หลังจากนั้นจึงถามลูกศิษย์ผู้คิดว่า การศึกษาของตนนั้นเพียงพอแล้วว่า

“ก้อนกรวดในถังใบนี้เต็มหรือยัง ?”

“เต็มแล้วครับท่านอาจารย์”

เมื่อลูกศิษย์กล่าวเช่นนั้น อาจารย์ก็นำทรายละเอียดมาเติมลงไปอีกสามกำมือ ปรากฎว่า ทรายก็สามารถเล็ดลอดก้อนกรวดลงไปได้ทั้งหมด ซึ่งดูเหมือนว่าถังจะมีพื้นที่เต็มไปด้วยก้อนกรวดและทรายแล้ว ท่านมองหน้าลูกศิษย์แล้วถามว่า

“สิ่งของในถังนี้เต็มหรือยัง ?”

“เต็มแล้วครับ”

ฝ่ายอาจารย์ก็นำผงหินปูนโรยลงไปในถังอีกหนึ่งกำมือ ปรากฎว่า หินผงก็หายลงไปในถังได้ทั้งหมด อาจารย์จึงถามลูกศิษย์อีกว่า

“คราวนี้เต็มหรือยัง ?”

“ดูเหมือนคราวนี้เต็มแน่นอนแล้วครับ”

แต่แทนที่อาจารย์จะหยุดอยู่แค่นั้น ท่านก็นำน้ำมาเทลงไปในถัง ปรากฎว่า น้ำก็ไหลลงไปได้อีก สามารถไหลผ่านทั้งก้อนกรวด ทราย และผงหินปูนทั้งหมด

“เธอคิดว่า เต็มหรือยัง ?”

เมื่ออาจารย์แสดงให้ดูเช่นนี้ แทนที่ลูกศิษย์จะตอบเหมือนทุกครั้งที่ผ่านมา กลับนั่งคุกเข่าลงต่อหน้าอาจารย์ แล้วกล่าวอย่างผู้เข้าใจบางสิ่งบางอย่างที่เกิดขึ้นในใจของตน

“ท่านอาจารย์ครับ ศิษย์กราบขอบพระคุณท่านมาก และเข้าใจในสิ่งที่อาจารย์สอนอย่างแจ่มแจ้งแล้วครับ”

ฝ่ายอาจารย์ก็ยิ้มให้ต่อการแสดงออกของเขา และกล่าวให้ข้อคิดแก่ลูกศิษย์ด้วยความเมตตาว่า

“ก็ดีแล้วที่เธอเข้าใจได้ จงจำไว้นะว่ามีหลายอย่างในชีวิตที่เรายังไม่รู้ เมื่อเป็นเช่นนี้ ก็อย่าปิดตัวเองที่จะศึกษาสิ่งที่เกิดขึ้น แต่จงตั้งใจศึกษาในทุกเรื่องที่ผ่านเข้ามาในชีวิตของเรา และรักษาจิตที่จะเรียนรู้สิ่งต่าง ๆ อย่างรู้เท่าทัน แล้วเธอจะรู้ว่าทุกสิ่งที่เกิดขึ้น ทุกความรู้สึกที่ผ่านเข้ามาในใจ คือ สิ่งที่ผ่านเข้ามาเพื่อให้เราได้เรียนรู้โดยไม่มีคำว่า สิ้นสุด”

เล่าให้ฟังจากหนังสือ ชื่อ “ชีวิตวันนี้ที่วุ่นวาย มีที่พักใจหรือยัง ?” เขียนโดยท่านชุติปัญโญ

Source : https://www.gotoknow.org/posts/173243

พ่อแม่รังแกฉัน (บาป 14 ประการของมารดาบิดา)

พ่อแม่รังแกฉัน (บาป 14 ประการของมารดาบิดา)

Author : ว.วชิรเมธี

พ่อแม่บางคน (๑)

ทำร้ายลูกด้วยการรักเขามากเกินไป ผลก็คือเกิดภาวะรักจนหลง ลูกของตนถูกทุกอย่าง ลูกของตนดีกว่าคนอื่นเสมอ อันส่งผลให้ลูกกลายเป็นคนมีอัตตาสูง เชื่อมั่นตนเองในทางที่ผิด ชอบดูถูกคน เป็นตัวปัญหา แต่ไม่ยอมรับว่าตนเป็นคนสร้างปัญหา

พ่อแม่บางคน (๒)

ทำร้ายลูกด้วยการตามใจเขามากเกินไป ผลก็คือพ่อแม่กลายเป็นข้าช่วงใช้ของลูก ส่วนลูกกลายเป็น “ลูกบังเกิดเกล้า” ที่พ่อแม่ต้องยอมให้เขาทุกอย่าง ที่หนักกว่านั้นก็คือ ถ้าพ่อแม่ไม่ยอมตามที่ลูกต้องการลูกบางคนก็ถึงขั้นทุบตีทำร้ายพ่อแม่

พ่อแม่บางคน (๓)

ทำร้ายลูกด้วยการไม่กล้าห้ามปรามสั่งสอนเมื่อลูกทำผิด ทำเลว ทำบาป ผลก็คือ ลูกสูญเสียสามัญสำนึก แยกแยะถูกผิดดีชั่วไม่เป็น มองไม่เห็นเส้นแบ่งทางจริยธรรมว่า ดีเป็นอย่างไร ชั่วเป็นอย่างไร จึงกลายเป็นนักเลงอันธพาล ระรานคนเขาไปทั่ว

พ่อแม่บางคน (๔)

ทำร้ายลูกด้วยการให้เงินลูกเพียงอย่างเดียว ผลก็คือ ลูกไม่รู้จักคุณค่าของเงิน ไม่เห็นคุณค่าของผู้ที่หา/และให้เงิน ยิ่งได้เงินมาก ยิ่งผลาญเงินเก่ง มีเงินเท่าไหร่ก็ไม่พอใช้ และทั้งๆที่ใช้จ่ายเงินสูง แต่กลับมีคุณภาพชีวิตต่ำ

พ่อแม่บางคน (๕)

ทำร้ายลูกด้วยการไม่ยอมให้ลูกเรียนรู้ที่จะพึ่งตนเอง เกรงว่าหากให้ลูกทำอะไรด้วยตนเองแล้วเขาจะลำบาก ผลก็คือเมื่อโตขึ้นลูกกลายเป็นลูกแหง่ที่พึ่งตนเองไม่ได้ ทำอะไรด้วยตนเองไม่เป็น ยิ่งเติบโตยิ่งเป็นตัวปัญหาของสถาบันครอบครัว

พ่อแม่บางคน (๖)

ทำร้ายลูกด้วยการไม่ยอมส่งเสริมให้ลูกได้รับการศึกษาที่ดี มัวแต่สนใจลงทุนในการทำธุรกิจเป็นร้อยเป็นพันล้าน แต่ไม่รู้จักลงทุนในการสร้างลูกให้เป็นปัญญาชน ผลก็คือลูกเติบโตแต่ตัว แต่ทว่ามีสติปัญญาที่ต่ำต้อย ขาดทักษะการคิด การใช้เหตุผล การทำงาน การเข้าสังคม เขาไม่เพียงแต่ไม่สามารถร่วมเป็นสมาชิกที่ดีของสังคมเท่านั้นแต่ยังสร้างปัญหาให้สังคมอีกต่างหาก

พ่อแม่บางคน (๗)

ทำร้ายลูกด้วยการทำแต่งานสังคมสงเคราะห์นอกบ้าน โดยลืมไปว่าคนที่ตนต้องสงเคราะห์ก่อนดูแลก่อนต้องให้ความรักก่อนก็คือลูก ผลก็คือแม้จะกลายเป็นนักสังคมสงเคราะห์ที่ประสบความสำเร็จนอกบ้าน สังคมสรรเสริญ แต่กลับเป็นพ่อแม่ที่ล้มเหลวในบ้าน และลูกกลายเป็นเด็กที่ขาดความรัก ความอบอุ่น ไม่พร้อมจะแบ่งปันความรักและความอบอุ่นให้ใคร

พ่อแม่บางคน (๘)

ทำร้ายลูกด้วยการไม่รู้จักยกย่องชมเชยลูกเมื่อเขาประสบความสำเร็จในการเรียน ในการทำงาน หรือในการทำกิจกรรมใดๆก็ตาม ผลก็คือลูกกลายเป็นคนใจคอคับแคบ ยกย่องชมเชยใครไม่เป็น เมื่อเห็นคนอื่นได้ดีมีความสำเร็จ เขาจึงเป็นนักอิจฉาริษยาตัวฉกาจ ที่จ้องแต่จะหาทางทำลายคุณงามความดีของคนอื่น

พ่อแม่บางคน (๙)

ทำร้ายลูกด้วยการไม่รู้จักสอนเขาให้รู้จักบาปบุญคุณโทษ ผลก็คือ เมื่อโตขึ้น เขาจึงพร้อมผละหนีพ่อแม่ไปอย่างไม่รู้สึกผิด ไม่เห็นความจำเป็นว่า การเป็นลูกที่ดีนั้น จะต้องกตัญญูกตเวทีต่อพ่อแม่ของตนอย่างไร

พ่อแม่บางคน (๑๐)

ทำร้ายลูกด้วยการไม่สอนลูกให้รู้จักการบำเพ็ญตนเป็นผู้ให้ ผลก็คือเมื่อโตขึ้นเขาจึงกลายเป็นคนเห็นแก่ตัวอย่างร้ายกาจ คิดแต่จะกอบโกย คิดถึงแต่ประโยชน์ส่วนตัวจนมองไม่เห็นหัวคนอื่น แทนที่จะถือหลัก “ยิ่งรวยยิ่งให้ ยิ่งได้ยิ่งแบ่ง”กลับถือหลัก “ยิ่งรวยยิ่งคอร์รัปชั่น ยิ่งแบ่งปันยิ่งสูญเสียเปล่า”

พ่อแม่บางคน (๑๑)

ทำร้ายลูกด้วยการไม่ยอมให้ลูกรู้จักตัดสินใจด้วยตนเอง ผลก็คือ ลูกกลายเป็นคนขาดความเชื่อมั่นในตนเอง ไม่กล้าคิด ไม่กล้าพูด ไม่กล้าทำอะไร ส่งผลให้ไร้ภาวะผู้นำ ต้องเดินตามคนอื่นโดยดุษฎี

พ่อแม่บางคน (๑๒)

ทำร้ายลูกด้วยการไม่สอนให้ลูกรู้จักสมบัติของผู้ดี ผลก็คือเขากลายเป็นคนหยาบกระด้างทั้งทางกาย ทางใจ ใจคอโหดหินทมิฬชาติ ขาดความสุภาพอ่อนน้อม ขาดสัมมาคาราวะ ไม่รู้จักกาลเทศะ ไม่รู้จักประมาณตน ครองตน ครองงานไม่เป็น ไม่เห็นคุณค่าของระเบียบประเพณี กฎหมาย จรรยาจารีตของสังคม ไม่เคารพในศักดิ์ศรีแห่งความเป็นคนดีของเพื่อนมนุษย์

พ่อแม่บางคน (๑๓)

ทำร้ายลูกด้วยการไม่แนะนำให้ลูกรู้จักคบเพื่อนที่เป็นกัลยาณมิตร (เพื่อนแท้) ผลก็คือรอบกายของเขาจึงมีแต่บาปมิตร (เพื่อนเทียม) คอยประจบสอพลอ คอยหลอกล่อให้ทำความเลวทรามต่ำช้า ติดสุรา ยาเสพติด นำพาชีวิตไปในทางเสียหาย ตกอยู่ใต้วังวนของอบายมุข สนุกสนาน ไม่สนใจหาแก่นสารให้กับชีวิต

พ่อแม่บางคน (๑๔)

ทำร้ายลูกด้วยการไม่รู้จักสร้างสภาพแวดล้อมให้ลูกเป็นคนรักการอ่าน รักการเขียน รักการเรียนรู้ รักการเดินทาง ปล่อยให้เขาศึกษาหาความรู้ด้วยตัวเองไปตามยถากรรม ผลก็คือเขากลายเป็นคนหูตาคับแคบ ขาดความรู้พื้นฐาน ขาดความรู้รอบตัว ขาดความกระตือรือร้น ไม่มีแรงจูงใจใฝ่สัมฤทธิ์ การคิด พูด ทำ ไม่เฉลียวฉลาดปราดเปรื่อง ขาดความแหลมคม ตามไม่ทันโลก ตกข่าว เป็นคนว่างเปล่าทางความรู้ (รอบตัว) ความคิด จิตใจ และไม่มีรสนิยมอย่างอารยชน

ส.ค.ส. 2558 ของ ส.ศิวรักษ์

ส.ค.ส. 2558 ของ ส.ศิวรักษ์

อภิณหปัจจเวกขณ์ ABHINHAPACCAVEKKHANA

ข้อที่สตรีก็ตาม บุรุษก็ตาม คฤหัสถ์ก็ตาม บรรพชิตก็ตาม ควรพิจารณาเนืองๆ
Ideas to be constantly reviewed; facts which should be again and again contemplated

1. ชราธัมมตา Jaradhammata
ควรพิจารณาเนืองๆ ว่า เรามีความแก่เป็นธรรมดา ไม่ล่วงพ้นความแก่ไปได้
He should again and again contemplate; I am subject to decay and I cannot escape it.

2. พยาธิธัมมตา Byadhidhammata
ควรพิจารณาเนืองๆ ว่า เรามีความเจ็บป่วยเป็นธรรมดา ไม่ล่วงพ้นความเจ็บป่วยไปได้
I am subject to disease and I cannot escape it.

3. มรณธัมมตา Maranadhammata
ควรพิจารณาเนืองๆ ว่า เรามีความตายเป็นธรรมดา ไม่ล่วงพ้นความตายไปได้
I am subject to death and I cannot escape it.

4. ปิยวินาภาวตา Piyavinabhavata
ควรพิจารณาเนืองๆ ว่า เราจักต้องมีความพลัดพรากจาก ของรักของชอบใจ ทั้งสิ้น
There will be division and separation from all that is dear and belove to me.

5. กัมมัสสกตา Kammassakata
ควรพิจารณาเนืองๆ ว่า เรามีกรรมเป็นของตน เราทำกรรมใด ดีก็ตาม ชั่วก็ตาม จักต้องเป็นทายาทของกรรมนั้น
I am the owner of my deeds, whatever deeds I do, whether good of bad, I shall become heir to it.

ความเป็นอนิจจังของสังคม

ความเป็นอนิจจังของสังคม

Author : สุรพศ ทวีศักดิ์

อนุสติส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ แด่ HYPER ROYALISTS และชนชั้นกลางวัฒนธรรม

อ่านที่จิตร ภูมิศักดิ์ เขียนไว้ใน “โฉมหน้าศักดินาไทย” ตอนหนึ่งว่า

การศึกษาของศักดินาเป็นการศึกษาที่สอนให้คน “ยอมรับ” (accept) กล่าวคือ ไม่ได้เปิดโอกาสให้ศิษย์คิดเสียก่อน เมื่อเห็นจริงแล้วจึงเชื่อ หากสอนให้เชื่อโดยไม่ต้องคิด ทั้งนี้เพื่อปิดทางความคิดริเริ่มทั้งปวงอันจะนำไปสู่ความหายนะแห่งชนชั้นศักดินา

…แต่เล่ห์เหลี่ยมและความจัดเจนของศักดินาที่สั่งสมมานับพันๆ ปี มีสูงกว่าชนชั้นกลาง และประกอบกับชนชั้นกลางมีท่าทีประนีประนอม ศักดินาจึงสามารถแทรกแซงเข้าไปในสถาบันการศึกษาของชนชั้นกลางได้อย่างลอยชาย ศักดินาซากเดนยังคงกำเอาหลักสูตรและการหันเหจุดหมายปลายทางแห่งการศึกษาไว้ได้ในกำมือ วิชาประวัติศาสตร์ก็ยังคงตกอยู่ในกำมือและในอิทธิพลของชนชั้นศักดินาต่อไป (หน้า 65-66)

จนบัดนี้การศึกษาไทยยังคงเป็นการสอนให้ “ยอมรับ” อยู่เหมือนเดิม “ชนชั้นกลางวัฒนธรรม” ก็ยังมีท่าทีประนีประนอมกับศักดินาอยู่เหมือนเดิม หรืออาจมากกว่าเดิมด้วยซ้ำเมื่อมองจากปรากฏการณ์ของ “ลัทธิ เจ้านิยมล้นเกิน” (Hyper Royalism) ที่มีพวก Hyper Royalists ออกมาตั้งคำถามเหมือนท่องตามกันมาว่า “คุณเป็นคนไทยหรือเปล่า” หรือ “เห็นว่ากฎหมายไม่ยุติธรรม ไม่เสมอภาค ก็ออกจากประเทศไทยไปเลย ไปอยู่ต่างประเทศได้เลย”

แต่อย่างไรก็ตาม ข้อเขียนของปรีดี พนมยงค์ ที่พูดถึง “ความเป็นอนิจจังของสังคม” ข้างล่างนี้ บรรดา Hyper Royalists ควรนำมาเป็น “ข้อคิด” ทบทวนพฤติกรรมของตนเองเท่าที่เป็นมาในปีนี้บ้าง คือ

ในระยะหัวเลี้ยวหัวต่อระหว่างระบบเก่ากับระบบใหม่นั้น เราอาจเห็นในบางสังคมว่าระบบเก่าที่สลายไปแล้วได้กลับฟื้นคืนชีพขึ้นมาอีกทั้งระบบ หรือส่วนใดส่วนหนึ่งของระบบ ดูประหนึ่งว่าระบบเก่า หรือส่วนของระบบเก่าจะวกกลับมาตั้งมั่นอยู่ต่อไป และคล้ายกับเป็นวิถีที่แย้งกฎแห่งอนิจจัง

แต่สิ่งลวงตาเช่นนั้นเป็นสิ่งชั่วคราว ตามวิถีแห่งการปะทะในระยะหัวต่อหัวเลี้ยว ทั้งนี้ก็เพราะระบบเก่ายังคงมีพลังตกค้างอยู่ จึงดิ้นรนตามกฎที่ว่า “สิ่งที่กำลังจะตายย่อมดิ้นรนเพื่อคงชีพ” …แต่ในที่สุดพลังเก่าพร้อมทั้งระบบก็หลีกเลี่ยงไปไม่พ้นจากกฎแห่งอนิจจัง และระบบใหม่ที่ได้ชัยชนะนั้น ก็ดำเนินไปตามกฎอันเดียวกัน โดยมีระบบที่ใหม่ยิ่งกว่ารับช่วงเป็นทอดๆ ต่อไป ดังที่ปรากฏตามรูปธรรมของมนุษยสังคมมากหลายในสกลโลก (หน้า 32-33)

การเบียดเบียนกันและข่มเหงกันย่อมไม่คงอยู่กับที่ คือจะต้องเสื่อมสลายไปในที่สุด โดยการต่อสู้ของสมาชิกส่วนมากแห่งสังคม ซึ่งอาจเป็นวิธีสันติเช่นในปัจจุบัน คือ “วิธีรัฐสภาชนิดประชาธิปไตยสมบูรณ์” สังคมก็จะได้กำจัดการเบียดเบียนให้หมดไปในทางปริมาณทีละน้อยๆ ถ้าสมาชิกในสังคมมีทางประนีประนอมกันได้ ในที่สุดสมาชิกส่วนมากของสังคมก็จะต้องได้ชัยชนะ เพราะประชาธิปไตยย่อมถือเอาเสียงข้างมาก (หน้า 85)

สำหรับพวก Hyper Royalists ในบ้านเราส่วนใหญ่นั้นมักอ้างธรรมะอ้างพุทธศาสนาเพื่ออวยเจ้า และรับรองการปกป้อง “ระบบเก่า” ของพวกตนว่าถูกต้องชอบธรรม ในแง่ว่าพวกตนกตัญญูรู้คุณสถาบันและประณามฝ่ายที่คิดต่างว่าอกตัญญูเป็นต้น ผมอยากชวนให้ทบทวนอย่างน้อย 2 ประการ ต่อไปนี้

1. พุทธศาสนาสอน “หลักกาลามสูตร” ซึ่งเป็นหลักเสรีภาพทางความคิดที่เรียกร้องให้เราตั้งข้อสงสัยต่อข้อมูล ความรู้ ความคิดเห็นจากทุกแหล่งที่มา ตั้งแต่เรื่องเล่า ตำรา การคาดเดา ระบบตรรกะนิรนัย/อุปนัย กระทั่งครูที่เราเคารพ ซึ่งหมายความว่า ตามหลักการของพุทธศาสนานั้น นอกจาก “ไม่มีการบังคับความเชื่อ” แล้ว ยังเรียกร้องให้เราตั้งข้อสงสัยต่อทุกแหล่งความรู้อีกด้วย ฉะนั้นจึงเป็นหลักการที่ให้ “เสรีภาพทางความคิด” อย่างยิ่ง

เมื่อพิจารณาระบบการศึกษาแบบครอบงำทางความคิดตามที่จิตรเขียนไว้ ซึ่งยังดำรงอยู่ในยุคปัจจุบัน ย่อมเป็นระบบการศึกษาที่ขัดแย้งกับหลักกาลามสูตรอย่างสิ้นเชิง และยิ่งสังคมนี้มีกฎหมายที่ปิดกั้น free speech เช่น ม.112 ที่ห้ามวิพากษ์วิจารณ์ตรวจสอบประมุขของรัฐซึ่งเป็น “บุคคลสาธารณะ” ที่มีอำนาจเหนือกองทัพ สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ โครงการพระราชดำริต่างๆ เป็นต้น ยิ่งเห็นได้ชัดว่าเป็นกฎหมายที่ขัดต่อหลักกาลามสูตรอย่างสิ้นเชิง เนื่องจากประชาชนไม่มีสิทธิสงสัย และวิพากษ์วิจารณ์ตรวจสอบได้ ในสิ่งที่พวกเขาควรมีสิทธิสงสัยและวิพากษ์วิจารณ์ตรวจสอบ

ฉะนั้น Hyper Royalists ที่มักอ้างธรรมะ อ้างพุทธศาสนาจะยอมให้มีกฎหมายที่ขัดต่อหลักการสำคัญของพุทธศาสนา คือหลักเสรีภาพทางความคิดและการแสวงหาความจริงได้อย่างไร เพราะการที่หลักกาลามสูตรเรียกร้องให้เราสงสัยทุกแหล่งความรู้ก็เพื่อให้เราตรวจสอบทุกแหล่งความรู้เพื่อให้สามารถค้นพบ “ความจริงที่เชื่อถือ” ได้มากที่สุดนั่นเอง

หลักกาลามสูตรจึงให้ความสำคัญอย่างยิ่งกับการแสวงหา “ความจริง” ในบรรยากาศของการมีเสรีภาพ แต่ ม.112 คือกฎหมายที่ห้ามพูดความจริงด้านที่ตรงข้ามกับการสรรเสริญ หากชาวพุทธ Hyper Royalists ที่ชอบอ้างธรรมะ อ้างพุทธศาสนามีความเชื่อ หรือศรัทธาในสิ่งที่พวกตนกล่าวอ้างจริง การออกมาปฏิเสธ กล่าวหา ใส่ร้าย ประณามฝ่ายที่เรียกร้องให้แก้ไขหรือยกเลิก ม.112 ว่าล้มเจ้าและอื่นๆ ย่อมเท่ากับปฏิเสธหลักธรรมะ หรือหลักการของพุทธศาสนาที่พวกตนชอบกล่าวอ้างนั่นเอง เพราะข้อเรียกร้องของฝ่ายสนับสนุนให้แก้ไขหรือยกเลิก ม.112 (เป็นต้น) คือข้อเรียกร้องให้สังคมนี้มีเสรีภาพทางความคิด และเสรีภาพในการแสวงหาความจริงนั่นเอง

2. ที่สำคัญคือ พุทธศาสนาสอนหลักอนิจจังว่า “สรรพสิ่งย่อมเปลี่ยนแปลง ไม่คงที่” และ “ความเป็นอนิจจังทางสังคม” ย่อมเป็นไปตามที่ปรีดีเขียนไว้ การขัดขวางความเปลี่ยนแปลย่อมไม่อาจสำเร็จได้ รัฐประหาร 19 กันยา และการสลายการชุมนุมปี 2553 คือตัวอย่างของความรุนแรงและความล้มเหลวของการต่อต้านกระแสการเปลี่ยนแปลงภายในประเทศที่คล้อยตามการเปลี่ยนแปลงของสังคมโลก ซึ่งให้คุณค่าสูงต่อสิทธิมนุษยชนและประชาธิปไตย

เมื่อคนจำนวนมากตาสว่างแล้ว เราจะปิดตาให้เขาลืมสิ่งที่เขาได้มองเห็นแล้วได้อย่างไร เมื่อเขาเห็นชัดแจ้งแล้วว่าอะไรคือปัญหา จะปิดปากไม่ให้เขาพูดถึง “ความจริงของปัญหา” เพื่อหาทางแก้ให้ถูกจุดได้อย่างไร

มีแต่วิถีทางประชาธิปไตยคือ วิธีสันติเช่นในปัจจุบัน คือ “วิธีรัฐสภาชนิดประชาธิปไตยสมบูรณ์” ตามที่ปรีดีเสนอไว้เท่านั้น จึงจะเป็นทางออกที่ไม่รุนแรงนองเลือด และเป็นประโยชน์ทั้งแก่สถาบันเก่าแก่ และประชาชนทั้งประเทศอย่างแท้จริง

สำหรับ “ชนชั้นกลางวัฒนธรรม” ผมขอฝากข้อเขียนของปรีดี (ในหนังสือเล่มเดียวกัน) เป็นการสรุปท้าย ดังนี้

…มีบุคคลซึ่งดูเหมือนจะเป็นวรรณะใหม่ แต่ไม่เข้าใจกฎแห่งอนิจจัง โดยถือว่า “สภาวะเก่าเป็นของถาวร” และไม่พอใจในความพัฒนาของสภาวะใหม่ที่ต้องเป็นไปตามกฎธรรมชาติ บุคคลจำพวกนี้อาจไม่ใช่หน่อเนื้อเชื้อไขของวรรณะเก่า แต่บำเพ็ญตนเป็นสมุนของพลังเก่า ยิ่งกว่าบุคคลแห่งอันดับสูงของวรรณะเก่า…ฉะนั้น จึงดำเนินการโต้กฎธรรมชาติและกฎแห่งอนิจจัง ดึงสังคมให้ถอยหลังเข้าคลอง…แต่อย่างไรก็ตาม การดึงให้สังคมถอยหลังก็เป็นเพียงชั่วคราว เพราะในที่สุดกฎแห่งอนิจจังก็ต้องประจักษ์ขึ้น (หน้า 34)

บังเอิญว่าข้อเขียนของจิตรและปรีดี ตามที่ยกมา ตีพิมพ์ครั้งแรกในปี พ.ศ.2500 เช่นเดียวกัน จนบัดนี้กว่าครึ่งศตวรรษแล้ว ยังคงเหมาะกับยุคปัจจุบันที่ควรนำมาเป็น “อนุสติ” ส่งท้ายปีเก่า 2554 เพื่อเผชิญกับความเปลี่ยนแปลงในปีใหม่ 2555 ได้เป็นอย่างดี